รายชื่อกลุ่มแยกในกองทัพไทย
ต่อไปนี้คือรายชื่อกลุ่มแยกในกองทัพไทย หมายถึง กลุ่มที่มีความมุ่งหมายทางการเมืองร่วมกัน จับมือกันเป็นวิธีบรรลุเป้าหมายและผลักดันวาระและฐานะของพวกตน
รายการ[แก้]
จปร.5[แก้]
จปร.5 (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 5) สมาชิกในกลุ่มนี้อาทิ พลโท สุจินดา คราประยูร พลโท อิสระพงศ์ หนุนภักดี พลอากาศโท เกษตร โรจนนิล และ พลเรือโท ประพัฒน์ กฤษณจันทร์ ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการปราบ กบฏทหารนอกราชการ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2528 ต่อมานายทหารกลุ่มนี้เป็นแกนนำสำคัญในการรัฐประหารรัฐบาล พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 ในนาม คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ รสช. ต่อมา พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก และ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะรองประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติได้ก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีทำให้ประชาชนไม่พอใจจนกลายเป็น พฤษภาทมิฬ ในเวลาต่อมา
ปัจจุบันนายทหารกลุ่ม จปร.5 ได้ยุติบทบาททางการเมืองไปแล้วภายหลังเหตุการณ์ พฤษภาทมิฬ
จปร.7[แก้]
จปร.7 หรือ กลุ่มยังเติร์ก (โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 7) ซึ่งเป็นกลุ่มนายทหารหนุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการเมืองสมัยรัฐบาลพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ โดยสนับสนุนให้เขาดำรงตำแหน่งในปี 2520 แต่ในปี 2523 กดดันให้เขาลาออก จนสนับสนุนพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา สมาชิกในกลุ่ม อาทิ พลตรี มนูญกฤต รูปขจร อดีตประธานวุฒิสภาและอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์, พลเอก พัลลภ ปิ่นมณี อดีตรองผู้อำนวยการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.), พันเอก ประจักษ์ สว่างจิตร อดีต สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร พรรคชาติไทย เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร, รวมถึงพลตรี จำลอง ศรีเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นต้น[1]
กลุ่มนี้พยายามรัฐประหาร 2 ครั้ง แต่ไม่สำเร็จทั้ง 2 ครั้ง คือ กบฏเมษาฮาวาย ในปี 2524 และ กบฏ 9 กันยา ในปี 2528 ด้วยในช่วงเวลานั้นหลายคนมีตำแหน่งคุมกำลังพล และหลายคนได้ผ่านสงครามครั้งสำคัญ ๆ มามาก เช่น สงครามเกาหลี, สงครามเวียดนาม, สงครามลับ
เตรียมทหาร 10[แก้]
เตรียมทหาร 10 (ตท.10, โรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 10) รุ่นเดียวกับทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 23 บุคคลสำคัญอื่นในรุ่นนี้ เช่น พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและอดีตผู้บัญชาการทหารบก, พลเอก พฤณท์ สุวรรณทัต อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม, พลอากาศเอก สุกำพล สุวรรณทัต อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, พลเอก ทรงกิตติ จักกาบาตร์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พลเรือเอก กำธร พุ่มหิรัญ อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ พลเอก ไตรรงค์ อินทรทัต ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พลเอก ศานิต พรหมาศ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบก อดีตผู้บัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ พลเอก พิรุณ แผ้วพลสง อดีตเสนาธิการทหารบก พลเอก พรชัย กรานเลิศ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
