ข้ามไปเนื้อหา

สังเวชนียสถาน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

สังเวชนียสถาน (อ่านว่า สัง-เว-ชะ-นี-ยะ-สะ-ถาน) แปลว่า สถานที่อันเป็นที่ตั้งแห่งความสังเวช เป็นคำที่ใช้เรียกสถานที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะ

สังเวชนียสถาน หมายถึงสถานที่ที่ทำให้เกิดความรู้สึกระลึกถึงพระพุทธเจ้า เกิดความแช่มชื่น เบิกบาน เกิดแรงบันดาลใจที่จะทำความดี เมื่อได้ไปพบเห็น

สังเวชนียสถาน มี 4 แห่ง คือ

  1. สถานที่ประสูติ
  2. สถานที่ตรัสรู้
  3. สถานที่แสดงปฐมเทศนา
  4. สถานที่ปรินิพพาน

สังเวชนียสถาน 4 แห่งนี้ ท่านว่าเป็นสถานที่ควรไปเคารพสักการะ ควรไปแสวงบุญ เพื่อให้เกิดความสังเวชและเกิดพุทธานุสติ อันจักนำมาซึ่งบุญกุศลและความปลาบปลื้มแช่มชื่นใจ จากเนื้อความในมหาปรินิพพานสูตร แสดงให้เห็นว่าสังเวชนียสถานทั้งสี่นี้ได้เกิดขึ้นโดยคำแนะนำของพระพุทธองค์ ที่ได้ตรัสว่า ผู้ใดระลึกถึงพระองค์ พึงจาริกไปยังสังเวชนียสถานทั้งสี่นี้ [1]

ต่อมาภายหลังจึงเกิดการจาริกไปยังสถานที่ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปาฏิหาริย์เพิ่มขึ้นอีก 4 แห่ง นั่นคือ[2]

  1. สถานที่เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
  2. สถานที่แสดงยมกปาฏิหาริย์
  3. สถานที่ทรมานช้างนาฬคีรี
  4. สถานที่ทรมานพญาวานร

สถานที่สำคัญในสังเวชนียสถาน

[แก้]

สถานที่เนื่องด้วยการประสูติ (ลุมพินีวัน)

[แก้]

ที่ตั้ง

[แก้]

ลุมพินีวันเป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญ 1 ใน 4 สังเวชนียสถานของชาวพุทธ เป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ซึ่งต่อมาตรัสรู้เป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่ที่อำเภอไภรวา แคว้นอูธ ประเทศเนปาล เป็นพุทธสังเวชนียสถาน 4 ตำบลเพียงแห่งเดียวที่อยู่นอกประเทศอินเดีย ตัวลุมพินีวันอยู่ใกล้กับชายแดนประเทศอินเดียตอนเหนือ ห่างจากสิทธารถนคร[3] (หรือ นครเทวทหะ) ทางทิศตะวันตกประมาณ 22 กิโลเมตร และห่างจากเมืองติเลาราโกต (หรือ นครกบิลพัสดุ์) ทางทิศตะวันออก 22 กิโลเมตร ซึ่งถูกต้องตามตำราพระพุทธศาสนาที่กล่าวว่าลุมพินีวันสถานที่ประสูติ ตั้งอยู่ระหว่างเมืองกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะ ปัจจุบัน ลุมพินีวันได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540[4]

ลุมพินีวันในสมัยพุทธกาล

[แก้]
ชาวพุทธนมัสการ เสาพระเจ้าอโศกมหาราช เครื่องหมายสถานที่พระพุทธเจ้าประสูติ ณ ลุมพินีวัน ประเทศเนปาล

ในสมัยพุทธกาล ลุมพินีวันอยู่ในเขตแห่งดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีป ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ เมืองหลวงของพระเจ้าสุทโธทนะ และกรุงเทวทหะ เมืองหลวงของพระเจ้าชนาธิป เป็นพระราชอุทยานลาดลุ่มร่มรื่นกึ่งกลางระหว่างทางสำหรับพักผ่อนหย่อนใจของกษัตริย์และประชาชน สภาพของลุมพินีวันในสมัยนั้นอาจจะพิจารณาได้จากคัมภีร์วิสุทธชนวิลาสินี อรรถกถาขุททกนิกาย อปทาน ได้พรรณนาเป็นภาษาบาลีไว้ว่า

"ทวินฺนํ ปน นครานํ อนฺตเร อุภยนครวาสีนมฺปิ ลุมพินีวนํ นาม มงฺคลสาลวนํ อตฺถิ, ตสฺมึ สมเย มูลโต ปฏฺฐาย ยาว อคฺคสาขา สพฺพํ เอกปาลิผุลฺลํ อโหสิ สาขนฺตเรหิ เจว ปุปฺผนฺตเรหิ จ ปญฺจวณฺณา ภมรคณา นานปฺปการา จ สกุณสงฺฆา มธุรสฺสเรน วิกูชนฺตา สกลํ ลุมฺพินีวนํ จิตฺตลตาวนสทิสํ ฯเปฯ"

แปลว่า: "ในระหว่างเมืองทั้งสอง มีป่าสาละชื่อลุมพินีวันอันเป็นมงคล สมัยนั้นสาละทั้งหมดล้วนมีดอกออกสะพรั่งเป็นแนวเดียวกัน แต่รากจนสุดปลายกิ่ง ตามกิ่งก้านสาขาและดอกนั้นล้วนมีหมู่ภมรนานาชนิด และหมู่นกหลากหลายชนิดส่งเสียงกู่ร้องประสานสำเนียง ดังทั่วทั้งป่า ลุมพินีวันนั้นจึงประดุจเช่นเดียวกับสวนจิตรลดา (อันมีในดาวดึงสเทวโลก) ฉะนั้น ฯลฯ"

— วิสุทฺธชนวิลาสินี ๑, หน้า ๖๔

หลังจากการประสูติของพระพุทธองค์แล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานอื่นว่าพระพุทธเจ้าได้เสด็จมา ณ ที่แห่งนี้แต่อย่างใด แม้พระพุทธเจ้าจะได้เสด็จมา ณ กรุงกบิลพัสดุ์ ก็ประทับที่นิโครธารามที่พระประยูรญาติจัดถวายหาได้มาประทับหรือแสดงธรรม ณ ลุมพินีวันอีกไม่ เนื่องเพราะลุมพินีวันนั้นเป็นอุทยานไม่มีผู้คนอาศัยนั่นเอง[5]

ลุมพินีวันหลังพุทธปรินิพพาน

[แก้]

หลังพุทธปรินิพาน กษัตริย์ซึ่งได้รับส่วนแบ่งแห่ง??? ได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ในสถูปแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากลุมพินีวันนัก จวบจนพุทธศักราชได้ 294 ปี พระเจ้าอโศกมหาราชได้เสด็จนมัสการพุทธสังเวชนียสถานทั่วทั้งชมพูทวีป พร้อมด้วยพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ (หรือพระอุปคุต) ได้เสด็จมานมัสการ ณ ลุมพินีนี้ พระองค์โปรดฯ ให้พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระนำทางและชี้จุดที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ แล้วทรงสร้างอาราม พระเจดีย์และเสาศิลาจารึกไว้เป็นสัญลักษณ์ว่า ลุมพินีวันนี้มีความสำคัญอย่างไร ซึ่งเสาศิลาหินทรายของพระเจ้าอโศกยังคงตั้งอยู่ ณ ที่เดิมจนถึงปัจจุบัน[6]

สระสรงสนาน และ มหามายาเทวีวิหาร หลังการบูรณะ

หลังจากยุคของพระเจ้าอโศกมหาราช เรื่องราวของลุมพินีวันได้หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาเกือบ 700 ปี โดยไม่ปรากฏหลักฐานเอกสารที่สามารถสืบค้นถึงความเป็นไปของลุมพินีวันในช่วงนี้ได้ จนในประมาณ พ.ศ. 900 สมณะฟาเหียนได้เดินทางจากประเทศจีนมาถึงลุมพินีวัน ท่านได้กล่าวไว้สั้น ๆ เพียงว่าได้พบบ่อสรงสนาน และระบุที่ตั้งของลุมพินีวันว่าอยู่ไกลจากกรุงกบิลพัสดุ์ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 14-16 กิโลเมตร[6]

