กรมการท่องเที่ยว
Department of Tourism | |
ตราเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ | |
ภาพรวมกรม | |
---|---|
ก่อตั้ง | 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 |
กรมก่อนหน้า |
|
ประเภท | ส่วนราชการ |
เขตอำนาจ | ทั่วราชอาณาจักร |
สำนักงานใหญ่ | ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ชั้น 2 เลขที่ 120 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร |
บุคลากร | 435 คน (พ.ศ. 2566) |
งบประมาณต่อปี | 2,367,966,000 บาท (พ.ศ. 2568)[1] |
ฝ่ายบริหารกรม |
|
ต้นสังกัดกรม | กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา |
เว็บไซต์ | เว็บไซต์ของกรม |
กรมการท่องเที่ยว (อังกฤษ: Department of Tourism) เป็นส่วนราชการระดับกรม ในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีหน้าที่เกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวในประเทศไทย ในด้านบริการท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยว ธุรกิจนำเที่ยว มัคคุเทศก์และผู้นำเที่ยว มาตรฐานอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การรักษาความปลอดภัยทางการท่องเที่ยว รวมถึงการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร ให้สอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ กฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กฎหมายว่าด้วยภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสร้างภาพยนตร์ต่างประเทศในราชอาณาจักร และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ประวัติการก่อตั้ง
[แก้]กรมการท่องเที่ยว เดิมชื่อ “สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว” จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545[2] เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 โดยเป็นการถ่ายโอนภารกิจบางส่วนของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และภารกิจด้านภาพยนตร์จากกรมประชาสัมพันธ์ มาไว้ในการดูแลของสำนักงานฯ
ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ให้เปลี่ยนชื่อสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว เป็น “กรมการท่องเที่ยว” ทั้งนี้มีผลตั้งแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว เป็นกรมการท่องเที่ยว พ.ศ. 2553 มีผลบังคับใช้ คือ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2553[3]
ภาพเครื่องหมายราชการของกรมการท่องเที่ยว
[แก้]เครื่องหมายราชการของกรมการท่องเที่ยว เป็นรูปเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งกิ่งรูปโขนเรือเป็นศีรษะหงส์ ยาตรามาในกระบวนพยุหยาตรา โดยชลมารคเทียบท่าฉนวน หน้าวัดอรุณราชวราราม ในดวงสัญลักษณ์ปรากฏเฉพาะโขนเรือพระที่นั่ง อันงามสง่า ปากหงส์ห้อยพวงแก้วและพู่จามรี่ คอหงส์ห้อยมาลัยกรองตาข่ายดอกรักห้อย พวงกลางกรองดอกไม้สด พู่เฟื่องอุบะ การนำโขนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์มาเป็นตราสัญลักษณ์ประทับใจ และรู้จักแพร่หลายกันทั่วโลก ดังที่ประธานองค์การเรือโลกทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลมรดกทางทะเล ขององค์การเรือโลก ประจำปี พ.