อำเภอท่าบ่อ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อำเภอท่าบ่อ
การถอดเสียงอักษรโรมัน
 • อักษรโรมันAmphoe Tha Bo
คำขวัญ: 
หลวงพ่อองค์ตื้อ เลื่องลือใบยา
บ่อปลากองนาง
แผนที่จังหวัดหนองคาย เน้นอำเภอท่าบ่อ
แผนที่จังหวัดหนองคาย เน้นอำเภอท่าบ่อ
พิกัด: 17°51′0″N 102°35′6″E / 17.85000°N 102.58500°E / 17.85000; 102.58500
ประเทศ ไทย
จังหวัดหนองคาย
พื้นที่
 • ทั้งหมด355.3 ตร.กม. (137.2 ตร.ไมล์)
ประชากร
 (2564)
 • ทั้งหมด82,282 คน
 • ความหนาแน่น231.59 คน/ตร.กม. (599.8 คน/ตร.ไมล์)
รหัสไปรษณีย์ 43110
รหัสภูมิศาสตร์4302
ที่ตั้งที่ว่าการที่ว่าการอำเภอท่าบ่อ ถนนสันติสุข ตำบลท่าบ่อ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย 43110
สารานุกรมประเทศไทย ส่วนหนึ่งของสารานุกรมประเทศไทย

ท่าบ่อ เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดหนองคาย และเป็นอำเภอที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของจังหวัด

ที่ตั้งและอาณาเขต[แก้]

อำเภอท่าบ่อตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัด มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้

ที่มาของชื่ออำเภอ[แก้]

เดิมชาวบ้านโคกคอน บ้านว่าน และบ้านนาข่าซึ่งมีอาชีพต้มเกลือสินเธาว์ได้นำเกลือมาขายบริเวณวัดท่าคกเรือ ริมฝั่งแม่น้ำโขง ต่อมาจึงเรียกบริเวณนี้ว่า "บ้านท่าบ่อเกลือ"

ประวัติ[แก้]

ในต้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดกบฏไท่ผิงขึ้นในประเทศจีน แต่ถูกตีแตกพ่ายและหนีลงใต้จนล่วงเข้ามาในพระราชอาณาเขต ชาวภาคเหนือและภาคอีสานเรียกชาวจีนพวกนี้ว่า "ฮ่อ" พวกฮ่อแบ่งออกเป็น 4 กองทัพ คือ ฮ่อธงแดง ฮ่อธงเหลือง ฮ่อธงดำ และฮ่อธงลาย ปล้นสะดมทุกอย่างที่ขวางหน้า ปรากฏตามนิราศหนองคายว่า

จะเริ่มเรื่องเมืองหนองคายจดหมายเหตุ ในแดนเขตเขื่อนคุ้มกรุงสยาม
บังเกิดพวกอ้ายฮ่อมาก่อความ ทำสงครามกับลาวพวกชาวเวียง

การรุกรานของพวกฮ่อทำให้พระเจ้าประเทศราชหลวงพระบาง พระเจ้าประเทศราชหนองคาย และผู้รั้งพระเจ้าประเทศราชเวียงจันทน์เหลือกำลังรับ สมุหนายกมหาดไทยส่งกำลังพลมาช่วยถึง 3 ครั้งก็เพียงแต่ยันศึกเท่านั้น ในปี พ.ศ. 2428 พระองค์จึงตัดสินพระทัยเผด็จศึกฮ่อให้เด็ดขาด โดยโปรดเกล้าฯ ให้พลตรีกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมซึ่งมีพระยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอในขณะนั้นเป็นแม่ทัพใหญ่ฝ่ายใต้ ณ เมืองหนองคาย คุมทหารหัดใหม่จากยุโรป 8 กรม ตีขนาบร่วมกับกองทัพฝ่ายเหนือฯ เมืองหลวงพระบาง จนประสบชัยชนะต่อพวกฮ่อทั้งปวง และมีอนุสาวรีย์ปราบฮ่อเด่นเป็นสง่าประกาศพระบรมเดชานุภาพครั้งนี้

