แฮร์รี่ พอตเตอร์
1. แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ 2. แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ 3. แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน 4. แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี 5. แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ 6. แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม 7. แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต | |
ผู้ประพันธ์ | เจ. เค. โรว์ลิง |
---|---|
ชื่อต้นฉบับ | Harry Potter |
ผู้แปล | สุมาลี บำรุงสุข วลีพร หวังซื่อกุล งามพรรณ เวชชาชีวะ |
ประเทศ | สหราชอาณาจักร |
ภาษา | อังกฤษ |
ประเภทหนังสือ | วรรณกรรมเยาวชน, แฟนตาซี, ลึกลับ, เรื่องตื่นเต้น, การเปลี่ยนผ่านของวัย |
สำนักพิมพ์ | สำนักพิมพ์บลูมส์บรี สำนักพิมพ์สกอแลสติก สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ |
วันที่ตีพิมพ์ | 26 มิถุนายน ค.ศ. 1997 – 21 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 (ตีพิมพ์ครั้งแรก) |
ประเภท | สิ่งตีพิมพ์ |
แฮร์รี่ พอตเตอร์ (อังกฤษ: Harry Potter) เป็นชุดนวนิยายแฟนตาซีจำนวนเจ็ดเล่ม ประพันธ์โดยนักเขียนชาวอังกฤษชื่อว่า เจ. เค. โรว์ลิง เป็นเรื่องราวการผจญภัยของพ่อมดวัยรุ่น แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเพื่อนสองคน รอน วีสลีย์ และ เฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์ ซึ่งทั้งหมดเป็นนักเรียนของโรงเรียนคาถาพ่อมดแม่มดและเวทมนตร์ศาสตร์ฮอกวอตส์ โครงเรื่องหลักเกี่ยวกับภารกิจของแฮร์รี่ในการเอาชนะพ่อมดศาสตร์มืดที่ชั่วร้าย ลอร์ดโวลเดอมอร์ ผู้ที่ต้องการจะมีชีวิตเป็นอมตะ มีเป้าหมายเพื่อพิชิตมักเกิ้ล หรือประชากรที่ไม่มีอำนาจวิเศษ พิชิตโลกพ่อมดและทำลายทุกคนที่ขัดขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แฮร์รี่ พอตเตอร์[1]
หนังสือเล่มแรกในชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ วางจำหน่ายในฉบับภาษาอังกฤษครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1997 และนับตั้งแต่นั้น หนังสือก็ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม ทั้งได้รับการยกย่องอย่างสำคัญและประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์ทั่วโลก[2] อย่างไรก็ดี ชุดนวนิยายดังกล่าวก็มีข้อวิจารณ์บ้าง รวมถึงความกังวลถึงโทนเรื่องที่มืดมนขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 2013 ชุดหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้ทำยอดขายไปมากกว่า 500 ล้านเล่มทั่วโลก ซึ่งเป็นชุดหนังสือที่มียอดขายมากที่สุดตลอดกาล และมีการแปลไปเป็นภาษาต่าง ๆ รวม 80 ภาษา[3] หนังสือสี่เล่มสุดท้ายของชุดยังได้สร้างสถิติเป็นหนังสือที่จำหน่ายออกหมดเร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยหนังสือเล่มสุดท้ายของชุดมียอดขายกว่า 11 ล้านเล่มในสหรัฐและสหราชอาณาจักรภายในระยะเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงแรกที่วางขาย[4]
ชุดนวนิยายแฮร์รี่ พอตเตอร์สามารถจัดเป็นวรรณกรรมได้หลายประเภท (genre) รวมทั้งแฟนตาซีและการเปลี่ยนผ่านของวัย (coming of age) โดยมีองค์ประกอบของวรรณกรรมประเภทลึกลับ ตื่นเต้นสยองขวัญ ผจญภัย และโรแมนซ์ และมีความหมายและการสื่อถึงวัฒนธรรมหลายอย่าง[5][6][7][8] ตามข้อมูลของโรว์ลิง แก่นเรื่องหลักของเรื่อง คือ ความตาย[9] แม้โดยพื้นฐานแล้วหนังสือชุดนี้ถูกมองว่าเป็นผลงานวรรณกรรมเด็ก นอกจากนี้ยังมีแก่นเรื่องอื่นอีกมากมายในชุด เช่น ความรักและอคติ
หนังสือทั้งเจ็ดเล่มถูกนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์โดยวอร์เนอร์บราเธอร์สจำนวนแปดภาค โดยเนื้อเรื่องในหนังสือเล่มที่เจ็ด ผู้สร้างได้แบ่งออกเป็นสองตอนเพราะเนื้อเรื่องที่ยืดยาว ภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นชุดภาพยนตร์ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลในลำดับที่ 3 นอกจากนี้ ยังได้มีการผลิตสินค้าควบคู่กันอีกจำนวนมาก ซึ่งทำให้ชื่อยี่ห้อแฮร์รี่ พอตเตอร์มีมูลค่ามากกว่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[10] ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2011 เนื้อหาที่ไม่ได้เปิดเผยในหนังสือได้เริ่มเผยแพร่ในรูปแบบอีบุ๊กผ่าน "พอตเตอร์มอร์"[11] โดยได้มีการต่อยอดความสำเร็จของแฮร์รี่ พอตเตอร์ไปในหลายรูปแบบ อาทิเช่น สวนสนุกโลกมหัศจรรย์ของแฮร์รี่ พอตเตอร์, สตูดิโอทัวร์ในลอนดอน, นิทรรศการเคลื่อนที่, ภาพยนตร์ภาคแยกซึ่งดัดแปลงมาจากเนื้อหาของหนังสือสัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ และภายหลังได้มีการดัดแปลงแฮร์รี่ พอตเตอร์สู่รูปแบบละครเวที ใช้ชื่อว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเด็กต้องคำสาป เปิดการแสดงในวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 2016 ที่โรงละครพาเลซเธียเตอร์ เมืองลอนดอน โดยบทละครเวทียังได้รับการพิมพ์จำหน่ายโดยสำนักพิมพ์ลิตเติ้ลบราวน์ ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์เดียวกันที่ตีพิมพ์นิยายผู้ใหญ่ของโรว์ลิ่งภายใต้ชื่อ โรเบิร์ต กัลเบรธอีกด้วย[12]
จักรวาลของเรื่อง
[แก้]ดูบทความหลักที่: จักรวาลของแฮร์รี่ พอตเตอร์
โลกใน แฮร์รี่ พอตเตอร์นั้น เป็นโลกของพวกพ่อมดและแม่มดที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันกับโลกของมักเกิล หรือมนุษย์ผู้ไร้เวทมนตร์ ในลักษณะโลกคู่ขนาน โดยโลกเวทมนตร์นั้นไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเป็นเอกเทศ แต่จะแทรกซึมอยู่ในโลกของมักเกิลในรูปแบบทับซ้อนกัน มักเกิลจะไม่สามารถเข้าสู่หรือมองเห็นโลกใบดังกล่าวได้ด้วยตัวเอง เนื่องจากโลกเวทมนตร์นั้นมีการร่ายคาถาปิดกั้นจากพวกมักเกิลเอาไว้ โดยเหล่าพ่อมดและแม่มดจะใช้ชีวิตในโลกเวทมนตร์เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็สามารถเดินทางไปมาระหว่างโลกทั้งสองได้ผ่านการหายตัวหรือการใช้วัตถุและของวิเศษต่าง ๆ อาทิ กุญแจนำทาง ผงฟลู ไม้กวาด และรวมไปถึงการเดินทะลุผ่านกำแพงอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เหล่ามักเกิลก็สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติหรือเวทมนตร์ต่าง ๆ ที่ผู้วิเศษร่ายขึ้นมาได้เช่นกัน ซึ่งหากการร่ายเวทมนตร์ต่อหน้ามักเกิลนั้นเป็นไปอย่างโจ่งแจ้ง เจ้าหน้าที่จากกระทรวงเวทมนตร์ก็จะคอยทำหน้าที่ลบความทรงจำดังกล่าวจากมักเกิ้ลทิ้งไปตามบทบัญญัติการปกปิดความลับนานาชาติของผู้วิเศษ
สังคมของผู้วิเศษนั้นมีลักษณะเฉพาะเป็นของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง การศึกษา การเมือง กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ วัฒนธรรม และแนวคิด เหล่าผู้เศษจะได้รับการถ่ายทอดพลังเวทมนตร์ผ่านทางสายเลือดนับตั้งแต่เกิด ผ่านการมีพ่อ แม่ หรือบรรพบุรุษคนใดคนหนึ่งที่มีพลังเวทมนตร์ อย่างไรก็ตาม ผู้วิเศษบางคนอาจไม่ได้รับการส่งทอดพลังหรือไม่สามารถควบคุมเวทมนตร์ได้อย่างคนทั่วไปเช่นกัน เหล่าผู้วิเศษจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ตราขึ้นโดยกระทรวงเวทมนตร์ซึ่งมีทั้งข้อกำหนดและบทลงโทษในรูปแบบของตัวเอง เมื่อพ่อมดและแม่มดเติบโตจนถึงเกณฑ์ที่กำหนด พวกเขาจะได้รับการศึกษาผ่านโรงเรียนเวทมนตร์ และจะยังไม่สามารถใช้เวทมนตร์ต่อหน้ามักเกิลได้หากอายุยังไม่ถึง 17 ปี เมื่อผู้วิเศษจบการศึกษาไปแล้วก็สามารถเลือกดำเนินชีวิตได้ตามเส้นทางที่ตนต้องการ แต่จะยังคงต้องปฏิบัติตามกฎหมายอยู่เช่นเดิม
นอกจากนี้ โลกเวทมนตร์ยังมีสิ่งมีชีวิตและวัฒนธรรมที่เป็นของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น การแต่งกาย การละเล่น และอาหารการกิน อย่างไรก็ตาม แม้สังคมผู้วิเศษในแฮร์รี่ พอตเตอร์นั้นจะเป็นสังคมที่มีความหลากหลาย แต่ก็ยังเป็นสังคมที่มีการแบ่งแยกทางชนชั้นกันอยู่อย่างตึงเครียด เหล่าสิ่งชีวิตที่ทรงปัญญาอย่างก็อบลิน เอลฟ์ประจำบ้าน หรือเซนทอร์ ยังคงถูกรังเกียจและกดทับโดยเหล่าผู้วิเศษที่มักคิดว่าตนคือชนชั้นนำของสังคม นอกจากนี้ เหล่าผู้วิเศษที่เรียกตัวเองว่า ผู้วิเศษสายเลือดบริสุทธิ์ (ผู้วิเศษที่ไม่มีสายเลือดของมักเกิลผสมอยู่) ก็มักจะมีแนวคิดในการรักษาสายเลือดบริสุทธิ์ของตน และยังคงรังเกียจมักเกิ้ลอย่างถึงที่สุด ชนชั้นและความเกลียดชังนี้จึงได้นำไปสู่การเรืองอำนาจของพ่อมดศาสตร์มืดอย่าง ลอร์ดโวลเดอมอร์ ที่หวังจะเปลี่ยนแปลงโลกเวทมนตร์ให้เป็นโลกสำหรับเหล่าผู้วิเศษเป็นใหญ่เหนือมักเกิลและสิ่งมีชีวิตทั้งปวง
ลำดับเวลา
[แก้]เหตุการณ์ต่าง ๆ ในหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ไม่มีการระบุถึงปีตามปฏิทินจริงมากนัก อย่างไรก็ตามมีการอ้างอิงถึงปีจริงบางส่วนในเนื้อเรื่อง ซึ่งทำให้สามารถวางเรื่องราวของแฮร์รี่ พอตเตอร์ตามปีปฏิทินจริงได้ ซึ่งต่อมาข้อมูลได้รับการยืนยันจากการยอมรับของผู้แต่ง ลำดับเวลาซึ่งนำเสนอในดีวีดีภาพยนตร์ และแผนผังตระกูลแบล็กซึ่งผู้แต่งได้นำออกประมูลการกุศล
ลำดับเวลาที่ยอมรับกันทั่วไปคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์นั้นเกิดในปี ค.ศ. 1980 และเรื่องราวในหนังสือเล่มแรกเริ่มต้นในปี ค.ศ. 1991 โดยเหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ทราบลำดับเวลาของนิยายได้ก็คือเหตุการณ์ในเรื่องแฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ บทที่ 8 ซึ่งเรื่องราวหนังสือเล่มที่สองเกิดขึ้นในเวลาหนึ่งปีให้หลังหนังสือเล่มแรก โดยในบทนี้แฮร์รี่ได้เข้าร่วมงานเลี้ยงครบรอบวันตายปีที่ 500 ของตัวละครนิกหัวเกือบขาด และมีการระบุปีบนเค้กวันตายว่า "ตายวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 1492"[13]
โครงเรื่อง
[แก้]นวนิยายเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นรอบตัวแฮร์รี่ พอตเตอร์ เด็กกำพร้าผู้พบว่าตนเองเป็นพ่อมดเมื่ออายุได้สิบเอ็ดปี อาศัยอยู่ในโลกแห่งผู้ไม่มีอำนาจวิเศษหรือมักเกิล ซึ่งถือเป็นประชากรปกติ[14] ความสามารถของเขานั้นมีมาโดยกำเนิดและเด็กจำพวกนี้จึงได้รับเชิญให้เข้าศึกษาในโรงเรียนซึ่งสอนทักษะที่จำเป็นแก่การประสบความสำเร็จในโลกพ่อมด[15] แฮร์รี่กลายมาเป็นนักเรียนที่โรงเรียนคาถาพ่อมดแม่มดและเวทมนตร์ศาสตร์ฮอกวอตส์ และเรื่องราวส่วนใหญ่ในนวนิยายเกิดขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้ เมื่อแฮร์รี่เติบโตขึ้นผ่านช่วงวัยรุ่น เขาเรียนรู้ที่จะก้าวข้ามปัญหาที่เผชิญกับเขา ทั้งทางเวทมนตร์ สังคมและอารมณ์ รวมทั้งความท้าทายอย่างวัยรุ่นทั่วไป เช่น มิตรภาพและการสอบ ตลอดจนบททดสอบอันยิ่งใหญ่กว่าที่เตรียมพร้อมเขาสำหรับการเผชิญหน้าที่คอยอยู่เบื้องหน้า[16]
หนังสือแต่ละเล่มบันทึกเหตุการณ์หนึ่งปีในชีวิตของแฮร์รี่[17] โดยเนื้อเรื่องหลักเกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1991-98 หนังสือยังมีการเล่าย้อนไปในอดีตหลายครั้ง ซึ่งมักอธิบายโดยตัวละครมองความทรงจำในอุปกรณ์ที่เรียกว่า เพนซิฟ เพนซิฟเป็นอ่างทรงกว้างก้นตื้นทำจากโลหะหรือหิน ตกแต่งหรือเลี่ยมด้วยหินมีค่า เต็มเปี่ยมไปด้วยความทรงพลังและความน่าหลงใหลอันซับซ้อน เพนซิฟเป็นของหายากเพราะมีเพียงพ่อมดชั้นสูงที่ใช้มัน และเพราะพ่อมดส่วนใหญ่กลัวที่จะทำเช่นนั้น
