รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส
รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส | |
---|---|
ภาพแสดงบทนำของรัฐธรรมนูญพร้อมตรามหาลัญจกร | |
ภาพรวม | |
ชื่อต้นฉบับ | Constitution française du 4 octobre 1958 |
ท้องที่ใช้ | ประเทศฝรั่งเศส |
เสนอ | 28 กันยายน ค.ศ. 1958 (ข้อผิดพลาด: แม่แบบ:อายุปีและวัน รองรับเฉพาะปีพุทธศักราช หากใช้เป็นคริสต์ศักราช กรุณาใช้ แม่แบบ:Age in years and days) |
มีผลบังคับใช้ | 4 ตุลาคม ค.ศ. 1958 (ข้อผิดพลาด: แม่แบบ:อายุปีและวัน รองรับเฉพาะปีพุทธศักราช หากใช้เป็นคริสต์ศักราช กรุณาใช้ แม่แบบ:Age in years and days) |
ระบบ | รัฐเดี่ยว ระบบกึ่งประธานาธิบดี สาธารณรัฐ |
โครงสร้างรัฐบาล | |
แขนง | 3 |
ประมุขแห่งรัฐ | ประธานาธิบดี |
ฝ่ายนิติบัญญัติ | ระบบสองสภา (รัฐสภา: วุฒิสภา, สมัชชาแห่งชาติ) |
ฝ่ายบริหาร | คณะรัฐบาล นำโดยนายกรัฐมนตรี |
ฝ่ายตุลาการ | ศาลสูง (วัตถุประสงค์ในการถอดถอนประธานาธิบดี) สภารัฐธรรมนูญ (องค์การที่ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องตามรัฐธรรมนูญของกฎหมาย) |
ระบอบ | ระบบกึ่งประธานาธิบดี |
คณะผู้เลือกตั้ง | ไม่มี แต่การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาถูกกำหนดให้เป็นทางอ้อม |
ประวัติศาสตร์ | |
แก้ไขเพิ่มเติม (ครั้ง) | 25 |
แก้ไขครั้งล่าสุด | 4 มีนาคม ค.ศ. 2024 |
ฉบับก่อนหน้า | รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ค.ศ. 1946 |
เอกสารฉบับเต็ม | |
Constitution of the Fifth French Republic บนวิกิซอร์ซ |
รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ฉบับวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1958 (ฉบับที่ 15 ของประเทศฝรั่งเศส) วางกฎเกณฑ์สำหรับสถาบันต่างๆ ของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5 ซึ่งถือคติการปกครองว่า "รัฐบาลจากประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน"[1]
ชาวฝรั่งเศสได้รับรองรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยประชามติเมื่อวันที่ 28 กันยายน ค.ศ. 1958[2] และกฎหมายสูงสุดฉบันนี้ได้รับการแก้ไขแล้ว 24 ครั้ง โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทำด้วยวิธีต่างๆ คือ การแก้ไขโดยสภาผู้แทนแห่งรัฐหรือ Congrès (สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาลงคะแนนเสียงพร้อมกัน) หรือการแก้ไขซึ่งรับรองโดยประชาชนผ่านทางประชามติ
อารัมภบทของรัฐธรรมนูญฉบับนี้อ้างอิงถึง (1) คำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง ฉบับวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ. 1789 (2) อารัมภบทรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสฉบับวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1946 (รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 4) และ (3) กฎบัตรสิ่งแวดล้อมฉบับปี ค.ศ. 2004 เอกสารเหล่านี้ กอปรกับรัฐธรรมนูญ และหลักพื้นฐานซึ่งรับรองโดยกฎหมายแห่งสาธารณรัฐ ถือเป็นส่วนหนึ่งของแม่บทกฎหมายรัฐธรรมนูญ (Le bloc de constitutionalité)
ตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส (Le Conseil constitutionnel) เป็นผู้ตรวจสอบความสอดคล้องของกฎหมายต่างๆ ต่อรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยแม่บทกฎหมายรัฐธรรมนูญเป็นเกณฑ์ นอกจากตุลาการรัฐธรรมนูญแล้ว ระหว่างการพิพากษาอรรถคดีทั้งปวงอื่นๆ ผู้พิพากษาศาล (ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ฯลฯ) หรือผู้ร้องหรือผู้ถูกร้อง ก็สามารถยกแม่บทกฎหมายรัฐธรรมนูญขึ้นอ้างได้โดยตรงเช่นกัน
บทย่อ
[แก้]รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งปกครองภายใต้ระบอบสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 4 หลุดพ้นจากความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล และวิกฤตสงครามแอลจีเรีย โดยมีหลักการสำคัญคือสร้างความแข็งแกร่งให้กับฝ่ายบริหาร
