ประจักษ์ สว่างจิตร
พันเอก (พิเศษ) ประจักษ์ สว่างจิตร | |
---|---|
พ.อ. (พิเศษ) ประจักษ์ สว่างจิตร ถูกควบคุมตัวในกบฏยังเติร์ก | |
ข้อมูลส่วนบุคคล | |
เกิด | 12 กันยายน พ.ศ. 2480 |
เสียชีวิต | 10 กันยายน พ.ศ. 2546 (65 ปี) |
พรรคการเมือง | พรรคชาติไทย |
การเข้าร่วม พรรคการเมืองอื่น | จปร.7 |
คู่สมรส | สัจจา สว่างจิตร (หย่า) กรพรรณ จันทีนอก (หย่า) จรรยา สว่างจิตร |
บุตร | 8 คน |
ศิษย์เก่า | โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า |
อาชีพ | ทหารบก, นักการเมือง |
ยศที่ได้รับการแต่งตั้ง | |
รับใช้ | ไทย |
สังกัด | กองทัพบก |
ประจำการ | พ.ศ. 2503 - พ.ศ. 2524 |
ยศ | พันเอก (พิเศษ) |
ผ่านศึก | สงครามเวียดนาม |
พันเอก(พิเศษ) ประจักษ์ สว่างจิตร หรือที่นิยมเรียกว่า ผู้การประจักษ์ (12 กันยายน พ.ศ. 2480 – 10 กันยายน พ.ศ. 2546) เป็นนายทหารบกและนักการเมืองชาวไทย เคยเป็นหนึ่งในคณะผู้ก่อการในกบฏยังเติร์ก
ประวัติ
[แก้]พ.อ.พิเศษ ประจักษ์ เป็นหนึ่งในแกนนำสำคัญของนายทหาร จปร.7 เป็นนักรบอาชีพที่ผ่านการรบมาอย่างโชกโชนในสมรภูมิอินโดจีน ทั้งในเวียดนาม, กัมพูชา และลาว เป็นทหารที่ดุดันเอาจริงเอาจังในการตอบโต้การล่วงละเมิดอธิปไตยของไทย จนเพื่อนในรุ่นเรียกว่า "นักรบบ้าดีเดือด" และชาวบ้านบริเวณชายแดน ไทย-กัมพูชา ตั้งฉายาให้ว่า "วีรบุรุษตาพระยา" ยุทธการที่เป็นที่โจษจันของผู้การประจักษ์คือ ยุทธการบ้านโนนหมากมุ่น
แม้จะเป็นคนมุทะลุ ดุดัน แต่รักพวกพ้อง พ.อ.พิเศษ ประจักษ์ เป็นเพื่อนร่วมรุ่นกับ พล.ต. มนูญกฤต รูปขจร อดีตประธานวุฒิสภา, พล.อ. พัลลภ ปิ่นมณี และ พล.ต. จำลอง ศรีเมือง อดีตผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แลอดีตหัวหน้าพรรคพลังธรรม
การศึกษา
[แก้]สำเร็จการศึกษาจาก โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) หลักสูตรเวสต์พอยท์ รุ่นที่ 7 ซึ่งได้รับฉายาว่า "กลุ่มยังเติร์ก"
การสู้รบ
[แก้]ขอท้าวความหลังจากที่กองทัพจีนถอนทัพกลับไป เวียดนามก็ยังคงส่งทหารเข้าตรึงกำลังไว้ยังแนวชายแดนจีน และไทย-กัมพูชาอีกครั้ง และส่งกำลังเข้าโจมตีที่มั่นเขมรสามฝ่ายอย่างต่อเนื่อง ระหว่างนั้นเองฐานที่มั่นของฝ่ายกัมพูชาประชาธิปไตย ถูกเวียดนาม-เฮง สัมริน เข้าโจมตีจนแตกพ่าย กองทัพเวียดนามจึงเริ่มเคลื่อนกำลังรุกล้ำเข้ามาในเขตไทย และตั้งฐานที่มั่นตามแนวชายแดนไทย ลาว กัมพูชา อันเป็นดินแดนรอยต่อสามเหลี่ยมมรกต ซึ่งภูมิประเทศด้านนี้ยังเต็มไปด้วยผืนป่าอันรกทึบ และทิวเขาสูงสลับซับซ้อน ยากแก่การตรวจพบได้ทั้งทางภาคอากาศและพื้นดิน ทำให้ฝ่ายเวียดนามส่งกำลังรุกเข้ามาเรื่อย ดังนั้น พื้นที่โดยรอบตะเข็บชายแดนไทย ตั้งแต่จังหวัดอุบลราชธานีไปจนถึงจังหวัดตราด จึงเต็มไปด้วยกำลังพลข้าศึกที่แทรกซึม ตลอดจนดัดแปลงฐานที่มั่นแข็งแรงอยู่อย่างหนาแน่น
