ข้ามไปเนื้อหา

เหตุการณ์พายุหมุนนาร์กิส พ.ศ. 2551

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
พายุหมุนนาร์กิสอันมีความรุนแรงระดับสูง
พายุไซโคลนกำลังแรงอย่างมาก (IMD)
พายุไซโคลนเขตร้อนระดับ 4 (SSHWS)
พายุนาร์กิสเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ขณะนั้นมีความแรงในระดับ 2
พายุนาร์กิสเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ขณะนั้นมีความแรงในระดับ 2
พายุนาร์กิสเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ขณะนั้นมีความแรงในระดับ 2
ก่อตัว 27 เมษายน พ.ศ. 2551
อ่าวเบงกอล ประเทศอินเดีย
สลายตัว 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2551
ชายแดนประเทศพม่ากับไทย
ความเร็วลม
สูงสุด
เฉลี่ยลมใน 3 นาที:
165 กม./ชม. (105 ไมล์/ชม.)
เฉลี่ยลมใน 1 นาที:
215 กม./ชม. (135 ไมล์/ชม.)
ความกดอากาศต่ำสุด 962 เฮกโตปาสกาล (มิลลิบาร์ 28.41 นิ้วปรอท)
ผู้เสียชีวิต เสียชีวิต ≥146,000 (เป็นทางการ)
สูญหาย ~54,000 ราย
ความเสียหาย 10 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ค่าเงินปี 2008)
10.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2006)
พื้นที่ได้รับ
ผลกระทบ
บังกลาเทศ พม่า อินเดีย ศรีลังกา
ส่วนหนึ่งของ
ฤดูพายุไซโคลนมหาสมุทรอินเดีย พ.ศ. 2551

เหตุการณ์พายุหมุนนาร์กิส พ.ศ. 2551 เป็นเหตุการณ์ที่พายุหมุนนาร์กิสอันเป็นพายุลูกแรกตามฤดูพายุกระหน่ำมหาสมุทรอินเดียตอนเหนือ พ.ศ. 2551 พัดผ่านดินแดนแถบมหาสมุทรดังกล่าวเมื่อปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2551 ซึ่งก่อภาวะมหันตภัยทุกบริเวณโดยเฉพาะในพม่าปรากฏรายงานผู้เสียชีวิตกว่าสองหมื่นคนและผู้สูญหายกว่าสี่หมื่นคน อย่างไรก็ดี รัฐบาลพม่าไม่ได้ใส่ใจแก้ไขสถานการณ์เท่าที่ควร ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และความพยายามจากหลายฝ่ายที่จะเปลี่ยนใจรัฐบาลพม่า

ผลกระทบจากพายุหมุนนาร์กิส

[แก้]

อ่าวเบงกอลฝั่งตะวันตก

[แก้]
ภาวะฝนตกจากพายุหมุนนาร์กิส ตรวจวัดโดยคณะตรวจวัดปริมาณฝนตกในเขตร้อนแห่งองค์การนาซา (Tropical Rainfall Measuring Mission)

พายุหมุนนาร์กิสได้ก่อให้เกิดภาวะฝนตกหนักในประเทศศรีลังกา ส่งผลให้เกิดภาวะน้ำท่วม และภาวะดินถล่ม ระหว่างตำบลกว่าสิบตำบลในศรีลังกา โดยตำบลรัตนปุระ และตำบลเคกัลเล ได้รับผลกระทบมากที่สุด กว่าสามพันครอบครัวในตำบลดังกล่าวบ้านแตกสาแหรกขาด บ้านเรือนหลายพันหลังจมน้ำ อีกยี่สิบเอ็ดหลังถูกทำลายไปโดยอำนาจแห่งพายุ ชาวศรีลังกาสี่พันห้าร้อยคนกลายเป็นผู้ไร้บ้าน[1] และกว่าสามหมื่นห้าพันคนถูกทอดทิ้งอยู่บนเกาะ ซึ่งในจำนวนคนบนเกาะนี้ หนังสือพิมพ์อุบาลี (Upali Newspaper) แห่งบังกลาเทศรายงานว่า ได้รับบาดเจ็บสาหัสสามราย และถึงแก่ความตายอีกสองราย[2]

กรมอุตุนิยมวิทยาแห่งสาธารณรัฐอินเดียออกประกาศเตือนชาวประมงให้งดออกทะเลในระหว่างที่พายุหมุนนาร์กิสพัดผ่านดินแดน โดยได้พยากรณ์ว่าพายุรุนแรงจะเคลื่อนผ่านชายฝั่งรัฐทมิฬนาฑูและรัฐอานธรประเทศ[3] นอกจากนี้ อิทธิพลของพายุหมุนดังกล่าวได้กระทำให้อุณหภูมิในอินเดียลดลง หลังจากที่ได้สูงขึ้นอย่างรุนแรงเพราะคลื่นความร้อน[4]

รัฐบาลบังกลาเทศได้ออกประกาศให้บรรดาเกษตรกรเร่งเก็บเกี่ยวพืชผลให้สิ้นก่อนพายุจะเคลื่อนตัวถึงประเทศตน ซึ่งในขณะนั้นบังกลาเทศก็ประสบภาวะอาหารขาดแคลนมาแต่ปีก่อนเพราะพายุหมุนสิทร์ อยู่แล้ว รัฐบาลจึงเกรงว่าพายุหมุนนาร์กิสจะกระทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงอีก

พม่า

[แก้]
(บน) สภาพภูมิประเทศของพม่าก่อนเกิดพายุ และ (ล่าง) หลังเกิดพายุ
ภาคอิรวดีซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด

อัตราความเสียหาย

[แก้]

หลังจากที่พม่าเผชิญกับพายุหมุนนาร์กิสแล้ว ทางการพม่ารายงานว่า อัตราการตายในประเทศมีประมาณห้าหมื่นคน และผู้คนพลัดหลงประมาณสี่หมื่นหนึ่งพันคน[5] สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าผู้คนในพม่ากว่าสองล้านถึงสามล้านคนกลายเป็นผู้ไร้บ้าน

