ทิวากร วิถีตน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ทิวากร วิถีตน
เกิด31 ตุลาคม พ.ศ. 2518 (48 ปี)
จังหวัดขอนแก่น ประเทศไทย
การศึกษาวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
อาชีพนักเคลื่อนไหว, เกษตรกร, วิศวกร
มีชื่อเสียงจากการประท้วงด้วยเสื้อยืด "เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์"

ทิวากร วิถีตน (เกิด 31 ตุลาคม พ.ศ. 2518) เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองและสิทธิมนุษยชน,[1] เป็นเกษตรกรและวิศวกร เป็นนักเคลื่อนไหวคนแรกๆที่ออกมาทำกิจกรรมที่ท้าทายมากกับสิ่งต้องห้ามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์โดยที่ยังอยู่ในประเทศไทย ซึ่งเขาได้เผยแพร่รูปที่เขาใส่เสื้อ "เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว"[2]

เขาเชื้อเชิญให้ผู้คนใส่เสื้อแบบเขาเพราะไม่ได้ผิดกฎหมายมาตรา 112 ทำให้รูปของเขาเป็นไวรัลในโลกออนไลน์ แต่หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรได้นำตัวเขาไปโรงพยาบาลจิตเวช ซึ่งกลายเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการประท้วงในประเทศไทย พ.ศ. 2563–2565 ระลอกสองที่เป็นการประท้วงครั้งใหญ่ที่สุดตั้งแต่รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 ผู้ประท้วงได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวเขาจากโรงพยาบาล[1] โดยการเคลื่อนไหวของเขาถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ยกระดับการชุมนุมขึ้นสำหรับการเมืองไทยในยุคปัจจุบัน และประชาไทได้ยกให้เขาเป็นบุคคลแห่งปี พ.ศ. 2563 [2]

ชีวิตในช่วงแรก[แก้]

นายทิวากร เกิดเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2518 ณ ที่บ้านดอนช้าง ตำบลดอนช้าง อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ในปี พ.ศ. 2536 เข้าเรียนวิศวกรรมไฟฟ้า (เอกไฟฟ้าสื่อสารและคอมพิวเตอร์) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จบการศึกษาในปี พ.ศ. 2541 และเป็นวิศวกรอยู่ในบริษัทไอที [2]

ต่อต้านการรัฐประหาร[แก้]

ในปี พ.ศ. 2550 เขาตื่นรู้จากการรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ที่ไม่ทำให้ประเทศพัฒนา จึงออกมาประท้วงร่วมกับกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการ ที่นำโดยสุชาติ นาคบางไทรซึ่งเป็นนามปากกา ของ เภสัชกร วราวุธ ฐานังกรณ์ เขาได้มีส่วนร่วมในการต่อต้านเผด็จการที่กำลังก่อตัวขึ้นโดยเข้าร่วม 'แคมฟรอกราชดำเนิน' ที่สนทนาออนไลน์ ซึ่งต่อยอดมาจากกลุ่มราชดำเนินในเว็บบอร์ดพันทิพ

เขาได้เข้าร่วมการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ พ.ศ. 2553 และรอดชีวิตจากการสลายการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ พ.ศ. 2553 เพราะไม่ได้อยู่แนวหน้าโดยโดนเพียงแก้สน้ำตา หลังจากนั้นได้เริ่มออกไปประท้วงกับกลุ่มวันอาทิตย์สีแดงซึ่งนำโดยสมบัติ บุญงามอนงค์ และสร้างกลุ่มแคมฟรอกชื่อ 'RedTalk' (ต่อมาเป็น 'FreedomTalk') เพื่อให้กลุ่มคนเสื้อแดงได้เข้ามาพูดคุยกัน

ปลายปี พ.ศ. 2553 เขาประกาศออกจากกลุ่มคนเสื้อแดงกับเพื่อนคนเสื้อแดง หนึ่งในนั้นคือกริชสุดา คุณะแสน หรือ'เปิ้ลสหายสุดซอย' และลาออกจากงาน พร้อมทั้งได้บริจาคเงินเพื่อสร้างสนามตะกร้อใต้สะพานพระราม 7

ในที่สุดรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 ได้เกิดขึ้น เขาจึงกลับบ้านที่ขอนแก่นและหยุดกิจกรรมการเมืองเพื่อทำการเกษตร

การประท้วงโดยใส่เสื้อยืด[แก้]

จดหมายเหตุ[แก้]

ผมได้ใส่เสื้อตัวนี้แล้ว ถึงตายก็ไม่เสียดายชีวิตครับ "เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว" “หมดศรัทธา” ไม่ได้แปลว่า “ล้มเจ้า” "หมดศรัทธา" มันคือความรู้สึกที่อยู่ในใจ ที่มีต่ออะไรสักอย่าง ในทำนองเดียวกับ "หมดรัก", "หมดเยื่อใย", "หมดใจ", "หมดความไว้ใจ" มันเป็นเรื่องที่มนุษย์ทุกคน สามารถพูดและแสดงออกมาได้ ตราบใดที่คนที่พูดและแสดงออกไม่ได้ไปทำความเสียหายให้กับทรัพย์สิน ไม่ได้ไปทำร้ายร่างกายคนที่ยังศรัทธา และไม่ได้ทำผิดกฏหมายอย่างอื่น และสิ่งนั้น/คนนั้น(ที่ถูกศรัทธา) ต้องจำไว้ในใจให้จงหนักว่า เมื่อเขา "หมดศรัทธา" แล้ว ไม่มีทางที่จะทำให้เขากลับมาศรัทธา ด้วยวิธีการบังคับโดยใช้กำลังและความรุนแรง ได้โดยเด็ดขาด

