ทะลุวัง

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ทะลุวัง เป็นชื่อกลุ่มนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยและการปฏิบัติต่อนักโทษการเมือง โดยมีกิจกรรมที่โดดเด่น ได้แก่ การทำโพลในเรื่องขบวนเสด็จฯ และการอดอาหารและน้ำเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของนักโทษการเมือง

การดำเนินกิจกรรม[แก้]

การทำโพล[แก้]

การทำโพลของกลุ่มทะลุวัง บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

กลุ่มทะลุวังมีการทำกิจกรรมครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2564 ด้วยการทำโพลตั้งคำถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112[1] ต่อมาในช่วงต้นปี 2565 ได้มีการเคลื่อนไหวในรูปแบบการทำโพลสำรวจเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ไทย โดยใช้แผ่นกระดาษเขียนข้อความคำถาม และแบ่งเป็นช่องคำตอบให้ผู้ตอบแบบสำรวจใช้สติ๊กเกอร์สีแปะฝั่งที่ตนเองเห็นด้วย และทำการเดินสำรวจไปตามสถานที่สำคัญต่าง ๆ อาทิ ในวันที่ 8 กุมพาพันธ์ 2565 ณ ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน[2] ด้วยคำถามว่า คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่ ในวันที่ 13 มีนาคม 2565 ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ด้วยคำถามว่า คุณยินดีที่จะยกบ้านของคุณให้กับราชวงศ์หรือไม่[3] โดยทำให้เกิดการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในรูปแบบเดียวกันแพร่กระจายไปตามการชุมนุมต่าง ๆ ของกลุ่มแนวร่วม โดยโพลดังกล่าวส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินคดีตามกฎหมายอาญามาตรา 112 กับสมาชิกกลุ่มและอดีตสมาชิกกลุ่มที่จัดกิจกรรมโพลสำรวจดังกล่าว โดยบางส่วนไม่ได้รับการประกันตัว[4] ต่อมาผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มทะลุวัง 2 คน สุพิชฌาย์ ชัยล้อม (เมนู) และเบญจมาภรณ์ นิวาส (พลอย) ได้ลี้ภัยทางการเมืองไปยังแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา[5]

การอดอาหารและน้ำ[แก้]

ในวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2566 สมาชิกกลุ่มทะลุวังสองคน ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ (ตะวัน) และอรวรรณ ภู่พงษ์ (แบม) ยื่นขอถอนประกันตัวเอง ภายหลังจากวันที่ 9 มกราคมที่ศาลอาญาได้มีคำสั่งเพิกถอนประกัน ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ (ใบปอ) สมาชิกกลุ่มทะลุวังอีกคน และโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง (เก็ท) โดยทั้งสี่คนเป็นจำเลยคดีความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย[6] พร้อมกันนั้น ทั้งสองประกาศข้อเรียกร้องให้ "ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ... ยุติการดำเนินคดีความกับประชาชนผู้ใช้สิทธิ ... แสดงออกทางการเมือง" และ "พรรคการเมืองทุกพรรคต้องเสนอ ... ยกเลิกมาตรา 112 และ 116"[7] และประกาศอดน้ำและอดอาหารในเรือนจำ[8] เมื่อวันที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2566 มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้ติดต่อทนายความของทั้งสองเกี่ยวกับอาการที่ย่ำแย่ลง โดยทั้งสองปฏิเสธการรักษา การให้น้ำเกลือ และการให้อาหารทางหลอดเลือด[9] ต่อมาวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 จากรายงานของทนายความ แบมมีอาการอ่อนเพลียไม่มีแรง ส่วนตะวันมีอาการเลือดออกตามไรฟัน นอนไม่หลับ ปวดท้อง เจ็บหน้าอก และตาพร่ามัว[10] ปฏิกิริยาจากสาธารณะ พบการติดป้ายข้อความสนับสนุนข้อเรียกร้องดังกล่าวในบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[11] และกลุ่มทะลุฟ้าได้จัดกิจกรรมชุมนุมทางการเมือง ‘ยืน หยุด ขัง' เป็นเวลา 112 ชั่วโมงหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร[12]

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566 ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวตะวันและแบมด้วยเหตุผลว่าสุขภาพของทั้งสองเข้าขั้นวิกฤต แต่ตะวันและแบมยังคงประกาศอดอาหารต่อจนกว่าศาลจะปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังคดีการเมืองทั้งหมดอีกแปดคน และในขณะเดียวกันทั้งสองยอมจิบน้ำตามคำแนะนำของแพทย์[13] ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตปล่อยตัวสมบัติ ทองย้อย ชั่วคราวในคดีมาตรา 112[14] และเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ในคดีดูหมิ่น พล.อ.ประยุทธ์[15] ในวันเดียวกัน คงเพชร ได้รับการประกันตัวในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าครอบครองวัตถุระเบิด[16] ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ศาลฎีกาให้ประกันตัวสิทธิโชค เศรษฐเศวต ในคดีมาตรา 112[17] ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว 4 ผู้ต้องหาคดีการเมืองจากกลุ่มทะลุแแก๊ส[18] เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ศาลไม่ให้ประกันทัตพงศ์ เขียวขาว ในคดีครอบครองวัตถุระเบิดหลังจากได้ประกันตัวแล้วเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ตะวันและแบมจึงประกาศยกระดับประท้วงด้วยการอดอาหารและไม่รับน้ำและยาอีกครั้ง[19] ในวันที่ 3 มีนาคม ทั้งสองอาการทรุดลงและมีอาการไตวายต้องนำส่งโรงพยาบาล[20] ในวันที่ 11 มีนาคม ตะวันและแบมประกาศเลิกการอดอาหารหลังจากกลับเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์และไม่ได้รับการตอบรับจากศาล ทั้งสองพ้นขีดอันตรายต่อชีวิตแล้ว[21]

การประท้วงที่ทำการพรรค[แก้]

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2566 กลุ่มทะลุวังได้ประท้วง ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทยและเข้าประชิดรถยนต์ของนายพิพัฒน์และนายศักดิ์สยาม เมื่อไม่พบตัวจึงได้ใช้มือทุบรถ จุดพลุควัน และตะโกนด่าทอเรียกร้องให้ขอโทษประชาชน[22]

กรณีอื้อฉาว[แก้]

ในเดือนกันยายน 2565 มีการเปิดเผยจากอดีตแนวร่วมของกลุ่มทะลุวัง อ้างว่าขอแยกทางเพราะไม่เห็นด้วยกับแนวทางของกลุ่มที่มองข้ามเสียงของเหยื่อที่ได้รับความรุนแรงทางเพศ การเอาเปรียบ แสวงหาผลประโยชน์ และกดดัน ตลอดจนจุดยืนที่โอนเอนไปตามกระแสสังคม[23][24]

