พระสี่อิริยาบถ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดเชตุพน

พระสี่อิริยาบถ คือกลุ่มพระพุทธรูปขนาดใหญ่ในศิลปะสุโขทัย ที่สร้างรวมกันให้พระพุทธรูปทั้งสี่องค์หันหลังชนกัน ประกอบด้วยพระพุทธรูปในอิริยาบถเดิน ยืน นั่ง และนอน มีลักษณะแกนรับน้ำหนักก่ออิฐถือปูนที่เป็นอาคารรูปแบบหนึ่ง พระพุทธรูปปางลีลาประดิษฐานด้านตะวันออกเสมอ พระพุทธรูปยืนที่ผนังตะวันตก พระพุทธรูปนอนอยู่ด้านทิศเหนือ พระพุทธรูปนั่งอยู่ด้านทิศใต้ อย่างไรก็ตามอาจมีบางแห่งสลับที่กัน ส่วนตำแหน่งที่สร้างจะมีวิหารต่อเนื่องไปทางทิศตะวันออก แกนสี่เหลี่ยมนี้จะแทนเจดีย์ประธานของวัด ดังปรากฏที่วัดเชตุพน จังหวัดสุโขทัย

คติความเชื่อนั้นสร้างตามคัมภีร์พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค ซึ่งส่วนหนึ่งของคัมภีร์นี้มีกล่าวถึง กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการใช้สติพิจารณาดูกายเป็นอารมณ์ การสร้างพระสี่อิริยาบถเป็นกลุ่มพุทธปฏิมาขนาดใหญ่ อาจต้องการให้เห็นชัดเจนว่าเมื่อพระพุทธองค์ทรงมีพระชนม์ชีพอยู่จะมีขนาดพระสรีระเท่าใด และทรงดำเนินพระชนม์ชีพในแต่ละวันปฏิบัติกิจสิ่งใดบ้าง[1]

การปรากฏ[แก้]

ลักษณะพระพุทธรูปปางสี่อิริยาบถปรากฏหลักฐานอยู่ 3 แห่ง คือ วัดพระพายหลวง วัดเชตุพน อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย และวัดพระสี่อิริยาบถ จังหวัดกำแพงเพชร[2] เป็นรูปแบบเฉพาะของศิลปะสุโขทัย

เชื่อว่าพระสี่อิริยาบถวัดพระพายหลวงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างพระพุทธรูปแบบสี่อิริยาบถ[3] สันนิษฐานว่าการทำพระพุทธลีลาที่นี่น่าจะหมายถึงปางเสด็จจากดาวดึงส์ ดังเห็นจากเค้าโครงประดับเทวดาพนมมืออยู่ทั้งสองข้างของพระพุทธเจ้า ส่วนผนังด้านทิศตะวันออกประดิษฐานพระพุทธรูปลีลา ยังมีเค้าโครงการกำหนดเขตในลักษณะของ "มูลคันธกุฎี" หรือ "กุฏิของพระพุทธเจ้า"

อ้างอิง[แก้]

  1. อลงกรณ์ ประมวญทรัพย์. "พุทธปฏิมาไสยาสน์ขนาดใหญ่ในดินแดนไทย:คติการสร้างที่ปรับเปลี่ยน และความสัมพันธ์กับขนาดการสร้าง". มหาวิทยาลัยศิลปากร.
  2. ""อฏฐารส" คติความเชื่อ และการสร้างสรรค์งานพุทธปฏิมา". หน้าจั่ว.
  3. สันติ เล็กสุขุม, ศิลปะสุโขทัย, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ, 2549), 89.