วิกิพีเดีย:คำถามพบบ่อย
คุณมีคำถามใช่ไหม ? ด้านล่างนี้เป็นคำถาม-คำตอบสำหรับวิกิพีเดียภาษาไทย วิกิพีเดียภาษาอื่นอาจมีคำถามและคำตอบที่แตกต่างกันไป ถ้าคุณไม่เจอคำตอบของคำถามของคุณ ลองทำตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ถ้าคุณเพิ่งรู้จักวิกิพีเดีย ขอแนะนำให้อ่านหน้าเริ่มต้น เพื่อศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเริ่มต้นใช้วิกิพีเดีย
- ถ้าคุณยังไม่พบคำตอบ คุณอาจทิ้งคำถามไว้ที่ วิกิพีเดีย:แผนกช่วยเหลือ ชาววิกิพีเดียพร้อมที่จะตอบคำถามของคุณ หรืออาจทดลองใช้วิกิพีเดียก่อนได้ ชาววิกิพีเดียพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาและข้อผิดพลาดของคุณ เราอยากให้คุณมีส่วนร่วมในวิกิพีเดีย ลองพิมพ์หัวข้อที่คุณต้องการค้นหาในช่องค้นหาด้านซ้าย แล้วกด ดู
คำถามทั่วไป
วิกิพีเดีย คืออะไร
วิกิพีเดีย คือ สารานุกรมเสรี ที่ร่วมสร้างขึ้นโดยผู้อ่านหลายคนร่วมกันปรับปรุงวิกิพีเดียอย่างสม่ำเสมอ ระบบของวิกิพีเดียจะแตกต่างจากแหล่งข้อมูลอื่น ที่ทุกคนสามารถร่วมแก้ไขได้ ไม่เฉพาะเจ้าของเว็บไซต์ วิกิพีเดียจะแตกต่างจากบล็อกและเว็บบอร์ดที่เรื่องทุกเรื่องถูกจัดเรียงตามชื่อหัวข้อนั้นในลักษณะสารานุกรมที่น่าอ่าน
ใครเขียนวิกิพีเดีย
เป็นบุคคลทั่วไป คุณเองก็เขียนวิกิพีเดียได้ ดูที่ วิกิพีเดีย:ใครเขียนวิกิพีเดีย หากคุณต้องการดูว่าใครเขียนหน้านั้น ๆ บ้างให้ดูแถบ "ประวัติ" ด้านบน
จะช่วยแก้ไขวิกิพีเดียได้อย่างไร
อย่ากลัวที่จะแก้ไขบทความบนวิกิพีเดีย สารานุกรมที่ใครก็สามารถช่วยเขียนได้ และยิ่งไปกว่านั้นเรายังสนับสนุนให้ผู้ใช้ กล้าหาญ! ลองอ่านดูว่ามีเนื้อหา การเขียน หรือการใช้ภาษา หรือการจัดรูปแบบ ในส่วนใดที่ท่านอาจแก้ไขหรือเพิ่มเติมได้ จากนั้นก็แก้ไขได้ทันที โดยไม่ต้องกังวลว่าจะทำให้วิกิพีเดียเสียหาย เพราะทุกอย่างสามารถแก้ไขหรือปรับปรุงได้เรื่อยๆ การแก้ไขบทความทำได้ง่าย ๆ ดังนี้
- กดที่ แก้ไข ที่ตอนบนของหน้าบทความที่คุณต้องการแก้ไข โดยคุณสามารถทดลองได้ที่ หน้าทดลองเขียน
- กดปุ่ม บันทึก ที่ด้านล่างของหน้าเพื่อบันทึกการแก้ไขของคุณ หรือกดปุ่ม ดูตัวอย่าง เพื่อทดลองดูผลลัพธ์ของการแก้ไข
หน้าไหนที่แก้ไขไม่ได้บ้าง
ในวิกิพีเดีย หน้าทุกหน้าสามารถแก้ไขได้โดยชาววิกิพีเดียทุกคน ไม่ว่าหน้าสารานุกรมหน้าใด หน้านโยบาย หรือแม้แต่หน้านี้ แม้กระนั้นบางหน้าอาจจะถูกระงับการแก้ไขชั่วคราวถ้าหากมีการก่อกวนซ้ำ โดยหน้านั้นจะติดป้ายไว้ว่า "ห้ามแก้ไขสำหรับผู้ใช้ที่ไม่ล็อกอิน" (ถ้าเป็นการก่อกวนต่อเนื่อง) หรือ "ห้ามแก้ไขสำหรับผู้ใช้ทุกคน" (ถ้าเป็นสงครามการแก้ไขของชาววิกิพีเดียมากกว่าหนึ่งคน)
สำหรับ หน้าหลัก เนื่องจากเป็นหน้าแรกของเว็บไซต์ ได้ถูกระงับการแก้ไขเพื่อป้องกันการกลั่นแกล้ง แต่คุณสามารถแก้ไขได้ผ่านทางแม่แบบต่างๆ ที่ปรากฏในหน้านั้น หรือถ้าต้องการเสนอแนะเปลี่ยนรูปแบบหน้าหลัก สามารถทำได้ผ่านหน้าพูดคุยของหน้านั้น
หากสนใจ สามารถศึกษา วิกิพีเดีย:นโยบายการล็อก เพิ่มเติม
นอกจากการเขียนบทความแล้ว จะช่วยอะไรได้อีกบ้าง
วิกิพีเดียมีหลายเรื่องที่ทุกคนสามารถช่วยกันทำได้ ตั้งแต่เรื่องง่ายสุด ช่วยกันอ่านช่วยตรวจสอบความถูกต้อง หรือแม้แต่เชื่อมโยงบทความเข้าด้วยกันโดยการ ใส่ลิงก์ จัดหมวดหมู่บทความ หรือแม้แต่งานบรการ ตรวจแก้อักษร ตรวจความสวยงามของรูปประโยค และงานอื่นอีกมากมายที่ทุกคนสามารถช่วยกันได้