ปลายปี 2552 มีข่าวว่า พลอากาศเอก สุเมธ โพธิ์มณี อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการอากาศโยธิน (อ.ย.) ประกาศเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และแถลงว่าจะมีเพื่อนร่วมรุ่น ตท.10 อีกจำนวนมากเข้าร่วมพรรคด้วย[2] และมีข่าวอีกครั้งในปี 2555[3]
วงศ์เทวัญ[แก้]
วงศ์เทวัญ ใช้เรียกทหารบกที่รับราชการในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ และกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล. 1 รอ.) ซึ่งมีฐานอำนาจที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งต่อมาจะได้เป็นผู้บังคับบัญชาหน่วยระดับคุมกำลังพลที่มีผลต่อความมั่นคงของชาติ[4]
บูรพาพยัคฆ์[แก้]
บูรพาพยัคฆ์เดิมเป็นฉายานามของหน่วยกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ที่สัญลักษณ์ของหน่วยมีคำว่า "บูรพาพยัคฆ์" อยู่ใต้รูปเสือกับดาบ เพราะในสมัยก่อน ผบ.ร.2 รอ.จะเป็น ผบ.กองกำลังบูรพารับผิดชอบพื้นที่ชายแดนฝั่งตะวันออกทั้งหมด ซึ่งขณะนั้นมีสถานการณ์การรบกับเขมร (เวียดนามสนับสนุน) ที่รุนแรงมาก เหล่านักรบบูรพาพยัคฆ์ ได้ต่อสู้อย่างห้าวหาญ ดุเดือด เพื่อปกป้องอธิปไตยของชาติ ยุทธการที่ทำให้เหล่านักรบบูรพาพยัคฆ์จดจำไม่ลืม คือ ยุทธการบ้านโนนหมากมุ่น เมื่อปี 2523 และต่อมาก็ได้ขยายรวมไปถึงใช้เรียกกลุ่มทหารกองทัพบกที่รับราชการในกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญในรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 และ พ.ศ. 2557 รวมทั้งยังถือเป็นขั้วอำนาจสำคัญทางฝ่ายทหารที่มีอิทธิพลต่อรัฐบาลในระหว่างการรัฐประหารทั้งสองครั้งดังกล่าว บุคคลสำคัญของกลุ่มที่มีสื่อมวลชนมักกล่าวถึงในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองต่อมาถึงรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ได้แก่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม[5]
หลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 ที่โค่นรัฐบาลทักษิณ ชินวัตรแล้ว ขั้วอำนาจในกองทัพถูกเปลี่ยนผ่านจากกลุ่มเตรียมทหาร 10 (ตท.10) มาสู่กลุ่มบูรพาพยัคฆ์ (กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์) และกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ทหารเสือราชินี) ที่มีฐานอยู่ภาคตะวันออกมากกว่า เพราะเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในรัฐประหารและมีบทบาททางการเมืองต่อมา มีการวางสายผู้บัญชาการทหารบกให้กลุ่มบูรพาพยัคฆ์อย่างต่อเนื่องตั้งแต่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พลโท คณิต สาพิทักษ์ และพลตรีวลิต ซึ่งอาจจะยังมีเสนาธิการจากกลุ่มบูรพาพยัคฆ์อีก ทำให้ในปี 2553 มีเสียงร่ำลือกันว่า ยังความไม่พอใจมาสู่ทหารกลุ่มวงศ์เทวัญที่เดิมเคยกุมอำนาจมาก่อน จนกลายเป็นความขัดแย้งกันลึก ๆ ในกองทัพบก[6]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ ยังเติร์ก โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช
- ↑ พลอากาศเอก สุเมธ โพธิ์มณีจากไทยรัฐ
- ↑ พรรคเพื่อไทยเปิดชื่อเพรียวพันธ์-ตท10สมาชิกพรุ่งนี้ จากสนุกดอตคอม
- ↑ "วงศ์เทวัญ-บูรพาพยัคฆ์" ร้าวลึก!
- ↑ Marwaan Macan-Markar, “On top at last, in civilian clothes” in The Edge Review, edition of August 22-28. อ้างใน Bangkok Pundit. In post-coup Thailand, what is happening with Prem?. Asian Correspondent. (Sep 09, 2014). สืบค้น 11-9-2014.
- ↑ "วงศ์เทวัญ-บูรพาพยัคฆ์" ร้าวลึก!
![]() |
บทความเกี่ยวกับการเมือง การปกครองนี้ยังเป็นโครง คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยการเพิ่มเติมข้อมูล |
![]() |
บทความเกี่ยวกับทหาร การทหาร หรืออาวุธนี้ยังเป็นโครง คุณสามารถช่วยวิกิพีเดียได้โดยการเพิ่มเติมข้อมูล ดูเพิ่มที่ สถานีย่อย:การทหาร |