จักรวาลโลกเวทมนตร์ที่เจ. เค. โรว์ลิงสร้างขึ้นนั้นจะสามารถแบ่งออกเป็นโลกของผู้วิเศษและมักเกิล โลกทั้งสองใบมีการแยกออกจากกันอย่างชัดเจนด้วยกฎหมายปกปิดการมีตัวตนของผู้วิเศษอันเป็นกฎหมายที่เห็นพ้องต้องกันจากผู้นำทั้งสองฝั่ง กฎหมายนี้ได้ทำให้มีมักเกิลเพียงบางส่วนเท่านั้นที่รับรู้ถึงการมีอยู่ของผู้วิเศษและได้รับอนุญาตให้เข้าออกโลกเวทมนตร์ได้ ต่างจากผู้วิเศษทุกคนที่ล้วนรับรู้ถึงการมีอยู่ของมักเกิล ถึงกระนั้น ประชากรจากโลกเวทมนตร์แทบทั้งหมดก็ยังจำเป็นต้องอยู่ร่วมหรือปะปนไปกับเหล่ามักเกิลในบางเวลาอยู่ดี ทำให้โลกทั้งสองใบยังคงเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิดและเลี่ยงไม่ได้ มีเพียงสถานที่บางแห่งในโลกเวทมนตร์เท่านั้นที่ถูกปกปิดและซ่อนตัวจากมักเกิลโดยแทบจะสมบูรณ์ ซึ่งสถานที่เหล่านี้ก็อาจกระจายตัวอยู่ตามสถานที่ต่างๆ ในโลกมักเกิล อาทิ ในผับเก่าแก่ที่ถูกมองข้าม คฤหาสน์ชนบทที่โดดเดี่ยว หรือปราสาทที่ตัดขาดจากโลกภายนอกด้วยเวทมนตร์ซึ่งประชากรมักเกิลไม่อาจมองเห็นได้[15] อาจสรุปได้ว่าโลกเวทมนตร์ของแฮร์รี่ พอตเตอร์นั้นจะมีความร่วมสมัยคล้ายคลึงกับชีวิตประจำวันของผู้อ่าน สถาบันและสถานที่หลายแห่งนั้นก็มีอยู่จริง เช่น กรุงลอนดอน[18] เพียงแต่มีเหล่าผู้วิเศษที่ซ่อนตัวและดำเนินชีวิตไปในโลกเวทมนตร์โดยที่มักเกิลแทบทั้งหมดไม่สามารถรับรู้ได้เลย
ช่วงปีแรก
[แก้]เมื่อเรื่องราวของแฮร์รี่ พอตเตอร์เปิดฉากขึ้น เป็นที่แน่ชัดว่ามีเหตุการณ์บางอย่างที่สำคัญเกิดขึ้นในโลกพ่อมด แม้แต่มักเกิลเองก็ยังสังเกตเห็นสัญญาณบางอย่างได้ เบื้องหลังทั้งหมดของเรื่องและบุคลิกของแฮร์รี่ พอตเตอร์ค่อย ๆ เปิดเผยออกมาตลอดทั้งเรื่อง ในแฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ โดยแฮร์รี่ได้ค้นพบว่า เมื่อครั้งเป็นเด็ก เขาได้เป็นพยานการฆาตกรรมบิดามารดาของตนโดยพ่อมดมืดผู้หลงใหลในอำนาจ ลอร์ดโวลเดอมอร์ ผู้ซึ่งขณะนั้นพยายามฆ่าเขาด้วยเช่นกัน[19] ด้วยเหตุผลที่ยังไม่เปิดเผยในทันที คาถาที่โวลเดอมอร์พยายามปลิดชีพแฮร์รี่สะท้อนกลับไปยังตัวเขาเอง แฮร์รี่รอดชีวิตโดยหลงเหลือแผลเป็นรูปสายฟ้าบนหน้าผากเป็นอนุสรณ์ถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น และโวลเดอมอร์ได้หายสาบสูญไป ด้วยการเป็นวีรบุรุษโดยไม่ได้ตั้งใจจากการสิ้นสุดยุคสมัยแห่งความหวาดกลัวของโวลเดอมอร์ แฮร์รี่ได้กลายมาเป็นตำนานมีชีวิตในโลกพ่อมด อย่างไรก็ดี ด้วยคำสั่งของพ่อมดผู้ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียง อัลบัส ดัมเบิลดอร์ แฮร์รี่ซึ่งกำพร้าพ่อแม่ ถูกทิ้งไว้ในบ้านของญาติมักเกิลผู้ไม่น่าพิสมัยของเขา ครอบครัวเดอร์สลีย์ พวกเดอร์สลีย์ให้ความคุ้มครองเขาให้ปลอดภัยแต่ปกปิดพลังที่แท้จริงจากเขาด้วยหวังว่าเขาจะเติบโตขึ้น "อย่างปกติ"[19]
เมื่อย่างใกล้วันเกิดครบรอบปีที่สิบเอ็ดของแฮร์รี่ พ่อมดครึ่งยักษ์ รูเบอัส แฮกริด เปิดเผยประวัติของแฮร์รี่และนำเขาเข้าสู่โลกเวทมนตร์[19] ด้วยความช่วยเหลือของแฮกริด แฮร์รี่เตรียมตัวและเข้าเรียนในปีแรกที่ฮอกวอตส์ เมื่อแฮร์รี่เริ่มต้นสำรวจโลกเวทมนตร์นั้น เรื่องราวได้ระบุสถานที่สำคัญหลายแห่งที่ใช้ตลอดเนื้อเรื่อง แฮร์รี่พบกับตัวละครหลักส่วนใหญ่ และมีเพื่อนรักที่สุดสองคนคือ รอน วีสลีย์ สมาชิกที่รักสนุกแห่งครอบครัวพ่อมดที่ใหญ่ เก่าแก่ มีความสุขแต่ยากจน และเฮอร์ไมโอนี เกรนเจอร์ แม่มดที่มีพรสวรรค์ เกิดจากพ่อแม่ที่ไม่มีเวทมนตร์และจริงจังกับการเรียน[19][20] แฮร์รี่ยังพบกับอาจารย์สอนวิชาปรุงยาของโรงเรียน เซเวอร์รัส สเนป ผู้แสดงความไม่ชอบอย่างลึกซึ้งมั่นคงแก่เขา โครงเรื่องสรุปเมื่อแฮร์รี่เผชิญหน้ากับลอร์ดโวลเดอมอร์ครั้งที่สอง ผู้ซึ่งกำลังตามหาความเป็นอมตะ โดยปรารถนาการได้รับอำนาจแห่งศิลาอาถรรพ์[19] แต่สุดท้ายก็เป็นแฮร์รี่ที่ได้รับชัยชนะและโวลเดอมอร์ก็ได้หายสาบสูญไปอีกครั้งหนึ่ง
เรื่องราวดำเนินต่อด้วยแฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ ซึ่งบอกเล่าเรื่องราวในปีที่สองของแฮร์รี่ที่ฮอกวอตส์ เขาและเพื่อนได้สืบสวนตำนานอายุ 50 ปีซึ่งกลายเป็นว่ามีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ลางร้ายล่าสุดที่โรงเรียน น้องสาวของรอน จินนี่ วีสลีย์ ซึ่งกำลังเรียนอยู่ปีหนึ่งที่ฮอกวอตส์ พบสมุดบันทึกซึ่งเป็นบันทึกของโวลเดอมอร์เมื่อครั้งเป็นนักเรียน จินนี่ถูกครอบงำโดยโวลเดอมอร์ผ่านบันทึก และเปิด "ห้องแห่งความลับ" ปลดปล่อยบาซิลิสก์ สัตว์ประหลาดโบราณซึ่งเริ่มโจมตีนักเรียนที่ฮอกวอตส์ ตอนนี้เป็นการเล่าประวัติศาสตร์ฮอกวอตส์และตำนานที่เกี่ยวข้องกับห้องลับแห่งนี้ เป็นครั้งแรกที่แฮร์รี่ตระหนักถึงอคติด้านชาติกำเนิดว่ามีอยู่ในโลกพ่อมด และเขาเรียนรู้ว่า ยุคสมัยแห่งความหวาดกลัวของโวลเดอมอร์นั้นมักมุ่งไปยังพ่อมดผู้สืบเชื้อสายจากมักเกิล เขายังพบความสามารถของตนในการพูดภาษาพาร์เซล ซึ่งเป็นภาษาของงู ที่พบได้ยากและมักเกี่ยวข้องกันกับศาสตร์มืด นิยายเล่มนี้จบลงหลังแฮร์รี่ช่วยชีวิตของจินนี่โดยการฆ่าบาซิลิสก์และทำลายสมุดบันทึกที่โวลเดอมอร์เก็บรักษาส่วนหนึ่งของวิญญาณเขาไว้ (แฮร์รี่ไม่ทราบเรื่องนี้จนกระทั่งเปิดเผยภายหลัง) แนวคิดการเก็บรักษาส่วนหนึ่งของวิญญาณไว้ในวัตถุเพื่อป้องกันความตายนั้นปรากฏครั้งแรกในนิยายเล่มที่หกในชื่อของ "ฮอร์ครักซ์"
นิยายเล่มที่สาม แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน ดำเนินเนื้อเรื่องในปีที่สามของแฮร์รี่ในการศึกษาเวทมนตร์ และเป็นเพียงเล่มเดียวในเรื่องที่มิได้มีโวลเดอมอร์ปรากฏ เขาต้องรับมือกับข้อมูลที่ว่าเขาตกเป็นเป้าหมายของซิเรียส แบล็ก ฆาตกรหลบหนีจากคุกอัซคาบัน ผู้เป็นพ่อทูนหัวของแฮร์รี่และถูกเชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการตายของพ่อแม่แฮร์รี่ เมื่อแฮร์รี่ได้ต่อสู้กับปฏิกิริยาต่อผู้คุมวิญญาณ สิ่งมีชีวิตชั่วร้ายที่มีความสามารถในการกลืนกินวิญญาณของมนุษย์ ซึ่งกำลังคุ้มครองโรงเรียนอยู่ เขาก็ได้พบกับรีมัส ลูปิน ครูสอนวิชาการป้องกันต้องจากศาสตร์มืดคนใหม่ ซึ่งเปิดเผยภายหลังว่าเป็นมนุษย์หมาป่า ลูปินสอนมาตรการป้องกันแก่แฮร์รี่ ซึ่งเหนือไปจากระดับเวทมนตร์ที่มักพบในบุคคลที่มีอายุเท่าเขา แฮร์รี่พบว่าทั้งลูปินและแบล็กเคยเป็นเพื่อนสนิทของบิดา และแบล็กนั้นบริสุทธิ์ เพราะเขาถูกใส่ร้ายโดยเพื่อนคนที่สี่ ปีเตอร์ เพ็ตดิกรูว์ ผู้ขายความลับของพ่อแม่แฮร์รี่แก่โวลเดอมอร์ [21] ในเล่มนี้ มีการเน้นย้ำแก่นเรื่องที่เกิดขึ้นซ้ำอีกประการหนึ่งตลอดเรื่อง คือ ทุกเล่มจะต้องมีครูสอนการป้องกันตัวจากศาสตร์มืดคนใหม่เสมอและไม่มีคนใดทำงานอยู่ได้นานเกินหนึ่งปี
การหวนคืนของโวลเดอมอร์
[แก้]ในแฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี ระหว่างปีที่สี่ของแฮร์รี่ที่ฮอกวอตส์ แฮร์รี่เป็นหนึ่งในผู้เข้าแข่งขันการประลองเวทไตรภาคีโดยไม่เต็มใจและนั่นเป็นการวางแผนของ บาร์ตี้ เคร้าช์ จูเนียร์ ซึ่งการประลองเวทไตรภาคีเป็นการประลองอันตรายที่แฮร์รี่จะต้องแข่งขันกับตัวแทนพ่อมดและแม่มดจากโรงเรียนเวทมนตร์อื่นๆที่มาเยือน เช่นเดียวกับเซดริก ดิกกอรี่ ตัวแทนของฮอกวอตส์อีกคนหนึ่ง[22] แฮร์รี่ได้รับการชี้นำผ่านการประลองโดยศาสตราจารย์อลาสเตอร์ "แม้ด-อาย" มู้ดดี้ แต่ภายหลังกลับกลายเป็นว่าเป็นคนอื่นปลอมตัวมา ซึ่งก็คือบาร์ตี้ เคร้าช์ จูเนียร์ หนึ่งในผู้สนับสนุนของโวลเดอมอร์ จุดที่ปริศนาคลายปมออกนั้นเป็นจุดเปลี่ยนของเรื่อง โดยแผนการของโวลเดอมอร์คือให้เคร้าช์อาศัยการประลองในครั้งนี้เพื่อนำตัวแฮร์รี่มาให้โวลเดอมอร์สังหาร และแม้ว่าแฮร์รี่จะสามารถหลบหนีจากเขามาได้แต่เซดริก ดิกกอรี่ได้ถูกสังหารโดยโวลเดอมอร์ที่ได้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นอีกครั้ง
ในหนังสือเล่มที่ห้า แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ แฮร์รี่ต้องเผชิญหน้ากับโวลเดอมอร์ที่คืนชีพขึ้นมา และเพื่อเป็นการรับมือ ดัมเบิลดอร์ได้ให้ภาคีนกฟีนิกซ์กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง ภาคีนั้นเป็นสมาคมลับที่ดำเนินงานโดยอาศัยบ้านลึกลับประจำตระกูลของซิเรียส แบล็กเป็นกองบัญชาการ เพื่อเอาชนะสมุนของโวลเดอมอร์และให้ความคุ้มครองเป้าหมายของโวลเดอมอร์ โดยเฉพาะแฮร์รี่ อย่างไรก็ตามรายละเอียดของแฮร์รี่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวล่าสุดของโวลเดอมอร์ ได้ถูกกระทรวงเวทมนตร์ปกปิดและบิดเบือนความจริง คนส่วนใหญ่ในโลกเวทมนตร์จึงปฏิเสธที่จะเชื่อว่าโวลเดอมอร์ได้หวนกลับคืนอีกครั้ง[23] ด้วยความพยายามที่จะตอบโต้และทำลายชื่อเสียงดัมเบิลดอร์ ผู้ซึ่งอยู่เคียงข้างแฮร์รี่และถือเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญที่สุดในโลกเวทมนตร์ในการพยายามเตือนภัยถึงการกลับมาของโวลเดอมอร์ กระทรวงจึงได้แต่งตั้งโดโลเรส อัมบริดจ์ ขึ้นเป็นเจ้าพนักงานสอบสวนใหญ่แห่งฮอกวอตส์ เธอได้เปลี่ยนแปลงการปกครองในโรงเรียนไปอย่างเข้มงวดและปฏิเสธที่จะอนุญาตให้นักเรียนเรียนรู้วิธีป้องกันตนเองจากเวทมนตร์มืด[23]
แฮร์รี่ได้ก่อตั้ง "กองทัพดัมเบิลดอร์" กลุ่มเรียนลับเพื่อสอนทักษะการป้องกันตัวจากศาสตร์มืดระดับสูงที่เขาเคยเรียนมาและมีประสบการณ์โดยตรงแก่เพื่อนร่วมชั้นของเขา ภายหลังมีการเปิดเผยถึงคำพยากรณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับแฮร์รี่และโวลเดอมอร์[24] แฮร์รี่ค้นพบว่าเขากับโวลเดอมอร์สามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ และทำให้แฮร์รี่ได้เห็นการกระทำบางอย่างของโวลเดอมอร์ผ่านทางกระแสจิต ในช่วงท้ายของเรื่อง แฮร์รี่กับเพื่อนได้เผชิญหน้ากับผู้เสพความตายของโวลเดอมอร์ แม้การมาถึงทันเวลาของสมาชิกภาคีนกฟีนิกซ์จะช่วยชีวิตของเด็ก ๆ ได้ แต่ซิเรียส แบล็กก็ถูกสังหารไปในคราวเดียวกัน[23]
โวลเดอมอร์เริ่มทำสงครามอย่างเปิดเผยในแฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสม แม้แฮร์รี่กับเพื่อนจะค่อนข้างได้รับการคุ้มครองจากภัยอันตรายเป็นอย่างดีที่ฮอกวอตส์ แต่พวกเขาต้องเผชิญกับความยากลำบากในช่วงวัยรุ่นหลายอย่าง แฮร์รี่เริ่มต้นออกเดทกับจินนี่ วีสลีย์ รอนเองก็หลงใหลในตัวลาเวนเดอร์ บราวน์ เพื่อนสาวของเขาอย่างรุนแรง ส่วนเฮอร์ไมโอนีก็เริ่มที่จะรู้ตัวว่าเธอนั้นรักรอน ในช่วงต้นของนิยายแฮร์รี่ได้รับหนังสือเรียนปรุงยาเล่มเก่าซึ่งเต็มไปด้วยความเห็นประกอบและข้อแนะนำที่เขียนเพิ่มเติมโดยเจ้าของคนเก่าชื่อ เจ้าชายเลือดผสม แฮร์รี่ยังได้เรียนพิเศษเป็นการส่วนตัวกับดัมเบิลดอร์ ที่ได้แสดงให้เขาเห็นความทรงจำทั้งหลายเกี่ยวกับชีวิตช่วงต้นของโวลเดอมอร์ผ่านเพนซิฟ พร้อมแสดงให้เห็นว่าวิญญาณของโวลเดอมอร์ได้ถูกแยกไปอยู่ในฮอร์ครักซ์หลายชิ้น ซึ่งเป็นวัตถุวิเศษชั่วร้ายที่ซ่อนอยู่ยังที่ต่าง ๆ [25] ในช่วงท้ายของของเรื่อง เดรโก มัลฟอย คู่ปรับของแฮร์รี่ พยายามโจมตีดัมเบิลดอร์ และหนังสือจบลงด้วยการสังหารดัมเบิลดอร์โดยศาสตราจารย์สเนป ซึ่งเป็นเจ้าของชื่อเจ้าชายเลือดผสม
แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต นิยายเล่มสุดท้ายในชุด ดำเนินเรื่องต่อจากหลังเหตุการณ์ในหนังสือเล่มก่อนในทันที โวลเดอมอร์ประสบความสำเร็จในการเถลิงอำนาจและควบคุมกระทรวงเวทมนตร์ แฮร์รี่ รอน และเฮอร์ไมโอนีออกจากโรงเรียนเพื่อที่พวกเขาจะสามารถค้นหาและทำลายฮอร์ครักซ์ที่เหลืออยู่ของโวลเดอมอร์ เพื่อเป็นการประกันความปลอดภัยของพวกตน เช่นเดียวกับความปลอดภัยของครอบครัวและเพื่อนฝูง พวกเขาถูกบีบให้แยกตัวออกจากทุกคน ระหว่างการค้นหาฮอร์ครักซ์ ซึ่งทั้งสามได้ค้นพบและทำลายไปได้หลายชิ้น นอกจากนี้ได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับอดีตของดัมเบิลดอร์และไม้กายสิทธิ์เอลเดอร์ หนึ่งในเครื่องรางยมทูตที่โวลเดอมอร์ได้ตามหาและชิงมาจากหลุมศพของดัมเบิลดอร์ด้วยความเชื่อที่ว่าพลังของไม้จะสามารถฆ่าแฮร์รี่ได้ แต่ด้วยความหวาดระแวงว่าสเนปผู้ฆ่าดัมเบิลดอร์นั้นคือเจ้าของไม้ที่แท้จริง เขาจึงสังหารสเนปลง ภายหลังแฮร์รี่ได้ทราบเจตนาที่แท้จริงของสเนป ที่ทำภารกิจตามความต้องการของดัมเบิลดอร์นับแต่แม่ของแฮร์รี่ถูกฆาตกรรม