ทำไมมีลิงก์ทั้งสีแดง สีน้ำเงิน และสีฟ้า
ชื่อหน้าบางหน้ามีเครื่องหมาย : คั่นอยู่ หมายความว่าอย่างไร
คำที่ปรากฏอยู่ทางซ้ายของเครื่องหมาย : เรียกว่า เนมสเปซ เป็นกลุ่มของเนื้อหาในวิกิพีเดีย มีหลายประเภท ยกตัวอย่างเช่น
- บทความทั่วไป จะเป็นชื่อบทความนั้นๆ ไม่มีข้อความอื่นนำหน้า
- หน้าที่เป็นหมวดหมู่ จะมีคำว่า หมวดหมู่:... กำกับด้านหน้า
- หน้าที่เป็นแม่แบบ จะมีคำว่า แม่แบบ:... กำกับด้านหน้า
- หน้าที่เป็นหน้าส่วนตัวของผู้ใช้แต่ละคน จะมีคำว่า ผู้ใช้:... กำกับด้านหน้า
- หน้าที่เป็นการสอนหลักการเขียนบทความวิกิพีเดีย จะมีคำว่า วิธีใช้:... ด้านหน้า
- หน้าที่เป็นนโยบายต่างๆ คู่มือ หลักการที่สำคัญของวิกิพีเดีย จะมีคำว่า วิกิพีเดีย:... กำกับด้านหน้า
ซึ่งการค้นหาหน้าคู่มือหรือนโยบายดังกล่าว สามารถพิมพ์หาในช่อง "ค้นหา" ได้เหมือนการค้นหาบทความปกติ หรืออาจเริ่มต้นศึกษาจากหน้า วิกิพีเดีย:นโยบายและแนวปฏิบัติ ซึ่งมีนโยบายต่างๆ ที่สำคัญ และมีลิงก์เชื่อมโยงไปยังหลักการอื่นๆ อีกมากมาย
แม่แบบคืออะไร
แม่แบบ คือ รูปแบบการดึงโค้ดอย่างเดียวกันเพื่อไปใช้ในหน้าต่าง ๆ ดู วิกิพีเดีย:แม่แบบ
โครงคืออะไร
โครง คือ บทความที่ยังไม่สมบูรณ์ ส่วนใหญ่มักแจ้งไว้เพื่อให้ผู้อื่นทราบว่าเป็นบทความที่ควรต้องเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ ไม่ต้องรู้สึกแย่หากบทความที่คุณสร้างถูกติดป้ายนี้
คุณสามารถช่วยแก้ไขและเพิ่มเติมบทความนี้ให้สมบูรณ์ได้ หากต้องการลงประกาศว่าบทความใดเป็นโครง เพียงแค่ใส่ {{โครง}} ที่บรรทัดล่างสุดของบทความนั้น
การแก้ความกำกวมคืออะไร
ป้ายในบทความมีไว้เพื่ออะไร
คุณไม่ต้องกังวลกับป้ายที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในบทความ ป้ายที่ติดอยู่นั้นเป็นการแจ้งข้อบกพร่องของบทความเพื่อที่จะได้ดำเนินการแก้ไขบทความให้ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต ผู้ใช้ส่วนใหญ่มักจะไม่เข้าใจจุดประสงค์ของการติดป้าย และพยายามจะลบมันออกเสีย แต่การกระทำเช่นนั้น บอตอาจจะย้อนการแก้ไขของคุณออกได้ เนื่องจากบอตจะเข้าใจว่าคุณกำลังก่อกวนบทความอยู่
ข้อแนะนำ:
- ทุกคนในวิกิพีเดียสามารถมีส่วนร่วมในการแจ้งข้อบกพร่องของบทความได้ โดยการติดป้ายในวิธีที่ถูกต้อง
- ถ้าคุณคิดว่าการติดป้ายในบทความนั้นไม่เหมาะสม คุณสามารถพูดคุยกับผู้ที่ติดป้ายนั้นโดยตรง หรือผ่านหน้าอภิปรายของบทความก็ได้
- และคุณสามารถช่วยเหลือวิกิพีเดียได้ โดยการแก้ไขปรับปรุงบทความตามที่ได้มีการแจ้งเอาไว้ และคุณก็จะสามารถลบป้ายนั้นออกได้ทันที
วิกิพีเดียน่าเชื่อถือหรือไม่
เราขอเน้นเตือนว่า ควรใช้วิจารณญาณในการอ่านวิกิพีเดีย เพราะสารสนเทศในวิกิพีเดียเขียนขึ้นจากอาสาสมัคร ทำให้เนื้อหาเปลี่ยนแปลงได้ทุกเมื่อ และบางครั้งอาจถูกก่อกวนจากผู้ไม่หวังดีซ้ำอีก อย่างไรก็ดี คุณสามารถประเมินความน่าเชื่อถือของบทความหนึ่ง ๆ โดยดูจากแหล่งอ้างอิงที่ระบุในบทความนั้น ๆ และบทความในวิกิพีเดียก็มีระดับคุณภาพที่หลากหลาย สุดท้ายแล้ว คุณต้องรับผิดชอบเองจากการนำเนื้อหาวิกิพีเดียไปใช้
การอ้างอิงบทความวิกิพีเดียที่ถูกต้องทำอย่างไร