- ล่วงมาถึงปี พ.ศ. 2523 ในช่วงคืนของวันที่ 22 เดือนมิถุนายน กองกำลังเวียดนาม เฮง สัมริน ได้บุกโจมตีที่มั่นและค่ายอพยพที่อยู่โดยรอบชายแดน (อ.อรัญประเทศ จ.ปราจีนบุรีในสมัยก่อน จ.สระแก้วในปัจจุบัน) พร้อมกันหลายจุด โดยข้าศึกได้ส่งกองกำลังมากกว่า 2 กองร้อยลุกล้ำเข้ามาในดินแดนไทย โดยเข้าโจมตีค่ายอพยพบ้านหนองจานและโนนหมากมุ่น ฝ่ายเวียดนามพยายามใช้กำลังบังคับชาวเขมรให้อพยพกลับกัมพูชาคืน และยังรุกไล่ตีฝ่ายเขมรแดงลึกเข้ามายังแดนไทยมากขึ้น ทั้งนี้ข้าศึกจึงเข้ายึดครองพื้นที่บ้านโนนหมากมุ่นเอาไว้
- ในช่วงเช้าของวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2523 เวลา 06.00 น. ชุดเฝ้าตรวจและคุ้มครองหมู่บ้านโนนหมากมุ่นของ ร.2 พัน.3 จึงได้จัดกำลังพลเพื่อตีชิงพื้นที่คืน เมื่อกำลังพลของไทยเราเข้าถึงยังเขตหมู่บ้าน ปรากฏว่าตกกลลวงของข้าศึก และโดนปิดล้อม กำลังพลไทยเสียชีวิตจากการปะทะในเบื้องต้น 12 นาย พ.อ. ประจักษ์ ผบ.กกล.บูรพา ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ จึงสั่งการให้ ม. พัน.2 จัดกำลังเข้าร่วมกับ ร.31 พัน.2 เข้าสมทบและช่วยเหลือ ผลการปฏิบัติการ สามารถตอบโต้การรุกของข้าศึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และผลักดันขับไล่ข้าศึกให้ออกจากบ้านโนนหมากมุ่น เป็นการปฏิบัติการร่วมกันระหว่างหน่วย ม.พัน.2 และ ร.2 พัน .2 เป็นชุดรบ ร. - ถ. เข้าทำการกวาดล้างขับไล่และผลักดัน จนข้าศึกได้ร่นถอยไปอยู่บริเวณคลองยุทธวิธี ภายหลังจากการพิสูจน์ทราบ ฝ่ายข้าศึกเสียชีวิต 33 นาย ฝ่ายเราเสียชีวิต 12 นาย และสามารถยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ข้าศึกได้เป็นจำนวนมาก ต่อมาเมื่อ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2523 เวลา 10.00 น. ผบ.กกล.บูรพา ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ได้สั่งการเพิ่มเติมให้ ร.2, ร.31 และ ม.พัน.2 ดำเนินการกวาดล้างทำลายกำลังข้าศึกและผลักดันกำลังข้าศึกที่ยังคงยึดภูมิประเทศตามแนวชายแดนไทย ตั้งแต่บริเวณ แนวคลองยุทธวิธี ถึงบริเวณศูนย์อพยพเขมรเสรี โดยกำหนดที่หมายบริเวณศูนย์อพยพเขมรเสรีเป็นที่หมาย จนในที่สุดฝ่ายเราสามารถสังหารข้าศึกและผลักดันข้าศึกส่วนที่เหลือออกไปจากพื้นที่ประเทศไทย ได้เป็นผลสำเร็จ ผลการปฏิบัติ ณ วันที่ 24 มิ.ย. คือ ฝ่ายข้าศึกถูกสังหารสามารถยึดศพได้ 52 ศพ, ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์ และสิ่งอุปกรณ์อื่น ๆ ของข้าศึกได้จำนวนมาก และสามารถผลักดันข้าศึกให้ออกจากพื้นที่ประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ
ก่อการกบฏ
