ข้ามไปเนื้อหา

เปรียญธรรม 9 ประโยค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก เปรียญธรรม ๙ ประโยค)
เปรียญธรรม 9 ประโยค
พัดยศเปรียญธรรม 9 ประโยค
ชื่อย่อป.ธ.9
ประเภทการศึกษาแผนกบาลี
ผู้จัดการสอบ/ผู้ควบคุมการสอบสำนักงานแม่กองบาลีสนามหลวง
ทดสอบความรู้/ความสามารถเกี่ยวกับ
  • วิชาแต่งไทยเป็นมคธ
  • วิชาแปลไทยเป็นมคธ
  • วิชาแปลมคธเป็นไทย
ประเทศประเทศไทย
ภาษา

เปรียญธรรม 9 ประโยค (ชื่อย่อ ป.ธ.9) เป็นระดับชั้นสูงสุด ของการศึกษาแผนกบาลีของคณะสงฆ์ไทย[1]

แต่เดิมภาษาบาลีคือภาษามคธที่คนในแคว้นมคธใช้พูดกันเท่านั้น เพราะภาษาบาลีไม่มีอักษรใช้เขียนเป็นตัวหนังสือ พระพุทธเจ้าตรัสสอนธรรมด้วยภาษามคธเพราะแคว้นมคธเป็นแคว้นใหญ่ เหตุที่ภาษาบาลีไม่มีอักษรเขียน จึงต้องอาศัยอักษรจากภาษาอื่นเป็นตัวเขียน เช่น อักษรเทวนาครี อักษรขอม อักษรไทย อักษรโรมัน เป็นต้น ในปัจจุบันภาษาบาลีถือว่าเป็นภาษาที่ตายแล้ว เหมือนภาษาละติน ถึงแม้มีคนใช้พูดอยู่ก็น้อยมาก ในพระพุทธศาสนามีเพียงนิกายเถรวาทที่ใช้ภาษาบาลี เช่นในพระไตรปิฎก เป็นต้น [2]

กระทรวงศึกษาธิการ ได้รับรองให้ผู้สำเร็จวิชาเรียน ป.ธ. 9 เทียบเท่ากับการสำเร็จปริญญาตรี เพราะเมื่อเปรียบเทียบวิชาในหลักสูตรที่มีอยู่ การสำเร็จ ป.ธ.9 ก็เสมือนกับการสำเร็จวิชาการศึกษาภาษาศาสตร์วิชาหนึ่งเท่านั้น ที่สามารถแปลความได้ แต่งบทความได้ สื่อสารได้ แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีความพยายามที่จะผลักดันให้ ป.ธ.9 เทียบเท่าระดับปริญญาเอกทางโลก[3]

ข้อสังเกตในการเสนอเทียบ ป.ธ. 9 เท่าปริญญาดุษฎีบัณฑิตฝ่ายทางโลกนั้น ควรได้พิจารณาว่ามีความเหมาะสมเพียงใดและเพื่อประโยชน์อย่างใด ในเมื่อตามกฎหมายไทยเทียบวุฒิเท่าระดับปริญญาตรี ซึ่งมีความเหมาะสมทั้งประโยชน์และคุณวุฒิอยู่แล้ว สำหรับปริญญาดุษฎีบัณฑิตฝ่ายทางโลกเสนอให้แต่ผู้สมควรที่มีผลงานการวิจัยบนเรื่องใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีใครได้ทำการวิจัยเช่นนั้นมาก่อน ตามกฎหมายที่ใช้ในปัจจุบันจึงเห็นควรให้ ป.ธ. 9 เทียบวุฒิเท่าระดับปริญญาตรี ซึ่งมีความเหมาะสมอยู่แล้ว ถ้าผู้ได้รับ ป.ธ. 9 ต้องการศึกษาต่อขั้นปริญญาดุษฎีบัณฑิต จะสามารถเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตรตามความต้องการได้ อย่างเช่นผู้สำเร็จปริญญาตรีทางภาษาศาสตร์ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน เป็นต้น ซึ่งมีความสามารถ เขียน อ่าน แปล พูด ได้อย่างดีเหมือนพระสงฆ์ที่มีความสามารถทางภาษาบาลีสอบผ่านได้ ป.ธ. 9 แต่ถ้าผู้สำเร็จปริญญาตรีทางภาษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยทางโลกจะศึกษาต่อปริญญาดุษฎีบัณฑิต จำเป็นต้องศึกษาต่อและปฏิบัติตามความต้องการของมหาวิทยาลัยที่ศึกษาต่อนั้น