ถ้าคุณยังยืนยันจะอ้างวิกิพีเดีย ให้ใช้รูปแบบที่ถูกต้อง วิธีหนึ่งคือ เข้าไปในหน้า Special:Cite แล้วกรอกชื่อบทความที่ต้องการ จะปรากฏรูปแบบการอ้างอิงต่าง ๆ ที่สามารถใช้ได้ พึงระลึกว่าการใช้เนื้อหาจากวิกิพีเดียจะต้องเผยแพร่ต่อภายใต้สัญญาอนุญาต CC-BY-SA 3.0 และการใส่เพียงว่า "อ้างอิง/มาจากวิกิพีเดีย" อย่างเดียวไม่เพียงพอ
คำถามการใช้งาน
ช่วยแนะนำหน่อยได้ไหม
หากคุณไม่เคยใช้วิกิพีเดียมาก่อน ให้ลองศึกษา วิกิพีเดีย:เริ่มต้น และ วิกิพีเดีย:สอนการใช้งาน
ไม่สามารถสร้างหรือแก้ไขบทความเป็นเพราะเหตุใด
หากคุณไม่สามารถสร้างหรือแก้ไขบทความได้ แสดงว่าเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งดังต่อไปนี้
- ผู้ใช้ของคุณหรือไอพีที่ตรงกับคุณกำลังถูกบล็อกอยู่ กรุณาติดตามสาเหตุที่ทำให้คุณถูกบล็อกเพิ่มเติม เมื่อการบล็อกหมดเวลาคุณก็จะสามารถใช้งานได้ตามปกติ
- ชื่อหน้ามีคำที่ปรากฏอยู่ในบัญชีดำซึ่งห้ามสร้าง เว้นแต่หน้าที่เคยมีอยู่แล้ว หากจำเป็นต้องสร้างบทความดังกล่าว กรุณาร่างบทความไว้ในหน้าผู้ใช้ของคุณแล้วร้องขอผู้ดูแลระบบให้พิจารณาสร้างให้
- ชื่อหน้าดังกล่าวถูกล็อกไว้มิให้สร้างหรือแก้ไข การล็อกบทความโดยผู้ดูแลระบบมีหลายประเภทตามนโยบายการล็อก ซึ่งบางหน้าก็ล็อกชั่วคราว บางหน้าก็ล็อกถาวร
- เนื้อหาที่เพิ่มเข้ามีลิงก์เว็บสแปมปรากฏในบัญชีดำ กรุณางดเว้นการใส่เว็บไซต์ที่ถูกแจ้งว่าเป็นสแปม (บริการย่อยูอาร์แอลก็เข้าข่ายกรณีนี้)
- เนื้อหาที่เพิ่มเข้าหรือนำออกตรงกับเงื่อนไขของตัวกรองการละเมิดกฎ กรุณาทำความเข้าใจกับคำเตือนที่ระบบตัวกรองได้แจ้งไว้
- การเชื่อมต่อขาดหายไปในระหว่างการแก้ไข หรือฐานข้อมูลถูกล็อกเพื่อบำรุงรักษา กรณีเช่นนี้เกิดน้อยแต่ก็สามารถเป็นไปได้
ทำไมข้อความที่พิมพ์ขึ้นบรรทัดใหม่ แต่เมื่อบันทึกแล้ว ไม่ยอมขึ้นบรรทัดใหม่ให้
HTML ที่แสดงผลโดยเว็บเบราว์เซอร์ มักจะไม่สนใจอักขระช่องว่างที่อยู่ติดกันมากกว่าหนึ่งตัว รวมไปถึงอักขระขึ้นบรรทัดใหม่ โดยจะเห็นเป็นช่องว่างเพียงตัวเดียว หากต้องการแสดงผลขึ้นบรรทัดใหม่ ให้เว้นสองบรรทัด (กด enter สองครั้ง) หรือดูเพิ่มที่ วิธีใช้:กระดาษจดโค้ด
ฉันใช้โค้ดแบบวิกิพีเดียไม่เป็น
ดูได้ที่ วิธีใช้:กระดาษจดโค้ด สำหรับโค้ดง่าย ๆ ที่ใช้บ่อย แต่โค้ดทั้งหมดอยู่ที่ วิกิพีเดีย:การจัดรูปแบบวิกิ นอกจากนี้ คุณยังสามารถใช้เครื่องมือแก้ไขแบบเห็นภาพ (visual editor) อย่างไรก็ตาม เครื่องมือดังกล่าวยังอยู่ในขั้นทดลองและอาจมีการเปลี่ยนแปลงในภายหลัง ขอแจ้งให้ทราบว่าโค้ดวิกิเป็นโค้ดอย่างง่ายสำหรับผู้ใช้ที่ไม่มีพื้นฐานด้านคอมพิวเตอร์ นอกจากนี้คุณสามารถลอกตัวอย่างที่ดีไปใช้เองได้ด้วย
ทำไมข้อความยาวทะลุขอบด้านขวาออกไป แถมยังมีกรอบเส้นประล้อมรอบ
กรุณาพิมพ์เนื้อหาให้ชิดขอบซ้ายเสมอโดยไม่ต้องเว้นวรรคข้างหน้า ระบบจะจัดย่อหน้าให้เอง การเว้นวรรคข้างหน้าข้อความ ระบบจะถือว่าเป็นข้อความที่จัดรูปแบบไว้ล่วงหน้า (pre-format) ใช้สำหรับการแสดงรหัสของภาษาโปรแกรมเป็นต้น ซึ่งรูปแบบดังกล่าวจะไม่มีการตัดขึ้นบรรทัดใหม่ นอกจากคุณจะเป็นคนตัดเอง
ทำไมภาพบางภาพมีขนาดเล็ก