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า อาคารถูกทำลายหลายแสนหลังในเมืองลบุตร เขตอิรวดี สำหรับจำนวนดังกล่าว สำนักข่าวแห่งพม่ารายงานว่า ร้อยละเจ็ดสิบห้าของอาคารพังทลาย ร้อยละยี่สิบหลังคาถูกซัดหายไป และที่เหลือยังอยู่รอดปลอดภัย[6]

สภาพความรุนแรง

[แก้]

เมื่อเทียบกับเหตุการณ์คลื่นสึนามิถล่มเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ.ศ. 2547 แล้ว ถือว่าเหตุการณ์พายุนาร์กิสนี้เป็นพิบัติภัยที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติพม่า

นายแอนดริว เคิร์กวูด (Andrew Kirkwood) ผู้อำนวยการองค์กรการกุศลแห่งสหราชอาณาจักรเพื่อการพิทักษ์เยาวชน (British charity Save The Children) แถลงว่า ตนกำลังพิเคราะห์จำนวนผู้เสียชีวิตห้าหมื่นรายและผู้ไร้บ้านอีกกว่าหลายล้านราย โดยเห็นว่าเป็นความรุนแรงที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติพม่า ซึ่งจำนวนดังกล่าวอาจมากกว่าจำนวนผู้เสียหายในเหตุการณ์สึนามิที่ประเทศศรีลังกาหลายเท่าตัว[7]

เป็นที่คาดกันว่า พายุหมุนนาร์กิสครั้งนี้อาจส่งผลกระทบรุนแรงที่สุด ในบรรดาเหตุการณ์ที่เกิดจากพายุหมุนด้วยกันเองนับแต่ บังกลาเทศถูกพายุหมุนถล่มใน พ.ศ. 2534 ซึ่งปรากฏคนตายถึงหนึ่งแสนสามหมื่นแปดพันคน และอีกหนึ่งหมื่นคนเป็นอย่างน้อยถึงแก่ความตายที่ดินแดนสามเหลี่ยมในเมืองโพคัล (Bogale) [8]

ทูตต่างประเทศประจำนครย่างกุ้งนายหนึ่งให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวรอยเตอส์ซึ่งขอให้พรรณนาเหตุการณ์พายุหมุนนาร์กิสถล่มพม่าว่า รอบกายของตนนั้นดูประหนึ่งซากที่หลงเหลือจากภาวะสงคราม ปฏิกูลที่ทะลักนองทั่วนครทำให้เกิดภาวะน้ำเน่าท่วม (waste flood) ซึ่งส่งผลให้นาข้าวเสียหายหลายแห่ง[9]

เจ้าหน้าที่จากสหประชาชาติรายหนึ่งให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว่า ถือเป็นเหตุการณ์ที่ย่ำแย่เหตุการณ์หนึ่ง บ้านเรือนเกือบทั้งปวงพังพินาศ ประชาชนต่างอกสั่นขวัญผวา เจ้าหน้าที่จากสหประชาชาติอีกรายหนึ่งให้สัมภาษณ์ว่า ดินดอนสามเหลี่ยม (delta) แห่งลุ่มน้ำอิรวดีได้รับผลกระทบหนักมาก ไม่แต่เพราะลมและฝน แต่ยังเพราะความกำเริบของพายุอีกด้วย

หนังสือพิมพ์ “เดลีเทเลกราฟ” (Daily Telegraph) แห่งสหราชอาณาจักร ฉบับวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 รายงานว่า ราคาโภคภัณฑ์ในประเทศพม่าอาจได้รับผลกระทบเพราะเหตุการณ์พายุครั้งนี้ด้วย[10] ซึ่งวันที่ 7 พฤษภาคม 2551 นายวรเดช วีระเวคิน รองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศของไทย แถลงโดยอ้างถึงรายงานของนายบรรสาน บุนนาค เอกอัครราชทูตไทยประจำนครย่างกุ้ง ว่าราคาโภคภัณฑ์ในพม่าได้สูงขึ้นสองถึงสามเท่าตัวแล้ว โดยสภาพแวดล้อมในนครได้รับความเสียหายหนัก ห้างร้านส่วนใหญ่ปิดกิจการ เครื่องอุปโภคบริโภคมีฝืดเคือง และโดยรวมแล้วความเป็นอยู่ของผู้คนในนครค่อนข้างกันดาร[11]

การจัดการสถานการณ์ของรัฐบาลพม่า

[แก้]

ในการนี้ รัฐบาลทหารพม่าได้ประกาศให้ภาคย่างกุ้ง ภาคอิรวดี ภาคพะโค ตลอดจนรัฐมอญ และรัฐกะเหรี่ยงเป็นเขตประสบพิบัติภัย

อย่างไรก็ดี รัฐบาลทหารพม่าหาได้มีและดำเนินมาตรการใด ๆ เพื่อแก้ไข เยียวยา และฟื้นฟูความเลวร้ายในบ้านเมืองอย่างเหมาะสม หนังสือพิมพ์ไทยรัฐรายงานว่า ชาวพม่าจำนวนมากโกรธแค้นรัฐบาลที่ไม่มีการเตือนภัยที่ดีพอ และสมาคมเพื่อการช่วยเหลือนักโทษการเมืองซึ่งอยู่ในกรุงเทพมหานครรายงานว่า เจ้าหน้าที่พม่ายิงประหารนักโทษแห่งเรือนจำอินเส่งในขณะที่ฉวยจังหวะจลาจลจากพายุเตรียมหลบหนี ปรากฏนักโทษตายสามสิบหกคน และบาดเจ็บอีกประมาณเจ็ดสิบคน อย่างไรก็ดี ทางการพม่าปฏิเสธรายงานทั้งสอง[12]

ด้วยเหตุนี้เอง นานาชาติจึงวิตกว่าศพนับแสนที่รัฐบาลพม่าไม่จัดการ แต่ปล่อยทิ้งไว้ให้เน่าอืดยังหนทางตามยถากรรมนั้น จะนำมาซึ่งโรคระบาดขนานใหญ่ และอาจลุกลามใหญ่หลวงได้[13]

วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 นางลอรา บุช คู่สมรสของนายจอร์จ วอล์กเกอร์ บุช ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวโจมตีรัฐบาลทหารพม่าว่าล้มเหลวในการแจ้งเตือนภัยและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชน[14] ซึ่งร้อยตำรวจเอกนิติภูมิ นวรัตน์ นักวิเคราะห์สถานการณ์ต่างประเทศ ให้ความเห็นต่อการกระทำของนางลอรา บุช ว่า เป็นเพียงเกมการเมืองที่ดำเนินอยู่บนน้ำตาของผู้ทุกข์ยาก อีกประการหนึ่ง สหรัฐอเมริกาเองก็ล้มเหลวในการแจ้งเตือนภัยและให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนในเหตุการณ์พายุเฮอริเคนแคทรีนาพัดถล่มสหรัฐอเมริกาเมื่อวันจันทร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2548 เช่นกัน[15]

การประชามติว่าด้วยร่างรัฐธรรมนูญของพม่า

[แก้]

ถึงแม้ว่าจะบังเกิดภาวะมหันตภัย แต่ในเบื้องแรกรัฐบาลทหารพม่าคงยืนยันว่าจะจัดให้มีการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญพม่าตามที่กำหนดไว้ในวันเสาร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากทั้งพรรคฝ่ายค้านของพม่าเองและจากนานาชาติ ซึ่งหลังจากที่เผชิญการต่อต้านอย่างแรงจากหลายฝ่าย ก็ได้มีประกาศเลื่อนการประชามติเฉพาะนครย่างกุ้งและพื้นที่ประสบพิบัติภัยไปเป็น วันที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2551[16]

การบรรเทาทุกข์จากนานาชาติสู่พม่า

[แก้]

สถานการณ์ทั่วไป

[แก้]

ความช่วยเหลือจากนานาชาติ

[แก้]

วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ผู้แทนของรัฐบาลทหารพม่าที่รัฐนิวยอร์กได้ร้องขอความช่วยเหลือจากสหประชาชาติอย่างเป็นทางการสำหรับความเสียหายจากพายุหมุนนาร์กิสในประเทศตน ซึ่งนานาชาติล้วนพร้อมสนองอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ดี รัฐบาลพม่าแสดงทีท่าไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากนานาชาติ ซึ่งหลายประเทศได้เตรียมบริจาคเงินและเสบียงทั้งอาหารและยา ตลอดจนข้าวของที่จำเป็นอื่น ๆ สำหรับประเทศไทยเองได้เตรียมบริจาคเงินหนึ่งแสนดอลลาร์สหรัฐ เวชภัณฑ์สามสิบตัน และเสบียงอาหารสิบสองตันจากสภากาชาดไทย ซึ่ง นายไชยา สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยังได้จัดส่งเวชภัณฑ์ไปช่วยเหลือพม่าอีกสิบสี่รายการ มูลค่ากว่าสิบล้านบาท ตามคำสั่งของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ รัฐบาลไทยจะได้จัดส่งคณะแพทย์และพยาบาลเข้าไปช่วยเหลือยี่สิบคณะ กับทั้งหน่วยเคลื่อนที่เร็วในการปราบปรามโรคระบาดอีกยี่สิบหน่วย โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า "ถ้าพม่าไฟเขียวอนุญาตให้เข้าไปช่วยเหลือ ก็ได้รับความอนุเคราะห์จากกองทัพอากาศ โดยใช้เครื่องบินซี-130 ขน (คณะและหน่วยทางการแพทย์) ไป ไทยจะพรวดพราดไปไม่ได้ ต้องแจ้งให้ทางโน้นรับทราบก่อน"[17] ซึ่งต่อมาในวันที่ 7 พฤษภาคม 2551 เครื่องบินลำดังกล่าวพร้อมด้วยบริวารได้รับอนุญาตให้ลงจอด ณ นครย่างกุ้ง โดยได้บรรทุกน้ำดื่มและอุปกรณ์การก่อสร้างขนาดเบาเป็นการเพิ่มเติมไปด้วย[18]

การปิดกั้นความช่วยเหลือจากนานาชาติ

[แก้]

ปัญหามีว่า รัฐบาลทหารพม่าไม่ยอมรับความช่วยเหลือจากชาติและองค์กรใด ๆ และไม่อนุมัติบัตรผ่านแดนให้แก่ชนต่างด้าว ถึงแม้ว่าบุคคลเหล่านั้นประสงค์จะเดินทางเข้าไปในประเทศเพื่อให้ความช่วยเหลือก็ตาม [19]

อนึ่ง บ่ายวันที่ 8 พฤษภาคม 2551 ตามเวลาในประเทศไทย รัฐบาลพม่าอนุญาตให้กลุ่มเที่ยวบินจากอิตาลีซึ่งบรรทุกเครื่องบรรเทาทุกข์และเจ้าหน้าที่สนามจากองค์การสหประชาชาติลงจอด ณ สนามบินย่างกุ้งแล้ว กระนั้น เจ้าหน้าที่และเครื่องบรรเทาทุกข์จากนานาชาติส่วนใหญ่ยังคงค้างอยู่ในประเทศไทยและสนามบินย่างกุ้งเพื่อรอความยินยอมจากรัฐบาลพม่าอย่างเป็นทางการ บรรดาประเทศเหล่านี้วิตกกันว่าเสบียงอาหารและเสบียงยาอาจเน่าเสียก่อนรัฐบาลพม่าอนุญาตก็เป็นได้[20]

วันที่ 9 พฤษภาคม 2551 รัฐบาลพม่ายอมรับความช่วยเหลือจากนานาชาติอย่างเป็นทางการเฉพาะเวชภัณฑ์ต่าง ๆ แต่ไม่อนุญาตให้บุคลากรต่างชาติเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในประเทศตน

นักวิเคราะห์ชาวสิงคโปร์อธิบายถึงสาเหตุที่รัฐบาลพม่ายังลังเลใจในการนี้อยู่ว่า เป็นเพราะรัฐบาลพม่ากำลังรอฟังคำทำนายจากโหรอยู่ ทั้งนี้ รัฐบาลทหารพม่ามีความเชื่อและเคารพอย่างฝังจิตฝังใจในโหร[21] และการย้ายเมืองหลวงจากนครย่างกุ้งไปเป็นกรุงเนปิดอว์ใน พ.ศ. 2548 กับทั้งการสั่งให้เปลี่ยนการขับรถจากด้านซ้ายของถนนมาเป็นด้านขวาก็เป็นอีกการหนึ่งที่โหรพม่าแนะนำให้รัฐบาลกระทำ[22]

การที่รัฐบาลพม่าไม่อนุญาตให้ต่างประเทศเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ส่วนหนึ่งมาจากความที่รัฐบาลต้องการสร้างภาพให้ประชาชนมองว่าตนเป็นที่พึ่งและผู้ให้ความสงเคราะห์หนึ่งเดียว โดยรัฐบาลได้ติดป้ายชื่อบุคคลจากกองทัพบนของที่ได้รับบริจาคจากต่างชาติแทนที่ชื่อของผู้บริจาคที่แท้จริง ซึ่งก็เป็นอีกเหตุหนึ่งที่ทำให้การช่วยเหลือผู้ได้รับความเสียหายเป็นไปโดยล่าช้า[23] [24]

แรงกดดันให้พม่าเปิดประเทศ

[แก้]

วันที่ 9 พฤษภาคม 2551 นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศไทย แถลงหลังจากได้รับการร้องขอจากนายเอริก จี. จอห์น (Eric G. John) เอกอัครรัฐทูตแห่งสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ว่าจะได้เยือนพม่าในวันที่ 11 พฤษภาคม เพื่อเจรจาให้พม่ายอมเปิดประเทศ และนายควินตัน ควาเย (Quinton Qquayae) เอกอัครราชทูตแห่งสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย แถลงว่าจะร่วมการเดินทางของนายสมัครด้วยเพื่อช่วยเจรจากับพม่าอีกแรงหนึ่ง[25]อย่างไรก็ดี รัฐบาลพม่าแถลงกลับโดยทันทีว่าขณะนี้ยังไม่พร้อมรับการเยือนของผู้ใด การเดินทางของนายสมัครจึงต้องยกเลิกไป และนายสมัครกล่าวว่าจะได้ส่งหนังสือเจรจาให้แก่พม่าให้ภายหลัง[26]

เย็นวันเดียวกันนั้น นายริชาร์ด ฮอร์เซย์ (Richard Horsey) ผู้แทนสหประชาชาติประจำประเทศไทย แถลงในกรุงเทพมหานครว่า ขอให้พม่ารับความช่วยเหลือจากนานาชาติโดยไม่ชักช้า เพราะพายุอีกลูกหนึ่งอันมีความรุนแรงเสมอพายุหมุนนาร์กิสกำลังเข้าโจมตีพม่าตามกำหนดการณฺ์พายุกระหน่ำมหาสมุทรอินเดียตอนเหนือ ประจำปี 2551 พายุลูกดังกล่าวย่อมส่งผลให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปอีก[27]

รายการความช่วยเหลือ

[แก้]

จากภาครัฐ

[แก้]

ต่อไปนี้เป็นรายการความช่วยเหลือที่รัฐบาลทหารพม่ายอมรับแล้ว[28]

ประเทศ ความช่วยเหลือ
 กรีซ มอบเงิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ เวชภัณฑ์ และการบรรเทาทุกข์อื่น ๆ ตามมนุษยธรรม[29]
 แคนาดา อนุมัติเงินช่วยเหลือเร่งด่วนจำนวน 2,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ[30]
 จีน มอบเงิน 5,300,000 ดอลลาร์สหรัฐและเครื่องยังชีพจำนวนหนึ่ง
 ญี่ปุ่น เครื่องกำเนิดไฟฟ้าและเต็นท์มูลค่ายี่สิบแปดล้านเยน [31]
 เดนมาร์ก มอบเงิน 103,600 ดอลลาร์สหรัฐ
 ตุรกี มอบเงิน 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ[32]
 ไทย มอบเงิน 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ เวชภัณฑ์สามสิบตัน เสบียงอาหารสิบสองตัน และอุปกรณ์การก่อสร้างขนาดเบา[33]
 นอร์เวย์ มอบเงินสด 1,960,000 ดอลลาร์สหรัฐ [34]
 นิวซีแลนด์ มอบเงิน 1.5 ล้านนิวซีแลนด์ดอลลาร์ (1.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) [35]
 เนเธอร์แลนด์ มอบเงิน 1,000,000 ยูโร
 บรูไน เครื่องยังชีพจำนวนหนึ่ง [36]
 บังกลาเทศ อาหารและยารักษาโรค 20 ตัน
 เบลเยียม มอบเงิน 250,000 ยูโร
 ฝรั่งเศส มอบเงิน 3,100,000 ดอลลาร์สหรัฐ
 ฟลานเดอส์ มอบเงิน 100,000 ยูโร
 ฟินแลนด์ มอบเงิน 300,000 ยูโร [37]
 ฟิลิปปินส์ ยารักษาโรค[38]
 มาเลเซีย มอบเงิน 4,100,000 ดอลลาร์สหรัฐ
 เยอรมนี มอบเงิน 3,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ
 เวียดนาม มอบเงิน 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ
 สเปน มอบเงิน 375,000 ดอลลาร์สหรัฐ
 สวิตเซอร์แลนด์ มอบเงิน 475,000 ดอลลาร์สหรัฐในเบื้องต้น
 สวีเดน ให้การช่วยเหลือด้านระบบบำบัดน้ำและเครื่องยังชีพอื่น ๆ
 สิงคโปร์ 200,000 ดอลลาร์สหรัฐ [39]
 ออสเตรเลีย มอบเงิน 3,000,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย [40]
 อินเดีย มอบเครื่องยังชีพ 72 ตัน ตลอดจนเต็นท์ และเสบียงอาหารอีกจำนวนหนึ่ง
 อินโดนีเซีย มอบเงินสด 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ ตลอดจนเสบียงอาหารและเสบียงยาอีกจำนวนหนึ่ง
 ไอร์แลนด์ มอบเงิน 1,500,000 ดอลาร์สหรัฐ
 ฮังการี อาหาร ยารักษาโรค มูลค่า 300,000 ดอลาร์สหรัฐ
 สหภาพยุโรป มอบเงิน 3,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ
 สหรัฐ รัฐบาลกลางมอบเงิน 3,250,000 ดอลลาร์สหรัฐ [41]
 สหราชอาณาจักร มอบเงิน5,000,000 ปอนด์ [42]
 เช็กเกีย มอบเงิน 154,000 ดอลลาร์สหรัฐ
สถานเอกอัครรัฐทูตสหรัฐอเมริกา
ประจำประเทศพม่า (U.S. embassy in Burma)
ได้อนุมัติเงิน 250,000 ดอลลาร์สหรัฐเพื่อช่วยเหลือพม่า
สำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา
(United States Agency for International Development)
มอบเงิน 3,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ

จากภาคเอกชน

[แก้]
  1. กองทุนเยาวชนแห่งสหประชาชาติ จากนครนิวยอร์ก : เจ้าหน้าที่ของกองทุนได้เข้าถึงประเทศพม่าเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 และกำลังปฏิบัติการ[43] ดูรายละเอียดเกี่ยวกับการรับบริจาค เก็บถาวร 2008-07-19 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  2. คณะพหุศาสตราจารย์ฝ่ายเอกคริสตเทวนิยมเพื่อการบริการสาธารณะ (Unitarian Universalist Service Committee) : ได้ร่วมกับสมาคมพหุศาสตราจารย์ฝ่ายเอกคริสตเทวนิยม (Unitarian Universalist Association) ให้การช่วยเหลือด้านทุนทรัพย์และด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ประสบพิบัติภัยในพม่า[44] ดูรายละเอียดเกี่ยวกับการรับบริจาค เก็บถาวร 2008-05-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  3. ประเทศอิสราเอล : ภาคเอกชนได้ร่วมกันมอบเงินหนึ่งแสนดอลลาร์สหรัฐ ตลอดจนเสบียงอาหารและเสบียงยาอีกจำนวนหนึ่ง
  4. มูลนิธิกาชาดและสมาคมโสมเสี้ยวแดงระหว่างประเทศ (Mouvement international de la Croix-Rouge et du Croissant-Rouge) : มอบเงิน 1,890,000 ดอลลาร์สหรัฐ[45]
  5. สหกรณ์ระหว่างประเทศเพื่อการช่วยเหลือและเยียวยาทุกแห่งหน (Cooperative for Assistance and Relief Everywhere) หรือ แคร์ (CARE) จากกรุงเจนีวา : ถึงแม้ว่าสำนักงานสาขาของแคร์ในนครย่างกุ้งจะถูกพายุหมุนนาร์กิสถล่มราบ แต่ก็แถลงว่ายังสามารถปฏิบัติ "การช่วยเหลือและเยียวยาทุกแห่งหน" ในพม่าต่อไปได้[46] ดูรายละเอียดเกี่ยวกับการรับบริจาค เก็บถาวร 2008-05-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  6. องค์กรกาชาดแห่งสหภาพพม่า (Myanmar Red Cross) : ได้ประกาศขอความช่วยเหลือเป็นการด่วนแทนชาวพม่าผ่านทางเว็บไซต์ขององค์การกาชาดกลางเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 และขณะเดียวกันก็กำลังให้การช่วยเหลือผู้เสียหาย[47] ดูรายละเอียดเกี่ยวกับการรับบริจาค เก็บถาวร 2008-05-11 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  7. องค์กรการกุศลแห่งสหราชอาณาจักรเพื่อการพิทักษ์เยาวชน (British charity Save The Children) : เป็นองค์กรเอกชนซึ่งมีสำนักงานสาขาในประเทศพม่า ได้จัดโครงการช่วยเหลือพม่าอย่างเต็มกำลัง (Full Scale Relief Effort) ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม 2551[48] ดูรายละเอียดเกี่ยวกับการรับบริจาค เก็บถาวร 2008-05-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  8. องค์การโบสถ์โลก (World Church Service) : ได้เข้าไปร่วมช่วยเหลือชาวพม่ากับสภาโบสถ์แห่งสหภาพพม่า (Myanmar Council of Churches) ตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2551[49] ดูรายละเอียดเกี่ยวกับการรับบริจาค เก็บถาวร 2008-05-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  9. องค์การแพทย์ไร้พรมแดน (Médecins Sans Frontières) จากกรุงปารีส : คณะแพทย์สนามขององค์การได้เข้าถึงประเทศพม่าเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 และกำลังปฏิบัติการ[50] ดูรายละเอียดเกี่ยวกับการรับบริจาค เก็บถาวร 2008-05-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน
  10. องค์การโลกาวิทัศน์ (World Vision Organisation) จากเมืองมอนโรเวีย (Monrovia) รัฐแคลิฟอร์เนีย : ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศของคริสต์ศาสนา มีจุดมุ่งหมาย "ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้อยู่ดีมีสุข โดยเฉพาะเยาวชน"[51] ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่สนามหกร้อยคนเข้าไปให้การช่วยเหลือเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2551[52] ดูรายละเอียดเกี่ยวกับการรับบริจาค
  11. องค์การสากลเพื่อการเยียวยาทางตรง (Direct Relief International) จากเมืองซานตาบาร์บารา (Santa Barbara) รัฐแคลิฟอร์เนีย : ได้เข้าไปปฏิบัติการภาคสนามร่วมกับองค์กรและองค์การทั้งปวงตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2551[53]

พระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร

[แก้]

วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานสิ่งของบรรเทาทุกข์ อันได้แก่ ผลิตภัณฑ์ของสมาชิกและกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว ในพระราชูปถัมภ์ฯ ประกอบด้วยอาหาร และเครื่องอุปโภคที่จำเป็น ได้แก่ ผ้าห่ม ผ้าโสร่ง ผ้าขาวม้า ยาหม่อง ยาดม แชมพู และสบู่ ทั้งนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สำนักงานโครงการสายใยรักแห่งครอบครัว วังศุโขทัย ร่วมกับแม่บ้านสมาชิกสายใยรักแห่งครอบครัว และหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ดำเนินการจัดสิ่งของบรรจุหีบห่อ โดยมีภาษาอังกฤษและภาษาพม่ากำกับ เพื่อบ่งบอกชนิดและประเภทของสิ่งของพระราชทานอย่างชัดเจน พร้อมกันนี้ ได้มีพระราชบัณฑูรให้กระทรวงสาธารณสุข เป็นแกนหลักในการประสานงานจัดหน่วยแพทย์พระราชทานในพระองค์ ไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยเร็ว

อนึ่ง การพระราชทานสิ่งของดังกล่าว ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จัดซื้อจากกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร อันนับเป็นพระราโชบายที่ได้ประโยชน์หลายสถาน กล่าวคือ ราษฎรไทยได้มีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้แก่โครงการสายใยรัก ในพระราชูปถัมภ์ฯ และราษฎรพม่าก็ได้รับสิ่งของช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ที่มีคุณภาพและตรงกับความต้งอการ ในขณะเดียวกัน ยังเป็นการกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศระหว่างประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นอีกด้วย

จากนั้น ในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ส่งหน่วยแพทย์พระราชทานในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จำนวน 30 คน พร้อมเครื่องมือผ่าตัด ยา และเวชภัณฑ์ ขึ้นเครื่องบิ่นซี-130 ของกองทัพอากาศ ไปประเทศพม่า เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากพายุไซโคลนนาร์กิสเป็นเวลา 2 สัปดาห์

แม้ขณะนั้น รัฐบาลพม่าจะยังแสดงท่าทีปฏิเสธความช่วยเหลือจากนานาประเทศด้วยเหตุผลหลายประการ แต่ด้วยเหตุที่ผู้ประสบภัยชาวพม่ากำลังประสบปัญหาด้านสุขภาพอนามัยอย่างรุนแรง ประกอบกับได้คำนึงถึงพระราชไมตรีของพระราชวงศ์ไทยและไมตรีจิตของประชาชนชาวไทยที่มีต่อชาวพม่า จึงอนุญาตให้ประเทศไทยส่งแพทย์และพยาบาล เข้าไปช่วยเหลือด้านการแพทย์แก่ประชาชนชาวพม่าได้เป็นกรณีพิเศษ

การเดินทางไปครั้งนี้ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างคณะแพทย์ไทยและคณะแพทย์ของประเทศพม่า คณะแพทย์ที่ไปสามารถให้บริการตรวจรักษาผู้ป่วยได้ทั้งในสถานพยาบาล และเคลื่อนที่ไปให้บริการในพื้นที่ประสบภัยต่าง ๆ แบ่งการทำงานออกเป็น 4 กลุ่ม ตรวจรักษาผู้ป่วยทั่วไปได้ประมาณวัน 800 ถึง 1,000 ราย ผ่าตัดใหญ่ได้วันละประมาณ 20 ถึง 30 ราย และนอกจากคณะแพทย์ชุดแรกแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เตรียมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ คณะควบคุมป้องกันโรคที่มีประสบการณ์พร้อมเวชภัณฑ์และวัสดุอุปกรณ์ อีกกว่า 100 คน เป็นคณะที่ 2 ซึ่งสามารถเดินทางเข้าช่วยเหลือทันทีเมื่อประเทศพม่าร้องขอเพิ่มเติม

รายการคำบรรเทาทุกข์

[แก้]
  1. ประเทศไทย : พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประมุขแห่งรัฐ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และนายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีพระราชสารและสารลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2551 ไปถึงพลเอกอาวุโสตาน ฉ่วย ประธานสภาสันติภาพและการพัฒนาแห่งสหภาพพม่า แสดงความเสียพระราชหฤทัยและเสียใจในนามประชาชนชาวไทยต่อเหตุการณ์พายุหมุนนาร์กิสในพม่า[54]

อ้างอิง

[แก้]
  1. Daily Mirror. (2008, 30 April). Floods leave thousands homeless. [Online]. Available: http://www.dailymirror.lk/DM_BLOG/Sections/frmNewsDetailView.aspx?ARTID=13275 เก็บถาวร 2008-05-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (7 May 2008).
  2. Lakshmi de Silva. (2008, 30 April). Over 35,000 affected by floods, landslides. Upali Newspapers Limited. [Online]. Available: http://www.island.lk/2008/04/30/news2.html เก็บถาวร 2008-05-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (7 May 2008).
  3. Press Trust of India. (2008, 28 April). Orissa heat deaths rise to eight as cyclonic storm forms over Bay. [Online]. Available: http://www.island.lk/2008/04/30/news2.html เก็บถาวร 2008-05-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (7 May 2008).
  4. Press Trust of India. (2008, 28 April). Orissa heat deaths rise to eight as cyclonic storm forms over Bay. [Online]. Available: http://www.hindu.com/thehindu/holnus/002200804281964.htm เก็บถาวร 2011-06-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (7 May 2008).
  5. Staff Writer (2008, May 6). Myanmar cyclone death toll exceeds 22,000. CNN. [Online]. Available: http://www.cnn.com/2008/WORLD/asiapcf/05/06/myanmar.cyclone/index.html. (7 May 2008).
  6. Hundreds killed by Burma cyclone. BBC News. (2008, 4 May). [Online]. Available: http://news.bbc.co.uk/1/hi/world/asia-pacific/7382298.stm. (7 May 2008).
  7. Timesonline. (2008, 7 May). Burma cyclone: up to 50,000 dead and millions homeless, but still no call for aid. [Online]. Available: http://www.timesonline.co.uk/tol/news/world/asia/article3883123.ece เก็บถาวร 2008-05-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (7 May 2008).
  8. Cyclone kills 10,000 in one Myanmar Town. Reuters. (2008, 6 May). [Online]. Available: http://www.reuters.com/article/newsOne/idUSBKK1919620080506. (7 May 2008).
  9. UPDATE 1-Myanmar cyclone stirs more rice supply fears. Reuters. (2008, 5 May). [Online]. Available: http://in.reuters.com/article/domesticNews/idINSP13877220080505 เก็บถาวร 2008-05-06 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (7 May 2008).
  10. Thomas Bell. (2008, 5 May). Burma cyclone kills more than 350 people. Daily Telegraph. [Online]. Available: http://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/asia/burmamyanmar/1926897/Burma-cyclone-kills-more-than-350-people.html. (7 May 2008).
  11. ไทยรัฐ. (2551, 8 พฤษภาคม). ต้นโพธิ์ทรงปลูกรอดพายุ พระเทพฯ ทรงห่วงพม่า. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thairath.co.th/online.php?section=newsthairathonline&content=88927. (8 พฤษภาคม 2551).
  12. ไทยรัฐ. (2551, 7 พฤษภาคม). ในหลวง-ราชินี สลดพระทัย พม่าพุ่ง 2 หมื่นศพ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thairath.co.th/offline.php?section=hotnews&content=88816. (7 พฤษภาคม 2551).
  13. ไทยรัฐ. (2551, 8 พฤษภาคม). พม่านับล้านไร้ที่อยู่ ศพอืดเน่า ผวาโรคระบาดซ้ำ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thairath.co.th/offline.php?section=hotnews&content=88971. (8 พฤษภาคม 2551).
  14. Reuters. (2008, 6 May). Laura Bush urges Myanmar to accept US disaster team. [Online]. Available: http://www.alertnet.org/thenews/newsdesk/N05419764.htm. (11 May 2008).
  15. นิติภูมิ นวรัตน์. (2551, 8 พฤษภาคม). สตรีหมายเลข 1 ทับถมถล่มเพื่อนในยามลำบาก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.nitipoom.co.th/th/article1.asp?idOpenSky=2923&ipagenum=[ลิงก์เสีย]. (11 พฤษภาคม 2551).
  16. Official: UN plane lands in Myanmar with aid after cyclone. (2008, 9 May). [Online]. Available: http://ap.google.com/article/ALeqM5greyFH3qkj9mc9oagSoulgjN4KHgD90HICSO3 เก็บถาวร 2008-05-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (9 May 2008).
  17. ไทยรัฐ. (2551, 7 พฤษภาคม). ในหลวง-ราชินี สลดพระทัย พม่าพุ่ง 2 หมื่นศพ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thairath.co.th/offline.php?section=hotnews&content=88816. (7 พฤษภาคม 2551).
  18. ไทยรัฐ. (2551, 8 พฤษภาคม). ต้นโพธิ์ทรงปลูกรอดพายุ พระเทพฯ ทรงห่วงพม่า. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thairath.co.th/online.php?section=newsthairathonline&content=88927. (8 พฤษภาคม 2551).
  19. ไทยรัฐ. (2551, 7 พฤษภาคม). พม่าเนรเทศนักข่าวบีบีซี ใช้วีซ่านักท่องเที่ยวเข้าปท. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thairath.co.th/online.php?section=newsthairathonline&content=88872. (7 พฤษาภาคม 2551).
  20. ไทยรัฐ. (2551, 8 พฤษภาคม). พม่านับล้านไร้ที่อยู่ ศพอืดเน่า ผวาโรคระบาดซ้ำ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thairath.co.th/offline.php?section=hotnews&content=88971. (8 พฤษภาคม 2551).
  21. ไทยรัฐ. (2551, 9 พฤษภาคม). หลังยึกยักมานาน พม่าโอเค ให้ต่างชาติเข้าช่วย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thairath.co.th/offline.php?section=hotnews&content=89107. (9 พฤษภาคม 2551).
  22. ดุลยภาค ปรีชารัชช. (2550, 1 พฤศจิกายน). "เพียงมะนา เนปิดอว์ ราชธานีแห่งใหม่ของสหภาพพม่า". ศิลปวัฒนธรรม (ปีที่ 29). หน้า 154.
  23. AP. (2008, 11 May). Myanmar junta hands out aid boxes with generals' names. [Online]. Available: http://ap.google.com/article/ALeqM5greyFH3qkj9mc9oagSoulgjN4KHgD90IUE900[ลิงก์เสีย] (12 May 2008).
  24. ไทยรัฐ. (2551, 11 พฤษภาคม). สิ่งของพระราชทานจากในหลวง ส่งถึงชาวพม่าแล้ว. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thairath.co.th/online.php?section=newsthairathonline&content=89361. (12 พฤษภาคม 2551).
  25. ไทยรัฐ. (2551, 9 พฤษภาคม). สมัครบินด่วนไปพม่า 11พ.ค. ทูตอังกฤษขอร่วมคณะด้วย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thairath.co.th/online.php?section=newsthairathonline&content=89146. (9 พฤษภาคม 2551).
  26. ไทยรัฐ. (2551, 9 พฤษภาคม). สมัครยกเลิกเดินทางไปพม่า เจ้าบ้านแถลงขอแค่สิ่งของ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thairath.co.th/onlineheadnews.html?id=89155. (9 พฤษภาคม 2551).
  27. AFP. (2008, 9 May). UN Warns That Another Storm Is Headed Toward Myanmar. [Online]. Available: [1]. (9 May 2008).
  28. CTA.ca. (2008, 6 May). Aid starting to trickle into Burma: agencies. [Online]. Available: http://www.ctv.ca/servlet/ArticleNews/story/CTVNews/20080505/burma_cyclone_080506/20080506?hub=TopStories เก็บถาวร 2008-05-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (8 May 2008).
  29. "Statement of FM Ms. Bakoyannis regarding provision of humanitarian aid to Myanmar/Burma". Greek Ministry of Foreign Affairs. 2008-05-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-09. สืบค้นเมื่อ 2008-05-08.
  30. Barbara Starr. (2008, 6 May). Aid starting to trickle into Burma: agencies. CNN. [Online]. Available: http://www.ctv.ca/servlet/ArticleNews/story/CTVNews/20080505/burma_cyclone_080506/20080506?hub=TopStories เก็บถาวร 2008-05-26 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (7 May 2008).
  31. "Abs-Cbn Interactive, Japan gives $10-M aid to Myanmar". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-26. สืบค้นเมื่อ 2008-05-10.
  32. "Cunta'nın İnadı Öldürüyor". Milliyet.com.tr. 2008-05-09. สืบค้นเมื่อ 2008-05-09.
  33. "Ministry of Foreign Affairs grants a financial assistance in the amount of 100,000 USD to Myanmar, following "Cyclone Nargis"". Thai Ministry of Foreign Affairs. 2008-05-06. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-09. สืบค้นเมื่อ 2008-05-06.
  34. "Norway prepared to provide NOK 10 million for cyclone victims in Burma/Myanmar". Ministry of Foreign Affairs of Norway. 2008-05-08. สืบค้นเมื่อ 2008-05-08.
  35. "Aid to Myanmar tripled". Newstalk ZB. 2008-05-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-26. สืบค้นเมื่อ 2008-05-09.
  36. "Brunei to send relief supplies for Myanmar cyclone-hit". The Brunei Times. 2008-05-08. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2009-04-17. สืบค้นเมื่อ 2008-05-08.
  37. "Finland to send emergency assistance to Myanmar". Minister for Foreign Affairs of Finland. 2008-05-07. สืบค้นเมื่อ 2008-05-07.
  38. "Filipino medical workers ready for Myanmar mission". Philippine Daily Inquirer. 2008-05-09. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-11. สืบค้นเมื่อ 2008-05-10.
  39. "Singapore sends off first batch of relief supplies to Myanmar". Channel NewsAsia. 2008-05-07. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-10-20. สืบค้นเมื่อ 2008-05-07.
  40. Tony Eastley (May 7. 2008). "Australia pledges $3m relief to Burma". ABC. สืบค้นเมื่อ 2008-05-07. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  41. "Gates: U.S. Military Ready to Help, Ships, Air Support Staged". American Forces Press Service. 2008-05-08. {{cite web}}: ไม่รู้จักพารามิเตอร์ |accessedate= ถูกละเว้น (help)
  42. "UK pledges £5m in aid for Burma". BBC. May 7. 2008. สืบค้นเมื่อ 2008-05-07. {{cite web}}: ตรวจสอบค่าวันที่ใน: |date= (help)
  43. Chris Niles. (2008 7 May). UNICEF crisis response focuses on water and hygiene in aftermath of Cyclone Nargis. [Online]. Available: http://www.unicef.org/infobycountry/myanmar_43788.html เก็บถาวร 2015-03-15 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (8 May 2008).
  44. UUSC, UUA open Cyclone Nargis Relief Fund. (2008, 9 May). [Online]. Available: http://www.uusc.org/index.shtml เก็บถาวร 2008-05-12 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (9 May 2008).
  45. Barbara Starr. (2008, 6 May). Some aid delivered in cyclone-ravaged Myanmar. CNN. [Online]. Available: http://www.cnn.com/2008/WORLD/asiapcf/05/06/myanmar.relief/index.html?iref=newssearch. (7 May 2008).
  46. CARE to Respond to Myanmar Cyclone Disaster. (2008, 5 May). [Online]. Available: http://www.care.org/newsroom/articles/2008/05/20080505_myanmar_cyclone.asp?source=170860490000&channel=default เก็บถาวร 2008-05-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (8 May 2008).
  47. Myanmar: International Federation launches emergency appeal. (2008, 6 May). [Online]. Available: http://www.ifrc.org/Docs/News/pr08/2108.asp. (8 May 2008).
  48. Save the Children Launches a Full-Scale Response to Deadly Cyclone Nargis in Myanmar. (2008, 5 May). [Online]. Available: http://www.savethechildren.org/newsroom/2008/cyclone-nargis-myanmar.html เก็บถาวร 2010-09-02 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (8 May 2008).
  49. CWS appeal: Myanmar (Burma) Cyclone Nargis response. (2008, 5 May). [Online]. Available: http://www.churchworldservice.org/Emergencies/international/2008/myanmarcyclone.html เก็บถาวร 2008-05-09 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน. (8 May 2008).
  50. MSF Response to Aid Myanmar Cyclone Victims. (2008, 6 May). [Online]. Available: http://www.doctorswithoutborders.org/news/article.cfm?id=2656. (8 May 2008).
  51. Tim Stafford. (2005, March). The Colossus of Care: World Vision has become an international force—and a partner with the poor. Christianity Today. [Online]. Available: http://www.christianitytoday.com/ct/2005/003/18.50.html. (8 May 2008).
  52. Death toll rises, World Vision begins relief operations. (2008, 7 May). [Online]. Available: http://www.worldvision.com.au/emergency/myanmarCyclone.asp?isource=64. (8 May 2008).
  53. Direct Relief to Support Medical Team Headed for Myanmar. (2008, 6 May). [Online]. Available: http://www.directrelief.org/EmergencyResponse/2008/CycloneNargisMyanmar/CycloneNargisMyanmar.aspx. (8 May 2008).
  54. ไทยรัฐ. (2551, 7 พฤษภาคม). ในหลวง-ราชินี สลดพระทัย พม่าพุ่ง 2 หมื่นศพ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: http://www.thairath.co.th/offline.php?section=hotnews&content=88816. (7 พฤษภาคม 2551).

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]