การท่องเที่ยวในกรุงเทพมหานคร
กรุงเทพมหานคร เป็นหนึ่งในเมืองจุดหมายปลายทางที่นิยมมากแห่งหนึ่งของโลก ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวจากทั่วทั้งโลกเดินทางมากรุงเทพฯ กว่า 22.7 ล้านคน[1] และการที่ใน พ.ศ. 2556 มีนักท่องเที่ยวกว่า 15.98 คนเดินทางเข้ามา ทำให้มาสเตอร์การ์ดจัดให้กรุงเทพฯ เป็นจุดหมายปลายทางลำดับต้น ๆ ของโลกจากการจัดอันดับสุดยอดจุดหมายปลายทางโลกของมาสเตอร์การ์ด และในการจัดอันดับเดียวกันนี้เอง ได้ระบุว่ากรุงเทพมหานครเป็นสุดยอดเมืองจุดหมายปลายทางปี พ.ศ. 2555, 2556, 2559, 2560, 2561[2][3] และ 2562[4]
ใน พ.ศ. 2556 กรุงเทพฯ ได้รับการจัดให้อยู่ในอันดับที่ 4 ในด้านของจำนวนเงินการใช้จ่ายข้ามพรมแดน โดยเป็นรองจากนิวยอร์ก ลอนดอน และปารีส[5] ในปี พ.ศ. 2554 ยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลจัดให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองยอดนิยมอันดับที่ 6[6] ด้วยความนิยมทั้งหลายนี้เองทำให้กรุงเทพฯ ได้รับฉายาว่า "เมืองที่ดีที่สุดในโลก" จากการสำรวจผู้อ่าน นิตยสาร Travel + Leisure เป็นเวลาสี่ปีติดต่อกันนับตั้งแต่ปี 2553[7]
การที่เป็นกรุงเทพฯ เป็นประตูแก่ผู้มาเยือน ทำให้กรุงเทพฯ เป็นพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมากที่สุดในไทย ถึงนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะมีจำนวนมาก แต่การท่องเที่ยวภายในประเทศก็ถือว่ามีความสำคัญ ใน พ.ศ. 2553 กรมการท่องเที่ยวระบุว่ามีนักท่องเที่ยวชาวไทย 26,861,095 คนและชาวต่างชาติ 11,361,808 คนเดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ มีแขกเข้าพักกว่า 15,031,244 คน คิดเป็นร้อยละ 49.9 ของห้องพักทั่วกรุง[8] นักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเยือนกรุงเทพฯ ใช้จ่ายเงินเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนมากจะใช้จ่ายในอุตสาหกรรมค้าปลีก โดยเฉลี่ยแล้วนักท่องเที่ยวชาวจีนจะอาศัยอยู่ในไทยเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์โดยจะใช้เงินประมาณ 1,000–1,300 ดอลลาร์ต่อคน หรือคิดเป็นคนละ 167 ดอลลาร์ต่อวัน[9]
สถานที่ท่องเที่ยวรูปแบบต่าง ๆ และวิถีชีวิตของชุมชนเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวหลากหลายกลุ่มให้เดินทางเข้ามาในกรุงเทพฯ พระบรมมหาราชวัง วัดรวมถึงพิพิธภัณฑ์ เป็นรูปแบบของการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม มีห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ร้านอาหารหลากหลายรูปแบบ หลากหลายราคาให้เลือกลอง นอกจากนี้แล้ว กรุงเทพฯ ยังขึ้นชื่อเรื่องสถานบันเทิงและวิถีชีวิตยามค่ำคืน ถึงแม้ว่ากรุงเทพฯ จะมีชื่อเสียงไปทั่วโลกในเรื่องการท่องเที่ยวทางเพศ แต่รัฐบาลก็ยังไม่ออกมายอมรับ
วัดและพระราชวัง
[แก้]กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางของปริมณฑล และเป็นเมืองหลวงของประเทศไทยมาตั้งแต่ พ.ศ. 2325 กรุงเทพฯ มีวังอยู่หลายแห่ง และบางแห่งยังเป็นที่ประทับของพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์อยู่ ส่วนวังบางแห่งก็เปิดให้ประชาชนภายนอกสามารถเข้ารับชมได้ มีวังหลายแห่งถูกใช้เป็นที่ทำการของรัฐบาล สถานศึกษารวมถึงพิพิธภัณฑ์ พระบรมมหาราชวังเป็นพระราชวังที่ประทับของพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่สมัยก่อตั้งกรุงรัตนโกสินทร์จนถึงสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้พระบรมมหาราชวังยังเป็นที่ตั้งของวัดพระศรีรัตนศาสดารามอันเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร หรือพระแก้วมรกต พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของไทย ทำให้วัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นวัดที่สำคัญที่สุดในประเทศ พระตำหนักจิตรลดารโหฐานซึ่งเป็นวังสมัยใหม่นั้น อดีตเคยเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