นิยายเดินทางมาถึงจุดสำคัญในการต่อสู้ที่ฮอกวอตส์ แฮร์รี่ รอนและเฮอร์ไมโอนี ร่วมกับสมาชิกภาคีนกฟีนิกซ์ ตลอดจนครูและนักเรียนหลายคน ได้ป้องกันฮอกวอตส์จากโวลเดอมอร์ ผู้เสพความตายของเขา และสิ่งมีชีวิตเวทมนตร์ทั้งหลาย ตัวละครหลักหลายคนถูกสังหารในการต่อสู้ระลอกแรก รวมถึงรีมัส ลูปิน นิมฟาดอร่า ท็องส์ และเฟร็ด วีสลีย์ และหลังทราบว่าตัวเขาเองเป็นฮอร์ครักซ์ แฮร์รี่มอบตัวต่อโวลเดอมอร์ที่ป่าต้องห้าม ซึ่งได้ร่ายคำสาปพิฆาตเพื่อปลิดชีพเขาและเป็นการทำลายฮอร์ครักซ์อีกชิ้นลงในเวลาเดียวกัน โวลเดอมอร์ได้ประกาศถึงการตายของแฮร์รี่ต่อทุกคน อย่างไรก็ดี กลุ่มป้องกันฮอกวอตส์ยังไม่ยอมจำนนแม้จะทราบถึงข้อเท็จจริงนี้และยังคงสู้ต่อไป หลังกลับมาจากความตาย แฮร์รี่ได้เผชิญหน้ากับโวลเดอมอร์ ซึ่งงูนากินี ฮอร์ครักซ์ชิ้นสุดท้ายได้ถูกทำลายลงแล้ว ในการต่อสู้ครั้งสุดท้าย ไม้กายสิทธิ์เอลเดอร์ไม่ยอมสวามิภักดิ์ต่อโวลเดอมอร์เนื่องจากเขาไม่ใช่นายที่แท้จริงของมัน แต่คือแฮร์รี่เอง ทำให้คำสาปพิฆาตของโวลเดอมอร์ถูกคาถาปลดอาวุธของแฮร์รี่สะท้อนกลับและสังหารโวลเดอมอร์ในที่สุด
ในบทส่งท้ายซึ่งเป็นเหตุการณ์ในอีก 19 ปีให้หลัง นิยายได้อธิบายถึงชีวิตของตัวละครที่เหลือรอด โดยแฮร์รี่ได้แต่งงานและมีลูกกับจินนี่ ส่วนรอนนั้นแต่งงานและมีลูกกับเฮอร์ไมโอนี่ ทั้งสี่คนได้มาส่งลูก ๆ ของพวกเขาไปเรียนที่ฮอกวอตส์ ณ ชานชาลาที่เก้าเศษสามส่วนสี่ ซึ่งภายหลังการตายของโวลเดอมอร์ โลกเวทมนตร์ก็ได้กลับสู่ความสงบสุขอีกครั้งและไม่มีเรื่องร้ายเกิดขึ้นกับแฮร์รี่อีกเลย
งานสมทบ
[แก้]โรว์ลิงขยายจักรวาลแฮร์รี่ พอตเตอร์ด้วยหนังสือเรื่องสั้นหลายเล่มซึ่งผลิตออกมาให้การกุศลหลายอย่าง[26][27] ใน ค.ศ. 2001 เธอวางจำหน่ายสัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ (หนังสือที่สมมติขึ้นว่าเป็นหนังสือเรียนในฮอกวอตส์) และควิดดิชในยุคต่าง ๆ (หนังสือที่แฮร์รี่อ่านเอาสนุก) รายได้จากการขายหนังสือทั้งสองเล่มนี้ได้มอบให้แก่มูลนิธิคอมมิครีลิฟ[28] ใน ค.ศ. 2007 โรว์ลิงประพันธ์นิทานของบีเดิลยอดกวีฉบับเขียนด้วยมือเจ็ดเล่ม ซึ่งเป็นหนังสือที่รวมเทพนิยายซึ่งปรากฏในเล่มสุดท้าย หนึ่งในนั้นถูกประมูลขายเพื่อระดมทุนแก่ชิลเดรนส์ไฮเลเวลกรุ๊ป กองทุนเพื่อเด็กพิการในประเทศยากจน หนังสือนี้ได้รับตีพิมพ์ระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 2008[29][30] นอกจากนี้ โรว์ลิงยังได้เขียนพลีเควล 800 คำ ในปี 2008 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการระดมทุนซึ่งจัดโดยร้านขายหนังสือวอเทอร์สโตนส์[31] ก่อนที่เธอจะออกเว็บไซต์ใหม่ในชื่อ พอตเตอร์มอร์ ซึ่งเป็นการรวบรวมเนื้อหาต่าง ๆ ที่ไม่ได้รับการเปิดเผยในหนังสือ ในปี 2011[32]
โครงสร้างและประเภท
[แก้]นวนิยายแฮร์รี่ พอตเตอร์จัดอยู่ในประเภทวรรณกรรมแฟนตาซี อย่างไรก็ดี ในหลายแง่มุม ยังเป็นนวนิยายการศึกษา (bildungsromans) หรือการเปลี่ยนผ่านของวัย และมีส่วนที่เป็นประเภทลึกลับ ตื่นเต้นเขย่าขวัญ และโรแมนซ์ นวนิยายชุดนี้อาจถูกมองว่าเป็นประเภทโรงเรียนกินนอนเด็กของอังกฤษ เพราะเรื่องราวส่วนใหญ่ในชุดเกิดขึ้นในฮอกวอตส์ ซึ่งเป็นโรงเรียนกินนอนอังกฤษสำหรับพ่อมดในนวนิยาย โดยมีหลักสูตรรวมถึงการใช้เวทมนตร์ด้วย[33] ชุดนวนิยายนี้ยังเป็นประเภทที่สตีเฟน คิงใช้คำว่า "เรื่องลึกลับหลักแหลม"[34] และแต่ละเล่มมีโครงสร้างคล้ายคลึงกับการผจญภัยลึกลับแบบเชอร์ล็อก โฮมส์ เรื่องราวเล่าโดยบุคคลที่สามจำกัดมุมมองโดยมีข้อยกเว้นเล็กน้อย (เช่น บทแรก ๆ ของศิลาอาถรรพ์ ถ้วยอัคนี และเครื่องรางยมทูต และสองบทแรกของเจ้าชายเลือดผสม)
ช่วงกลางของหนังสือแต่ละเล่ม แฮร์รี่ต่อสู้กับปัญหาที่เขาประสบ และการจัดการปัญหาเหล่านั้นมักเกี่ยวข้องกับความต้องการละเมิดกฎโรงเรียนบางข้อ หากนักเรียนถูกจับได้ว่าละเมิดกฎ พวกเขาจะถูกลงโทษโดยศาสตราจารย์ฮอกวอตส์ ซึ่งใช้รูปแบบวิธีการลงโทษที่มักพบในประเภทย่อยโรงเรียนกินนอน[33] อย่างไรก็ดี เรื่องราวถึงจุดสูงสุดในช่วงภาคเรียนฤดูร้อน ช่วงใกล้หรือช่วงเพิ่งสอบปลายภาคเรียนเสร็จ โดยมีเหตุการณ์บานปลายขึ้นเกินการวิวาทและการดิ้นรนอยู่ในโรงเรียน และแฮร์รี่ต้องเผชิญกับโวลเดอมอร์หรือหนึ่งในผู้ติดตามของเขา ผู้เสพความตาย โดยเดิมพันเรื่องคอขาดบาดตาย ประเด็นหนึ่งเน้นย้ำว่า เมื่อเรื่องราวดำเนินไป มีตัวละครหนึ่งตัวหรือมากกว่าถูกฆ่าในแต่ละเล่มในสี่เล่มสุดท้าย[35][36] หลังจากนั้น เขาเรียนรู้บทเรียนสำคัญผ่านการชี้แจงและการอภิปรายกับอาจารย์ใหญ่และที่ปรึกษา อัลบัส ดัมเบิลดอร์
ในนวนิยายเล่มสุดท้าย แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต แฮร์รี่กับเพื่อนใช้เวลาส่วนใหญ่นอกฮอกวอตส์ และเพียงกลับมาเพื่อเผชิญหน้ากับโวลเดอมอร์ในตอนจบ[35] ด้วยรูปแบบนวนิยายการศึกษา ในส่วนนี้แฮร์รี่ต้องเติบโตขึ้นก่อนวัยอันควร ละทิ้งโอกาสปีสุดท้ายในฐานะนักเรียนโรงเรียนและจำต้องปฏิบัติตนเหมือนผู้ใหญ่ ซึ่งคนอื่นต้องพึ่งพาการตัดสินใจของเขา ซึ่งรวมถึงผู้ใหญ่ด้วย[37]
แก่นเรื่อง
[แก้]โรว์ลิงว่า แก่นเรื่องหลักของชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์คือ ความตาย "หนังสือของฉันเกี่ยวข้องกับความตายเป็นส่วนใหญ่ เรื่องราวเกิดขึ้นด้วยการตายของพ่อแม่แฮร์รี่ มีความคิดครอบงำของโวลเดอมอร์เรื่องการพิชิตความตายและภารกิจของเขาเพื่อความเป็นอมตะไม่ว่าจะต้องเสียอะไรไปก็ตาม เป้าหมายของทุกคนที่มีเวทมนตร์ ฉันเข้าใจดีว่าทำไมโวลเดอมอร์ต้องการพิชิตความตาย เราทุกคนกลัวมัน"[9]
อาจารย์และนักหนังสือพิมพ์ได้พัฒนาการตีความแก่นเรื่องอื่นอีกมากในหนังสือ บ้างก็ซับซ้อนกว่าแนวคิดอื่น และบ้างก็รวมถึงการแฝงนัยทางการเมืองด้วย แก่นเรื่องนี้อย่างเช่น ปกติวิสัย การครอบงำ การอยู่รอด และการก้าวข้ามความแปลกประหลาดที่เพิ่มขึ้นมาล้วนถูกมองว่าพบเห็นได้บ่อยตลอดทั้งเรื่อง[38] โรว์ลิงว่า หนังสือของเธอประกอบด้วย "ข้อพิสูจน์ยืดเยื้อแก่ความอดกลั้น คำขอร้องยาวนานให้ยุติความเชื่อไร้เหตุผล" และว่ายังผ่านข้อความเพื่อ "ตั้งคำถามถึงทางการและ ... ไม่สันนิษฐานว่าสถาบันหรือสื่อบอกความจริงแก่คุณทั้งหมด"[39]
ขณะที่อาจกล่าวได้ว่าหนังสือนั้นประกอบด้วยแก่นเรื่องอื่นอีกหลากหลาย เช่น อำนาจ การละเมิดอำนาจ, ความรัก, อคติ และทางเลือกเสรี ซึ่งทั้งหมดนี้ ตามคำกล่าวของเจ. เค. โรว์ลิง ว่า "ฝังลึกอยู่ในโครงเรื่องทั้งหมด" ผู้เขียนยังพึงใจปล่อยให้แก่นเรื่อง "การเติบโตทางชีวิต" มากกว่านั่งลงและเจตนาพยายามที่จะบอกแนวคิดนั้นแก่ผู้อ่านของเธอ ในบรรดาแก่นเรื่องนั้นคือ แก่นเรื่องที่มีอยู่ตลอดเวลาเกี่ยวกับวัยรุ่น ซึ่งในการพรรณนา โรว์ลิงมีจุดประสงค์ในการรับรองเพศภาพตัวละครของเธอและไม่ทิ้งให้แฮร์รี่ "ติดอยู่ในสภาพก่อนวัยหนุ่มสาวไปตลอดกาล" ตามคำพูดของเธอ[40] โรว์ลิงกล่าวว่า สำหรับเธอ ความสำคัญทางศีลธรรมของเรื่องนี้ดู "ชัดเจนมากอย่างที่สุด" สิ่งสำคัญสำหรับเธอคือทางเลือกระหว่างสิ่งที่ง่ายกับสิ่งที่ถูก "เพราะว่า ... นั่นคือสิ่งที่ทรราชเริ่มต้น โดยไม่ยินดียินร้ายและเลือกเส้นทางที่ง่าย และทันใดนั้นก็พบว่าตนเองอยู่ในปัญหาร้ายแรง"[41]
จุดกำเนิดและประวัติการตีพิมพ์
[แก้]ในปี 1990 เจ. เค. โรว์ลิงอยู่ในรถไฟที่มีคนเนืองแน่นจากแมนเชสเตอร์ไปยังลอนดอน เมื่อแนวคิดแฮร์รี่ "ตกลงมาใส่หัวของเธอ" ทันใดนั้นเอง โรว์ลิงเล่าถึงประสบการณ์บนเว็บไซต์ของเธอโดยระบุว่า
ฉันเคยเขียนค่อนข้างต่อเนื่องเรื่อยมาตั้งแต่อายุได้หกขวบ แต่ฉันไม่เคยตื่นเต้นกับแนวคิดไหนมาก่อน ฉันเพียงแค่นั่งลงและคิด เป็นเวลาสี่ (รถไฟล่าช้า) ชั่วโมง และทุกรายละเอียดก็ผุดขึ้นในสมองของฉัน และเด็กชายผอมกะหร่อง ผมดำ สวมแว่นตาผู้ไม่รู้ว่าตนเองเป็นพ่อมดนี้ก็ค่อย ๆ กลายเป็นจริงขึ้นสำหรับฉัน[42]
โรว์ลิงเขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์เสร็จใน ค.ศ. 1995 และต้นฉบับถูกส่งไปยังตัวแทนผู้ซื้อขายลิขสิทธิ์หนังสือหลายคน (prospective agent)[43] ตัวแทนคนที่สอง คริสโตเฟอร์ ลิตเตล เสนอเป็นตัวแทนเธอและส่งต้นฉบับไปยังสำนักพิมพ์บลูมส์บรี หลังสำนักพิมพ์อื่นแปดสำนักปฏิเสธศิลาอาถรรพ์ บลูมส์บรีเสนอค่าตอบแทนล่วงหน้าเป็นเงิน 2,500 ปอนด์แก่โรว์ลิงเป็นค่าจัดพิมพ์[44][45] แม้เธอจะไม่ได้วางกลุ่มอายุเป้าหมายไว้ในใจเมื่อเริ่มต้นเขียนหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ สำนักพิมพ์เดิมตั้งเป้าไว้ที่เด็กอายุระหว่างเก้าถึงสิบเอ็ดปี[46] วันก่อนวันจัดพิมพ์ โรว์ลิงได้รับการร้องขอจากสำนักพิมพ์ให้ใช้นามปากกาที่ไม่บ่งบอกเพศมากกว่านี้ เพื่อดึงดูดกลุ่มอายุที่เป็นชายมากขึ้น ด้วยกลัวว่าพวกเขาอาจไม่สนใจอ่านนวนิยายที่พวกเขารู้ว่าผู้หญิงเขียน เธอเลือกใช้ชื่อ เจ. เค. โรว์ลิง (โจแอนน์ แคทลีน โรว์ลิง) โดยใช้ชื่อย่าของเธอเป็นชื่อที่สอง เพราะเธอไม่มีชื่อกลาง[45][47]
แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ (Harry Potter and the Philosopher's Stone) ได้รับตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บลูมส์บรี ผู้จัดพิมพ์หนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ทุกเล่มในสหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 1997[48] และวางจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1998 ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์สกอแลสติก สำนักพิมพ์หนังสือของอเมริกา ในชื่อ Harry Potter and the Sorcerer's Stone หลังโรว์ลิงได้รับเงิน 150,000 ดอลลาร์สหรัฐเป็นค่าลิขสิทธิ์ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนสำหรับหนังสือเด็กโดยนักเขียนที่ขณะนั้นยังไร้ชื่อ[49] ด้วยกลัวว่าผู้อ่านชาวอเมริกันจะไม่เชื่อมโยงคำว่า "philosopher" (นักปราชญ์) กับแก่นเรื่องเวทมนตร์ (แม้ศิลานักปราชญ์จะเกี่ยวข้องกับการเล่นแร่แปรธาตุก็ตาม) สกอแลสติกจึงยืนยันว่าหนังสือควรให้ชื่อนี้สำหรับตลาดอเมริกัน
หนังสือเล่มที่สอง แฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับ ตีพิมพ์ในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1998 และในสหรัฐอเมริกาวันที่ 2 มิถุนายน ค.ศ. 1999 แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบันตีพิมพ์อีกหนึ่งปีให้หลังในสหราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1999 และในสหรัฐอเมริกา 8 กันยายน ปีเดียวกัน[50] แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนีตีพิมพ์เมื่อ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 2000 เวลาเดียวกันทั้งบลูมส์บรีและสกอแลสติก[51] แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์เป็นหนังสือเล่มยาวที่สุดในชุด ด้วยความหนา 766 หน้าในรุ่นสหราชอาณาจักร และ 870 หน้าในรุ่นสหรัฐอเมริกา[52] ตีพิมพ์ทั่วโลกในภาษาอังกฤษเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน ค.ศ. 2003[53] แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสมตีพิมพ์วันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 2005 ทำยอดขาย 9 ล้านเล่มในการวางขาย 24 ชั่วโมงแรกทั่วโลก[54][55] นิยายเล่มที่เจ็ดและสุดท้าย แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 2007[56] ทำยอดขาย 11 ล้านเล่มในช่วงวางขาย 24 ชั่วโมงแรก แบ่งเป็น 2.7 ล้านเล่มในสหราชอาณาจักร และ 8.3 ล้านเล่มในสหรัฐอเมริกา[57]
การแปล
[แก้]หนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้รับการแปลเป็นภาษาอื่นอีกอย่างน้อย 80 ภาษา[3] เล่มแรกนั้นได้รับการแปลเป็นภาษาละตินและภาษากรีกโบราณ[58] โดยเป็นงานเขียนภาษากรีกโบราณที่ยาวที่สุดนับแต่นวนิยายของเฮลิโอโดรัสแห่งอีเมซาในคริสต์ศตวรรษที่ 3[59] การแปลหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์นั้นมีความยากลำบากหลายประการ เช่น จากการถ่ายทอดวัฒนธรรมโรงเรียนประจำแบบอังกฤษ การใช้ภาษาที่แสดงถึงบุคลิกภาพหรือสำเนียง รวมถึงการคิดค้นศัพท์ใหม่ ๆ ของผู้แต่งด้วย[60]