มีแชล เดอเบร (Michel Debré) ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญ มีแรงบันดาลใจในการยกร่างฯ มาจากระบอบรัฐสภาแบบประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะความแข็งแกร่งของตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ ชาร์ล เดอ โกล (Charles de Gaulle) ยังได้ผลักดันให้รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานาธิบดีเป็นผู้พิทักษ์สถาบันต่างๆ ของรัฐ [3]
บทบัญญัติที่สำคัญ
[แก้]บทบัญญัติที่สำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดหลักการในการบริหารแผ่นดินและจัดระเบียบการดำเนินการของสถาบันต่างๆ ของประเทศฝรั่งเศส
สิทธิเสรีภาพขั้นมูลฐานได้รับการรับรองโดยการอ้างอิงถึงคำประกาศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมือง ค.ศ. 1789 อารัมภบทของรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 4 ฉบับวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1946 หลักการพื้นฐานที่ได้รับการรับรองโดยกฎหมายแห่งสาธารณรัฐ (principes fondamentaux reconnus par les lois de la République) รวมถึงกฎบัตรสิ่งแวดล้อม ค.ศ. 2004
ในคำวินิจฉัยลงวันที่ 16 กรกฎาคม ค.ศ. 1971 ตุลาการรัฐธรรมนูญได้รับรองว่าบทบัญญัติต่างๆ ข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ กล่าวคือถือเป็นส่วนหนึ่งของแม่บทกฎหมายรัฐธรรมนูญ (Le bloc de constitutionalité)
- มาตรา 2 ให้นิยามของอำนาจอธิปไตย ;
- มาตรา 3 เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยซึ่งเป็นของประชาชน ;
- มาตรา 4 เกี่ยวกับบทบาทของพรรคการเมือง และหลักการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ ;
- มาตรา 5 เกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส ;
- มาตรา 11 เกี่ยวกับบทบาทของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสในกระบวนการลงประชามติ ;
- มาตรา 12 เกี่ยวกับการยุบสภาผู้แทนราษฎร ;
- มาตรา 14 เกี่ยวกับความรับผิดชอบของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสในฐานะหัวหน้าด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศ ;
- มาตรา 15 เกี่ยวกับความรับผิดชอบของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสในฐานะจอมทัพฝรั่งเศส ;
- มาตรา 16 เกี่ยวกับการใช้อำนาจพิเศษของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส กรณีที่มีการคุกคามอย่างยิ่งยวดต่อสาธารณรัฐ ภายใต้การควบคุมของรัฐสภาและตุลาการรัฐธรรมนูญ ;
- มาตรา 20 เกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของรัฐบาลฝรั่งเศส ;
- มาตรา 21 เกี่ยวกับอำนาจและหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ;
- มาตรา 47 เกี่ยวกับการลงคะแนนเสียงโดยรัฐสภาสำหรับร่างรัฐบัญญัติด้านการเงิน ในเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ;
- มาตรา 49 เกี่ยวกับความรับผิดชอบด้านการเมืองของรัฐบาลต่อหน้ารัฐสภา ;
- มาตรา 55 ซึ่งกำหนดให้สนธิสัญญาระหว่างประเทศมีลำดับศักดิ์ของกฎหมายเหนือรัฐบัญญัติ ;
- มาตรา 62 ซึ่งกำหนดให้คำวินิจฉัยของตุลาการรัฐธรรมนูญเป็นที่สุดและอุทธรณ์ไม่ได้ ;
- มาตรา 72 เกี่ยวกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฝรั่งเศส ;
- มาตรา 88 เกี่ยวกับการทำความตกลงระหว่างประเทศกับรัฐที่เป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป ;
- มาตรา 89 เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
การแก้ไขรัฐธรรมนูญ
[แก้]การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 89 โดยมีขั้นตอน 4 ขั้นตอน ดังนี้
- การริเริ่มกระบวนการ ;
- การอภิปรายและการลงมติรับรอง ;
- การให้การเห็นชอบเป็นการถาวร (Ratification) ;
- การประกาศใช้โดยประธานาธิบดี
ในอดีต ได้เคยมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยประชามติบนพื้นฐานของมาตรา 11 กล่าวคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางตรงเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1962 (ผ่านการรับรอง) และการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยการกระจายอำนาจระดับแคว้น (Régions) และการปรับปรุงระบบวุฒิสภาเมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1969 (ไม่ผ่านการรับรอง)
ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 89 มีขั้นตอน 4 ขั้นตอน ดังนี้ :
- การเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ :
- โดยประธานาธิบดีตามการเสนอโดยนายกรัฐมนตรี ;
- โดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา ;
ดังนี้ หากประธานาธิบดีต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีก่อน
- จากนั้น สภาทั้งสองต้องมีมติรับรองถ้อยคำที่ตรงกันของกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยให้ใช้ขั้นตอนตามมาตรา 42 วรรค 3 ;
- กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับการรับรองแล้วจะต้องได้รับความเห็นชอบขั้นสุดท้าย (Ratification) ด้วยวิธีการใดวิธีการหนึ่งต่อไปนี้ :
- โดยประชามติ (วิธีปกติ) ;
- หากไม่ต้องการใช้ประชามติ ประธานาธิบดีสามารถเสนอกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้รับการรับรองจากสภาทั้งสองแล้ว ให้สภาทั้งสองลงคะแนนเสียงพร้อมกัน (สภาทั้งสองลงคะแนนเสียงพร้อมกันเรียกว่า Congrès) โดยต้องได้เสียงข้างมากสามในห้า จึงจะถือว่ากฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบขั้นสุดท้าย ;
- ประธานาธิบดีประกาศใช้กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันหลังจากขั้นตอนดังกล่าว
การแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5 ที่เคยมีมาในอดีต
[แก้]- ค.ศ. 1960 : กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ 60-525 ลงวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1960 เพิ่มเติมบทบัญญัติในหมวดที่ 12 ของรัฐธรรมนูญ โดยได้แก้ไขมาตรา 85 และ 86
- ค.ศ. 1962 : กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ 62-1292 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1962 ว่าด้วยการเลือกตั้งประธานาธิบดีทางตรง โดยได้แก้ไขมาตรา 6 และ 7
- ค.ศ. 1963 : กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ 63-1327 ลงวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 1963 โดยได้แก้ไขมาตรา 28
- ค.ศ. 1974 : กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ 74-904 ลงวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 1974 ว่าด้วยการแก้ไขมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญ
- ค.ศ. 1976 : กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ 76-527 ลงวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 1976 ว่าด้วยการแก้ไขมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญ
- ค.ศ. 1992 : กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ 92-554 ลงวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1992 เพิ่มเติมหมวดว่าด้วย “ประชาคมยุโรปและสหภาพยุโรป” โดยได้เรียงลำดับหมายเลขหมวดใหม่สำหรับหมวดที่ 14 และ 15 และได้แก้ไขมาตรา 2, 54 และ 74 และเพิ่มเติมหมวดใหม่คือหมวดที่ 14 ซึ่งมีมาตราใหม่คือ มาตรา 88-1, 88-2, 88-3 และ 88-4
- ค.ศ. 1993 : กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ 93-952 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1993 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1958 โดยได้แก้ไขหมวดที่ 8, 9, 10 และ 16 และได้เรียงลำดับหมายเลขหมวดใหม่สำหรับหมวดที่ 10, 11, 12, 13, 14, 15 และ 16 และได้แก้ไขมาตรา 65 และ 68 พร้อมทั้งได้เพิ่มเติมหมวดใหม่คือหมวดที่ 10 ซึ่งมีมาตราใหม่คือ มาตรา 68-1, 68-2 และ 93
- ค.ศ. 1993 : กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ 93-1256 ลงวันที่ 25 พฤศจิกายน ค.ศ. 1993 ว่าด้วยความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิในการขอลี้ภัย โดยได้เพิ่มเติมมาตรา 53-100
- ค.ศ. 1995 : กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ 95-880 ลงวันที่ 4 สิงหาคม ค.ศ. 1995 ว่าด้วยการขยายกรอบการใช้ประชามติ การกำหนดให้สภามีวาระการประชุมหนึ่งครั้งต่อปี การแก้ไขความละเมิดมิได้ของรัฐสภา โดยได้ยกเลิกบทบัญญัติว่าด้วย “ประชาคม” และบทเฉพาะกาล ทั้งนี้ ได้แก้ไขมาตรา 1, 2, 5, 11, 12, 26, 28, 48, 49, 51, 70 และ 88 และได้เพิ่มเติมมาตรา 68-3 (มาตราที่ยกเลิกอยู่ในหมวดที่ 13 และ 17 คือ 76, 77, 78, 79, 80, 81, 82, 83, 84, 85, 86, 87, 90, 91, 92 และ 93