ต่อมา ในปี พ.ศ. 1181 สมณะเฮี้ยนจังหรือพระถังซำจั๋ง ได้เดินทางมาถึงลุมพินีวัน โดยได้ทำการการจดบันทึกระบุที่ตั้งสถานที่ต่าง ๆ ในลุมพินีวันไว้คร่าว ๆ ท่านได้กล่าวถึงบ่อสรงสนาน ซึ่งคงเป็นบ่อเดียวกับที่สมณะฟาเหียนกล่าวไว้ในบันทึก ซึ่งบ่อนี้ยังคงมีอยู่มาจนปัจจุบัน และกล่าวว่าไม่ไกลจากบ่อนั้นไปประมาณ 24 ก้าว มีต้นสาละต้นหนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นจุดที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ จากจุดนั้นไปทางใต้มีเจดีย์องค์หนึ่ง เชื่อกันว่าเป็นจุดที่พระอินทร์เสด็จจากสวรรค์ลงมาต้อนรับพระราชโอรสที่ประสูติใหม่ ใกล้ ๆ กันมีเจดีย์อีกสี่องค์ ที่สร้างไว้เพื่อถวายแก่ท้าวจตุโลกบาล ที่ทำหน้าที่ถวายอภิบาลพระโอรสประสูติใหม่ และใกล้กันนั้นมีเสาอโศกรูปสิงห์ประดิษฐานอยู่บนยอด[7]

จวบจน พ.ศ. 2438–2439 เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮมและคณะ ได้ค้นพบเสาศิลาพระเจ้าอโศกซึ่งถูกฝังดินไว้และพบจารึกเป็นอักษรพราหมีระบุว่าที่แห่งนี้คือสถานที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ จากนั้นจึงเริ่มมีการขุดค้นทางโบราณคดี โดยพบซากปรักหักพังจำนวนมาก ซากสถูปกว่า 50 องค์ และซากวิหารอาราม มีอายุตั้งแต่สมัยราชวงศ์โมริยะ ราชวงศ์ศุงคะ ราชวงศ์กุษาณะ และสมัยคุปตะ (ประมาณ พ.ศ. 300–950) [8]

จุดแสวงบุญและสภาพของลุมพินีวันในปัจจุบัน

[แก้]
อู ถั่น อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ ผู้ดำริให้ชาวพุทธทั่วโลกร่วมกันบูรณะลุมพินีวันให้เป็นพุทธอุทยานประวัติศาสตร์ของโลก

ปัจจุบัน ลุมพินีวันได้รับการบูรณะและมีถาวรวัตถุสำคัญที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะ คือ "เสาหินพระเจ้าอโศกมหาราช" ที่ระบุว่าสถานที่นี้เป็นสถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ นอกจากนี้ ยังมี "วิหารมายาเทวี" ภายในประดิษฐานภาพหินแกะสลักพระรูปพระนางสิริมหามายาประสูติพระราชโอรส โดยเป็นวิหารเก่ามีอายุร่วมสมัยกับเสาหินพระเจ้าอโศก ปัจจุบัน ทางการเนปาลได้สร้างวิหารใหม่ทับวิหารมายาเทวีหลังเก่า และได้ขุดค้นพบศิลาจารึกรูปคล้ายรอยเท้า สันนิษฐานว่าเป็นจารึกรอยเท้าก้าวที่เจ็ดของเจ้าชายสิทธัตถะที่ทรงดำเนินได้เจ็ดก้าวในวันประสูติ

ลุมพินีวันได้รับการพัฒนาจากชาวพุทธทั่วโลก โดยเฉพาะจากโครงการฟื้นฟูพุทธสถานลุมพินีวันให้เป็น "พุทธอุทยานทางประวัติศาสตร์ของโลก" ซึ่งเป็นดำริของ ฯพณฯ อู ถั่น ชาวพุทธพม่า ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ท่านตั้งใจเริ่มโครงการฟื้นฟูให้ลุมพินีวันเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธบนพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้ากว่า 6,000 ไร่ (ขนานตามแนวเหนือใต้) แบ่งพื้นที่เป็นสัดส่วนสำหรับปลูกป่าและสร้างวัดพุทธนานาชาติจากทั่วโลกกว่า 41 ประเทศ โดยโบราณสถานลุมพินีวันตั้งอยู่ทางด้านใต้ ปัจจุบัน มีวัดไทยและวัดพุทธทั่วโลกไปสร้างอยู่จำนวนมากและมีขนาดใหญ่โต เพื่อรองรับพุทธศาสนิกชนที่มาสักการะแสวงบุญ

ในปี พ.ศ. 2540 ลุมพินีวันได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นแหล่งมรดกโลก ภายใต้ชื่อ "ลุมพินี สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า" ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 21 ที่เมืองนาโปลี ประเทศอิตาลี อีกด้วย[9]

สถานที่เนื่องด้วยการตรัสรู้ (พุทธคยา)

[แก้]

ที่ตั้ง

[แก้]

พุทธคยานับเป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญที่สุดและเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวพุทธทั่วโลกเพราะเป็นจุดเริ่มต้นของพระพุทธศาสนา โดยเป็นสถานที่ที่เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า นับเป็นเวลากว่า 2,500 ปีที่สถานที่แห่งนี้เป็นศูนย์รวมของจุดหมายในการแสวงบุญของชาวพุทธผู้มีศรัทธาทั่วโลก พุทธคยามีชื่อเรียกอีกชื่อว่า วัดมหาโพธิ์ (อังกฤษ: Mahabodhi Temple) ตั้งอยู่ที่จังหวัดคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา 350 เมตร ในอดีตตำบลที่ตั้งพุทธคยามีชื่อว่า อุรุเวลาเสนานิคม ต่อมา จึงเพี้ยนเป็น อุเรล ปัจจุบัน พุทธคยาอยู่ในความดูแลของคณะกรรมการร่วมพุทธ-ฮินดู2 และยังได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545[10]

พุทธคยาในสมัยพุทธกาล

[แก้]
พระสงฆ์ นมัสการพระมหาโพธิเจดีย์ สถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญที่สุดของชาวพุทธ

ในสมัยพุทธกาล พุทธคยาอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าชมพูทวีป ตั้งอยู่ในหมู่บ้านนิคมชื่อว่าอุรุเวลา ในแคว้นมคธ เป็นสถานที่ที่ร่มรื่น (รมณียสถาน) สะดวกด้วยโคจรคาม เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรทางจิต สภาพของพุทธคยาในสมัยพุทธกาลอาจจะพิจารณาได้จากพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกที่ได้ตรัสกับโพธิราชกุมาร ในโพธิราชกุมารสูตร ราชวรรค มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงพรรณาถึงตำบลอุรุเวลาเสนานิคมไว้ว่า

ราชกุมาร! เรานั้นเมื่อหลีกไปจากสำนักอุทกผู้รามบุตรแล้ว แสวงหาอยู่ว่าอะไรเป็นกุศล ค้นหาแต่สิ่งที่ประเสริฐฝ่ายสันติอันไม่มีอื่นยิ่งกว่า, เที่ยวจาริกไปตามลำดับหลายตำบลในมคธรัฐ จนบรรลุถึงตำบล อุรุเวลาเสนานิคม พักแรมอยู่ ณ ตำบลนั้น. ณ ที่นั้น เราได้พบภาคพื้นรมณียสถาน มีชัฏป่าเยือกเย็น แม่น้ำใสเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบเป็นอันดีน่าเพลินใจ มีบ้านสำหรับโคจรตั้งอยู่โดยรอบ. ราชกุมาร! เราได้เห็นแล้ว เกิดความรู้สึกว่า "ภูมิภาคนี้น่ารื่นรมย์จริง ชัฏป่าเย็นเยือก แม่น้ำไหลใสเย็นจืดสนิท มีท่าน้ำราบเรียบเป็นอันดีน่าเพลินใจ ทั้งที่โคจรก็ตั้งอยู่โดยรอบ, ที่นี้สมควรเพื่อจะตั้งความเพียรของกุลบุตรผู้ต้องการด้วยความเพียร" ดังนี้. ราชกุมาร! เรานั่งพักอยู่ ณ ตำบลนั้นเอง ด้วยคิดว่าที่นี้สมควรแล้วเพื่อการตั้งความเพียร ดังนี้.