นักแปลบางคนที่ได้รับว่าจ้างมาแปลหนังสือนั้นเป็นผู้ประพันธ์มีชื่อเสียงก่อนมีผลงานกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ อาทิ วิกตอร์ โกลูเชฟ ผู้ควบคุมการแปลหนังสือเล่มที่ห้าเป็นภาษารัสเซีย การแปลหนังสือเล่มสองถึงเจ็ดเป็นภาษาตุรกีอยู่ภายใต้การดูแลของเซวิน ออคเย นักวิจารณ์วรรณกรรมและผู้บรรยายวัฒนธรรมที่ได้รับความนิยม[61] ด้วยเหตุผลด้านความลับ การแปลสามารถเริ่มต้นได้เฉพาะหลังหนังสือนั้นออกมาในภาษาอังกฤษแล้วเท่านั้น ซึ่งทำให้รุ่นภาษาอังกฤษถูกขายให้แก่แฟนที่รอไม่ไหวในประเทศที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษมากขึ้นทุกที จนทำให้เล่มที่ห้าในชุดกลายมาเป็นหนังสือภาษาอังกฤษเล่มแรกและเล่มเดียวที่ขึ้นเป็นที่หนึ่งของรายการหนังสือขายดีในฝรั่งเศส[62]
รุ่นสหรัฐอเมริกาของนวนิยายแฮร์รี่ พอตเตอร์ต้องผ่านการดัดแปลงข้อความเป็นภาษาอังกฤษแบบอเมริกันเสียก่อน เพราะคำหลายคำและหลายแนวคิดที่ใช้โดยตัวละครในนวนิยายนั้นอาจไม่เป็นที่เข้าใจแก่ผู้อ่านชาวอเมริกัน[63]
ผลงานในชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ฉบับแปลภาษาไทยได้รับการจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ในขณะที่ฉบับภาษาอังกฤษได้ออกมาแล้วสี่เล่ม โดยต้องเร่งแปลหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ทั้งสี่เล่มให้เสร็จโดยเร็วเพื่อง่ายต่อการแปลแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มที่ห้า ซึ่งโรว์ลิงยังเขียนไม่เสร็จ มีผู้แปลทั้งสิ้นสามคน ได้แก่ สุมาลี บำรุงสุขแปลเล่มที่หนึ่ง สอง ห้า หกและเจ็ด วลีพร หวังซื่อกุลแปลเล่มที่สาม และงามพรรณ เวชชาชีวะแปลเล่มที่สี่ หน้าปกฉบับภาษาไทยนั้นใช้ภาพแบบเดียวกับหน้าปกฉบับอเมริกัน ซึ่งเป็นผลงานของแมรี กรองด์เปร
ความสำเร็จ
[แก้]แรงกระทบทางวัฒนธรรม
[แก้]บรรดานักอ่านผู้ชื่นชอบนิยายชุดนี้ล้วนเฝ้ารอการวางจำหน่ายตอนล่าสุดที่ร้านหนังสือทั่วโลก เริ่มจัดงานให้ตรงกับวันวางจำหน่ายวันแรกตอนเที่ยงคืน เริ่มตั้งแต่การตีพิมพ์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนีใน ค.ศ. 2000 เป็นต้นมา กิจกรรมพิเศษระหว่างรอจำหน่ายมีมากมาย เช่น การแต่งกายเลียนแบบตัวละคร เล่นเกม ระบายสีหน้า และการแสดงอื่น ๆ ซึ่งได้รับความนิยมจากบรรดาแฟนพอตเตอร์และประสบความสำเร็จอย่างสูงในการดึงดูดแฟนและขายหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสมได้เกือบ 9 ล้านเล่ม จากจำนวนที่พิมพ์ไว้ครั้งแรก 10.8 ล้านเล่ม ภายใน 24 ชั่วโมงแรกของการวางแผง[64][65] หนังสือเล่มสุดท้ายของชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต เป็นหนังสือที่ขายได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยขายได้ 11 ล้านเล่มในยี่สิบสี่ชั่วโมงแรกของการวางจำหน่าย[66]
นวนิยายชุดนี้ยังสามารถครองใจกลุ่มนักอ่านผู้ใหญ่ได้ด้วย ทำให้มีการจัดพิมพ์หนังสือออกเป็น 2 ฉบับในแต่ละเล่ม ซึ่งในนั้นมีเนื้อหาเหมือนกันหมด เพียงแต่ฉบับหนึ่งทำปกสำหรับเด็ก อีกฉบับหนึ่งสำหรับผู้ใหญ่[67] นอกเหนือไปจากการพบปะกันออนไลน์ผ่านบล็อก พ็อตแคสต์และแฟนไซต์แล้ว แฟนผู้คลั่งไคล้แฮร์รี่ พอตเตอร์ยังสามารถพบปะกันที่สัมมนาแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้ด้วย คำว่า "มักเกิล" (Muggle) ได้แพร่ออกไปนอกเหนือจากการใช้ในแฮร์รี่ พอตเตอร์ และกลายเป็นหนึ่งในคำวัฒนธรรมสมัยนิยมไม่กี่คำได้บรรจุลงพจนานุกรมภาษาอังกฤษ ฉบับออกซฟอร์ด[68] แฟนแฮร์รี่ พอตเตอร์ฟังพ็อตแคสต์เป็นประจำ โดยมากทุกสัปดาห์ เพื่อเข้าใจการอภิปรายล่าสุดในหมู่แฟน ทั้งมักเกิลแคสต์และพอตเตอร์แคสต์[69] ได้แตะระดับอันดับสูงสุดของไอทูนส์และได้รับการจัดอันดับอยู่ในพ็อตแคสต์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด 50 อันดับแรก[70]
รางวัลและเกียรติยศ
[แก้]แฮร์รี่ พอตเตอร์ได้รับรางวัลมาแล้วมากมาย ตั้งแต่การพิมพ์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ครั้งแรก รวมทั้งรางวัลหนังสือวิตเทกเกอร์แพลตินัมสี่รางวัล (ทั้งหมดได้รับเมื่อ ค.ศ. 2001)[71] รางวัลหนังสือเนสเล่สมาร์ตตีส์สามรางวัล (ค.ศ. 1997-1999)[72], รางวัลหนังสือสภาศิลปะสกอตสองรางวัล (ค.ศ. 1999 และ 2001)[73], รางวัลหนังสือเด็กแห่งปีวิตเบรดเล่มแรก (ค.ศ. 1999)[74], และหนังสือแห่งปีดับเบิลยูเอชสมิท (ค.ศ. 2006)[75] และอื่น ๆ ใน ค.ศ. 2000 แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบันได้รับเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลฮิวโกนวนิยายยอดเยี่ยม และใน ค.ศ. 2001 แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนีได้รับรางวัลดังกล่าว[76] เกียรติยศที่ได้นั้นมีทั้งการมอบเหรียญรางวัลคาร์เนกี (ค.ศ. 1997)[77], รายชื่อสั้นสำหรับรางวัลเด็กการ์เดี้ยน (ค.ศ. 1998) และอยู่ในรายการหนังสือมีชื่อเสียง หนังสือที่คัดเลือกโดยบรรณาธิการ และรายการหนังสือดีที่สุดของสมาคมหอสมุดอเมริกา, เดอะนิวยอร์กไทมส์, หอสมุดสาธารณะชิคาโก และพับลิชเชอร์วีกลี[78]
ความสำเร็จทางการค้า
[แก้]ความสำเร็จของนวนิยายชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้สร้างความมั่งคั่งให้แก่ เจ. เค. โรว์ลิง ผู้ประพันธ์ ตลอดไปจนถึงสำนักพิมพ์และผู้ถือสิทธิ์ด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ทั้งหมด โรว์ลิงได้รับผลตอบแทนมากจนกระทั่งนับได้ว่าเป็นนักเขียนเพียงคนเดียวที่ติดอันดับ "มหาเศรษฐี" ของโลก[79] มีการจำหน่ายหนังสือไปแล้วกว่า 400 ล้านเล่มทั่วโลก และช่วยนำกระแสนิยมให้แก่ภาพยนตร์ชุดดัดแปลงโดย วอร์เนอร์บราเธอร์ส ด้วย ภาพยนตร์ดัดแปลงในแต่ละตอนต่างประสบความสำเร็จไปตามกัน สามารถติดอันดับเป็นภาพยนตร์ทำเงินตลอดกาลในทุกภาคที่เข้าฉาย[80][81] ชุดภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์นั้นได้รับการต่อยอดไปสู่รูปแบบวิดีโอเกมและสินค้าจดลิขสิทธิ์กว่า 400 รายการ ซึ่งมูลค่าโดยประมาณของแบรนด์แฮร์รี่ พอตเตอร์นั้นมีมูลค่าสูงกว่ากว่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ[10] ทำให้โรว์ลิงกลายเป็นมหาเศรษฐีระดับพันล้าน[82] ในรายงานเปรียบเทียบบางแห่งยังกล่าวว่าเธอร่ำรวยกว่าสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรเสียอีก[83][84] ทว่าโรว์ลิงชี้แจงว่าเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง[85]
ความต้องการอย่างสูงในหนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ ทำให้ นิวยอร์กไทมส์ ตัดสินใจเปิดอันดับหนังสือขายดีอีก 1 ประเภทสำหรับวรรณกรรมเด็กโดยเฉพาะเมื่อปี ค.ศ. 2000 ก่อนการวางจำหน่าย แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับถ้วยอัคนี ในวันที่ 24 มิถุนายน ค.ศ. 2000 และหนังสือของโรว์ลิงก็อยู่บนอันดับหนังสือขายดีนี้ติดต่อกันเป็นเวลายาวนานถึง 79 สัปดาห์ โดยที่ทั้งสามเล่มแรกเป็นหนังสือขายดีในประเภทหนังสือปกแข็งด้วย[86] การจัดส่งหนังสือชุด ถ้วยอัคนี ต้องใช้รถบรรทุกของเฟดเอกซ์กว่า 9,000 คันเพื่อการส่งหนังสือเล่มนี้เพียงอย่างเดียว[87] วันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 2007 ร้านหนังสือ บาร์นส์แอนด์โนเบิล ประกาศว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเครื่องรางยมทูต ได้ทำลายสถิติหนังสือจองผ่านเว็บไซต์โดยมียอดจองมากกว่า 500,000 เล่ม[88] เมื่อนับรวมทั้งเว็บของบาร์นส์แอนด์โนเบิล กับอเมซอนดอตคอม จะเป็นยอดจองล่วงหน้ารวมกันมากกว่า 700,000 เล่ม[87] แต่เดิมสถิติการพิมพ์หนังสือฉบับพิมพ์ครั้งแรกในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 3.8 ล้านเล่ม[87] แต่ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับภาคีนกฟีนิกซ์ ทำลายสถิตินี้ด้วยยอดพิมพ์ครั้งแรก 8.5 ล้านเล่ม และต่อมาก็ถูกทำลายสถิติลงอีกด้วย แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเจ้าชายเลือดผสม ที่ 10.8 ล้านเล่ม[89] ในจำนวนนี้ได้ขายออกไป 6.9 ล้านเล่มภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังจากวางจำหน่าย ส่วนในอังกฤษได้ขายออกไป 2 ล้านชุดภายในวันแรก[90] อย่างไรก็ตามหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ซึ่งเป็นหนังสือเล่มสุดท้าย ก็ได้ทำลายสถิติก่อนหน้าลง ด้วยยอดขายกว่า 11 ล้านเล่ม ในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงแรกของการจำหน่าย[4] โดยมียอดสั่งจองล่วงหน้าผ่านเว็บไซต์อเมซอนและร้านหนังสือบาร์นส์แอนด์โนเบิลกว่า 1 ล้านเล่ม[91]
คำชื่นชมและวิจารณ์
[แก้]การวิจารณ์ทางวรรณกรรม
[แก้]ในช่วงแรก ๆ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้รับคำวิจารณ์ค่อนข้างดี ทำให้นวนิยายชุดนี้ขยายฐานผู้อ่านออกไปอย่างมาก หนังสือเล่มแรกของชุดคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ ได้จุดประเด็นความสนใจแก่หนังสือพิมพ์ของสกอตแลนด์หลายเล่ม เช่น The Scotsman บอกว่าหนังสือเล่มนี้ "มีทุกอย่างของความคลาสสิก"[92] หรือ The Glasgow Herald ตั้งสมญาให้ว่าเป็น "สิ่งมหัศจรรย์"[92] ไม่นานหนังสือพิมพ์ของทางอังกฤษก็เข้าร่วมวงด้วย มีหนังสือพิมพ์มากกว่า 1 เล่มเปรียบเทียบงานเขียนชุดนี้กับงานของโรอัลด์ ดาห์ล หนังสือพิมพ์ The Mail on Sunday เรียกหนังสือเล่มนี้ว่าเป็น "งานเขียนที่เปี่ยมจินตนาการนับแต่ยุคของโรอัลด์ ดาห์ล"[92] ส่วน The Guardian เรียกหนังสือนี้ว่า "นวนิยายอันงดงามที่สร้างโดยนักประดิษฐ์อัจฉริยะ"[92]
ครั้นเมื่อหนังสือออกวางจำหน่ายถึงเล่มที่ห้า แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ นวนิยายก็ได้รับการวิจารณ์ที่หนักหน่วงขึ้นจากเหล่านักวิชาการด้านวรรณกรรม เฮโรลด์ บลูม ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยเยล นักวิชาการวรรณศิลป์และนักวิจารณ์ เป็นผู้ยกประเด็นการวิจารณ์วรรณกรรมเกี่ยวกับศีลธรรม เขากล่าวว่า "ในใจของโรว์ลิงมีแต่เรื่องอุปมาเกี่ยวกับความตายวนไปวนมา ไม่มีลีลาการเขียนแบบอื่นเลย"[93] เอ. เอส. ไบแอต นักเขียนประจำนิวยอร์กไทมส์ บอกว่าจักรวาลในเรื่องของโรว์ลิงสร้างขึ้นจากจินตนาการที่ผสมปนเปจากวรรณกรรมเด็กหลาย ๆ เรื่อง และเขียนขึ้นเพื่อคนที่มีจินตนาการหมกมุ่นกับการ์ตูนทีวี โลกในฟองสบู่ที่เว่อร์เกินจริง รายการรีแอลิตี และข่าวซุบซิบดารา[94]
นักวิจารณ์ชื่อ แอนโทนี โฮลเดน เขียนความรู้สึกของเขาจากการตัดสินรางวัลวิทเบรด ปี ค.ศ. 1999 ส่วนที่เกี่ยวกับ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน ไว้ใน The Observer โดยที่ค่อนข้างมีมุมมองไม่ค่อยดี เขากล่าวว่า "มหากาพย์พอตเตอร์เป็นงานอนุรักษนิยม ย้อนยุค โหยหาความเป็นอดีตและระบบอุปถัมภ์ในอดีตของอังกฤษที่ผ่านไปแล้ว" เขายังวิจารณ์อีกว่าเป็น "งานเขียนร้อยแก้วที่ผิดไวยากรณ์ ใช้สำนวนตลาด"[95]
แต่ในทางตรงกันข้าม เฟย์ เวลดอน นักเขียนผู้ยอมรับว่านวนิยายชุดนี้ "ไม่ใช่งานที่กวีจะชื่นชอบ" แต่ก็ยอมรับว่า "มันไม่ใช่กวีนิพนธ์ มันเป็นร้อยแก้วที่อ่านเข้าใจง่าย อ่านได้ทุกวัน และขายได้"[96] เอ. เอ็น. วิลสัน นักวิจารณ์วรรณกรรม ยกย่องนวนิยายชุดนี้ใน The Times โดยระบุว่า "มีนักเขียนไม่มากนักเหมือนอย่างเจ. เค. ผู้มีความสามารถดังหนึ่งดิกคินส์ ที่ทำให้เราต้องรีบพลิกอ่านหน้าต่อไป ทำให้เราร้องไห้อย่างไม่อาย พอไม่กี่หน้าถัดไปเราก็ต้องหัวเราะกับมุกตลกที่แทรกอยู่สม่ำเสมอ ... เรามีชีวิตอยู่ตลอดทศวรรษที่เฝ้าติดตามงานตีพิมพ์อันมีชีวิตชีวาที่สุด สนุกสนานที่สุด เป็นเรื่องเกี่ยวกับเด็กที่โดดเด่นที่สุดเท่าที่เคยมีมา"[97] ชาลส์ เทย์เลอร์ แห่ง salon.com นักวิจารณ์ภาพยนตร์ เห็นด้วยกับความคิดของไบแอต แต่เขาก็ยอมรับว่าผู้ประพันธ์อาจจะ "มีจุดยืนทางวัฒนธรรมที่แตกต่าง คือความเป็นวัยรุ่น มันเป็นแรงกระตุ้นของพวกเราที่จะเข้าใจความเหลวไหลของยุคสมัยใหม่ ซึ่งแตกต่างกับความซับซ้อนของศิลปะยุคเดิม"[98]
