แม่น้ำประแสร์
แม่น้ำประแสร์ แม่น้ำประแส, แม่น้ำกระแส, คลองประแสร์, คลองประแส, คลองกระแส, คลองวังรี, คลองใหญ่, คลองสะพานดำ, คลองสามย่าน | |
---|---|
แม่น้ำประแสร์ในเขตตำบลเนินฆ้อ (ซ้ายมือ) และตำบลปากน้ำกระแส (ขวามือ) อำเภอแกลง จังหวัดระยอง | |
ที่ตั้ง | |
ประเทศ | ไทย |
จังหวัด | ชลบุรี, ระยอง |
ลักษณะทางกายภาพ | |
ต้นน้ำ | เขาช่องลม |
• ตำแหน่ง | ตำบลพลวงทอง อำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี |
ปากน้ำ | ปากน้ำประแสร์ |
• ตำแหน่ง | ตำบลปากน้ำกระแส อำเภอแกลง จังหวัดระยอง |
• พิกัด | 12°41′44.1″N 101°42′10.6″E / 12.695583°N 101.702944°E |
ความยาว | 117 กิโลเมตร (73 ไมล์) |
ลุ่มน้ำ | |
ระบบแม่น้ำ | ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก |
ลำน้ำสาขา | |
• ซ้าย | คลองหินคม, คลองหลอด, คลองน้ำเขียว, คลองตาไค้, คลองไผ่เหนือ, คลองหวาย, คลองขุด, คลองโพล้, คลองรำแพน |
• ขวา | คลองตาเพชร, คลองวังรี, คลองเขาบ่อทอง, คลองตะเคียน, คลองสิบแปด, คลองสะพาน, คลองไผ่ใต้, คลองสอง, คลองห้วยกรวด, คลองจำกา, คลองตาปิ่น, คลองทาสีแก้ว, คลองชายสูง |
แม่น้ำประแสร์ เดิมชื่อ แม่น้ำแกลง[1] เป็นแม่น้ำสายสำคัญสายหนึ่งของจังหวัดระยอง มีต้นกำเนิดจากบริเวณเขาช่องลมในเขตอำเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี ไหลไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือแล้ววกลงทิศใต้ จากนั้นไหลเป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอบ่อทองกับอำเภอหนองใหญ่ก่อนเข้าเขตจังหวัดระยอง ผ่านอำเภอวังจันทร์ ไหลเป็นเส้นแบ่งเขตอำเภอวังจันทร์กับอำเภอแกลง ผ่านอำเภอแกลง แล้วไหลลงสู่อ่าวไทยที่ปากน้ำประแสร์ (ปากน้ำกระแส) มีความยาวประมาณ 117 กิโลเมตร[2] มีชื่อเรียกเป็นตอน ๆ ตั้งแต่ต้นน้ำคือ คลองประแสร์ คลองกระแส คลองวังรี (บางตอน) คลองใหญ่ คลองประแสร์ คลองสะพานดำ คลองสามย่าน และแม่น้ำประแสร์ บริเวณใกล้กับปากแม่น้ำมีสะพานประแสสินทอดข้าม มีความยาว 2,090 เมตร[3]
ชื่อแม่น้ำ "ประแสร์" บ้างว่าเพี้ยนมาจากคำว่า กระแส ซึ่งหมายถึงกระแสน้ำจืดที่ไหลมาปะทะน้ำเค็มที่ปากแม่น้ำ แต่บ้างก็ว่าเพี้ยนมาจากคำในภาษาชองว่า พรี่แซ ซึ่งแปลว่า "ป่านา" คือป่าที่ถางแล้วและใช้ปลูกข้าว[4]
ชุมชนปากน้ำประแสร์มีความเป็นเมืองมาตั้งแต่สมัยอยุธยา ในสมัยนั้นได้ส่งส่วยเป็นของป่าและผลผลิตหัตถกรรมให้แก่เมืองหลวง บริเวณใกล้กับชุมชนยังเป็นเส้นทางการเดินทัพตลอดจนเป็นที่พักทัพของพระยาตาก[5] ในปัจจุบันบริเวณปากน้ำประแสร์เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชาวประมง ฝั่งขวามีวัดสมมติเทพฐาปนาราม (วัดแหลมสน) ซึ่งมีเจดีย์เก่าแก่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2416 และมีหาดแหลมสนเป็นหาดทรายที่ยื่นออกไปคล้ายแหลม ส่วนฝั่งซ้ายเป็นบ้านตลาดประแสร์ซึ่งเป็นชุมชนใหญ่ มีบ้านเรือนหนาแน่น[6] และมีเรือรบหลวงประแสซึ่งเทศบาลตำบลปากน้ำประแสขอรับมาตั้งเป็นอนุสรณ์ที่หาดประแสร์ใน พ.ศ. 2546[7] ประชากรที่อาศัยในชุมชนมีทั้งชาวไทยและชาวจีน ชุมชนมีประเพณีลอยกระทง และยังมีประเพณีทอดผ้าป่ากลางน้ำซึ่งมีความสำคัญและมีความแปลกตากว่าพื้นที่อื่น โดยเป็นประเพณีที่มีมานานกว่า 100 ปีแต่หายไปช่วงหนึ่ง จนกระทั่งได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาอีกครั้งตั้งแต่ พ.ศ. 2540[8]
อ้างอิง
[แก้]- ↑ กำพล จำปาพันธ์. "ราย็อง (ระยอง) : เมืองชองบนเส้นทางอารยธรรมฝั่งทะเลตะวันออก". p. 10.
- ↑ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา. อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย เล่ม ๓ (อักษร น-ม) ฉบับราชบัณฑิตยสภา. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ : สำนักงานราชบัณฑิตยสภา, 2560.
- ↑ "Routes to ระยองลองไปแล้วจะรู้". Ministry Of Tourism & Sports. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-12. สืบค้นเมื่อ 2022-10-12.
- ↑ "ประแสร์".
- ↑ "ข้อมลพื้นฐานและพัฒนาการของชุมชนปากน้ำประแส" (PDF). คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 2022-10-12. สืบค้นเมื่อ 2022-10-12.
- ↑ "ปากน้ำประแสร์". องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง.
- ↑ "สุดอันซีน "7 จุดเช็คอินปากน้ำประแส" ชวนหลงใหลมนต์เสน่ห์แห่งระยอง". ผู้จัดการออนไลน์.
- ↑ "ชุมชนปากน้ำประแส". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-10-12. สืบค้นเมื่อ 2022-10-12.