จิตรกรรมไทยประเพณี

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
จิตรกรรมฝาผนังพระที่นั่งพุทไธสวรรย์
จิตรกรรมฝาผนังวัดช่องนนทรี ใช้แบ่งภาพนี้เรียกว่า สินเทา
จิตรกรรมบนบานประตูวัดไพชยนต์พลเสพย์ราชวรวิหาร สมุทรปราการ
จิตรกรรมรอบพระระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เรื่อง รามเกียรติ์
จิตรกรรมฝาผนังวัดบรมนิวาสราชวรวิหาร ฝีมือขรัวอินโข่ง

จิตรกรรมไทยประเพณี คือจิตรกรรมไทยที่มีความประณีตที่สืบต่อกันมาตั้งแต่อดีต จนได้ลักษณะประจำชาติ นิยมเขียนบนฝาผนังภายในอาคารหรืองานศิลปะประยุกต์ที่เนื่องในพุทธศาสนาและบุคคลชั้นสูง คือ อุโบสถ วิหาร พระที่นั่ง บนแผ่นผ้า (ภาพพระบฏ) บนกระดาษ (สมุดไทย) โดยเขียนด้วยสีฝุ่นตามวิธีการของช่างเขียนไทยแต่โบราณ นิยมเขียนเรื่องเกี่ยวกับอดีตพระพุทธเจ้า พุทธประวัติ ทศชาติชาดก ไตรภูมิ วรรณคดี และชีวิตไทย ส่วนใหญ่นิยมเขียนประดับผนังอุโบสถ วิหาร

ความหมาย[แก้]

จิตรกรรมไทยประเพณี เป็นศิลปะแบบอุดมคติ ที่แสดงออกทางความคิด ให้สัมพันธ์กับเนื้อเรื่องและความสำคัญของภาพ มีลักษณะเด่น งามสง่า ด้วยลีลาอันชดช้อย แสดงความรู้สึกปิติยินดี หรือเศร้าโศกเสียใจด้วยอากัปกิริยาท่าทาง หากเป็นรูปยักษ์รูปมาร จะแสดงออกด้วยใบหน้าและท่าทางที่บึกบึนแข็งขัน ส่วนพญาวานรและเหล่าวานรแสดงความลิงโลดคล่องแคล่วว่องไวด้วยลีลาท่วงท่าและหน้าตา พวกชาวบ้านธรรมดาสามัญจะเน้นความรู้สึกตลกขบขัน สนุกสนานร่าเริงหรือเศร้าเสียใจออกทางใบหน้า ส่วนช้างม้าและเหล่าสัตว์ทั้งหลายก็มีรูปแบบแสดงชีวิตเป็นธรรมชาติ[1]

อนึ่ง งานจิตรกรรมที่ไม่ระบายสี มักอนุโลมจัดไว้ในกลุ่มงานจิตรกรรม ได้แก่ ภาพลายเส้นปิดทอง ที่เรียกว่า ลายรดน้ำ ภาพลายเส้นจารลงบนแผ่นหิน หรืองานประดับมุก งานเหล่านี้มีลักษณะสำคัญอย่างเดียวกัน คือ ลายเส้นที่งดงามตามแบบฉบับ[2]

ประวัติ[แก้]

จิตรกรรมฝาผนังซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ปรากฏหลักฐานภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ที่เขาเขียน จังหวัดพังงา ที่ถ้ำผีหัวโต จังหวัดกระบี่[3] และอีกหลายแห่งในบริเวณภาคใต้ ได้แก่ จิตรกรรมสมัยศรีวิชัย ที่ถ้ำศิลป์ จังหวัดยะลา ซึ่งภาพส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับพุทธประวัติและพระพุทธรูป[4]

จากหลักฐานเท่าที่ปรากฏ ทราบเพียงว่าการวาดภาพระบายสีของไทยมีอายุตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา[5]