ภาพหลายภาพในวิกิพีเดีย ได้แสดงผลตามการตั้งค่าของผู้ใช้แต่ละคน โดยขนาดย่อปกติ จะถูกตั้งอยู่ที่ความกว้าง 180 พิกเซล ซึ่งเหมาะสำหรับบุคคลที่ใช้จอคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก แต่ถ้าคุณต้องการให้ภาพใหญ่ขึ้นตามความต้องการ สามารถทำได้โดยเลือก "ตั้งค่าผู้ใช้" (จากเมนูด้านขวาบน) และตั้งขนาดตามความต้องการ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถคลิกที่ภาพเพื่อดูภาพใหญ่ได้
แสดงรูปภาพโดยตรงจากเว็บไซต์ภายนอกได้หรือไม่
โดยปกติแล้ว ไม่ได้ แต่คุณสามารถอัปโหลดรูปภาพมายังวิกิพีเดียได้ภายใต้เงื่อนไขบางประการ ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ วิกิพีเดีย:การอัปโหลดภาพ
อาจทำเป็นลิงก์ไปดูสื่อภายนอกได้โดยใช้ {{External media}} อย่างไรก็ตาม จะต้องเป็นสื่อที่เป็นประโยชน์ต่อสารานุกรมเท่านั้น
ทำไมอัปโหลดไฟล์ไม่ได้
เฉพาะผู้อยู่ในสถานะ ผู้อัปโหลด เท่านั้นที่สามารถอัปโหลดไฟล์ได้ การขอสิทธิผู้อัปโหลดโปรดศึกษา วิกิพีเดีย:ผู้อัปโหลด แต่ผู้ใช้ทั่วไปสามารถยื่นคำขออัปโหลดภาพได้ที่ วิกิพีเดีย:ไฟล์สำหรับอัปโหลด
ไม่ทราบที่มาของรูปภาพ หรือลืมไปแล้วว่าเอามาจากไหน
คุณไม่ควรยื่นคำขอหรืออัปโหลดรูปภาพเช่นนั้นเข้ามายังวิกิพีเดีย ตราบเท่าที่คุณไม่ทราบแหล่งที่มา หากคุณเป็นคนสร้างก็ให้ระบุว่าสร้างสรรค์เอง รูปภาพที่ไม่ได้ระบุแหล่งที่มาที่ชัดเจนจะถูกพิจารณาให้ลบภายใน 7 วันหลังจากได้รับแจ้ง ไม่ควรระบุว่ามาจากเสิร์ชเอนจินหรืออีเมล เพราะว่าไม่สามารถพิสูจน์ยืนยันได้
จำเป็นต้องทำภาพให้เป็นขนาดที่ต้องการ หรือพอดีกับหน้าเว็บก่อนอัปโหลดหรือไม่
คุณสามารถยื่นคำขออัปโหลดภาพต้นฉบับที่มีขนาดใหญ่เข้ามาได้ทันที (ขนาดหมายถึงมิติกว้างยาวของรูปภาพ) โดย ไม่จำเป็น ต้องย่อเป็นรูปเล็กก่อน เมื่อใส่ภาพลงในบทความ สามารถกำหนดความกว้างที่ต้องการลงไปในโค้ดรูปภาพได้ด้วยตัวเอง ภาพก็จะถูกย่อลงตามขนาดที่ระบุ พร้อมทั้งสามารถจัดตำแหน่งที่ปรากฏได้ แต่ถ้าอัปโหลดรูปภาพขนาดเล็กเข้ามา การขยายขนาดให้ใหญ่ขึ้นจะทำให้ภาพมัวหรือแตกเป็นเหลี่ยม จนกระทั่งต้องอัปโหลดภาพเดิมในขนาดใหญ่ขึ้นเข้ามาใหม่เพื่อแก้ปัญหา และไฟล์ก็จะซ้ำซ้อนกัน ดังนั้นจึงควรอัปโหลดภาพที่มีขนาดไม่เล็กเกินไปกับการใช้ ศึกษาวิธีการใส่รูปภาพได้จาก วิธีใช้:การใส่ภาพ
สำหรับภาพที่มีสัญญาอนุญาตแบบใช้ลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยชอบ (fair-use) ไม่ควรอัปโหลดภาพที่มีขนาดใหญ่และละเอียดมากจนสามารถนำไปตีพิมพ์ใหม่ได้ชัดเจน เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ภาพไปตีพิมพ์ซ้ำโดยบุคคลภายนอกในระดับเบื้องต้น
ทำอย่างไรให้บทความที่เขียนสามารถสืบค้นได้หลาย ๆ ทาง
คุณไม่ควรสร้างบทความในชื่อใหม่ด้วยวิธีคัดลอกแล้ววางเนื้อหาทั้งหมด เพราะจะทำให้เกิดความซ้ำซ้อนของบทความ (กลายเป็นบทความเดียวกันมากกว่าหนึ่งหน้า) กรุณาศึกษา วิธีใช้:หน้าเปลี่ยนทาง ซึ่งจะสามารถทำให้คำสำคัญอื่น ๆ สามารถโยงมายังบทความเดียวกันได้โดยไม่เกิดความซ้ำซ้อน นอกจากนี้คุณไม่ควรเปลี่ยนชื่อบทความไป ๆ มา ๆ เพียงเพื่อให้สามารถสืบค้นด้วยชื่อใหม่นั้นได้
เปลี่ยนชื่อบทความทำอย่างไร
ผู้ใช้ที่ยืนยันแล้ว (หมายถึง ผู้ใช้ที่มีอายุบัญชีผู้ใช้นานกว่า 4 วัน และมีการแก้ไขกว่า 10 ครั้ง) สามารถเปลี่ยนชื่อบทความได้เองโดยไม่ต้องขอความช่วยเหลือจากผู้ใด สำหรับผู้ใช้รายอื่นสามารถใช้หน้าอภิปรายให้เป็นประโยชน์ ดูรายละเอียดที่ วิธีใช้:การย้ายหน้า
ลืมรหัสผ่านจะทำอย่างไร
ถ้าคุณเคยกรอกอีเมลตอนสมัคร หรือใส่ลงในข้อมูลส่วนตัวในภายหลัง คุณจะสามารถรีเซ็ตรหัสผ่านได้โดยคลิกที่ "ลืมรายละเอียดล็อกอินของคุณ?" ในหน้าแบบฟอร์มล็อกอิน และลิงก์สำหรับรีเซ็ตก็จะส่งไปทางอีเมล แต่ถ้าคุณไม่ได้ใส่อีเมลเอาไว้ คุณจะไม่สามารถล็อกอินได้อีกเลย คุณจำเป็นต้องสมัครบัญชีใหม่ (และอย่าลืมระบุอีเมล) หากเป็นไปได้กรุณาชี้แจงในหน้าผู้ใช้ของบัญชีเก่าด้วยว่า คุณไม่สามารถใช้บัญชีนั้นได้เนื่องจากลืมรหัสผ่าน แล้วใส่ลิงก์ไปที่บัญชีใหม่ เพื่อบอกให้ผู้ใช้อื่นได้ทราบว่าเป็นบุคคลเดียวกัน
ไม่ควรร้องขอให้ผู้ดูแลระบบบอกรหัสผ่าน หรือรีเซ็ตรหัสผ่านให้ เพราะผู้ดูแลระบบไม่มีสิทธิเข้าถึงรหัสผ่านของผู้ใช้ใด ๆ
อยากเปลี่ยนชื่อผู้ใช้
คุณไม่สามารถเปลี่ยนชื่อผู้ใช้เองได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเปลี่ยนชื่อหน้าผู้ใช้ จะให้ผลกับเฉพาะหัวเรื่องของหน้าเท่านั้น ทำให้เกิดหน้าใหม่ขึ้นมา แต่จะไม่ส่งผลกับชื่อที่ใช้สำหรับล็อกอิน (เมื่อคุณเปลี่ยนชื่อหน้าไปแล้ว ชื่อล็อกอินก็ยังคงเหมือนเดิม) นอกจากนั้นหน้าผู้ใช้ที่เปลี่ยนชื่อไป อาจไม่มีอยู่ในระบบหรือไปละเมิดสิทธิของผู้ใช้คนอื่นที่ชื่อตรงกัน หากต้องการเปลี่ยนชื่อสำหรับล็อกอิน กรุณาแจ้งความจำนงไว้ที่ วิกิพีเดีย:เปลี่ยนชื่อผู้ใช้ ผู้ดูแลระบบจะเป็นผู้ดำเนินการเปลี่ยนชื่อล็อกอินให้ แล้วหน้าของผู้ใช้รวมทั้งหน้าย่อยทั้งหมดจะถูกเปลี่ยนตามโดยอัตโนมัติ เราไม่แนะนำให้คุณไปสมัครบัญชีอื่นเข้ามาใหม่ในกรณีนี้ เพราะอาจก่อให้เกิดปัญหาหุ่นเชิดขึ้นได้
ไม่อยากใช้วิกิพีเดียแล้ว หรืออยากยกเลิกบัญชีของตัวเอง
ระบบของมีเดียวิกิไม่สามารถยกเลิกหรือลบบัญชีผู้ใช้ได้ เพราะจะส่งผลกระทบกับประวัติการแก้ไขของบัญชีนั้นในหน้าต่าง ๆ เมื่อคุณไม่ต้องการใช้วิกิพีเดีย คุณก็เพียงแค่ปล่อยทิ้งไว้ และเราหวังว่าในอนาคตคุณจะกลับมาเขียนอีก
ฉันถูกตักเตือนว่าก่อกวนบทความ แต่ฉันไม่ได้ทำ! ฉันทำอะไร
ถ้าคุณคิดว่าข้อความนั้นเจตนาส่งถึงคุณ แต่คุณมิได้ก่อกวนบทความ เป็นไปได้ว่าคุณอาจแก้ไขโดยที่ไม่ได้เป็นการก่อกวนอย่างแท้จริง แต่อาจไม่เหมาะสมกับนโยบายและแนวปฏิบัติของวิกิพีเดีย (สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมดูเพิ่มที่สองหน้านี้) โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โปรดสนใจนโยบายมุมมองที่เป็นกลาง
นอกจากนี้ ยังเป็นไปได้อีกว่าหมายเลขไอพีของคอมพิวเตอร์ที่คุณกำลังใช้อยู่นั้นเคยถูกจับได้ว่าก่อกวนวิกิพีเดีย หากมีข้อสงสัยคุณอาจสอบถามผู้ใช้ที่ฝากข้อความเตือนนั้น
และยังมีกรณีพิเศษอีกกรณีหนึ่งคือ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบางรายบังคับให้ผู้ใช้เข้าถึงเว็บโดยต้องผ่านพร็อกซีเซิร์ฟเวอร์ แม้คุณไม่เข้าใจรายละเอียดทางเทคนิค แต่ผลสุดท้ายทำให้เราไม่สามารถจะแยกแยะระหว่างผู้ใช้ที่บริสุทธิ์กับผู้ใช้ที่ไม่ประสงค์ดี ถ้าคุณใช้บริการอินเทอร์เน็ตเหล่านั้นแต่คุณไม่เคยแก้ไขหน้าใด ๆ เลย เช่นนั้นโปรดอย่าสนใจข้อความเตือน คุณอาจอยากสร้างบัญชีผู้ใช้เพื่อหลีกเลี่ยงข้อความเตือนในกรณีดังกล่าว
ฉันพบข้อผิดพลาด จะทำอย่างไร
แทนที่คุณจะเห็นข้อผิดพลาดในวิกิพีเดียเป็นเรื่องขำขัน แต่คุณสามารถช่วยแก้ไขข้อผิดพลาดนั้นได้ คุณสามารถแก้ไขข้อผิดพลาดเกือบทั้งหมดบนวิกิพีเดียได้ด้วยตนเอง
หรือหากคุณไม่สามารถแก้ไขได้เอง เช่น หน้านั้นถูกห้ามแก้ไข คุณสามารถแจ้งเราได้ทาง วิกิพีเดีย:แผนกช่วยเหลือ ก่อน
ทำไมไม่มีบทความเรื่องที่ฉันคิดว่าควรจะมี
อาสาสมัครเป็นผู้เขียนวิกิพีเดีย ฉะนั้นถ้ายังไม่มีบทความในวิกิพีเดียย่อมหมายความว่าไม่มีอาสาสมัครมาเขียนนั่นเอง คุณสามารถเริ่มเขียนบทความเองได้ หรือขอให้ผู้อื่นสร้างบทความให้ก็ได้ แต่พึงระลึกว่าคุณไม่สามารถบังคับใครให้เขียนบทความแทนได้ และเรื่องที่จะต้องขอมีคุณสมบัติพอเป็นบทความได้
ทำไมฉันสร้างบทความใหม่ไม่ได้/ช่วยตรวจฉบับร่างให้หน่อย
ในปี 2564 วิกิพีเดียภาษาไทยมีข้อตกลงว่าห้ามผู้ใช้ที่มีอายุบัญชีไม่ถึง 4 วัน และแก้ไขไม่ถึง 10 ครั้งสร้างหน้าบทความใหม่ (อ่านรายละเอียดที่ วิกิพีเดีย:จำกัดการสร้างบทความใหม่เฉพาะผู้ใช้ยืนยันอัตโนมัติ) ถ้าบัญชีของคุณผ่านเกณฑ์ดังกล่าวก็สามารถสร้างบทความใหม่ได้อัตโนมัติ ทั้งนี้ เนื่องจากเราต้องการให้ผู้ใช้ใหม่มีความคุ้นเคยกับวิกิพีเดียก่อนการสร้างบทความ
เรามีทางเลือกให้ผู้ใช้ใหม่จัดเตรียมหน้าที่จะสร้างเป็นบทความ ไม่ว่าเป็นหน้าทดลองเขียนส่วนกลางหรือส่วนตัว และฉบับร่าง ซึ่งหน้าเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อการถูกลบน้อยกว่า (และไม่ปรากฏในผลการค้นหาของเสิร์ชเอนจิน) ปกติคุณไม่ต้องดำเนินการใดเพิ่มเติม หากผู้เขียนคนใดเห็นว่าฉบับร่างดังกล่าวผ่านเกณฑ์แล้วก็จะย้ายมาสร้างบทความให้อัตโนมัติ แต่คุณสามารถขอความเห็นได้ในแผนกช่วยเหลือ
คำถามเกี่ยวกับนโยบาย
ใครเป็นเจ้าของวิกิพีเดีย
มูลนิธิวิกิมีเดีย องค์การไม่แสวงผลกำไร เป็นผู้ก่อตั้ง เจ้าของและผู้ดำเนินการโครงการวิกิพีเดีย แต่ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมหรือเป็นเจ้าหรือรับผิดชอบต่อเนื้อหาภายในวิกิพีเดียโดยตรงแต่อย่างใด
ลิขสิทธิ์ผลงานเป็นของใคร คัดลอกไปเผยแพร่ต่อได้ไหม
เนื้อหาบนวิกิพีเดียทั้งหมดเป็นเนื้อหาเสรี (ยกเว้นบางไฟล์ที่ใช้ลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยชอบ) ใช้สัญญาอนุญาตแบบครีเอทีฟคอมมอนส์ รุ่นแสดงที่มา และอนุญาตแบบเดียวกัน 3.0 (CC-BY-SA 3.0) โดยใช้ควบคู่ไปกับสัญญาอนุญาตสัญญาอนุญาตเอกสารเสรีของกนู (GFDL) หน้าที่ใช้สัญญาอนุญาตคู่ ผู้นำไปใช้สามารถเลือกสัญญาอนุญาตที่ต้องการใช้ได้ หมายเหตุ: บางหน้าใช้แต่สัญญาอนุญาต CC-BY-SA 3.0
ทั้งนี้ สัญญาอนุญาตครีเอทีพคอมมอนส์มีข้อกำหนดว่า ต้องแสดงที่มาของงานดังกล่าว และหากดัดแปลงงานนี้ จะต้องใช้สัญญาอนุญาตที่เหมือนหรือมีลักษณะเข้ากับสัญญาอนุญาตนี้ได้เท่านั้น นั่นคือ ทำลิงก์กลับมายังยูอาร์แอลของหน้าต้นฉบับ เช่น ยูอาร์แอลของหน้านี้ https://th.wikipedia.org/w/index.php?title=วิกิพีเดีย:คำถามพบบ่อย
สำหรับ https://th.wikipedia.org
ถือว่าไม่เพียงพอ
ลอกเนื้อหาที่อื่นลงในวิกิพีเดียได้หรือไม่
โดยปกติไม่ได้ เพราะเนื้อหาส่วนใหญ่ที่อยู่ตามเว็บไซต์ หรือสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ สงวนลิขสิทธิ์ ซึ่งแม้ว่าไม่มีประกาศแจ้งลิขสิทธิ์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเนื้อหานั้นเป็นสาธารณสมบัติ เฉพาะบางกรณีเท่านั้นที่สามารถนำมาใช้ได้หากผู้เขียนอนุญาตให้ใช้เนื้อหาภายใต้สัญญาอนุญาตที่เหมาะสม โดยหากยังต้องการเขียนเนื้อหาที่สงวนลิขสิทธิ์นั้น ให้ศึกษา วิกิพีเดีย:เขียนงานอย่างไรไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ รวมทั้งการขอรับบริจาคเนื้อหาที่มีลิขสิทธิ์ ดูที่ วิกิพีเดีย:การบริจาคเนื้อหาอันมีลิขสิทธิ์
แปลวิกิพีเดียภาษาอื่นได้หรือไม่
การแปลวิกิพีเดียภาษาอื่น เช่น วิกิพีเดียภาษาอังกฤษ สามารถทำได้ทันทีเนื่องจากใช้สัญญาอนุญาต CC-BY-SA เหมือนกัน (ดูเพิ่มเติมที่ วิกิพีเดีย:แปลวิกิพีเดียภาษาอื่น)
แต่การแปลเนื้อหาจากเว็บไซต์อื่นที่ไม่ใช่โครงการของวิกิมีเดีย ต้องใช้ความระมัดระวังเพราะอาจเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ได้ เพราะเนื้อหาที่แปลแล้วก็ยังคงเป็นลิขสิทธิ์ของเว็บไซต์ต้นฉบับ
ทั้งนี้ โปรดหลีกเลี่ยงการนำผลลัพธ์จากโปรแกรมแปลภาษา เช่น Google Translate มาลงโดยตรง เนื่องจากโปรแกรมมักจะแปลได้ไม่สมบูรณ์ ผิดหลักไวยากรณ์ หรืออ่านแล้วไม่ราบรื่น
ใช้รูปภาพจากวิกิพีเดียอื่นได้หรือไม่
ต้องดูเป็นรายกรณีไปว่ารูปภาพใช้สัญญาอนุญาตแบบใด เมื่ออัปโหลดเข้ามาที่วิกิพีเดียภาษาไทยแล้ว จะต้องติดป้ายสัญญาอนุญาตที่เหมือนกันหรือเข้ากันได้กับสถานะดั้งเดิม และใส่คำอธิบายที่เหมือนกันและ/หรือใส่การเชื่อมโยงกลับไปยังหน้ารูปภาพที่คุณนำมา นอกจากนี้รูปภาพบางภาพอาจมีอยู่ที่วิกิมีเดียคอมมอนส์แล้ว (ภาพทั้งหมดในคอมมอนส์เป็นภาพเสรี) จึงสามารถใช้รูปภาพในชื่อเดียวกันได้ทันทีโดยไม่ต้องอัปโหลดอีกครั้ง
ทำไมหน้าของฉันจึงถูกลบ
บทความที่ถูกลบมักจะเข้าข่าย วิกิพีเดีย:นโยบายการลบ คุณสามารถอ่านสาเหตุการลบจาก บันทึกการลบ เหตุที่ทำให้บทความถูกลบเช่น เข้าเกณฑ์ลบได้ทันที ขาดความโดดเด่น ละเมิดลิขสิทธิ์ ไม่เป็นสารานุกรม โฆษณา ไม่เป็นกลาง ชักนำยั่วยุ ว่าร้ายหรือเยินยอ ก่อกวน ซ้ำซ้อน ไม่มีความจำเป็น ฯลฯ ตามดุลพินิจของผู้ดูแลระบบ อย่างไรก็ตามหากไม่เข้าใจหรือไม่เห็นด้วยกับเหตุผลการลบดังกล่าว ให้แจ้งผู้ดูแลระบบที่ลบบทความเพื่อให้ชี้แจง และ/หรือ กู้คืนบทความนั้นได้
ทำอย่างไรไม่ให้คนอื่นมาแก้เรื่องที่เราเขียน
เนื่องจากระบบของวิกิพีเดียสนับสนุนให้ทุกคนช่วยกันเขียน เพื่อพัฒนาเนื้อหาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในมุมมองของทุกคน ดังนั้นกรุณาอย่าส่งงานเข้ามาในวิกิพีเดียหากไม่ต้องการให้ถูกแก้ไข อย่างไรก็ตามถ้าบทความมีการแก้ไขกลับไปกลับมาหลายรอบ ทางผู้ดูแลระบบอาจจะล็อกหน้านั้นไว้ เพื่อเจรจาแนวทาง ก่อนที่จะเริ่มแก้ไขต่อไป
ทำไมต้องมีแหล่งอ้างอิง และแหล่งใดสามารถอ้างอิงได้บ้าง
บทความในวิกิพีเดียต้องมีแหล่งอ้างอิง เพื่อยืนยันเนื้อหาที่ปรากฏในบทความว่ามีแหล่งข้อมูลทุติยภูมิที่น่าเชื่อถือได้กล่าวหรือรายงานจริง โดยไม่จำเป็นว่าเนื้อหาที่อ้างถึงจะต้องถูกต้องตามความเป็นจริงเสมอไป เนื่องจากแหล่งอ้างอิงรอบข้างจะช่วยให้ผู้อ่านประเมินได้ว่าสิ่งที่กำลังกล่าวถึงถูกต้องเป็นจริงหรือไม่ แหล่งข้อมูลอาจเป็นหนังสือหรือเว็บไซต์ก็ได้ ดูรายละเอียดที่ วิธีใช้:การอ้างอิงแหล่งที่มา
วิกิพีเดียมีนโยบายไม่อ้างอิงวิกิพีเดียด้วยกันเองภายในบทความ ไม่ว่าจะภาษาเดียวกันหรือภาษาอื่น เพราะทั้งหมดต่างก็เป็นเนื้อหาที่ผู้ใช้เขียนเองได้ จึงไม่สามารถพิสูจน์ความถูกต้องซึ่งกันและกัน ในกรณีที่แปลมาจากวิกิพีเดียภาษาอื่น ควรใช้แหล่งอ้างอิงเหมือนกัน เช่นเนื้อหาจากวิกิพีเดียภาษาอังกฤษอ้างอิงหนังสือ A ก็ควรเอารายชื่อหนังสือ A มาใส่ที่วิกิพีเดียภาษาไทยด้วย และ/หรือหาแหล่งอ้างอิงภาษาไทยอื่นมาเพิ่ม อย่างไรก็ตามคุณสามารถทำลิงก์เชื่อมโยงบทความในภาษาอื่นที่ยังไม่มีในภาษาไทยได้ ดูเพิ่มที่ วิธีใช้:ลิงก์ข้ามโครงการ
สร้างบทความชีวประวัติของตัวเองหรือญาติพี่น้องได้หรือไม่
คุณไม่ควรเขียนบทความเกี่ยวกับตัวคุณเอง อัตชีวประวัติที่เขียนโดยเจ้าตัว ญาติสนิท หรือบุคคลที่ใกล้ชิด เนื้อหามักจะไม่เป็นกลางและน้ำหนักการเขียนมักจะมีลักษณะการชื่นชม ซึ่งขัดแย้งกับนโยบาย วิกิพีเดีย:มุมมองที่เป็นกลาง และในหลายครั้งเนื้อหาที่เขียนโดยผู้เขียนเอง มักจะเยิ่นเย้อ ใส่รายละเอียดทุกอย่างของตัวเองตั้งแต่ชีวประวัติวัยเด็ก เพื่อนสมัยเด็ก หรือแม้แต่ชื่อหัวข้อรายงานที่ทำส่ง และเมื่อข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งถูกลบออก มักจะเกิดปัญหาการแก้ไข ย้อนกลับ หลายต่อหลายครั้ง
หากคุณเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงตามนโยบาย วิกิพีเดีย:บุคคลที่มีชื่อเสียง ก็จะมีคนมาเขียนบทความให้คุณเองโดยที่คุณไม่จำเป็นต้องเขียน หากไม่ได้เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง จะถือว่ายังไม่มีความสำคัญเพียงพอที่จะมีบทความอยู่ในวิกิพีเดีย อย่างไรก็ตามถ้าหากคุณเป็นบุคคลที่กล่าวถึงในบทความ คุณสามารถตรวจสอบแก้ไขรายละเอียดที่ผิดให้ถูกต้องได้
อนึ่ง คุณสามารถสร้างหน้าผู้ใช้ของคุณเพื่อแนะนำตัวเองได้ หน้าผู้ใช้มีเพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการร่วมกันเขียนสารานุกรม ไม่ใช่เว็บไซต์ส่วนตัว เว็บบล็อก หรือเรซูเมสมัครงาน ดูรายละเอียดที่ วิกิพีเดีย:หน้าผู้ใช้
ให้ลบสื่อเกี่ยวกับบุคคลซึ่งฉันไม่ต้องการให้อยู่บนวิกิพีเดียได้ไหม
ไม่ได้ เพราะการอ้างภาวะเฉพาะส่วนตัวไม่เป็นเหตุให้ลบตามนโยบายการลบและนโยบายการลบทันที นอกจากนี้ วิกิพีเดียไม่จำเป็นต้องขออนุญาตเจ้าตัวก่อนนำเนื้อหามาลง หากบุคคลใดสำคัญเพียงพอจะอยู่ในวิกิพีเดียได้ก็ไม่อาจห้ามผู้อื่นเขียนถึงได้
อย่างไรก็ดี คุณยังสามารถรายงานปัญหาการหมิ่นประมาทหรือใส่ร้ายได้ (รวมทั้งปัญหาอื่น ๆ ในนโยบายชีวประวัติบุคคลที่มีชีวิตอยู่) โดยเรารับปากจะจัดการปัญหาดังกล่าวให้เร็วที่สุด
ลงเนื้อหาที่ได้รับคำจ้างวาน คำสั่ง หรือคำขอได้ไหม
โดยปกติแล้วไม่ได้ เพราะเนื้อหาเหล่านี้มักขัดต่อแนวปฏิบัติเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน และมักเขียนอย่างไม่เป็นกลาง
วิธีแก้ไขที่เราแนะนำอย่างหนึ่ง คือ คุณรวบรวมแหล่งอ้างอิงมาให้อาสาสมัครวิกิพีเดียเขียนแทน แต่ก็ต้องดูด้วยว่าเรื่องที่จะเขียนนั้นผ่านเกณฑ์ข้ออื่นหรือไม่ ถ้าหัวข้อที่จะเขียนนั้นไม่ผ่าน อย่างไรก็ไม่สามารถเขียนขึ้นได้
นอกจากนี้ หากคุณได้รับจ้างวาน คำสั่งหรือคำขอมาแล้วไม่รีบแจ้งแต่เนิ่น ๆ เมื่อพบภายหลัง อาจเป็นเหตุให้ถูกบล็อกได้
วิกิพีเดียเป็น "สารานุกรมเสรี" ไม่ใช่หรือ แต่ทำไมยังมีกฎระเบียบมากมาย
คำว่า "เสรี" ในที่นี้ หมายถึง เนื้อหาเสรี ไม่ได้หมายถึงเสรีภาพที่จะทำสิ่งใดก็ได้ ความหมายที่ถูกต้องคือ เนื้อหาบนวิกิพีเดียสามารถนำเนื้อหาไปใช้ประโยชน์ได้ค่อนข้างอิสระ ทั้งนี้ อยู่ภายใต้ข้อตกลงและเงื่อนไขบางประการ
ถามคำถาม
ถามคำถามเกี่ยวกับการใช้วิกิพีเดียได้ที่หน้า วิกิพีเดีย:แผนกช่วยเหลือ