อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก
อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก | |
---|---|
อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก | |
ไอยูซีเอ็นกลุ่ม 2 (อุทยานแห่งชาติ) | |
ยอดดอยผ้าห่มปก | |
ที่ตั้ง | จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย |
เมืองใกล้สุด | เทศบาลตำบลเวียงฝาง จังหวัดเชียงใหม่ |
พิกัด | 19°59′16″N 99°08′47″E / 19.98778°N 99.14639°E |
พื้นที่ | 524 กม.2 |
จัดตั้ง | 4 กันยายน พ.ศ. 2543 |
อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก หรือในชื่อเดิมว่า อุทยานแห่งชาติแม่ฝาง และ อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งหนึ่งในประเทศไทย มีสภาพเป็นยอดดอยหรือยอดเขาส่วนหนึ่งของทิวเขาแดนลาว จุดที่สูงที่สุดมีความสูง 2,285 เมตร (7,497 ฟุต) จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งเป็นภูเขาที่สูงที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทยรองจากดอยอินทนนท์ พื้นที่อุทยานแห่งชาติตั้งอยู่ในเขตอำเภอฝาง อำเภอแม่อาย และอำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ มีอาณาเขตติดต่อกับประเทศพม่าทางด้านทิศตะวันตกยาวประมาณ 70 กิโลเมตร มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 524 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 327,500 ไร่ ขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 4 กันยายน พ.ศ. 2543 เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 97 ของไทย[1]
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นป่ามีความอุดมสมบูรณ์ มีพืชที่สำคัญ เช่น ตะเคียนทอง (Hopea odorata), เทียนผ้าห่มปก (Impatiens phahompokens[2]) ซึ่งค้นพบครั้งแรกที่นี่ รวมถึงสัตว์ป่าอย่างอื่น เช่น ผีเสื้อหางดาบตาลไหม้ (Meandrusa sciron) เป็นสถานที่ที่เหมาะสำหรับการดูนก[3] และมีบ่อน้ำพุร้อนฝาง ณ ที่ทำการอุทยาน พื้นที่ 10 ไร่ (16,000 ตารางเมตร) ที่มีอุณหภูมิของน้ำราว 90–130 องศาเซลเซียส บ่อขนาดใหญ่ที่สุดมีไอน้ำร้อนที่มีไอพวยพุ่งขึ้น 40–50 เมตรเหนือพื้นดิน[4]
ลักษณะภูมิอากาศ
[แก้]สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไป มีอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 25.4 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุดอยู่ในเดือนเมษายนประมาณ 39.1 องศาเซลเซียส และฝนตกชุกระหว่างเดือนพฤษภาคม-กันยายน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดทั้งปีประมาณ 1,183.5 มิลลิเมตร มีอากาศหนาวเย็นในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ อุณหภูมิเฉลี่ย 14-19 องศาเซลเซียส ยอดดอยมีอุณหภูมิต่ำสุดในช่วงฤดูหนาวเฉลี่ยประมาณ 2 องศาเซลเซียส
ทรัพยากรป่าไม้
[แก้]พื้นที่ของอุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน มีความสูงเฉลี่ยตั้งแต่ 400 – 2,285 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประกอบกับมีอาณาเขตด้านทิศตะวันตกติดกับประเทศเมียนม่าร์ จึงเป็นผลให้มีความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติสูง โดยเฉพาะทรัพยากรป่าไม้ที่มีความหลากหลายของประเภทป่า ซึ่งสามารถจำแนกประเภทป่า โดยอาศัยปัจจัยทางสภาพภูมิประเทศ สภาพภูมิอากาศ ลักษณะดิน และพืชพรรณเด่น ได้ 5 ประเภท ดังนี้