สตีเฟน คิง เรียกนวนิยายชุดนี้ว่า "ความกล้าหาญซึ่งผู้มีจินตนาการอันล้ำเลิศเท่านั้นจึงจะทำได้" และยกย่องการเล่นถ้อยคำสำนวนตลอดจนอารมณ์ขันของโรว์ลิงในนิยายชุดนี้ว่า "โดดเด่น" แม้เขาจะบอกว่านิยายชุดนี้จัดว่าเป็นนิยายที่ดี แต่ก็บอกด้วยว่า ในตอนต้นของหนังสือทั้งเจ็ดเล่มที่พบแฮร์รี่ที่บ้านลุงกับป้านั้นค่อนข้างน่าเบื่อ[34] คิงยังว่า "โรว์ลิงจะไม่ใช้คำขยายความที่เธอไม่ชอบ!" เขายังทำนายด้วยว่า นวนิยายชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ "จะยืนยงท้าทายการทดสอบของกาลเวลา และอยู่บนหิ้งที่เก็บหนังสือดีที่สุดเท่านั้น ผมคิดว่าแฮร์รี่ได้เทียบขั้นกับอลิซ, ฮัค, โฟรโด และโดโรธีแล้ว นิยายชุดนี้จะไม่โด่งดังเพียงทศวรรษนี้ แต่จะยืนยงตลอดกาล"[99]
การวิจารณ์ทางวัฒนธรรม
[แก้]นิตยสารไทมส์ประกาศให้โรว์ลิงเป็นหนึ่งในผู้มีสิทธิ์เป็น "บุคคลแห่งปี" ของไทมส์ในปี ค.ศ. 2007 ในฐานะที่มีผลงานโดดเด่นทางสังคมและวัฒนธรรมซึ่งสร้างแรงบันดาลใจอย่างมากต่อกลุ่มแฟนคลับของเธอ[100] ทว่าคำวิพากษ์วิจารณ์ทางด้านสังคมและวัฒนธรรมที่มีต่อนิยายชุดนี้ก็มีทั้งด้านดีและไม่ดีปะปนกัน นักวิจารณ์หนังสือจากวอชิงตันโพสต์ รอน ชาลส์ แสดงความเห็นของเขาในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2007 ว่าจำนวนผู้อ่านที่เป็นผู้ใหญ่จำนวนมากซึ่งอ่านหนังสืออื่นค่อนข้างน้อย อาจสะท้อนถึงตัวอย่างที่ไม่ดีของวัฒนธรรมวัยเด็ก รูปแบบการนำเสนอแบบตรงไปตรงมาในเรื่องที่แยกระหว่าง "ความดี-ความเลว" อย่างชัดเจนนั้นก็เป็นแนวทางแบบเด็ก ๆ เขายังบอกว่า ไม่ใช่ความผิดของโรว์ลิงเลย แต่วิธีทางการตลาดแบบ "ฮีสทีเรีย" (กรี๊ดกร๊าดคลั่งไคล้อย่างรุนแรง) ที่ปรากฏให้เห็นในการตีพิมพ์หนังสือเล่มหลัง ๆ "ทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่พากันหลงใหลเสียงกรีดร้องในโรงมหรสพ ประสบการณ์สื่อแบบมหาชนซึ่งนิยายอื่นอาจจะทำให้ไม่ได้"[101]
เจนนี่ ซอว์เยอร์ เขียนไว้ใน Christian Science Monitor เมื่อ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 2007 ว่า หนังสือชุดนี้เป็นตัวแทนถึง "จุดเปลี่ยนค่านิยมการเล่านิทานและสังคมตะวันตก" โดยที่ในนิยายชุดนี้ "หัวใจแห่งศีลธรรมกำลังเหือดหายไปจากวัฒนธรรมยุคใหม่... หลังจากผ่านไป 10 ปี, 4195 หน้า และ 375 ล้านเล่ม ท่ามกลางความสำเร็จอย่างสูงยิ่งของ เจ. เค. โรว์ลิง แต่เสาหลักของวรรณกรรมเด็กอันยิ่งใหญ่กลับขาดหายไป นั่นคือการเดินทางของวีรบุรุษเพื่อยืนหยัดความถูกต้อง" ซอว์เยอร์กล่าวว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์ ไม่เคยประสบความท้าทายทางศีลธรรม ไม่เคยตกอยู่ใต้ภาวะลำบากระหว่างความถูกผิด ดังนั้นจึง "ไม่เคยมีสถานการณ์ใดที่ความถูกผิดไม่เป็นสีขาวและสีดำ"[102]
คริส ซุลเลนทรอพ ให้ความเห็นคล้ายคลึงกันใน Slate Magazine เมื่อ 8 พฤศจิกายน ค.ศ. 2002 เขาเปรียบพอตเตอร์ว่าเป็น "เด็กผู้เป็นที่ไว้วางใจและชื่นชมที่โรงเรียน อันเป็นผลงานส่วนมากจากของขวัญที่เพื่อนและครอบครัวทุ่มเทให้" เขาสังเกตว่า ในนิยายของโรว์ลิงนั้น ศักยภาพและความสามารถทางเวทมนตร์เป็น "สิ่งที่คุณเกิดมาพร้อมกับมัน ไม่ใช่สิ่งที่คุณจะไขว่คว้ามาได้" ซุลเลนทรอพเขียนว่า คำคมของดัมเบิลดอร์ที่ว่า "เราต้องเลือกเองที่จะแสดงตัวตนที่แท้จริงที่ยิ่งใหญ่กว่าความสามารถของเรา" เป็นเรื่องโกหกทั้งเพ ในเมื่อโรงเรียนที่ดัมเบิลดอร์บริหารอยู่นั้นให้ความสำคัญกับพรสวรรค์ที่มีมาแต่กำเนิดมากกว่าอะไรทั้งนั้น[103] อย่างไรก็ดี ในหนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ฉบับวันที่ 12 สิงหาคม ค.ศ. 2007 คริสโตเฟอร์ ฮิทเชนส์ รีวิว แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต โดยยกย่องโรว์ลิงว่าได้ปรับเปลี่ยน "นิทานเกี่ยวกับโรงเรียนในอังกฤษ" ที่มีมาแต่ไหนแต่ไร ที่เคยมีแต่เรื่องเพ้อฝัน ความร่ำรวย ชนชั้น และความเป็นผู้ดี ให้กลายเป็น "โลกของประชาธิปไตยและความเปลี่ยนแปลงของวัยหนุ่มสาว"[104]
การโต้แย้งต่าง ๆ
[แก้]หนังสือชุดนี้ตกเป็นประเด็นโต้แย้งทางกฎหมายมากมายหลายคดี มีทั้งการฟ้องร้องจากกลุ่มคริสเตียนอเมริกันว่าการใช้เวทมนตร์คาถาในหนังสือเป็นการเชิดชูศิลปะของพวกพ่อมดแม่มดให้แพร่หลายในหมู่เด็ก ๆ รวมถึงข้อขัดแย้งอีกหลายคดีเกี่ยวกับการละเมิดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้า การที่นวนิยายชุดนี้เป็นที่นิยมอย่างมากและครอบครองมูลค่าตลาดสูงมาก ทำให้โรว์ลิง สำนักพิมพ์ต่าง ๆ ของเธอ รวมถึงวอร์เนอร์ บราเธอร์ ผู้จัดจำหน่ายภาพยนตร์ ต้องใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อปกป้องลิขสิทธิ์ของตน ทั้งนี้รวมถึงการห้ามจำหน่ายสินค้าลอกเลียนแบบแฮร์รี่ พอตเตอร์ เหล่าเจ้าของเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่ใช้ชื่อโดเมนคาบเกี่ยวกับคำว่า "แฮร์รี่ พอตเตอร์" พวกเขายังฟ้องนักเขียนอีกคนหนึ่งคือ แนนซี สโตฟเฟอร์ เพื่อตอบโต้การที่เธอออกมากล่าวอ้างว่า โรว์ลิงลอกเลียนแบบงานเขียนของเธอ[105][106][107] กลุ่มนักอนุรักษนิยมทางศาสนาจำนวนมากอ้างว่า หนังสือชุดนี้เชิดชูศาสตร์ของพ่อมดแม่มด ดังนั้นจึงไม่เหมาะสมสำหรับเด็ก[108] นอกจากนี้ยังมีนักวิจารณ์อีกจำนวนหนึ่งวิพากษ์วิจารณ์ว่าหนังสือชุดนี้มีแง่มุมทางการเมืองซ่อนอยู่หลายประการ[109][110]
การดัดแปลงไปยังสื่ออื่น
[แก้]ภาพยนตร์
[แก้]ดูบทความหลักที่: ภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์
ในปี 1998 โรว์ลิงได้ขายลิขสิทธิ์ของหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์สี่เล่มแรกให้แก่ทางวอร์เนอร์ บราเธอร์สเป็นเงินจำนวน 1 ล้านปอนด์ (1,982,900 ดอลลาร์สหรัฐ) ตามที่ได้มีการรายงานไว้[111][112] โดยเธอต้องการให้ผู้สร้างมีความซื่อตรงต่อบทประพันธ์ด้วยการคัดเลือกนักแสดงหลักของเรื่องให้เป็นคนอังกฤษ อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวก็ได้รับการยกเว้นให้แก่ ริชาร์ด แฮร์ริส นักแสดงชาวไอริช ที่รับบทเป็นศาสตราจารย์ดัมเบิลดอร์ในสองภาคแรก ส่วนการคัดเลือกนักแสดงชาวฝรั่งเศสและชาวยุโรปตะวันออกในภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนีนั้นก็ยังคงซื่อตรงกับหนังสือต้นฉบับอยู่เช่นกัน[113] หลังจากที่ผู้สร้างได้พิจารณาผู้กำกับมากมาย ไม่ว่าจะเป็น สตีเวน สปีลเบิร์ก, เทรี กิลเลียม, โจนาธาน เดมมี และอลัน ปาร์คเกอร์ พวกเขาก็ได้เลือกให้ คริส โคลัมบัส รับหน้าที่เป็นผู้กำกับภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ในวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 2000 เนื่องจากทางวอเนอร์ บราเธอร์สได้มองเห็นว่าโคลัมบัสเคยมีผลงานสร้างภาพยนตร์แนวครอบครัวและเคยมีประสบการณ์กำกับภาพยนตร์กับเด็กมาแล้วใน โดดเดี่ยวผู้น่ารัก และ คุณนายเด๊าท์ไฟร์ พี่เลี้ยงหัวใจหนุงหนิง[114]
หลังจากที่ได้มีการคัดเลือกนักแสดงอย่างเข้มข้น การถ่ายทำภาพยนตร์ก็ได้เริ่มต้นขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2000 ที่สตูดิโอภาพยนตร์ลีฟส์เดน ในกรุงลอนดอน[115] ก่อนที่งานสร้างทั้งหมดจะสิ้นสุดลงในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2001 ภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ได้ออกฉายในวันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ. 2001 ซึ่งภาพยนตร์ภาคต่ออย่างแฮร์รี่ พอตเตอร์กับห้องแห่งความลับก็ได้ถูกเปิดกล้องขึ้นหลังจากนั้นเพียง 3 วัน โดยมีผู้กำกับเป็นโคลัมบัสตามเดิม โดยการถ่ายทำได้เสร็จสิ้นลงในช่วงฤดูร้อนของปี 2002 และออกฉายในวันที่ 15 พฤศจิกายน ในปีเดียวกัน[116] ซึ่ง แดเนียล แรดคลิฟฟ์, รูเพิร์ท กรินท์ และเอ็มมา วัตสัน ก็ได้รับบทเป็นตัวละครหลักอย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์, รอน วิสลีย์ และเฮอร์ไมโอนี่ เกรนเจอร์ ในภาพยนตร์ทุกภาคตามลำดับ
โคลัมบัสปฏิเสธที่จะกลับมากำกับภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบัน โดยได้เลือกร่วมงานในฐานะผู้อำนวยการสร้างเพียงเท่านั้น ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงได้ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวเม็กซิกันอย่าง อัลฟอนโซ กัวรอน มารับหน้าที่แทน หลังจากที่ได้มีการถ่ายทำไปในปี 2003 ภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบันก็ออกฉายในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 2004 โดยงานสร้างของภาพยนตร์ภาคที่สี่ได้ดำเนินไปก่อนที่ภาพยนตร์ภาคที่สามจะออกฉาย ซึ่งทางผู้สร้างก็ได้เลือกให้ ไมค์ นิวเวลล์ มารับหน้าที่กำกับภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี ก่อนที่ภาพยนตร์จะออกฉายในวันที่ 18 พฤศจิกายน ค.ศ. 2005[117] ซึ่งนิวเวลล์ก็ถือเป็นผู้กำกับชาวอังกฤษคนแรกที่ได้กำกับภาพยนตร์ชุดนี้ จากนั้นผู้กำกับภาพยนตร์โทรทัศน์อย่าง เดวิด เยตส์ ก็ได้รับโอกาสให้มากำกับภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ โดยงานสร้างภาพยนตร์ได้เริ่มต้นขึ้นในเดือนมกราคม ค.ศ. 2006 ก่อนที่ภาพยนตร์จะออกฉายในเดือนกรกฎาคมของปี 2007[118] ทางฝ่ายบริการต่าง “รู้สึกชื่นชอบ” ในผลงานการกำกับของเยตส์เป็นอย่างมาก เขาจึงได้รับโอกาสให้กำกับภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสมต่อ ซึ่งภาพยนตร์เรื่องที่หกนี้ก็ได้ออกฉายในวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 2009[119][120][121][122]
ในเดือนมีนาคม ปี 2008 อลัน ฮอร์น ประธานและประธานฝ่ายปฏิบัติการของทางวอร์เนอร์ บราเธอร์สได้ออกมาระบุว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ภาพยนตร์ภาคสุดท้ายนั้นจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ภาค โดยภาคที่ 1 นั้นจะออกฉายในวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 2010 และภาค 2 จะออกฉายในวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 2011 โดยงานสร้างของภาพยนตร์ทั้งสองภาคนั้นได้เริ่มต้นขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2009 ก่อนที่จะปิดกล้องลงในวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 2010[123][124]
นอกจากนี้ โรว์ลิงก็ยังได้มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ชุดนี้อีกด้วย โดยเธอได้รับหน้าที่สังเกตงานสร้างของภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ และรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างในภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูตทั้งสองภาคร่วมกับเดวิด เฮย์แมนและเดวิด แบร์รอน[125] ภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ประสบความสำเร็จในด้านรายได้ทั้งสิ้น ซึ่งภาพยนตร์ทั้งแปดภาคก็ล้วนแต่ติดอันดับภาพยนตร์ที่ทำเงินสูงสุด โดยแฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต ภาค 2 จัดเป็นภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จในด้านรายได้มากที่สุด ในขณะที่แฮร์รี่ พอตเตอร์กับนักโทษแห่งอัซคาบันถือเป็นภาพยนตร์ที่ทำรายได้น้อยที่สุดในชุด[126] นอกจากจะประสบความสำเร็จด้านรายได้แล้ว ภาพยนตร์ชุดนี้ยังประสบความสำเร็จในแง่คำวิจารณ์อีกด้วย[127][128]
ความคิดเห็นของเหล่าแฟนคลับที่มีต่อภาพยนตร์ชุดนี้มีความแตกต่างกันออกไป โดยกลุ่มหนึ่งรู้สึกชื่นชอบความซื่อตรงต่อบทประพันธ์ของภาพยนตร์สองภาคแรก ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งกลับชอบรูปแบบการเล่าเรื่องผ่านตัวละครอันน่าจดจำของภาพยนตร์ภาคท้าย ๆ มากกว่า[129] ซึ่งโรว์ลิงนั้นก็ได้ให้ความเห็นเชิงสนับสนุนภาพยนตร์ทุกภาคเสมอมา และได้ยกให้ภาพยนตร์ภาคเครื่องรางยมทูตเป็น “ภาพยนตร์เรื่องโปรด” ของเธอในภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ทั้งหมด[130][131][132][133] เธอได้แสดงความคิดเห็นเรื่องการปรับเปลี่ยนเนื้อหาจากหนังสือเป็นภาพยนตร์เอาไว้ในเว็บไซต์ของเธอว่า “มันคงเป็นไปไม่ได้ที่จะเก็บเนื้อหาทุกส่วนที่ฉันได้เล่าไปไว้ในภาพยนตร์ที่ต้องมีความยาวน้อยกว่า 4 ชั่วโมง เห็นได้ชัดว่าภาพยนตร์มีข้อจำกัดที่นวนิยายไม่มี ทั้งเรื่องเวลาและงบประมาณที่จำกัด ดังนั้น ฉันก็คงทำอะไรไม่ได้ไปมากไปกว่าการอาศัยให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างจินตนาการของฉันกับผู้อ่านได้ทำหน้าเชื่อมต่อเข้าหากันด้วยตัวของมันเอง”[134]
ในงานประกาศรางวัลบาฟต้า ครั้งที่ 64 ที่จัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2011 โรว์ลิง กับผู้อำนวยการสร้าง เดวิด เฮย์แมนและเดวิด แบร์รอน พร้อมด้วยผู้กำกับภาพยนตร์เดวิด เยตส์, อัลฟอนโซ กัวรอน และไมค์ นิวเวลล์ ได้ขึ้นรับรางวัลเชิดชูเกียรติภาพยนตร์อังกฤษอันโดดเด่นแห่งยุค (Michael Balcon Award for Outstanding British Contribution to Cinema) ที่มอบแด่ภาพยนตร์ทุกเรื่องของชุด โดยรูเพิร์ท กรินท์ และเอ็มม่า วัตสัน ก็ได้เดินทางมาร่วมงานเช่นกัน[135][136]
ภาพยนตร์ภาคแยก
[แก้]ภาพยนตร์ภาคแยกประกอบด้วยภาพยนตร์ทั้งหมด 5 ภาคซึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนเนื้อหาในภาพยนตร์ชุดหลัก[137] ภาพยนตร์ภาคแรก สัตว์มหัศจรรย์และถิ่นที่อยู่ เข้าฉายในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2016 ก่อนที่ภาพยนตร์ภาคต่ออย่าง สัตว์มหัศจรรย์: อาชญากรรมของกรินเดลวัลด์ เข้าฉายในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2018 ส่วนภาพยนตร์สามภาคหลังนั้นจะเข้าฉายในปี 2021, 2022 และ 2024 ตามลำดับ[138] โดยโรว์ลิงก็ยังได้มีส่วนร่วมในการเขียนบทภาพยนตร์ทั้งสามภาคแรก[139] ซึ่งถือเป็นงานเขียนบทภาพยนตร์ครั้งแรกของเธออีกด้วย
วิดีโอเกม
[แก้]แฮร์รี่ พอตเตอร์ได้ถูกนำไปดัดแปลงและจำหน่ายในรูปแบบวิดีโอเกมไปกว่า 13 ภาค โดย 8 ภาคนั้นได้ดำเนินเนื้อหาตามภาพยนตร์และหนังสือ ส่วนอีก 5 ภาคนั้นเป็นวิดีโอเกมภาคแยก ในส่วนของวิดีโอเกมที่อิงเนื้อหาจากภาพยนตร์และหนังสือนั้นได้รับการผลิตและพัฒนาโดยบริษัทเกมอิเลคโทรนิค อาร์ต หรือ อีเอ ซึ่งภายหลังยังได้พัฒนาเกมภาคเสริมอย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์: ควิดดิช เวิลด์ คัพ ขึ้นมาอีกด้วย ทางอีเอได้เริ่มวางจำหน่ายเกมแฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ อันเป็นเกมภาคแรกของชุดในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2001 ก่อนที่เกมภาคนี้จะได้กลายมาเป็นหนึ่งในเกมเพลย์สเตชันที่ขายดีที่สุดตลอดกาล[140] วิดีโอเกมภาคนี้ได้รับการวางจำหน่ายในช่วงเดียวกันกับที่ภาพยนตร์ภาคแรกเข้าฉาย มีการใช้ฉากและรายละเอียดต่าง ๆ รวมไปถึงได้มีการใส่บรรยากาศและอารมณ์ที่ถูกบรรยายไว้ในหนังสือเข้ามาอีกด้วย ภารกิจที่ผู้เล่นจะต้องทำนั้นจะเกิดขึ้นในหรือรอบ ๆ บริเวณฮอกวอตส์ และสถานที่อื่น ๆ ของโลกเวทมนตร์ เรื่องราวและการออกแบบต่าง ๆ ภายในเกมนั้นยังได้หยิบยกมาจากเนื้อหาและงานสร้างของภาพยนตร์ โดยทางอีเอเองก็ได้ทำงานร่วมกับทางวอร์เนอร์ บราเธอร์สอย่างใกล้ชิดเพื่อที่จะสามารถนำฉากต่าง ๆ ในภาพยนตร์มาใช้ในรูปแบบวิดีโอเกมได้ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต วิดีโอเกมภาคสุดท้ายของชุดได้ถูกแบ่งออกเป็นสองภาคเช่นเดียวกับภาพยนตร์ และเกมทั้งสองภาคได้รับการวางจำหน่ายในเดือนเดียวกับที่ภาพยนตร์ออกฉาย ซึ่งเกมสองภาคสุดท้ายนี้ได้นำเสนอภาพการต่อสู้และความรุนแรงเอาไว้อยู่มาก โดยผู้เล่นจะต้องสลับบทบาทการเล่นในรูปแบบมุมมองบุคคลที่ 3 และต้องใช้ไม้กายสิทธิ์ในการเสกคาถาโจมตีฝั่งตรงข้าม[141]
ในส่วนของวิดีโอเกมภาคแยกนั้น บริษัททราเวลเลอร์ส เทลส์ ได้พัฒนาเกม เลโก แฮร์รี่ พอตเตอร์: เยียร์ 1-4 และ เลโก แฮร์รี่ พอตเตอร์: เยียร์ 5-7 ขึ้น ซึ่งเนื้อหาของเกมทั้งสองภาคนั้นไม่ได้ดำเนินเรื่องตามเส้นเรื่องหลักของหนังสือและภาพยนตร์ เช่นเดียวกับทาง เอสซีอี ลอนดอน เอนเตอร์เทนเมนท์ ที่ได้พัฒนาเกมภาคแยก บุ๊คออฟสเปลส์ และ บุ๊คออฟโพชั่นส์ ขึ้นเพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของ วันเดอร์บุ๊ค อุปกรณ์เชื่อมต่อระบบความเป็นจริงเสริม (AR) ที่จำเป็นต้องใช้ร่วมกันกับเครื่องเล่นเกมเพลย์สเตชันมูฟและเพลย์สเตชันอายส์[142] นอกจากนี้ สถานที่และตัวละครจักรวาลของแฮร์รี่ พอตเตอร์ยังได้ถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของเกม เลโก ไดเมนชัน ในชื่อ แฮร์รี่ พอตเตอร์ แอดเวนเจอร์ เวิลด์ ซึ่งผู้เล่นจะสามารถควบคุมตัวละครแฮร์รี่, โวลเดอมอร์ และเฮอร์ไมโอนี่ได้อีกด้วย ในปี 2017 ทางวอร์เนอร์ บราเธอร์ส อินเตอร์แอ็กทีฟ เอนเตอร์เทนเมนท์ ได้เปิดตัวสตูดิโอออกแบบเกมแฮร์รี่ พอตเตอร์ในชื่อ พอร์ทคีย์ เกม ขึ้น ก่อนที่จะปล่อยเกมแฮร์รี่ พอตเตอร์: ฮอกวอตส์มิสทะรี และแฮร์รี่ พอตเตอร์: วิซาร์ด ยูไนท์ ออกมาให้ผู้ใช้ไอโอเอสและแอนดรอยด์ได้ดาวน์โหลดในปี 2018 และ 2019 ตามลำดับ[143] ต่อมาในช่วงต้นปี 2023 เกมฮอกวอตส์ เลกาซี ได้ถูกวางจำหน่าย ถือเป็นวิดีโอเกมแรกในจักรวาลแฮร์รี่ พอตเตอร์ที่สามารถเล่นบนเพลย์สเตชัน 5 ได้
ละครเวที
[แก้]แฮร์รี่ พอตเตอร์ได้รับการวางแผนให้ได้รับการดัดแปลงในรูปแบบละครเวทีซึ่งจะนำเนื้อหาจากหนังสือนิยายต้นฉบับมาดัดแปลง โดยจะใช้การร้องเพลงเป็นตัวดำเนินเรื่องและในวันที่ 20 ธันวาคม ค.ศ. 2013 เจ.เค.โรว์ลิ่งได้ประกาศว่าเธอกำลังทำงานในฐานะผู้อำนวยการสร้างของแฮร์รี่ พอตเตอร์ในรูปแบบละครเวที โดยเธอระบุว่าเนื้อหาของละครเวทีเรื่องนี้จะเป็นเรื่องราวซึ่งยังไม่เคยถูกเล่า เกิดในช่วงก่อนที่แฮร์รี่จะกำพร้าพ่อแม่และถูกพวกเดอร์สลีย์รับมาเลี้ยง [144][145]
โรว์ลิ่งได้เปิดเผยข้อมูลผ่านทวิตเตอร์ในวันที่ 26 มิถุนายน ค.ศ. 2015 ซึ่งตรงกับวันครบรอบการวางแผงหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์เล่มแรกว่าละครเวทีแฮร์รี่ พอตเตอร์นั้นจะใช้ชื่อการแสดงว่า "แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเด็กต้องคำสาป"[146] โดยคาดการณ์ว่าจะเริ่มเปิดการแสดงในช่วงฤดูร้อนของปี ค.ศ. 2016 ที่โรงละครพาเลซเธียเตอร์[147] ซึ่งบัตรเข้าชมในช่วงสี่เดือนแรกหรือช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกันยายนถูกขายหมดในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังเปิดจำหน่าย[148] ภายหลังในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2016 ได้มีการเปิดเผยผ่านเว็บไซต์พอตเตอร์มอร์ว่าบทละครจะถูกตีพิมพ์จำหน่ายในรูปแบบหนังสือหนึ่งวันหลังรอบปฐมทัศน์โลกของละครเวที และเหตุการณ์ในเรื่องจะเกิดขึ้นสิบเก้าปีให้หลังจากบทจบของแฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต โดยบางกลุ่มได้จัดบทละครที่จะถูกตีพิมพ์นี้เป็นหนังสือเล่มที่แปด แม้จะไม่ได้ถูกเขียนโดยเจ. เค. โรว์ลิ่งที่ก็ตาม[149]
ละครชุด
[แก้]ในช่วงปี ค.ศ. 2021 ได้มีรายงานข่าวออกมาว่าจะมีการดัดแปลงแฮร์รี่ พอตเตอร์ในรูปแบบละครชุดเพื่อออกฉายทาง เอชบีโอแม็กซ์ แต่รายงานดังกล่าวยังเป็นเพียงแค่ข่าวลือเนื่องจากไม่มีการยืนยันจากทั้งทางวอร์เนอร์ส บราเธอร์ส, เอชบีโอ, หรือตัวโรว์ลิ่งเองแต่อย่างใด[150]
ต่อมาในวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 2023 ได้มีการยืนยันว่าแฮร์รี่ พอตเตอร์จะถูกดัดแปลงเป็นละครชุดจริง และจะออกอากาศผ่านทาง แม็กซ์ ซึ่งเป็นการปรับปรุงแบรนด์ใหม่จากเอชบีโอแม็กซ์เดิม โดยในการสร้างละครชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์นี้จะเป็นการร่วมงานกันระหว่างวอร์เนอร์ส บราเธอร์สและเอชบีโอ และได้โรว์ลิ่งมารับหน้าที่ผู้อำนวยการสร้าง โดยมีแผนสร้างทั้งหมด 7 ฤดูกาลตามจำนวนหนังสือทั้งหมด 7 เล่ม (1 เล่มต่อ 1 ฤดูกาล)[151][152]
ในวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 2024 ได้มีรายงานว่าละครชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้เปลี่ยนรูปแบบการออกฉายจากเดิมที่จะออกฉายผ่านทางเอชบีโอแมกซ์เท่านั้นมาเป็นออกฉายทางสถานีโทรทัศน์เอชบีโอ[153] และในวันต่อมา (26 มิถุนายน) เอชบีโอได้ประกาศว่า ฟรานเชสกา การ์ดิเนอร์ จะมารับหน้าที่ผู้สร้างสรรค์ซีรีส์ ในขณะที่ มาร์ค ไมลอด จะทำหน้าที่ผู้กำกับซีรีส์ในหลาย ๆ ตอน ทั้งนี้ เอชบีโอวางแผนไว้ว่าจะออกอากาศฤดูกาลแรก (ศิลาอาถรรพ์) ในช่วงปี ค.ศ. 2026[154]
อิทธิพลและผลสืบเนื่อง
[แก้]วงดนตรี
[แก้]แฮร์รี่ พอตเตอร์มีอิทธิพลต่อสื่อทางด้านวงดนตรีร็อกของกลุ่มวัยรุ่นชายเป็นอย่างมาก ในปี ค.ศ. 2002 ได้มีผลสำรวจว่ามีวงดนตรีร็อกของกลุ่มวัยรุ่นที่ได้รับแรงบันดาลใจหรืออิทธิพลจากแฮร์รี่ พอตเตอร์มากมายหลายร้อยวงด้วยกัน [155] วงที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดคือวง "แฮร์รีแอนด์เดอะพอตเตอร์ส" ซึ่งเป็นวงดนตรีอินดี้ร็อกที่นำเสนอเพลงแบบเรียบง่าย พวกเขาได้นำเนื้อหาบางส่วนในหนังสือมาแต่งเป็นบทเพลงของตน
สวนสนุก
[แก้]หลังจาก แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต วางแผงได้ไม่นานนัก ทางประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการวางแผนและทำแบบแปลนการสร้างสวนสนุกที่ยูนิเวอร์แซลออร์แลนโดรีสอร์ต เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา โดยจำลองสถานที่ต่าง ๆ ในวรรณกรรมแฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่เกี่ยวกับสถานที่ในโลกเวทมนตร์เช่น ฮอกวอตส์และหมู่บ้านฮอกส์มี้ด เป็นต้น สวนสนุกแห่งนี้วางแผนการสร้างโดย จิม ฮิล มีแบบจำลองปราสาทฮอกวอตส์ รวมไปถึงหมู่บ้านฮอกส์มีดส์อีกด้วย ผู้สร้างสวนสนุกยังได้เชิญ เจ. เค. โรว์ลิง ให้มาร่วมทำการเนรมิตสวนสนุกแห่งนี้ เพื่อทำให้เหมือนกับสถานที่ในหนังสือของเธอให้มากที่สุด ซึ่งโรว์ลิงก็ตอบตกลง สวนสนุกตั้งอยู่ในไอส์แลนด์ส ออฟ แอดเวนเจอร์ซึ่งเป็นเกาะรวมเครื่องเล่นแนวผจญภัยของยูนิเวอร์แซลออร์แลนโดรีสอร์ท โดยได้ใช้ชื่อว่าอย่างเป็นทางการว่าโลกมหัศจรรย์ของแฮร์รี่ พอตเตอร์และเปิดให้เข้าชมในวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 2010[156] โดยมีทั้งนักแสดงจากภาพยนตร์ชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ อาทิ แดเนียล แรดคลิฟฟ์ (แฮร์รี่ พอตเตอร์), ไมเคิล แกมบอน (ศาสตราจารย์ดัมเบิลดอร์), รูเพิร์ท กรินท์ (รอน วีสลีย์) แมทธิว ลิวอิส (เนวิลล์ ลองบัตท่อม) และทอม เฟลตัน (เดรโก มัลฟอย) รวมถึง เจ.เค. โรว์ลิ่ง และผู้ประพันธ์เพลงให้กับภาพยนตร์ 3 ภาคแรกอย่าง จอห์น วิลเลียมส์ มาร่วมงานครั้งนี้ด้วย
และด้วยความสำเร็จของสวนสนุกที่สามารถเพิ่มยอดผู้เข้าชมได้มากกว่าร้อยละ 36 ทางผู้สร้างจึงได้ริเริ่มโครงการที่สอง เป็นการสร้างส่วนขยายของสวนสนุกโดยการได้ทำการสร้างขึ้นในสวนสนุกยูนิเวอร์แซล ฟลอริดา ในส่วนของโครงการที่สองได้มีการสร้างสถานที่ในโลกเวทมนตร์อย่างตรอกไดแอกอน ประกอบด้วยร้านค้าต่างๆ รวมถึงธนาคารกริงก็อตส์[157] ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของเครื่องเล่นว่าแฮร์รี่ พอตเตอร์กับการหลบหนีจากกริงก็อตส์ และยังรวมไปถึงสถานนีรถไฟของรถด่วนขบวนพิเศษฮอกวอตส์ซึ่งสร้างเชื่อมกับไอส์แลนด์ส ออฟ แอดเวนเจอร์ เพื่อให้ผู้เข้าชมสามารถเดินทางไปได้อย่างสะดวก[158][159] โดยในส่วนของสถานีรถไฟได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 กรกฎาคม ค.ศ. 2013 และตามด้วยการเปิดตัวของตรอกไดแอกอนในวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 2013[160]
สวนสนุกโลกมหัศจรรย์ของแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้มีการขยายสาขาไปเปิดยังต่างประเทศ ที่เมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม ค.ศ. 2013[161] ก่อนที่จะมีการขยายสาขาเพิ่มเติมในปี 2016 ที่สวนสนุกที่ยูนิเวอร์แซล ฮอลลีวูด ใกล้กับเมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนีย[162]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Grady, Constance (2017-06-26). "How Harry Potter changed the world". Vox (ภาษาอังกฤษ).
