วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์
ภาพวันเฉลิมจากใบประกาศตามหาคนหาย ในปี พ.ศ. 2563
เกิด11 สิงหาคม พ.ศ. 2525 (41 ปี)[1]
อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี
สาบสูญ4 มิถุนายน พ.ศ. 2563
(ผ่านมาแล้ว​ 3 ปี 9 เดือน 15 วัน)
พนมเปญ ประเทศกัมพูชา
สถานะตำรวจกัมพูชาปฏิเสธการค้นหา[2]
การศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
อาชีพนักธุรกิจด้านเกษตร[3], นักกิจกรรมการเมือง, นักกิจกรรม

วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ (เกิด 11 สิงหาคม พ.ศ. 2525) เป็นนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางการเมือง และผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทย[4] นอกจากนี้เขายังเป็นนักกิจกรรมและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และการป้องกันเชื้อเอชไอวีในหลายประเทศ[5] เขาเป็นผู้ต้องหาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามรายงานที่เผยแพร่โดยสำนักข่าวอิศรา เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 ซึ่งระบุว่าเขาลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในประเทศกัมพูชา[4]

วันเฉลิมถูกชายมีอาวุธปืนขับรถเข้ามาลักพาตัวเขาไปจากที่พักขณะลี้ภัยการเมืองอยู่ในพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2563 เวลาประมาณ 17.54 น. หลังการรายงานข่าวการถูกลักพาตัวโดยมีประชาไทเป็นผู้เผยแพร่ข่าวรายแรก ได้ก่อให้เกิดกระแสเรียกร้องให้รัฐบาลไทยและกัมพูชาดำเนินการติดตามและจัดการกับการถูกบังคับสูญหายของเขา ในโลกออนไลน์ได้มีการติดแฮชแท็ก #saveวันเฉลิม ขึ้นเป็นเทรนด์อันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ของประเทศไทย[4]รวมทั้งได้แสดงความเห็นว่าเหตุการณ์นี้อาจเป็นการบังคับให้บุคคลสูญหายที่รัฐบาลไทยหรือกัมพูชามีส่วนรู้เห็น

ประวัติ[แก้]

วันเฉลิมพื้นเพมาจากอำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี จบการศึกษาจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยเป็นผู้ประสานงานศูนย์กิจกรรมเยาวชนเพื่อชุมชนและสังคม (Y-act) เคยทำงานกับสถาบันเยาวชนเพื่อไทย พรรคเพื่อไทย ต่อมาในช่วงการประท้วงการเมือง พ.ศ. 2557 เป็นเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการด้านเผยแพร่ข่าวสารและประชาสัมพันธ์ โดยการแต่งตั้งของรองนายกรัฐมนตรี เฉลิม อยู่บำรุง ผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ[6] ขณะทำงานอยู่พรรคเพื่อไทย วันเฉลิมเคยทำงานประชาสัมพันธ์ให้กับชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และเป็นผู้ถ่ายภาพของชัชชาติขณะเดินเท้าเปล่าเข้าวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์ ที่ต่อมากลายเป็นอินเทอร์เน็ตมีม[7]

หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 วันเฉลิมถูกหมายจับคดีฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หมายจับคดีในฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ไทยในปี พ.ศ. 2558 และหมายจับในคดีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 กรณีโพสต์ข้อความบิดเบือนให้ร้ายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกี่ยวกับการปราบปรามยาเสพติด เมื่อปี พ.ศ. 2561[4]

การถูกลักพาตัว[แก้]