1. ป่าเต็งรัง (Dry dipterocarp forest) สามารถพบป่าประเภทนี้ได้ตั้งแต่ระดับความสูง 400–600 เมตร พรรณไม้เด่นที่พบส่วนใหญ่ ได้แก่ เต็ง รัง เหียง ติ้ว ส่วนพืชชั้นล่างที่พบ ได้แก่ ปรงป่า และเป้ง
2. ป่าเบญจพรรณ (Mixed deciduous forest) เป็นประเภทป่าที่มีการกระจายตัวอยู่ทั่วไปในพื้นที่อุทยานฯ ตั้งแต่ระดับความสูง 400 – 800 เมตร พรรณไม้ที่พบส่วนใหญ่เป็นไม้ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ได้แก่ สัก ชิงชัน ประดู่ มะค่าโมง แดง ตะแบก เป็นต้น ในบางพื้นที่จะพบไผ่ขึ้นปะปนอยู่เป็นบริเวณกว้าง พืชชั้นล่างที่พบ ได้แก่ พืชวงศ์ขิงข่า คล้า และเฟินชนิดต่างๆ
3. ป่าดิบแล้ง (Dry evergreen forest) ป่าประเภทนี้พบกระจายเพียงเล็กน้อยในพื้นที่อุทยานฯ มักพบขึ้นปะปนกับป่าเต็งรัง พรรณไม้ส่วนใหญ่เป็นวงศ์ยางนา หรือ วงศ์ไม้ยาง และปอชนิดต่างๆ
4. ป่าสนเขา (Pine Forest) เป็นสภาพป่าที่สามารถพบได้ตั้งแต่ระดับความสูง 800–1,700 เมตร บริเวณแนวเขตชายแดนไทย – เมียนม่าร์ ตามแนวสันเขาถนนเส้นทางความมั่นคง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความลาดชันสูง พื้นที่ค่อนข้างเปิดโล่ง พรรณไม้ที่พบส่วนใหญ่ คือ สนสามใบ สนสองใบ และมักพบไม้พุ่มชนิดอื่นๆ ขึ้นปะปน อยู่ด้วย
5. ป่าดิบเขา (Hill evergreen forest) สภาพป่าส่วนใหญ่ถูกปกคลุมไปด้วยเมฆหมอกตลอดทั้งปี จัดเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญ เนื่องจากเป็นแหล่งกำเนิดลำห้วยหลายสาย ป่าประเภทนี้พบในระดับความสูงตั้งแต่ 1,500 เมตร จนถึงบริเวณยอดดอยผ้าห่มปก พรรณไม้ส่วนใหญ่ ได้แก่ ก่อชนิดต่างๆ กำลังเสือโคร่ง นางพญาเสือโคร่ง อบเชย ทะโล้ เป็นต้น ตามผิวลำต้นของไม้จะถูกปกคลุมไปด้วย มอสส์ เฟิร์น ไลเคน กล้วยไม้ป่า และพืชเกาะอาศัยชนิดอื่นๆ นอกจากนั้นยังพบพืชชั้นล่าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไม้ดอกสีสันสวยงามตามฤดูกาล ได้แก่ บัวทอง หนาดขาว หนาดคำ ผักไผ่ดอย เทียนคำ เทียนดอย และผักเบี้ยดิน เป็นต้น
ทรัพยากรสัตว์ป่า
[แก้]จากการสำรวจเบื้องต้นเกี่ยวกับทรัพยากรสัตว์ป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยฟ้าห่มปก สามารถจำแนกสัตว์ป่าที่พบ เป็นประเภทต่างๆ ได้ดังนี้
1. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม (Mammals) ได้แก่ หมาไม้ หมีควาย เก้ง หมูป่า เม่นใหญ่ กระต่ายป่า ลิงกัง ค่างแว่นถิ่นเหนือ กระรอกท้องแดง กระรอกดินแก้มแดง กระรอกบินจิ๋วท้องขาว เพียงพอนเส้นหลังขาว และสัตว์ที่มีรายงานการพบใหม่ในประเทศไทยครั้งแรกบริเวณพื้นที่ดอยผ้าห่มปก คือ เพียงพอนท้องเหลือง (Yellow-bellied Weasel) ในส่วนของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้น ยังไม่มีการสำรวจข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งถ้ามีการสำรวจเก็บข้อมูล หรืองานวิจัยในด้านนี้อย่างจริงจัง ก็จะพบสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดต่างๆเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสัตว์ในกลุ่มค้างคาว และสัตว์ฟันแทะชนิดต่างๆ
