ศิลปะธนบุรี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
ท้องพระโรงพระราชวังเดิม
พระอุโบสถหลังเก่าวัดอินทารามวรวิหาร
ตำหนักแดงวัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร

ศิลปะธนบุรี หรือ ศิลปะกรุงธนบุรี หมายถึง ศิลปะในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2310 – 6 เมษายน พ.ศ. 2325) ซึ่งมีไม่ค่อยมากนัก เพราะทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์เดียวในสมัยกรุงธนบุรี และบ้านเมืองอยู่ในภาวะสงคราม ถึงกระนั้นก็พอมีงานศิลปะออกมาบ้าง ส่วนผลงานด้านสถาปัตยกรรมในสมัยธนบุรี ไม่มีผลงานดีเด่นที่พอจะอ้างถึงได้มากนัก

สถาปัตยกรรม[แก้]

สถาปัตยกรรมในสมัยกรุงธนบุรีนั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินรับสั่งให้มีการก่อสร้างจำนวนไม่น้อย เพราะต้องฟื้นฟูบ้านเมืองในช่วงสงครามให้กลับมาโดยเร็ว และเพื่อเป็นการเสริมสร้างบารมีและเป็นหน้าประวัติศาสตร์ด้านสถาปัตยกรรมในยุคสมัยของพระองค์ จึงมีการก่อสร้างสถาปัตยกรรมเป็นจำนวนมาก เช่น กำแพงพระนคร ป้อมปราการ พระราชวัง พระอารามต่าง ๆ สถาปัตยกรรมส่วนมากที่กล่าวมาล้วนสืบทอดมาจากสมัยกรุงศรีอยุธยาทั้งสิ้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกัน ส่วนต่าง ๆ เช่น ฐานอาคารและรูปทรงอาคารจะไม่แตกต่างจากกรุงศรีอยุธยามากนัก

สถาปัตยกรรมสมัยกรุงธนบุรีมักจะมีการบูรณะซ่อมแซมบูรณะ ไม่ว่าจะเป็นในยุคสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีเอง หรือยุคสมัยต่อ ๆ มา ทำให้ไม่ค่อยเหลือเค้าโครงเดิม แต่ก็ยังมีสถาปัตยกรรมบางแห่งที่บูรณะแล้วยังปรากฏเค้าโครงเดิม เช่น ป้อมวิชัยประสิทธิ์ กำแพงพระราชวังเดิม พระตำหนักท้องพระโรงและพระตำหนักเก๋งคู่ในท้องพระโรงเดิม สร้างขึ้นในราวปี พ.ศ. 2310 ท้องพระโรงเป็นสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาแต่ไม่มียอดปราสาท เดิมเป็นอาคารไม้ แต่สันนิษฐานว่ามีการบูรณะให้เป็นอาคารปูนในสมัยที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวประทับอยู่ในพระราชวังเดิม[1] ส่วนวัดวาอาราม ที่ยังมีเค้าโครงเดิม ได้แก่ พระอุโบสถและพระวิหารน้อย วัดอรุณราชวราราม พระอุโบสถและพระวิหารเดิมวัดราชคฤห์ พระอุโบสถเดิมวัดอินทาราม ตำหนักแดงวัดระฆังโฆสิตาราม และพระอุโบสถวัดหงส์รัตนาราม[2]

แผนผังการสร้างพระราชวังและวัดยังคงมีการรักษาขนบแบบกรุงศรีตอนปลาย มีอาคารขนาดไม่ใหญ่มาก สัดส่วนอาคารแคบยาว หน้าจั่วมีแบบมุขลดและแบบพรมพักตร์ หน้าบันทำเป็น 2 ชั้น ชั้นบนมีลวดลาย ชั้นล่างของหน้าบันมักฉาบเรียบและนิยมเจาะร่องหน้าต่าง 2 ช่อง ซึ่งได้แบบจากสมัยกรุงศรีอยุธยา

ประติมากรรม[แก้]

มีการพบพระพุทธรูปสมัยกรุงธนบุรีอย่างน้อย 2 องค์ ในด้านรูปแบบยังไม่ปรากฏเอกลักษณ์ชัดเจน แต่เริ่มมีการสร้างพระพุทธรูปแทนตน โดยเปรียบเทียบส่วนที่เหมือนจากพุทธลักษณะ ส่วนเทคนิคยังคงใช้การหล่อสัมฤทธิ์เช่นสมัยกรุงศรีอยุธยา[3]

จิตรกรรม[แก้]

จิตรกรรมพระพุทธศาสนา มุ่งสอนประชาชนให้เข้าใจพระพุทธศาสนาจากเรื่องไตรภูมิ กล้าตีความโดยใช้สัญลักษณ์เพื่อถ่ายทอดเนื้อหา รูปแบบการใช้สี มีการใช้สีมากกว่าสมัยกรุงศรีอยุธยา มักใช้สีแดงเป็นหลัก บางครั้งยังพบการไล่น้ำหนักสี ลักษณะรูปแบบในงานถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกที่ดูเข้มแข็ง ชัดเจน จริงจัง แม้ว่าจะได้รับอิทธิพลจากกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและอิทธิพลของต่างชาติแต่ความอ่อนช้อยของเส้นและรูปแบบปรากฏให้เห็น[3] จิตรกรรมในสมัยกรุงธนบุรีที่หลงเหลือมายังปัจจุบัน คือ ตำราภาพไตรภูมิ (ฉบับหลวง) ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ

ศิลปะประยุกต์และประณีตศิลป์[แก้]

เครื่องเบญจรงค์สมัยกรุงธนบุรียังคงมีลวดลายแบบเดิม เช่น กระหนก เทพพนม นรสิงห์ นิยมชามทรงบัว การเคลือบภายในนิยมเคลือบขาวแทนสีเขียว ส่วนการผูกลายนั้นเป็นแบบเดียวกับกรุงศรีอยุธยา แต่ไม่สะบัดพลิ้วเท่ากับของเดิม รูปแบบลวดลายเริ่มมีการประดิษฐ์ให้ห่างจากความจริง นิยมลวดลายเครือเถากระหนกแทรกและนิยมการเขียนลายแบบลดรูป ถือได้ว่าครั้งกรุงธนบุรี กรมช่างสิบหมู่มีความเจริญรุ่งเรือง[3] งานประณีตศิลป์ชิ้นสำคัญสมัยนี้ ได้แก่ ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ 4 ตู้ ในหอวชิรญาณ ซึ่งได้มาจากวัดราชบูรณะ วัดจันทาราม และวัดระฆังโฆสิตาราม

อ้างอิง[แก้]

  1. ""พระราชวังเดิม" วังกรุงธนบุรี ที่ประทับกษัตริย์-เจ้านาย 2 ราชธานี". ประชาชาติธุรกิจ.
  2. "สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับศิลปกรรมสมัยกรุงธนบุรี". มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-06-06. สืบค้นเมื่อ 2021-06-06.
  3. 3.0 3.1 3.2 "นิทรรศการดิจิทัลศิลปกรรมกรุงธนบุรี".