-ทิวากร วิถีตน, พ.ศ. 2563[3]

ในวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เขาได้โพสต์รูปบนเฟสบุคตัวเอง ซึ่งเป็นกระแสอย่างมากในโลกออนไลน์ ก่อนหน้านั้นเขาได้นำเสนอแนวคิดโดยการใช้สโลแกน 'เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว' ในกลุ่มรอยัลลิสต์มาเก็ตเพลส ของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ซึ่งผู้ใช้งานหลายคนได้กังวลเรื่องความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทย รูปของเขาได้รับคอมเมนต์กว่า 4,000 ข้อความ ซึ่งมาจากทุกฝ่ายการเมือง ส่วนสาเหตุในการกลับมาเคลื่อนไหวของเขานั้นเพราะสะเทือนใจจากเหตุการณ์วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ถูกอุ้มที่กัมพูชา

ในวันที่ 19 มิถุนายน และ 4 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่กอรมน.และตำรวจได้มาหาที่บ้านเพื่อพูดคุย [4]

และวันที่ 5 กรกฎาคม เขาโพสต์สัญญาที่ทำให้ตัดขาดกับครอบครัวเพื่อความปลอดภัยของครอบครัว

ถูกคุกคามทางการเมืองโดยอ้างจิตเวช[แก้]

ในวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2563 รถตำรวจและโรงพยาบาล 10 คัน มาจอดที่บ้านเขาในเวลาย่ำค่ำ กลุ่มตำรวจและพยาบาลเข้ามาในบ้านและใช้การบังคับให้ออกไปโดยใช้คนถึง 6 คนเพื่อส่งไปโรงพยาบาลจิตเวช ในรถพยาบาลเจ้าหน้าที่ได้มัดแขนเขาด้วยผ้า และฉีดยาไม่ทราบชนิดให้ หลังจากนั้นตำรวจได้ค้นบ้าน นำคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือไป พร้อมทั้งให้มารดาลงชื่อยินยอมให้นำตัวเข้าโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ [5]

โดยผู้อำนวยการโรงพยาบาล ณัฐกร จำปาทอง อ้างว่าเขาไม่ได้ถูกบังคับให้เข้าโรงพยาบาล ส่วนตำรวจท้องที่ พล.ต.ต.พุฒิพงศ์ มุสิกูล ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น อ้างว่าเขาได้รับการรักษาเพราะญาติเป็นผู้ส่งให้รักษาเอง [6]

หลังจากนั้น ได้มีการประท้วงโดยกลุ่มต่างๆ และจากการกดดันของสื่อจนได้รับการปล่อยตัวจากโรงพยาบาลในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563[7][8] เขาถูกคุมตัวเป็นเวลาทั้งหมด 13 วัน โดยไม่ได้เป็นโรคทางจิตแต่อย่างใดจากผลตรวจ[9]

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 "Thai protesters call for end of monarchy on king's birthday | DW | 29.07.2020". DW.COM. 29 July 2020.
  2. 2.0 2.1 2.2 "บุคคลแห่งปี 2020 : 'ทิวากร วิถีตน' ผู้สวมเสื้อ 'เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว'" [Person of the year 2020: 'Tiwagorn Withiton' the person who wears 'We lost faith in the Monarchy']. Prachatai. 29 December 2020.
  3. "Man Behind Viral 'Lost Faith' Shirt Gets Cop Visit". Khaosod English. 22 June 2020.
  4. "ผู้ใส่เสื้อ "เราหมดศรัทธา…" ถูกเจ้าหน้าที่หลายฝ่ายไปพบ ขอให้เลิกใส่". ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน. 21 June 2020.
  5. "Facebook user behind viral 'lost faith' shirt committed to psychiatric hospital". Prachatai English (ภาษาอังกฤษ). 13 July 2020.
  6. "Thais protest over man hospitalised after wearing critical t-shirt". Reuters (ภาษาอังกฤษ). 17 July 2020.
  7. Record, The Isaan (2020-07-18). "Civil rights groups urge release of Khon Kaen man held at mental hospital". The Isaan Record (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-07-24. สืบค้นเมื่อ 2020-07-23.
  8. "Thai royalists must reconsider tactics in dealing with free speech". Nikkei Asian Review (ภาษาอังกฤษแบบบริติช). สืบค้นเมื่อ 2020-07-23.
  9. Record, The Isaan (2020-07-22). "After court rejects petition to free dissident, he is released from mental hospital". The Isaan Record (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-08-06. สืบค้นเมื่อ 2020-07-23.