ข้ามไปเนื้อหา

สมัยประชุมวิสามัญของรัฐสภาไทย 26–27 ตุลาคม 2563

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ระหว่างวันที่ 26–27 ตุลาคม 2563 สภาผู้แทนราษฎรไทยเปิดสมัยประชุมวิสามัญเนื่องจากสถานการณ์การประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563 ตามมติของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ เป็นสมัยประชุมที่ไม่มีการออกเสียงลงมติ มีกำหนดระยะเวลา 25 ชั่วโมง แต่ฝ่ายค้านมองว่าเป็นความพยายามฟอกขาวรัฐบาล และป้ายสีผู้ชุมนุม

ในที่ประชุมได้ข้อเสนอ 2 เรื่อง คือ การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญและการตั้งคณะกรรมการหลายฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาการเมือง ซึ่งประยุทธ์ จันทร์โอชาก็เห็นด้วย

ก่อนสมัยประชุม

[แก้]

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ และออกเป็นพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ. 2563 เผยแพร่วันที่ 21 ตุลาคม 2563 โดยระบุเหตุผลว่าต้องการทราบความเห็นของสมาชิกรัฐสภา 3 เรื่อง ได้แก่

  1. ความเสี่ยงของการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง
  2. เหตุขบวนเสด็จฯ ผ่านที่ชุมนุมบริเวณถนนพิษณุโลกในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 และประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในกรุงเทพมหานคร
  3. การสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวันในวันที่ 16 ตุลาคม 2563 และความกังวลสถานการณ์บานปลายเป็นการจลาจล[1] ญัตติทั้งสามข้อไม่มีข้อใดตอบสนองข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม อันได้แก่ นายกรัฐมนตรีลาออก ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีไปตรงกับข้อเรียกร้องของพรรคก้าวไกลบ้างตรงที่ต้องการอภิปรายประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ[1]

ในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 พรรคร่วมฝ่ายค้านแถลงว่าญัตติของคณะรัฐมนตรีเป็นการใส่ร้ายผู้ชุมนุม ต้องการใช้เวทีรัฐสภาฟอกขาวให้รัฐบาล และไม่ใช่ทางออกของปัญหา[2] พรรคก้าวไกลเตรียมเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในข้อบกพร่องการกำหนดเส้นทางเสด็จฯ เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ด้านพรรคเพื่อไทยระบุว่าเตรียมผู้อภิปรายไว้ 20 คนเกี่ยวกับการประท้วง แต่เห็นว่าไม่ควรอภิปรายเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ในที่ประชุม และให้ขึ้นอยู่กับประธานวิปรัฐบาล ส่วนพรรคพลังประชารัฐจัดตัวผู้อภิปรายไว้ 5 คน ได้แก่ วิรัช รัตนเศรษฐ, ไพบูลย์ นิติตะวัน, ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์, ปารีณา ไกรคุปต์ และสิระ เจนจาคะ โดยส่วนใหญ่จะอภิปรายในเรื่องเหตุการณ์ขบวนเสด็จฯ[3]

สมัยประชุมดังกล่าวจัดเวลาอภิปรายไว้ 25 ชั่วโมง แบ่งเป็น ส.ส.ฝ่ายค้าน 8 ชั่วโมง, ส.ส.รัฐบาล 5 ชั่วโมง, คณะรัฐมนตรี 5 ชั่วโมง และสมาชิกวุฒิสภา 5 ชั่วโมง และชวน หลีกภัยในฐานะประธานรัฐสภา 2 ชั่วโมง[4] กลุ่มประชาชนปลดแอกมองว่าการประชุมดังกล่าวเวลาส่วนใหญ่เป็นของฝั่งรัฐบาล และขอให้ประชาชนร่วมกันจับตาว่ารัฐบาลจะใช้วิธีฟอกขาวตนเองอย่างไร และเชื่อว่าความขัดแย้งทางการเมืองจะเพิ่มขึ้น[5] ผู้คุมเสียงในสภาฝ่ายรัฐบาลเชื่อว่าสมาชิกรัฐสภามีวุฒิภาวะมากพอไม่อภิปรายถึงประเด็นอ่อนไหว คือ เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ และกล่าวว่า หากสมาชิกคนใดอภิปรายจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากเอกสิทธิ์ตามกฎหมาย[6]

ตำรวจเตรียมรถคุมขังและปืนฉีดน้ำแรงดันสูงดูแลความปลอดภัยโดยรอบที่ประชุม[7]

