ข้ามไปเนื้อหา

อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย

พิกัด: 18°48′34″N 98°54′57″E / 18.80944°N 98.91583°E / 18.80944; 98.91583
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย
อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย
แผนที่
ที่ตั้งจังหวัดเชียงใหม่, ประเทศไทย
พิกัด18°48′34″N 98°54′57″E / 18.80944°N 98.91583°E / 18.80944; 98.91583
พื้นที่257 ตารางกิโลเมตร (161,000 ไร่)
จัดตั้ง14 เมษายน พ.ศ. 2524[1]
ผู้เยี่ยมชม328,659 (2562)
หน่วยราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอแม่ริม และอำเภอหางดง ของจังหวัดเชียงใหม่ มีพื้นที่ทั้งหมด 163,162.5 ไร่ หรือประมาณ 261 ตารางกิโลเมตร[2] จุดสูงสุดของอุทยานแห่งชาติอยู่บริเวณที่เรียกว่า ดอยปุย ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,685 เมตร อุทยานแห่งชาติแห่งนี้ประกอบด้วยป่าที่อุดมสมบูรณ์ แม้ว่าจะตั้งอยู่ใกล้ตัวเมืองเชียงใหม่มาก แต่ป่าส่วนใหญ่อยู่บนภูเขาสูงสลับซับซ้อน ภูเขาสำคัญ ได้แก่ ดอยสุเทพ ดอยปุย เป็นต้น นอกจากนี้ อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ยังเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญ 2 แห่งได้แก่ วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร และพระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์[3]

ประวัติ

[แก้]

ชื่อเดิมของพื้นที่คือดอยอ้อยช้าง ชื่อดอยสุเทพได้รับแรงบันดาลใจจากฤๅษีวาสุเทพ ที่ครั้งหนึ่งเคยอาศัยอยู่ในป่าในท้องถิ่น ในปี พ.ศ. 2516 กรมป่าไม้เสนอให้ป่าไม้นี้และป่าอื่นอีก 13 แห่งเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งที่ 24 ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2524 ปัจจุบันมีพื้นที่ประมาณ 261 ตารางกิโลเมตร

ลักษณะภูมิประเทศ

[แก้]

พื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อนอยู่ในแนวเทือกเขาถนนธงไชยที่สืบเนื่องต่อจากเทือกเขาหิมาลัย ความสูงของพื้นที่อยู่ระหว่าง 330-1,685 เมตรจากระดับน้ำทะเล โดยมียอดดอยปุยเป็นจุดที่สูงที่สุด นอกจากนี้มียอดเขาต่างที่สูงลดหลั่นกันมา ได้แก่ ยอดดอยสุเทพที่บริเวณสันกู่ สูง 1,601 เมตร ยอดดอยแม่สาน้อย สูง 1,549 เมตร ยอดดอยค่อมร่อง สูง 1,459 เมตร ยอดดอยบวกห้าบริเวณพระตำหนักภุพิงค์ราชนิเวศน์ สูง 1,400 เมตร ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ สูง 1,130 เมตรจากระดับน้ำทะเล สำหรับพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่อยู่ในเขตอำเภอแม่แตงมีความสูงอยู่ในระหว่าง 400-980 เมตรจากระดับน้ำทะเล ลักษณะโครงสร้างทางธรณีของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย โดยทั่วไปประกอบด้วย หินอัคนี ชนิดที่สำคัญได้แก่ หินแกรนิต นอกจากี้ยังมีหินชั้นและหินแปร เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญของตัวเมืองเชียงใหม่ และพื้นที่บางส่วนของอำเภอรอบ ๆ ได้แก่ อำเภอแม่ริม อำเภอหางดง อำเภอสะเมิง และอำเภอแม่แตง มีลำห้วยที่สำคัญได้แก่ ห้วยตึงเฒ่า ห้วยแม่หยวก ห้วยแก้ว ห้วยช่างเคี่ยน ห้วยปงน้อย ห้วยแม่เหียะ ห้วยแม่นาไทร และห้วยแม่ปอน เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งต้นน้ำลำธารที่ไหลลงสู่ แม่น้ำปิง

ลักษณะภูมิอากาศ

[แก้]

สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปของพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดพาเอาความชุ่มชื้นและเมฆฝนเข้ามาทำให้ฝนตก และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดมาจากประเทศจีนจะนำเอาความหนาวเย็นและความแห้งแล้งเข้ามา ทำให้เกิดฤดูกาลต่าง ๆ โดยจะมีฤดูร้อนในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ฤดูฝนในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายน และฤดูหนาวในช่วงระหว่างเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ สลับกันไป แต่เนื่องจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุยมีความหลากหลายทางด้านระดับความสูงและมีเทือกเขาสลับซับซ้อนสูง ทำให้ลักษณะอากาศในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกันอย่างมาก โดยทั่วไปแล้วสภาพภูมิอากาศในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติมีค่าอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีอยู่ระหว่าง 2-23 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปีระหว่าง 1,350-2,500 มิลลิเมตร โดยมีจำนวนวันที่ฝนตกเฉลี่ย 139 วัน และมีค่าเฉลี่ยความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยตลอดปีระหว่าง 70-80 เปอร์เซ็นต์ สำหรับบริเวณที่สูงของอุทยานแห่งชาติ เช่น บริเวณยอดดอยปุย สภาพอากาศโดยทั่วไปจะหนาวเย็นและชุ่มชื้น เนื่องจากได้รับไอน้ำจากเมฆหมอกที่ปกคลุมอยู่เกือบตลอดปี อุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในพื้นที่อยู่ระหว่าง 10-12 องศาเซลเซียส ในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ในวันที่อากาศหนาวจัด ค่าอุณหภูมิอาจลดลงถึง 4-5 องศาเซลเซียส

