ดงเมืองเตย
ปราสาทดงเมืองเตย | |
---|---|
Prasat Dong Muang Toey | |
ข้อมูลทั่วไป | |
ประเภท | ปราสาทหิน |
สถาปัตยกรรม | เจนละ |
เมือง | บ้านเมืองเตย หมู่ที่ 8 ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว, จังหวัดยโสธร |
ประเทศ | ประเทศไทย |
พิกัด | 15.639465 N, 104.256903 E |
เริ่มสร้าง | ราวพุทธศตวรรษที่ 12-พุทธศตวรรษที่ 13 |
ผู้สร้าง | พระเจ้ามเหนทรวรมัน หรือ พระเจ้าจิตรเสน |
ปราสาทดงเมืองเตย หรือ เมืองศังขปุระนคร ตั้งอยู่ที่บ้านเมืองเตย หมู่ที่ 8 ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร ห่างจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 23 (ถนนแจ้งสนิท) ระยะทาง 7 กิโลเมตร เป็นโบราณสถานที่มีอายุมากกว่า 2,500 ปี-พุทธศตวรรษที่ 22 มีความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 140 เมตร
ประวัติ
[แก้]จากประวัติศาสตร์บ้านสงเปือย (หน่วยศิลปากรที่ 6 นครราชสีมา 2536) กล่าวถึงดงเมืองเตยซึ่งตั้งอยู่ในเขตบ้านสงเปือยไว้ว่า ดงเมืองเตยเป็นเมืองเก่าสมัยขอมจะเป็นเมืองร้างมาแล้วนานเท่าไรไม่ทราบได้ สภาพที่เห็นมาจากปู่ย่าตาทวดหลายชั่วอายุคน ดงเมืองเตยมีป่าไม้ขึ้นสูงข้างล่างโปร่ง มีหมู่ไม้เล็กๆ ขึ้นบ้าง ต้นไม้ใหญ่ได้แก่ ไม้ยาง ไม้ตะแบก ไม้ยางเหียง เป็นป่าหนาแน่นมาก พวกพ่อแม่ปู่ย่าตายายไม่กล้าตัดต้นไม้ในดงนี้ เพราะดงเมืองเตยมีผีดุเรียกว่า ผีปู่ตา ป่าไม้จึงเป็นที่อาศัยของลิง และนกหลายจำพวก บึงรอบบริเวณดงเมืองเตยเป็นหนองน้ำขนาดลึกมีน้ำขังตลอดปี เป็นที่อาศัยและเป็นที่เพาะพันธุ์ปลาตามธรรมชาติ นอกจากนกจำพวกต่างๆ แล้วบึงนี้ได้ชื่อว่ามีเต่ามากที่สุด เหตุที่มีเต่ามากเช่นนี้ชาวบ้านนับถือผีปู่ตา ปู่ตาห้ามจับกินทำลายสัตว์พาหนะของท่าน คือ ลิงและเต่า ถ้าเกิดทำอันตรายขึ้นมา จะต้องมีอันเป็นไป ต่อมาเมื่อประมาณ 90 ปีมาแล้ว ชาวบ้านสงเปือยมีหมอร่ำเรียนวิชาอาคมมาทำพิธีปราบผีดงเมืองเตยได้ หมอผู้มีวิชาอาคมผู้นี้ชื่อ ผู้ใหญ่สุวอ เหตุการณ์นี้ตรงกับสมัยพ่อใหญ่อัครฮาด เป็นตาแสง เมื่อชาวบ้านใกล้ไกลได้ยินข่าวพ่อใหญ่สุวอข่มผีดงเมืองเตยได้แล้ว ก็พากันหลั่งไหลมาจับเต่าปลาดงเมืองเตยไปเป็นอาหารจนเกือบเกลี้ยงบึง เต่าจึงเกือบสูญพันธุ์มาจนบัดนี้ พ่อใหญ่สุวอได้แบ่งปันที่บึงออกเป็นที่นาให้พี่น้องญาติมิตรทำนามาจนทุกวันนี้ ส่วนบริเวณดงเมืองเตยได้แบ่งบันทำไร่ สวน ปลูกพืชทำกินมาเท่าทุกวันนี้ อันนี้เป็นเรื่องจริง ผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอายุครบ 90 ปี เช่น พ่อใหญ่อ่อน หอมกลิ่น พ่อใหญ่บู กกเปือย ยังมีชีวิตเป็นพยานอยู่ จากการสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีอายุประมาณ 90 ปี ของบ้านสงเปือยเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของดงเมืองเตยกล่าวว่า เห็นสภาพของดงเมืองเตยตั้งแต่เยาว์วัยก็คงสภาพที่เป็นในปัจจุบัน คือเป็นเนินดินขนาดใหญ่ที่มีคันดินและคูน้ำล้อมรอบ เหตุที่ได้ชื่อว่าดงเมืองเตย เนื่องจากบริเวณโดยรอบดงเมืองเตยมีต้นเตยซึ่งมีผลกลมเป็นเครือขึ้นอยู่โดยรอบนั่นเอง
จากการศึกษาของนักโบราณคดีกรมศิลปากรและนักวิชาการต่างๆ (สมเดช ลีลามโนธรรม 2538) พบว่าชุมชนโบราณดงเมืองเตยปรากฏการตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่เมื่อประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว ตั้งถิ่นฐานอยู่บนเนินใกล้แหล่งน้ำธรรมชาติ บริเวณลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ คงดำรงชีพด้วยการเพาะปลูกข้าวในช่วงระยะเวลานี้ มีการติดต่อกับชุมชนอื่นๆที่อยู่ห่างไกลภายในภูมิภาค มีการถลุงและผลิตเหล็ก (ก่อนพุทธศตวรรษที่ 12) คงมีการส่งเหล็กเป็นสินค้าออกส่วนหนึ่ง เพราะได้พบปริมาณเศษตะกรันเหล็กเป็นจำนวนมากภายในชุมชน การอยู่อาศัยมีพัฒนาการทางสังคมที่ซับซ้อน ประชากรของชุมชนมีเพิ่มมากขึ้น มีการติดต่อค้าขายกับชุมชนอื่น เกิดอาชีพต่างๆขึ้น ชุมชนคงมีการขยายตัว เกิดผู้นำชุมชน และต่อมาจึงมีการขุดคูน้ำและทำคันดินขึ้น อาจแสดงให้เห็นถึงการมีระบบชนชั้นขึ้นแล้ว
สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ชุมชนโบราณดงเมืองเตยเกิดผู้นำชุมชนอย่างเด่นชัด มีระบบการปกครองในระบบกษัตริย์ มีพัฒนาการเข้าสู่สังคมเมือง ชุมชนได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมเขมร เหตุที่อิทธิพลเขมรเข้ามาครอบคลุมตั้งแต่ช่วงต้นประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าเพราะชุมชนแห่งนี้อยู่ใกล้กับเส้นทางที่วัฒนธรรมเขมรแพร่เข้ามาสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตาม ชุมชนแห่งนี้ได้รับอิทธิพลทวารวดีด้วย พัฒนาการชุมชนโบราณแห่งนี้ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-16 ได้รับอิทธิพลทั้งวัฒนธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมเขมร หลังจากนั้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 หรือ 18 ชุมชนได้รับวัฒนธรรมเขมรเพียงอย่างเดียว เป็นที่น่าสังเกตว่าชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนขนาดเล็ก มีศาสนสถานเป็นศูนย์กลางทางศาสนาเพียงแห่งเดียว ประชากรของเมืองคงมีจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากไม่มีการขยายขนาดของชุมชนออกไป การอยู่อาศัยแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงการนับถือศาสนาบ้าง เช่น เปลี่ยนจากศาสตรพราหมณืเป็นศาสนาพุทธ แต่ก็ยังคงใช้ศาสนสถานหลังเดิมเป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนา สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการอยู่อาศัยอย่างต่อเนื่องของชุมชนได้เป็นอย่างดี ภายหลังชุมชนโบราณดงเมืองเตยร้างไป อาจจะในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 18 และได้มีผู้คนเข้ามาใช้พื้นที่อีกครั้งในช่วงพุทธศตวรรษที่ 20-22[1]
ภูมิศาสตร์
[แก้]สภาพทั่วไป
[แก้]ดงเมืองเตยเป็นเมืองโบราณที่ตั้งอยู่บนเนินดินรูปค่อนข้างรีไม่สม่ำเสมอ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางด้านยาวตามแนวทิศตะวันออกเฉียงเหนือ-ตะวันตกเฉียงใต้ ประมาณ 650 เมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางตามแนวทิศตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 450 เมตร เป็นเมืองที่มีคูน้ำล้อมรอบตัวเมืองเพียงชั้นเดียว มีคันดินขนาดเล็กอยู่รายรอบตัวเมืองทั้งด้านในและนอกคูเมือง คูเมืองมีความกว้างเฉลี่ยประมาณ 100 เมตร สภาพของคูในปัจจุบันได้ตื้นเขินกลายสภาพไปเสียเป็นส่วนมาก ทางด้านทิศใต้มีคูเมืองยังคงมีน้ำขังอยู่บางส่วน เรียกว่า “หนองปู่ตา” หรือ “พุดตา” ทางด้านทิศตะวันออกมีคูเมืองเรียกว่า “หนองบัวขาว” ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้มี “หนองอีตู้” ส่วนทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือมีคูเมืองเรียกว่า “หนองฝักหนาม” สภาพของคูเมืองยังปรากฏให้เห็นที่หนองฝักหนาม หนองอีตู้ และหนองปู่ตา ส่วนหนองบัวขาวปัจจุบันใช้เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว ทั้งนี้ห่างออกไปจากเมืองโบราณประมาณ 2.5 กิโลเมตร ทั้งทางด้านทิศเหนือ ทิศตะวันออก และทิศใต้ เป็นลำน้ำและหนองน้ำที่เป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำชีสายเดิม มีด้วยกันหลายชื่อ ได้แก่ น้ำหนองบอ ลำห้วยลำร่องบ่อ ลำชีหลง ห้วยกะหล่าว ลำตาเงย ลำปลาก้าม ห้วยพันหม เป็นต้น ส่วนแม่น้ำชีสายปัจจุบันไหลอยู่ห่างจากชุมชนโบราณดงเมืองเตยไปทางทิศตะวันตกประมาณ 5 กิโลเมตร บนตัวเนินดงเมืองเตยปัจจุบันเป็นป่าโปร่งและเป็นที่ตั้งสำนักสงฆ์ ไม่มีบ้านเรือนราษฎร พื้นที่รอบเนินดินเมืองโบราณเป็นพื้นที่เกษตรกรรมทำนาปลูกข้าว ห่างออกไปด้านทิศเหนือของเมืองโบราณเป็นเนินดินที่ตั้งของชุมชนปัจจุบัน คือชุมชนบ้านสงเปือย ภายในบริเวณตัวเมืองโบราณด้านทิศเหนือปรากฏมีซากโบราณสถานที่สร้างด้วยอิฐและหินทรายอยู่ในบริเวณพื้นที่ของสำนักสงฆ์ดงเมืองเตย และทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ห่างจากสำนักสงฆ์ดงเมืองเตยเคยปรากฏว่ามีการขุดพบใบเสมาด้วย
สภาพธรณีวิทยา
[แก้]ลักษณะธรณีสัณฐานของเมืองโบราณดงเมืองเตย (สมเดช ลีลามโนธณรม 2538) เกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำ โดยเฉพาะลำน้ำชี และลม พัดพาเอาตะกอนมาทับถม และมีการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ที่มีระดับแตกต่างกันออกไป เช่นที่ราบน้ำท่วมถึงที่มีตะกอนที่น้ำพัดพามาทับถม ในฤดูฝนมักถูกน้ำท่วม พื้นที่ส่วนใหญ่ใช้ทำนาปลูกข้าว ปลูกพืชสวนครัวและพืชไร่ ดินที่พบมักมีอายุน้อย ชั้นดินไม่ชัดเจน แต่มีความอุดมสมบูรณ์ เนื่องจากเป็นตะกอนใหม่และมีการทับถมเกือบทุกปี บริเวณลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ จะมีระดับสูงกว่าที่ราบน้ำท่วมถึงดังกล่าวข้างต้น แต่ยังมีพื้นที่ราบเรียบ การทับถมของตะกอนใหม่ไม่เกิดขึ้น ยกเว้นบางปีที่มีน้ำท่วมมาก อาจจะมีตะกอนทับถมเป็นชั้นบางๆที่ผิวดินบน เป็นสภาพธรณีที่มีสภาพคงตัวและเกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำที่มีอายุมาก ในพื้นที่นี้จึงมีลักษณะเกิดขึ้นให้เห็นอย่างชัดเจนและดินส่วนใหญ่มีสภาพการระบายน้ำค่อนข้างเลว ใช้ประโยชน์ในการทำนา
อีกพื้นที่หนึ่งคือบริเวณลานตะพักลำน้ำระดับกลางและระดับสูง มีสภาพสูงขึ้นไปจากลานตะพักลำน้ำระดับต่ำตามลำดับ และมีลักษณะเป็นรูปลูกคลื่นไม่ราบเรียบ พื้นที่ลานตะพักลำน้ำระดับกลาง ดินส่วนใหญมีสีน้ำตาล เหลือง หรือน้ำตาลปนเหลือง ส่วนพื้นที่ระดับสูง ดินมีสีแดง ระบายน้ำได้ดี พื้นที่ทั้งสองระดับนี้ล้วนเกิดจากการทับถมของตะกอนลำน้ำ และลมพามาทับถมกันเป็นเวลานานแล้ว ดังนั้นชั้นดินที่พบบริเวณนี้จึงมีหน้าตัดดินเกิดขึ้นใหม่ให้เห็นอย่างชัดเจน การใช้ประโยชน์ของดินส่วนใหญ่ใช้ปลูกพืชไร่ พืชสวน ผลไม้ บางส่วนยังคงสภาพป่าธรรมชาติอยู่ ได้แก่ ป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณ ดินในบริเวณดงเมืองเตย ประกอบไปด้วยดินชุดร้อยเอ็ด (Roi Et Series และ Loamy Phase) และดินชุดโคราช (Korat Series) ชุมชนโบราณดงเมืองเตย คงตั้งถิ่นฐานอยู่ในสภาพพื้นที่แบบลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ เนื่องจากระดับความสูงของพื้นที่จากแผนที่ทหาร มีความสูงประมาณ 126 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งที่ราบลานตะพักลำน้ำระดับต่ำมีระดับความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 120-150 เมตร และดินบริเวณนี้เป็นดินชุดร้อยเอ็ด (Roi Et Series) และดินชุดโคราช (Korat Series) ดินทั้งสองเป็นชุดดินที่พบในบริเวณลานตะพักลำน้ำระดับต่ำ โดยดินชุดร้อยเอ็ดจัดเป็นดินโลว์ฮิวมิคเกลย์ ซึ่งมีความเหมาะสมในการเพาะปลูกข้าว
ลักษณะทางกายภาพ
[แก้]เป็นเนินดินรูปวงรีมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ขนาดเฉลี่ย 650x360 เมตร ด้านทิศเหนือของเมืองพบซากเทวาลัยสร้างก่ออิฐติดชิดกันไม่สอปูน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ต่อมุขยื่นออกมาทางด้านหน้า ตอนกลางด้านหน้าเป็นบันไดทางขึ้นแบบมีอัฒจันทร์ประดับฐานบันไดด้านหน้า ทั้งยังพบกูฑุที่เป็นซุ้มขนาดเล็กภายในสลักใบหน้าบุคคล เทวาลัยแห่งนี้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเทวสถานของพระอิศวร ตามหลักฐานจารึกหินทรายสีแดงอักษรปัลลวะภาษาสันสกฤตที่พบ อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 เนื้อความโดยสรุปกล่าวถึง การสร้างเทวสถานถวายแด่พระอิศวร โดยพระนางศรีมานุญชลีบุตรีคนที่ 12 ของพระศรีมารประวรเสนะผู้เป็นใหญ่ในเมืองศังขปุระ และพบสิงห์สลักจากหินทรายสีขาว สภาพสมบูรณ์ ลักษณะศิลปกรรมแบบเขมรสมัยแปรรูป อายุราวพุทธศตวรรษที่ 15 นอกจากนี้ยังพบใบเสมาหินทรายและศิลาแลงจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นหลักฐานที่แสดงถึงการนับถือพระพุทธศาสนาของผู้คนในดงเมืองเตยในเวลาต่อมา
