ศิลปะสุโขทัย
ศิลปะสุโขทัย เป็นศิลปะที่เกิดขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18–19 ในบริเวณลุ่มแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แถบจังหวัดสุโขทัย อุตรดิตถ์ แพร่ พิษณุโลก และบริเวณลุ่มแม่น้ำปิง ทางตอนใต้ของจังหวัดกำแพงเพชร ถือกำเนิดขึ้นมาจากแรงบันดาลใจทางพระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนาแบบเถรวาทซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากลังกา ดังปรากฏในโบราณสถานหลายแห่งที่มีแนวความคิดและลักษณะรูปแบบคล้ายกับสถาปัตยกรรมลังกา เช่น เจดีย์ช้างล้อมมเหยงคณ์ในลังกา พระพุทธรูปวัดตะพานหินที่สุโขทัย พระสี่อิริยาบถที่กำแพงเพชร เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ผสมผสานกับศิลปะอื่น ๆ ได้แก่ พม่า ขอม และจีน
สถาปัตยกรรม
[แก้]ระเบียบทั่วไปสำหรับวัดสุโขทัย มีพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้า มีคูน้ำรอบกำแพงเตี้ย เจดีย์ประธานอยู่ตรงกลางหรือค่อนไปทางด้านหลัง วิหารต่อเนื่องจากเจดีย์ประธานออกไปทางด้านหน้า ทั้งสองเป็นแกนหลักของวัด รายล้อมด้วยเจดีย์บริวาร อาจมีวิหารน้อยหรืออาคารชนิดอื่นบ้าง การสร้างเสริมเพิ่มเติมในสมัยหลังย่อมทำให้แผนผังเดิมเปลี่ยนไป
เจดีย์แบบสุโขทัย เป็นเจดีย์แบบใหม่ซึ่งไม่มีที่ใดเหมือน เช่น เจดีย์ทรงยอดดอกบัวตูม ช่างสุโขทัยนำลักษณะบางประการมาจากปราสาทแบบขอม และบางลักษณะของเจดีย์แบบพม่าสมัยเมืองพุกาม นำมาปรับปรุงอย่างเหมาะสมพอดี จนเป็นเจดีย์แบบใหม่ เจดีย์ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากปราสาทแบบขอมโดยตรงที่มีให้เห็น เช่น เจดีย์ทรงปราสาทประเภทเรือนชั้น หมายถึง ชั้นลดหลั่นเหนือเรือนธาตุ ชุดชั้นที่ลดหลั่นกันนี้เป็นชั้นสมมติโดยจำลองมาจากเรือนธาตุ ได้แก่ เจดีย์ประจำทิศตะวันออกของพระศรีมหาธาตุ วัดมหาธาตุ อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ยังมี เจดีย์ทรงปราสาทยอด ที่ผนวกกับศิลปะล้านนา[1] เจดีย์ได้รับอิทธิพลศิลปะลังกา มีฐานสี่เหลี่ยมยกสูง เช่น เจดีย์ช้างล้อม ที่วัดช้างล้อม อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ที่มาของชื่อ เจดีย์ช้างล้อม
สำหรับอาคารที่รียกว่า มณฑป เป็นอาคารก่อด้วยศิลาแลง หลังคาจะใช้ศิลาแลงเรียงซ้อนเหลื่อมกันขึ้นไปจนถึงขั้นสูงสุดที่ไปบรรจบกัน ทรงอาคารมีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม มีหลังคาเป็นชั้นแหลมลดหลั่นกันไปถึงยอดทำเป็นชั้นประมาณ 3 ชั้น มีทั้งแบบที่มีผนังและแบบมีโถง เข่น มณฑปวัดศรีชุม เป็นต้น
วิหารทำเป็นกำแพงทึบแล้วเจาะหน้าต่างเป็นช่องเล็ก ๆ มีลูกกรงทำด้วยอิฐหรือดินเผาปั้นเป็นลูกแก้วกั้น เพื่อให้แสงลอดเข้าไป อุโบสถสมัยสุโขทัยแทบทุกหลังจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก มีแผนผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยโครงสร้างศิลาแลงฉาบปูน โครงสร้างหลังคานิยมเรียงด้วยก้อนศิลาเหลี่ยมซ้อนกันเป็นรูปกลับบัว หรือเรียงตั้งแต่ใหญ่ไปหาเล็ก เป็นทรงยอดมณฑป นอกจากนี้ก็มีโบสถ์ที่มีโครงสร้างเป็นไม้แบบศาลาโถง มีหลังคาปีกนกคลุมต่ำ ไม่มีบานหน้าต่าง แต่เจาะผนังเป็นลูกกรงประดับด้วยปูนปั้น[2]
ประติมากรรม
[แก้]พระพุทธรูปในศิลปะสุโขทัยเป็นไปตามแบบแผนของชาวพุทธศาสนาเถรวาท ถ่ายทอดผ่านรูปทรงอันเกิดจากสัดส่วน เส้นนอก และปริมาตรซึ่งประสานกลมกลืนกันอย่างเรียบง่าย ส่วนศาสนาฮินดูมีด้วยแต่มีอยู่น้อยด้วยสุนทรียภาพไม่แตกต่างจากพระพุทธรูป
วัสดุที่นำมาสร้างประติมากรรม มีปูนเพชร (ปูนขาวแช่น้ำจนจืด ผสมกับทรายที่ร่อนละเอียด ยางไม้ และน้ำอ้อย นำมาโขลกให้เหนียว แล้วนำมาปั้น เมื่อแห้งจะแข็ง และทนทานต่อดินฟ้าอากาศมาก) ดินเผา ไม้ โลหะสำริด และทองคำ แบ่งประติมากรรมสมัยสุโขทัย เป็น 3 ยุค คือ