— สยามรฏฺฐเตปิฏกํ ปาลี. โพธิราชกุมารสุตฺตํ ราชวคฺค ม. ม. ๑๓/๔๔๘/๔๙๑

เมื่อพระพุทธองค์ได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ได้ประทับอยู่ ณ พุทธคยา เพื่อเสวยวิมุตติสุข (ความสุขอันเกิดจากความหลุดพ้น) อยู่ 7 สัปดาห์ และเกิดเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ณ โพธิมณฑลแห่งนี้ภายในเวลา 7 สัปดาห์ดังกล่าว ซึ่งรวมถึงเรื่องราวของตปุสสะและภัลลิกะ 2 พ่อค้า ที่เดินทางผ่านมาเห็นพระพุทธองค์มีพระวรกายผ่องใส จึงเข้ามาถวายข้าวสัตตุผลและสัตตุก้อน แล้วแสดงตนเป็นเทววาจิกอุบาสก ผู้ถึงพระพุทธและพระธรรมเป็นสรณะคู่แรกของโลก[11]3

หลังจากการตรัสรู้และเสวยวิมุตติสุขของพระพุทธองค์แล้ว ไม่ปรากฏหลักฐานว่าพระพุทธองค์เสด็จมา ณ ที่แห่งนี้แต่อย่างใด มีกล่าวถึงในอรรถกถาแต่เมื่อคราวพระอานนท์มา ณ พุทธคยา เพื่อนำเมล็ดพันธุ์ต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้กลับไปปลูก ณ วัดพระเชตวัน เมืองสาวัตถี ตามความต้องการของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ซึ่งปรารถนาให้มีสิ่งเตือนใจเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับที่อื่น ต้นโพธิ์ต้นที่อยู่ ณ วัดพระเชตวัน จึงได้ชื่อว่า "อานันทโพธิ์" และยังคงยืนต้นมาจนถึงปัจจุบัน [12]

พุทธคยาหลังพุทธปรินิพพาน

[แก้]

บริเวณกลุ่มพุทธสถานพุทธคยา อันเป็นอนุสรณียสถานระลึกถึงการตรัสรู้ของพระพุทธองค์นั้น เริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่สมัย พระเจ้าอโศกมหาราช4 และสร้างต่อเติมเรื่อยมาโดยกษัตริย์ชาวพุทธในอินเดีย พระองค์ต่อ ๆ มา จนกระทั่ง เมื่อกองทัพมุสลิมบุกเข้ามาโจมตีอินเดีย พุทธคยาจึงถูกปล่อยให้รกร้างไม่มีผู้คอยเฝ้าดูแล

พระมหาโพธิเจดีย์ก่อนบูรณะ ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2417 ในคราวที่พระเจ้ามินดง กษัตริย์แห่งพม่า พระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อบูรณะพระมหาเจดีย์ หลังถูกทิ้งร้างไปกว่าพันปี

สำหรับความเป็นไปของต้นพระศรีมหาโพธิ์ตรัสรู้นั้น ต้นแรกเป็นสหชาติกับพระพุทธเจ้า (เกิดในวันเดียวกับวันที่เจ้าชายสิทธัตถะประสูติ) มีอายุมาได้ 352 ปี จนถึงสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช จึงถูกทำลายโดยพระชายาของพระเจ้าอโศกมหาราช เพราะความอิจฉาที่พระเจ้าอโศกรักและหวงแหนต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นนี้จนไม่สนใจพระนาง ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สองนั้น ปลูกโดยพระเจ้าอโศกมหาราชจากหน่อพระศรีมหาโพธิ์ต้นเดิม และมีอายุยืนมาประมาณ 871-891 ปี จนถูกทำลายในประมาณปี พ.ศ. 1143-1163 ด้วยน้ำมือของพระราชาฮินดูแห่งเบงกอลพระนามว่า ศศางกา ซึ่งพระองค์อิจฉาพระพุทธศาสนาที่มีความรุ่งเรืองมาก จึงทรงแอบนำกองทัพเข้ามาทำลายต้นโพธิ์ต้นนี้ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สามนั้นปลูกโดยพระเจ้าปูรณวรมา กษัตริย์พระองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์เมารยะ และต้นที่สามนี้มีอายุยืนมากว่า 1,258-1,278 ปี จึงล้มลงในสมัยที่อินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ และต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นที่สี่ ที่ยังคงยืนต้นมาจนปัจจุบัน ปลูกโดยนายพลเซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม เมื่อ พ.ศ. 2423

ไฟล์:โพธิเจดีย์.jpg
ภาพเขียนมหาโพธิเจดีย์ โดย ชาร์ลส์ ดอยล์ เมื่อ พ.ศ. 2370 บ่งบอกถึงสภาพของมหาโพธิ์เจดีย์ในสมัยที่ไม่ได้รับการดูแล

สำหรับความเป็นไปขององค์พระมหาโพธิเจดีย์นั้น พระเจ้าหุวิชกะ (อังกฤษ: Huvishka) มีพระราชศรัทธาสร้างมหาเจดีย์ถวายเป็นพุทธบูชา ในปี พ.ศ. 694 เพื่อเป็นสถานที่สักการะสำหรับพุทธบริษัท โดยได้สร้างเป็นพระเจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยมทรงรีสวยงามติดกับพระแท่นวัชรอาสน์ทางทิศตะวันออก มี 2 ชั้น โดยชั้นล่างเป็นสถานที่กราบนมัสการและชั้นบนเป็นห้องเจริญภาวนา ลักษณะของพระมหาโพธิเจดีย์มีเอกลักษณ์เฉพาะและตั้งตระหง่านเป็นสัญลักษณ์ของมหาโพธิมณฑลมากว่าหนึ่งพันแปดร้อยปี ในระยะแรกพระราชาแห่งแคว้นต่าง ๆ ได้เข้ามาทำนุบำรุงอยู่เสมอ และได้รับการบูชารักษาจากชาวพุทธมาตลอด แต่มาขาดตอนไปเมื่อช่วงพันกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากแผ่นดินอินเดียแถบนี้ถูกคุกคามจากสงครามและการเสื่อมถอยของพระพุทธศาสนา พุทธคยาจึงถูกปล่อยทิ้งร้าง และถูกชาวฮินดูเข้าครอบครอง รวมทั้งแปลง มหาโพธิเจดีย์ เป็นเทวสถาน[6]

โดยเหตุการณ์ที่พุทธคยาถูกชาวฮินดูครอบครองนั้น เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2133 จากการที่นักบวชฮินดูชื่อ โคเสนฆมัณฑิคีร์ ได้เดินทางมาถึงพุทธคยาและได้ตั้งสำนักเล็ก ๆ ใกล้กับพระมหาโพธิเจดีย์ เมื่ออยู่ไปนาน ๆ จึงกลายเป็นเจ้าของที่ไปโดยปริยาย (มีผู้กล่าวว่า พราหมณ์มหันต์นี้ คือ นักธุรกิจการค้าที่มาในรูปนักบวชฮินดู กล่าวกันว่าติดอันดับมหาเศรษฐี 1 ใน 5 ของรัฐพิหาร ผู้นำของมหันต์องค์ที่ 15 ในปัจจุบันก็มีการสืบทอดมาตั้งแต่โคเสณฆมัณฑิคีร์) ซึ่งการที่พราหมณ์มหันต์เข้ามาครอบครองพุทธคยานั้นก็ไม่ได้ดูแลพุทธคยาแต่อย่างไร