- ↑ Allsobrook, Dr. Marian (18 June 2003). "Potter's place in the literary canon". BBC. สืบค้นเมื่อ 15 October 2007.
- ↑ 3.0 3.1 The Pottermore News Team (1 กุมภาพันธ์ 2018). "500 million Harry Potter books have now been sold worldwide". พอตเตอร์มอร์. สืบค้นเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2020
- ↑ 4.0 4.1 Harry Potter finale sales hit 11 m. BBC News. 23 July 2007. Retrieved 27 July 2007.
- ↑ Fry, Stephen (10 December 2005). "Living with Harry Potter". BBC Radio 4. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-06-02. สืบค้นเมื่อ 10 December 2005.
- ↑ Jenson, Jeff (2000). "Harry Up!". ew.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-30. สืบค้นเมื่อ 20 September 2007.
- ↑ NancypCarpentier Brown (2007). "The Last Chapter" (PDF). Our Sunday Visitor. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2007-10-13. สืบค้นเมื่อ 28 April 2009.
- ↑ J. K. Rowling. "J. K. Rowling at the Edinburgh Book Festival". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-08-20. สืบค้นเมื่อ 10 October 2006.
- ↑ 9.0 9.1 Geordie Greig (11 January 2006). "'There would be so much to tell her...'". Daily Telegraph. London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-11. สืบค้นเมื่อ 4 April 2007.
- ↑ 10.0 10.1 Meyer, Katie (6 April 2016). "Harry Potter's $25 Billion Magic Spell". Time. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 April 2016. สืบค้นเมื่อ 4 November 2016.
- ↑ Ed, Pottermore. "Pottermore Insider: You ask, we answer". Pottermore. สืบค้นเมื่อ 22 July 2011.
- ↑ "Pottermore - WW Publishing Cursed Child Script Book Announcement". Pottermore. 10 February 2016. สืบค้นเมื่อ 10 February 2016.
- ↑ The Years in Which the Stories Take Place The Harry Potter Lexicon เรียกข้อมูลวันที่ 24-05-2550 (อังกฤษ)
- ↑ Lemmerman, Kristin (14 July 2000). "Review: Gladly drinking from Rowling's 'Goblet of Fire'". CNN. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
- ↑ 15.0 15.1 "A Muggle's guide to Harry Potter". BBC. 28 May 2004. สืบค้นเมื่อ 22 August 2008.
- ↑ Hajela, Deepti (14 July 2005). "Plot summaries for the first five Potter books". SouthFlorida.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 May 2010. สืบค้นเมื่อ 29 September 2008.
- ↑ Foster, Julie (October 2001). "Potter books: Wicked witchcraft?". Koinonia House. สืบค้นเมื่อ 15 May 2010.
- ↑ Farndale, Nigel (15 July 2007). "Harry Potter and the parallel universe". Daily Telegraph. London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-10-29. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
- ↑ 19.0 19.1 19.2 19.3 19.4 Memmott, Carol (19 July 2007). "The Harry Potter stories so far: A quick CliffsNotes review". USA Today. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
- ↑ "J K Rowling at the Edinburgh Book Festival". J.K. Rowling.com. 15 August 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-08-20. สืบค้นเมื่อ 27 September 2008.
- ↑ Maguire, Gregory (5 September 1999). "Harry Potter and the Prisoner of Azkaban". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
- ↑ King, Stephen (23 July 2000). "Harry Potter and the Goblet of Fire". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
- ↑ 23.0 23.1 23.2 Leonard, John (13 July 2003). "'Harry Potter and the Order of the Phoenix'". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
- ↑ A Whited, Lana (2004). The Ivory Tower and Harry Potter: Perspectives on a Literary Phenomenon. University of Missouri Press. p. 371. ISBN 9780826215499.
- ↑ Kakutani, Michiko (16 July 2005). "Harry Potter Works His Magic Again in a Far Darker Tale". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
- ↑ Atkinson, Simon (19 July 2007). "How Rowling conjured up millions". BBC. สืบค้นเมื่อ 7 September 2008.
- ↑ "Comic Relief : Quidditch through the ages". Albris. สืบค้นเมื่อ 7 September 2008.
- ↑ "The Money". Comic Relief. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-10-29. สืบค้นเมื่อ 25 October 2007.
- ↑ "JK Rowling book fetches £2 m". BBC. 13 December 2007. สืบค้นเมื่อ 13 December 2007.
- ↑ "Amazon purchase book". Amazon.com Inc. สืบค้นเมื่อ 14 December 2007.
- ↑ Williams, Rachel (29 May 2008). "Rowling pens Potter prequel for charities". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 30 March 2010. Retrieved on 31 May 2008.
- ↑ "J.K. Rowling Has Mysterious New Potter Website". NPR.org. June 16, 2011. สืบค้นเมื่อ June 16, 2011.[ลิงก์เสีย]
- ↑ 33.0 33.1 "Harry Potter makes boarding fashionable". BBC. 13 December 1999. สืบค้นเมื่อ 1 September 2008.
- ↑ 34.0 34.1 King, Stephen (23 July 2000). "Wild About Harry". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 9 August 2010.
- ↑ 35.0 35.1 Grossman, Lev (28 June 2007). "Harry Potter's Last Adventure". Time Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-27. สืบค้นเมื่อ 1 September 2008.
- ↑ "Two characters to die in last 'Harry Potter' book: J.K. Rowling". CBC. 26 June 2006. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-06-30. สืบค้นเมื่อ 1 September 2008.
- ↑ "Press views: The Deathly Hallows". Bloomsbury Publishing. 21 July 2007. สืบค้นเมื่อ 22 August 2008.
- ↑ Understanding Harry Potter: Parallels to the Deaf World
- ↑ "JK Rowling outs Dumbledore as gay". BBC News. BBC. 21 October 2007. สืบค้นเมื่อ 21 October 2007.
- ↑ "About the Books: transcript of J.K. Rowling's live interview on Scholastic.com". Quick-Quote-Quill. 16 February 1999. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2004-01-10. สืบค้นเมื่อ 28 July 2008.
- ↑ Max, Wyman (26 October 2000). ""You can lead a fool to a book but you cannot make them think": Author has frank words for the religious right". The Vancouver Sun (British Columbia). สืบค้นเมื่อ 28 July 2008.
- ↑ "Final Harry Potter book set for release". Euskal Telebista. 15 July 2007. สืบค้นเมื่อ 21 August 2008.
- ↑ Lawless, John (2005). "Nigel Newton". The McGraw-Hill Companies Inc. สืบค้นเมื่อ 9 September 2006.
- ↑ 45.0 45.1 A Whited, Lana (2004). The Ivory Tower and Harry Potter: Perspectives on a Literary Phenomenon. University of Missouri Press. p. 351. ISBN 9780826215499.
- ↑ Huler, Scott. "The magic years". The News & Observer Publishing Company. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-12-18. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
- ↑ Savill, Richard (21 June 2001). "Harry Potter and the mystery of J K's lost initial". London: Telegraph.com. สืบค้นเมื่อ 27 September 2008.
- ↑ "The Potter phenomenon". BBC. 18 February 2003. สืบค้นเมื่อ 27 September 2008.
- ↑ Rozhon, Tracie (21 April 2007). "A Brief Walk Through Time at Scholastic". The New York Times. p. C3. สืบค้นเมื่อ 21 April 2007.
- ↑ "A Potter timeline for muggles". Toronto Star. 14 July 2007. สืบค้นเมื่อ 27 September 2008.
- ↑ "Speed-reading after lights out". London: Guardian News and Media Limited. 19 July 2000. สืบค้นเมื่อ 27 September 2008.
- ↑ Harmon, Amy (14 July 2003). "Harry Potter and the Internet Pirates". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 21 August 2008.
- ↑ Cassy, John (16 January 2003). "Harry Potter and the hottest day of summer". London: Guardian News and Media Limited. สืบค้นเมื่อ 27 September 2008.
- ↑ "July date for Harry Potter book". BBC. 21 December 2004. สืบค้นเมื่อ 27 September 2008.
- ↑ "Harry Potter finale sales hit 11 m". BBC News. 23 July 2007. สืบค้นเมื่อ 21 August 2008.
- ↑ "Rowling unveils last Potter date". BBC. 1 February 2007. สืบค้นเมื่อ 27 September 2008.
- ↑ "Harry Potter finale sales hit 11 m". BBC. 23 July 2007. สืบค้นเมื่อ 20 August 2008.
- ↑ Reynolds, Nigel. Harry Potter and the Latin master's tome take on Virgil, Telegraph.co.uk 02-12-2001 เรียกข้อมูลวันที่ 11-05-2550 (อังกฤษ)
- ↑ Castle, Tim. Harry Potter? It's All Greek to Me เรียกข้อมูลวันที่ 11-05-2550 (อังกฤษ)
- ↑ Cheung, Grace. The magic words เก็บถาวร 2006-07-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน, ThaiDay 01-12-2548 เรียกข้อมูลวันที่ 11-05-2550 (อังกฤษ)
- ↑ Güler, Emrah (2005). "Not lost in translation: Harry Potter in Turkish". The Turkish Daily News. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-30. สืบค้นเมื่อ 9 May 2007.
- ↑ Staff Writer (1 July 2003). "OOTP is best seller in France — in English!". BBC. สืบค้นเมื่อ 28 July 2008.
- ↑ "Differences in the UK and US Versions of Four Harry Potter Books". FAST US-1. 21 January 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2015-03-19. สืบค้นเมื่อ 17 August 2008.
- ↑ Freeman, Simon (2005-07-18). "Harry Potter casts spell at checkouts". Times Online. สืบค้นเมื่อ 2008-07-29.
- ↑ "Potter book smashes sales records". BBC. 2005-07-18. สืบค้นเมื่อ 2008-07-29.
- ↑ "'Harry Potter' tale is fastest-selling book in history". The New York Times. 23 July 2007. สืบค้นเมื่อ 30 March 2010.
- ↑ "Harry Potter at Bloomsbury Publishing — Adult and Children Covers". Bloomsbury Publishing. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-08-28. สืบค้นเมื่อ 2008-08-18.
- ↑ McCaffrey, Meg (2003-05-01). "'Muggle' Redux in the Oxford English Dictionary". School Library Journal. สืบค้นเมื่อ 2007-05-01.
- ↑ "Book corner: Secrets of Podcasting". Apple Inc. 8 September 2005. สืบค้นเมื่อ 31 January 2007.
- ↑ "Mugglenet.com Taps Limelight's Magic for Podcast Delivery of Harry Potter Content". PR Newswire. 8 November 2005. สืบค้นเมื่อ 31 January 2007.
- ↑ "Book honour for Harry Potter author". BBC. 21 September 2001. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
- ↑ "JK Rowling: From rags to riches". BBC. 20 September 2008. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
- ↑ "Book 'Oscar' for Potter author". BBC. 30 May 2001. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
- ↑ "Harry Potter casts a spell on the world". CNN. 18 July 1999. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
- ↑ "Harry Potter: Meet J.K. Rowling". Scholastic Inc. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-06-04. สืบค้นเมื่อ 27 September 2008.
- ↑ "Moviegoers get wound up over 'Watchmen'". MSNBC. 22 July 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-09-16. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
- ↑ "Harry Potter beaten to top award". BBC. 7 July 2000. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
- ↑ Levine, Arthur (2001–2005). "Awards". Arthur A. Levine Books. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-04-29. สืบค้นเมื่อ 21 May 2006.
- ↑ Watson, Julie (2004-02-26). "J. K. Rowling And The Billion-Dollar Empire". Forbes. สืบค้นเมื่อ 2007-12-03.
- ↑ "All Time Worldwide Box Office Grosses". Box Office Mojo, LLC. 1998–2008. สืบค้นเมื่อ 29 July 2008.
- ↑ Booth, Jenny (1 November 2007). "J.K. Rowling publishes Harry Potter spin-off". London: Telegraph.com. สืบค้นเมื่อ 28 September 2008.
- ↑ (JK) -Rowling_CRTT.html "The World's Billionaires:#891 Joanne (JK) Rowling". Forbes. 2007-03-08. สืบค้นเมื่อ 2008-07-29.
{{cite web}}
: ตรวจสอบค่า|url=
(help) - ↑ "J. K. Rowling Richer than the Queen". BBC. 2003-04-27. สืบค้นเมื่อ 2008-07-29.
- ↑ "Harry Potter Brand Wizard". Business Week. 2005-07-21. สืบค้นเมื่อ 2008-07-29.
- ↑ "Rowling joins Forbes billionaires". BBC. สืบค้นเมื่อ 2008-09-09.