พระภิกษุสามเณรผู้สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค เมื่อเข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร พัดเปรียญ ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้ว จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ จัดเจ้าพนักงานขับรถหลวงปลดระวาง ส่งถึงยังอาราม

ส่วนสามเณรผู้สอบไล่ได้ในชั้นเปรียญธรรม 9 ประโยค โดยมีอายุไม่เกิน 20 ปี จะได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดให้เข้ารับการบรรพชาอุปสมบทในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง โดยได้รับพระราชทานเครื่องอัฏฐบริขาร ทรงรับเป็นเจ้าภาพในการบำเพ็ญพระราชกุศลบรรพชาอุปสมบทให้ตามโบราณราชประเพณี หรือเรียกว่าทรงรับเป็น นาคหลวง นั่นเอง (นาคหลวงสายเปรียญธรรม)

หลักสูตรเปรียญธรรม 9 ประโยค

[แก้]

หลักสูตรประโยคบาลีสนามหลวงที่ยุติอยู่ในปัจจุบัน (ยุติ ในที่นี้ หมายถึง ตกลง)

  1. วิชาแต่งไทยเป็นมคธ แต่งภาษามคธจากภาษาไทยล้วน ข้อความแล้วแต่กรรมการจะกำหนดให้ (แต่งเป็นบาลี)
  2. วิชาแปลไทยเป็นมคธ หลักสูตรใช้หนังสือ วิสุทฺธิมคฺค (แต่งเป็นบาลี)
  3. วิชาแปลมคธเป็นไทย หลักสูตรใช้หนังสือ อภิธมฺมตฺถวิภาวินี (แปลเป็นไทย)

หลักเกณฑ์ของผู้มีสิทธิ์สอบไล่ในชั้นเปรียญธรรม 9 ประโยค

[แก้]

พระภิกษุสามเณรที่มีสิทธิ์สอบไล่ในชั้น เปรียญธรรม 9 ประโยค ต้องสอบไล่ได้ เปรียญธรรม 8 ประโยค และต้องสอบไล่ได้นักธรรมเอกก่อนจึงจะมีสิทธิ์สอบไล่ในชั้นนี้ได้ [4]

การสอบไล่เปรียญธรรม 9 ประโยคในปัจจุบัน จัดสอบ ณ วัดสามพระยา กรุงเทพมหานครฯ โดยการกำกับสนามสอบของมหาเถรสมาคม อย่างเข้มงวด

ผู้สอบไล่ได้เปรียญธรรม 9 ประโยค

[แก้]

พระภิกษุสามเณรผู้สอบไล่ได้เปรียญธรรม 9 ประโยค จะได้รับประกาศนียบัตร พระราชทานพัดยศเปรียญธรรม ทรงตั้งเป็น "เปรียญ 9 ประโยค" มีศักดิ์และสิทธิ์ตามหลักสูตรของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง[5]

ผู้สอบไล่ได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ตามโบราณราชประเพณีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานประกาศนียบัตรพัดยศ และไตรจีวรด้วยพระองค์เอง ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม [6]

พระเปรียญธรรม 9 ประโยค มีสมณศักดิ์อันดับในงานพระราชพิธี - รัฐพิธี เหนือกว่า พระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสพระอารามหลวง ชั้นโท (จล.ชท.) [7]

ลักษณะพัดยศเปรียญธรรม 9 ประโยค เป็นพัดหน้านาง ประโยค ป.ธ. 9 พื้นสักหลาดสีเหลืองด้ามสีขาว ปักดิ้นเลื่อมตรงกลางว่าง ไม่มีเลข[8]

ข้อสังเกตตามกฎหมาย

[แก้]

มาตรา 4* ให้ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนาตามหลักสูตร พระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวงเปรียญธรรมเก้าประโยค มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรี เรียกว่า "เปรียญธรรมเก้าประโยค" ใช้อักษรย่อว่า "ป.ธ.9" *[มาตรา 4 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540]