จิตรกรรมสุโขทัยมีอยู่น้อยมาก ที่พบ คือ ภาพลายเส้นที่จารลงบนแผนหินชนวนจํานวนหนึ่งจากวัดศรีชุม รวมถึงจิตรกรรมในช่วงสมัยอยุธยาตอนตนก็มีน้อย มีจิตรกรรมในยุคแรกหลงเหลือให้ศึกษาได้ ซึ่งมักจะเป็นจิตรกรรมที่เขียนไว้ที่ผนังคูหาหรือผนังของ กรุปรางค์ต่าง ๆ เช่น จิตรกรรมฝาผนังคูหาพระปรางค์ประจําทิศ ตะวันตกเฉียงเหนือของพระปรางค์ประธานวัดมหาธาตุ พระปรางค์ประธานวัดราชบูรณะ จิตรกรรมฝาผนังที่ผนังคูหาพระปรางค์ประธาน วัดพระราม อยุธยา คงเขียนขึ้นในราวปลายพุทธศตวรรษที่ 20 มาถึงช่วงยุคกลางของอยุธยา มีตัวอย่างเหลืออยู่น้อยมาก หลักฐานมี คิอ ภาพจิตรกรรมฝาผนังคูหาเจดีย์บางแห่งที่สีจางไปเกือบหมด ภาพเขียนบนสมุดไทยที่วาดขึ้นในยุคกลาง ยังไม่นิยมปิดทองประดับภาพ แต่ใช้สีสดใสกว่ามาก เรื่องราวที่เขียนนํามาจากวรรณคดีไตรภูมิ

จิตรกรรมสมัยอยุธยา มีองค์ประกอบ เทคนิค และ วัฒนธรรม ตามแบบจิตรกรรมไทยประเพณีภาคกลางที่ได้รับอิทธิพลจากอินเดีย จีน เขมร และอิทธิพล ของศิลปะไทยยุคก่อนกรุงศรีอยุธยา ในระยะแรกใช้สีในวรรณะเอกรงค์ ต่อมามีสีต่าง ๆ เพิ่มเข้ามา นิยมเขียนเรื่องอดีตพุทธ พุทธประวัติ ทศชาติชาดก เทพชุมนุมและภาพลวดลายต่าง ๆ ปิดทองที่ภาพสำคัญและทำลายดอกไม้ร่วงที่พื้นหลังภาพ สถานที่ตั้งจิตรกรรมส่วนใหญ่พบที่อุโบสถ ปรางค์ วิหาร ศาลาการเปรียญ หอไตร กุฏิ ตู้พระธรรม สมุดข่อย และพระบฏ[6]

จิตรกรรมไทยในสมัยรัตนโกสินทร์ได้ดำเนินตามแบบอย่างจิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนปลาย ได้รับความบัลดาลใจจากสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในสมัยนั้น เช่น เหตุการณ์บ้านเมือง ชีวิตความเป็นอยู่ สังคม ประเพณี การแต่งกาย ลักษณะบ้านเรือน วัดวาอาราม ปราสาท พระราชวัง ธรรมชาติ และหมู่สัตว์ต่าง ๆ เป็นแบบในการสร้างสรรค์ภาพเขียน มีจุดเด่น คือ สีพื้นเป็นสีเข้ม ภาพคนและสถาปัตยกรรมเด่นออกมาเป็นกลุ่ม ๆ ใช้สีจัดและนิยมใช้สีตรงข้ามตัดกันอย่างรุนแรง แต่น้ำหนักของสีที่ตัดกันนั้นประสานกันอย่างกลมกลืน จัดและนิยมใช้สีตรงข้ามตัดกันอย่างรุนแรง แต่น้ำหนักของสีที่ตัดกันนั้นประสานกันอย่างกลมกลืนนี้ยังคงรักษาคติทางศิลปะ โดยยังคงรูปแบบจิตรกรรมสมัยอยุธยาไว้ เช่น การจัดองค์ประกอบของภาพ นิยมเขียนภาพไตรภูมิไว้ด้านหลังพระประธาน เขียนภาพมารผจญไว้ด้านหน้าพระประธาน ด้านข้างเขียนภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติและทศชาติชาดกอาจเขียนเรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือเขียนทั้ง 2 เรื่องไว้ในอาคารเดียวกันก็ได ความต่างคือจะให้ความสำคัญในเรื่องงานฝีมือมาก เคร่งครัดกับกฎเกณฑ์ของรูปแบบศิลปะมาก เริ่มเป็นศิลปะแบบกำหนดนิยม (Conventional Art) ที่เห็นได้ชัด คือ การนิยมใช้พื้นหลังเป็นสีคล้ำหนักทึบและนิยมปิดทองคำเปลวมากขึ้น[7]

