คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คณะเภสัชศาสตร์
มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
Faculty of Pharmaceutical Sciences, Ubon Ratchathani University
ชื่อย่อPS
สถาปนา3 มิถุนายน พ.ศ. 2537 (29 ปี)
คณบดีเภสัชกร ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ศรีภา
ที่อยู่
วารสารวารสารเภสัชศาสตร์อีสาน
สี███ สีเขียวมะกอก
มาสคอต
ถ้วยยาไฮเกีย, เรซิพี (℞)
เว็บไซต์https://phar.ubu.ac.th/

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (อังกฤษ : Faculty of Pharmaceutical Sciences, Ubon Ratchathani University) เป็นส่วนราชการไทยระดับคณะวิชาสังกัดมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดตั้งเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2537 นับเป็นคณะเภสัชศาสตร์ลำดับที่ 10 ของประเทศไทย เป็นลำดับที่ 2 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเป็นคณะวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพคณะแรกของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

ประวัติ[แก้]

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้รับอนุมัติจากทบวงมหาวิทยาลัยให้จัดตั้งเป็นคณะเภสัชศาสตร์ เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 และมีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะเภสัชศาสตร์ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 111 ตอนที่ 21 ก. เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2537 สำหรับหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ระยะเวลาการศึกษา 5 ปี ได้รับความเห็นชอบจาก ทบวงมหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2536 และสำนักงาน ก.พ.รับรองคุณวุฒิปริญญาเภสัชศาสตรบัณฑิตของ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2536 ในปี 2551 ได้ดำเนินการปรับหลักสูตรเป็นหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ซึ่งมีระยะเวลาการศึกษา 6 ปี ให้สอดคล้องกับเกณฑ์การจัดการเรียนการสอนที่กำหนดโดยสภาเภสัชกรรมแห่งประเทศไทย และเริ่มเปิดรับนักศึกษา ตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 เป็นต้นไป

คณะเภสัชศาสตร์ได้ปฏิบัติภารกิจสำคัญในการจัดการศึกษาและดำเนินงานวิจัยด้านเภสัชศาสตร์มานานกว่าทศวรรษ โดยเปิดรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2537 เป็นต้นมา  มีบัณฑิตเภสัชศาสตร์สำเร็จการศึกษาในหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต หลักสูตร 5 ปีแล้ว 15 รุ่น รวมทั้งสิ้น 1,104 คน โดยปีการศึกษา 2557 นักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ รุ่นที่ 16 ซึ่งเป็นรุ่นแรกที่มีการเรียนการสอนในหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต หลักสูตร 6 ปี สำเร็จ การศึกษา ทั้งนี้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2537-2559 คณะเภสัชศาสตร์มีบัณฑิตสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ทั้ง หลักสูตร 5 ปี และหลักสูตร 6 ปี รวมทั้งสิ้น 18 รุ่น จำนวน 1,349 คน ปัจจุบันมีการรับนักศึกษาในหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต (6 ปี) 2 สาขา ได้แก่ การบริบาลทางเภสัชกรรมและเภสัชกรรมอุตสาหการ จำนวนปีละประมาณ 138 คน

กลุ่มวิชา[แก้]

คณะเภสัชศาสตร์มีการแบ่งส่วนราชการเพียงส่วนเดียวคือ สำนักงานเลขานุการ แต่ในส่วนของการจัดการเรียนการสอนนั้น มีการบริหารจัดการในลักษณะของกลุ่มวิชา ซึ่งเป็นการแบ่งส่วนงานภายใน แบ่งเป็น 3 กลุ่มวิชาดังนี้

  1. กลุ่มวิชาชีวเภสัชศาสตร์ (Division of Biopharmacy)
  2. กลุ่มวิชาเภสัชเคมีและเทคโนโลยีเภสัชกรรม (Division of Pharmaceutical Chemistry and Technology)
  3. กลุ่มวิชาเภสัชกรรมปฏิบัติ(Division of Pharmacy Practices)

สำหรับการเรียนการสอนในรายวิชาศึกษาทั่วไปและรายวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐานนั้น จัดการเรียนการสอนโดยคณะศิลปศาสตร์และคณะวิทยาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ส่วนการฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพนั้นจัดขึ้นในหน่วยงานที่เป็นแหล่งฝึกปฏิบัติงานด้านการผลิตเภสัชภัณฑ์และด้านการให้บริการสุขภาพ และเภสัชกรรมทั้งในภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ

หลักสูตรการศึกษา[แก้]

ปัจจุบัน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดทำการเรียนการสอนในสาขาวิชา ดังต่อไปนี้

หลักสูตรที่เปิดสอนในคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
ระดับปริญญาบัณฑิต ระดับปริญญามหาบัณฑิต ระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต

เภสัชศาสตรบัณฑิต (ภ.บ.)

  • สาขาการบริบาลทางเภสัชกรรม
  • สาขาเภสัชกรรมอุตสาหการ

เภสัชศาสตรมหาบัณฑิต (ภ.ม.)

  • สาขาเภสัชกรรมคลินิก

วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (วท.ม.)

  • สาขาวิทยาการทางผลิตภัณฑ์สุขภาพและเภสัชภัณฑ์ (กำลังดำเนินการ)

ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (ปร.ด.)

  • สาขาเภสัชศาสตร์
    • วิชาเอกเภสัชศาสตร์ชีวภาพ
    • วิชาเอกเภสัชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ
    • วิชาเอกการบริหารเภสัชกิจและการวิจัยผลลัพธ์ทางสุขภาพ

ทำเนียบคณบดี[แก้]

รายนามคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันมีดังนี้

คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
รายนามคณบดี วาระการดำรงตำแหน่ง
1. รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.บังอร ศรีพานิชกุลชัย พ.ศ. 2538 - พ.ศ. 2546
2. รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข พ.ศ. 2546 - พ.ศ. 2553
3. รองศาสตราจารย์ เภสัชกรหญิง ดร.ชุตินันท์ ประสิทธิ์ภูริปรีชา พ.ศ. 2553 - พ.ศ. 2562
4. เภสัชกร ดร.ศักดิ์สิทธิ์ ศรีภา พ.ศ. 2562 - ปัจจุบัน

หมายเหตุ คำนำหน้านามของผู้ดำรงตำแหน่งคณบดี และผู้รักษาการแทนคณบดี เป็นคำนำหน้านามตามตำแหน่งทางวิชาการในขณะนั้น

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]