อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Ban Mai Chaiyaphot
ปราสาทกู่สวนแตง
คำขวัญ: 
กู่สวนแตงเด่นสง่า ล้ำค่ากูฤๅษี
ผ้าไหมมัดหมี่ ประเพณีบุญบั้งไฟ
แผนที่จังหวัดบุรีรัมย์ เน้นอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์
แผนที่จังหวัดบุรีรัมย์ เน้นอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์
พิกัด: 15°34′22″N 102°50′0″E / 15.57278°N 102.83333°E / 15.57278; 102.83333
ประเทศ ไทย
จังหวัดบุรีรัมย์
พื้นที่
 • ทั้งหมด175.0 ตร.กม. (67.6 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด26,393 คน
 • ความหนาแน่น150.82 คน/ตร.กม. (390.6 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 31120
รหัสภูมิศาสตร์3119
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์
หมู่ที่ 1 บ้านใหม่ไชยพจน์ ถนนเจนจบทิศ ตำบลหนองแวง อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ จังหวัดบุรีรัมย์ 31120
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

บ้านใหม่ไชยพจน์ [–ไช-ยะ-พด] เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์ ห่างจากตัวจังหวัดบุรีรัมย์ประมาณ 95 กิโลเมตร ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก แยกตัวออกจากอำเภอพุทไธสงเมื่อ พ.ศ. 2536 มีชื่อเสียงในเรื่องการทอผ้าไหมมัดหมี่ และมีงานประจำปีที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี คือ ประเพณีปรางค์กู่สวนแตง และบุญบั้งไฟบ้านใหมไชยพจน์

ประวัติ[แก้]

เดิมพื้นที่บริเวณ กม.ศูนย์ (ที่ตั้งอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์) มีลักษณะเป็นป่าทึบ จึงเป็นที่ซ่องสุ่มของโจรผู้ร้าย เมื่อปี พ.ศ. 2497 นายไชยพจน์ ภู่กำชัย นายอำเภอพุทไธสงในขณะนั้น มีแนวความคิดขอจัดตั้งหมู่บ้านในบริเวณดังกล่าวโดยใช้ชื่อว่า บ้าน กม.ศูนย์ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2499 และได้รับอนุมัติเมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2500 โดยนายไชยพจน์เป็นผู้วางผังหมู่บ้านและเปิดให้จับจองที่ดิน

ต่อมามีการปรับปรุงถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 202 ขยายช่องทางการจราจร ทำให้การคมนาคมสะดวกขึ้น ประกอบกับท้องที่ของอำเภอพุทไธสงในขณะนั้น มีอาณาเขตกว้างขวาง ประชาชนบางส่วนอยู่ห่างไกลจากตัวอำเภอ เจ้าหน้าที่ออกตรวจตราดูแลความทุกข์สุขไม่ทั่วถึง ทำให้ในปี พ.ศ. 2521 ชาวบ้าน กม.ศูนย์ และประชาชนราว 10,000 คน ของทั้ง 5 ตำบล จึงได้เสนอขอแบ่งท้องที่อำเภอพุทไธสงตั้งเป็นกิ่งอำเภอ ชื่อว่า กิ่งอำเภอกู่สวนแตง แต่ไม่ได้รับการอนุมัติจากกระทรวงมหาดไทย

จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2535 ชุมชนบ้าน กม.ศูนย์ ขยายใหญ่ขึ้น คณะกรรมการหมู่บ้านสภาตำบลหนองแวงจึงได้เสนอขอจัดตั้งกิ่งอำเภอใหม่อีกครั้งในนาม กิ่งอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ เพื่อเป็นเกียรติแก่นายไชยพจน์ ภู่กำชัย ผู้เสนอจัดตั้งหมู่บ้าน กม.ศูนย์ อันเป็นที่ตั้งของอำเภอใหม่ และกิ่งอำเภอนี้ได้รับการอนุมัติจัดตั้งจากกระทรวงมหาดไทยเมื่อ พ.ศ. 2535 โดยรวมตำบลทองหลาง หนองแวง กู่สวนแตง แดงใหญ่ และหนองเยือง รวม 46 หมู่บ้าน ประชากร 23,970 คน ตั้งกิ่งอำเภอ ณ บ้าน กม.ศูนย์ ตำบลหนองแวง[1] และได้ยกฐานะเป็น อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ เมื่อ พ.ศ. 2540[2]

ภูมิศาสตร์[แก้]

ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]

อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอหนองสองห้อง (จังหวัดขอนแก่น)

ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอพุทไธสง

ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอเมืองยาง (จังหวัดนครราชสีมา)

ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอประทาย (จังหวัดนครราชสีมา)

ภูมิประเทศและภูมิอากาศ[แก้]

อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ มีเนื้อที่ประมาณ 175 ตารางกิโลเมตร ทางตอนเหนือของอำเภอมีลักษณะเป็นที่ราบสลับกับทุ่งกว้าง ประกอบกับดินเหนียว ดินทราย ส่วนทางตอนใต้มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มลำสะแทด อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ มีสภาพอากาศแบ่งออกเป็น 3 ฤดู ดังนี้

ฤดูร้อน : ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงพฤษภาคม

ฤดูฝน : เดือนพฤษภาคม ถึงตุลาคม

ฤดูหนาว : เดือนพฤศจิกายน ถึงกุมภาพันธ์

ทรัพยากรธรรมชาติ[แก้]

อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์มีแหล่งน้ำที่สำคัญดังนี้

ห้วยแอก อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของอำเภอ ต้นน้ำอยู่ที่อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น เป็นลำห้วยขนาดใหญ่ และไหลลงลำสะแทดที่บ้านส้มป่อย-ไทรทอง ตำบลหนองเยือง เป็นแนวแบ่งเขตแดนกับอำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา

ลำสะแทด อยู่ทางด้านทิศใต้ ต้นน้ำอยู่ในเขตอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา เป็นลำน้ำขนาดใหญ่ ไหลลงแม่น้ำมูลที่อำเภอพุทไธสง เป็นแนวแบ่งเขตแดนกับ อำเภอเมืองยาง จังหวัดนครราชสีมา

ห้วยตะกั่ว เป็นลำน้ำขนาดเล็ก ต้นน้ำอยู่ทางด้านทิศเหนือของอำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น ไหลผ่านตำบลแดงใหญ่ ตำบลหนองแวง ตำบลกู่สวนแตง และไหลลงลำสะแทดที่ตำบลกู่สวนแตง

อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์มีพื้นที่ป่าไม้ที่สำคัญดังนี้

สวนป่าสิริกิตติ์ หมู่ที่ 2 ตำบลทองหลาง มีเนื้อที่ 119 ไร่

ป่าสงวนแห่งชาติหนองข่า หมู่ที่ 5 และ 6 ตำบลแดงใหญ่ มีเนื้อที่ประมาณ 2,470 ไร่

การแบ่งเขตการปกครอง[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค[แก้]

อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 5 ตำบล 55 หมู่บ้าน

1. หนองแวง (Nong Waeng) 15 หมู่บ้าน
2. ทองหลาง (Thonglang) 10 หมู่บ้าน
3. แดงใหญ่ (Daeng Yai) 09 หมู่บ้าน
4. กู่สวนแตง (Ku Suan Taeng) 12 หมู่บ้าน
5. หนองเยือง (Nong Yueang) 09 หมู่บ้าน

การปกครองส่วนท้องถิ่น[แก้]

ท้องที่อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 6 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลตำบลบ้านใหม่ไชยพจน์ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลทองหลางและบางส่วนของตำบลหนองแวง
  • องค์การบริหารส่วนตำบลทองหลาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลทองหลาง (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลบ้านใหม่ไชยพจน์)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหนองแวง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองแวง (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลบ้านใหม่ไชยพจน์)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลกู่สวนแตง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลกู่สวนแตงทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลแดงใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลแดงใหญ่ทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหนองเยือง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองเยืองทั้งตำบล

การศึกษา[แก้]

โรงเรียนระดับประถมศึกษา (สพฐ.)

มีทั้งหมด 21 โรงเรียน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

โรงเรียนระดับมัธยมศึกษา (สพม.)

สถานที่สำคัญ[แก้]

ปรางค์กู่สวนแตง

เป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู สร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16-17 โดยได้รับอิทธิพลจากศิลปกรรมสมัยนครวัดเป็นโบราณสถานอีกแห่งที่ถูกวางระเบิดจนองค์ปรางค์พังทลายลงมาเพื่อโจรกรรม ชิ้นส่วนปราสาทไปขาย ภายหลังกรมศิลปากรได้บูรณะใหม่จนมีความสมบูรณ์ และประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2547