- ↑ Smith, Dinitia (24 June 2000). "The Times Plans a Children's Best-Seller List". The New York Times. สืบค้นเมื่อ 30 September 2008.
- ↑ 87.0 87.1 87.2 Fierman, Daniel (31 August 2005). "Wild About Harry". Entertainment Weekly. ew.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-03-31. สืบค้นเมื่อ 4 March 2007.
When I buy the books for my grandchildren, I have them all gift wrapped but one...that's for me. And I have not been 12 for over 50 years.
- ↑ "New Harry Potter breaks pre-order record". RTÉ.ie Entertainment. 2007-04-13. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-04-18. สืบค้นเมื่อ 2007-04-23.
- ↑ "Harry Potter hits midnight frenzy". CNN. 2005-07-15. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2006-12-21. สืบค้นเมื่อ 2007-01-15.
- ↑ "Worksheet: Half-Blood Prince sets UK record". BBC. 2005-07-20. สืบค้นเมื่อ 2007-01-19.
- ↑ "Record print run for final Potter". BBC News. 15 March 2007. สืบค้นเมื่อ 22 May 2007.
- ↑ 92.0 92.1 92.2 92.3 Eccleshare, Julia (2002). A Guide to the Harry Potter Novels. Continuum International Publishing Group. p. 10. ISBN 9780826453174.
- ↑ Bloom, Harold (2003-09-24). "Dumbing down American readers". The Boston Globe. สืบค้นเมื่อ 2006-06-20.
- ↑ Byatt, A. S. (2003-07-07). "Harry Potter and the Childish Adult". The New York Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-04-20. สืบค้นเมื่อ 2008-08-01.
- ↑ Holden, Anthony (2000-06-25). "Why Harry Potter does not cast a spell over me". The Observer. สืบค้นเมื่อ 2008-08-01.
- ↑ Allison, Rebecca (2003-07-11). "Rowling books 'for people with stunted imaginations'". The Guardian. สืบค้นเมื่อ 2008-08-01.
- ↑ Wilson, A. N. (2007-07-29). "Harry Potter and the Deathly Hallows by JK Rowling". Times Online. สืบค้นเมื่อ 2008-09-28.
- ↑ Taylor, Charles (8 July 2003). "A. S. Byatt and the goblet of bile". Salon.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 June 2008. สืบค้นเมื่อ 3 August 2008.
- ↑ Fox, Killian (31 December 2006). "JK Rowling: The mistress of all she surveys". The Guardian. London. สืบค้นเมื่อ 10 February 2007.
- ↑ "Person of the Year 2007 Runners-Up: J. K. Rowling" เก็บถาวร 2007-12-21 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Time magazine. 2007-12-23. เก็บข้อมูลเมื่อ 2007-12-23.
- ↑ Charles, Ron (2007-07-15). "Harry Potter and the Death of Reading". The Washington Post. เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-04-16.
- ↑ Sawyer, Jenny (2007-07-25). "Missing from 'Harry Potter" – a real moral struggle". The Christian Science Monitor. เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-04-16.
- ↑ Suellentrop, Chris (2002-11-08). "Harry Potter: Fraud" เก็บถาวร 2008-03-27 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. Slate Magazine. เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-04-16.
- ↑ Hitchens, Christopher (2007-08-12). "The Boy Who Lived". The New York Times. 2. เก็บข้อมูลเมื่อ 2008-04-01.
- ↑ "SScholastic Inc, J.K. Rowling and Time Warner Entertainment Company, L.P, Plaintiffs/Counterclaim Defendants, -against- Nancy Stouffer: United States District Court for the Southern District of New York". ICQ. 2002-09-17. สืบค้นเมื่อ 2007-06-12.
- ↑ McCarthy, Kieren (2000). "Warner Brothers bullying ruins Field family Xmas". The Register. สืบค้นเมื่อ 2007-05-03.
- ↑ "Fake Harry Potter novel hits China". BBC. 2002-07-04. สืบค้นเมื่อ 2007-03-11.
- ↑ Olsen, Ted. "Opinion Roundup: Positive About Potter". Cesnur.org. สืบค้นเมื่อ 2007-07-06.
- ↑ Bonta, Steve (28 January 2002). "Tolkien's Timeless Tale". The New American. Vol. 18 no. 2.
- ↑ Liddle, Rod (21 กรกฎาคม 2007). "Hogwarts is a winner because boys will be sexist neocon boys". The Times. London. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 มิถุนายน 2010. สืบค้นเมื่อ 17 สิงหาคม 2008.
- ↑ "Books: Cover Stories At the Frankfurt Book Fair". The Independent. London. 10 ตุลาคม 1998. สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2009.
- ↑ "WiGBPd About Harry". The Australian Financial Review. 19 กรกฎาคม 2000. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2007.
- ↑ "Harry Potter and the Philosopher's Stone". The Guardian. London. 16 พฤศจิกายน 2001. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 30 กันยายน 2013. สืบค้นเมื่อ 26 พฤษภาคม 2007.
- ↑ Linder, Bran (28 March 2000). "Chris Columbus to Direct Harry Potter". IGN. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 13 January 2008. สืบค้นเมื่อ 8 July 2007.
- ↑ "Daniel Radcliffe, Rupert Grint and Emma Watson bring Harry, Ron and Hermione to life for Warner Bros. Pictures: Harry Potter and the Sorcerer's Stone". Warner Brothers. 21 August 2000. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 April 2002. สืบค้นเมื่อ 26 May 2007.
- ↑ "Harry Potter and the Chamber of Secrets (2002)". Yahoo! Inc. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 24 July 2008. สืบค้นเมื่อ 18 August 2008.
- ↑ "Goblet Helmer Confirmed". IGN. 11 สิงหาคม 2003. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 มิถุนายน 2007. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2007.
- ↑ Daly, Steve (6 เมษายน 2007). "Sneak peek: Harry Potter and the Order of the Phoenix". Entertainment Weekly. p. 28. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 เมษายน 2007. สืบค้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2019.
- ↑ "David Yates Dark Horizons Interview, OOTP and HBP Production". Darkhorizons.com. 13 July 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 April 2011. สืบค้นเมื่อ 24 February 2011.
- ↑ Spelling, Ian (3 May 2007). "Yates Confirmed For Potter VI". Sci Fi Wire. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 May 2007. สืบค้นเมื่อ 3 May 2007.
- ↑ "Coming Sooner: Harry Potter Changes Release Date". TV Guide. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 April 2009. สืบค้นเมื่อ 15 April 2009.
- ↑ "Harry Potter and the Half-Blood Prince". Market Watch. 14 สิงหาคม 2008. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 August 2008. สืบค้นเมื่อ 17 August 2008.
- ↑ Boucher, Geoff (13 มีนาคม 2008). "Final 'Harry Potter' book will be split into two movies". Los Angeles Times. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 พฤษภาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม 2008.
- ↑ "Last Day 12 June 2010". Snitchseeker.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 สิงหาคม 2010. สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2011.
- ↑ "Warner Bros. Pictures mentions J. K. Rowling as producer". Business Wire. 20 กันยายน 2010. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 ธันวาคม 2010. สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2011.
- ↑ "All Time Worldwide Box Office Grosses". Box Office Mojo. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2010. สืบค้นเมื่อ 29 กรกฎาคม 2007.
- ↑ "Box Office Harry Potter". The-numbers.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 กรกฎาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2011.
- ↑ "Box Office Mojo". boxofficemojo.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 กันยายน 2010. สืบค้นเมื่อ 11 มีนาคม 2011.
- ↑ "Harry Potter: Books vs films". Digital Spy. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 กรกฎาคม 2008. สืบค้นเมื่อ 7 กันยายน 2008.
- ↑ "Potter Power!". Time For Kids. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 1 December 2007. สืบค้นเมื่อ 31 May 2007.
- ↑ Puig, Claudia (27 พฤษภาคม 2004). "New 'Potter' movie sneaks in spoilers for upcoming books". USA Today. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 พฤษภาคม 2011. สืบค้นเมื่อ 31 พฤษภาคม 2007.
- ↑ "JK 'loves' Goblet of Fire movie". Newsround. BBC. 7 พฤศจิกายน 2005. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 17 มีนาคม 2007. สืบค้นเมื่อ 31 พฤษภาคม 2007.
- ↑ "Exclusive: Harry Potter Director David Yates". Comingsoon.net. 13 กรกฎาคม 2009. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 มีนาคม 2016. สืบค้นเมื่อ 19 มิถุนายน 2010.
- ↑ Rowling, J. K. "How did you feel about the POA filmmakers leaving the Marauder's Map's background out of the story? (A Mugglenet/Lexicon question)". J. K. Rowling. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 August 2011. สืบค้นเมื่อ 6 September 2008.
- ↑ "Harry Potter franchise to get Outstanding BAFTA award". BBC News. 3 กุมภาพันธ์ 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 กรกฎาคม 2012. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2011.
- ↑ "Outstanding British Contribution to Cinema in 2011 – The Harry Potter films". BAFTA. 3 February 2011. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 February 2011. สืบค้นเมื่อ 3 February 2011.
- ↑ "Fantastic Beasts: JK Rowling confirms there will be five films in Harry Potter spin-off series". Independent.co.uk. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 มกราคม 2017. สืบค้นเมื่อ 7 มกราคม 2017.
- ↑ "Fantastic Beasts 2-5: Everything you need to know". Digital Spy (ภาษาอังกฤษ). 23 November 2017. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 August 2018. สืบค้นเมื่อ 9 August 2018.
- ↑ "Fantastic Beasts 3 cast, release date, plot, title and everything you need to know". Digital Spy (ภาษาอังกฤษ). 10 December 2018. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 December 2018. สืบค้นเมื่อ 28 December 2018.
- ↑ "All Time Top 20 Best Selling Games". 21 May 2003. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 February 2006. สืบค้นเมื่อ 1 December 2006.
- ↑ EA Harry Potter gameplay Retrieved 19 June 2010. เก็บถาวร 1 กรกฎาคม 2010 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- ↑ Robinson, Andy (5 June 2012). "E3 2012: Sony announces intriguing Wonderbook for PS3 – Harry Potter author on board". Computer and Video Games. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 June 2012. สืบค้นเมื่อ 5 June 2012.
- ↑ Mayo, Benjamin (24 April 2018). "Harry Potter: Hogwarts Mystery game now available on iPhone and iPad, but it's an obnoxious free-to-play game". 9to5Mac. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 April 2018. สืบค้นเมื่อ 25 April 2018.
- ↑ "J.K. Rowling to Work on Harry Potter Stage Play". 20 December 2013. สืบค้นเมื่อ 22 December 2013.
- ↑ "J.K. Rowling to produce Harry Potter stage play". USA Today. 20 December 2013. สืบค้นเมื่อ 22 December 2013.
- ↑ "Harry Potter and the Cursed Child to open in 2016". BBC. 26 June 2015. สืบค้นเมื่อ 26 June 2015.
- ↑ Bamigboye, Baz (26 June 2015). "Harry Potter and the biggest West End show EVER: Spellbinding drama about the fate of young wizard's parents is coming to London's theatreland". The Daily Mail. สืบค้นเมื่อ 26 June 2015.
- ↑ "First batch of Harry Potter and the Cursed Child tickets sell out". 29 October 2015. สืบค้นเมื่อ 29 October 2015.
- ↑ Begley, Sarah (10 February 2016). "Harry Potter and The Cursed Child Will Be Published In Book Form". TIME. TIME Magazine. สืบค้นเมื่อ 10 February 2016.
- ↑ Goldberg, Lesley (25 January 2021). "'Harry Potter' Live-Action TV Series in Early Development at HBO Max (Exclusive)". The Hollywood Reporter. สืบค้นเมื่อ 25 January 2021.
- ↑ "First ever Harry Potter television series ordered by new streaming service, Max". Wizarding World (ภาษาอังกฤษ). 12 April 2023. สืบค้นเมื่อ 2023-04-13.
- ↑ "Introducing the enhanced streaming service: Max". Wizarding World (ภาษาอังกฤษ). 12 April 2023. สืบค้นเมื่อ 2023-04-13.
- ↑ White, Peter (25 June 2024). "'Harry Potter' & 'Welcome To Derry' Moving From Max To HBO As Part Of Big-Budget Streaming Strategy Rethink". Deadline Hollywood. สืบค้นเมื่อ 25 June 2024.
- ↑ Schneider, Michael (2024-06-26). "'Harry Potter' Series at HBO Taps Francesca Gardiner as Showrunner; Mark Mylod to Direct Multiple Episodes". Variety (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2024-06-26.
- ↑ Wizrocklopedia band listings
- ↑ The Wizarding World of Harry Potter
- ↑ MacDonald, Brady (April 6, 2011). "Universal Studios wonders how and when to expand Wizarding World of Harry Potter". Los Angeles Times. สืบค้นเมื่อ May 18, 2013.
- ↑ Thurston, Susan (23 January 2014). "Harry Potter's Diagon Alley plans Escape from Gringotts ride, new stores". Tampa Bay Times. สืบค้นเมื่อ 25 January 2014.
- ↑ Bevil, Dewayne (23 January 2014). "New details about Harry Potter Diagon Alley: Lots of shops, Gringotts ride gets name". Orlando Sentinel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-01-24. สืบค้นเมื่อ 25 January 2014.
- ↑ Bevil, Dewayne (July 17, 2014). "Universal's Diagon Alley: Answers to your burning questions". Orlando Sentinel. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2014-09-15. สืบค้นเมื่อ 15 September 2014.
- ↑ Cripps, Karla (16 July 2014). "Universal Studios Japan's 'Wizarding World of Harry Potter' opens". CNN. สืบค้นเมื่อ 12 September 2014.
- ↑ Barnes, Brooks (8 April 2014). "A Makeover at Universal Studios Hollywood Aims at Disney". The New York Times. Universal City, California. สืบค้นเมื่อ 12 September 2014.
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการ:
- เว็บไซต์ส่วนตัวของ เจ. เค. โรว์ลิง (อังกฤษ)
- เว็บไซต์เนื้อเรื่องแต่งเพิ่มเติม ของ เจ. เค. โรว์ลิง (อังกฤษ)
- เว็บไซต์ภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์อย่างเป็นทางการของวอร์เนอร์บราเธอร์ส (อังกฤษ)
- เว็บไซต์ภาพยนตร์แฮร์รี่ พอตเตอร์อย่างเป็นทางการของวอร์เนอร์บราเธอร์ส (ภาษาไทย)
- เว็บไซต์แฮร์รี่ พอตเตอร์ของสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ฉบับภาษาไทย เก็บถาวร 2009-01-30 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
- เว็บไซต์แฮร์รี่ พอตเตอร์ของสำนักพิมพ์บลูมส์บิวรี่ ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ฉบับภาษาอังกฤษทั่วโลกนอกเหนือจากสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เก็บถาวร 2005-08-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (อังกฤษ)
- เว็บไซต์แฮร์รี่ พอตเตอร์ของสำนักพิมพ์สกอแลสติก ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายหนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ฉบับภาษาอังกฤษในสหรัฐอเมริกา (อังกฤษ)
- เว็บไซต์ของแฟนหนังสือ / แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวกับแฮร์รี่ พอตเตอร์อื่น ๆ :
- MuggleNet.com (อังกฤษ)
- The-Leaky-Cauldron.org (อังกฤษ)
- The Harry Potter Lexicon สารานุกรมเกี่ยวกับนานาสารพันในโลกของแฮร์รี่ พอตเตอร์ รวมถึงข้อมูลอ้างอิงต่าง ๆ ของผู้แต่ง เจ. เค. โรว์ลิง (อังกฤษ)
- PotterStoryWeb.com เว็บแฟนไซต์ แฮร์รี่ พอตเตอร์ (Harry Potter) & สัตว์มหัศจรรย์ (Fantastic Beasts) ประเทศไทย !!
- Muggle-V.com เว็บไซต์แฮร์รี่ พอตเตอร์ แห่งประเทศไทย
- หนังสือ Harry Potter ชุดต่างๆที่มีการพิมพ์ในประเทศไทย
- บทความคัดสรร
- งานเขียนของ เจ. เค. โรว์ลิ่ง
- แฮร์รี่ พอตเตอร์
- วรรณกรรมเยาวชน
- วรรณกรรมแปล
- วรรณกรรมภาษาอังกฤษ
- นวนิยายแฟนตาซี
- วรรณกรรมที่สร้างเป็นภาพยนตร์
- นวนิยายอังกฤษดัดแปลงเป็นภาพยนตร์
- ตัวละครที่เป็นพ่อมด
- โรงเรียนในวรรณกรรม
- มังกรในวัฒนธรรมประชานิยม
- เอลฟ์ในวัฒนธรรมประชานิยม
- บันเทิงคดีเกี่ยวกับยักษ์ (เรื่องปรัมปราตะวันตก)