สถานที่ท่องเที่ยว

[แก้]
น้ำตกห้วยแก้ว
น้ำตกแม่สา
วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร

ภายในอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย มีสถานที่ท่องเที่ยวทั้งทางธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้นหลายแห่ง ดังนี้

  • อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย – ประดิษฐานอยู่เชิงดอยสุเทพ บริเวณทางขึ้นดอยสุเทพจากถนนห้วยแก้ว ครูบาศรีวิชัยเป็นนักบวชที่มีชื่อเสียงของล้านนาไทย เป็นผู้นำชาวเหนือสร้างถนนขึ้นไปสู่พระบรมธาตุดอยสุเทพจนสำเร็จ
  • วัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร – ตั้งอยู่บนดอยสุเทพ ระดับสูงกว่าน้ำทะเลประมาณ 950 เมตร สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1972 โดยเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เพื่อเป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ วัดพระธาตุดอยสุเทพเป็นสถานที่เคารพบูชา เป็นที่รู้จักของชาวเชียงใหม่
  • พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ – เป็นพระตำหนักสำหรับแปรพระราชฐาน และเป็นที่ต้อนรับพระราชอาคันตุกะจากต่างประเทศของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระตำหนักตั้งอยู่บนยอดดอยบวกห้า บริเวณโดยรอบประดับด้วยดอกไม้นานาชนิด
  • ศูนย์ธรรมชาติวิทยาดอยสุเทพเฉลิมพระเกียรติฯ – เป็นศูนย์จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับดอยสุเทพทั้งในด้านธรรมชาติวิทยา นิเวศวิทยา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และชุมชน สำหรับนักท่องเที่ยว ประชาชนทั่วไป นักวิจัย นักศึกษา ก่อนที่จะเดินทางไปท่องเที่ยวบนดอยสุเทพ อันเป็นประตูสำคัญต่อการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพและมีจิตสำนึก
  • น้ำตกห้วยแก้ว – เป็นน้ำตกในลำห้วยแก้ว บริเวณเชิงดอยใกล้ทางขึ้นดอยสุเทพ และเหนือน้ำตกห้วยแก้วขึ้นไปเล็กน้อยจะเป็น วังบัวบาน
  • น้ำตกมณฑาธาร หรือ น้ำตกสันป่ายาง – เป็นน้ำตกที่มีความสวยงาม มีชั้นน้ำตก 3 ชั้น เป็นส่วนหนึ่งของลำห้วยแก้ว ตั้งอยู่เหนือน้ำตกห้วยแก้วขึ้นไป
  • น้ำตกแม่สา – เป็นน้ำตกที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ชั้นน้ำตกมีถึง 10 ชั้น แต่ละชั้นมีระยะห่างประมาณ 100–500 เมตร เป็นส่วนหนึ่งของลำน้ำแม่สา การเดินทางไปน้ำตกมีความสะดวก มีน้ำไหลตลอดปี
  • นอกจากนี้ยังมีน้ำตกอื่น ๆ ได้แก่ น้ำตกตาดหมอก-วังฮาง น้ำตกตาดหมอกฟ้า น้ำตกมหิดล น้ำตกศรีสังวาลย์ น้ำตกผาลาด เป็นต้น
  • ภูมิประเทศรูปทรงหน้าผา ประกอบด้วย ผาเงิบ ผาลาด ผาวังบัวบาน ผาดำ เป็นผาที่สามารถมองเห็นทิวทัศน์ต่าง ๆได้สวยงาม เช่น ทิวทัศน์เมืองเชียงใหม่
  • ยอดดอยปุย – อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 1,685 เมตร ที่บริเวณแห่งนี้จะเป็นป่าสนเขา สามารถมองเห็นทัศนียภาพได้โดยรอบ จะมีลมพัดแรง อากาศเย็นสบาย
  • หมู่บ้านชาวเขา – สำหรับผู้สนใจวัฒนธรรมของชาวเขา สามารถเยี่ยมชมหมู่บ้านชาวเขาเผ่าต่าง ๆ ได้ เช่น ชาวม้ง เย้า อาข่า ลีซอ มูเซอ สามารถเดินทางเข้าถึงได้ทุกชุมชน

ระเบียงภาพ

[แก้]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Maxwell, J. F.; Elliott, Stephen (2001). Vegetation and Vascular Flora of Doi Sutep-Pui National Park, Northern Thailand (PDF). Bangkok: The Biodiversity Research and Training Program (BRT).
  2. "ข้อมูลพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ที่ประกาศในราชกิจจานุบกษา 133 แห่ง". กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. December 2020. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-11-03. สืบค้นเมื่อ 1 November 2022, no 24{{cite web}}: CS1 maint: postscript (ลิงก์)
  3. "อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย". กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 22 May 2013. สืบค้นเมื่อ 15 October 2013.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]