โจว ฉู่

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
โจว ฉู่
周處
ประติมากรรมรูปโจว ฉู่สู้กับมังกรในนครอี๋ซิง มณฑลเจียงซู
ผู้ช่วยขุนนางตรวจสอบ
(御史中丞) ยฺหวี่ฉื่อจงเฉิง
ดำรงตำแหน่ง
ค.ศ. ? (?) – ค.ศ. 297 (297)
กษัตริย์จักรพรรดิจิ้นฮุ่ย
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดค.ศ. 236
นครอี๋ซิง ง่อก๊ก (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเจียงซู)
เสียชีวิตค.ศ. 297 (60–61 ปี)
บุพการี
ชื่อรองจื๋ออิ่น (子隱)

โจว ฉู่ (จีน: 周處; พินอิน: Zhōu Chǔ; ค.ศ. 236?[a]–297) ชื่อรอง จื๋ออิ่น (จีน: 子隱; พินอิน: Zǐyǐn) เป็นขุนพลชาวจีนในยุคราชวงศ์จิ้นตะวันตก เป็นบุตรชายของจิวหอง (周魴 โจว ฝาง) ขุนพลที่มีชื่อเสียงของรัฐง่อก๊ก

โจว ฉู่มีชื่อเสียงในด้านความเที่ยงธรรมและซื่อสัตย์ ครั้งหนึ่งเคยกล่าวโทษซือหม่า หรง (司馬肜) ผู้เป็นอ๋องแห่งรัฐเหลียง เมื่อชนเผ่าเร่รอนในกวานจงก่อกบฏต่อราชวงศ์จิ้น โจว ฉู่ได้รับมอบหมายจากซือหม่า หรงให้เข้ารบกับข้าศึกที่แข็งแกร่งจำนวน 20,000 นายโดยให้คุมทหารเพียง 5,000 นายและไม่มีเสบียง โจว ฉู่เสียชีวิตในที่รบ โจว ฉู่ปรากฏในหนังสือภาพพิมพ์แกะไม้ อู๋ชฺวางผู่ (無雙譜, ทำเนียบผู้กล้าไร้เทียมทาน) ของจิน กู่เหลียง

กำจัดสามภัยร้าย[แก้]

ตำนานพื้นบ้านเกี่ยวกับโจว ฉู่ปรากฏในหนังสือ ชื่อชัวซิน-ยฺหวี่ ในปี ค.ศ. 430 และได้รับความนิยมอย่างมาก ตำนานอ้างว่าโจว ฉู่เป็นนักเลงที่โหดร้ายและหัวรุนแรงในช่วงวัยรุ่น โจว ฉู่ได้รับการขนานนามโดยโดยชาวบ้านในเมืองอี๋ซิง (義興郡 อี๋ซิงจฺวิ้น; ปัจจุบันคือนครอี๋ซิง มณฑลเจียงซู) บ้านเกิดว่าเป็นหนึ่งใน "สามภัยร้าย" ด้วยกันกับเสือและมังกร

โจว ฉู่รับคำขอจากชาวบ้านให้ไปปราบเสือและมังกรที่อาศัยในแม่น้ำ (เจียว[b]) การต่อสู้กับมังกรดำเนินไปเป็นเวลา 3 วันในทะเลสาบไท่ ระหว่างนั้นชาวบ้านเห็นว่าโจว ฉู่ยังไม่กลับมาก็เข้าใจว่าโจว ฉู่ตายไปแล้วจึงจัดงานเฉลิมฉลอง เมื่อโจว ฉู่กลับมาอย่างมีชัยพร้อมกับศีรษะมังกรและเห็นชาวบ้านจัดงานเฉลิมฉลอง จึงทำให้โจว ฉู่ตระหนักว่าตนคือภัยร้ายสุดท้ายที่ชาวบ้านหวาดกลัว โจว ฉู่มุ่งมั่นจะปรับปรุงตนจึงไปตามหาขุนพลง่อก๊กลู่ จี (陸機) และลู่ ยฺหวิน (陸雲) จึงได้รับแรงบันดาลใจ ในที่สุดโจว ฉู่ก็กลายเป็นขุนพลผู้ประสบความสำเร็จและเป็นที่รักของราษฎร[1][3][2]

เสียชีวิต[แก้]