- ค.ศ. 1996 : กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ 96-138 ลงวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1996 ว่าด้วยการแก้ไขมาตรา 34 และ 39 รวมถึงการเพิ่มมาตรา 47-1
- ค.ศ. 1998 : กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ 98-610 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม ค.ศ. 1998 เกี่ยวกับนิวคาเลโดเนีย (la Nouvelle-Calédonie) โดยได้เพิ่มเติมหมวดที่ 13 ซึ่งมีมาตรา 76 และ 77
- ค.ศ. 1999 : กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ 99-49 ลงวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1999 แก้ไขมาตรา 88-2 และ 88-4
- ค.ศ. 1999 : กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ 99-568 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1999 เพิ่มเติมมาตรา 53-2 ว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศในหมวดที่ 6
- ค.ศ. 1999 : กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ 99-569 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม ค.ศ. 1999 ว่าด้วยความเสมอภาคของผู้หญิงและผู้ชาย โดยได้แก้ไขมาตรา 3 และ 4
- ค.ศ. 2000 : กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ 2000-64 ลงวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 2000 ว่าด้วยวาระการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐ โดยได้แก้ไขมาตรา 6
- ค.ศ. 2003 : กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ 2003-267 ลงวันที่ 25 มีนาคม ค.ศ. 2003 ว่าด้วยหมายจับในระดับสหภาพยุโรป โดยได้แก้ไขมาตรา 88-2
- ค.ศ. 2003 : กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ 2003-276 ลงวันที่ 28 มีนาคม ค.ศ. 2003 ว่าด้วยการกระจายอำนาจการบริหารแผ่นดินของสาธารณรัฐ โดยได้แก้ไขมาตรา 1, 7, 13, 34, 39, 60, 72, 73 และ 74 และได้เพิ่มเติมมาตรา 37-1, 72-1, 72-2, 72-3, 72-4 และ 74-1
- ค.ศ. 2005 : กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ 2005-204 ลงวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 2005 แก้ไขหมวดที่ 15 โดยได้แก้ไขชื่อของหมวดที่ 15 และมาตรา 60, 88-1, 88-2, 88-3 และ 88-4 พร้อมทั้งเพิ่มเติมมาตรา 88-5, 88-6 และ 88-7
- ค.ศ. 2005 : กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ 2005-205 ลงวันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 2005 ว่าด้วยกฎบัตรสิ่งแวดล้อม โดยได้แก้ไขอารัมภบท และมาตรา 34
- ค.ศ. 2007 : กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ 2007-237 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 เพิ่มเติมมาตรา 77
- ค.ศ. 2007 : กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ 2007-238 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 ว่าด้วยการแก้ไขหมวดที่ 9 โดยได้แก้ไขชื่อของหมวดที่ 11 และมาตรา 67 และ 68
- ค.ศ. 2007 : กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ 2007-239 ลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2007 ว่าด้วยการห้ามใช้โทษประหารชีวิต โดยได้เพิ่มเติมมาตรา 66-1
- ค.ศ. 2008 : กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ 2008-103 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2008 แก้ไขหมวดที่ 15 โดยได้แก้ไขชื่อของหมวดที่ 11 และมาตรา 88-1, 88-2 และ 88-5 พร้อมทั้งมาตรา 88-6 และ 88-7
- ค.ศ. 2008 : กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ 2008-724 ลงวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 2008 ว่าด้วยการปรับปรุงสถาบันของสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5 ให้ทันสมัย โดยได้แก้ไขชื่อของหมวดที่ 11 และ 14 และแก้ไข 1, 3, 4, 6, 11, 13, 16, 17, 18, 24, 25, 34, 35, 38, 39, 41, 42, 43, 44, 45, 46, 47, 47-1, 48, 49, 56, 61, 62, 65, 69, 70, 71, 72-3, 73, 74-1, 88-4, 88-5, 88-6 และ 89 พร้อมทั้งเพิ่มเติมหมวดที่ 11 ทวิ และมาตรา 34-1, 47-2, 50-1, 51-1, 51-2, 61-1, 71-1, 75-1 และ 87
รัฐธรรมนูญของฝรั่งเศสทุกฉบับ
