ข้ามไปเนื้อหา

พุทธชยันตี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พิธีฉลองสัมพุทธชยันตี 2600 ปีแห่งการตรัสรู้ ของชาวศรีลังกาพระมูลคันธกุฎี วัดพระเชตวันมหาวิหาร สาวัตถี รัฐอุตตรประเทศ ประเทศอินเดีย

พุทธชยันตี หรือ สัมพุทธชยันตี (อังกฤษ: Sambuddha jayanthi) เป็น เทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนาเถรวาท ที่มีความเกี่ยวเนื่องกับวันวิสาขบูชา คำว่า พุทธชยันตี มาจากศัพท์ พุทธ+ชยันตี (สันสกฤต: जयंती) ที่แปลว่า วันครบรอบ (อังกฤษ: Anniversary) ในภาษาสันสกฤต พุทธชยันตีจึงแปลว่า การครบรอบวันเกิดของพระพุทธศาสนา[1] หรือวันครบรอบชัยชนะของพระพุทธเจ้าก็ได้[2]

โดยคำนี้ใช้เรียกการจัดกิจกรรมในปีที่ครบรอบวาระสำคัญของพระพุทธเจ้า เช่น ครบรอบ 2500 ปี แห่งปรินิพพาน หรือ 2600 ปี[3] แห่งการตรัสรู้ ตามลำดับ

โดยอาจใช้ชื่อต่างกันไปบ้างในแต่ละประเทศ เช่น ศรีสัมพุทธชันตี สัมพุทธชยันตี แต่ทั้งหมดก็คือการจัดกิจกรรมพุทธชยันตี เพื่อมุ่งหมายการถวายเป็นพุทธบูชาในปีที่ครบรอบวาระสำคัญของพระพุทธเจ้านั่นเอง

พุทธชยันตี เป็นคำที่ใช้ทั่วไปในประเทศ ศรีลังกา อินเดีย พม่า และผู้นับถือพระพุทธศาสนาในประเทศอื่น ๆ บางประเทศ โดยใช้คำนี้ในการจัดกิจกรรมวิสาขบูชา โดยวัตถุประสงค์ของพุทธชยันตีในประเทศต่าง ๆ มุ่งการจัดกิจกรรมเป็นวาระพิเศษตลอดทั้งปีนั้น เช่น การจัดกิจกรรมพุทธบูชา การปฏิบัติธรรม และการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธเจ้าในวันวิสาขบูชานั่นเอง[4]

ประวัติ

[แก้]

คำว่า สัมพุทธชยันตี หรือ พุทธชยันตี สันนิษฐานว่าเริ่มจัดขึ้นครั้งแรกในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2500 ในประเทศศรีลังกา[5] และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง โดยดำริของ ฯพณฯ อู ถั่น ชาวพุทธพม่า ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ท่านได้ดำริให้ชาวพุทธทั่วโลกร่วมกันบูรณะลุมพินีวัน ที่ตั้งอยู่ในประเทศเนปาล ให้เป็นพุทธอุทยานประวัติศาสตร์ของโลก โดยเรียกว่า การฉลองพุทธชยันตี 25 พุทธศตวรรษ (2500th Buddha Jayanti Celebration) โดยนำคำ Buddha Jayanti (बुद्ध जयंती) ซึ่งเป็นคำเรียกวันครบรอบของชาวอินเดียและเนปาลมาใช้ เพื่อให้เกียรติประเทศซึ่งเป็นที่ตั้งของพุทธสังเวชนียสถาน และมีการรณรงค์ให้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่าง ๆ จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในปีนั้นเช่น ประเทศพม่า ประเทศศรีลังกา ประเทศอินเดีย[6][7]

เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี 25 พุทธศตวรรษในครั้งนั้น ในประเทศอินเดีย ได้มีการจัดกิจกรรมฟื้นฟูพระพุทธศาสนา โดยการนำของ ดร.บี.อาร์.อามเพฑกร นำชาวอินเดียประมาณ 2 แสนคนปฏิญาณตนเป็นชาวพุทธ การสร้างสวนสาธารณะพุทธชยันตีไว้ที่กรุงนิวเดลีเพื่อเป็นอนุสรณ์สำหรับวาระนี้ และนอกจากนี้ ฯพณฯ ชวาหระลาล เนห์รู นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐอินเดีย ยังได้เชิญชวนให้ประเทศพุทธศาสนาทั่วโลกมาสร้างวัดไว้ในดินแดนพุทธอุบัติภูมิอีกด้วย[5]

ในประเทศพม่า ได้มีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างปาสาณคูหาเพื่อการทำฉัฏฐสังคีติสังคายนาพระไตรปิฎก[8] สำหรับในประเทศศรีลังกา ได้มีการจัดงานเฉลิมฉลอง เพื่อเป็นการประกาศศักยภาพของประเทศศรีลังกาหลังได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี พ.ศ. 2491 ด้วย[9]

โดยในส่วนของประเทศไทย ในสมัยของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ก็ได้มีการฉลองเนื่องในโอกาสพุทธชยันตีนี้ด้วย โดยจัดเป็นงานฉลองทางพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย มีการจัดสร้างพุทธมณฑล การประกาศให้วันธรรมสวนะเป็นวันหยุดราชการ[10]1 มีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม[11] พระราชบัญญัติล้างมลทิน[12] มีการออกประกาศพระบรมราชโองการ พระราชทานบริเวณสนามหลวงเป็นสังฆปริมณฑลสำหรับจัดงานฉลองในครั้งนี้เป็นการชั่วคราวด้วย[13] นอกจากนี้แล้ว รัฐบาลยังได้ออกพระราชบัญญัติเหรียญงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เป็นกรณีพิเศษด้วย ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประเทศไทยที่รัฐบาลมีการออกเหรียญที่ระลึก และแพรแถบ เนื่องในโอกาสสำคัญทางศาสนา อย่างไรก็ดี การจัดงานครั้งนั้นในประเทศไทย ได้ใช้ชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ"[14] ทำให้คำว่า "พุทธชยันตี" ไม่แพร่หลายในประเทศไทยเหมือนประเทศอื่น ๆ

เชิงอรรถ

[แก้]

หมายเหตุ 1: อย่างไรก็ตาม หลังรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ถูกทำรัฐประหารยึดอำนาจโดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 การกำหนดวันธรรมสวนะให้เป็นวันหยุดราชการก็ได้ถูกยกเลิกลง ในสมัยรัฐบาลของนายพจน์ สารสิน ในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2500 ด้วยเหตุ "การหยุดราชการในวันธรรมสวนะไม่สะดวกแก่การปฏิบัติราชการ"[15]

หมายเหตุ 2: พุทธชยันตี ถ้าแยกออกเป็นภาษาบาลี ก็มาจาก พุทฺธ+ชิ+อนฺต+อิ พุทฺธ เป็น ธาตุ เป็นรากศัพท์ แปลว่า รู้ ชิ เป็น ธาตุ ศัพท์ แปลว่า ชนะ อนฺต เป็น ปัจจัย แปลว่า เป็น อยู่ คือ อิ เป็น ปัจจัย เหมือนกัน น่าจะเป็น ตทัทสัทถิตัททิต แปลว่า มี ถ้านำมาแปลงก็จะเป็นดังนี้ พุทฺธ ไม่ต้องแปลงอะไร คงศัพท์ไว้ ชิ ต้องแปลง อิ ที่อยู่บนชิ เป็น เอ ก็จะเป็น เช แล้วแปลง เอ คือ เช เป็น อย ก็คือ ชย ก็จะได้ศัพท์ คือ พุทฺธชย แล้ว เอา อนฺต มาต่อ โดยลบ อะ ที่ พุทฺธชย เสีย แล้วนำมาต่อกัน ก็จะได้เป็น พุทธชยนฺต แล้วนำ อิ ปัจจัยใน ตทัทสัทถิตัททิต มาต่อ ก็จะได้เป็น พุทฺธชยนฺติ แล้ว ทีฆะ อิ ที่ พุทฺธชยนฺติ เป็น อี ก็จะได้เป็น พุทฺธชยนฺตี แปลได้หลายอย่างเช่น พระพทธเจ้า ผู้มีชัยชนะ ผู้ทรงมีชัยชนะเหนือ (กิเลสทั้งปวง) คือพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าผู้มีการชนะ (กิเลสทั้งปวง) เป็นต้น

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระเทพโสภณ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต) (2555). "พระพุทธศาสนาในสถานการณ์โลกปัจจุบัน". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 กรกฎาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2012.
  2. "พุทธชยันตี 2,600 ปีตรัสรู้". เดลินิวส์ออนไลน์. 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 กรกฎาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2012.
  3. "คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการจัดงานพุทธชยันตี". วัดไทยลาสเวกัส. 2555. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 พฤษภาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2012.
  4. "The 2600 Anniversary of the Buddha's Enlightenment". Sri Sambuddhatva Jayanthi Secretariat. Ministry of Buddhasasana and Religious Affairs. 2012. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2011.
  5. 5.0 5.1 "พุทธชยันตี มหาธัมมาภิสมัย ๒,๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้". โครงการพัฒนาโครงงานคุณธรรมเฉลิมพระเกียรติ พุทธชยันตีเฉลิมราช. 2555. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2012.
  6. "ประวัติวัดไทยลุมพินี". วัดไทยลุมพินี. 2555. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2012.
  7. พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ (2541). ลุมพินี สถานที่ประสูติพระรูปกายของพระสิทธัตถโคตมพุทธเจ้าแห่งศากยวงศ์. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
  8. "เล่าเรื่องเมืองพม่า (6)". สยามธุรกิจ. 4–6 กรกฎาคม 2007. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 กันยายน 2012. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2012.
  9. Guruge, Ananda W. P. (2012). "A Blueprint for the Revival of Buddhism: Reflections on the Fiftieth Anniversary of 2500 Buddha Jayanti". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 กรกฎาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2012.
  10. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๙๙, เล่ม ๗๓ ตอนที่ ๘๑ ง, ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙, หน้า ๒๙๘๐
  11. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๔๙๙, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๑๑ ก, ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐, หน้า ๒๘๓
  12. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๔๙๙, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๑๑ ก, ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐, หน้า ๒๗๘
  13. ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ พระราชทานบริเวณสนามหลวงเป็นสังฆปริมณฑลในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๔๓ ก , ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐, หน้า ๗๔๘
  14. ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเหรียญงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๔๙๙, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๘, ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐, หน้า ๒๕๕
  15. ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๐๐, เล่มที่ ๗๔ ตอนที่ ๘๔ ง ฉบับพิเศษ, ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๐๐, หน้า ๑

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]