ศ. 2535 แด่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เบื้องหลังโขนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นรูปพระปรางค์ประธานและปรางค์องค์น้อยบริวาร วัดอรุณราชวรารามก็เป็นที่ชนชาวโลกรู้จักกันแพร่หลาย เช่น อันว่าเป็นสัญลักษณ์แสดงถึงประเทศไทย นอกจากนี้ยังแสดงฝั่งน้ำและพื้นระลอกน้ำของลำน้ำเจ้าพระยาอันเป็นแม่น้ำสายสำคัญ ซึ่งก่อเกิดรากเหง้าแห่งวัฒนธรรมศิลป์ของชาติไทย ล้อมรอบด้วยข้อความภาษาไทยด้านบนมีคำว่า “กรมการท่องเที่ยว” ด้านล่างภาษาอังกฤษมีคำว่า “DEPARTMENT OF TOURISM”
- ลายเส้นต่างขนาดช่วงบน หมายถึง คุณค่าทางศิลปะ ประเพณี วัฒนธรรมอันดีงาม ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมที่บริสุทธิ์ และสวยงาม ซึ่งทำให้การท่องเที่ยวของไทยโดดเด่นในหลาย ๆ มิติ และยังเปรียบเสมือนการปกป้อง คุ้มครอง ดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว ตลอดระยะเวลาในการเดินทางในแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ของประเทศไทย
- ลายน้ำช่วงล่าง หมายถึง พื้นน้ำที่จะนำพาเรือให้ล่องไปทุก ๆ ที่ของประเทศไทยที่มีความงาม ล้วนแต่เป็นแหล่งท่องเที่ยว และบริการท่องเที่ยวที่มีคุณภาพมาตรฐาน ใครได้มาแล้วจะต้องกลับมาเที่ยวอีก
- สีทอง หมายถึง ความมีคุณค่า ความสง่างาม มั่งคั่ง มั่งมี อบอุ่น เป็นมิตร สร้างสรรค์ นักคิดค้น ประดิษฐ์สิ่งใหม่ ๆ อิสระ ความเมตตา อันแสดงถึงอัตลักษณ์ และ ความเจริญรุ่งเรืองของประเทศไทย
- สีขาว หมายถึง แสงสีขาวจากดวงอาทิตย์เปรียบเสมือนกรมการท่องเที่ยว เป็นความหมายที่แสดงให้เห็นถึงความมีอำนาจ การพัฒนาการท่องเที่ยวทำให้นักท่องเที่ยวมองเห็นแล้วมีความรู้สึกต่าง ๆ ตามอิทธิพลของสิ่งสร้างสรรค์ เกี่ยวกับวิถีชีวิตของมนุษย์ ความสวยงาม กลมกลืน การจัดกลุ่ม การสื่อความหมาย ความช่วยเหลือ ความบริสุทธิ์ สะอาด ความถูกต้อง การสร้างสรรค์งานพัฒนา สร้างบรรยากาศ และการเปลี่ยนแปลง
- สีฟ้า หมายถึง การท่องเที่ยวที่สุขสบาย มีชีวิตชีวา ความสวยงาม โปร่งใส สะอาด ปลอดภัย ความเป็นอิสระ เสรีภาพ การช่วยเหลือ แบ่งปัน และความสนุกสนาน ในบรรยากาศที่สดใส
- สีเขียว หมายถึง ธรรมชาติที่บริสุทธิ์ สิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ สวยสดงดงาม ให้ความรู้สึกที่สงบ งอกงาม สดชื่น เงียบ ร่มรื่น ร่มเย็น การพักผ่อน ผ่อนคลาย ปลอดภัย ความสุข ความสุขุมเยือกเย็น
- สีน้ำเงิน หมายถึง ประชาชนคนไทยมีอัธยาศัยไมตรีที่ดี มีความซื่อสัตย์ ความรู้สึกสงบ เป็นเจ้าบ้านที่ดี ความมั่นคง ความสม่ำ เสมอ เสถียรภาพ ความแน่นอน ความแข็งแรง ความเป็นผู้นำ ความเย็น ความสบาย ความไว้วางใจ คลาสสิก
อักษรย่อส่วนราชการ
[แก้]กรมการท่องเที่ยว ใช้อักษรย่อว่า “กทท.”
DEPARTMENT OF TOURISM ใช้อักษรย่อว่า “DOT.”
“DOT.” หมายถึง จุดหลาย ๆ จุดต่อเรียงกันก็จะเป็นเส้นตรง การทำให้บางสิ่งบางอย่างเจริญเติบโตขึ้นได้ก็จะต้องเกิดจากจุด จุดต่าง ๆ เหล่านี้ สามารถนำมาสร้างสรรค์เป็นพื้นฐาน เพื่อป้องกันมิให้ส่วนต่อยอดขึ้นไปนั้นสั่นคลอน จุดเป็นหลักเพื่อควบคุมส่วนประกอบ หรือสาขา จุดถูกใช้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่เรื่องใกล้ตัว ไปจนถึงการพัฒนาความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมือง และอารยธรรมของมนุษยชาติ ดังนั้น จุดศูนย์กลางเล็ก ๆ นี้ สามารถสร้างสรรค์จินตนาการให้แผ่ขยายออกไปได้อย่างกว้างขวาง
การแบ่งส่วนราชการ
[แก้]กรมการท่องเที่ยว แบ่งส่วนราชการออกเป็น 6 หน่วยงาน ได้แก่
- สำนักงานเลขานุการกรม
- กองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ
- กองทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์
- กองพัฒนาบริการท่องเที่ยว
- กองพัฒนามาตรฐานบุคลากรด้านการท่องเที่ยว
- กองพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว[4]
สถานที่ตั้ง
[แก้]กรมการท่องเที่ยว เดิมมีที่ทำการตั้งอยู่เลขที่ 154 สนามกีฬาแห่งชาติ ถนนพระราม 1 แขวงวังใหม่ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร 10330 ปัจจุบันได้ย้ายที่ทำการมายัง ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ชั้น 2 เลขที่ 120 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร 10210 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563[5]
กรมการท่องเที่ยว มีสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ มีหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลธุรกิจนำเที่ยว มัคคุเทศก์ และผู้นำเที่ยว ภายในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ดังนี้
- สำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ สาขากรุงเทพมหานคร สำนักงานตั้งอยู่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคาร B) ชั้น 2 เลขที่ 120 หมู่ 3 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร รับผิดชอบในเขตกรุงเทพมหานคร กาญจนบุรี ชัยนาท นครนายก นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา เพชรบุรี ราชบุรี ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง และอุทัยธานี
- สำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์สาขาภาคตะวันออก (จังหวัดชลบุรี) สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 168/3 หมู่ที่ 1 ตำบลเสม็ด อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี รับผิดชอบในเขตจังหวัดชลบุรี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด ปราจีนบุรี ระยอง และสระแก้ว
- สำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์สาขาภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่) สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 414/20 -21 หมู่บ้านเชียงใหม่แลนด์ ถนนช้างคลาน ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ รับผิดชอบในเขตจังหวัดเชียงใหม่ กำแพงเพชร เชียงราย ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย และอุตรดิตถ์
- สำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์สาขาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดนครราชสีมา) สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 539 หมู่ 2 ตำบลบ้านเกาะ อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา รับผิดชอบในเขตจังหวัดนครราชสีมา กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม บึงกาฬ บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี และอุบลราชธานี
- สำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์สาขาภาคใต้ 1 (จังหวัดสุราษฎร์ธานี) สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 248/1 ถนนดอนนก ตำบลมะขามเตี้ย อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี รับผิดชอบในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี ชุมพร นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พัทลุง ยะลา สตูล และสงขลา
- สำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์สาขาภาคใต้เขต 1 สาขาย่อยหาดใหญ่ (จังหวัดสงขลา) สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 151/38 หมู่ที่ 4 ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา รับผิดชอบในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์สาขาภาคใต้ 1[6]
- สำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์สาขาภาคใต้ 2 (จังหวัดภูเก็ต) สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 63/710 ถนนวิรัชหงษ์หยก ตำบลวิชิต อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต รับผิดชอบในเขตจังหวัดภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา และระนอง[7]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๘, เล่ม ๑๔๑ ตอนที่ ๕๙ ก หน้า ๑๔, ๓๐ กันยายน ๒๕๖๗
- ↑ "พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๕" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2011-11-12. สืบค้นเมื่อ 2010-06-21.
- ↑ พระราชกฤษฎีกา เปลี่ยนชื่อสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว เป็นกรมการท่องเที่ยว พ.ศ. ๒๕๕๓
- ↑ กฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พ.ศ. ๒๕๕๙
- ↑ ประกาศกรมการท่องเที่ยว เรื่อง การย้ายที่ทำการกรมการท่องเที่ยวและเปลี่ยนแปลงหมายเลขโทรศัพท์[ลิงก์เสีย]
- ↑ "กำหนดสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ สาขาภาคใต้เขต 1 (สาขาย่อยหาดใหญ่) พ.ศ. 2563". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2021-01-17. สืบค้นเมื่อ 2021-02-01.
- ↑ ประกาศแจ้งย้ายสำนักงานทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์สาขา 5 สาขา จะดำเนินการย้ายที่ทำการสำนักงานไปยังที่ทำการแห่งใหม่ ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นต้นไป[ลิงก์เสีย]