เหรียญลูกเสือสรรเสริญ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เหรียญลูกเสือสรรเสริญ
เหรียญลูกเสือสรรเสริญ (เรียงจากซ้ายไปขวา) ชั้นที่ 3, ชั้นที่ 2, ชั้นที่ 1
มอบโดย พระมหากษัตริย์ไทย
ประเภทเหรียญราชอิสริยาภรณ์ประเภทบำเหน็จในราชการ
วันสถาปนา27 ตุลาคม พ.ศ. 2482
ประเทศไทย ราชอาณาจักรไทย
ภาษิตเสียชีพอย่าเสียสัตย์
จำนวนสำรับไม่จำกัดจำนวน
ผู้สมควรได้รับลูกเสือ เจ้าหน้าที่ลูกเสือ ผู้ตรวจการลูกเสือ กรรมการลูกเสือที่ได้เสียสละตนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นหรือได้บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์เป็นที่น่าสรรเสริญ
สถานะยังพระราชทานอยู่
ผู้สถาปนาคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
ประธานพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
สถิติการมอบ
รายแรกเล็กซัน วิเศษรัตน์
22 ตุลาคม พ.ศ. 2483
รายล่าสุดวรรณประกรณ์ จุมพลน้อย
2 มิถุนายน พ.ศ. 2566
ลำดับเกียรติ
สูงกว่าเหรียญจักรมาลา
เหรียญจักรพรรดิมาลา
เหรียญบุษปมาลา
รองมาเหรียญลูกเสือสดุดี
หมายเหตุเดิมเหรียญลูกเสือสรรเสริญ เป็นเหรียญที่ระลึกลูกเสือ ในปัจจุบันเป็นเหรียญที่ออกตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551

เหรียญลูกเสือสรรเสริญ เป็นเหรียญสำหรับพระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบในราชการ สำหรับพระราชทานแก่ลูกเสือ ผู้บังคับบัญชาลูกเสือ ผู้ตรวจการลูกเสือ กรรมการลูกเสือและเจ้าหน้าที่ลูกเสือ[1]

ประวัติของเหรียญลูกเสือสรรเสริญ[แก้]

ต้นแบบของเหรียญลูกเสือสรรเสริญ มาจาก "เหรียญที่ระลึกลูกเสือ" ซึ่งพระราชทานให้ลูกเสือที่ออกจากประจำการไปเป็นเสือป่า ต่อมาได้พัฒนาเป็นต้นเค้าของเหรียญลูกเสือสรรเสริญซึ่งมีสามชั้นคือทอง นาค เงิน ก่อนที่มาสู่เหรียญลูกเสือสรรเสริญในปัจจุบัน ลูกเสือที่ได้รับพระราชทานเหรียญลูกเสือสรรเสริญครั้งแรก เป็นเหรียญลูกเสือสรรเสริญชั้นที่ 2 (เหรียญเงิน) ได้แก่ลูกเสือตรีเล็กซัน วิเศษรัตน์ เลขประจำตัว 887 สังกัดกองลูกเสือเสนาจังหวัดหนองคายที่ 1 (หนองคายวิทยาคาร) ซึ่งได้ช่วยเหลือเด็กหญิงอรรตพนธ์ สงกะศิริ ให้พ้นอันตรายจากการจมน้ำตายที่ท่าวัดหายโศก อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ประกาศ ณ วันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2483

ลักษณะของเหรียญและชนิดของเหรียญ[แก้]

ลักษณะของเหรียญ[แก้]

ตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 มาตรา 56 [2] ได้กำหนดลักษณะของเหรียญลูกเสือสรรเสริญ ไว้ว่า