สภาพอันเสื่อมโทรมของพุทธคยานั้น อาจพิจารณาได้จากข้อความในบทความของท่านเซอร์ เอดวินด์ อาโนลด์ (Sir Edwin Arnold) ผู้เรียบเรียงหนังสือพุทธประวัติภาษาอังกฤษที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และกล่าวกันว่าเป็นพุทธประวัติฉบับภาษาอังกฤษที่มีความไพเราะ ละน่าเลื่อมใสมาก คือ ประทีปแห่งเอเชีย (The Light of Asia) ซึ่งท่านเซอร์ได้เดินทางไปที่พุทธคยาและพบกับความน่าเศร้าสลดใจหลายประการ ท่านได้เขียนบทความ "EAST and West ; A Splendid Opportunity" (ตะวันตกและตะวันออก โอกาสแจ่มจรัส โอกาสแห่งความรุ่งโรจน์) ไว้ โดยกล่าวถึงสาเหตุของการที่พุทธสถานในอินเดียถูกทอดทิ้งเพราะความเสื่อมถอยของพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านได้พรรณาถึงความเสื่อมโทรมอย่างหนักและการขาดการเอาใจใส่จากพราหมณ์มหันต์ซึ่งครอบครองพุทธคยาอยู่ ท่านกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า "ชาวพุทธทั่วโลกได้ลืมสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นศูนย์กลางที่ยิ่งใหญ่แห่งศรัทธาของตน ที่มีความสำคัญได้เช่นเดียวกับนครเมกกะและเยรูซาเล็ม (Mecca and Jeruzaiem)" ซึ่งบทความนี้ได้ตีพิมพ์ไปทั่วโลกและเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ชาวพุทธทั่วโลกเริ่มเข้ามาหาทางบูรณะพุทธสถานต่าง ๆ ในอินเดีย[13]

เซอร์ เอดวินด์ อาโนลด์ ผู้แต่งหนังสือ "ประทีปแห่งเอเชีย"

ในปี พ.ศ. 2417 พระเจ้ามินดง กษัตริย์แห่งพม่า ได้ส่งคณะทูตมายังอุปราชแห่งอินเดียเพื่อขอทำการบูรณปฏิสังขรณ์พระวิหารและจัดการบางประการเพื่อดูแลรักษาพุทธสถานแห่งนี้ เมื่อได้รับความยินยอมจากพวกมหันต์และรัฐบาลอินเดีย จึงเริ่มทำการบูรณะ ทางรัฐบาลอินเดียได้ส่งนายพลเซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม กับ ดร.ราเชนทรลาละ มิตระ เข้าเป็นผู้ดูแลกำกับการบูรณะ เมื่อคณะผู้แทนจากพม่าจำเป็นต้องเดินทางกลับ ทางรัฐบาลอินเดียจึงรับงานบูรณะทั้งหมดมาทำแทนและเสร็จสมบูรณ์ ในปี พ.ศ. 2427[14]

ปี พ.ศ. 2434 ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ ชาวพุทธศรีลังกา ได้จัดตั้งสมาคมมหาโพธิ์และเริ่มดำเนินการเรียกร้องให้พุทธคยากลับมาเป็นของชาวพุทธ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องให้ประเทศพระพุทธศาสนาทั่วโลกให้ความสนใจในการบูรณะและฟื้นฟูพุทธคยา

จนกระทั่ง ในปี พ.ศ. 2500 รัฐบาลอินเดียได้เฉลิมฉลองพุทธชยันตี 2500 (วิสาขบูชากึ่งพุทธกาล) โดย ฯพณฯ เยาวหรลาล เนรูห์ นายกรัฐมนตรีแห่งอินเดีย ได้เชิญชวนให้ประเทศพุทธศาสนาทั่วโลกมาสร้างวัดไว้ในดินแดนต้นพุทธอุบัติภูมิ ซึ่งประเทศไทยโดยการนำของจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้ตอบรับและดำเนินการสร้างวัดเป็นชาติแรกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 และประเทศชาวพุทธอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น พม่า เกาหลี จีน ศรีลังกา ธิเบต ฯลฯ ได้ดำเนินการสร้างวัดต่อมาตามลำดับ โดยรัฐบาลอินเดียได้มีส่วนสำคัญในการบูรณะพุทธคยาอย่างต่อเนื่องจนมีสภาพดังที่เห็นในปัจจุบัน

จุดแสวงบุญและสภาพของพุทธคยาในปัจจุบัน

[แก้]

พุทธคยาในปัจจุบันเป็นพื้นที่อยู่ต่ำกว่าพื้นปกติเหมือนหลุมขนาดใหญ่ เนื่องจากผ่านระยะเวลากว่าสองพันปี ดินและตะกอนจากแม่น้ำได้ทับถมจนพื้นที่ในบริเวณนี้สูงขึ้นกว่าในสมัยพุทธกาลหลายเมตร ทำให้ในปัจจุบันผู้ไปนมัสการสังเวชนียสถานแห่งนี้ต้องเดินลงบันไดกว่าหลายสิบขั้น เพื่อถึงระดับพื้นดินเดิมที่เป็นฐานที่ตั้งพุทธสถานโบราณ

ปัจจุบัน พุทธคยาได้รับการบูรณะและมีถาวรวัตถุที่สำคัญ ๆ ที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะ คือ "พระมหาโพธิเจดีย์" อนุสรณ์สถานแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีลักษณะเป็นเจดีย์ 4 เหลี่ยม สูง 170 ฟุต วัดโดยรอบฐานได้ 121.29 เมตร ภายในประดิษฐาน "พระพุทธเมตตา" พระพุทธรูปที่รอดจากการถูกทำลายจากพระเจ้าศศางกา พระพุทธรูปองค์นี้เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยแบบศิลปะปาละ เป็นที่เคารพศรัทธาของชาวพุทธทั่วโลก "พระแท่นวัชรอาสน" แปลว่า พระแท่นมหาบุรุษใจเพชร สร้างด้วยวัสดุหินทรายเป็นรูปหัวเพชรสี่เหลี่ยม กว้าง 4.10 นิ้ว 7.6 นิ้ว หนา 5 นิ้วครึ่ง ประดิษฐานอยู่ภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นพระแท่นจำลองขึ้นทับพระแท่นเดิมเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ ณ จุดนี้ ปัจจุบัน ประชาชนและรัฐบาลประเทศศรีลังกาได้อุทิศสร้างกำแพงแก้ว ทำด้วยทองคำแท้ ประดิษฐานรอบต้นพระศรีมหาโพธิ์และพระแท่นวัชรอาสน์ นอกจากนี้ บริเวณพุทธคยาและโดยรอบยังมีสถานที่สำคัญมากมาย เช่น กลุ่มพระเจดีย์เสวยวิมุตติสุข สระมุจลินทร์ บ้านนางสุชาดา ถ้ำดงคสิริ (สถานที่เจ้าชายสิทธัตถะบำเพ็ญทุกกรกิริยา) วัดพุทธนานาชาติ เป็นต้น

ต่อมา ชาวพุทธทั่วโลกได้ร่วมเสนอขอให้พุทธคยาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก จนในปี พ.ศ. 2545 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกจึงพิจารณาให้พุทธคยาเป็นมรดกโลก ปัจจุบัน พุทธคยานับได้ว่าเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่สำคัญที่สุดของนักแสวงบุญชาวพุทธทั่วโลก โดยแต่ละปีจะมีผู้แสวงบุญนับล้านคนเดินทางมานมัสการมหาพุทธสถานแห่งนี้ ในฐานะที่เป็นสังเวชนียสถานศักดิ์สิทธิ์และสำคัญที่สุดของชาวพุทธ สถานที่อันเป็นจุดเริ่มต้นแห่งพระพุทธศาสนา และสถานที่ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแห่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมมหาศาสดาของชาวพุทธทั้งมวล

สถานที่เนื่องด้วยการปฐมเทศนา (สารนาถ)

[แก้]
วัดมูลคันธกุฏีวิหาร ภายในสารนาถ

สารนาถในสมัยพุทธกาล

[แก้]

สารนาถในสมัยพุทธกาล เรียกกันว่า ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แปลว่า เขตป่าอภัยทานแก่สัตว์ที่เป็นที่บำเพ็ญตบะของฤษี เป็นสถานที่สงบและเป็นที่ชุมนุมของเหล่าฤษีและนักพรตต่าง ๆ ที่มาบำเพ็ญตบะและโยคะเพื่อเข้าถึงพรหมมันตามความเชื่อในคัมภีร์อุปนิษัทของพรามหณ์ ทำให้เหล่าปัญจวัคคีย์ที่ปลีกตัวมาจากเจ้าชายสิทธัตถะ ภายหลังจากที่พระองค์ทรงเลิกบำเพ็ญทุกขกริยา ได้มาบำเพ็ญตบะที่นี่แทน

หลังจากพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา และเทศน์โปรดปัญวัคคีย์จนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมดแล้ว[15] ได้ทรงพักจำพรรษาแรก ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พร้อมกับเหล่าปัญจวัคคีย์ ซึ่งในระหว่างจำพรรษาแรก พระองค์ได้สาวกเพิ่มกว่า 45 องค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระยสะ[16] และบริวารของท่าน 44 องค์[17] ซึ่งรวมถึงบิดามารดาและภรรยาของพระยสะ ที่ได้มาฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์และได้ยอมรับนับถือเป็นอุบาสกอุบาสิกาที่ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะคู่แรกในโลกด้วย[18] ทำให้ในพรรษาแรกที่พระพุทธเจ้าทรงจำพรรษาที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน มีพระอรหันต์ในโลกรวม 60 องค์ และองค์พระพุทธเจ้า

นอกจากนี้ ในบริเวณสารนาถ ยังเป็นสถานที่สำคัญที่พระพุทธองค์ทรงประกาศเริ่มต้นส่งให้พระสาวกกลุ่มแรกออกไปเผยแพร่พระพุทธศาสนาหลังจากทรงจำพรรษาแรกแล้ว[19] (เชื่อกันว่าเป็นจุดที่เดียวกับที่พระพุทธองค์ทรงแสดงปฐมเทศนา คือธรรมเมกขสถูป) ดังปรากฏความตอนนี้ใน สังยุตตนิกาย สคาถวรรค[20] ว่า

...ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเที่ยวจาริกไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ชนหมู่มาก เพื่อความสุขแก่ชนหมู่มาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าได้ไปด้วยกัน ๒ รูป โดยทางเดียวกัน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง...

— สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ทุติยปาสสูตรที่ ๕

และด้วยเหตุทั้งหลายดังกล่าวมานี้ สารนาถจึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งศูนย์กลางพระพุทธศาสนาแห่งแรกมาตั้งแต่นั้น

ซึ่งในช่วงหลังจากพระพุทธองค์เสด็จออกจากสารนาถหลังประกาศส่งพระสาวกออกเผยแพร่ศาสนานั้น ไม่ปรากฏในหลักฐานในพระไตรปิฎกว่ามีการสร้างอารามหรือสิ่งก่อสร้างในป่าสารนาถแห่งนี้ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าสิ่งก่อสร้างใหญ่โตคงจะได้มาเริ่มสร้างขึ้นกันในช่วงหลังที่พระพุทธศาสนาได้รุ่งเรืองมั่นคงในแคว้นมคธแล้ว

สารนาถหลังพุทธปรินิพพาน

[แก้]

หลังพุทธกาล ประมาณ 300 ปี พระเจ้าอโศกมหาราชได้เสด็จมาที่สารนาถ[6] ในปี พ.ศ. 295 ครั้งนั้นพระองค์ได้พบว่ามีสังฆารามใหญ่โตที่สารนาถแล้ว ในครั้งนั้นพระองค์ได้ทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์ในการบูรณะและก่อสร้างศาสนสถานเพิ่มเติมในสารนาถครั้งใหญ่ โดยพระองค์ได้สร้างสถูปและสิ่งต่าง ๆ มากมายในบริเวณกลุ่มสถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมธรรมเทศนาและพระธรรมเทศนาอื่น ๆ แก่ปัญจวัคคีย์ และหมู่คันธกุฎีของพระพุทธเจ้า ในบริเวณสารนาถ เพื่อถวายเป็นอนุสรณียสถานแก่พระพุทธเจ้า

กลุ่มพุทธสถานเหล่านี้ได้เจริญรุ่งเรืองต่อมาจนถึงขีดสุดในสมัยราชวงศ์คุปตะ ตามบันทึกของพระถังซำจั๋ง (Chinese traveler Hiuen-Tsang) ​ซึ่งได้จาริกมาราว พ.ศ. 1280 ท่านได้กล่าวไว้ในบันทึกของท่านว่า ท่านได้พบสังฆารามใหญ่โต มีพระอยู่ประจำ 1,500 รูป ภายในกำแพงมีวิหารหลังหนึ่งสูงกว่า 33 เมตร มีบันไดทางขึ้นปูด้วยแผ่นหินกว่า 100 ขั้น กำแพงบันไดก่อด้วยอิฐเป็นขั้น ๆ ประดับด้วยพระพุทธรูปปางปฐมเทศนา ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของวิหารมีสถูปหินอ่อนสูง 70 ฟุต (เสาอโศก) บนยอดเสามีรูปสิงห์สี่ตัวเป็นมันวาวราวกับหยกใสสะท้อนแสง มหาสถูป (ธรรมเมกขสถูป) มีพระพุทธรูปทองคำประดิษฐานอยู่ทุกช่อง ฯลฯ[21]

ยอดเสาหินพระเจ้าอโศกและพระพุทธรูปปางแสดงปฐมเทศนาสมัยคุปตะที่มีชื่อเสียง ในสมัยแรกขุดค้นสารนาถทางโบราณคดีในช่วงระหว่างพุทธศตวรรษที่ 24-25

กลุ่มพุทธสถานสารนาถได้เจริญรุ่งเรืองสลับกับความเสื่อมเป็นช่วง ๆ ต่อมา จนในที่สุดได้ถูกกองทัพมุสลิมเติร์กบุกเข้ามาทำลายในปี พ.ศ. 1737[22] ทำให้มหาสังฆารามและพุทธวิหารในสารนาถถูกทำลายล้างและถูกทิ้งร้างไปอย่างสิ้นเชิงในระยะต่อมากว่า 700 ปี เหลือเพียงกองดินและมหาสถูปใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งธรรมเมกขสถูปและเจาคันธีสถูป ที่เป็นกองสถูปอิฐใหญ่โตมาก[23]

สภาพของสารนาถหลังจากนั้นกลายเป็นกองดินกองอิฐมหึมา ทำให้หลังจากนั้น ชาวบ้านได้เข้ามารื้ออิฐจากสารนาถไปก่อสร้างอาคารในเมืองพาราณสีเป็นระยะ ๆ ซึ่งเหตุการณ์ที่สำคัญคือเหตุการณ์ที่ราชาเชตสิงห์ (Chait Singh) มหาราชาแห่งเมืองพาราณสี ได้สั่งให้ชคัตสิงห์อำมาตย์ไปรื้ออิฐเก่าจากสารนาถเพื่อนำไปสร้างตลาดในเมืองพาราณสี (ปัจจุบันตลาดนี้เรียกว่า ชคันคุนช์) โดยได้รื้อมหาธรรมราชิกสถูป ที่สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราชลง และได้พบกับผอบศิลาสีเขียวสองชั้น ชั้นในมีไข่มุก พลอยและแผ่นเงินทองอยู่ปนกับขี้เถ้าและอัฐิ 3 ชิ้น ซึ่งเป็นพระบรมสารีริกธาตุที่พระเจ้าอโศกมหาราชบรรจุไว้ แต่คชัตสิงห์กลับนำกระดูกไปลอยทิ้งที่แม่น้ำคงคา เพราะเชื่อว่าเจ้าของกระดูกในผอบคงจะไม่ได้ขึ้นสวรรค์เพราะไม่ได้นำกระดูกไปลอยน้ำตามธรรมเนียมฮินดู ในปี พ.ศ. 2337[24]

จนเมื่ออินเดียตกไปอยู่ในความปกครองของอังกฤษในปี พ.ศ. 2420[25] ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องตั้งเจ้าหน้าที่มาขุดค้นอย่างถูกต้องตามหลักโบราณคดี โดยสานงานต่อจากพันเอกแมคแคนซี่ ที่เข้ามาดูแลการขุดค้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2358 ซึ่งใช้เวลากว่าร้อยปีจึงจะขุดค้นสำเร็จในปี พ.ศ. 2465 ในสมัยที่ท่าน เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม เป็นหัวหน้ากองโบราณคดีอินเดีย[26] จนช่วงหลังที่ท่านอนาคาริก ธรรมปาละ ชาวศรีลังกา ได้มาบูรณะฟื้นฟูสารนาถให้เป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยท่านได้ซื้อที่เพื่อสร้างวัดมูลคันธกุฏีวิหารใหม่ ซึ่งนับเป็นวัดพระพุทธศาสนาแห่งแรกในบริเวณสารนาถหลังจากถูกทำลาย[27] หลังจากนั้นเป็นต้นมา สารนาถได้รับการบูรณะจากรัฐบาลอินเดียเรื่อยมา ทำให้สารนาถกลายเป็นจุดหมายปลายทางในการแสวงบุญที่สำคัญแห่งหนึ่งของชาวพุทธทั่วโลกมาจนถึงปัจจุบัน[28]