เอกลักษณ์ดงเมืองเตย คือ ลักษณะอาคารที่มีบันไดเป็นรูปอัฒจันทร์ และชิ้นส่วนประดับอาคารรูปกูฑุที่ภายในสลักใบหน้าบุคคล แสดงถึงอิทธิพลอินเดียสมัยคุปตะ-หลังคุปตะในศิลปะทวารวดี เช่นเดียวกับที่เจดีย์จุลประโทน จังหวัดนครปฐม โบราณสถานดงแม่นาเมือง จังหวัดนครสวรรค์ โบราณสถานหมายเลข 18 เมืองศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรี เป็นต้น[2]
รายละเอียดของยุคสมัย
[แก้]โดยสมเดช ลีลามโนธรรม พ.ศ. 2538 มีดังนี้
- ระยะที่ 1 อยู่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย อายุประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว ปรากฏร่องรอยกิจกรรมการถลุงและผลิตเหล็กในระดับอุตสาหกรรมในระยะแรกเริ่ม เช่นเดียวกับชุมชนร่วมสมัยต่างๆ ในลุ่มน้ำมูลและชี สภาพพื้นที่เนินดินแห่งนี้เหมาะกับตั้งเป็นชุมชน โดยเฉพาะการตั้งอยู่ใกล้ลำน้ำและแม่น้ำสายใหญ่คือแม่น้ำชี ชุมชนคงมีการเพาะปลูกข้าวตั้งแต่การอยู่อาศัยในช่วงแรกๆ พบว่ามีการใช้ฟางข้าวเป็นส่วนผสมในการทำภาชนะดินเผาอย่างแพร่หลาย ภาชนะดินเผาที่ใช้กันในสมัยนี้มีรูปทรงธรรมดาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หม้อก้นกลม ชาม อ่าง จากปริมาณเศาภาชนะดินเผาที่พบจากการขุดค้นทำให้สันนิษฐานได้ว่าระยะที่ 1 นี้น่ายังมีประชากรไม่หนาแน่นมากนัก
- ระยะที่ 2 ชุมชนโบราณดงเมืองเตยมีการติดต่อแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่นๆ ภายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพราะพบเศษภาชนะดินเผาที่มีการตกแต่งด้วยการเขียนสีขาวเป็นเส้นตั้งสั้นๆ บริเวณขอบปากด้านใน การตกแต่งภาชนะลักษณะนี้เรียกว่าภาชนะดินเผาแบบร้อยเอ็ดหรือแบบทุ่งกุลา เคยพบที่แหล่งโบราณคดีโนนยาง จ.สุรินทร์ และแหล่งโบราณคดีบ้านกระเบื้องนอก จ.นครราชสีมา ในเขตลุ่มแม่น้ำมูล มีอายุเชิงเทียบอยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 1-11 กิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนแห่งนี้ เช่น การเพาะปลูกข้าว การผลิตภาชนะดินเผา ส่วนใหญ่ผลิตขึ้นเองภายในชุมชน เนื่องจากภาชนะดินเผามีทั้งรูปทรงธรรมดาสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ทรงหม้อก้นกลม ทรงชาม และทรงอ่าง การตกแต่งมีลวดลายขูดขีด เชือกทาบ และเรียบ นอกจากนี้ยังมีภาชนะดินเผาจากต่างถิ่น ดังเช่นภาชนะดินเผาที่มีการเขียนสีขาว กิจกรรมเหล่านี้อาจสะท้อนให้เห็นถึงการแบ่งงานกันทำตามหน้าที่ของผู้คนในชุมชน แต่คงไม่มีสถานภาพแตกต่างกันมากนัก เนื่องจากไม่พบหลักฐานการเกิดระบบชนชั้นเหมือนกับที่พบในชุมชนร่วมสมัยเช่นที่แหล่งโบราณคดีบ้านเชียงเหียน จ.มหาสารคาม นอกจากนี้ ยังพบกระบอกอัดลมแบบสองสูบที่ใช้ในการถลุงโลหะและเศษตะกรันเหล็ก แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการทางเทคโนโลยีด้านเหล็ก
