อำเภอมหาชนะชัย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อำเภอมหาชนะชัย
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Maha Chana Chai
คำขวัญ: 
มหาชนะชัย พระเรืองไชยลือเลื่อง เมืองแห่งดอกจาน นมัสการพระพุทธบาท ธรรมชาติลำน้ำชี ประเพณีแห่มาลัย
แผนที่จังหวัดยโสธร เน้นอำเภอมหาชนะชัย
แผนที่จังหวัดยโสธร เน้นอำเภอมหาชนะชัย
พิกัด: 15°31′54″N 104°14′30″E / 15.53167°N 104.24167°E / 15.53167; 104.24167
ประเทศ ไทย
จังหวัดยโสธร
พื้นที่
 • ทั้งหมด455.27 ตร.กม. (175.78 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด56,129 คน
 • ความหนาแน่น123.29 คน/ตร.กม. (319.3 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 35130
รหัสภูมิศาสตร์3506
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอมหาชนะชัย หมู่ที่ 2 ถนนเรืองแสนกรรฐ์ ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร 35130
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

มหาชนะชัย เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดยโสธร

ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]

อำเภอมหาชนะชัยตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัด อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 41 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

ประวัติ[แก้]

ช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองอุบลราชธานีมีพระพรหมราชวงศา (ท้าวกุทอง) เป็นพระประเทศราชผู้ครองเมือง ท่านมีบุตรหลายคนที่มีความสามารถเป็นเจ้าเมืองอุปฮาด (อุปราช) ประกอบกับในระยะนั้น บริเวณที่ตั้งอาณาเขตติดต่อกับจังหวัดศรีสะเกษในปัจจุบัน มีโจรผู้ร้ายชุกชุม ยากแก่การปกครองและปราบปราม ท่านจึงให้ท้าวปุตะคำพูน (คำพูน สุวรรณกูฎ) ซึ่งเป็นบุตรออกไปสำรวจพื้นที่เพื่อจัดตั้งเมืองใหม่ ท้าวคำพูนได้ออกสำรวจพื้นที่และได้พิจารณาเห็นว่า "บ้านเวินชัย" (ปัจจุบันเป็นบ้านเวินชัย หมู่ที่ 5 ตำบลผือฮี) มีทำเลเหมาะสม และมีลำชี (แม่น้ำชี) ไหลผ่านสะดวกแก่การคมนาคมทางเรือ จึงได้ทำรายงานให้พระพรหมวงศาขอจัดตั้งเมืองขึ้นที่บ้านเวินชัย โดยให้เป็นแขวงเมืองขึ้นต่อเมืองอุบลราชธานี

ต่อมาวันแรม 11 ค่ำ เดือน 12 ปีกุน เบญจศก จ.ศ. 1225 (ตรงกับ พ.ศ. 2406) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง เมืองมหาชนะชัย ขึ้นที่บ้านเวินชัย และได้ทรงแต่งตั้งท้าวปุตะคำพูนเป็นเจ้าเมืองมหาชนะชัย และพระราชทานนามท้าวคำพูนว่า "พระเรืองไชยชำนะ" และแต่งตั้งท้าวโพธิราช (ผา) เป็นอุปฮาด ท้าววรกิตติกา (ไชย) เป็นราชวงศ์ และท้าวอุเทน (หอย) เป็นราชบุตร

พระเรืองไชยชำนะได้ปกครองเมืองที่บ้านเวินชัยประมาณเดือนเศษก็พบว่า บริเวณดังกล่าวมีสภาพภูมิประเทศคับแคบ ขยายตัวเมืองได้ยาก ประกอบกับเป็นคุ้งน้ำเซาะดินพังอยู่เสมอ ดังนั้นจึงได้ย้ายเมืองใหม่มาตั้งที่บ้านฟ้าหยาดในปัจจุบัน

พระเรืองไชยชำนะปกครองเมืองมหาชนะชัยจนถึงแก่กรรม พระสิทธิจางวางได้เป็นเจ้าเมืองสืบต่อมาอีก 15 ปี ก็ถึงแก่กรรมอีก ทางราชการจึงได้ยุบเมืองมหาชนะชัยเป็น อำเภอมหาชนะชัย ขึ้นตรงต่อเมืองอุบลราชธานี พร้อมกับแต่งตั้งท้าวสุริยนต์ บุตรพระสิทธิจางวาง เป็นนายอำเภอมหาชนะชัยคนแรก (สันนิษฐานว่าเป็นคนเดียวกับหลวงวัฒนวงศ์โทนุบล)

เนื่องจากอำเภอมหาชนะชัยตั้งอยู่บ้านฟ้าหยาด ตำบลฟ้าหยาด กระทรวงมหาดไทยจึงได้เปลี่ยนชื่ออำเภอมหาชนะชัยเป็น อำเภอฟ้าหยาด ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2460 จนกระทั่งถึงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2482 กระทรวงมหาดไทยจึงได้เปลี่ยนชื่อจากอำเภอฟ้าหยาดเป็น "อำเภอมหาชนะชัย" อีกครั้งหนึ่ง ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2482 กระทรวงมหาดไทยได้โอนตำบลธาตุน้อย อำเภอมหาชนะชัย (ยกเว้นหมู่ที่ 2,3,11และ 12 ในขณะนั้น) ไปขึ้นกับอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ส่วนหมู่ที่ 2,3,11และ 12 ในขณะนั้น ของตำบลธาตุน้อย ให้โอนไปขึ้นกับตำบลฟ้าห่วน อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดอุบลราชธานี

เมื่อวันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2515 อำเภอมหาชนะชัยจึงได้ย้ายไปขึ้นกับจังหวัดยโสธรจนถึงปัจจุบัน ต่อมาเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2518 กระทรวงมหาดไทยเห็นว่าท้องที่อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร มีพื้นที่กว้างขวางประกอบกับพลเมืองมีจำนวนมาก จึงได้แบ่งท้องที่ตำบลฟ้าห่วน ตำบลกุดน้ำใส และตำบลน้ำอ้อม ออกไปจัดตั้งกิ่งอำเภอค้อวัง

การแบ่งเขตการปกครอง[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค[แก้]

อำเภอมหาชนะชัยแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 10 ตำบล 103 หมู่บ้าน ได้แก่

1. ฟ้าหยาด (Fa Yat) 6. ม่วง (Muang)
2. หัวเมือง (Hua Mueang) 7. โนนทราย (Non Sai)
3. คูเมือง (Khu Mueang) 8. บึงแก (Bueng Kae)
4. ผือฮี (Phue Hi) 9. พระเสาร์ (Phra Sao)
5. บากเรือ (Bak Ruea) 10. สงยาง (Song Yang)

การปกครองส่วนท้องถิ่น[แก้]

ท้องที่อำเภอมหาชนะชัยประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 11 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลฟ้าหยาด ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลฟ้าหยาด
  • องค์การบริหารส่วนตำบลฟ้าหยาด ครอบคลุมพื้นที่ตำบลฟ้าหยาด (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลฟ้าหยาด)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหัวเมือง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหัวเมืองทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลคูเมือง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลคูเมืองทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลผือฮี ครอบคลุมพื้นที่ตำบลผือฮีทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบากเรือ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบากเรือทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลม่วง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลม่วงทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลโนนทราย ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโนนทรายทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบึงแก ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบึงแกทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลพระเสาร์ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลพระเสาร์ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลสงยาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลสงยางทั้งตำบล

ทำเนียบนายอำเภอ[แก้]

ผู้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอมหาชนะชัย นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน มีทั้งสิ้น 36 ท่าน ดังนี้