[แก้]พ.อ.พิเศษ ประจักษ์ เป็นที่รู้จักของคนทั้งประเทศจากเหตุการณ์ "กบฏยังเติร์ก" เมื่อวันที่ 1-3 เมษายน พ.ศ. 2524 ที่กลุ่มนายทหารยังเติร์ก พยายามก่อรัฐประหารยึดอำนาจ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น โดยร่วมกับ พล.อ. สัณห์ จิตรปฏิมา และ พ.อ. มนูญ รูปขจร (ชื่อและยศในขณะนั้น) ใช้กำลังพลถึง 42 กองพันแต่กลับก่อการไม่สำเร็จ ในครั้งนั้นผู้การประจักษ์รับหน้าที่ไปควบคุมตัว พล.อ. เปรม ที่บ้านสี่เสาร์เทเวศน์ แต่สุดท้าย พล.อ .เปรม สามารถหลอกล่อจนหลุดจากการควบคุมตัวได้ ขณะที่ต่อมาตัว พ.อ.(พิเศษ) ประจักษ์เองกลับถูกทหารราบ 21 นำโดย พ.ท. ณรงค์เดช นันทโพธิ์เดช จับกุมตัวจนพันเอกพัลลภ ปิ่นมณี (ยศขณะนั้น) ต้องตัดสินใจบุกเดี่ยวไปช่วยเหลือ และได้เจรจากับ พล.ต. ชวลิต ยงใจยุทธ (ยศในขณะนั้น) ซึ่งเป็นทหารชั้นผู้ใหญ่ในที่นั้นจน พ.อ.ประจักษ์ ได้รับการรับรองความปลอดภัย
หลังกบฏ
[แก้]หลังสถานการณ์คลี่คลายลง พ.อ.พิเศษ ประจักษ์ ผันตัวเองไปทำธุรกิจส่วนตัวเช่นกิจการรักษาความปลอดภัย ปั้มน้ำมัน น้ำปลาตราสว่างจิตร ข้าวสารบรรจุถุง (เจ้าแรก ๆ ของไทย) จนมาทำธุรกิจจำหน่วยเหล็กเส้น ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากก่อตั้ง บริษัท พี.โอเวอร์ซีส์สตีล จำกัด (มหาชน) และได้ร่วมผลักดันให้เพื่อน ๆ ที่ร่วมก่อรัฐประหารได้มีโอกาสกลับเข้ารับราชการใหม่ ประสบความสำเร็จเป็นนายพลตามวิถีชีวิตของแต่ละคน
ด้านการเมือง
[แก้]เมื่อครั้งรัฐประหาร 2519 นำโดยพล.ร.อ. สงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน พ.ท. ประจักษ์ สว่างจิตร (ยศในขณะนั้น) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2519
นอกจากนี้ พ.อ. ประจักษ์ สว่างจิตร ยังเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา ในวันที่ 22 เมษายน 2522 โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง สมาชิกวุฒิสภา จำนวน 225 ท่าน ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2521 และพ้นจากตำแหน่งโดยการจับสลากออก เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2524
พ.อ.พิเศษ ประจักษ์ เคยลงสมัคร ส.ส. กรุงเทพฯ เขตบางเขน ในนามพรรคชาติไทย ในปี พ.ศ. 2529 และได้เป็น ส.ส. ถือเป็น ส.ส.ของพรรคชาติไทยเพียงคนเดียวในกรุงเทพ ฯ[1] จนกระทั่ง น.ส.จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์ ในปี พ.ศ. 2548 และเคยเป็นที่ปรึกษา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พล.ต. สนั่น ขจรประศาสน์) สมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2543 พ.อ.พิเศษ ประจักษ์ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เบอร์ 10 ซึ่งได้สร้างสีสันให้กับการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นอย่างมาก จากการเกณฑ์พนักงานรักษาความปลอดภัยในบริษัทของตัวเอง ไปยืนเข้าแถวแสดงความเข้มแข็ง ขณะยื่นใบสมัครและหาเสียง อีกทั้งยังใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ที่เรียกว่า "รถโรโบค้อป" เป็นพาหนะในการหาเสียง โดยใช้นโยบายการหาเสียงว่า "จ้างยาม 5 หมื่นคน... ปราบโจร...ปราบยา.....ฯลฯ" เป็นที่ฮือฮากันอย่างยิ่ง เพราะมีการวิจารณ์ว่าเป็นการตบหน้าการทำงานของตำรวจอย่างเต็มที่[2] แม้จะไม่ได้รับการเลือกตั้งก็ตาม
ครอบครัว
