วัดภูมินทร์
วัดภูมินทร์ | |
---|---|
พระอุโบสถจตุรมุข | |
ที่ตั้ง | อำเภอเมือง จังหวัดน่าน |
ประเภท | สังกัดมหานิกาย |
นิกาย | เถรวาท |
พระประธาน | พระพุทธรูป 4 องค์ ปางมารวิชัย |
เจ้าอาวาส | จร. พระราชคุณาภรณ์ (กานต์ สุปญฺโญ ป.ธ.๗)[1] |
สถานีย่อยพระพุทธศาสนา |
วัดภูมินทร์ ตั้งอยู่ ณ ถนนผากอง บ้านภูมินทร์ ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน เป็นวัดราษฎร์ ฝ่ายมหานิกาย และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญและมีชื่อเสียงของจังหวัดน่าน ภาพของวัดเคยปรากฏบนธนบัตรไทย รุ่นที่ 2 ราคา 1 บาท
ประวัติวัด
[แก้]ประวัติความเป็นมา
วัดภูมินทร์ สร้างขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ. 2139 โดยพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 40 (พ.ศ. 2134 - พ.ศ. 2146) เดิมมีชื่อ “วัดพรหมมินทร์” ซึ่งเป็นพระนามของพระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ ผู้สร้างวัด สันนิษฐานว่าในภายหลังได้เรียกชื่อกันเพี้ยนมาเป็นวัดภูมินทร์ในปัจจุบัน[2] และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ เมื่อ พ.ศ. 2410 ในรัชสมัยพระเจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าผู้ครองนครน่าน องค์ที่ 62 และองค์ที่ 12 แห่งราชวงศ์ติ๋นมหาวงศ์ (พ.ศ. 2395 - พ.ศ. 2435) โดยใช้เวลาในการบูรณปฏิสังขรณ์ยาวนานถึง 8 ปี (พ.ศ. 2410 - พ.ศ. 2418) ซึ่งสันนิษฐานว่าในการบูรณะครั้งนี้พระเจ้าอนันตวรฤทธิเดชได้ทรงมีรับสั่งให้วาดภาพจิตรกรรมฝาผนัง (คำเมือง: ฮูบแต้ม) ภายในพระอุโบสถจตุรมุข ซึ่งรวมทั้งภาพที่มีชื่อเสียงเช่น ปู่ม่านย่าม่าน หรือ กระซิบรักบันลือโลก[3]ของ หนานบัวผัน ซึ่งตรงกับปลายรัชกาลที่ 4 ถึงต้นรัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี
สิ่งที่น่าสนใจภายในวัดภูมินทร์
[แก้]- สถาปัตยกรรมทรงคุณค่า สวยวิจิตร หนึ่งเดียวในไทย[4]
สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของวัดภูมินทร์ ก็คือ พระอุโบสถและพระวิหาร ซึ่งเป็นอาคารหลังเดียวกัน โดดเด่นในด้านสถาปัตยกรรม โดยพระอุโบสถและพระวิหารมีลักษณะเป็นอาคารทรงจตุรมุข มีผังเป็นรูปกากบาท อาคารหลังนี้สันนิษฐานว่าอาจได้รับอิทธิพลของสถาปัตยกรรมจากอานันทเจดีย์ที่เมืองพุกาม ประเทศพม่า กรมศิลปากรได้สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเป็นหลังแรกของประเทศไทย โดยประตูทั้ง 4 ด้านแกะสลักลวดลายงดงามอ่อนช้อย โดยฝีมือของช่างพื้นเมืองน่านในสมัยนั้น โครงสร้างของหลังคาถูกค้ำด้วยเสาไม้สัก 12 ต้น ลงรักปิดทองเคลือบเงาเป็นรูปดอกไม้และช้างสวยวิจิตรตระการตา
โดยบริเวณประตูด้านหน้าพระอุโบสถทางด้านทิศเหนือ มีรูปปั้นพญานาคขนาบข้างบันไดทั้ง 2 ข้าง โดยมีลำตัวทอดยาวไปรับกับตัวพระอุโบสถและพระวิหาร คล้ายเอาหลังหนุนไว้ คนโบราณจะกล่าวว่า นาคสะดุ้ง แห่แหนพระอุโบสถเทินไว้บนกลางลำตัว ตามความเชื่อที่ว่า "เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พระองค์ได้เสด็จผ่านบันไดแก้วที่เทวดาเนรมิตขึ้นและมีพญานาค 2 ตัวหนุนหลังเอาไว้" โดยส่วนกลางของบันไดนาคจะมีช่องทรงโค้งทั้ง 2 ด้าน ผู้เฒ่าผู้แก่จะบอกกันว่า หากคู่รักได้ลอดวนตามเข็มนาฬิกา 3 รอบ จะสมหวังดังตั้งใจ และยังเชื่ออีกว่าหากคนต่างถิ่นมาลอดจะได้กลับไปเยือนเมืองน่านอีกครั้ง
- พระประธานจตุรพักตร์ ศิลปะสุโขทัยน่าศรัทธา
ใจกลางพระอุโบสถ ประดิษฐานพระประธานจตุรพักตร์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวน่านต่างให้ความเคารพศรัทธา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะสุโขทัย สีทองอร่าม 4 องค์ ซึ่งหันพระพักตร์ออกไปทางด้านประตูทั้งสี่ทิศ และหันเบื้องพระปฤษฏางค์ (หลัง) เข้าหากันตรงกลางของพระอุโบสถ ประทับนั่งบนฐานชุกชี ซึ่งพระกรรณ (หู) และพระนาสิก (จมูก) ของพระพุทธรูปได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะลาว นักโบราณคดีบางส่วนสันนิษฐานว่าแสดงถึงพระพุทธเจ้าองค์ต่างๆ คือ พระกกุสันธพุทธเจ้า พระโกนาคมนพุทธเจ้า พระกัสสปพุทธเจ้า และพระโคตมพุทธเจ้า (พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) ในขณะที่บางส่วนสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเลียนแบบลักษณะของพระพรหมสี่พักตร์ ซึ่งปรากฏในพระนามของผู้สร้างวัด คือ พระเจ้าเจตบุตรพรหมมินทร์ และกลุ่มสุดท้ายมองว่าสื่อถึงพรหมวิหาร 4[5] มีความเชื่อกันว่าหากจะขอพรควรเดินวนชมทั้ง 4 องค์ก่อน 1 รอบ หากรู้สึกว่าพระพุทธรูปองค์ไหนยิ้มหรือพระพักตร์เป็นมิตรไมตรีกับเรามากที่สุด ให้ขอพรกับองค์นั้น แล้วจะสมดังใจปรารถนา
อ้างอิง
[แก้]- ↑ https://sangkhatikan.com/monk_jw.php?P=ภาค6&PR=น่าน
- ↑ "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-06-26. สืบค้นเมื่อ 2018-12-31.
- ↑ https://www.uncledeng.com/portfolio-view/wat-phumin/
- ↑ เล่าเรื่อง “วัดภูมินทร์” ผ่านสถาปัตยกรรม จิตรกรรมฝาผนัง และความเชื่อ https://www.dasta.or.th/th/article/268
- ↑ https://mgronline.com/travel/detail/9510000059012
ดูเพิ่ม
[แก้]- จิตรกรรมฝาผนังที่มีชื่อเสียงภายในพระอุโบสถจตุรมุข: นางสีไว, ปู่ม่านย่าม่าน
- “เส้นทางสายเจ้าฟ้า” เที่ยวน่านตามรอยราชวงศ์หลวงติ๋น
- หอภาพถ่ายล้านนา collection วัดภูมินทร์