จากวัดที่มีอยู่มากมายในกรุงเทพฯ มีเพียงไม่กี่วัดเท่านั้นที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว ยกตัวอย่างเช่นวัดอรุณ ซึ่งเป็นวัดที่สำคัญแห่งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ย้อนกลับไปในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินยกทัพออกจากกรุงศรีอยุธยาและเดินทัพเข้าสู่ธนบุรีใน พ.ศ. 2310 ท่านได้ใช้วัดนี้เป็นที่พักทัพ จุดเด่นของวัดอรุณคือ พระปรางค์วัดอรุณฯ ที่สร้างขึ้นใน พ.ศ. 2363 มีความสูงจากฐานถึงยอด 81.85 เมตร เป็นโครงสร้างที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ ก่อนที่จะมีตึกระฟ้าสมัยใหม่
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดโพธิ์ เป็นวัดที่ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระบรมมหาราชวัง วัดโพธิ์เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ ภายในวัดมี วิหารพระพุทธไสยาสน์ อันเป็นที่ประดิษฐานของ พระพุทธไสยาสน์ พระนอนองค์ใหญ่ยาว 46 เมตร พระบาทของพระพุทธไสยาสน์แต่ละข้าง กว้าง 1.5 เมตร ยาว 5 เมตร
วัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร หรือ วัดสุทัศน์ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร และถือเป็นวัดประจำรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร มีสิ่งก่อสร้างที่โดดเด่นคือ เสาชิงช้า บริเวณหน้าวัด
วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร หรือ วัดภูเขาทอง มีสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นคือ พระบรมบรรพต ซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนยอด ในอดีตเคยมีอหิวาตกโรคระบาดในกรุงเทพฯ ทำให้ประชาชนเสียชีวิตกว่า 60,000 คน ศพที่เผาไม่ทัน ก็ถูกกองสุมกันอยู่ในบริเวณวัด ทำให้ฝูงแร้งแย่งไปลงทึ้งกินซากศพ[10]
สวนสาธารณะ
[แก้]สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ เป็นสวนสาธารณะที่สร้างขึ้นเนื่องใน "วโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงครบ 5 รอบ ภายในสวนสาธารณะมีสระน้ำขนาดใหญ่ที่แตกแต่งด้วยน้ำพุ 3 แห่งพร้อมดอกบัวสายพันธุ์ไทยและต่างประเทศ
สวนลุมพินี เป็นสวนสาธารณะแห่งแรกของไทย เริ่มจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานไว้ให้เป็นพื้นที่สวนสาธารณะแก่ชาวกรุงเทพฯ
อุทยานเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นสวนสาธารณะที่อยู่ใกล้กับวัดอนงคารามวรวิหาร แขวงสมเด็จเจ้าพระยา ในอดีตเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จย่าในสมัยเด็ก ภายในสวนสาธารณะมีบ้านจำลองเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ อาคารพิพิธภัณฑ์ที่เป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการของสมเด็จย่าตลอดจนประวัติของชุมชนวัดอนงคาราม
สวนนาคราภิรมย์ เป็นสวนสาธารณะขนาดเล็กใกล้พระบรมมหาราชวัง มีลักษณะเป็นสวนริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ในปัจจุบันแปรสภาพเป็นลานจอดรถแล้ว
สวนสันติชัยปราการ เป็นสวนสาธารณะประมาณ 8 ไร่ ตั้งอยู่ใกล้กับป้อมพระสุเมรุและอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หากมีกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค สวนแห่งนี้จะเป็น 1 ในสถานที่ ๆ เปิดให้ประชาชนเข้าชมขบวน
อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นสวนสาธารณะระดับย่านประมาณ 279 ไร่ ตั้งอยู่บนพื้นที่สนามม้านางเลิ้งเดิมในอดีต และตั้งอยู่ใกล้กับโรงเรียนราชวินิต มัธยม, ตลาดนางเลิ้ง และพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน ที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาจากพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี จึงพระราชทานพื้นที่เขตพระราชฐานส่วนนี้ของพระองค์เพื่อจัดสร้างสวนสาธารณะที่ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมตามแบบอย่างโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้ประชาชนเข้าใช้ประโยชน์และศึกษาแนวพระราชดำริจากพระราชกรณียกิจของทั้ง 2 พระองค์ ผ่านองค์ความรู้เรื่องน้ำและป่า ภายในมีจุดหลักคือพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ซึ่งประดิษฐานบริเวณจุดศูนย์กลางของอุทยาน สำหรับให้ประชาชนเข้าถวายสักการะและน้อมรำลึกถึงพระองค์ ภายในสวนสาธารณะมีสระน้ำรูปเลข ๙ ไทย, สะพานรูปเลข ๙, สะพานหยดน้ำพระทัย, สะพานไม้เจาะบากงจำลอง เป็นต้น ภายในอุทยานมีเส้นทางเดินและวิ่ง, ทางปั่นจักรยาน, สถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง, ลานทำกิจกรรมต่างๆ และบริการอื่นๆ อีกด้วย
พิพิธภัณฑ์
[แก้]พิพิธภัณฑ์ในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ที่อยู่ในมหาวิทยาลัย เช่น พิพิธภัณฑ์มหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑสถานธรรมชาติวิทยาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีทางภาพ เป็นต้น
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป เป็นหอศิลป์และเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของไทย แต่เดิมแล้วเคยเป็นโรงกษาปณ์ ภายในมีการจัดแสดงผลงานศิลปะไทยดั้งเดิม งานศิลปะร่วมสมัย ภาพถ่าย และภาพวาดสีน้ำมัน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย ตั้งอยู่บริเวณพระราชวังบวรสถานมงคล หรือส่วนหนึ่งของที่ประทับวังหน้า ภายในพิพิธภัณฑ์ประกอบด้วยหมู่พระที่นั่งต่าง ๆ ได้แก่ พระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย หมู่พระวิมาน พระที่นั่งอิศเรศราชานุสรณ์ อาคารประพาสพิพิธภัณฑ์ และอาคารมหาสุรสิงหนาท
นิทรรศน์รัตนโกสินทร์ เป็นนิทรรศการถาวรเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะในพื้นที่เกาะเมือง พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ล่าสุดของกรุงเทพฯ ฯ[ต้องการอ้างอิง] เปิดให้บริการใน พ.ศ. 2553 ตั้งอยู่บริเวณถนนราชดำเนินกลาง
วังสวนผักกาด ในอดีตเคยเป็นวังที่ประทับของพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนครสวรรค์ศักดิพินิต ปัจจุบันแปรสภาพเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ภายในประกอบไปด้วย ตำหนักไทยโบราณ 8 หลัง[11] ซึ่งภายในตำหนักโบราณมีการจัดแสดงศิลปะและโบราณวัตถุที่มาจากการสืบทอดภายในตระกูลทั้งที่ค้นพบในประเทศและต่างประเทศ
พระที่นั่งวิมานเมฆ เป็นพระที่นั่งที่สร้างด้วยไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของพระราชวังฤดูร้อนในเกาะสีชัง ก่อนที่จะย้ายมาที่พระราชวังดุสิตหลังวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ใน พ.ศ. 2443 แต่ในวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ทางสำนักข่าวบีบีซีประเทศไทย ได้เผยแพร่คำยืนยันจากเจ้าหน้าที่ของสำนักพระราชวัง ว่าขณะนี้พระที่นั่งวิมานเมฆไม่เปิดให้นักท่องเที่ยวหรือบุคคลภายนอกเข้าชมแล้ว[12]
พิพิธภัณฑ์การแพทย์ศิริราช เป็นกลุ่มพิพิธภัณฑ์ภายในโรงพยาบาลศิริราช ตั้งอยู่ทางตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในพิพิธภัณฑ์มีพิพิธภัณฑ์การแพทย์ขนาดเล็ก 7 แห่ง เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญแก่นักศึกษาและผู้ที่มีความสนใจทางการแพทย์
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กรุงเทพมหานครเขตบางกอกน้อย เป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงนิทรรศการที่บอกเล่าถึงอดีตและสภาพในปัจจุบันของเขตบางกอกน้อย มีสิ่งที่น่าสนใจคือการจำลองย่านชุมชนช่าง
มิวเซียมสยาม เป็นพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่บนถนนสนามไชย เป็นแหล่งการเรียนรู้หนึ่งที่เน้นจุดมุ่งหมายในการแสดงตัวตนของชนในชาติ เรียนรู้รากเหง้าของชาวไทย โดยเน้นไปที่กลุ่มชนในเขตเมืองบางกอก