  1. หลวงวัฒนวงศ์โทนุบล (โทน สุวรรณกูฎ)
  2. ขุนกันทรารักษ์ (บุญเย็น พิลานุช)
  3. หลวงวิจารย์ภักดี (เลื่อน โอวาทสาร)
  4. หลวงศักดิ์รัตนเขตต์ (เฉ่ง นิยมวัน)
  5. ขุนศรีศักดิ์บริบาล (นาม อุ่นทำนัก)
  6. หลวงพิศิษฐ์สุรินทร์รัฐ (พานเมือง อัมรนิมิ)
  7. ขุนอาจเอาธุระ (เลื่อม วงศ์กาไสย)
  8. นายนารถ มนตะเสวี
  9. นายเลื่อน ปทุมรัตน์
  10. นายรง ทัศนาญชาบี
  11. นายสุวรรณ สุกะโตษะ
  12. นายเกื้อ ชูทิม
  13. นายไสว เจริญยุทธ
  14. ม.ล. ภักศุก กำภู
  15. นายประสิทธิ์ โกมลมาลย์
  16. นายพิสุทธิ์ ฟังเสนาะ
  17. นายเจริญ ลีละทีป
  18. นายบัญชา ช่างกล
  19. นายวิศิษฐ์ บุญศิลป์
  20. นายบำรุง วัฒนรัตน์
  21. นายไพโรจน์ ทองใบ
  22. ร.ต. สำราญ นิรัติศัย
  23. นายเจริญ เกิดศิริ
  24. ร.ต. อนิวรรตน์ พะโยมเยี่ยม
  25. นายธีระ กลิ่นลำดวน
  26. นายเทียม ศิวะสุข
  27. นายธนู สุขฉายา
  28. นายถาวร ภู่เจริญ
  29. นายวิโรจน์ สุนทราวงศ์
  30. นายเฉลิมศักดิ์ วงศ์ศิริวัฒน์
  31. นายเฉลิมวงศ์ สรรพศิริ
  32. นายสมบัติ กนกอนันทกุล
  33. ว่าที่ ร.ต. ประเสริฐชัย สามกษัตริย์
  34. นายนฤมิต หลิ่มวิรัติ
  35. นายสมยศ ศิลปิโยดม
  36. นายสุวัฒน์ เข็มเพชร
  37. นายอภิรัตน์ ป้องกัน
  38. นางสาวมาริสา สีลาพัฒน์ (นายอำเภอคนปัจจุบัน ซึ่งเป็นนายอำเภอหญิงคนแรก)

สถาบันทางการเงิน[แก้]

  • ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขามหาชนะชัย
  • ธนาคารออมสิน สาขามหาชนะชัย
  • ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สาขามหาชนะชัย

สถานที่ราชการสำคัญ[แก้]

  • ที่ว่าการอำเภอมหาชนะชัย
  • โรงพยาบาลมหาชนะชัย
  • สำนักงานที่ดินจังหวัดยโสธร สาขามหาชนะชัย
  • สำนักงานขนส่งจังหวัดยโสธร สาขามหาชนะชัย
  • สำนักงานสรรพากรพื้นที่ สาขามหาชนะชัย
  • สำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ยโสธร สาขามหาชนะชัย
  • สำนักงานสาธารณสุขอำเภอมหาชนะชัย
  • สำนักงานปศุสัตว์อำเภอมหาชนะชัย
  • สำนักงานเกษตรอำเภอมหาชนะชัย
  • สถานีตำรวจภูธรมหาชนะชัย
  • สถานีตำรวจภูธรบึงแก
  • ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดยโสธร
  • ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยโสธร
  • การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สาขามหาชนะชัย
  • การประปาส่วนภูมิภาค สาขามหาชนะชัย
  • ที่ทำการไปรษณีย์มหาชนะชัย รหัสไปรษณีย์ 35130

สถานที่ท่องเที่ยว[แก้]

  • วัดพระพุทธบาทยโสธร
  • พระธาตุบุญตา
  • วัดศรีวีรวงศาราม
  • พระเจดีย์บูรพาจารย์ วัดหอก่อง
  • วัดป่าหนองบัวแดง สาขาที่ 140 วัดหนองป่าพง
  • สวนรุกขชาติน้อมเกล้า
  • ทุ่งบัวแดง

วัดสำคัญภายในตัวอำเภอ[แก้]

  1. วัดหอก่อง (ธ)
  2. วัดฟ้าหยาด (ม)
  3. วัดกลางโพธิ์ชัย (ธ)
  4. วัดมหาชนะชัย

การคมนาคม[แก้]

รถยนต์[แก้]

อำเภอมหาชนะชัย มีทางหลวงแผ่นดิน 3 เส้นทาง ดังนี้

  1. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2043 (ถนนรณชัยชาญยุทธ) สายร้อยเอ็ด-มหาชนะชัย
  2. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2083 (ถนนคำเขื่อนแก้ว-บ้านส้มป่อยน้อย)
  3. ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2351 (ถนนพลไว-ค้อวัง–ยางชุมน้อย)

สายการเดินทางสายหลัก[แก้]

  • มหาชนะชัย - อุบลราชธานี (รถตู้ออกทุก 30 นาที โดยประมาณ)
  • มหาชนะชัย - ยโสธร
  • มหาชนะชัย - พนมไพร - อาจสามารถ

สถานศึกษา[แก้]

โรงเรียนประถมศึกษาในตัวอำเภอ

  1. โรงเรียนอนุบาลฟ้าหยาดราษฎร์นิยม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายโสธร เขต 1
  2. โรงเรียนมหาชนะชัย สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายโสธร เขต 1

โรงเรียนมัธยมศึกษาในตัวอำเภอ

  1. โรงเรียนมหาชนะชัยวิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาศรีสะเกษ ยโสธร

โรงเรียนมัธยมศึกษานอกตัวอำเภอ

  1. โรงเรียนตระกูลประเทืองวิทยาคม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาศรีสะเกษ ยโสธร

วิทยาลัย

  1. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยียโสธร
  2. วิทยาลัยเทคโนโลยีมหาชนะชัย

บุคคลสำคัญ[แก้]

เทศกาลและงานประเพณี[แก้]

ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก

เนื้อความในพระไตรปิฎกส่วนที่ว่าด้วยพระสุตตันตปิฎก บทปรินิพพานสูตร กล่าวคือ ดอกมณฑารพ ซึ่งเป็นดอกไม้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีความสวยงามและมีกลิ่นหอมเป็นพิเศษ เมื่อถึงกาลเวลาที่ดอกมณฑารพจะบาน และร่วงหล่นก็ด้วยเหตุการณ์สำคัญๆ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน จารุรงคสันนิบาต และทรงแสดงธรรมจักรกัปวัตนสูตร ดอกมณฑารพจึงได้ร่วงหล่นลงมายังโลกมนุษย์ ครั้งเมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันปรินิพพาน ดอกมณฑารพนี้ก็ได้ร่วงหล่นลงมาทั้งก้านและกิ่ง เปรียบเสมือนความเสียอกเสียใจพิไรรำพันต่อการเสด็จดับขันปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เหล่าพระภิกษุผู้ได้ชื่อว่าอรหันตขีนาสพและหมู่เหล่าข้าราชการบริพารประชาชนทั้งหลายได้พากันมาถวายสักการะพระบรมศพของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเป็นการรำลึกถึงพระปัญญาธิคุณ พระกรุณาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงได้พากันนำเอาข้าวตอกมาสักการบูชา เพราะถือว่าข้าว เป็นสิ่งที่มีคุณค่าและเป็นของสูงที่มนุษย์จะขาดไม่ได้และต่อมามีการนำมา ประดิษฐ์ตกแต่งเป็นมาลัยที่สวยงาม เป็นที่มาของ “มาลัยข้าวตอก” ประเพณีหนึ่งเดียวในโลก ที่อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร[1]

ประเพณีลอยกระทง

จัดขึ้นในเขตเทศบาลตำบลฟ้าหยาด

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]