ข้ามไปเนื้อหา

ถนนพรานนก-พุทธมณฑล สาย 4

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ถนนพรานนก-พุทธมณฑล สาย 4
แผนที่
MRT Fai Chai – Puthamonthon Sai 4 street.jpg
ข้อมูลของเส้นทาง
ความยาว16.4 กิโลเมตร (10.2 ไมล์)
มีขึ้นเมื่อพ.ศ. 2558–ปัจจุบัน
ทางแยกที่สำคัญ
ปลายทางทิศตะวันออกถ.จรัญสนิทวงศ์, ถ.พรานนก ใน เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
 
ปลายทางทิศตะวันตก ถ.พุทธมณฑล สาย 2 ใน เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร
ถนนพรานนก-พุทธมณฑล สาย 4 บริเวณแยกไฟฉาย

ถนนพรานนก-พุทธมณฑล สาย 4 เป็นโครงการก่อสร้างถนนตัดใหม่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (ฝั่งธนบุรี) และจังหวัดนครปฐม โดยต่อขยายถนนพรานนก จากสามแยกไฟฉาย ไปบรรจบถนนพุทธมณฑล สาย 4 ระยะทาง 16.4 กิโลเมตร ชาวบ้านเรียกกันว่า "ถนนพระเทพ", "ถนนจรัญ-กาญจนา" และ "ถนนพรานนกตัดใหม่"

พื้นที่ที่ถนนตัดผ่าน

[แก้]

เขตบางกอกน้อย, เขตตลิ่งชัน, เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร และอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม

แนวเส้นทาง

[แก้]

แนวเส้นทางเริ่มจากบริเวณสามแยกไฟฉาย ปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 31 และซอยจรัญสนิทวงศ์ 31/1 ไปบรรจบถนนพุทธมณฑล สาย 4 แบ่งเป็น 2 ช่วง

  • ช่วงแรกระยะทาง 8 กิโลเมตร ตัดผ่านถนนราชพฤกษ์ บริเวณแยกซอยจรัญสนิทวงศ์ 35-วัดเพลงกลางสวน (วัดเพลงบางพรม) เขตตลิ่งชัน และถนนพุทธมณฑล สาย 1 ไปบรรจบถนนกาญจนาภิเษก ที่แขวงบางเชือกหนัง เขตตลิ่งชัน และแขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา
  • ช่วงหลังระยะทาง 8.4 กิโลเมตร จากถนนกาญจนาภิเษก ขนานคลองบางเชือกหนังด้านทิศเหนือ ตัดผ่านถนนพุทธมณฑล สาย 2 และถนนพุทธมณฑล สาย 3 ไปบรรจบถนนพุทธมณฑล สาย 4 ที่ตำบลกระทุ่มล้ม อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ปัจจุบันมีการก่อสร้างถึงถนนพุทธมณฑลสาย 3 และเปิดให้บริการถึงถนนพุทธมณฑลสาย 2

รูปแบบถนน

[แก้]

เป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 6 ช่องจราจร โดยกันพื้นที่เกาะกลางไว้สำหรับระบบขนส่งมวลชนในอนาคต มีเขตทางกว้าง 60 เมตร

ประวัติ

[แก้]

ถนนสายนี้มีแนวคิดในการก่อสร้างมาตั้งแต่สมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม พร้อมกับโครงการถนนพุทธมณฑล และเคยมีการเสนอแนวเส้นทางโดยองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA)[1] ต่อมามีการตั้งงบประมาณในสมัยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รอ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา แต่ไม่สามารถผลักดันโครงการได้สำเร็จเพราะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล

จนกระทั่งสมัยผู้ว่าฯ ดร.พิจิตต รัตตกุล จึงมีการตั้งงบประมาณก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท และออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืน มีกำหนดระยะเวลา 5 ปี (พ.ศ. 2539-2543) แต่มีปัญหางบประมาณเวนคืน ทำให้ต้องขยายอายุพระราชกฤษฎีกาออกไปอีก 5 ปี (พ.ศ. 2544-2548) และเพิ่มงบประมาณเป็น 2,800 ล้านบาท[2] กระทั่งปี พ.ศ. 2547 ในสมัยผู้ว่าฯ นายสมัคร สุนทรเวช การเวนคืนบริเวณสามแยกไฟฉายจึงเกิดขึ้น ตั้งแต่ปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 31 (ซอยมารดานุเคราะห์) จนถึงซอยจรัญสนิทวงศ์ 31/1 และภายในซอยจรัญสนิทวงศ์ 31 ฝั่งทิศเหนือ ทำให้ต้องรื้อย้ายอาคารพาณิชย์ไปหลายคูหา แต่แม้จะมีการประกวดราคาไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2546 ก็ยังไม่มีความคืบหน้าในการก่อสร้าง และเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 คณะรัฐมนตรีได้เสนอให้ทางกรุงเทพมหานครทบทวนรูปแบบอีกครั้งหนึ่ง

ในสมัยผู้ว่าฯ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ได้มีการต่ออายุพระราชกฤษฎีกาอีกครั้งหนึ่ง (พ.ศ. 2550-2554)[3] เพราะคณะรัฐมนตรีชะลอโครงการเนื่องจากขาดงบประมาณ ซึ่งทางสำนักโยธา กรุงเทพมหานคร ได้ออกแบบและกำหนดราคาก่อสร้างใหม่ โดยแบ่งการก่อสร้างในช่วงแรกออกเป็น 3 ตอน คือ ช่วงจากถนนพรานนก-ถนนพุทธมณฑล สาย 1, ช่วงถนนพุทธมณฑล สาย 1-ถนนกาญจนาภิเษก และช่วงสะพานข้ามถนนกาญจนาภิเษก ค่าก่อสร้างประมาณ 3,000 ล้านบาท ส่วนช่วงที่ 2 จะแบ่งงานก่อสร้างออกเป็น 2 ตอน คือจากถนนวงแหวนรอบนอก-พุทธมณฑล สาย 3 และพุทธมณฑล สาย 3-พุทธมณฑล สาย 4 แต่ยังไม่มีการจัดสรรงบประมาณ คาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างช่วงนี้ตอนละไม่เกิน 1,000 ล้านบาท รวม 2 ตอนประมาณ 2,000 ล้านบาท หรือหากรวมทั้งโครงการทั้งค่าเวนคืนและก่อสร้างคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณสูงถึง 10,000 ล้านบาท

ความคืบหน้าของโครงการ

[แก้]

หลังจากที่กรุงเทพมหานครถูกกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าตรวจสอบการฮั้วประมูล 16 โครงการมูลค่า 20,000 ล้านบาท เมื่อปี พ.ศ. 2549 ทำให้โครงการก่อสร้างถนนและทางแยกหลายโครงการต้องยกเลิกการประมูลไป ขณะที่โครงการถนนพรานนกตัดใหม่นี้ก็ต้องชะลอไปด้วย[4] และยังไม่มีความคืบหน้าเนื่องจากเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณสูง เฉพาะช่วงแรกมีมูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท ประกอบกับราคาวัสดุก่อสร้างทั่วโลกสูงขึ้นเป็นอย่างมาก [5] โดยได้เปิดให้บริการในระยะแรก (แยกไฟฉาย-ถนนกาญจนาภิเษก) เมื่อปี พ.ศ. 2559[6] เปิดให้บริการในระยะที่ 2 (ถนนกาญจนาภิเษก-ถนนพุทธมณฑล สาย 2) เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564[7] และอยู่ระหว่างกำลังดำเนินการก่อสร้างระยะที่ 3 (ถนนพุทธมณฑล สาย 2-ถนนพุทธมณฑล สาย 3)[8] และระยะที่ 4 (ถนนพุทธมณฑลสาย3-ถนนพุทธมณฑล สาย4[9]) ซึงจะยื่นประมูลในช่วงกลางมีนาคม 2567[10]