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 พลอย อดีตผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุวัง ได้เขียนข้อความในทวิตเตอร์ว่า บุ้ง (เนติพร เสน่ห์สังคม) แกนนำทะลุวัง มีพฤติกรรมครอบงำเด็กที่มาร่วมกิจกรรมการชุมนม โดยมักจะชอบดูแลเด็กที่มีปัญหากับที่บ้านหรือมีปัญหาในชีวิต อาสาเป็นผู้ปกครอง และค่อย ๆ ใช้ประโยชน์จากเด็กคนนั้น เพื่อนำไปเรียกรับทุนสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศที่ขับเคลื่อนประชาธิปไตย แต่เงินทุนกลับส่งไม่ถึงเด็กที่มาร่วมกิจกรรมการชุมนม[25]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. "เปิดจักรวาลทะลุวังและผองเพื่อน". iLaw. สืบค้นเมื่อ 3 February 2023.
  2. "'ทะลุวัง' ทำสำรวจขบวนเสด็จทำให้เดือดร้อนหรือไม่ โดนตำรวจขวางไปตลอดทาง". prachatai.com.
  3. "'ทะลุวัง' บุกทำโพล ก่อน 'ศปปส.' นัดเคารพธงชาติช่วงเย็นที่อนุสาวรีย์ชัยฯ". prachatai.com.
  4. Ltd.Thailand, VOICE TV (2022-05-04). "จับขังอีกระลอก ศูนย์ทนายฯ เผยมีนักโทษการเมืองถูกคุมขังในเรือนจำ 11 ราย". VoiceTV.
  5. "'เมนู-พลอย' ทะลุวัง เปิดตัวลี้ภัยไปแคนาดา เมินกระแสดราม่าบนโลกออนไลน์". ไทยรัฐ. 24 ตุลาคม 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 4 พฤศจิกายน 2022.
  6. "2 นักกิจกรรมทางการเมือง ยื่นขอถอนประกันตัว 'ทานตะวัน' ศาลอาญาอนุญาต ส่วน แบม อรวรรณ อยู่ระหว่างยื่นศาลอาญาใต้". เดอะสแตนดาร์ด. 16 มกราคม 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 มกราคม 2023.
  7. "ทะลุวังเดือด! เรียกร้อง 3 ข้อ เส้นตาย 3 วัน ขู่ยกระดับเคลื่อนไหว "ประวิตร" ค้านบีบทุกพรรคแก้ 112, 116 เพจดังเย้ยโดนลอยแพ". ผู้จัดการออนไลน์. 17 มกราคม 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 มกราคม 2023.
  8. "เผยคลิป 'ตะวัน-แบม' 2 ผู้ต้องหา 112 ประกาศ 'อดน้ำและอาหาร' จากในเรือนจำ ร้องประกันตัวนักโทษการเมืองทั้งหมด". ประชาไท. 18 มกราคม 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 20 มกราคม 2023.
  9. "เปิดบันทึกศูนย์ทนายฯ เยี่ยม 'ตะวัน-แบม' หลังราชทัณฑ์โทรฉุกเฉินตี 2". มติชน. 22 มกราคม 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 มกราคม 2023.
  10. "'ตะวัน' ตาพร่า เห็นภาพเป็นสีเทา 'แบม' ไร้เรี่ยวแรง เผย 'ร่างกายพวกหนูจะไม่ไหวแล้ว'". มติชน. 2 กุมภาพันธ์ 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 กุมภาพันธ์ 2023.
  11. "ป้ายพรึ่บตึกเรียน 'จุฬา-มธ.' ขอสังคมอย่าเมินการเมือง หลัง 'ตะวัน-แบม' อดข้าวน้ำประท้วง". ประชาไท. 20 มกราคม 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 มกราคม 2023.
  12. "ทะลุฟ้า จัด 'ยืน หยุด ขัง' 112 ชม. หวังส่งเสียงถึงสังคม มีคนกำลังเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อความยุติธรรม". ประชาไท. 23 มกราคม 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 มกราคม 2023.
  13. "ศาลอาญาให้ปล่อยตัวชั่วคราว "ตะวัน-แบม" เหตุอาการเจ็บป่วยอยู่ในขั้นวิกฤต". บีบีซี ไทย. 7 กุมภาพันธ์ 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2023.
  14. "ศาลฎีกา ให้ประกันตัว 'สมบัติ ทองย้อย' ในคดี 112 แต่ศาลอุทธรณ์ ยังไม่ให้ประกันในคดี หมิ่น'ประยุทธ์'". มติชน. 8 กุมภาพันธ์ 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 9 กุมภาพันธ์ 2023.
  15. "ให้ประกัน "สมบัติ ทองย้อย" คดีหมิ่นฯ "บิ๊กตู่" ปล่อยตัวเรือนจำ วันนี้". ไทยรัฐ. 9 กุมภาพันธ์ 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2023.
  16. "ศาลให้ประกัน 'สมบัติ-คงเพชร' ส่วน 'คทาธร-พรพจน์' ไม่ให้ประกันอ้างไม่มีเหตุเปลี่ยนคำสั่ง". ประชาไท. 9 กุมภาพันธ์ 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 มีนาคม 2023.
  17. "ศาลฎีกา ให้ประกันตัว "สิทธิโชค" คดี ม.112 ตีราคาประกัน 1.3 แสนบาท". ไทยรัฐ. 10 กุมภาพันธ์ 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2023.
  18. "ศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว 'วัชรพล-ณัฐพล-พลพล-จตุพล' จากกลุ่มทะลุแก๊ส แต่ต้องติดกำไล EM". The MATTER. 16 กุมภาพันธ์ 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2023.
  19. "ศาลไม่ให้ประกัน 'ทัตพงศ์' คดีครอบครองวัตถุระเบิด ม็อบ21พฤศจิกา64 เข้าเรือนจำทันที". ประชาไท. 2 มีนาคม 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 มีนาคม 2023.
  20. "ตะวัน-แบม ทรุดหนักเข้าขั้นวิกฤต ต้องรีบหามส่งรพ. พบมีอาการไตวาย". ข่าวสด. 3 มีนาคม 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 มีนาคม 2023.
  21. "เลิกอดอาหารแล้ว "ตะวัน-แบม" ขอรักษาชีวิตเพื่อต่อสู้ทางการเมืองต่อ". ไทยรัฐ. 11 มีนาคม 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 มีนาคม 2023.
  22. "'กลุ่มทะลุวัง' บุกลานจอดรถยนต์ 'เพื่อไทย' ใช้มือทุบรถหาตัว 'พิพัฒน์-ศักดิ์สยาม' พร้อมจุดพลุแฟลร์". ข่าวช่อง 3. 7 สิงหาคม 2023. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 7 สิงหาคม 2023.
  23. "'กลุ่มทะลุวัง' แตกยับ! สาวไส้กันเละทั้งกดขี่ เอาเปรียบ อมเงิน เรื่องน่าเศร้าในขบวนประชาธิปไตย". ไทยโพสต์. 29 กันยายน 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2023. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2023.
  24. "แตกยับ! "เมนู-พลอย" ไม่ร่วมวงกลุ่มทะลุวัง ซัดอุดมการณ์ขัดแย้ง ไร้จุดยืน ถูกเอาเปรียบสารพัด". สยามรัฐ. 29 กันยายน 2022. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 29 ธันวาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2023.
  25. "อดีต "ทะลุวัง" ยัน จริง แฉ "บุ้ง" ครอบงำเด็ก เรียกรับเงินสนับสนุนต่างประเทศ". ไทยรัฐ. 9 สิงหาคม 2023. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 31 สิงหาคม 2023. สืบค้นเมื่อ 20 สิงหาคม 2023.