จุดแสวงบุญและสภาพของสารนาถในปัจจุบัน

[แก้]

ปัจจุบัน สถานที่แสวงบุญในบริเวณสารนาถได้รับการขุดค้นบ้างเป็นบางส่วน บางส่วนก็ยังคงจมอยู่ใต้ดิน แต่ซากพุทธสถานสำคัญ ๆ ส่วนใหญ่ในพุทธประวัติก็ได้รับการขุดค้นขึ้นมาหมดแล้ว เช่น

  • ธรรมเมกขสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนาและประกาศส่งพระสาวกไปเผยแพร่พระศาสนา
  • ยสสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าทรงพบท่านยสะ ซึ่งต่อมาได้บรรลุเป็นพระอรหันตสาวกองค์ที่ 6 ในโลก[29]
  • รากฐานธรรมราชิกสถูป สถานที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงอนัตตลักขณะสูตร และสถานที่เคยประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
  • พระมูลคันธกุฏี พระคันธกุฏีที่ประทับจำพรรษาของพระพุทธองค์ในพรรษาแรก[30]
  • ซากเสาพระเจ้าอโศกมหาราช ซึ่งหักเป็น 5 ท่อน ในอดีตเสานี้เคยมีความสูงถึง 70 ฟุต และบนยอดเสามีรูปสิงห์ 4 หัวอีกด้วย ปัจจุบันสิงห์ 4 หัว ได้เหลือรอดจากการทำลายและรัฐบาลอินเดียได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สารนาถ โดยสิงห์ 4 หัวนี้ ได้ถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ของประเทศอินเดีย และข้อความจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราชที่จารึกไว้ใต้รูปสิงห์ดังกล่าวคือ "สตฺยเมว ชยเต" (เทวนาครี: सत्यमेव जयते) หมายถึง "ความจริงชนะทุกสิ่ง"[31]) และได้ถูกนำมาเป็นคำขวัญประจำชาติของประเทศอินเดียอีกด้วย

บริเวณโดยรอบสถานที่สำคัญดังกล่าว มีหมู่พุทธวิหารและซากสถูปมากมายอยู่หนาแน่น แสดงถึงความศรัทธาของคนในอดีตได้เป็นอย่างดี และนอกจากสถานที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงเหตุการณ์ในพุทธประวัติแล้ว ผู้มาแสวงบุญยังนิยมมาเยี่ยมชมวัดมูลคันธกุฏีวิหารใหม่ ที่สร้างโดยท่านอนาคาริก ธรรมปาละ พระสงฆ์ชาวศรีลังกา ผู้ฟื้นฟูพุทธสถานสารนาถให้กลายเป็นสถานที่แสวงบุญสำคัญเหมือนในอดีต วัดแห่งนี้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุที่ได้รับมอบจากรัฐบาลอินเดียและวัดนี้ยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามมากภายในพุทธวิหารอีกด้วย และใกล้กับสารนาถ เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สารนาถ เป็นสถานที่เก็บรวบรวมโบราณวัตถุที่ขุดค้นได้ภายในบริเวณสารนาถ ซึ่งโบราณวัตถุที่สำคัญคือ ยอดหัวสิงห์พระเจ้าอโศก และพระพุทธรูปปางแสดงปฐมเทศนา ซึ่งมีผู้ยกย่องว่ามีความสวยงามมากที่สุดองค์หนึ่งของโลก[32]

สถานที่เนื่องด้วยการปรินิพพาน (กุสินารา)

[แก้]

ที่ตั้ง

[แก้]

กุสินาราเป็นพุทธสังเวชนียสถานที่สำคัญ 1 ใน 4 สังเวชนียสถานของชาวพุทธ เป็นสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพานแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งอยู่ที่ตำบลมถากัวร์ อำเภอกุสินคร หรือกาเซีย หรือกาสยา (โรมัน:Kushinagar-Kasia-Kasaya) ในเขตจังหวัดเดวเย หรือ เทวริยา (โรมัน:Devria-Devriya-Kasia-Kasaya) รัฐอุตรประเทศ ประเทศอินเดีย สาลวโนทยาน สถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า มาถากุนวะระกาโกฎ (โรมัน:Matha-Kunwar-Ka-Kot) ซึ่งแปลว่า ตำบลเจ้าชายสิ้นชีพ

กุสินาราในสมัยพุทธกาล

[แก้]
มหาปรินิพพานวิหาร ภายในสาลวโนทยาน

ในสมัยพุทธกาล เมืองกุสินาราอันเป็นที่ตั้งของสาลวโนทยานอยู่ในแคว้นมัลละ 1 ใน 16 แคว้น ซึ่งเป็นเขตการปกครองสมัยพุทธกาล โดยในสมัยนั้นแคว้นมัลละแยกเป็นสองส่วน คือ ฝ่ายเหนือมีเมืองกุสินาราเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่า "โกสินารกา" และฝ่ายใต้มีเมืองปาวาเป็นเมืองหลวง เจ้าปกครองเรียกว่า "ปาเวยยมัลลกะ" ทั้งสองเมืองนั้นตั้งอยู่ห่างกันเพียง 12 กิโลเมตร มีอำนาจในการบริหารแยกจากกัน โดยมีระบอบการปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (สามัคคีธรรม) โดยมีแม่น้ำหิรัญญวดีคั่นตรงกลาง กุสินารานั้นเมื่อเปรียบเทียบกับแคว้นอื่น ๆ ในสมัยพุทธกาล จัดว่าเป็นแคว้นเล็ก ไม่ค่อยมีความสำคัญมากนักในด้านเศรษฐกิจ ดังที่พระอานนท์ได้ทูลทักท้วงพระพุทธองค์ที่ทรงเลือกเมืองกุสินาราเป็นสถานที่ปรินิพพานไว้ว่า

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์อย่าเสด็จปรินิพพานในเมืองดอนในฐานะเมืองกิ่งนี้เลย เมืองอื่นอันมีขนาดใหญ่กว่านี้ยังมีอยู่คือ จัมปา ราชคฤห์ สาวัตถี สาเกต โกสัมพี พาราณสี ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงเสด็จดับขันธปรินิพพานในเมืองเหล่านี้เถิด กษัตริย์ผู้มีอำนาจ พราหมณ์ผู้มีบารมี เศรษฐีคหบดีผู้มั่งคั่งที่เลื่อมใสในพระองค์มีมากในเมืองเหล่านี้ ท่านผู้มีอำนาจเหล่านั้นจักได้กระทำการบูชาพระสรีระของตถาคต

— พระอานนท์[33]

สถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์อยู่ในพระราชอุทยานของเจ้ามัลละฝ่ายเหนือแห่งกุสินารา ชื่อว่า "อุปวตฺตนสาลวนํ" หรือ อุปวัตตนะสาลวัน ซึ่งในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า สาลวโนทยาน แปลว่า สวนป่าไม้สาละ ป่าแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้ฝั่งแม่น้ำหิรัญญวดี เป็นป่าไม้สาละร่มรื่น ซึ่งหลังการปรินิพพานของพระพุทธองค์แล้ว กษัตริย์แห่งมัลละก็ได้ประดิษฐานพระพุทธสรีระไว้ ณ เมืองกุสินาราเป็นเวลากว่า 7 วัน ก่อนที่จะประกอบพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ ในวันที่ 8 แห่งพุทธปรินิพพาน

การที่พระพุทธองค์ทรงเลือกเมืองกุสินาราอันเป็นเมืองเล็กแห่งนี้เป็นสถานที่ปรินิพพาน มีหลายสาเหตุ แต่สาเหตุสำคัญ คือ ทรงทราบดีว่าเมื่อพระองค์ปรินิพพานไปแล้ว พระสรีระและพระบรมสารีริกธาตุของพระองค์จักถูกแว่นแคว้นต่าง ๆ แย่งชิงไปทำการบูชา หากพระองค์ปรินิพพานในเมืองใหญ่ เมืองใหญ่เหล่านั้นอาจไม่แบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้เมืองเล็ก ๆ เช่น เมืองกุสินารา เป็นต้น ซึ่งก็เป็นความจริงเพราะหลังพระพุทธองค์ปรินิพพาน เจ้าผู้ครองแคว้นต่าง ๆ ก็ได้ยกกองทัพหลวงของตนมาล้อมเมืองกุสินาราเพื่อจะแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ แต่ด้วยความที่กุสินาราเป็นเมืองเล็ก จึงต้องยอมระงับศึกโดยแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ทุกเมืองโดยไม่ต้องเกิดสงคราม

กุสินาราหลังพุทธปรินิพพาน

[แก้]

หลังพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว เมืองกุสินารากลายเป็นเมืองสำคัญศูนย์กลางแห่งการสักการบูชาของพุทธศาสนิกชน เหล่ามัลลกษัตริย์ได้สร้างเจดีย์และวิหารเป็นจำนวนมากไว้รอบ ๆสถูปใหญ่คือ มหาปรินิพานสถูป อันเป็นสถานที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า มหาสถูปนี้ได้กลายเป็นศูนย์กลางของปูชนียสถานอื่น ๆ ที่สร้างขึ้นมาภายหลังในบริเวณนั้น

ต่อมาเมื่อแคว้นมัลละได้ตกอยู่ในความอารักขาของแคว้นมคธ ซึ่งในขณะนั้นมีเมืองปาตลีบุตรเป็นเมืองหลวง สาลวโนทยานยังคงเป็นสถานที่สำคัญอยู่ แต่อยู่ในสภาพที่ไม่รุ่งเรืองนัก ดังในทิพยาวทาน ได้พรรณาไว้ว่า "พระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จมาจาริกแสวงบุญยังกุสินารา ประมาณ พ.ศ. 310 ทรงบริจาคพระราชทรัพย์ 100,000 กหาปณะ เพื่อเป็นค่าสร้างสถูป เจดีย์ และเสาศิลา พระเจ้าอโศกเมื่อทรงทราบชัดว่า ณ จุดนี้เป็นสถานที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระองค์ถึงกับทรงสลดพระทัย โศกเศร้าถึงเป็นลมสิ้นสติสมปฤดี"

จุนทสถูป บนที่ตั้งของบ้านนายจุนทะ อันเป็นสถานที่พระพุทธเจ้าเสวยพระกระยาหารมื้อสุดท้ายก่อนปรินิพพาน

หลวงจีนฟาเหียน (Fa-hsien) ที่ได้เข้ามาสืบศาสนาในพุทธภูมิในช่วงปี พ.ศ. 942 - 947 ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าจันทรคุปต์ที่ 2 (พระเจ้าศรีวิกรมาฑิตย์) แห่งราชวงศ์คุปตะ ซึ่งท่านได้พรรณนาไว้ว่า "เมื่อมาถึงกุสินารา มีแต่เมืองที่ทรุดโทรม หมู่บ้านเป็นหย่อม ๆ ห่างกันไป โบสถ์ วิหาร และปูชนียวัตถุ ปรักหักพังโดยมาก สังฆารามที่ควรเป็นที่อยู่อาศัยก็ไม่มีพระสงฆ์อาศัยอยู่ ได้เห็นศิลาจารึกพระเจ้าอโศก 2 หลัก ปักปรากฏอยู่ 2 แห่งในอุทยานสาลวัน จารึกนั้นบอกว่า ณ ที่นี้ เป็นสถานที่ปรินิพพานของพระพุทธองค์"

ในบันทึกของพระถังซำจั๋ง (Hiuen-Tsang) ​ซึ่งได้จาริกมาเมืองกุสินาราราวปี พ.ศ. 1300 ได้พรรณนาไว้ในจดหมายเหตุของท่านว่า เมืองกุสินาราในสมัยนั้นยังคงมีซากเมือง ป้อมปราการ หอสูง และสังฆารามอยู่บ้าง แต่อยู่ในสภาพปรักหักพัง ภายในเขตกำแพงเมืองยังพอมีคนอาศัยอยู่บ้างแต่น้อยมาก ท่านยังได้ทันพบบ่อน้ำและซากสถูปบ้านของนายจุนทะ และได้เห็นความร่มรื่นของสาลวโนทยาน สถานที่ปรินิพพาน และมกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงฯ [23]

จนในพุทธศตวรรษที่ 14-15 ราชวงศ์สกลจุรีได้เข้ามาสร้างวัดขึ้นในบริเวณสาลวโนทยานจำนวนมาก จนพระพุทธศาสนาได้หมดจากอินเดียไปใน พ.ศ. 1743 ทำให้สถานะของพระพุทธศาสนาในกุสินาราถูกปล่อยทิ้งร้างและกลายเป็นป่ารกทึบ จนใน พ.ศ. 2433 ภิกษุมหาวีระ สวามี และท่านเทวจันทรมณี ชาวศรีลังกา เดินทางมายังกุสินาราและเริ่มอุทิศตัวในการฟื้นฟูพุทธสถานแห่งนี้ร่วมกับเนซารี ชาวพุทธพม่า จนได้สร้างวัดขึ้นใหม่ชื่อว่า "มหาปรินิวานะ ธรรมะศาลา"

สถานที่ประดิษฐานพระพุทธสรีระพระพุทธเจ้าเป็นเวลา 7 วันก่อนอัญเชิญไปถวายพระเพลิงพระบรมศพ

ในปี พ.ศ. 2397 นายวิลสัน นักโบราณคดีอังกฤษ ได้ทำการพิสูจน์ขั้นต้นว่าหมู่บ้านกาเซียคือกุสินารา จนในปี พ.ศ. 2404-2420 เซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม ได้เริ่มทำการขุดค้นเนินดินในสาลวโนทยาน จนในปี พ.ศ. 2418-2420 นายคาร์ลลีเล่ หนึ่งในผู้ช่วยในทีมขุดค้นของท่านเซอร์ อเล็กซานเดอร์ ได้ทำการขุดค้นต่อจนได้พบพระพุทธรูปปางปรินิพพาน วิหารปรินิพพาน และสถูปจำนวนมากที่ผู้ศรัทธาได้สร้างไว้ในอดีตเมื่อครั้งพระพุทธศาสนายังรุ่งเรือง โดยนายคาร์ลลีเล่ เป็นท่านแรกที่เอาใจใส่ในงานบูรณะและรักษาคุ้มครองพระพุทธรูปปางไสยาสน์ที่ขุดพบ

จากนั้น นับแต่ พ.ศ. 2443 เป็นต้นมา กุสินาราได้เริ่มมีผู้อุปถัมภ์ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์ เข้ามาสร้างวัดและสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้จาริกแสวงบุญที่เริ่มเข้ามาสักการะมหาสังเวชนียสถานแห่งนี้จนในปี พ.ศ. 2498 รัฐบาลอินเดียได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพัฒนาปูชนียสถานแห่งนี้เพื่อเตรียมเฉลิมฉลอง 25 พุทธชยันตี โดยได้รื้อโครงสร้างวิหารปรินิพพานเก่าที่พึ่งได้รับการบูรณะสร้างใหม่ไม่นานออกเพื่อสร้างมหาปรินิพพานวิหารใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับโครงสร้างและสามารถรองรับพุทธศาสนิกชนได้ ในปี พ.ศ. 2499 จนในปี พ.ศ. 2507 วิหารได้พังลงมา ทางการอินเดียจึงบูรณะสร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2518 และทางการอินเดียและพุทธศาสนิกชนก็ได้มีส่วนร่วมในการบูรณะกุสินาราจนมีสภาพสวยงามอย่างที่เห็นในปัจจุบัน[34]

จุดแสวงบุญและสภาพของกุสินาราในปัจจุบัน

[แก้]

ปัจจุบันกุสินาราได้รับการบูรณะ และมีปูชนียวัตถุสำคัญ ๆ ที่ชาวพุทธนิยมไปสักการะคือ "สถูปปรินิพพาน" เป็นสถูปแบบทรงโอคว่ำที่เป็นทรงพระราชนิยมในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราช บนสถูปมียอดมน มีฉัตรสามชั้น "มหาปรินิพพานวิหาร" ตั้งอยู่ด้านหน้าในฐานเดียวกันกับสถูปปรินิพพาน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปปางเสด็จดับขันธปรินิพพาน (คือพระพุทธรูปนอนบรรทมตะแคงเบื้องขวา) ศิลปะมถุรา มีอายุกว่า 1,500 ปี ในจารึกระบุผู้สร้างคือ หริพละสวามี โดยนายช่างชื่อ ทินะ ชาวเมืองมถุรา ในปัจจุบันพระพุทธรูปองค์นี้ถือได้ว่าเป็นจุดหมายสำคัญที่ชาวพุทธจะมาสักการะ เพราะเป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะอันพิเศษคือเหมือนคนนอนหลับธรรมดา แสดงให้เห็นว่าพระพุทธองค์ได้เสด็จดับขันธปรินิพพานจากไปอย่างผู้หมดกังวลในโลกทั้งปวง "มกุฏพันธนเจดีย์" อยู่ห่างจากปรินิพพานสถูปไปทางทิศตะวันออก 1 กิโลเมตร ชาวท้องถิ่นเรียก รัมภาร์สถูป เป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ มีสภาพเป็นเนินดินก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่ ปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้เข้ามาบูรณะซ่อมแซมไว้อย่างดี

ปัจจุบันชาวพุทธทั่วโลกได้มาก่อสร้างวัดไว้มากมาย โดยมีวัดของไทยด้วย ชื่อ วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ปัจจุบันชาวไทยที่มาสักการะ ณ กุสินารา นิยมมาพักที่นี่[35] ในส่วนพุทธสถานโบราณลุมพินีนั้น ปัจจุบันได้รับการบูรณะซ่อมแซมเป็นอย่างดีจากรัฐบาลอินเดีย โดยรอบมีสภาพเป็นสวนป่าสาละร่มรื่นเหมือนครั้งพุทธกาล ชวนให้เจริญศรัทธาแก่ผู้มาสักการะตลอดมาจนปัจจุบัน

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒ ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร. พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก <[1]>. เข้าถึงเมื่อ 10-7-53
  2. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง. พระพุทธปฏิมาสยาม. กรุงเทพฯ : มิวเซียมเพรส, 2553. หน้า 8
  3. Malalasekera, G.P. Dictionary of Pali Proper Names Vols.I-II. New Delhi : Munshiram Manoharlal, 1983.
  4. Lumbini, the Birthplace of the Lord Buddha. UNESCO World Heritage Centre. เรียกข้อมูลเมื่อ 5-5-52 (อังกฤษ)
  5. ศรีกิตติโสภณ (สุกิตติ) , พระ. มหาชนบท 16 แคว้นในชมพูทวีปในสมัยพุทธกาล และจดหมายเล่าเรื่องอนาคาริกธรรมปาละ. กรุงเทพมหานคร : ไม่ปรากฏชื่อสถานที่พิมพ์, ๒๕๓๙
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 เสฐียร พันธรังษี. พุทธสถานในชมพูทวีป. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ยูไนเต็ด โปรดั๊กชั่น, ๒๕๒๘
  7. Li, Yongshi, (translator) (1959). The Life of Hsuan Tsang by Huili. Chinese Buddhist Association, Beijing.
  8. อมตานันทะ,พระ และคณะ.เอกสารโครงการค้นคว้าพุทธสถานในแดนพุทธองค์ทางวิชาการ. กรุงเทพมหานคร : เอกสารตีพิมพ์ถ่ายสำเนาจากต้นฉบับ, ม.ป.ป.
  9. พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ. ลุมพินี สถานที่ประสูติพระรูปกายของพระสิทธัตถโคตมพุทธเจ้าแห่งศากยวงศ์. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ๒๕๔๑
  10. Mahabodhi Temple. UNESCO World Heritage Centre. เรียกข้อมูลเมื่อ 5-5-52 (อังกฤษ)
  11. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๒ อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต เอตทัคคบาลี
  12. พระราชวรมุนี (ประยุทธ์ ปยุตโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ : ฉบับประมวลศัพท์. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, 2527
  13. พระราชธรรมมุนี (เกียรติ สุกิตฺติ) , จดหมายเล่าเรื่องอนาคาริกธรรมปาละ. กรุงเทพ 2543
  14. A Short History of the Mahabodhi Temple in Bodhgaya. Root Institute for Wisdom Culture. 5-5-2009
  15. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ทรงแสดงอนัตตลักขณสูตร. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [2]. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
  16. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ เรื่องยสกุลบุตร. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [3]. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
  17. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ สหายคฤหัสถ์ ๕๐ คน ของพระยสออกบรรพชา. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [4]. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
  18. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ มารดาและภรรยาเก่าของพระยสได้ธรรมจักษุ. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [5]. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
  19. อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค มารสังยุต ปฐมวรรคที่ ๑ ทุติยปาสสูตรที่ ๕. อรรถกถาพระไตรปิฎก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [6]. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
  20. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ทุติยปาสสูตรที่ ๕. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [7]. เข้าถึงเมื่อ 9-6-52
  21. Description of Sarnath - บันทึกการเดินทางในสารนาถ เก็บถาวร 2008-09-08 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน บันทึกการจาริกแสวงบุญของสมณะฟาเหียน Faxian (399-414 AC). เรียกข้อมูลเมื่อ 10-6-52 (อังกฤษ)
  22. อมตานันทะ,พระ และคณะ.เอกสารโครงการค้นคว้าพุทธสถานในแดนพุทธองค์ทางวิชาการ. กรุงเทพมหานคร : เอกสารตีพิมพ์ถ่ายสำเนาจากต้นฉบับ, ม.ป.ป.
  23. 23.0 23.1 สมัย สิงห์ศิริ (ผู้แปล). พระพุทธศาสนาในชมพูทวีป. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์ ประพาสต้น, 2504.
  24. ไพโรจน์ คุ้มไพโรจน์.ตามรอยบาทพระศาสดา. กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ธรรมสภา, 2539.
  25. "History : Indian Freedom Struggle (1857–1947)" เก็บถาวร 2009-12-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. National Informatics Centre (NIC). http://india.gov.in/knowindia/history_freedom_struggle.php เก็บถาวร 2009-12-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Retrieved on 2007-10-03. "And by 1856, the British conquest and its authority were firmly established." (อังกฤษ)
  26. Cunningham, A. (1848) Essay on the Aryan Order of Architecture, as exhibited in the Temples of Kashmir, Calcutta
  27. พระราชธรรมมุนี (เกียรติ สุกิตฺติ). จดหมายเล่าเรื่องอนาคาริกธรรมปาละ. กรุงเทพ 2543
  28. พระราชรัตนรังสี (ว.ป.วีรยุทโธ).สู่แดนพระพุทธองค์ อินเดีย-เนปาล.กรุงเทพฯ:สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,____.
  29. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๔ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ยสบรรพชา. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [8]. เข้าถึงเมื่อ 26-6-52
  30. มธุรัตถวิลาสินี อรรถกถาขุททกนิกาย พุทธวงศ์ รัตนะจงกรมกัณฑ์ การอยู่จำพรรษาของพระพุทธเจ้า. พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [9]. เข้าถึงเมื่อ 9-7-52
  31. "State Emblem -Inscription". National Informatics Centre (NIC). http://www.india.gov.in/knowindia/state_emblem.php. Retrieved on 2007-06-17.
  32. ที.ดับบลิว.ริส.เดวิสส์ แต่ง, สมัย สิงหศิริ แปลและเรียบเรียง, “พระพุทธศาสนา ในชมพูทวีป”. กรุงเทพ: สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยมหาวิทยาลัย. พ.ศ. 2515
  33. สุชีพ ปุญญานุภาพ. พระไตรปิฏกสำหรับประชาชน. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๒
  34. Bagri, S.C. Buddhhist Pilgrimages & Tours in India. Nodida : Publication Division of Indian Government, 1992
  35. สุนนท์ ปัทมาคม, รศ. . สมุดภาพแดนพุทธภูมิ ฉลองชนมายุ ๘๐ ปี พระสุเมธาธิบดี วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๑.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]
เริ่มต้น:
เมืองกบิลพัสดุ์
(เมืองพระราชบิดา)
(และเมืองที่ประทับเมื่อทรงพระเยาว์)


เมืองเทวทหะ
(เมืองพระราชมารดา)

นำเที่ยวเส้นทางแสวงบุญของชาวพุทธ
ในดินแดนพุทธภูมิ
(เรียงตามเหตุการณ์ในพุทธประวัติ)
สถานที่ถัดไป:
ลุมพินีวัน
- สังเวชนียสถานแห่งที่ 1 -
(สถานที่ประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ)