ข้ามไปเนื้อหา

มาริษา อมาตยกุล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
มาริษา อมาตยกุล
สารนิเทศภูมิหลัง
เกิด22 ตุลาคม พ.ศ. 2482 (84 ปี)
มาริษา อมาตยกุล
จังหวัดธนบุรี ประเทศไทย
คู่สมรสประสงค์ ธรรมฐิติ
(2505 - 2545)
อาชีพทหารเรือ
นักแสดง
นักร้อง
ปีที่แสดงพ.ศ. 2501 - ปัจจุบัน
สังกัดวงดนตรีสุนทราภรณ์
วงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์

จ่าตรีหญิง มาริษา อมาตยกุล หรือ นางมาริษา ธรรมฐิติ นักร้องวงสุนทราภรณ์ เจ้าของเสียงเพลง "ริมฝั่งน้ำ" กับทรงผม "สวอน" ที่ผู้ชมจดจำคุ้นเคยตลอดมากว่า 60 ปี

ประวัติ

[แก้]

เกิดที่ฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2482 มีพี่น้อง 5 คน มีชื่อเล่นว่า แต๋ว เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนสตรีวรนาถและเรียนต่อที่โรงเรียนสตรีวิทยา

ชีวิตนักร้อง

[แก้]

มาริษา ชื่นชอบการร้องเพลงของสุนทราภรณ์เป็นพิเศษ โดยเฉพาะเพลงของมัณฑนา โมรากุลที่กำลังมีชื่อเสียงมากในขณะนั้น เธอจึงมักชอบครวญเพลงขับกล่อมคลายเหงาในยามปฏิบัติหน้าที่และยามว่างเว้นภารกิจ เพราะทุกวินาทีในคราบเครื่องแบบทหารรั้วของชาติ มาริษาไม่เคยละทิ้งฝันแห่งความตั้งใจที่อยากเป็นส่วนหนึ่งของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์หรือวงดนตรีสุนทราภรณ์เลย

ขณะรับราชการที่กรมยุทธการทหารเรือ ติดยศจ่าตรี กองทัพเรือเล็งเห็นแววความสามารถ จึงส่งเธอเข้าประกวดร้องเพลงในรายการไนติงเกลทางโทรทัศน์ช่อง 7 เมื่อ พ.ศ. 2501 มาริษาเลือกขับร้องเพลงเสียงกระซิบจากเกลียวคลื่น ซึ่งเธอก็ไม่ได้รางวัลจากการประกวดเลยแต่การเข้าประกวดในครั้งนี้ทำให้มาริษามีโอกาสได้พบกับ ครูแก้ว อัจฉริยะกุล เพื่อนสนิทของครูเอื้อ สุนทรสนาน ครูแก้วจึงนำเธอไปฝากเข้าวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ โดยที่ครูเอื้อไม่ได้ให้มาริษาร้องเพลงทดสอบเลย มาริษาอยู่ในโครงการ "ดาวรุ่งพรุ่งนี้" ร่วมกับบุษยา รังสี และ อ้อย อัจฉรา ขณะที่ผู้ใหญ่ในกองทัพเรือคัดค้านด้วยความห่วงใย

หลังจากได้ทำงานที่กรมประชาสัมพันธ์และวงดนตรีสุนทราภรณ์ มาริษาได้รับเลือกให้ร้องเพลงรอคำรักร้องออกงานต่างๆ แต่ตอนบันทึกเสียงครูเอื้อได้มอบเพลงนี้ให้รวงทอง ทองลั่นธมนักร้องสุนทราภรณ์รุ่นพี่บันทึกแทน และนำเพลงพี่รักจริงให้มาริษาบันทึกเสียงเป็นเพลงแรกแทน มาริษาโด่งดังอย่างสุดขีดเมื่อได้บันทึกเสียงเพลงจังหวะรุมบ้าชื่อ ริมฝั่งน้ำ(ต้นฉบับโดย ชวลีย์ ช่วงวิทย์)​ ซึ่งกลายเป็นงานสร้างชื่อเสียง เมื่อมีการเปิดเพลงดังกล่าวตามสถานีวิทยุต่างๆ