[แก้]ชีวิตส่วนตัวสมรสกับ นางสัจจา สว่างจิตร มีบุตรธิดา 4 คน
- นางสาวอลิสา สว่างจิตร
- นางสาวคนางค์รัชต์ สว่างจิตร
- นางสาวนิรัชดา สว่างจิตร
- นางสาวราสิณี สว่างจิตร
กับนาง กรพรรณ จันทีนอก มีบุตร ธิดา 4 คน
- นางยิหวา สุทธิพิเศษชาติ
- นายมาตร สว่างจิตร
- พ.อ. สมพล สว่างจิตร
- นายอารัม สว่างจิตร
สมรสกับนางจรรยา สว่างจิตร
เสียชีวิต
[แก้]ช่วงบั้นปลายชีวิต พ.อ. (พิเศษ) ประจักษ์ได้ต่อสู้กับโรคตับที่ป่วยเรื้อรังมานาน และจบชีวิตตัวเองลงด้วยอาวุธปืนในห้องน้ำที่บ้าน ในวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2546 ก่อนจะถึงวันครบรอบวันเกิดปีที่ 68 เพียง 2 วัน
เครื่องราชอิสริยาภรณ์
[แก้]- พ.ศ. 2529 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือก ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก (ท.ช.)[3]
- พ.ศ. 2523 – เครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย ชั้นที่ 2 ทวีติยาภรณ์มงกุฎไทย (ท.ม.)[4]
- พ.ศ. 2517 – เหรียญชัยสมรภูมิ การรบ ณ สาธารณรัฐเวียดนาม (ช.ส.) (ประดับเปลวระเบิด)[5]
- พ.ศ. 2514 – เหรียญพิทักษ์เสรีชน ชั้นที่ 2 ประเภทที่ 2 (ส.ช.)[6]
- พ.ศ. 2511 – เหรียญราชการชายแดน (ช.ด.)[7]
- พ.ศ. 2518 – เหรียญจักรมาลา (ร.จ.ม.)[8]
เครื่องราชอิสริยาภรณ์ต่างประเทศ
[แก้]- สหรัฐ :
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ ลบอดีต...ฟื้นปัจจุบัน "ชุมพล"รับไม้"บรรหาร" สานตำนาน"ศิลปอาชา"[ลิงก์เสีย]จากเว็บไซต์รัฐสภาไทย
- ↑ "พันเอก ประจักษ์ สว่างจิตร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-08-30. สืบค้นเมื่อ 2010-07-07.
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๑๐๓ ตอนที่ ๒๑๓ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒, ๓ ธันวาคม ๒๕๒๙
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์, เล่ม ๙๗ ตอนที่ ๑๘๘ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗๙, ๕ ธันวาคม ๒๕๒๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเครื่องหมายเปลวระเบิดสำหรับประดับแพรแถบเหรียญชัยสมรภูมิ, เล่ม ๙๑ ตอนที่ ๕๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๖, ๔ เมษายน ๒๕๑๗
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญพิทักษ์เสรีชน, เล่ม ๘๘ ตอนที่ ๑๑๕ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๒๖, ๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญราชการชายแดน, เล่ม ๘๕ ตอนที่ ๘๙ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๗, ๓ ตุลาคม ๒๕๑๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, แจ้งความสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง พระราชทานเหรียญจักรมาลาและเหรียญจักรพรรดิมาลา, เล่ม ๙๓ ตอนที่ ๒๔ ง ฉบับพิเศษ หน้า ๑๓๑๗, ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๙