นับจากปลายรัชกาลที่ 3 อิทธิพลจากการเขียนภาพแบบตะวันตกก็เริ่มหลั่งไหลเข้ามา ทำให้จิตรกรรมภายในพุทธสถานต่าง ๆ ถูกปรับเปลี่ยนไปด้วย จากเดิมลักษณะจิตรกรรมซึ่งเป็นภาพแบนราบกลับมามีความลึกไกล เป็นภาพ 3 มิติ และมีลักษณะเหมือนจริงมากขึ้นกว่าแบบเดิม ซึ่งเขียนขึ้นตามแบบอุดมคติ ช่างเขียนที่สำคัญในรัชกาลที่ 4 คือ ขรัวอินโข่ง

ปัจจุบันจิตรกรส่วนใหญ่จะเลิกการเขียนภาพไทยแบบประเพณีไปแล้ว นิยมเขียนภาพแนวสากลร่วมแนวทางกับจิตรกรรมของนานาประเทศ งานในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องเขียนเรื่องอันเนื่องในศาสนาตามแบบอย่างประเพณีอีกต่อไป จิตรกรที่เขียนงานประเภทนี้มีรายได้จากการขายภาพหรือรับจ้างเขียนภาพในลักษณะภาพแขวนประดับผนังโรงแรม ผนังสำนักงานทันสมัย หรือตามห้องแสดงภาพที่มีอยู่ทั่วไป[8]

องค์ประกอบ[แก้]

จิตรกรรมไทยในแต่ละยุคสมัยค์ได้ใช้เส้นเป็นหลักในการกำหนดขอบเขตของภาพทำให้รูปมีลักษณะแบน ภาพจิตรกรรมไทยได้ใช้องค์ประกอบที่เป็นส่วนรอง เช่น ต้นไม้ ภูเขา ลำธาร โขดหิน ฯลฯ เป็นสิ่งแบ่งเหตุการณ์หรือแบ่งพื้นที่ของภาพไปในตัว ในบางครั้งมีการแบ่งพื้นที่ว่างของภาพแต่ละตอน โดยใช้เส้นที่มีรูปแบบต่าง ๆ เช่น เส้นหยักฟันปลา เส้นโค้งไปมา ฯลฯ แล้วแต่ความเหมาะสม ส่วนที่ใช้แบ่งภาพนี้เรียกว่า สินเทา การใช้สี เป็นการระบายสีแบน ไม่แสดงแสงเงา เน้นรายละเอียดของภาพ โดยใช้สีที่เข้มกว่าหรืออ่อนกว่าในส่วนที่เป็นพื้นเพื่อตัดเส้น มีการจัดองค์ประกอบที่มีความสมดุลกัน ทั้งทางด้านซ้ายและด้านขวาของภาพ