มาริษามีน้ำเสียงที่เข้มแข็งแกมหวาน ต่างจากนักร้องหญิงในยุคนั้น จึงมักได้รับเลือกให้ร้องเพลงทำนองออกสากลหรือเพลงแนวจังหวะไมเนอร์ แนวโรแมนติก เช่น เพลงยัง เพลงเกาะสมุย เพลงเดือนหงาย เพลงสาส์นสวาท เพลงคลื่นกรรม เพลงหนี้รัก และด้วยความชื่นชอบเสียงของมัณฑนา โมรากุลมาก จึงมักได้เพลงเก่าๆที่มัณฑณาขับร้องไว้นำมาบันทึกเสียงใหม่ เช่น สาริกาชมเดือน รักอะไร สร้างระเบียบ เสียงดุเหว่า ชมดอกฟ้า บ้านแสนสุข นอกจากน้ำเสียงที่ไพเราะแล้วสิ่งหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ประจำตัวของเธอ คือ ผมทรงสวอนซึ่งเป็นที่จดจำของบรรดาแฟนเพลงมาจนถึงทุกวันนี้

หลังจากที่สิ้นเสาหลักอย่างครูเอื้อ สุนทรสนานไป เหล่าเพื่อนพ้องน้องพี่ ต่างอำลาชีวิตข้าราชการไป แต่มาริษายังยืนหยัดรับราชการอยู่ที่กรมประชาสัมพันธ์ กระทั่งได้ดำรงตำแหน่ง ผอ.ส่วนบริหารการดนตรีก่อนเกษียณอายุข้าราชการในปี 2543 ซึ่งในขณะรับราชการมาริษาได้มีส่วนร่วมในการจัดคอนเสิร์ต "เสียงสวรรค์วันประชา" ที่เชื้อเชิญเหล่านักร้องรุ่นเก่าลายครามกลับคืนสู่เวที เพื่อหารายได้มอบให้ทายาทครอบครัวศิลปิน ถือเป็นความภาคภูมิใจส่วนหนึ่งที่เธอได้มีโอกาสช่วยเหลือพี่น้องศิลปินด้วยกัน

ชีวิตส่วนตัว

[แก้]

มาริษาสมรสกับ นายประสงค์ ธรรมฐิติ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2505 มีบุตรหนึ่งคน ชื่อ ปัทมา ธรรมฐิติ มาริษายังมีหลานชายที่อยู่ในวงการนักร้องด้วยกัน คือ ตู้ ดิเรก อมาตยกุล

ตัวอย่างผลงาน

[แก้]

ผลงานการแสดง

[แก้]

ผลงานเพลง

[แก้]

ริมฝั่งน้ำ , ฝนตั้งเค้า , เดือนหงาย , เพียงปลายก้อย , เกาะสมุย , รักอะไร , อยากมีรักหวาน , สาริกาชมเดือน , หงส์สะบัดบาป , กรงที่ขังใจ , ประชดอารมณ์ , ยัง , อย่าทำให้ช้ำอีกเลย , สาส์นสวาท , นี่หรือเธอรัก , หนี้รัก , คลื่นกรรม , รักหนึ่งในดวงใจ , ตลุงเสดสา , อี่นาย , สร้างระเบียบ , รักที่หวัง , กลางวันจันทร์จาก , เดือนโกง , ยากใจ , สาริกาชมเดือน, รักที่หวัง, นี่หรือเธอรัก, คุณขาอย่าลวง, พี่รักจริง (คู่ สมศักดิ์ เทพานนท์) , บ้านนาราตรี (คู่ สมศักดิ์ เทพานนท์) , รื่นเริงใจ (ร่วมกับ ศรีสุดา รัชตะวรรณ วรนุช อารีย์) ไร้รักไร้ผล (ร่วมกับ ศรีสุดา รัชตะวรรณ วรนุช อารีย์) , สามนัด (ร่วมกับ เลิศ ประสมทรัพย์,ศรีสุดา รัชตะวรรณ,วรนุช อารีย์) ดำเนินทราย ร้องคู่กับวินัย จุลบุษปะ ต้นฉบับมัณฑนา โมรากุล,วินัย จุลบุษปะ เป็นต้น ฯลฯ[1]

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]