กลุ่มผู้ชุมนุมศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (ศปปส.) ชุมนุมข้ามคืนวันที่ 25–26 ตุลาคม 2563 รอบสัปปายะสภาสถาน เพื่อเตรียมยื่นคัดค้านการตั้งคณะกรรมาธิการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยมีสุวิทย์ ทองประเสริฐ (อดีตพระพุทธะอิสระ) เข้าร่วมด้วย[8] โดยพลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง​ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​อำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มดังกล่าวโดยจัดหารถสุขาและรถขยะให้[9]

การประชุม

[แก้]

ในวันที่ 26 ตุลาคม มีสมาชิกรัฐสภา 450 คนจาก 731 คนลงชื่อเข้าประชุม[10] ในครึ่งเช้า พรรคร่วมรัฐบาลเสนอให้คณะกรรมการสมานฉันท์ซึ่งประกอบขึ้นจากผู้แทนทุกฝ่าย และให้รัฐบาลกำหนดขอบเขตระยะเวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน ส่วนพรรคร่วมฝ่ายค้านยืนยันว่าให้นายกรัฐมนตรีลาออก[11] พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา​ อภิปรายว่า รัฐบาลต้องจัดการกับการชุมนุมตามกฎหมาย ต้องรักษาสิทธิของคนไทยทุกคน และฝากถึงผู้ประท้วงว่าประเทศไทยมีประวัติศาสตร์ยาวนาน แม้ว่าทุกอย่างเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย แต่คนไทย "หลายสิบล้านคน" ไม่อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงที่วุ่นวาย ด้านตัวแทนพรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การชุมนุมของผู้ประท้วงไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และกล่าวว่าการอารักขาขบวนเสด็จฯ เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ใช่โยนความผิดให้ผู้ชุมนุม ด้านไพบูลย์ นิติตะวัน​ในฐานะ ส.ส. พรรครัฐบาล อภิปรายโจมตีขบวนการผู้ชุมนุมว่ามีจุดประสงค์แอบแฝงเพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบสาธารณรัฐ และข้อเรียกร้องสามข้อของผู้ประท้วงนั้นมีจุดประสงค์ขั้นสุดท้ายเพื่อการนี้เพียงข้อเดียว[4]

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ ศาสตราจารย์ ดร. วิษณุ เครืองาม ชี้แจงว่า จะมีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม โดยจะมีการเตรียมเสนอร่างพระราชบัญญัติประชามติในสัปดาห์หน้า และอาจมีความเป็นไปได้ที่ประยุทธ์ลาออกและนายกรัฐมนตรีคนใหม่มาจากการเลือกตั้งของสมาชิกรัฐสภาจำนวนกึ่งหนึ่ง คือ 366 เสียง โดยใช้บุคคลในบัญชีผู้เสนอเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562[12]

พลตำรวจเอก เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย​ เดินออกจากที่ประชุมหลังไม่ยอมถอนคำพูด "ไอเฮียร์ทู" (I hear too) ซึ่งประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย ระบุว่าเป็นการเสียดสีนายกรัฐมนตรี สื่อแพร่ภาพประยุทธ์ถ่ายภาพ ส.ส. พรรคก้าวไกลคนหนึ่งขณะอภิปรายด้วย[10]

วันที่ 27 ตุลาคม มีข่าว วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส. พรรคเพื่อไทย​ กรีดร่างกายตนเองเพื่อประท้วงนายกรัฐมนตรี ก่อนถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล ด้านสิระ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐออกความเห็นว่า "สมน้ำหน้า" ปารีณา ไกรคุปต์​ เรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. ส่วนประยุทธ์กล่าวว่าได้รับข่าวว่ามีการเตรียมการล่วงหน้า[13] ขณะที่ ส.ว. หลายคนอภิปรายสนับสนุนประยุทธ์[13]

ส.ส. พรรคพลังประชารัฐยังอภิปรายโจมตีผู้ประท้วงต่อไปโดยกล่าวหาว่ามีผู้อยู่เบื้องหลังขบวนการนักศึกษา จากกรณีการชุมนุมหน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยในวันที่ 26 ตุลาคม มีการ "ชักศึกเข้าบ้าน" ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ระบุว่า "ปราศรัย 1 ชั่วโมง โจมตีรัฐบาล 10 นาที อีก 50 นาทีโจมตีสิ่งที่อยู่เหนือกว่ารัฐบาล... มีการกล่าวหาว่ารัฐบาลเป็นหมา บอกถ้าหมาข้างบ้านเห่า เขาจะไม่ไปพูดกับหมา ไม่ทะเลาะกับหมา เขาจะทะเลาะกับเจ้าของหมา" พร้อมกับเสนอให้ทวงคืน "อธิปไตย" ของไทยบนสื่อสังคม[13]

ปฏิกิริยา

[แก้]

ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่าตนเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และตั้งคณะกรรมการหาทางออก แต่จะไม่ลาออก[14]