ข้าวสารมิวเซียม ตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 ของบ้านไกรจิตติ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงประวัติความเป็นมาของถนนข้าวสาร โดยจะบอกเล่าแง่มุมการดำเนินชีวิตของคนสมัยก่อน ก่อนที่จะเป็นถนนท่องเที่ยวสายหลักที่นักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลกมาเยือน
พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก เป็นพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 273 ซอยเจริญกรุง 43 ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้โบราณ และสิ่งต่าง ๆ เพื่อบอกเล่าวิถีชีวิตชาวบางกอกในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี เป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงเรือพระราชพิธีที่ใช้ในกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค อันเป็นพระราชประเพณีเก่าแก่ดังเดิมที่มีมาแต่โบราณ
ศูนย์ประวัติศาสตร์เยาวราช หรือ พิพิธภัณฑ์วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงวิถีชีวิตความเป็นมาของผู้คนในเยาวราช โดยเฉพาะชาวจีนโพ้นทะเลที่อาศัยอยู่ในสำเพ็งในอดีต
บำรุงชาติสาสนายาไทย หรือ บ้านหมอหวาน เป็นร้านขายยาของ หมอหวาน รอดม่วง หมอเชลยศักดิ์ที่มีชีวิตอยู่ในสมัยรัชกาลที่ 5 - 8 (พ.ศ. 2413 - 2488) ตัวอาคารเป็นสถาปัตยกรรมรูปแบบโคโลเนียล สร้างขึ้นตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2467 เป็นร้านขายยาแผนไทยที่สืบทอดกิจการกันมากว่า 4 ชั่วอายุคน สภาพปัจจุบัน ด้านหน้าอาคารยังคงเป็นร้านขายยาไทย ที่ทำการของกิจการหมอหวาน และ พิพิธภัณฑ์อุปกรณ์ทางการแพทย์และเภสัช แผนไทยและแผนตะวันตก ส่วนด้านหลังของอาคารเป็นที่พักอาศัยของทายาทหมอหวาน[13][14]
การล่องเรือ
[แก้]กรุงเทพมหานครในอดีตนั้นมีแม่น้ำลำคลองมากมายหลายสาย จนได้รับฉายาว่า "เวนิสตะวันออก"[15][16][17] คลองจึงเป็นเส้นทางสัญจรที่สำคัญมากของกรุงเทพฯ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่จากการพัฒนาประเทศและการเข้ามาของถนนและรถยนต์ทำให้คลองหลายสายถูกถมเพื่อสร้างเป็นเส้นทางจราจรแก่รถยนต์แทน คลองที่เหลือรอดอยู่จึงเป็นตัวแทนของวิถีชีวิตริมน้ำแบบดั้งเดิมที่ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุค คลองและแม่น้ำบางสายในกรุงเทพฯ สามารถเช่าเรือหรือนั่งเรือเพื่อชมความงามของภูมิทัศน์ริมน้ำได้
การล่องเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ถือเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ บริษัทล่องเรือในแม่น้ำเจ้าพระยามีหลายบริษัทและหลายรูปแบบให้เลือก การล่องเรือในแม่น้ำเจ้าพระยามีสิ่งดึงดูดมากมายไม่ว่าจะเป็น ภูมิทัศน์ริมน้ำอย่าง วัด พระราชวัง สิ่งก่อสร้างและวิถีชีวิตริมแม่น้ำ
วัฒนธรรม
[แก้]พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน บ้านเรือนไทยของจิม ทอมป์สัน ผู้ที่เข้ามาช่วยฟื้นฟูและส่งเสริมอุตสาหกรรมไหมในประเทศไทยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง บ้านของเขาถูกดัดแปลงและปรับเปลี่ยนเป็นพิพิธภัณฑ์หลังจากที่หายตัวไปอย่างลึกลับระหว่างพำนักอยู่ที่มาเลเซีย
บ้านซอยสวนพลู เป็นบ้านไม่ทรงไทยโบราณของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ตั้งอยู่ในเลขที่ 19 ซอยพระพินิจ ซึ่งเป็นซอยย่อยของซอยสวนพลู ถนนสาทรใต้ เขตสาทร ประกอบด้วยเรือนไทยโบราณจำนวน 5 หลัง และเป็นหนึ่งในโบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนโดยกรมศิลปากร
ดูเพิ่ม
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ Talty, Alexandra. "Bangkok Is The Most Visited City in the World...Again". Forbes (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 2020-05-20.