ยุคที่ 1 ยังแสดงอิทธิพลของศิลปะลพบุรี การสร้างพระพุทธรูปในยุคนี้ มีแบบเฉพาะเป็นของตนเองที่ เรียกกันว่า แบบวัดตะกวน เป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสน ลังกา และสุโขทัย ผสมผสานกัน มีพระพักตร์กลม พระรัศมีเป็นแบบลังกา พระวรกาย และชายสังฆาฏิสั้นแบบเชียงแสน
ยุคที่ 2 พัฒนารูปแบบการสร้างพระพุทธรูป จนก่อรูปพุทธลักษณะอันงดงามของสกุลช่างสุโขทัยเอง ไม่นิยมสลักหิน แม้จะเป็นพระพุทธรูปขนาดใดก็ตาม จะปั้นด้วยปูน หรือหล่อด้วยโลหะมีค่าต่าง ๆ รวมทั้งทองคำบริสุทธิ์ ลักษณะพระพุทธรูปสุโขทัยยุคนี้ คือ พระพักตร์รูปไข่ พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์อมยิ้มเล็กน้อย พระเศียรสมส่วนกับพระศอ และพระอังสา หมวดพระเกศาเล็ก พระรัศมีเป็นเปลว พระอุระผายสง่า พระอังสาใหญ่ กว้าง พระถันโปน บั้นพระองค์เล็ก ครองจีวรห่มเฉียง ชายจีวรยาวจรดมาถึงพระนาภี ปลายเป็นลายเขี้ยวตะขาบ พระกรเรียวดุจงาช้าง นิ้วพระหัตถ์ และนิ้วพระบาททำแบบธรรมชาติ ดุจมีชีวิต ฐานเป็นหน้ากระดานเกลี้ยง ปางที่นิยมคือ ปางมารวิชัย
ยุคที่ 3 มีความประณีต ดูเสมือนมีระเบียบ และกฎเกณฑ์มากขึ้น พระรัศมีเป็นเปลวมีขนาดใหญ่ขึ้น พระพักตร์รูปไข่สั้น พระอุณาโลมเป็นตัวอุหงายระหว่างหัวพระขนง พระวรกายมีความอ่อนไหวน้อยลง พระอาการสงบเสงี่ยมแลดูนิ่งสงบขึ้น พระกรยาว นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 เสมอกัน ฝ่าพระบาทเรียบสั้น พระบาทยาว ตัวอย่างพระพุทธรูปยุคนี้เช่น พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา และพระศรีศากยมุนี เป็นต้น[3]
พระพุทธรูปที่นิยมสร้างในสมัยสุโขทัยคือพระสี่อิริยาบถ พระพิมพ์ในสมัยสุโขทัยทำด้วยดินเผาและโลหะ ยังนิยมสร้างพระพุทธบาทด้วย มีทั้งทำด้วยศิลาและสัมฤทธิ์[4] สำหรับการทำเครื่องสังคโลกได้รับการถ่ายทอดวิทยาการมาจากประเทศจีน เป็นเครื่องใช้สอยในชีวิตประจำวัน ประดับตกแต่งศาสนสถาน และส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ โดยมากทำเป็นจาน ชาม ไห แจกัน ตุ๊กตา เครื่องตกแต่ง มีเนื้อละเอียด เช่น รูปช้างศึก ตุ๊กตา เจดีย์ ส่วนใหญ่มีสีน้ำตาล สีน้ำตาลปนเหลือง สีเขียว สีเขียวไข่กา และสีขาวทึบ
หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุลได้แบ่งพระพุทธรูปเป็น 4 หมวด คือ หมวดใหญ่ หมวดกำแพงเพชร หมวดพระพุทธชินราช และหมวดเบ็ดเตล็ดหรือหมวดวัดตระกวน[5]
จิตรกรรม
[แก้]จิตรกรรมสมัยสุโขทัยที่วาดขึ้นช่วงครึ่งแรกของพุทธศตวรรษที่ 19 คงไม่หลงเหลืออยู่แล้ว แม้ในช่วงที่วาดหลังจากนั้นก็หลงเหลือเพียงเล็กน้อย มีแบบอย่างประเพณีเช่นเดียวกับจิตรกรรมสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น คือ ระบายสีเรียบและตัดเส้นเป็นขอบเขต ถ่ายทอดเรื่องอดีตพระพุทธเจ้า พุทธประวัติและชาดก[6] นอกจากนั้นยังมีภาพลายเส้นสลักบนแผ่นหินชนวน เช่นที่วัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "เจดีย์แบบสุโขทัย (พุทธศตวรรษที่ ๑๙-๒๐)". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ ๓๗.
- ↑ "ผลงานทัศนศิลป์สมัยสุโขทัย".
- ↑ "ประติมากรรมไทยสมัยสุโขทัย". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ ๑๔.
- ↑ ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล. "ศิลปในประเทศไทย". pp. 40–41.
- ↑ "พระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยสกุลช่างกำแพงเพชร". พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ กำแพงเพชร.
- ↑ เล็กสุขุม, สันติ. ศิลปะสุโขทัย (4 ed.). เมืองโบราณ. ISBN 9786167767963.