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2435 เริ่มมีการปรับปรุงการปกครองหัวเมือง ทรงพระกรุณาธิคุณให้เมืองหนองคายเป็นเมืองเอกใน 36 เมือง และเพื่อยืนยันพระราชสิทธิธรรมแทนที่อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์เดิม ซึ่งไปถึงเมืองพวน แขวงเชียงขวาง ติดกับเวียดนามของฝรั่งเศส จึงได้พระราชทานชื่อบริเวณนี้ว่า "มณฑลลาวพวน" โปรดเกล้าฯ ให้พลตรีกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคมเป็น "ข้าหลวงใหญ่ผู้สำเร็จราชการต่างพระองค์มณฑลลาวพวน" มีศาลาว่าการมณฑล ณ เมืองหนองคาย และปรับพระปทุมเทวาภิบาลที่ 2 เจ้าประเทศราชหนองคายเป็นพระยาวุฒาธิคุณ ที่ปรึกษาข้าหลวงใหญ่ ซึ่งสำเร็จราชการทั้งการปกครอง การทหาร และการศาลทั้งปวง

ในปี พ.ศ. 2436 (ร.ศ. 112) อภิมหาอำนาจคู่กรณีของสยามต้องเปลี่ยนยุทธวิธีในการล่าอาณานิคมใหม่ โดยส่งกองเรือรบปิดอ่าวไทยและรุกล้ำเข้ามาถึงกรุงเทพมหานคร สยามจึงต้องยอมเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงไป เสด็จในกรมฯ ต้องถอนกำลังทหารให้พ้น 25 กิโลเมตรจากแม่น้ำโขง ปักหลักสู้ศึกอยู่ที่บ้านเดื่อหมากแข้ง เมืองหนองคาย (แยกเป็นอำเภอเมืองอุดรธานี จังหวัดอุดรธานีปัจจุบัน) ทั้งทรงมีประกาศิตให้หน่วยราชการทุกหน่วยต้องสร้างหันหน้าสู่แม่น้ำโขงหรือทิศเหนือเพื่อพร้อมที่จะยันศึกซึ่งถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตราบจนปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโทมนัสยิ่งกับการสูญเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในครั้งนั้น ดังพระราชนิพนธ์ฉันท์บทหนึ่งว่า

กลัวเป็นทวิราช บตริป้องอยุธยา
เสียเมืองจึ่งนินทา บ่ละเว้นฤๅว่างวาย
คิดใดจะเที่ยงแท้ ก็บ่พบซึ่งเงื่อนสาย
สบหน้ามนุษย์อาย จึงจะอุดแลเลยสูญฯ

อย่างไรก็ตาม พสกนิกรที่อยู่ทางฝั่งซ้ายซึ่งยังคงจงรักภักดีใต้เบื้องพระยุคลบาทได้พร้อมใจกันอพยพเทครัวมาอยู่ฝั่งขวาเกือบทุกเมือง เช่น พระรามฤทธิ (สอน ต้นตระกูลวิวัฒปทุม) เจ้าเมืองท้าว มาอยู่เมืองเลย พระศรีอัครฮาด (ทองดี ต้นตระกูลศรีประเสริฐ) เจ้าเมืองชนะสงครามหรือสานะคา มาอยู่บ้านท่านาจันทร์และได้ยกเป็นเมืองเชียงคาน เป็นต้น ซึ่งรวมทั้งพระกุประดิษฐบดี (สาลี่หรือชาลี ต้นตระกูลกุประดิษฐ) เจ้าเมืองเวียงจันทน์ บุตรเขยของพระปทุมเทวาภิบาลเจ้าประเทศราชหนองคาย ได้ชักชวนชาวเวียงจันทน์จำนวนมากข้ามลำน้ำโขงมาตั้งมั่นอยู่ ณ บ้านท่าบ่อเกลือ ไม่ยอมเป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนายเด็ดขาด เหตุการณ์ครั้งนั้นประดุจดังพระโอสถทิพย์ให้ทรงดำรงพระชนมายุอยู่ได้

พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านท่าบ่อเกลือเป็น เมืองท่าบ่อ เมื่อปี พ.ศ. 2438 มีพระกุประดิษฐ์บดีเป็นเจ้าเมืองตลอดชีวิต เขตเดิมมี "นายเส้น" (เป็นตำแหน่งคล้ายกับนายอำเภอและกำนัน) รวม 6 เส้น มีบรรดาศักดิ์เป็นขุน เช่น ขุนท่าบ่อบำรุง นายเส้นท่าบ่อ และขุนวารีรักษา นายเส้นน้ำโมง เป็นต้น จนกระทั่งเจ้าเมืองท่าบ่อถึงแก่อสัญกรรม จึงยุบเมืองท่าบ่อลงเป็น อำเภอท่าบ่อ และยุบนายเส้นท่าบ่อ น้ำโมง โพนสา ลงเป็นตำบลและแยกเป็น 10 ตำบลดังปัจจุบัน ส่วนอีก 3 เส้นก็ได้รับการยกฐานะและแยกออกไป คือ เส้นพานพร้าวเป็นอำเภอศรีเชียงใหม่ เส้นแก้งไก่เป็นอำเภอสังคม เส้นบ้านผือเป็นอำเภอบ้านผือและถูกโอนไปขึ้นกับเมืองอุดรธานี และเมื่อปี พ.ศ. 2538 ก็เป็นปีที่ได้มีการจัดตั้งเมืองท่าบ่อครบ 100 ปี

การแบ่งเขตการปกครอง[แก้]

การปกครองส่วนภูมิภาค[แก้]

อำเภอท่าบ่อแบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 10 ตำบล 100 หมู่บ้าน ได้แก่

1. ท่าบ่อ (Tha Bo) 14 หมู่บ้าน 6. บ้านถ่อน (Ban Thon) 8 หมู่บ้าน
2. น้ำโมง (Nam Mong) 13 หมู่บ้าน 7. บ้านว่าน (Ban Wan) 8 หมู่บ้าน
3. กองนาง (Kong Nang) 13 หมู่บ้าน 8. นาข่า (Na Kha) 8 หมู่บ้าน
4. โคกคอน (Khok Khon) 7 หมู่บ้าน 9. โพนสา (Phon Sa) 10 หมู่บ้าน
5. บ้านเดื่อ (Ban Duea) 9 หมู่บ้าน 10. หนองนาง (Nong Nang) 10 หมู่บ้าน
ตำบลในอำเภอท่าบ่อ

การปกครองส่วนท้องถิ่น[แก้]

ท้องที่อำเภอท่าบ่อประกอบด้วยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 12 แห่ง ได้แก่

  • เทศบาลเมืองท่าบ่อ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลท่าบ่อและบางส่วนของตำบลน้ำโมง
  • เทศบาลตำบลโพนสา ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลโพนสา
  • เทศบาลตำบลบ้านถ่อน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านถ่อนทั้งตำบล
  • เทศบาลตำบลกองนาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลกองนางทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลท่าบ่อ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลท่าบ่อ (เฉพาะนอกเขตเทศบาลเมืองท่าบ่อ)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลน้ำโมง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลน้ำโมง (เฉพาะนอกเขตเทศบาลเมืองท่าบ่อ)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลโคกคอน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโคกคอนทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเดื่อ ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านเดื่อทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านว่าน ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านว่านทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลนาข่า ครอบคลุมพื้นที่ตำบลนาข่าทั้งตำบล
  • องค์การบริหารส่วนตำบลโพนสา ครอบคลุมพื้นที่ตำบลโพนสา (เฉพาะนอกเขตเทศบาลตำบลโพนสา)
  • องค์การบริหารส่วนตำบลหนองนาง ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองนางทั้งตำบล

ทรัพยากรธรรมชาติ[แก้]

แหล่งน้ำที่สำคัญได้แก่ แม่น้ำโขง ห้วยโมง ห้วยลาน อ่างเก็บน้ำบังพวน[1] ผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว ยาสูบ และอ้อย

การศึกษา[แก้]

อำเภอท่าบ่อมีโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาอยู่ 8 แห่ง ได้แก่