2. สัตว์ปีก จำพวกนก (Birds) จากการสำรวจพบนกชนิดต่างๆ กว่า 340 ชนิด ซึ่งสามารถพบทั้งนกประจำถิ่นหายาก เช่น นกติ๊ดหัวแดง นกขัติยา นกกระรางอกลาย และนกหัวขวานอกแดง ซึ่งหลายชนิดเป็นนกที่สามารถพบได้เฉพาะในพื้นที่ดอยผ้าห่มปกเท่านั้น ส่วนนกอพยพที่เข้ามาอาศัยอยู่ในช่วงฤดูหนาว เช่น นกเดินดงสีน้ำตาลแดง นกเดินดงอกเทา นกเดินดงสีคล้ำ และนกเดินดงลายเสือ เป็นต้น นอกจากชนิดนกหายากดังกล่าวซึ่งส่วนใหญ่พบบริเวณดอยผ้าห่มปกแล้ว บริเวณพื้นที่อื่นของอุทยานฯก็สามารถพบเป็นนกหายากได้หลายชนิด เช่น บริเวณที่ทำการอุทยานฯ มีการสำรวจพบนกหายาก เช่น นกกระติ๊ดใหญ่ปีกลาย นกเขนหัวขาวท้ายแดง นกกางเขนน้ำหัวขาว และนกมุดน้ำ ซึ่งเป็นนกหายากที่พบอาศัยตามลำธารที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง ในปัจจุบันเรายังไม่ทราบสถานะที่แน่นอนของนกชนิดนี้
3. สัตว์ปีก จำพวกผีเสื้อ และแมลง (Butterflies and Insects) ในพื้นที่สามารถพบผีเสื้อกลางวันชนิดต่างๆ ได้มากกว่า 130 ชนิด โดยเฉพาะผีเสื้อหายาก เช่น ผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล ผีเสื้อหางดาบตาลไหม้ ผีเสื้อถุงทองป่าสูง ผีเสื้อถุงทองธรรมดา ซึ่งจัดเป็นแมลงคุ้มครอง และแมลงหายากชนิดต่างๆ เช่น ด้วงคีมยีราฟ กว่างซาง ด้วงคางคกผา เป็นต้น
4. สัตว์เลื้อยคลาน (Reptiles) ที่สามารถพบเห็นได้ทั่วไป เช่น กิ้งก่าแก้ว เต่าปูลู เต่าหก งูลายสาบคอแดง งูทางมะพร้าวแดง งูสามเหลี่ยม ตะกวด เป็นต้น
5. สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก (Amphibians) ที่สามารถพบเห็นได้ เช่น กบดอยผ้าห่มปก อึ่งอ่างบ้าน กบหนอง อึ่งแม่หนาว อึ่งกรายห้วยเล็ก ปาดตีนเหลืองเหนือ และ กระท่าง เป็นต้น สัตว์ในกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีความน่าสนใจ เนื่องจากอาจพบข้อมูลใหม่ๆเกี่ยวกับชนิดพันธุ์ และการกระจายพันธุ์ เนื่องจากยังขาดการสำรวจข้อมูลที่ครอบคลุมทุกพื้นที่
คลังภาพ
[แก้]-
พระอาทิตย์ขึ้นที่อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก
-
พระอาทิตย์ตก
-
บนยอดดอยผ้าห่มปก
-
น้ำพุร้อนฝาง
-
นกคอทับทิม (Luscinia calliope) หนึ่งในนกที่พบได้ที่อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก
อ้างอิง
[แก้]- ↑ "Doi Phahompok National Park". National Parks of Thailand. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2016-03-03. สืบค้นเมื่อ 2016-01-12.
- ↑ ปิยะ เฉลิมกลิ่น จิรพันธุ์ ศรีทองกุล และอนันต์ พิริยะภัทรกิจ. พรรณไม้ที่พบครั้งแรกในประเทศไทย. กทม. โครงการพัฒนาองค์ความรู้และศึกษานโยบายการจัดการทรัพยากรชีวภาพ. 2551 หน้า 112
- ↑ "Birdwatching in Thailand, Doi Lang". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-07-07. สืบค้นเมื่อ 2016-07-16.
- ↑ "Tourist Attractions". Doi Phahompok National Park. National Parks Thailand. สืบค้นเมื่อ 2014-11-26.[ลิงก์เสีย]
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- Tourism Thailand
- ดอยผ้าห่มปกจากสำนักอุทยานแห่งชาติ