จาก พระราชบัญญัติ กำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ. 2527 ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2527 เป็นปีที่ 39 ในรัชกาลปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราช โองการโปรดเกล้า ฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จ วิชาการพระพุทธศาสนา จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดย คำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะ ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ. 2527"

มาตรา 2* พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป *[รก.2527/140/4พ/8 ตุลาคม 2537]

มาตรา 3* วิชาการพระพุทธศาสนา หมายความว่า วิชาการ ซึ่งจัดให้พระภิกษุสามเณรศึกษาตามหลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและ แผนกบาลีสนามหลวง *[มาตรา 3 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540]

มาตรา 4* ให้ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนาตามหลักสูตร พระปริยัติธรรมแผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวงเปรียญธรรมเก้าประโยค มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรี เรียกว่า "เปรียญธรรมเก้าประโยค" ใช้อักษรย่อว่า "ป.ธ.9" *[มาตรา 4 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540]

มาตรา 5 นอกจากปริญญาตามมาตรา 4 พระภิกษุสามเณรซึ่งได้ ศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนาอาจได้รับประกาศนียบัตรรับรองความรู้ตาม หลักสูตรที่คณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ให้ความเห็นชอบ

มาตรา 6* ให้มีคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์คณะหนึ่ง ประกอบด้วย สมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นประธานกรรมการ แม่กองบาลี สนามหลวง แม่กองธรรมสนามหลวง อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฎ ราชวิทยาลัย อธิการบดีมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดทบวงมหาวิทยาลัย เลขาธิการสภาสถาบันราชภัฏ อธิบดีกรมการศาสนา อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน อธิบดีกรมวิชาการ เลขาธิการคณะกรรมการ การศึกษาแห่งชาติ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินเจ็ดคน ซึ่งสมเด็จพระ สังฆราชทรงแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคม เป็นกรรมการ ให้คณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์เลือกกรรมการผู้หนึ่งเป็น รองประธานกรรมการ ให้อธิบดีกรมการศาสนาเป็นเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาของ คณะสงฆ์ และให้กรมการศาสนาทำหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ของคณะสงฆ์ *[มาตรา 6 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540]

มาตรา 7 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งพ้นจากตำแหน่งอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ ในกรณีที่สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มขึ้น ในระหว่างที่กรรมการซึ่งทรงแต่งตั้งไว้แล้วยังมีวาระอยู่ในตำแหน่ง ให้ผู้ซึ่ง ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่เหลืออยู่ของ กรรมการซึ่งได้รับแต่งตั้งไว้แล้ว

มาตรา 8 นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระตามมาตรา 7 กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (1) ตาย (2) ลาออก หรือ (3) สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้ออก ในกรณีที่กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ สมเด็จ พระสังฆราชอาจทรงแต่งตั้งผู้อื่นเป็นกรรมการแทนโดยความเห็นชอบของ มหาเถรสมาคมได้ และให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งอยู่ในตำแหน่งเท่ากับวาระที่ เหลืออยู่ของกรรมการซึ่งตนแทน

มาตรา 9 การประชุมของคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ ต้องมีกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมดที่ ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้น จึงจะเป็นองค์ประชุม ถ้าประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้รอง ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานกรรมการและรอง ประธานกรรมการไม่มาประชุมหรือไม่อยู่ในที่ประชุม ให้ที่ประชุมเลือก กรรมการผู้หนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก กรรมการผู้หนึ่ง มีเสียงหนึ่งในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ประธานในที่ประชุม ออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

มาตรา 10 คณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้ (1) กำหนดนโยบายและแผนการจัดการศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนา ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้น (2) กำหนดมาตรฐานและให้ความเห็นชอบหลักสูตรวิชาการ พระพุทธศาสนา (3) กำหนดพื้นความรู้ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์การเข้าศึกษา ระยะเวลา การศึกษา การสอบและเงื่อนไขในการรับปริญญา หรือประกาศนียบัตร (4) ควบคุมดูแลการจัดการศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนาให้มีการ ศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นหลัก และป้องกันมิให้มีการเปลี่ยนแปลงพระธรรมวินัย ให้ผิดไปจากพระบาลีในพระไตรปิฎก (5) วินิจฉัยสั่งการเพื่อยับยั้งหรือยุติการดำเนินกิจการที่ขัดต่อ พระธรรมวินัยหรือขัดต่อกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ หรือคำสั่งของสถานศึกษา วิชาการพระพุทธศาสนาตามพระราชบัญญัตินี้ (6) วางระเบียบ และออกข้อบังคับหรือคำสั่งเพื่อปฏิบัติการตาม พระราชบัญญัตินี้

มาตรา 11 ผู้ใดไม่มีสิทธิใช้ปริญญาหรือประกาศนียบัตร หรืออักษรย่อ ปริญญาตามพระราชบัญญัตินี้ กระทำการเพื่อให้บุคคลอื่นเชื่อว่าตนมีสิทธิดังกล่าว ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ

มาตรา 12 ให้ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนาตามหลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวง เปรียญธรรมเก้าประโยค ปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิตจากสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัยในพระบรม ราชูปถัมภ์ หรือปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตจากมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยใน พระบรมราชูปถัมภ์ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ มีวิทยฐานะชั้นปริญญาตรี ตามมาตรา 4

มาตรา 13 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตาม พระราชบัญญัตินี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ประจวบ สุนทรางกูร รองนายกรัฐมนตรี

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่พระภิกษุ สามเณรซึ่งได้ศึกษาและสอบไล่ได้เปรียญเก้าประโยคตามหลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและแผนกบาลีสนามหลวงของคณะสงฆ์ ปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิต ตามหลักสูตรปริญญาศาสนศาสตรบัณฑิตของสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ หรือปริญญาพุทธศาสตรบัณฑิตตามหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตร บัณฑิตของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ มีความรู้ความ สามารถและประสบการณ์เทียบขั้นบัณฑิตด้านสังคมศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ฝ่ายอาณาจักร สมควรกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตร ทั้งสามนี้ให้สูงเท่ากับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยฝ่ายอาณาจักร จึงจำเป็น ต้องตราพระราชบัญญัตินี้ พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540

หมายเหตุ:- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ เนื่องจาก ได้มีการตราพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัยและ พระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อดำเนินงาน ด้านการศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนาตามหลักสูตรปริญญาศาสนศาสตร์บัณฑิต และพุทธศาสตรบัณฑิตขึ้นโดยเฉพาะแล้ว สมควรแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติใน พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ. 2527 ในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนาตามหลักสูตรปริญญา ศาสนศาสตรบัณฑิตและพระพุทธศาสตรบัณฑิต ตลอดจนองค์ประกอบของ คณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์ ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับหลักการ ในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยดังกล่าว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ [รก.2541/51ก/1/1 ตุลาคม 2540][9]

อ้างอิง

[แก้]
  1. พระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ. 2527 มาตรา 4 แก้ไขโดยพระราชบัญญัติฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2540
  2. "ภาษาบาลี สันสกฤต ยังใช้พูดกันหรือไม่ ประเทศไหน?". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2020-09-27. สืบค้นเมื่อ 2016-08-15.
  3. "เสนอเทียบเปรียญ 9 เท่าปริญญาเอก". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-16. สืบค้นเมื่อ 2008-01-19.
  4. ตัวอย่างปัญหา-เฉลยข้อสอบบาลีสนามหลวง ป.ธ. 6-9 ปี พ.ศ. 2550
  5. เทียบเท่าผู้สอบได้หลักสูตรคณะพุทธศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
  6. "บัญชีรายนามพระภิกษุสามเณรที่สอบไล่ได้เปรียญธรรม 9 ประโยค และ 6 ประโยค ประจำปี 2550 สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2007-09-28. สืบค้นเมื่อ 2007-05-04.
  7. ลำดับพัดยศสมณศักดิ์ ฐานานุกรม เปรียญในงานพระราชพิธี - รัฐพิธี
  8. ลักษณะพัดยศเปรียญธรรม 9 ประโยค
  9. http://www.baanjomyut.com/library/law/37.html

ดูเพิ่ม

[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]