- ระยะที่ 3 มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ มีการถลุงและผลิตเหล็กระดับอุตสาหกรรม พบหลักฐานการนำเศษตะกรันเหล็กจำนวนมากมาถมอัดเป็นฐานรองรับน้ำหนักของตัวอาคารที่สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 จากการสำรวจของอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ยังพบเศษภาชนะดินเผาแบบทุ่งกุลาซึ่งเป็นภาชนะที่มีมาตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ปะปนกับเศษตะกรัน (ศรีศักร วัลลิโภดม 2535:203) การผลิตเหล็กในชุมชนแห่งนี้ส่วนหนึ่งคงใช้เป็นสินค้าค้าขายแลกเปลี่ยนกับชุมชนภายนอก นอกจากนี้ยังพบว่านิยมใช้ภาชนะดินเผาแบบทาน้ำดินสีแดง และประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 สังคมของชุมชนในช่วงนี้เป็นสังคมเมืองอย่างชัดเจน มีชนชั้นปกครอง มีการขุดคูน้ำทำคันดิน โดยคูน้ำของเมืองถูกขนาบด้วยค้นดินทั้ง 2 ข้าง ชี้ให้เห็นว่าสร้างคูน้ำขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์สำคัญนการกักเก็บน้ำเพื่อใช้ในการอุปโภคบริโภคภายในชุมชน การขุดคูน้ำจำเป็นต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก การควบคุมคนก็ต้องมีผู้นำในการควบคุมและจัดระเบียบให้งานเป็นไปได้ด้วยความเรียบร้อย อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการขุดคูน้ำและทำคันดินของชุมชนแห่งนี้เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงเวลาใด อาจเป็นช่วงก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายหรือสมัยประวัติศาสตร์ตอนต้น ราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 แต่จากหลักฐานของโบราณสถานและจารึกที่กล่าวนามของกษัตริย์ผู้ปกครองเมือง แสดงให้เห็นถึงลักษณะของสังคมเมืองได้อย่างชัดเจนในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ว่าการขุดคูน้ำที่ดงเมืองเตยในลักษณะวงกลมหรือวงรีนั้น ชาวเมืองได้ขุดตามแอ่งยุบรอบเนินดินหรือโดมเกลือที่มีลักษณะเป็นวงกลมหรือวงรีอยู่แล้ว ลักษณะร่วมอีกประการหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนดงเมืองเตยกับชุมชนอื่นๆในลุ่มแม่น้ำมูล-ชี ในช่วงเวลาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย (2,500 ปีมาแล้วลงมา) อย่างหนึ่งคือประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 โดยการฝังในภาชนะดินเผาขนาดใหญ่ หรือไห จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 ของพื้นที่แถบนี้สัมพันธ์กับช่วงเวลาการเริ่มต้นกิจกรรมการถลุงเหล็ก ซึ่งการฝังศพครั้งที่ 2 ที่ดงเมืองเตยนี้อยู่ในช่วงสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายที่จะเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์แล้ว อาจเกิดการเผาศพขึ้น แต่ก็อาจยังปรากฏประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 อยู่ก็เป็นได้ ดังจะเห็นได้จากหลักฐานที่พบที่เมืองฟ้าแดดสงยาง จ.กาฬสินธุ์ และเมืองนครจำปาศรี จ.มหาสารคาม เป็นต้น
- ระยะที่ 4 อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12 สภาพชุมชนเป็นสังคมเมือง มีการสร้างศาสนสถาน หลักฐานจากจารึกแสดงให้เห็นถึงการมีกษัตริย์ปกครองชุมชน อาจมีการขุดคูน้ำทำคันดินในช่วงเวลานี้ จากหลักฐานด้านจารึกและโบราณสถานแสดงให้เห็นถึงการรับวัฒนธรรมเจนละเข้ามาในชุมชน เพราะอยู่ใกล้เส้นทางคมนาคมและแพร่กระจายวัฒนธรรมเขมรเข้ามาทางจังหวัดอุบลราชธานี บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ส่วนอิทธิพลด้านการเมือง ชื่อของกษัตริย์มีพระศรีมานปรเวลสนะ ซึ่งได้เป็นผู้ปกครองเมืองศังขปุระ (สันนิษฐานว่าอาจเป็นเมืองโบราณดงเมืองเตย) อาจเป็นขุนนางที่ทางอาณาจักรเจนละส่งเข้ามาปกครองหรือเป็นเจ้านายพื้นเมืองเดิมอยู่แล้วที่ได้รับการแต่งตั้งจากอาณาจักรเจนละให้ปกครองเมืองต่อไป โดยกษัตริย์ที่นับถือศาสนาฮินดู ไศวนิกาย สถานะผู้ปกครองเป็นเทพเจ้า เห็นได้จากข้อความในจารึกกล่าวถึงการสร้างศิวลึงค์และรูปแบบของโบราณสถานที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร ระยะต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 ชุมชนแห่งนี้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ เพราะพบหลักฐานการปักใบเสมาหิน พระพุทธรูป (ปางสมาธิ) หัวนาคของส่วนพระพุทธรูปปางนาคปรก (ศรีศักร วัลลิโภดม 2535:204) และอาจตกอยู่ภายใต้วัฒนธรรมเขมร แม้ว่าจะไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนถึงอิทธิพลกษัตริย์ขอมต่อเมืองโบราณแห่งนี้ แต่จากจารึกโนนสัง จ.