จิตรกรรมไทยประเพณีในส่วนต่าง ๆ ของสถาปัตยกรรม มักมีรูปแบบแบบแผน เช่น ผนังหุ้มกลองด้านหน้าพระประธานเหนือขอบประตูมักเขียนภาพพุทธประวัติตอนมารผจญ ผนังหุ้มกลองด้านหลังพระประธาน นิยมเขียนภาพไตรภูมิแต่บางแห่งเขียนภาพพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ผนังด้านข้างเหนือขอบหน้าต่างทั้งสองข้างหรือบนคอสอง นิยมเขียนภาพเทพชุมนุม ผนังห้องระหว่างช่องหน้าต่าง หรือ ห้องพื้นผนัง นิยมเขียนภาพเป็นเรื่องที่จบในห้องเดียวกัน เช่น ทศชาติชาดก บานประตูหน้าต่าง นิยมเขียนภาพทวารบาล[1]

วัสดุอุปกรณ์[แก้]

ช่างในสมัยโบราณประดิษฐ์มาจากวัสดุธรรมชาติเกือบทั้งหมด เช่น พู่กันที่ใช้เป็นเครื่องเขียนระบายสีต่าง ๆ ก็ใช้ขนหูวัวมารวมกัน แล้วตัดปลายให้เสมอกันใส่ลงในกรวยที่มีขนาดต่าง ๆ กัน แปรงระบายสีก็ทำจากเปลือกไม้ รากไม้ ดินสอพองหรือผงถ่าน[5] สีที่ใช้ในจิตรกรรมไทยโบราณ ใช้สีฝุ่น เป็นสีจากธรรมชาติ ได้จากธาตุดิน แร่ หิน โลหะ พืช และบางส่วนของสัตว์ เดิมสีเป็นเอกรงค์ คือสีเดียว ต่อมาเป็นเบญจรงค์หมายถึง 5 สี มีเหลือง คราม แดงชาติ ขาว และดำ ศัพท์ช่างเรียกว่า กระยารงค์ สียึดกับผนังหรือวัตถุอื่น ๆ ด้วยน้ำกาวหรือยางไม้ต่าง ๆ นั้นช่างเรียกว่า น้ำยา ส่วนทองคำเปลว เป็นทองแผ่นใช้ปิดในส่วนที่เป็นเครื่องทรง เครื่องประดับหรือลวดลายที่มีความสำคัญและเป็นจุดเด่นในภาพ โดยใช้ยางมะเดื่อเป็นตัวประสาน

จิตรกรรมไทยประเพณีในปัจจุบัน มีสีให้เลือกใช้มากมายหลายชนิด เป็นสีที่ได้จากการสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ เช่น สีน้ำมัน สีอะคริลิก สีน้ำ เป็นต้น[9]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 ยอดชาย พรหมอินทร์. "ตำรา จิตรกรรมไทยประเพณี" (PDF). คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2021-06-04. สืบค้นเมื่อ 2021-06-04.
  2. "ลักษณะของ จิตรกรรมไทยแบบประเพณี". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ.
  3. สุวิท ชัยมงคล. (2531 กรกฎาคม-สิงหาคม). ภาพเขียนสีแหล่งใหม่ที่เขาเขียนอ่าวพังงา, ศิลปากร. 31(3), 4–5.
  4. วรรณิภา ณ สงขลา. (2528). การอนุรักษ์จิตรกรรมฝาผนัง. กรุงเทพ ฯ : อมรินทร์การพิมพ์.
  5. 5.0 5.1 สมชาติ มณีโชติ. ( 2529). จิตรกรรมไทย. กรุงเทพ ฯ : โอเดียนสโตร์
  6. สันติ เล็กสุขุม และกมล ฉายาวัฒนะ. จิตรกรรมฝาผนังสมัยอยุธยา. กรุงเทพฯ : สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  7. ปรีชา เถาทอง. ( 2548). จิตรกรรมไทยวิจักษ์. กรุงเทพ ฯ : อมรินทร์การพิมพ์.
  8. "ช่างเขียน". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ.
  9. "การสร้างจิตรกรรมฝาผนังของช่างไทยในสมัย โบราณ". สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ.