บุษยา รังสี
บุษยา รังสี | |
---|---|
![]() จากปกแผ่นเสียงเพลง "รักที่ต้องมนตรา" และเป็นภาพหน้าศพขณะบำเพ็ญกุศลศพเมื่อเดือน ก.พ.2553 | |
สารนิเทศภูมิหลัง | |
เกิด | 13 สิงหาคม พ.ศ. 2483 มานี ทัพพะรังสี |
เสียชีวิต | 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 (69 ปี) กรุงเทพมหานคร |
คู่สมรส | พลเรือโทชูชาติ เกษเสถียร |
ปีที่แสดง | พ.ศ. 2502 - 2552 |
ผลงานเด่น | น้ำตาดาว ฝนหยาดสุดท้าย ฝากหมอน ฝากรัก |
บุษยา รังสี (13 สิงหาคม พ.ศ. 2483 - 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553) เป็นนักร้องรุ่นกลางของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์และวงดนตรีสุนทราภรณ์
เจ้าของเสียงเพลงน้ำตาดาว, กระซิบสวาท, ฝนหยาดสุดท้าย, ลาภูพิงค์, ฝากหมอน, ฝากรัก, เรือมนุษย์, ชีวิตวอลทซ์, ปาฏลีอธิษฐาน และเพลงสถาบันอีกมากมาย
ประวัติ[แก้]
บุษยา รังสี หรือชื่อจริงว่า มานี ทัพพะรังสี ชื่อเล่น ต้อย เป็นบุตรสาวของพระยานราทรพิรัญรัฐ (เยื้อน ทัพพะรังสี) และเสงี่ยม ทัพพะรังสี เกิดเมื่อ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2483 ที่จังหวัดสงขลา จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้อนุปริญญาทางพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
ในโลกเพลง[แก้]
เริ่มเป็นนักร้องประจำวงพณิชยการพระนคร เมื่อครั้งศึกษาอยู่ที่พณิชยการพระนคร และยังช่วยร้องให้วงดนตรีโรงเรียนนายเรือ ณ สถานีวิทยุ อ.ส.ในสวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตด้วยก่อนเป็นนักร้องวงสโมสรมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ที่วงดนตรีโรงเรียนนายเรือ ณ สถานีวิทยุ อ.ส. ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงดนตรีร่วมด้วยนั้น ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้เข้าเฝ้า และได้ฟังเสียงเธอร้องเพลง "สำคัญที่ใจ" คู่กับ เทอด วรรธนา (ผู้แต่งคำร้องเพลง ครวญถึงเจ้า) เลยชวนให้ไปร้องเพลงด้วยกัน แต่ด้วยยังห่วงเรียนจึงปฏิเสธไป
เมื่อเรียนอยู่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ร่วมร้องเพลงกับวงสุนทราภรณ์เมื่อวงไปบรรเลงที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2502 ในขณะเรียนอยู่ชั้นปีที่ 1 โดย ชอุ่ม ปัญจพรรค์ ตั้งชื่อให้ว่า "ทัดดาว บุษยา" แต่ ครูเอื้อ สุนทรสนานให้ใช้ชื่อว่า "บุษยา " เมื่อเข้ามาอยู่ในวงดนตรีสุนทราภรณ์แล้ว ต่อมาได้ออกทีวีครั้งแรกด้วยชื่อ "บุษยา รังสี" เป็นที่รู้จักกันตั้งแต่นั้นมา
เคยรับราชการ กรมบัญชีกลางอยู่ระยะหนึ่งควบคู่ไปกับการร้องเพลง ก่อนลาออกมารับราชการที่กรมประชาสัมพันธ์จนเมื่อครูเอื้อ สุนทรสนานเกษียณอายุราชการ จึงได้ออกมาร้องเพลงไทยสากลอยู่ระยะหนึ่ง เพลงที่เป็นที่รู้จักกันดี ได้แก่ ฝั่งหัวใจ ต่อมาได้ติดตามสามี (พลเรือโทชูชาติ เกษเสถียร) ไปอยู่ต่างประเทศระยะหนึ่ง เมื่อกลับมาเมืองไทยได้ร้องเพลงให้กับวงดนตรีสุนทราภรณ์และวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ในงานการกุศลต่าง ๆ เป็นครั้งคราว แต่หยุดร้องเพลงไปนานกว่า 15 ปี จนกระทั่งถึงแก่กรรมด้วยเหตุผลทางสุขภาพ
ผลงาน[แก้]
เพลงแรกที่ทำชื่อเสียงและได้บันทึกแผ่นเสียง คือ "น้ำตาดาว "
ส่วนเพลงอื่นๆ ที่สร้างชื่อเสียง ได้แก่ โดมในดวงใจ ,กระซิบสวาท ,สั่งไทร ,ลาภูพิงค์ ,พุทธศาสน์คู่ไทย ,ฝากหมอน ,แนวหลัง ,โดมร่มใจ ,แดนนภา ,ถึงพี่ ,จำจากโดม ,พอกันที ,ถึงอย่างไรก็ไม่เหมือนเดิม ,ลาแล้วแดนขจี ,อาลัยร่มพฤกษ์ ,ลาดงตาล และเพลงลาของสถาบันต่างๆ ทำให้ได้ฉายาว่า'ราชินีเพลงสถาบัน'
มรณกรรม[แก้]
เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 นอนหลับไปแล้วไม่ตื่นที่บ้านพักของตนเอง หลังจากมีอาการเนื้องอกในสมองมานานหลายปี มิใช่ป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้อย่างที่เป็นข่าว[1]
อ้างอิง[แก้]
- ↑ กระทู้ขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของคุณบุษยา รังสี บ้านคนรักสุนทราภรณ์ http://www.websuntaraporn.com/suntaraporn/board/posting.asp?GID=4225
ประวัติบุษยา รังสี จากบ้านคนรักสุนทราภรณ์ http://www.websuntaraporn.com/suntaraporn/template/readtext.asp?HID=37