  1. โรงเรียนท่าบ่อ เป็นโรงเรียนหัวหน้าสหวิทยาเขตท่าบ่อ
  2. โรงเรียนท่าบ่อพิทยาคม
  3. โรงเรียนถ่อนวิทยา
  4. โรงเรียนเดื่อวิทยาคาร
  5. โรงเรียนหนองนางพิทยาคม
  6. โรงเรียนโคกคอนวิทยาคม
  7. โรงเรียนบ้านว่าน

อำเภอท่าบ่อมีโรงเรียนประถมในเขตเทศบาลเมืองท่าบ่ออยู่ 5 แห่ง ได้แก่

  1. โรงเรียนเทศบาลเมืองท่าบ่อ(ท.1)
  2. โรงเรียนอนุบาลดารณีท่าบ่อ
  3. โรงเรียนโกมลวิทยาคาร
  4. โรงเรียนบ้านน้ำโมง
  5. โรงเรียนโพธิเสนวิทยา

อำเภอท่าบ่อมีโรงเรียนระดับอาชีวศึกษาอยู่ 2 แห่ง ได้แก่

  1. วิทยาลัยเทคโนโลยีบริหารธุรกิจรักไทย ท่าบ่อ
  2. วิทยาลัยเทคโนโลยีวิชาชีพท่าบ่อ

การคมนาคม[แก้]

อำเภอท่าบ่อมีถนนสายสำคัญคือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 211 [สายแยกทางหลวงหมายเลข 2 (หนองสองห้อง)-เชียงคาน] การเดินทางมาอำเภอท่าบ่อ ได้แก่

  • ทางรถยนต์ การเดินทางจากกรุงเทพมหานคร สามารถมาได้ทางถนนพหลโยธินถึงจังหวัดสระบุรี แยกเข้าสู่ถนนมิตรภาพไปยังจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี จากจังหวัดอุดรธานีประมาณ 40 กิโลเมตรที่บ้านหนองสองห้อง จะมีทางแยกเข้าถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 211 ขับรถต่อไปอีก 30 กิโลเมตรจะถึงอำเภอท่าบ่อ รวมระยะทางประมาณ 634 กิโลเมตร
  • ทางรถโดยสารประจำทาง[2]
    • รถโดยสารปรับอากาศสาย 933 (กรุงเทพมหานคร-อุดรธานี-ศรีเชียงใหม่)
    • รถโดยสารปรับอากาศสาย 210 , 211 , 262 (นครราชสีมา-อุดรธานี-ศรีเชียงใหม่)
    • รถโดยสารไม่ปรับอากาศสาย 223 (อุดรธานี-ศรีเชียงใหม่)
    • รถโดยสารไม่ปรับอากาศสาย 507 (หนองคาย-เลย)
    • รถโดยสารไม่ปรับอากาศสาย 4326 (หนองคาย-ท่าบ่อ)
    • รถสองแถวขนาดใหญ่สาย 507 (สังคม-ท่าบ่อ)
    • รถสองแถวขนาดใหญ่สาย 1382 (หนองคาย-ศรีเชียงใหม่)
    • รถสองแถวขนาดใหญ่สาย 4651 (ท่าบ่อ-โพธิ์ตาก)
    • รถสองแถวขนาดเล็กสาย 294 (หนองบัวลำภู-บ้านนาคำไฮ-หนองคาย) [ผ่านทางอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี]

สถานที่ที่น่าสนใจ[แก้]

หมู่บ้านประมงน้ำจืด[แก้]

อยู่ที่ตำบลกองนาง ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 211 ตอนท่าบ่อ-ศรีเชียงใหม่ เป็นหมู่บ้านที่ชาวบ้านมีอาชีพทำการประมงน้ำจืดและเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดชนิดต่าง ๆ เช่น ปลาตะเพียน ปลาไน ปลานวลจันทร์น้ำจืด ปลายี่สกเทศ ปลาเกล็ดเงิน ปลาหัวโต และปลาดุกเทศ โดยจัดส่งไปจำหน่ายยังกรุงเทพมหานคร ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นวิถีชีวิตชาวบ้านที่น่าสนใจแห่งหนึ่ง

หมู่บ้านทำยาสูบ[แก้]