"มาตรา 56 เหรียญลูกเสือสรรเสริญเป็นเหรียญเงินมีลักษณะกลมรี ขนาดกว้าง 2.5 เซนติเมตร ยาว 3.2 เซนติเมตร ด้านหน้าตรงกลางมีตราหน้าเสือประกอบวชิระ ริมขอบส่วนบนมีอักษรว่า “ลูกเสือ” และส่วนล่างมีอักษรว่า “เสียชีพอย่าเสียสัตย์” ตราหน้าเสือประกอบวชิระและตัวอักษรให้ทำเป็นลายดุน ด้านหลังเป็นพื้นเกลี้ยงจารึกนาม เลขหมายประจำตัวของผู้ซึ่งได้รับพระราชทานนามหน่วยลูกเสือที่สังกัด และวันที่พระราชทาน ที่ขอบส่วนบนของเหรียญมีห่วงห้อยแพรแถบ ขนาดกว้าง 2.4 เซนติเมตร มีริ้วสีดำกว้าง 1.2 เซนติเมตร อยู่กลาง ริมทั้งสองข้างมีริ้วสีเหลือง กว้าง 6 มิลลิเมตร ประดับที่อกเสื้อเหนือปกกระเป๋าเบื้องซ้าย"

ชนิดของเหรียญ[แก้]

ตามพระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 มาตรา 56 และ 57[3] ได้แบ่งชนิดของเหรียญลูกเสือสรรเสริญ เป็น 3 ชั้น คือ

ชั้นที่ 1[แก้]

มีเฟลอร์เดอลีส์ ทำด้วยโลหะเงินประดับที่แพรแถบ 2 ดอกตามแนวนอน จะพระราชทานแก่ผู้มีความดี ความชอบซึ่งได้ทำการรักษาความปลอดภัยหรือสันติสุขเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์หรือได้ช่วยชีวิตผู้ตกอยู่ในอันตราย ทั้งนี้ โดยตนเองได้ฝ่าอันตรายจนถึงขนาดที่สมควรได้รับพระราชทานเหรียญนี้ หรือตนเองได้ประสบอันตรายถึงทุพพลภาพหรือถึงเสียชีวิต

ชั้นที่ 2[แก้]

มีเฟลอร์เดอลีส์ ทำด้วยโลหะเงินประดับที่แพรแถบตรงกึ่งกลาง 1 ดอก จะพระราชทานแก่ผู้มีความดีความชอบซึ่งได้ช่วยชีวิตผู้ตกอยู่ในอันตรายโดยตนเองได้ประสบอันตรายหรือฝ่าอันตราย หรือแก่ผู้ซึ่งได้ทำความดีความชอบในข้อต่อไปนี้ ทุกข้อรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยครั้ง และในแต่ละข้อไม่น้อยกว่าสิบครั้ง คือ

  • ช่วยเหลือผู้ได้รับทุกข์ยากลำบากที่ควรช่วย
  • ช่วยเหลือหรือป้องกันผู้อื่นหรือทรัพย์สินของผู้อื่นให้พ้นอันตราย
  • ช่วยสัตว์ให้พ้นจากการทรมานหรือพ้นทุกขเวทนา
  • ทำการปฐมพยาบาล
  • ช่วยเหลือราชการ
  • ช่วยเหลือกิจการอันเป็นสาธารณกุศล
  • ช่วยเหลือผู้ปกครอง
  • ช่วยเหลือกิจการต่าง ๆ ของโรงเรียน หรือสถานที่ทำงานซึ่งไม่ใช่หน้าที่ตามปกติ

ชั้นที่ 3[แก้]

ไม่มีเฟลอร์เดอลีส์ประดับที่แพรแถบ จะพระราชทานแก่ผู้มีความดีความชอบซึ่งได้ช่วยชีวิตผู้ตกอยู่ในอันตรายแม้เพียงครั้งเดียว หรือแก่ผู้ซึ่งได้ทำความดีความชอบตามเกณฑ์สำหรับเหรียญลูกเสือสรรเสริญชั้นที่ 2 ทุกข้อรวมกันไม่น้อยกว่าห้าสิบครั้งและในแต่ละข้อไม่น้อยกว่าห้าครั้ง

แพรแถบย่อ
ชั้นที่ 1
ชั้นที่ 2
ชั้นที่ 3

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-04. สืบค้นเมื่อ 2012-02-11.
  2. พระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 (http://kormor.obec.go.th/act/act071.pdf เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน)
  3. พระราชบัญญัติลูกเสือ พ.ศ. 2551 (http://kormor.obec.go.th/act/act071.pdf เก็บถาวร 2016-03-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน)