ปาฏิหาริย์แห่งแม่น้ำฮัน
ปาฏิหาริย์แห่งแม่น้ำฮัน (เกาหลี: 한강의 기적 , ฮันจา:漢江의 奇蹟, Hangangui Gijeok; อังกฤษ: Miracle on the Han River) เป็นปรากฏการณ์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศเกาหลีใต้อย่างรวดเร็วในช่วงหลังสงครามเกาหลี ซึ่งทำให้เกาหลีใต้กลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยเป็นผลจากการที่เกาหลีใต้กลายเป็นประชาธิปไตย และการที่เกาหลีใต้ได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อน 1988 กับฟุตบอลโลก 2002 จนทำให้ปัจจุบันเกาหลีใต้มีเศรษฐกิจระดับล้านล้านดอลลาร์สหรัฐและมีบรรษัทข้ามชาติที่เป็นที่รู้จักกันทั่วโลกอย่างเช่น ซัมซุง แอลจี และกลุ่มบริษัทฮุนได[1]
คำว่า "ปาฏิหาริย์แห่งแม่น้ำฮัน" หมายถึงการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของกรุงโซล ซึ่งเป็นสถานที่ที่แม่น้ำฮันไหลผ่าน โดยมีที่มาจากคำว่า "ปาฏิหาริย์แห่งแม่น้ำไรน์" ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศเยอรมนีตะวันตกหลังสงครามโลกครั้งที่สอง คำว่า "ปาฏิหารณ์แห่งแม่น้ำฮัน" หมายถึงช่วงเวลาระหว่าง พ.ศ. 2496 - พ.ศ. 2539 ซึ่งเป็นช่วงที่เกาหลีใต้พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ถ้าพิจารณาสถานการณ์ในสมัยนั้น จะเห็นว่าการพัฒนาประเทศเกาหลีใต้นั้นไม่อาจเป็นไปได้ เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานของกรุงโซลถูกทำลายไปในสงครามเกาหลี และชาวเกาหลีใต้หลายล้านคนตกอยู่ในสภาพยากจนและมีคนว่างงานอีกเป็นจำนวนมาก เมื่อนายพลพัก จ็อง-ฮี ยึดอำนาจในปี พ.ศ. 2504 คนเกาหลีใต้มีอัตรารายได้เฉลี่ยต่อหัวในอัตราต่ำกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี และประเทศเกาหลีใต้ยังต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากต่างประเทศ โครงการพัฒนาชุมชนใหม่ของประธานาธิบดีพัก จ็อง-ฮี มุ่งพัฒนาชนบทของประเทศเกาหลีใต้ โดยความเข้มแข็งของรัฐบาลเผด็จการและความมีประสิทธิภาพของการใช้แรงงานราคาถูกซึ่งทำให้เศรษฐกิจของเกาหลีใต้เริ่มเติบโต ในระยะเวลาไม่ถึงสี่ทศวรรษ เกาหลีใต้เปลี่ยนผ่านไปเป็นประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก เป็นศูนย์กลางทางด้านธุรกิจและการค้าของเอเชีย เป็นประเทศเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกทั้งเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจและมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีขั้นสูง ทำให้ชาวเกาหลีถือว่าปรากฏการณ์นี้เป็นความภูมิใจของชาติ และเป็นหลักฐานแสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะทำทุกอย่างได้
เศรษฐกิจหลังสงครามเกาหลี
[แก้]เศรษฐกิจของเกาหลีใต้หลังสงครามเกาหลีทรุดโทรมอย่างรุนแรง รายได้ประชาชาติต่ำลงเรื่อยๆ รัฐบาลมีฐานะทางการเงินย่ำแย่ การลงทุนมีน้อย ถึงแม้จะได้รับการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจจากสหรัฐอเมริกาอย่างมากมาย รวมทั้งความช่วยเหลือจากสัมพันธมิตรอื่นๆด้วย แต่สภาพเศรษฐกิจโดยรวมไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ แม้ว่ารัฐบาลจะมีการใช้จ่ายอย่างมหาศาลเพื่อบูรณะประเทศแล้วก็ตาม
กิจกรรมทางเศรษฐกิจของเกาหลีในช่วงนี้ส่วนใหญ่ถูกผูกขาดจากนายทุนเพียงไม่กี่ราย โดยมีอิทธิพลของนักการเมืองและระบบราชการหนุนหลัง กิจการผูกขาดส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งมีผลทำให้คนส่วนใหญ่ยากจนโดยที่คนชั้นผู้นำไม่ได้เอาใจใส่ดูแลประชาชนเท่าที่ควร [2]
เศรษฐกิจสมัยพัก จองฮี
[แก้]เมื่อพัก จองฮีเถลิงอำนาจในปี ค.ศ. 1962 เกาหลีใต้จึงก้าวสู่การพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง ในสมัยของเขามีการวางแผนสำหรับอนาคตและหาทางเลือกที่ก่อประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ รัฐบาลกำหนดนโยบายต่างๆ ออกมาเพื่อเร่งการพัฒนาประเทศเรียกว่าแผนพัฒนาห้าปี และด้วยนโยบายที่เน้นความสำคัญทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมากและความพยายามขจัดปัญหาความยากจน รัฐบาลเกาหลีใต้ภายใต้การนำของพัก จองฮีใช้กลยุทธ์ที่สำคัญคือการมองออกไปข้างนอกหรือการมีสัมพันธ์กับตลาดโลก (Outward-Looking Strategy) แทนกลยุทธ์เน้นตนเองหรือมองแต่ตลาดภายใน (Inward-Looking Strategy)
กลยุทธ์มองไปข้างนอก (Outward-Looking Strategy) คือการมีความสัมพันธ์กับตลาดโลกในด้านการค้า มีการผลิดเพื่อขายในตลาดโลกแทนการผลิตเพื่ออุปโภคบริโภคในประเทศ และที่สำคัญคือเป็นการทำอุตสหกรรมที่ส่งเสริมการใช้แรงงาน (labour-intensive) ในขณะเดียวกันรัฐบาลลดกฎเกณฑ์และความเข้มงวดในการนำเข้าลดน้อยลง
โดยที่รัฐบาลภายใต้การนำพัก จองฮี ใช้นโยบายเน้นอุตสหกรรมการส่งออกแทนนโยบายอุตสหกรรมผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า และไม่เน้นการพัฒนาเกษตรกรรมเป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ก็มีเหตุผลว่าพื้นที่ประเทศเกาหลีมีขนาดไม่ใหญ่มากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรและมีพื้นที่ทำการเกษตรเพียงร้อยละ 20 ของประเทศเท่านั้น อีกประการหนึ่งคือการได้รับเงินช่วยเหลือจากต่างประเทศลดลง ทำให้เกาหลีใต้จำเป็นต้องเน้นอุตสหกรรมส่งออกเพื่อที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศ รัฐบาลเกาหลีในยุคนี้ได้ตระหนังถึงข้อจำกัดของประเทศโดยมีการวางแผนในระยะยาวให้กับประเทศ และมีการส่งคนเกาหลีไปดูงานและศึกษาความเป็นไปได้ยังประเทศอุตหกรรมในยุโรป นอกจากนี้ตัวอย่างจากประเทศญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจก็รับการศึกษาอย่างละเอียดจากนักวิชาการเกาหลีด้วยเพื่อที่จะได้กำหนดแผนนโยบายการพัฒนาประเทศได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพมากที่สุด[3]
แผนพัฒนาทางเศรษฐกิจ
[แก้]แผนพัฒนาห้าปีฉบับที่ 1 (ปี ค.ศ.1962-1966)
[แก้]ในปี ค.ศ.1962 เป็นปีที่เกาหลีใต้เริ่มใช้แผนพัฒนาห้าปีฉบับแรก ซื่งเน้นการฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (Infra-structure) และทุนสังคมอื่นๆ (Social-Capital Formation) และมีการส่งเสริมอุตสหกรรมโดยรัฐบาลเขาแทรกแซงโดยตรงในอุตสหกรรมหลักและกิจกรรมที่เกี่ยวกับอุตสหกรรมสำคัญๆ แต่ยังยึดนโยบายเศรษฐกิจเสรีหรือให้กลไกตลาดมีบทบาทในเศรษฐกิจได้พอสมควร
แผนพัฒนาห้าปีฉบับที่ 2 (ปี ค.ศ.1967-1971)
[แก้]แผนนี้มีรายละเอียดเพิ่มขึ้นโดยมีทั้งแผนเศรษฐกิจมหภาคและแผนสาขาย่อย พยายามสร้างเป้าหมายที่มีความเป็นไปได้มากขึ้น และในการสร้างแผนได้มีการเอาหลักการวิเคราะห์ผลตอบแทน (Cost-Benefit Analysis) มาใช้ด้วย
การพัฒนาชนบทของเกาหลีใต้ (Saemaul Undong) แซมาอึล อุนดง เกาหลีใต้ได้สร้างขบวนการพัฒนาชุมชนในช่วงปีค.ศ. 1971 ซื่งเป็นปีสุดท้ายของแผนพัฒนาห้าปีฉบับที่ 2 จุดกำเนิดของ“แซมาอึล อุนดง”อันเนื่องมาจากภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมในปีค.ศ. 1969 ซึ่งประชาชนต่างพากันซ่อมแซมหลังคาบ้านเรือนและถนนหนทางด้วยตนเอง โดยปราศจากการช่วยเหลือจากภาครัฐ ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจที่สำคัญของประธานาธิบดี พัก จุงฮี ที่จะให้การช่วยเหลือชุมชนในชนบท พัก จุงฮี ตระหนักดีว่า ความช่วยเหลือของรัฐบาลย่อมจะไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิงเว้นแต่ว่าประชาชนจะลงมือกระทำสิ่งต่างๆ ด้วยจิตวิญญาณของการพึ่งพาตนเอง การโน้มน้าวชุมชนในชนบทให้รู้จักการพึ่งพาตนเองและร่วมมือช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาชนบท และแนวคิดเหล่านี้ก็คือหลักการพื้นฐานของแซมาอึล อุนดง หรือขบวนการสร้างหมู่บ้านใหม่
จิตวิญญาณซึ่งเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวของ แซมาอึล อุนดง มี 3 ประการ
- ความขยันหมั่นเพียร (Diligence)
- การพึ่งพาตนเอง (Self-help)
- ความร่วมมือ (Cooperation)
การดำเนินงานของ แซมาอึล อุนดง ในช่วงปีค.ศ. 1970 ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะไม่มีเงินทุนมากพอที่จะสนับสนุนการจัดทำโครงการต่างๆ แต่ก็ใช่ว่าจะทำอะไรไม่ได้เลย เพราะการปรับปรุงสิ่งจำเป็นพื้นฐานหลายๆ ประการ ก็อาจกระทำได้โดยอาศัยความช่วยเหลือจากรัฐบาลที่มีเพียงเล็กน้อยได้ โดยรัฐบาลได้ทดลองจัดทำโครงการสำคัญ 10 โครงการ เพื่อพัฒนาพื้นที่ชนบทได้แก่ การขยายถนนในท้องถิ่น การปรับปรุงหลังคาบ้านเรือน ห้องครัว และรั้วบ้าน การจัดให้มีแหล่งบริการซักรีด การสร้างบ่อน้ำชุมชน การก่อสร้างสะพาน รวมถึงการปรับปรุงระบบชลประทาน [4]
แผนพัฒนาห้าปีฉบับที่ 3 (ปี ค.ศ.1972-1976)
[แก้]เป็นแผนที่เน้นความเสมอภาคและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
แผนพัฒนาห้าปีฉบับที่ 4 (ปี ค.ศ.1977-1981)
[แก้]เป็นแผนสุดท้ายของประธานาธิบดี พัก จุงฮี (โดนลอบสังหารในปี ค.ศ.1979)
แผนพัฒนาห้าปีฉบับที่ 5 (ปี ค.ศ.1982-1986)
[แก้]ในแผนนี้เน้นการพัฒนาให้มีเสถียรภาพ ประสิทธิภาพและความเสมอภาค รวมทั้งการแข่งขันอย่างเสรีในตลาดโลก
อัตราการขยายตัว | แผนฯ 1 | แผนฯ 2 | แผนฯ 3 | แผนฯ 4 | แผนฯ 5 |
---|---|---|---|---|---|
อัตราการเจริญเติบโตของ GNP | 8.3 | 11.4 | 11.2 | 5.7 | 8.5 |
ประมง | 5.5 | 2.0 | 5.8 | 1.0 | 3.8 |
เหมืองแร่และอุตสหกรรม | 14.8 | 20.9 | 20.1 | 10.0 | 9.7 |
สาธารณูปโภคและบริการอื่นๆ | 8.9 | 13.2 | 8.5 | 5.3 | 8.8 |
การลงทุนต่อ GNP | 16.9 | 15.5 | 27.0 | 30.1 | 29.5 |
การออมภายในประเทศ | 6.7 | 15.5 | 17.0 | 23.5 | 27.1 |
การออมจากต่างประเทศ | 10.2 | 15.1 | 11.8 | 5.9 | 3.2 |
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Park Chung-hee Admired for Making Something Out of Nothing The Korea Times, 2009-10-25
- ↑ ญาดา ประภาพันธ์, ประวัติการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมใหม่, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรามคำแหง, กรุงเทพ พิมพ์ครั้งที่ 1 2538, หน้า 33, ISBN 974-599-414-6
- ↑ [1] เก็บถาวร 2017-11-18 ที่ เวย์แบ็กแมชชีนยุทธศาสตร์การพัฒนาของสาธารณรัฐเกาหลี,2548
- ↑ [2] เก็บถาวร 2021-08-28 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน แซมาอึล อุน ดง,
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- "Miracle on the Han" Lesson Plan for High School Students (PDF) เก็บถาวร 2011-06-17 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- An article on the post-industrial "Miracle on the Han" เก็บถาวร 2008-07-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- The G20 Takes a Step Back เก็บถาวร 2010-11-05 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน