ศาลาแก้วกู่
ศาลาแก้วกู่ | |
---|---|
ศาสนา | |
ศาสนา | พุทธ คริสต์ ฮินดู ความเชื่อพื้นบ้าน |
จังหวัด | จังหวัดหนองคาย |
เจ้าของ | ศูนย์วิปัสสนาแก้วกู่ |
หน่วยงานกำกับดูแล | พุทธมามกะสมาคมจังหวัดหนองคาย[1] |
ที่ตั้ง | |
ที่ตั้ง | ชุมชนบ้านสามัคคี อำเภอเมือง |
ประเทศ | ประเทศไทย |
สถาปัตยกรรม | |
ผู้สร้าง | ปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์ |
เริ่มก่อตั้ง | พ.ศ. 2521 |
ลักษณะจำเพาะ | |
ความสูงสูงสุด | 25 เมตร (รูปปั้นที่สูงที่สุด) |
พื้นที่ทั้งหมด | 42 ไร่ |
เว็บไซต์ | |
Sala Kaeoku Blog |
ศาลาแก้วกู่ เป็นอุทยานขนาด 42 ไร่ของสำนักปฏิบัติธรรมแก้วกู่ และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญในชุมชนสามัคคี อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย ที่ประดิษฐานรูปปั้นคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดใหญ่จำนวนรวมกว่า 200 องค์ โดยประกอบด้วยพระพุทธรูป พระรูปของพระโพธิสัตว์ เทพเจ้าฮินดู บุคคลในคริสต์ศาสนา ความเชื่อพื้นบ้าน และตัวละครจากรามเกียรติ์ อุทยานแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดยปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์ ภายใต้แนวคิดว่า "ทุกศาสนาสามารถอยู่รวมกันได้" และให้เป็น "สถานที่แทนภาพดินแดนแห่งการหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง" ในปี พ.ศ. 2521[2]
ภายในอุทยาน ที่บริเวณฐานของพระรูปแต่ละองค์จะมีจารึกอธิบายชิ้นงานและแนวคิด คติเตือนใจ เป็นภาษาอีสาน และภาษาไทย รูปปั้นที่สูงที่สุดมีความสูงราว 25 เมตร นอกจากนี้ยังมีอาคารสำนักพุทธศาสนาแก้วกู่ความสูงสามชั้น สถาปัตยกรรมเลียนแบบมัสยิด บนหน้าบันของอาคารจารึกสัญลักษณ์โอม และอักษรไทย ศาลาแก้วกู่ โดยชั้นบนสุดเป็นที่ตั้งร่างของปู่บุญเหลือ สุรีรัตน์ที่บรรจุในผอบ [ผะ-อบ] และไม่เน่าเปื่อยทำให้สร้างความอัศจรรย์แก่ผู้ที่ศรัทธาในตัวท่านเป็นอย่างมาก
ปู่บุญเหลือได้สร้างอุทยานนี้ถัดจากสวนพระ หรือ วัดเชียงควน (Buddha Park; Wat Xieng Khuan) ที่ตั้งอยู่ในนครเวียงจันทน์ ประเทศลาว แต่ท่านได้สร้างให้ศาลาแก้วกู่นี้มีงานที่มีความวิจิตรและยิ่งใหญ่กว่าที่เคยสร้างที่ประเทศลาว สวนแห่งนี้มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับสวนแห่งโบมาร์โซ (Gardens of Bomarzo) ที่แคว้นลัตซีโย ประเทศอิตาลี