วังศุโขทัย
วังศุโขทัย | |
---|---|
ที่มา | พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว |
ข้อมูลทั่วไป | |
สถานะ | เปิดใช้งาน |
ประเภท | วัง |
สถาปัตยกรรม | ตะวันตกผสม |
ที่ตั้ง | แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต |
เมือง | กรุงเทพมหานคร |
ประเทศ | ไทย |
เริ่มสร้าง | พ.ศ. 2461 |
ข้อมูลทางเทคนิค | |
โครงสร้าง | พระตำหนัก สระน้ำ สวน เรือนพัก |
วังศุโขทัย เป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 มาตั้งแต่ก่อนเสด็จขึ้นทรงราชย์ และยังเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 หลังจากที่เสด็จฯ แปรพระราชฐานกลับจากสวนบ้านแก้ว จังหวัดจันทบุรี ตราบจนสวรรคตใน วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527[1]
วังศุโขทัยได้รับการยกย่องว่าเป็นสถาปัตยกรรมที่สมบูรณ์แบบที่สุด ในด้านการก่อสร้าง โดยประยุกต์ผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมตะวันตก ด้านรูปแบบตัวอาคารและตกแต่งด้วยศิลปะแบบไทย ประกอบด้วย ตำหนัก 3 หลัง คือ ตำหนักใหญ่ ตำหนักไม้ ตำหนักน้ำ ภายในพระตำหนักมีระเบียงทางเชื่อมระหว่างตำหนัก ซึ่งเป็นการออกแบบก่อสร้างตามอย่างตะวันตก หากแต่ใช้ไม้เป็นวัสดุแกะสลักลวดลายตามชายคาแบบไทยอย่างสวยงาม ในช่วงที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทรงพระประชวร มักจะเสด็จมาพักผ่อนพระอิริยาบถที่ตำหนักน้ำซึ่งตั้งอยู่ริมคลองสามเสนอยู่เป็นประจำ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงขึ้นครองราชสมบัติแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 ได้เสด็จไปประทับที่พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิตระยะหนึ่ง แล้วเสด็จกลับมาประทับที่วังศุโขทัยอีกครั้ง ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 หลังจากนั้นประมาณปีเศษ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จไปประทับที่ประเทศอังกฤษ จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ช่วงนั้นวังศุโขทัยตกเป็นกรรมสิทธิ์ของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์และใช้เป็นที่ทำการของกระทรวงสาธารณสุข[2] จนกระทั่งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7 เสด็จกลับมาประทับที่ประเทศไทยอย่างเป็นทางการ แล้วจึงเสด็จมาประทับที่วังศุโขทัยอีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2511 จนเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 และก่อนหน้าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะรับการอัญเชิญขึ้นทรงราชย์ ก็เคยประทับที่วังศุโขทัย
ปัจจุบันวังศุโขทัยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระตำหนักอื่น ๆ ภายในวังศุโขทัย
[แก้]- พระตำหนักใหญ่ เป็นพระตำหนักที่ประทับ ก่ออิฐฉาบปูน มีความสูง 2 ชั้น หลังคาทรงปั้นหยาผสมกับทรงจั่ว ส่วนยอดจั่วประดับด้วยไม้จำหลัก ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของรูปทรงหลังคาที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 พระบัญชรเป็นบานกระจก ตอนบนไม่มีกันสาด พระทวารเป็นบานไม้ลูกฟัก ภายในมีการตกแต่งฝ้าเพดานเฉพาะส่วนที่เป็นห้องสำคัญ
- พระตำหนักพัชราภิรมย์ เป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา
- พระตำหนักสิรินภาลัย เป็นพระตำหนักที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
- ตำหนักไม้ เป็นตำหนักที่ประทับชั่วคราว บางครั้งใช้เป็นที่รับแขกหรือพระประยูรญาติที่เสด็จมาประทับก่อสร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง รอบ ๆ ตำหนักมีเฉลียงเดินได้เกือบรอบ ฝาผนังเป็นแบบฝาไม้บังใบตีทางนอน มีคร่าวไม้อยู่ด้านนอก
- ตำหนักน้ำ อยู่ริมคลองสามเสน เป็นตำหนักโปร่ง ๆ มีห้อง 2 ข้าง ตรงกลางเป็นทางลงสู่คลองสามเสน พระทวารและพระบัญชรเป็นบานเกล็ดไม้ ที่ชายคาตำหนักมีไม้จำหลักลายอยู่โดยรอบ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ วังศุโขทัย[ลิงก์เสีย]
- ↑ แสงทอง จันทร์เฉิด. เส้นทางการต่อสู้ของมาลาเลีย ในประวัติศาสตร์ไทย. นนทบุรี : กองนวัตกรรมและวิจัย กรมควบคุมโรค, 2562
- ปราณี กล่ำส้ม, ลัดเลาะคลองสามเสน เก็บถาวร 2021-07-31 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน วารสารเมืองโบราณ
- เกิดวังปารุสก์ ประพันธ์โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ สำนักพิมพ์ River Books ,ISBN 974-8225-22-4
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ วังศุโขทัย
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์