ยโสธร พ.ศ. 1432 ที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ากษัตริย์องค์ใดโปรดให้สร้างขึ้นระหว่างพระเจ้าอินทรวรมันที่ 1 (พ.ศ. 1420-1432) หรือพระเจ้ายโศวรมันที่ 1 (พ.ศ. 1432-1443 หรือ 1453) โดยจารึกกล่าวถึงการสถาปนาและถวายสิ่งของแด่พระไตรโลกนาถ เพื่อที่จะทรงช่วยสรรพสัตว์ให้ถึงความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด (สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ 2537:13) การอยู่อาศัยของผู้คนและพัฒนาการของชุมชนแห่งนี้ดำเนินเรื่อยมา ในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 ปรากฏอิทธิพลวัฒนธรรมเขมรอย่างชัดเจน มีการใช้ประโยชน์จากโบราณสถานที่มีอยู่เพียงแห่งเดียวเป็นศูนย์กลางของเมืองต่อไป ดังได้พบประติมากรรมรูปสิงห์ 1ตัว จากการขุดแต่งบริเวณลายทางเดินด้านหน้าที่จะเข้าสู่ตัวโบราณสถานทางทิศตะวันออก ประติมากรรมรูปสิงห์ดังกล่าวมีลักษณะทางศิลปะแบบเขมรสมัยบาปวน (กลางพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 17) และจารึกขนาดเล็กที่เมืองโบราณแห่งนี้ อายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 หลักจากกลางพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา เราไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนของการอยู่อาศัยของผู้คน ณ ชุมชนแห่งนี้ มีเพียงชิ้นส่วนจารึกขนาดเล็กซึ่งมีอายุราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16 ถึงต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ดังที่กล่าวมาแล้ว และเครื่องถ้วยเขมรที่มีอายุค่อนข้างกว้าง อยู่ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15-18 เท่านั้น ซึ่งก็ไม่ใช่หักฐานเด่นชัดที่จะกล่าวได้ว่าในช่วงเวลาหลังพุทธศตวรรษที่ 17 ลงมาแล้วจะมีคนอยู่อาศัยต่อมา ถ้ามีผู้คนอาศัยอยู่ต่อมา บริเวณชุมชนแห่งนี้คงได้รับอิทธิพลทางการเมืองกษัตริย์เขมร โดยเฉพาะในรัชกาลของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (พ.ศ. 1656 ถึงหลัง 1688) และพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-1761?) ในรัชกาลของทั้ง 2 พระองค์ได้แพร่กระจายอำนาจครอบคลุมชุมชนต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือย่างกว้างขวาง หลังจากพุทธศตวรรษที่ 18 เมืองโบราณแห่งนี้คงถูกทิ้งร้างไปเนื่องจากไม่พบหลักฐานการอยู่อาศัยในระยะต่อมาเลยจนกระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ 20-22 คงมีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยหรือใช้ประโยชน์จากพื้นที่บริเวณชุมชนแห่งนี้บ้างเป็นครั้งคราว เนื่องจากได้พบหลักฐานของเครื่องถ้วยสุโขทัยและเครื่องถ้วยเวียดนาม ที่น่าจะมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 20-22 ในปริมาณที่ไม่มากนัก จนไม่อาจกล่าวได้ว่ามีการอยู่อาศัยที่หนาแน่นอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน
การขึ้นทะเบียน
[แก้]กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานดงเมืองเตยในราชกิจจานุเบกษา คือ การกำหนดจำนวนโบราณสถานสำหรับชาติ เล่มที่ 53 หน้า 1535 วันที่ 27 กันยายน 2479 และกำหนดเขตที่ดินบราณสถานสำหรับชาติ เล่มที่ 121 ตอนพิเศษ 53ง หน้า 5 วันที่ 10 พฤษภาคม 2547 เนื้อที่ประมาณ 22 ไร่ 3 งาน 81 ตารางวา ผู้ใดบุกรุกทำลายโบราณสถานมีความผิดตามกฎหมาย
โบราณวัตถุ