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของไทย ให้สัมภาษณ์หลังจบการประชุมว่า การประชุมนี้ไม่เสียเปล่าเพราะได้ข้อสรุปคือจะเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีการตั้งคณะกรรมการทุกฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาการเมือง แต่กรอบเวลาจะขึ้นอยู่กับประธานรัฐสภา[15] ส่วน รศ.ดร.ปิยบุตร แสงกนกกุล เห็นว่า การประชุมนี้มีแนวทางอภิปรายเพียง 2 เรื่อง คือ พยายามกล่าวหานักศึกษาว่ามีเบื้องหลัง และขัดขวางข้อเสนอปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และกังวลว่าหากประชาชนไม่เชื่อมั่นในกระบวนการรัฐสภาก็จะกลับสู่วังวนการประท้วงบนถนนอีก[16]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 "จับตา 3 หัวข้อ ประชุมสภาสมัยวิสามัญ 26-27 ต.ค.นี้". Thai PBS. 26 October 2020. สืบค้นเมื่อ 26 October 2020.
  2. "6 พรรคฝ่ายค้าน จำใจร่วมอภิปรายวิสามัญ วิปรัฐบาลไม่ขวางหากพูดเรื่องสถาบัน". ประชาชาติธุรกิจ. 22 October 2020. สืบค้นเมื่อ 26 October 2020.
  3. "ฝ่ายค้าน-รัฐบาล จัดขุนพล เปิดศึกประชุมสมัยวิสามัญ ผ่าทางตันประเทศ 26-27 ต.ค. - ข่าวช่อง3 CH3 Thailand NEWS". CH3 Thailand NEWS. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-10-29. สืบค้นเมื่อ 26 October 2020.
  4. 4.0 4.1 "พล.อ. ประยุทธ์ คือ "บุคคลที่เป็นเลิศด้านจงรักภักดีต่อสถาบันฯ"". BBC ไทย. สืบค้นเมื่อ 26 October 2020.
  5. "คณะประชาชนปลดแอก ห่วงใช้สภา "ฟอกขาว" รัฐบาล". Thai PBS. 26 October 2020. สืบค้นเมื่อ 26 October 2020.
  6. "House convenes to solve crisis". Bangkok Post. สืบค้นเมื่อ 26 October 2020.
  7. "ตำรวจ-รถคุมขัง-รถฉีดน้ำแรงดันสูง เตรียมพร้อมรอบอาคารรัฐสภา". ประชาชาติธุรกิจ. 26 October 2020. สืบค้นเมื่อ 26 October 2020.
  8. "ศปปส.ปักหลักชุมนุมหน้าสภา "พุทธะอิสระ" จ่อยื่นค้านตั้ง กมธ.ปฏิรูปสถาบัน". ไทยรัฐ. 26 October 2020. สืบค้นเมื่อ 26 October 2020.
  9. "'อัศวิน'จัดรถขยะ-รถสุขา ให้ม็อบป้องสถาบันฯหน้ารัฐสภา". เดลินิวส์. สืบค้นเมื่อ 25 October 2020.
  10. 10.0 10.1 "Lawmaker Walks Out From Parliament Over 'I Hear Too' Remark". Khaosod English. 26 October 2020. สืบค้นเมื่อ 26 October 2020.
  11. "ผ่านไป 4 ชั่วโมงประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ". ฝ่ายข่าว ช่อง 7. สืบค้นเมื่อ 26 October 2020.
  12. "วิษณุ แจงไทม์ไลน์ ประยุทธ์ ยุบสภา-ลาออก ประชามติ แก้รัฐธรรมนูญ". ประชาชาติธุรกิจ. 26 October 2020. สืบค้นเมื่อ 26 October 2020.
  13. 13.0 13.1 13.2 "ส.ส. เพื่อไทย กรีดเลือดกลางสภา ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ลั่นไม่ลาออก". BBC ไทย. 27 October 2020. สืบค้นเมื่อ 28 October 2020.
  14. "บิ๊กตู่ บ่น เจ็บหู หลังจบประชุมสภา ย้ำ เห็นด้วยแก้รธน.-ตั้งกก.หาทางออก". ข่าวสด. 28 October 2020. สืบค้นเมื่อ 28 October 2020.
  15. "'จุรินทร์' ยันประชุมสภาฯ ไม่เสียเปล่า ได้ข้อสรุปแก้รธน.-ตั้งกก.หาทางออก". VoiceTV. สืบค้นเมื่อ 28 October 2020.
  16. "'ปิยบุตร' จวกประชุมสภาวิสามัญไร้ความหมาย - 'ธนาธร' ขอรัฐอย่าบีบ ปชช.ให้ต้องเลือกข้าง". VoiceTV. สืบค้นเมื่อ 28 October 2020.