คลองท่าลาด

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คลองท่าลาด
แม่น้ำบางปะกงช่วงปากน้ำโจ้โล้ ที่คลองท่าลาดไหลมาบรรจบ
ตำแหน่งอำเภอพนมสารคาม, อำเภอราชสาส์น และอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา
ประเทศประเทศไทย
พิกัด13°44′39″N 101°20′51″E / 13.7443°N 101.3475°E / 13.7443; 101.3475
ข้อมูลจำเพาะ
ความยาว47 กิโลเมตร (29 ไมล์)
ข้อมูลภูมิศาสตร์
จุดเริ่มต้นบ้านปากระบม คลองสียัดและคลองระบมมาบรรจบกัน
จุดสิ้นสุดปากน้ำโจ้โล้
พิกัดต้นทาง13°41′56″N 101°25′56″E / 13.6988°N 101.4322°E / 13.6988; 101.4322
พิกัดปลายทาง13°44′26″N 101°12′36″E / 13.7406°N 101.2101°E / 13.7406; 101.2101
สาขา • คลองสียัด
 • คลองระบม
เชื่อมต่อกับแม่น้ำบางปะกง

คลองท่าลาด เป็นคลองธรรมชาติในจังหวัดฉะเชิงเทรา เกิดจากคลองสาขาคือคลองสียัดและคลองระบม[1] ไหลมารวมกันที่ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม ไหลผ่านอำเภอราชสาส์น ไปลงแม่น้ำบางปะกงในบริเวณที่เรียกว่า "ปากน้ำโจ้โล้" หรือ "ปากน้ำเจ้าโล้" ในตำบลปากน้ำ อำเภอบางคล้า มีความยาว 47 กิโลเมตร[2]

ประวัติ[แก้]

บริเวณปากน้ำโจ้โล้เป็นชุมชนโบราณเป็นที่ตั้งชุมชนเมือง ในอดีตมีอำนาจควบคุมทรัพยากรตลอดลำน้ำท่าลาดเชื่อมโยงถึงบริเวณคลองระบมและคลองสียัด เป็นชุมชนเมืองการค้าของป่า มีเรือพ่อค้าจีนและพ่อค้าอื่น ๆ จอดเรียงรายอย่างคับคั่ง[3] มีประวัติศาสตร์ระบุว่าพระยาตากตีฝ่าวงล้อมของพม่าออกจากกรุงศรีอยุธยา ได้เดินทัพผ่านแขวงเมืองนครนายก แขวงเมืองปราจีนบุรี และมาปะทะกับพม่าบริเวณปากน้ำโจ้โล้ กองกำลังพระยาตากรบชนะพม่าซึ่งมีกำลังเหนือกว่าและได้หยุดพักรี้พลบริเวณนี้[4]

ตลอดแนวคลองท่าลาดปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีมากมายที่เป็นการยืนยันได้ถึงความเป็นชุมชนขนาดใหญ่มาตั้งแต่ก่อนสมัยอยุธยา ได้แก่ หลัง พ.ศ. 1000 มีชุมชนบ้านเมืองโบราณหลายแห่งตั้งแต่บ้านเกาะขนุนถึงบ้านท่าเกวียน เป็นต้น[5] เป็นเมืองโบราณที่มีอายุร่วมสมัยทวารวดี นอกจากนั้นบริเวณปากน้ำโจ้โล้ยังเคยเป็นที่ตั้งของเมืองฉะเชิงเทราก่อนที่จะมีการสร้างเมืองใหม่เมื่อ พ.ศ. 2377[6]

ในปัจจุบันพื้นที่บริเวณลุ่มคลองท่าลาดประกอบอาชีพทำการเกษตร มีการกระจุกตัวของโรงงานอุตสาหกรรมในตำบลพนมสารคาม ตำบลเขาหินซ้อน และตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม[6]

ฝายท่าลาด[แก้]

คลองท่าลาด มีการผันน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานผ่านฝายท่าลาด ดูแลโดย ฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 3 โครงการชลประทานฉะเชิงเทรา สำนักงานชลประทานที่ 9 กรมชลประทาน ผันน้ำด้วยการก่อสร้างอาคารฝายปิดกั้นลำน้ำเพื่อเบี่ยงทิศทางการไหลของน้ำไปยังคลองชลประทานส่งน้ำสายหลัก ซึ่งมีความยาวรวม 44.9 กิโลเมตร ทำหน้าที่ส่งน้ำไปยังพื้นที่ชลประทานพื้นที่ 160,125 ไร่ ซึ่งอยู่ในจังหวัดฉะเชิงเทรา 5 อำเภอ และจังหวัดชลบุรี 1 อำเภอ ประกอบไปด้วยกลุ่มผู้ใช้น้ำชลประทานพื้นฐาน 139 กลุ่ม กลุ่มบริหารการใช้น้ำชลประทาน 33 กลุ่ม อาศัยน้ำต้นทุนมาจากอ่างเก็บน้ำคลองระบบ และอ่างเก็บน้ำคลองสียัด ใช้เวลาในการส่งน้ำจากต้นคลองส่งน้ำหลักไปยังปลายคลองระยะเวลา 4 ชั่วโมง[7]

อ้างอิง[แก้]

  1. "ระบบนิเวศแหล่งน้ำในแผ่นดิน". สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2022-07-11. สืบค้นเมื่อ 2022-09-11.
  2. คำค้นหา ท่าลาด ใน "อักขรานุกรมภูมิศาสตร์ไทย". สำนักงานราชบัณฑิตยสภา.
  3. สุจิตต์ วงษ์เทศ. "พระเจ้าตาก รบพม่า 'ท่าข้าม' อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา". มติชนสุดสัปดาห์.
  4. "อนุสรณ์สถานพระสถูปเจดีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช". การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.).
  5. สุจิตต์ วงษ์เทศ. "ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นพนมสารคาม".
  6. 6.0 6.1 "โครงการบริหารจัดการนิเวศลุ่มน้ำบางปะกง เล่ม 15 : บทเรียนท้องถิ่น \"ลุ่มน้ำคลองท่าลาด แหล่งเรียนรู้มีชีวิต". สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
  7. "ที่มา... มหากาพย์ฝายท่าลาด". www.kaset1009.com.