ข้ามไปเนื้อหา

เวสเทิร์นสะฮารา

พิกัด: 25°N 13°W / 25°N 13°W / 25; -13
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
(เปลี่ยนทางจาก ซาฮาราตะวันตก)

25°N 13°W / 25°N 13°W / 25; -13

เวสเทิร์นสะฮารา

الصحراء الغربية (อาหรับ)
aṣ-Ṣaḥrā’ al-Gharbīyah
Taneẓroft Tutrimt  (กลุ่มภาษาเบอร์เบอร์)
Sáhara Occidental  (สเปน)
แผนที่เวสเทิร์นสะฮารา
แผนที่เวสเทิร์นสะฮารา
พิกัด: 25°N 13°W / 25°N 13°W / 25; -13
ประเทศ
เมืองใหญ่สุดเอลอาอายุน
พื้นที่
 • ทั้งหมด266,000 ตร.กม. (103,000 ตร.ไมล์)
ประชากร
 • ทั้งหมด538,755[1] คน
 • ความหนาแน่น2.03 คน/ตร.กม. (5.3 คน/ตร.ไมล์)
 (พ.ศ. 2560)
เขตเวลาUTC+01:00
รหัส ISO 3166EH
ภาษา
ศาสนาอิสลาม
สกุลเงิน

เวสเทิร์นสะฮารา (อังกฤษ: Western Sahara; อาหรับ: الصحراء الغربية; เบอร์เบอร์: Taneẓroft Tutrimt; สเปน: Sáhara Occidental) เป็นดินแดนที่มีข้อพิพาทและถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของโมร็อกโกในภูมิภาคมาเกร็บ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกา ทิศเหนือติดกับประเทศโมร็อกโก ทิศตะวันออกเฉียงเหนือติดกับประเทศแอลจีเรีย ทิศตะวันออกและทิศใต้ติดกับประเทศมอริเตเนีย ส่วนทิศตะวันตกจรดมหาสมุทรแอตแลนติก มีพื้นที่ประมาณ 266,000 ตารางกิโลเมตร (103,000 ตารางไมล์) เป็นหนึ่งในดินแดนที่มีประชากรเบาบางที่สุดในโลก เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบทะเลทราย มีประชากรประมาณ 500,000 คน[2] เกือบร้อยละ 40 อาศัยอยู่ที่เอลอาอายุน ซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดในเวสเทิร์นสะฮารา

เวสเทิร์นสะฮาราถูกสเปนปกครองจนถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 20 หลังจากนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งในรายชื่อดินแดนที่ไม่ได้ปกครองตนเองของสหประชาชาติตั้งแต่ปี 2506 เป็นต้นมา ซึ่งเกิดจากข้อเรียกร้องของโมร็อกโก[3] เป็นดินแดนที่มีประชากรและพื้นที่มากที่สุดที่อยู่ในรายชื่อนี้ ในปี 2508 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้มีมติครั้งแรกเกี่ยวกับเวสเทิร์นสะฮารา ในการขอให้สเปนให้เอกราชแก่ดินแดนนี้[4] หนึ่งปีต่อมามติใหม่ได้รับการรับรองจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อขอให้มีการลงประชามติโดยสเปนเกี่ยวกับการตัดสินใจด้วยตนเอง[5]

ในปี 2518 สเปนได้ยกเลิกการบริหารจัดการดินแดนนี้ไปสู่การจัดการบริหารร่วมโดยโมร็อกโก (ซึ่งได้เรียกร้องสิทธิเหนือดินแดนนี้มาตั้งแต่ปี 2500)[6]และมอริเตเนีย[5] สงครามปะทุขึ้นระหว่างประเทศเหล่านี้กับขบวนการชาตินิยมซาห์ราวี แนวร่วมโปลิซาริโอซึ่งได้ประกาศให้ดินแดนนี้กลายเป็นสาธารณรัฐประชาธิปไตยอาหรับซาห์ราวีมีรัฐบาลพลัดถิ่นอยู่ในทินดูฟ แอลจีเรีย ต่อมา มอริเตเนียได้ถอนการอ้างสิทธิเหนือดินแดนในปี 2522 และในที่สุดโมร็อกโกก็ได้ควบคุมดินแดนส่วนใหญ่รวมทั้งเมืองสำคัญและทรัพยากรธรรมชาติ องค์การสหประชาชาติพิจารณาว่าแนวร่วมโปลิซาริโอเป็นตัวแทนที่ถูกต้องตามกฎหมายของชาวซาห์ราวีและยืนยันว่าชาวซาห์ราวีมีสิทธิในการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง[7]