[แก้]รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1791 | ราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ |
รัฐธรรมนูญแห่งปีที่ 1 ค.ศ. 1793 (Constitution de l'an I ) | สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 1 |
รัฐธรรมนูญแห่งปีที่ 3 ค.ศ. 1795 (Constitution de l'an III) | คณะปกครอง (Directoire) |
รัฐธรรมนูญแห่งปีที่ 8 ค.ศ. 1799 (Constitution de l'an VIII) | ระบอบกงสุล (Consulat) |
รัฐธรรมนูญแห่งปีที่ 10 ค.ศ. 1802 (Constitution de l'an X) | ระบอบกงสุลตลอดชีวิต (Consulat à vie) |
รัฐธรรมนูญแห่งปีที่ 12 ค.ศ. 1804 (Constitution de l'an XII) | จักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 1 (Premier Empire) |
กฎบัตร ค.ศ. 1814 (Charte de 1814) | การฟื้นฟูราชวงศ์ฝรั่งเศส (Restauration française) |
กฎหมายเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งจักรวรรดิ ค.ศ. 1815 (Acte additionnel aux constitutions de l'Empire de 1815) | "หนึ่งร้อยวัน" (les Cent Jours) |
กฎบัตร ค.ศ. 1830 (Charte de 1830) | ราชาธิปไตยเดือนกรกฎาคม (Monarchie de Juillet) |
รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1848 | สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 2 |
รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1852 | จักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 2 (Second Empire) |
กฎหมายรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1875 | สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 |
กฎหมายรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1940 | ระบอบวิชี (Régime de Vichy) |
กฎหมายรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1945 | รัฐบาลเฉพาะกาลแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (Gouvernement provisoire de la République française) |
รัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 27 ตุลาคม ค.ศ. 1946 | สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 4 |
รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1958 | สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5 |
ดูรายละเอียด (เป็นภาษาฝรั่งเศส) เพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์ตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (ภาษาฝรั่งเศส) (html)
- รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (ภาษาฝรั่งเศส) (pdf)
- รัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศส (ภาษาไทย)[ลิงก์เสีย] (คำแปลโดย นันทวัฒน์ บรมานันท์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
- http://www.conseil-constitutionnel.fr/dossier/quarante/index.htm เก็บถาวร 2008-07-07 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน (โดย เว็บไซต์ตุลาการรัฐธรรมนูญฝรั่งเศส เผยแพร่เมื่อ ค.ศ. 1999)
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ตามมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งเป็นถ้อยคำที่คัดลอกมาจากสุนทรพจน์เกตตี้สเบิร์ก (Gettysburg Speech) ของอับราฮัม ลิงคอล์น (วันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1863)
- ↑ โดยเฉพาะถ้าเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสฉบับปี ค.ศ. 1946 โดยชาวฝรั่งเศสได้รับรองรัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1958 ทางประชามติด้วยเสียงข้างมากจำนวนร้อยละ 81.69 ของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ (มีจำนวนผู้ไม่ได้ไปลงคะแนะเสียงร้อยละ 19.37) [1] ในขณะที่รัฐธรรมนูญฉบับปี ค.ศ. 1946 ได้รับการรับรองด้วยเสียงข้างมากเพียงร้อยละ 53.24 ของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง (มีจำนวนผู้ไม่ได้ไปลงคะแนะเสียงร้อยละ 32.38 [2])
- ↑ คำปราศรัยบาเยอ (discours de Bayeux) เมื่อ 16 มิถุนายน ค.ศ. 1946 โดยชาร์ล เดอ โกล ซึ่งได้วางรากฐานของหลักการสำคัญ ๆ ของกฎเกณฑ์ซึ่งภายหลังบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 5