[แก้]โบราณวัตถุสำคัญในระยะที่ 4 ที่ได้จากชุมชนโบราณดงเมืองเตย ทั้งที่ได้จากการขุดแต่งโบราณสถานในปีงบประมาณ พ.ศ. 2534 ของหน่วยศิลปากรที่ 6 และจากการที่สำนักสงฆ์ดงเมืองเตยพบเมื่อ พ.ศ. 2525 ได้แก่
- จารึกดอนเมืองเตย พบอยู่ที่วงกบกรอบประตู ทำด้วยหินทรายแดงขนาด 200x80x60 เซนติเมตร มีรายละเอียดการพบและศึกษาคือ พ.ศ. 2526 หัวหน้าหน่วยศิลปากรที่ 6 ได้พบแผ่นหินทรายมีอักษรปัลลวะจารึกอยู่ 1 แผ่นมี 4 บรรทัด บรรทัดละ 4 วรรค ณ บริเวณโบราณสถานดอนเมืองเตย บ้านสงเปือย ตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร จากนั้น หน่วยศิลปากรที่ 6 ได้ถ่ายภาพจารึกนี้ โดยถ่ายภาพเป็น 4 ช่วง คือ ภาพที่ 1 เป็นภาพของวรรคที่ 1 ของบรรทัดที่ 1-4 ภาพที่ 2 เป็นภาพของวรรคที่ 2 ของบรรทัดที่ 1-4 ภาพที่ 3 เป็นภาพของวรรคที่ 3 ของบรรทัดที่ 1-4 และภาพที่ 4 เป็นภาพของวรรคที่ 4 ของบรรทัดที่ 1-4 จากนั้น หน่วยศิลปากรที่ 6 ได้ส่งภาพถ่ายทั้ง 4 นี้ให้แก่กองหอสมุดแห่งชาติ เพื่อให้เจ้าหน้าที่อ่าน-แปลเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2526 แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการรายงานข้อมูลไม่ละเอียดรัดกุมของหน่วยศิลปากรที่ 6 จึงทำให้เจ้าหน้าที่ของกองหอสมุดแห่งชาติเข้าใจว่าภาพทั้ง 4 นี้ เป็นแผ่นศิลาจารึก 4 แผ่น ดังนั้น เมื่อนายชะเอม แก้วคล้าย ผู้อ่านและแปลจึงสรุปออกมาว่า จารึกทั้ง 4 แผ่นนี้ไม่มีความสัมพันธ์กัน ทั้งนี้เพราะเข้าใจว่าภาพจารึกแต่ละภาพ แทนจารึกแต่ละแผ่น ภายหลังนายชะเอม แก้วคล้าย ได้วิเคราะห์จารึกหลักนี้อีกครั้งและพบว่าแท้จริงแล้วสำเนาจารึกทั้ง 4 แผ่น เป็นสำเนาของจารึกแผ่นเดียวกัน แต่ทำสำเนาแยกกัน ดังนั้นเมื่อนำสำเนาจารึกทั้ง 4 ชิ้น มาเรียงต่อกันให้ถูกต้องแล้วก็สามารถอ่านและแปลความหมายได้ จึงได้นำคำอ่านและแปลใหม่นี้ลงตีพิมพ์ในหนังสือ “เมืองอุบลราชธานี” เมื่อปี พ.ศ. 2532 เนื้อหาจารึกกล่าวถึงพระศรีมานประวรเสนะ ผู้เป็นใหญ่ในเมืองศังขปุระ และการสร้างลิงคโลก ซึ่งบุตรีของโกรญจพาหุ คนที่สิบสองที่ได้เป็นผู้มีอำนาจได้สร้างไว้ ข้อความในจารึกแสดงว่าโบราณสถานแห่งนี้ สร้างขึ้นเพื่อเป็นศาสนสถานในศาสนาพราหมณ์ที่นับถือพระศิวะ และในช่วงเวลานั้นบริเวณดอนเมืองเตยรวมทั้งชุมชนใกล้เคียงก็คงจะเคยเป็นเมืองที่มีชื่อว่า “ศังขปุระ” ซึ่งคงจะมีความสัมพันธ์ในฐานะเมืองในปกครองของอาณาจักรเจนละ ที่แผ่อำนาจเข้ามาในเขตลุ่มแม่น้ำมูล-ชี ในช่วงเวลาดังกล่าว ดังได้พบจารึกของกษัตริย์เจนละที่มีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 12-13 เป็นจำนวนหลายหลักในจังหวัดอุบลราชธานี บุรีรัมย์ และขอนแก่น จารึกหลักนี้ไม่ปรากฏผู้สร้างที่แน่ชัด กำหนดอายุได้พุทธศตวรรษที่ 12 จากลักษณะตัวอักษรปัลลวะ นายชะเอม แก้วคล้าย ยังให้ความเห็นว่า ลักษณะของรูปอักษรส่วนมากจะเหมือนกันกับจารึก เย ธมฺมาฯ ของจังหวัดนครปฐม และจารึกวัดสุปัฏนาราม จังหวัดอุบลธานี ซึ่งมีอายุอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 12
- ชิ้นส่วนประกอบอาคารหินทรายแดง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 37x80x50 เซนติเมตร สภาพสมบูรณ์ ด้านยาวทำเป็นช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายในสลักรูปดอกไม้กลม 4 กลีบ ด้านหว้างป็นรูปอาคารจำลองมีแต่ส่วนบันไดเรือนธาตุและประตูหลอก ลักษณะลวดลายเป็นลายดอกไม้กลม 5 กลีบ มีลายรูปสามเหี่ยมขนาดเล็กต่อจากกลีบดอกกไม้แต่ละกลีบ ระหว่างดอกไม้กลมแต่ละดอกมีดอกไม้กลมครึ่งดอกแทรกอยู่ทั้งด้านบนและล่าง โดยมีลายคล้ายกลีบดอเชื่อมระหว่างดอกไม้กลมเต็มดอกกับดอกไม้กลมครึ่งดอก