โจว ฉู่ขึ้นมามีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยขุนนางตรวจสอบ (御史中丞; ยฺหวี่ฉื่อจงเฉิง) ไม่หวั่นเกรงที่จะกล่าวโทษและเปิดเผยการกระทำผิดของขุนนางคนอื่น ๆ จึงทำให้หลายคนไม่พอใจโจว ฉู่รวมไปถึงซือหม่า หรง (司馬肜) บุตรชายของสุมาอี้ (司馬懿 ซือหม่า อี้) และเป็นพระปิตุลา (อา) ของสุมาเอี๋ยน (司馬炎 ซือหม่า เหยียน) หรือจักรพรรดิจิ้นอู่ตี้ ผู้สถาปนาราชวงศ์จิ้นตะวันตก ในปี ค.ศ. 296 เมื่อซือหม่า หรงได้ขึ้นเป็นมหาขุนพลในการนำทัพบุกตะวันตกปราบกบฏชี่ ว่านเหนียน โจว ฉู่ได้รับการแต่งตั้งเป็นขุนพลทัพหน้า ซุน ซิ่ว (孫秀) ขุนพลผู้ติดตามของโจว ฉู่แนะนำให้โจว ฉู่ไปอำลามารดาผู้ชราเป็นครั้งสุดท้าย โจว ฉู่ตอบว่า "ไม่มีใครสามารถบรรลุคุณธรรมของความกตัญญูและความภักดีได้ในเวลาเดียวกัน ในเมื่อข้าได้รับเลือกให้รับใช้แผ่นดินแล้ว ข้าก็ยอมตายเพื่อแผ่นดิน"

โจว ฉู่ได้รับมอบหมายให้นำทหาร 5,000 นายไปโจมตีข้าศึกที่แข็งแกร่ง 20,000 นาย หลังการโจมตีเริ่มต้นขึ้น ซือหม่า หรงก็สั่งให้ตัดการส่งเสบียงไปยังกองกำลังของโจว ฉู่ออกทั้งหมด กองกำลังของโจว ฉู่ใช้ลูกเกาทัณฑ์จนหมด และขุนพลที่ได้รับมอบหมายให้มาเสริมกำลังแก่โจว ฉู่ก็ไม่ได้เข้าช่วยเหลือ เมื่อเหล่าทหารขอให้โจว ฉู่หนีไป โจว ฉู่จึงตอบว่า "ข้าเป็นขุนนางของแผ่นดิน ไม่สมควรที่จะตายเพื่อแผ่นดินหรอกหรือ" โจว ฉู่ต่อสู้จนเสียชีวิตในที่รบ[4][5]

หมายเหตุ[แก้]

  1. แหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกว่าโจว ฉู่เกิดในปีใด บัณฑิตยุคราชวงศ์ชิงชื่อเหลา เก๋อ (勞格) อ้างในหนังสือ จิ้นชูเจี้ยวคานจี้ (晉書校勘記) ของตนว่าโจว ฉู่เสียชีวิตขณะอายุ 62 ปี (ตามการนับอายุแบบเอเชียตะวันออก) โดยไม่ได้อ้างอิงว่าได้ข้อมูลมาจากแหล่งใด ในบทชีวประวัติซุนกวนและจิวหองในจดหมายเหตุสามก๊กระบุว่าจิวหองได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าเมืองกวนหยงเมื่อต้นปี ค.ศ. 226 และรับราชการอยู่ที่เมืองกวนหยงเป็นเวลาประมาณ 13 ปี ดังนั้นปีที่จิวหองเสียชีวิตควรเป็นต้นปี ค.ศ. 239 ชีวประวัติโจว ฉู่ในจิ้นชูระบุว่าโจว ฉู่กำพร้าตั้งแต่อายุยังน้อย ปีที่โจว ฉู่เกิดจึงควรเป็นปี ค.ศ. 239 หรือก่อนหน้านั้น
  2. เจียว ดู Mather tr. และข้อความภาษาจีน[1][2]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 Liu Yiqing (2017). Shih-shuo Hsin-yu: A New Account of Tales of the World. แปลโดย Richard B. Mather (Second ed.). University of Michigan Press. pp. 341–. ISBN 978-1-938-93701-9.
  2. 2.0 2.1 Liu Yiqing 劉義慶. "Chapter 15. Self-renewal 自新第十五". Shishuo xinyu 世說新語 – โดยทาง Wikisource.
  3. Minford, John; Lau, Joseph S.M., บ.ก. (2002). "Hearing the Way in the Morning". An Anthology of Translations: Classical Chinese Literature, Volume I: From Antiquity to the Tang Dynasty. แปลโดย Richard B. Mather. Columbia University Press. pp. 667–668. ISBN 0-231-09676-3.
  4. Wu Fusheng (2008). Panegyric Poetry in Early Medieval China. State University of New York Press. p.67.
  5. Kleeman, Terry F. (1998). Great Perfection: Religion and Ethnicity in a Chinese Millennial Kingdom. University of Hawaii Press. p.91.