รายชื่อทางแยก

[แก้]
รายชื่อทางแยกบน ถนนพรานนก-พุทธมณฑล สาย 4 ทิศทาง: ไฟฉาย-พุทธมณฑล สาย 2
จังหวัด อำเภอ/เขต กม.ที่ ชื่อจุดตัด ซ้าย ขวา
ถนนพรานนก-พุทธมณฑล สาย 4 (แยกไฟฉาย–พุทธมณฑล สาย 2)
กรุงเทพมหานคร บางกอกน้อย แยกไฟฉาย เชื่อมต่อจาก: ถนนพรานนก ไปโรงพยาบาลศิริราช, วังหลัง
ถนนจรัญสนิทวงศ์ ไปแยกท่าพระ ถนนจรัญสนิทวงศ์ ไปบางขุนนนท์, บางพลัด
ตลิ่งชัน ถนนราชพฤกษ์ ไปบางแวก, บางหว้า ถนนราชพฤกษ์ ไปตลิ่งชัน, บางกรวย
ถนนพุทธมณฑล สาย 1 ไปบางแค ถนนพุทธมณฑล สาย 1 ไปสายใต้ใหม่
ทางแยกต่างระดับบางเชือกหนัง ถนนกาญจนาภิเษก ไปบางแค, ถนนพระรามที่ 2 ถนนกาญจนาภิเษก ไปบางใหญ่, บางบัวทอง
ทวีวัฒนา ถนนพุทธมณฑล สาย 2 บรรจบถนนเพชรเกษม ถนนพุทธมณฑล สาย 2 ไปถนนบรมราชชนนี, ถนนศาลาธรรมสพน์
ตรงไป: ถนนพรานนก-พุทธมณฑล สาย 4 ไปถนนพุทธมณฑล สาย 3, ถนนพุทธมณฑล สาย 4
      สะพาน              กำลังก่อสร้างหรือโครงการในอนาคต

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. หนังสือประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม 2547
  2. พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนเพื่อสร้างทางหลวงเทศบาลสายเชื่อมระหว่างถนนจรัญสนิทวงศ์กับถนนพุทธมณฑลสาย 4 พ.ศ. 2539 และ พ.ศ. 2544
  3. พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนจรัญสนิทวงศ์กับถนนพุทธมณฑลสาย 4 พ.ศ. 2550 ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอน 22 ก หน้า 13 วันที่ 1 พฤษภาคม 2550
  4. หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551
  5. หนังสือพิมพ์สวัสดีกรุงเทพ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2551
  6. "ถนนพระเทพ ตอบโจทย์ LUXURY LIVING". REALIST. สืบค้นเมื่อ 6 February 2021.
  7. "เปิดแล้ว!! ถนนพรานนก - พุทธมณฑลสาย 2 ทางยกระดับตัดใหม่ (5 มิ.ย.64)". ช่องวีเอ็นพี มีเรื่องเล่า บน YouTube. สืบค้นเมื่อ 22 February 2022.
  8. "ตัดถนนใหม่!!โครงการต่อเชื่อมถนนพุทธมณฑลสาย 2 - ถนนพุทธมณฑลสาย 3 (21/2/65)". ช่องวีเอ็นพี มีเรื่องเล่า บน YouTube. สืบค้นเมื่อ 22 February 2022.
  9. "เริ่มลงมือสาย 3 เชื่อมสาย 4 กทม.จัดงบ 1,300 ล้าน เปิดขายซอง ก.พ.67". www.thairath.co.th. 2023-12-07.
  10. "รอเซ็นรับเหมาขยายสาย 1 จาก 4 เป็น 6 เลน เริ่มลงมือ มี.ค.นาน 450 วัน". www.thairath.co.th. 2024-01-29.