วันเฉลิมถูกลักพาตัวบริเวณหน้าที่พักแม่โขงการ์เดนขณะลี้ภัยในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อเวลา 17:54 น. ของวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2563 โดยมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของคอนโดมิเนียมพยายามเข้าไปช่วย แต่ถูกสกัดด้วยกลุ่มคนร้ายใช้อาวุธปืนข่มขู่ แหล่งข่าวของ ประชาไท ระบุว่าระหว่างเกิดเหตุกำลังโทรศัพท์คุยกับวันเฉลิม โดยได้ยินเสียงสุดท้ายว่า "โอ๊ย หายใจไม่ออก" ก่อนสายจะตัดไป และหลังพยายามติดต่อกลับกว่าครึ่งชั่วโมง รวมทั้งติดต่อเพื่อนให้ช่วยตรวจสอบกับที่พักของเขาจึงทราบว่าหายตัวไป[4] สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์พี่สาวของวันเฉลิมยอมรับว่าการไปกัมพูชาของวันเฉลิมไปอย่างผิดกฎหมาย[8]แต่มั่นใจว่าไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดที่มีประเด็น ชาวกัมพูชารายนึงที่รู้จักกับวันเฉลิม เล่าว่าหนึ่งวันก่อนสูญหาย วันเฉลิมยังสั่งช็อคโกแลตปั่นที่ไม่ใส่ฝาครอบเพราะต้องการลดโลกร้อนและดูดบุหรี่อย่างสำราญใจ อีกทั้งวันเฉลิมยังเปิดร้านส้มตำกับเพื่อนข้าง ๆ ที่พัก [9]

ตำรวจกัมพูชาให้สัมภาษณ์ปฏิเสธการรู้เห็น พร้อมระบุว่าข่าวการลักพาตัวเป็นข่าวปลอม[2] ในขณะที่ตำรวจไทยก็ออกแถลงการณ์ปฏิเสธความรู้เห็น และระบุว่าไม่ได้อยู่ภายใต้ขอบเขตการดูแลของไทย[10]

ปฏิกิริยา[แก้]

หลังข่าวแพร่ออกไป มีชาวเน็ตจำนวนมากออกมาแสดงความคิดเห็นและแสดงความเป็นห่วงต่อวันเฉลิม โดยแฮชแท็ก #saveวันเฉลิม ได้ขึ้นเป็นเทรนด์อันดับหนึ่งของประเทศไทย[5] รวมทั้งได้แสดงความเห็นว่าเหตุการณ์นี้อาจเป็นการบังคับให้บุคคลสูญหายที่รัฐบาลไทยหรือกัมพูชามีส่วนรู้เห็น[3]

หน่วยงานสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ เรียกร้องให้รัฐบาลไทยหรือกัมพูชารับผิดชอบต่อเหตุการณ์ เช่น สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ[4], ฮิวแมนไรตส์วอทช์ และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งทั้งสองหน่วยงานมุ่งเน้นการเรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาลงมือสืบสวน[11] ในขณะที่มูลนิธิกระจกเงา เผยแพร่โปสเตอร์ตามหาในฐานะ "คนหาย" และมีองค์กรนักศึกษาต่าง ๆ ออกแถลงการณ์และจัดกิจกรรมเรียกร้องความเป็นธรรม[5] เหตุการณ์ดังกล่าวยังเป็นส่วนหนึ่งไปสู่การประท้วงทั่วประเทศ ในปี พ.ศ. 2563

กลุ่มสนับสนุนรัฐบาลได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก แสดงภาพวันเฉลิมกับกัญชา และลือกันไปว่าอาจเป็นสาเหตุให้เขาถูกลักพาตัว[12] เนื่องจากในกฎหมายกัมพูชาไม่อนุญาตให้ชาวต่างชาติปลูกกัญชาภายในประเทศ[13][14]

เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2564 ซึ่งครบรอบ 1 ปีการหายสายสูญของวันเฉลิม สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิมได้ยืนไว้อาลัยเป็นเวลา 1 นาทีหน้า กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเป็นการไว้อาลัยแก่ความยุติธรรม จากนั้นพี่สาววันเฉลิมและแอมแนสตี้ประเทศไทยร่วมยื่นหนังสือแก่กระทรวงยุติธรรม ถึงความคืบหน้ากรณีการหายไปของวันเฉลิม และยืนสงบนิ่งเป็นเวลา 12 นาที [15] ฝ่ายแอมแนสตี้ประเทศไทยเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรม ปรับปรุง ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี และอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ และเร่งรัดให้กรมสอบสวนคดีพิเศษและสำนักงานอัยการสูงสุด ดำเนินการสอบสวนใหม่อีกครั้ง รวมทั้งข้อเรียกร้องต่อคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) เพื่อประสานความร่วมมือร่วมใจจากประเทศในอาเซียน [16]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ลือสะพัด! ต้าร์ วันเฉลิม เสียชีวิต พี่สาวแจงมีหวัง เตรียมทำบุญวันเกิด". ข่าวสด. 5 สิงหาคม 2563. สืบค้นเมื่อ 5 สิงหาคม 2563. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |accessdate= (help)
  2. 2.0 2.1 "ตำรวจเขมรไม่รับสืบคดี'วันเฉลิม'ถูกอุ้มหาย". โพสต์ทูเดย์. 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-06.
  3. 3.0 3.1 "วันเฉลิม : ย้อนรอยผู้ลี้ภัย ใครถูก "อุ้มหาย" บ้างหลังรัฐประหาร 2557". บีบีซีไทย. 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-06.
  4. 4.0 4.1 4.2 4.3 4.4 4.5 "วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ : สนง.ข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนฯ ของยูเอ็น ตรวจสอบกรณีลักพาตัวผู้ลี้ภัยทางการเมืองในกัมพูชา". บีบีซีไทย. 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-06.
  5. 5.0 5.1 5.2 ไทยรัฐออนไลน์ (2020-06-05). "ชาวเน็ตร่วมติดแท็กตามหา "วันเฉลิม" หลังโดนอุ้มหายตัวไปในพนมเปญ". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 2020-06-06.
  6. "ลือ "วันเฉลิม" แอดมิน "กูต้องได้ 100 ล้านจากทักษิณแน่ ๆ" ถูกอุ้มที่กัมพูชา "เพนกวิน" นัดชุมนุมเย็นนี้". ผู้จัดการออนไลน์. 2020-06-05. สืบค้นเมื่อ 2020-06-06.
  7. "เพื่อนเฉลย 'วันเฉลิม' ถ่ายรูปชัชชาติในตำนาน แอมเนสตี้จี้ผ่าน พ.ร.บ.อุ้มหาย-เร่งสอบสวน". มติชนออนไลน์. 2022-06-04. สืบค้นเมื่อ 2022-06-04.
  8. "พี่สาว'วันเฉลิม'เชื่อภาพถ่ายคู่กัญชาแค่ทดลองปลูก เหตุน้องชอบการเกษตร". naewna.com.
  9. "วันเฉลิม "ถูกอุ้มไปจากตรงนี้"". BBC News ไทย. สืบค้นเมื่อ 2021-06-04.
  10. ไทยรัฐออนไลน์ (2020-06-05). "ตำรวจแจง หลัง "วันเฉลิม" นักเคลื่อนไหว ถูกอุ้มหายที่พนมเปญ". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 2020-06-06.
  11. NEWS AGENCIES AND POST REPORTERS (2020-06-05). "Exiled Thai activist 'abducted in Cambodia'". บางกอกโพสต์. สืบค้นเมื่อ 2020-06-06.
  12. "เฟซบุ๊กฝั่งเชียร์รัฐบาลกังขา รูปกัญชา "วันเฉลิม" หายได้ แต่พบภาพล่าสุดยังอยู่". ผู้จัดการออนไลน์. 2020-06-09. สืบค้นเมื่อ 2020-06-06.
  13. "โซเชียลขุดโพสต์ภาพ'วันเฉลิม'ลักลอบปลูกกัญชา". สยามรัฐ. 2020-06-09. สืบค้นเมื่อ 2020-06-06.
  14. "ขุดคุ้ย "วันเฉลิม" ลักลอบปลูกกัญชาในเขมร อาจเป็นสาเหตุที่หายตัว". ผู้จัดการออนไลน์. 2020-06-09. สืบค้นเมื่อ 2020-06-06.
  15. "พี่สาววันเฉลิมบุกกระทรวงยุติธรรม ถามความคืบหน้าคดีน้องชาย หลัง 1 ปีผ่านไป คดียังไม่มีความคืบหน้า". THE STANDARD. 2021-06-04.
  16. "แอมเนสตี้ฯ โวยหนึ่งปีผ่านไป ยังไม่มีความยุติธรรมให้ 'วันเฉลิม'". Thai Post | อิสรภาพแห่งความคิด.