ไทยร็อก

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี

ไทยร็อก (อังกฤษ: Thai rock) เป็นดนตรีร็อกจากประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของดนตรีแนวสตริงและป็อปร็อก ดนตรีร็อกเริ่มเข้ามาสู่ประเทศไทยในราวทศวรรษที่ 1965 จากอิทธิพลชาติตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา ผ่านสงครามเวียดนาม โดยแหลม มอริสัน นักดนตรีชาวอุดรธานีได้ตั้งวงดนตรีชื่อ วีไอพี ขึ้นมา เพื่อเล่นดนตรีแนวเฮฟวี่เมทัลและฮาร์ดร็อกให้กับเหล่าทหารอเมริกันในสถานบันเทิงยามค่ำคืนของอุดรธานี โดยมีจิมิ เฮนดริกซ์ และจิม มอร์ริสัน แห่งวงเดอะดอร์ส เป็นแบบอย่าง ก่อนที่จะมีนักดนตรีอีกหลายคนสร้างชื่อเสียงขึ้นมา เช่น กิตติ กาญจนสถิตย์, โอฬาร พรหมใจ หรือชัคกี้ ธัญญรัตน์[1] [2]

จุดกำเนิดของไทยร็อกเริ่มขึ้นในปลายทศวรรษที่ 70 โดยเริ่มจาก เนื้อกับหนัง ถือว่าเป็นวงดนตรีในแนวเฮฟวี่เมทัลและฮาร์ดร็อกวงแรกของไทย โดยมีวิฑูร วทัญญู เป็นผู้สนับสนุน ซึ่งยากมากที่จะหาผู้ที่ยอมรับฟังดนตรีร็อกในยุคนั้น เนื่องจากในขณะนั้นวงการดนตรีไทยเป็นยุคที่นิยมดนตรีป๊อปแบบใส ๆ เช่น ฟรุตตี้, เรนโบว์ [3]

ต่อมาในทศวรรษที่ 80 ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์ วงดนตรีที่เล่นเพลงแนวเฮฟวี่เมทัล โดยปฐมพงศ์ สมบัติพิบูลย์ และโอฬาร พรหมใจ ก็ได้รับความนิยมและยอมรับขึ้นมาจากอัลบั้ม "กุมภาพันธ์ 2528" ต่อมาเมื่อไทยเริ่มเข้าสู่ยุคของการพาณิชย์ เริ่มมีค่ายเพลงต่าง ๆ เกิดขึ้น ความสำเร็จของอัสนี-วสันต์ กับไมโคร ในสังกัดแกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นต์ ก็ช่วยให้ดนตรีร็อกได้รับความนิยมมากขึ้น รวมถึงในดนตรีแนวเพื่อชีวิตอย่าง คาราบาว ที่สร้างยอดขายได้มากกว่า 5 ล้านตลับ ก็ยังนำเอาดนตรีร็อกมาผสมผสานกับดนตรีรำวงจังหวะสามช่าแบบไทยอีกด้วย[4] [5]

จวบจนช่วงต้นของทศวรรษที่ 90 ศิลปินหลายวง หลายคนในสังกัดอาร์เอส โปรโมชั่น เช่น ไฮ-ร็อก ที่ทำให้ดนตรีแนวเฮฟวี่เมทัลได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางมากขึ้น[6], หิน เหล็ก ไฟ ที่เมื่อออกผลงานชุดแรกก็สร้างยอดขายได้มากกว่าหนึ่งล้านตลับ, หรั่ง ร็อกเคสตร้า, อิทธิ พลางกูร, ธนพล อินทฤทธิ์, พิสุทธิ์ ทรัพย์วิจิตร ก็ประสบความสำเร็จอีกด้วย ในช่วงนี้ถือได้ว่าเป็นยุคทองของดนตรีร็อกแนวเฮฟวี่เมทัลของไทยอย่างแท้จริง โดยทั้งหมดได้รวมกันแสดงคอนเสิร์ต ช็อต ชาร์จ ช็อก ร็อก คอนเสิร์ต ที่มีจำนวนผู้ชมล้นหลามและจัดต่อเนื่องด้วยกันถึง 3 ครั้งในรอบ 3 ปี[7]

ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษที่ 90 วงการดนตรีไทยได้เปลี่ยนความนิยมไป เมื่ออัลเทอร์เนทีฟและอินดี้ป็อป เริ่มเข้ามามีอิทธิพลและได้รับความนิยมขึ้นมาแทนที่เฮฟวี่เมทัล โมเดิร์นด็อก จากสังกัดเบเกอรี่มิวสิค ก็ได้สร้างปรากฏการณ์ของดนตรีในแนวนี้ขึ้นมาเป็นวงแรก ก่อนจะตามด้วยวงอื่นในแนวเดียวกัน เช่น วายน็อตเซเว่น, ฟลาย, แบล็คเฮด, สไมล์บัฟฟาโล่, นครินทร์ กิ่งศักดิ์ เป็นต้น นอกจากนี้แล้วดนตรีร็อกในแนวอื่นที่มิใช่อัลเทอร์เนทีฟก็ยังได้รับความนิยม เช่น โลโซ, วูล์ฟแพ็ค, ธรรพ์ณธร ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา, ลาบานูน, ไอน้ำ[8]

ในยุคปัจจุบัน ดนตรีร็อกไทยได้มีแนวดนตรีแบบใหม่เข้ามา เช่น แกลมเมทัล หรือ นูเมทัล มีหลายวงที่ได้รับความนิยม เช่น บิ๊กแอส, บอดี้แสลม แคลช ,โปเตโต้, อีโบลา, เรโทรสเปกต์, ซีล,สวีตมัลเล็ต, กะลา เป็นต้น วงดนตรีร็อคในเมืองไทยในยุคแรกไม่สามารถจัดเป็นทศวรรษได้ เนื่องจากกระแสความนิยมและการเปลี่ยนแปลงทางดนตรีก้าวกระโดดไปอย่างรวดเร็ว นอกนั้นยังมีวงดนตรีนอกกระแสหรือดนตรีใต้ดินอย่าง ดีเซมเบอร์, ดอนผีบิน หรือกล้วยไทย เป็นต้น[9]

อ้างอิง[แก้]

  1. "แหลม มอริสัน". โอเคเนชั่น. 8 April 2008. สืบค้นเมื่อ 6 September 2014.
  2. "คอนเสิร์ต 70 ปี 'แหลม มอริสัน'". ยูทิวบ์. 24 August 2014. สืบค้นเมื่อ 6 September 2014.[ลิงก์เสีย]
  3. "ประวัติ วงเนื้อกับหนัง "วงเฮฟวี่ ภาคภาษาไทย วงแรกแห่งกรุงสยาม"". siamsouth. 2009-02-25. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-11-07. สืบค้นเมื่อ 2016-06-17.
  4. ตามรอยควาย : บทบันทึกการเดินทาง 25 ปี โดย ดร.วรัตต์ อินทสระ (สำนักพิมพ์โมโนโพเอท พฤศจิกายน 2550) ISBN 9740951186
  5. Phataranawik, Phatrawadee (May 12, 2006). "Rock unit", The Nation Weekend, Page 12-13 (print edition only).
  6. "HiRock Story1". ยูทิวบ์. 3 June 2009. สืบค้นเมื่อ 6 September 2014.
  7. ปลุกตำนานร็อก, หน้า 33 บันเทิง. เดลินิวส์ฉบับที่ 23,280: อังคารที่ 9 กรกฎาคม 2556 ขึ้น 2 ค่ำ เดือน 8 ปีมะเส็ง
  8. หน้า 234, ค่ายเบเกอรี่มิวสิคเปิดตัวเพลงแนวอินดี้ป๊อป ."กาลานุกรมสยามประเทศไทย 2485-2554" (2554) โดย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ดร. ISBN 978-974-228-070-3
  9. "ผลการตัดสินรางวัล สีสัน อะวอร์ดส์ ครั้งที่ 20 ประจำปี 2550". สยามโซน. 21 March 2008. สืบค้นเมื่อ 6 September 2014.