- ชิ้นส่วนประกอบอาคารหินทรายแดงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 280x73x53x เซนติเมตร สภาพเกือบสมบูรณ์ ด้านข้างงภายในช่องสี่เหลี่ยมผืนผ้า สลักดอกไม้กลม มีดอกไม้กลมครึ่งดอกแทรก และเชื่อมต่อกันโดยลายคล้ายกลีบดอกเช่นเดียวกับลายที่กล่าวมาแล้ว ด้านข้างเป็นรูปอาคารจำอง แต่สภาพชำรุด ลายดอกไม้นี้คล้ายกับศิลปะเขมรแบบสมโบร์ไพรกุก สมัยก่อนเมืองพระนคร อายุราวพุทธศตวรรษที่ 12-14
- กุฑุ สลักเป็นรูปบุคคลภายในวงโค้งหรือซุ้ม พบ 2 ชิ้น ผู้ศึกษาสันนิษฐานว่าลวดลายบนกุฑุคงได้รับอิทธิพลจากศิลปะเขมรแบบสมโบร์ไพรกุก สมัยก่อนเมืองพระนคร (พุทธศตวรรษที่ 12-14) แต่ภาพสลักใบหน้าของบุคคลรวมทั้งวงโค้งหรือซุ้มมีลักษณะคล้ายกับของศิลปะทวารวดี อาจเป็นเพราะคงได้รับอิทธิพลจากต้นแบบเดียวกันคือศิลปะอินเดียสมัยคุปตะ (พุทธศตวรรษณที่ 9-11) (สุภัทรดิศ ดิศกุล 2534 : 96-101)
- ชิ้นส่วนประกอบอาคารหินทรายแดง รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 196x96x25 เซนติเมตร สภาพไม่สมบูรณ์
- ชิ้นส่วนแท่นประติมากรรม สภาพเกือบสมบูรณ์ ขนาด 93x43x33 เซนติเมตร ส่วนที่เป็นช่องสี่เหลี่ยมขนาด 24x15x12 เซนติเมตร
- ใบเสมา มีทั้งที่ทำด้วยหินทรายและศิลาแลง อายุราวพุทธศตวรรษที่ 14-15 (Piriya Kairiksh 1974 : 57-64)
- ประติมากรรมลอยตัวรูปสิงห์ ทำด้วยหินทรายขาว สภาพสมบูรณ์ สูง 115 เซนติเมตร ศิลปะเขมรแบบบาปวน อายุราวครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 16
- ชิ้นส่วนประติมากรรมลอยตัวรูปบุคคล ทำจากหินทรายแดง ใบหน้ารูปไข่ คาดกระบังหน้าบริเวณหน้าผาก เกล้าผมทรงชฎามงกุฎ
- ชิ้นส่วนพระหัตถ์ของพระพุทธรูปปางสมาธิ มีลักษณะเป็นชิ้นส่วนประติมากรรมรูปมือช่วงข้อมือขวาถึงหัวแม่มือและช่วงพระชานุขวาที่ส่วนพระหัตถ์วางอยู่
- ส่วนประกอบของอาคาร ทำด้วยหินทราย ลักษณะเป็นวงกลม ปลายบนสอบคอดเป็นร่องช่วงกลาง เส้นผ่าศูนย์กลาง 4.1 เซนติเมตร สูง 146 เซนติเมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางรูแกนกลาง 9 เซนติเมตร
- ส่วนประกอบอาคารหรือสิ่งเคารพ ทำด้วยหินทรายขาว ลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอกปลายมนบนฐานแปดเหลี่ยมตรงกลางกลวง สูงประมาณ 19 เซนติเมตร กว้างประมาณ 20 เซนติเมตร พบบริเวณด้านตะวันออกของโบราณสถาน
- ชิ้นส่วนภาพสลักทำจากหินทราย ลักษณะแบน มีลานสลักนูนต่ำคล้ายลายส่วนท้องนาค
- ชิ้นส่วนจารึก โบราณวัตถุชิ้นนี้ ชาวบ้านเป็นผู้มอบให้เจ้าหน้าที่หน่วยศิลปากรที่ 6 โดยพบในบริเวณที่นาที่อยู่ชิดกับแนวคันดินของเมืองโบราณแห่งนี้ จารึกด้วยอักษรขอม ภาษาสันสกฤต จำนวน 3 บรรทัด มีคำจารึกว่า สรษ ฎรฺ ...น วรฺห มาสู ไม่สามารถจับใจความได้ แต่จากรูปอักษรสามารถประมาณอายุอยู่ในราวกลางพุทธศตวรรษที่ 16-ต้นพุทธศตวรรษที่ 18 (ธรดรา ทองสิมา และนฤมล เภกะนันท์ 2536 : 26-27)
- ตุ้มดินเผา
- กระปุกขนาดเล็ก 2 หู แต่หูหักไปข้างหนึ่งแล้ว เคลือบสีเขียวอ่อน
- เศษภาชนะดินเผา
การเดินทาง
[แก้]เดินทางจากตัวจังหวัดยโสธร ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 23 (ถนนแจ้งสนิท) มุ่งหน้าทางทิศใต้หรือมุ่งหน้าตำบลสงเปือย อำเภอคำเขื่อนแก้ว ประมาณ 20 กิโลเมตร เลี้ยวขวามุ่งหน้าบ้านสงเปือย ประมาณ 4.7 กิโลเมตร ถึงตัวหมู่บ้าน เลี้ยวซ้ายใช้ถนนภายในหมู่บ้านประมาณ 550 เมตร เลี้ยวซ้ายอีกประมาณ 650 เมตร ถึงตัวเนินดงเมืองเตยและสำนักสงฆ์ดงเมืองเตย โบราณสถานดงเมืองเตยตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของเนิน
อ้างอิง
[แก้]- ↑ https://www.sac.or.th/databases/archaeology/archaeology/%E0%B8%8A%E0%B8%B8%E0%B8%A1%E0%B8%8A%E0%B8%99%E0%B9%82%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B8%94%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%A2
- ↑ http://www.qrcode.finearts.go.th/index.php/th/historic-site/hs-ya-sothon/item/440-hs-yasothon-009