- ↑ Hedrick-Wong, Yuwa; Choog, Desmond (2017). "MasterCard Global Destination Cities Index" (PDF). MasterCard Global Destination Cities Index. MasterCard. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2016-09-24. สืบค้นเมื่อ 9 February 2017.
- ↑ Insider, Business (2018-09-25). "The 20 most visited cities around the world in 2018". Business Insider Singapore (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-10-21. สืบค้นเมื่อ 2018-10-21.
- ↑ Insider, Business (2019-9-05). "The 19 most visited cities around the world in 2019". Business Insider Singapore (ภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน). สืบค้นเมื่อ 2021-03-12.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|date=
(help) - ↑ Hedrick-Wong, Yuwa; Choog, Desmond (2013). "MasterCard Global Destination Cities Index" (PDF). MasterCard Worldwide Insights 2Q 2013. MasterCard. สืบค้นเมื่อ 6 June 2013.
- ↑ "Top 100 Cities Destination Ranking". Euromonitor International. 21 January 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-05-18. สืบค้นเมื่อ 6 June 2013.
- ↑ "Bangkok beats London as world's top travel destination - The Nation". The Nation (ภาษาอังกฤษ). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-09. สืบค้นเมื่อ 2021-03-08.
- ↑ "Internal tourism in Bangkok" (PDF). Department of Tourism. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 7 December 2013. สืบค้นเมื่อ 22 September 2012.
- ↑ "Bangkok: The World's Most Visited City". 4 June 2013. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2013-08-30. สืบค้นเมื่อ 2021-03-08.
- ↑ "Wat Saket, Bangkok". sacred-destinations.com. สืบค้นเมื่อ 2019-01-09.
- ↑ ประวัติวังสวนผักกาด สืบค้นเมื่อ 13 มีนาคม พ.ศ. 2564
- ↑ พระที่นั่งวิมานเมฆ ปิดไม่ให้สาธารณชนเยี่ยมชมแล้ว หลังเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์มานานกว่า 3 ทศวรรษ, website:https://www.bbc.com/ .วันที่ 5 สิงหาคม 2019
- ↑ "เมื่อทายาทรุ่นสี่ของร้านขายยาแผนไทยสไตล์ฝรั่งอายุ 90 ปีบนถนนบำรุงเมือง เปิดบ้านและร้านให้เป็นพิพิธภัณฑ์". museum minds. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2564.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ "พิพิธภัณฑ์บ้านหมอหวาน". พิพิธภัณฑ์บ้านหมอหวาน. สืบค้นเมื่อ 19 มีนาคม 2564.
{{cite news}}
: ตรวจสอบค่าวันที่ใน:|access-date=
(help) - ↑ Bodry, Catherine (2012-08-29). "Travel - Exploring Bangkok's canals : Cruises, Thailand". BBC. สืบค้นเมื่อ 2012-10-29.
- ↑ "Cruising along the Venice of the East". The Jakarta Post. 2009-03-15. สืบค้นเมื่อ 2012-10-29.
- ↑ "Bangkok - Venice of the East". Travelodestination.com. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2018-12-26. สืบค้นเมื่อ 2012-10-29.