อยู่บริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 211 ตอนสี่แยกหนองคาย-ท่าบ่อ มีชาวบ้านทำไร่ยาสูบตามแนวเลียบริมฝั่งโขง มีทิวทัศน์ธรรมชาติที่สวยงาม เป็นวิถีชีวิตชาวบ้านที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่ง

หมู่บ้านทำแผ่นกระยอ[แก้]

หมู่บ้านทำแผ่นกระยอ

อยู่บริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 211 ตอนแยกทางหลวงหมายเลข 2 (หนองสองห้อง)-ท่าบ่อ เป็นหมู่บ้านทำแผ่นกระยอ เป็นแผ่นแป้งสำหรับใช้ทำเปาะเปี๊ยะ มีการส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนและวิถีชีวิตที่น่าสนใจ

แหล่งโบราณคดีบ้านโคกคอน[แก้]

อยู่ที่บ้านโคกคอน ตำบลโคกคอน เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ต่อเนื่องมาถึงสมัยทวารวดี ได้มีการขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณและเครื่องใช้ต่างๆ ได้เป็นจำนวนมาก โบราณวัตถุที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องมือหินขัด กำไลหิน หัวลูกศรหิน กระพรวนสำริด แท่งดินเผา มลายภาชนะดินเผาแบบเนื้อดิน บางชิ้นมีลายเขียนสีแดงแบบกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียง เสมาหินสมัยทวารวดี และครกหินใหญ่ที่สันนิษฐานว่าเป็นเบ้าหลอมโลหะ นอกจากนี้ยังได้พบเหรียญฟูนันสมัยทวารวดี

หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ[แก้]

หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ

ประดิษฐานอยู่ ณ วิหารวัดศรีชมภูองค์ตื้อ บ้านน้ำโมง ตำบลน้ำโมง หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อสร้างในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เมื่อปี พ.ศ. 2105 โดยใช้ทองเหลืองและทองแดงหนัก 1 ตื้อ (ประมาณ 12,000 กิโลกรัม) แล้วหล่อเป็นส่วน ๆ โดยหล่อพระเกศเป็นลำดับสุดท้าย เมื่อหล่อเสร็จประกอบเป็นองค์พระแล้วได้นำมาประดิษฐาน ณ วัดโกสีย์ ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นวัดศรีชมภูองค์ตื้อ เมื่อพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชทรงทราบและได้เสด็จมาทอดพระเนตรแล้วเกิดศรัทธา จึงได้ทรงสร้างพระวิหารเพื่อให้เป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าองค์ตื้อ และปันเขตแดนให้เป็นเขตของพระเจ้าองค์ตื้อพร้อมทั้งมีบริวาร 13 หมู่บ้าน

พระเจ้าองค์ตื้อเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองสำริดขนาดใหญ่ และถือว่าใหญ่ที่สุดของจังหวัดหนองคาย มีพุทธลักษณะงดงามมาก หน้าตักกว้าง 3.30 เมตร สูง 4 เมตร ชาวหนองคายและประชาชนทั่วไปทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงนับถือหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อว่าศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก ในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาได้กำหนดเป็นพระราชพิธีที่กษัตริย์เวียงจันทน์ต้องเสด็จมานมัสการทุก 4 เดือน โดยแต่งขบวนช้าง ม้า และราบ มาสักการะจากวัดท่าคกเรือจนถึงวัดพระเจ้าองค์ตื้อเป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร ถนนนี้จึงได้ชื่อว่า "จรดลสวรรค์" มาจนถึงทุกวันนี้

ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 มีการเวียนเทียนรอบพระวิหารพระเจ้าองค์ตื้อ และตอนเช้าวันแรม 1 ค่ำ มีการจุดบั้งไฟบูชาพระเจ้าองค์ตื้อ และเป็นวันสิ้นสุดงานสมโภชพระเจ้าองค์ตื้อ ซึ่งมีเป็นประจำทุกปีตั้งแต่วันขึ้น 11 ค่ำ เดือน 4 ไปจนถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4

อ้างอิง[แก้]

  1. "สำเนาที่เก็บถาวร". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2008-05-07. สืบค้นเมื่อ 2007-10-25.
  2. ตารางค่าโดยสาร สำนักงานขนส่งจังหวัดหนองคาย[ลิงก์เสีย]