อุทยานแห่งชาติแม่วงก์
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ | |
---|---|
ที่ตั้ง | จ.นครสวรรค์ และ จ.กำแพงเพชร ประเทศไทย |
พื้นที่ | 558,750 ไร่ (894 ตร.กม.)[1] |
จัดตั้ง | 14 กันยายน 2530 |
หน่วยราชการ | สำนักอุทยานแห่งชาติ |
อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่อำเภอปางศิลาทอง จังหวัดกำแพงเพชร และอำเภอแม่วงก์ และอำเภอแม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร ตามเทือกเขาสูงชันก่อกำเนิดเป็นน้ำตกที่สวยงาม 4-5 แห่ง ทั้งเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำแม่วงก์อันเป็นต้นน้ำของแม่น้ำสะแกกรัง นอกจากนี้ยังมีแก่งหินทำให้เกิดน้ำตกเล็กๆ ตามแก่งหินนี้ ตลอดจนมีหน้าผาที่สวยงามตามธรรมชาติ อุทยานมีเนื้อที่ประมาณ 558,750 ไร่ หรือ 894 ตารางกิโลเมตร ซึ่งในขณะนี้รัฐบาลกำลังดำเนินการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ในเขตพื้นที่อุทยานด้วย
ประวัติ
[แก้]นายสวัสดิ์ คำประกอบ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีมีหนังสือ [2]ถึงปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เถลิง ธำรงนาวาสวัสดิ์) ขอให้จัดพื้นที่ป่าแม่วงก์-แม่เปิน จังหวัดนครสวรรค์ซึ่งมีสภาพธรรมชาติและน้ำตกที่สวยงามหลายแห่ง สภาพป่าอุดมสมบูรณ์และเป็นป่าต้นน้ำลำธาร กำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จากการสำรวจหาข้อมูล ปรากฏว่า พื้นที่ดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงเป็นต้นกำเนิดของลำน้ำแม่วงก์ มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงาม เช่น น้ำตกแม่กระสาหรือน้ำตกแม่กี ซึ่งสูงประมาณ 200 เมตร และหน้าผาต่างๆ สภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์ป่านานาชนิด เหมาะสมที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ [3]
กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ซึ่งมีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2528 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2528 เห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติซึ่งประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา[4] เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 55 ของประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศ
[แก้]สภาพภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนเรียงรายกันอยู่ตามเทือกเขาถนนธงชัยลดหลั่นลงมาจนถึงพื้นราบ ประมาณ 40-50 ลูก ยอดที่สูงที่สุดคือ “ยอดเขาโมโกจู” สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,964 เมตร เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารต้นกำเนิดของลำน้ำแม่วงก์ ส่วนพื้นที่ราบมีไม่มาก ส่วนใหญ่อยู่บริเวณริมแม่น้ำ[5]
โดยลำน้ำแม่วงก์ หรือแม่เรวา เป็นแม่น้ำหรือลำน้ำสายหลักของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลายมีระบบนิเวศพิเศษ มีลักษณะเป็นลำธารที่ราบมีเกาะแก่งต่าง ๆ มากมายเป็นที่ตั้งของป่าละเมาะอันเป็นที่อยู่ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่สำคัญและหายากใกล้สูญพันธุ์ ขณะที่ป่าริมน้ำเป็นถิ่นที่อยู่ของเสือโคร่งพันธุ์อินโดจีน, แก่งลานนกยูง เป็นที่อยู่และจับคู่ผสมพันธุ์ของนกยูงพันธํ์ไทยที่เหลือเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทย รวมถึงนากใหญ่ขนเรียบ ขณะที่ในลำน้ำพบปลาน้ำจืดอีกกว่า 60 ชนิด เช่น ปลาตะพากส้ม, ปลาเลียหิน[6]
ลักษณะภูมิอากาศ
[แก้]สภาพภูมิอากาศของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ในช่วงฤดูหนาวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน - เดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่เหมาะแก่การไปท่องเที่ยวมากที่สุด เพราะอากาศค่อนข้างหนาวเย็น อันเนื่องมาจากลิ่มความกดอากาศสูงมาจากประเทศจีนแผ่ลงมาทางตอนใต้เข้าสู่ประเทศไทยตอนบนและปกคลุมทั่วประเทศ ลมที่พัดสู่ประเทศไทยในฤดูนี้คือ ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนืออุณหภูมิตำสุดในเดือนมกราคม ประมาณ 8.9 องศาเซลเซียส ส่วนช่วงฤดูร้อนเริ่มต้นจากเดือนมีนาคม - เดือนพฤษภาคม อุณหภูมิสูงสุดในเดือนเมษายนประมาณ 38.1 องศาเซลเซียส อากาศค่อนข้างร้อนจัดและมีฝนตกน้อย ทำให้สังคมพืชป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณผลัดใบ สำหรับฤดูฝนเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน - เดือนตุลาคม มีปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ย 1,100 มิลลิเมตรต่อปี
พืชพันธุ์และสัตว์ป่า
[แก้]อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีพื้นที่ 558,750 ไร่ หรือ (894 ตร.กม.) สามารถจำแนกลักษณะพืชพรรณและสัตว์ป่าดังนี้
ลักษณะพืชพรรณอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ประกอบด้วย
- ป่าดิบเขา ประมาณ 0.88 %
- ป่าดิบแล้ง ประมาณ 21.85 %
- ป่าดิบแล้งผสมป่าเบญจพรรณชื้นประมาณ 9.24%
- ป่าเบญจพรรณ ประมาณ 59.05 %
- ป่าเต็งรัง ประมาณ 6.77 %
- ทุ้งหญ้าหรือไร่ร้าง ประมาณ 2.21 %
ทรัพยากรสัตว์ป่า สามารถจำแนกได้ดังนี้
- สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม จำนวน 57 ชนิด 26 วงศ์
- สัตว์จำพวกนก จำนวน 305 ชนิด 53 วงศ์
- สัตว์เลื้อยคลาน จำนวน 22 ชนิด 11 วงศ์
- สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก จำนวน 7 ชนิด 4 วงศ์
- ปลา จำพวกปลาน้ำจืด จำนวน 68 ชนิด 14 วงศ์
หน่วยงานในพื้นที่
[แก้]- หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.1 (ด่านตรวจ กม.57)
- หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.2 (ปางข้าวสาร)
- หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.3 (เขาเขียว)
- หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.4 (แม่เรวา)
- หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.5 (ปางสัก)
- หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.6 (ซับตามิ่ง)
- หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ มว.7 (คลองเสือข้าม)
- หน่วยจัดการต้นน้ำขุนน้ำเย็น
แหล่งท่องเที่ยว
[แก้]- จุดชมวิวกิ่วกระทิง
- จุดชมวิวขุนน้ำเย็น
- ช่องเย็น (1340 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล[7])
- เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ (เหมาะสำหรับนักดูนก)
- จุดชมวิวภูสวรรค์ (1429 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล[7])
- แก่งนกยูง
- เขาโมโกจู
- แก่งผานางคอย
- น้ำตกแม่รีวา
- น้ำตกแม่กี
- น้ำตกแม่กระสา
- น้ำตกแม่กระสี[8]
ดูเพิ่ม
[แก้]- โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ สำนักอุทยานแห่งชาติ, กรุงเทพฯ, 2545, 49
- ↑ หนังสือจากสำนักนายกรัฐมนตรีที่ นร 0104/9871 ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2526
- ↑ หนังสือรายงานผลการสำรวจ ที่ กษ 0713/พิเศษ ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2526
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 104 ตอนที่ 183 ลงวันที่ 14 กันยายน 2530
- ↑ สำนักอุทยานแห่งชาติ http://park.dnp.go.th/visitor/nationparkshow.php?PTA_CODE=1054
- ↑ หน้า ๐๓๔-๐๔๔, ในอ้อมกอดแม่เรวา โดย ธเนศ งามสม. อนุสาร อ.ส.ท.ปีที่ ๕๖ ฉบับที่ ๑๒: กรกฎาคม ๒๕๕๙
- ↑ 7.0 7.1 ป้ายประชาสัมพันธ์ของอุทยานแห่งชาติ
- ↑ http://www.thai-tour.com/thaitour/north/kampaengpetch/data/place/maewong.htm[ลิงก์เสีย]
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- แผนที่และภาพถ่ายทางอากาศของ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์
- ภาพถ่ายดาวเทียมจากวิกิแมเปีย หรือกูเกิลแมปส์
- แผนที่จากลองดูแมป หรือเฮียวีโก
- ภาพถ่ายทางอากาศจากเทอร์ราเซิร์ฟเวอร์