ลักษณะของกู่ประกอบด้วย ปรางค์อิฐ 3 องค์ ตั้งเรียงกันในแนวเหนือ-ใต้ บนฐานศิลาแลงเดียวกัน อาคารทั้งหมดหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีประตูหน้าเพียงประตูเดียว อีก 3 ด้าน สลักเป็นประตูหลอก ปรางค์องค์กลางมีขนาดใหญ่และมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์เป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ด้านหน้าทั้ง 3 ด้าน มีลักษณะยื่นออกมาและมีแผ่นศิลาทรายรองรับ ส่วนปรางค์อีกสององค์มีขนาดเล็กกว่าฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีประตูเดียวทางด้านหน้า เช่นกัน ส่วนผนังอีก 3 ด้าน ก่อเรียบทึบ สำหรับบนพื้นหน้าปรางค์มีส่วนประกอบสถาปัตยกรรมหินทรายอื่นๆ ตกหล่นอยู่ เช่น ฐานบัว ยอดปรางค์ กลีบขนุน รูปนาค 6 เศียร อายุของกู่สวนแตงสามารถกำหนดได้จากทับหลังของปรางค์ ซึ่งปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ที่ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนครอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 17 เนื่องจากภาพสลักบนทับหลังทั้งหมดมีลักษณะตรงกับศิลปะขอมแบบนครวัด ที่มีอายุอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว อาทิเช่น ทับหลังสลักภาพพระนารายณ์ตรีวิกรม (ตอนหนึ่งในวามนาวตารแสดงภาพพระนารายณ์ย่างพระบาท 3 ก้าว เหยียบโลกบาดาล โลกมนุษย์ และโลกสวรรค์) ทับหลังภาพศิวนาฎราช ทับหลังภาพการกวนเกษียรสมุทร ทับหลังภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์ ฯลฯ แต่ละชิ้นมีขนาดใหญ่สวยงามน่าสนใจยิ่ง

ปรางค์กู่ฤๅษี

เป็นลักษณะปรางค์กู่หินศิลาแลงวางเรียงซ้อนกัน และวงเป็นกำแพงล้อมตัวกู่ ภายในมีพระพุทธองค์ใหญ่ และรูปปั้นฤๅษี ประดิษฐานอยู่ภายในบริเวณ บริเวณศิลาแลงด้านในมีต้นจำปีปลูกล้อมรอบ 7 ต้น ด้วยกัน และบริเวณรอบนอกศิลาแลง ด้านทิศเหนือมีสระน้ำบึงขนาดเล็กอยู่ด้านข้าง ด้านชาวบ้านในบริเวณนั้น บอกว่าสร้างมานานแล้ว แต่ในอดีตมี พระภิกษุมาจำวัดที่นี้ แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว โดยสถานแห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และนับถือของชาวบ้านใน ละแวกนี้

วัฒนธรรม[แก้]

อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์มีเทศกาลและงานประเพณีที่สำคัญดังนี้

ประเพณีปรางค์กู่สวนแตงและบุญบั้งไฟบ้านใหม่ไชยพจน์ บริเวณโบราณสถานปรางกู่สวนแตง (ข้างโรงเรียนกู่สวนแตงพิทยาคม) ประมาณกลางเดือนพฤษภาคมของทุกปี

ประเพณีบุญฉลองปรางค์กู่ฤๅษี บริเวณโบราณสถานปรางค์กู่ฤๅษี ตำบลหนองเยือง ประมาณกลางเดือนมีนาคมของทุกปี

งานกาชาดอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์และงานฉลองเจ้าพ่อ กม.ศูนย์ บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ ประมาณต้นเดือนธันวาคมของทุกปี

อ้างอิง[แก้]

  1. "ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง แบ่งเขตท้องที่อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ ตั้งเป็นกิ่งอำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 109 (53 ง ฉบับพิเศษ): 17. 22 เมษายน 2535. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  2. "พระราชกฤษฎีกาตั้งอำเภอหนองปรือ อำเภอห้วยกระเจา อำเภอทรายทองวัฒนา อำเภอปางศิลาทอง อำเภอเนินสง่า อำเภอนาทม อำเภอพระพรหม อำเภอแม่วงก์ อำเภอสองแคว อำเภอบ้านใหม่ไชยพจน์ อำเภอไทยเจริญ อำเภอกาบัง อำเภอพยุห์ อำเภอเมืองจันทร์ อำเภอภูพาน อำเภอคลองหอยโข่ง อำเภอเขาฉกรรจ์ อำเภอนาวัง อำเภอพิบูลย์รักษ์ และอำเภอทุ่งศรีอุดม พ.ศ. ๒๕๔๐" (PDF). ราชกิจจานุเบกษา. 114 (50 ก): 24–27. 26 กันยายน 2540. {{cite journal}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)