ในปี 2560 ไม่มีรัฐสมาชิกสหประชาชาติใดให้การยอมรับอำนาจอธิปไตยของโมร็อกโกเหนือดินแดนเวสเทิร์นสะฮารา[8][9][10] อย่างไรก็ตาม หลายประเทศได้แสดงการสนับสนุนต่อการรับรองในอนาคตเกี่ยวกับการผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของโมร็อกโกในฐานะดินแดนปกครองตนเองของราชอาณาจักร กล่าวโดยสรุป การผนวกดินแดนยังไม่ได้รับความสนใจมากนักในประชาคมนานาชาติเนื่องจากมีกรณีพิพาทเรื่องของการผนวกดินแดนอื่น ๆ อีก (เช่น การผนวกดินแดนของรัสเซียในคาบสมุทรไครเมีย)

ตั้งแต่ที่สหประชาชาติผลักดันให้มีการทำข้อตกลงหยุดยิงในปี 2534 สองในสามของดินแดน(รวมถึงส่วนใหญ่ของชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก)[11] ถูกปกครองโดยรัฐบาลโมร็อกโกซึ่งได้รับการสนับสนุนแบบลับ ๆ จากฝรั่งเศสและสหรัฐอเมริกา ขณะที่ส่วนที่เหลือถูกปกครองโดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยอาหรับซาห์ราวี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากแอลจีเรีย[12] ในระดับนานาชาติ ประเทศต่าง ๆ เช่น รัสเซียอยู่ในฐานะที่คลุมเครือและเป็นกลางในการอ้างสิทธิของทั้ง 2 ฝ่าย แต่ก็ได้กดดันให้ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันในการแก้ปัญหาอย่างสันติ ทั้งโมร็อกโกและโปลิซาริโอต่างพยายามที่จะเพิ่มแรงสนับสนุนในการรับรองดินแดนอย่างเป็นทางการจากชาติต่าง ๆ โดยเฉพาะชาติจากแอฟริกา เอเชีย และลาตินอเมริกา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา แนวร่วมโปลิซาริโอได้รับการยอมรับอย่างเป็นทางการสำหรับการจัดตั้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยอาหรับซาห์ราวีจาก 37 ประเทศ และยังเป็นสมาชิกของสหภาพแอฟริกาต่อไป ขณะที่โมร็อกโกได้รับการยอมรับหรือสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศในแอฟริกาหลายแห่ง และส่วนใหญ่จากโลกมุสลิมและสันนิบาตอาหรับ[13] ตลอดสองทศวรรษหลัง การยอมรับที่มีต่อทั้งสองฝ่ายขยายเพิ่มและถดถอยลงตามการเปลี่ยนแปลงของกระแสโลก[ต้องการอ้างอิง]

ภูมิศาสตร์

[แก้]

เวสเทิร์นสะฮารา ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกาติดกับมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือระหว่างมอริเตเนียและโมร็อกโก และยังมีพรมแดนติดกับแอลจีเรียทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

ดินแดนแห่งนี้เป็นดินแดนที่แห้งแล้งและไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัยที่สุดในโลก ทอดตัวยาวเลียบไปตามชายฝั่งมีทะเลทรายที่ราบเรียบและสูงสลับกันไปโดยเฉพาะทางตอนเหนือไปจนถึงเทือกเขาขนาดเล็กที่สูงประมาณ 600 เมตร (2,000 ฟุต) ทางด้านตะวันออก

ในขณะที่บริเวณดังกล่าวอาจประสบกับภาวะน้ำท่วมในช่วงฤดูใบไม้ผลิ แต่ก็ไม่มีลำธารที่ไหลอย่างต่อเนื่อง ในบางครั้งกระแสอากาศนอกชายฝั่งที่เย็นสามารถทำให้เกิดหมอกและน้ำค้างหนาได้ ขณะที่บนฝั่งจะประสบกับความร้อนในฤดูร้อนที่สูงมาก อุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 43 องศาเซลเซียส (109 องศาฟาเรนไฮต์) - 45 องศาเซลเซียส (113 องศาฟาเรนไฮต์) ในเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคม ในช่วงฤดูหนาว กลางวันก็ยังคงร้อนถึงร้อนมากอยู่อุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ 25 องศาเซลเซียส (77 องศาฟาเรนไฮต์) ถึง 30 องศาเซลเซียส (86 องศาฟาเรนไฮต์) แต่ทางตอนเหนือของดินแดน เทอร์โมมิเตอร์อาจวัดอุณหภูมิลงไปได้ถึง 0 องศาเซลเซียส (32 องศาฟาเรนไฮต์) ในตอนกลางคืนซึ่งภายนอกอาจกลายเป็นน้ำแข็งได้ ในช่วงเดือนธันวาคมถึงเดือนมกราคม แต่ก็เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น

ประวัติศาสตร์

[แก้]

ประวัติศาสตร์ในยุคแรก

[แก้]

การตั้งถิ่นฐานในยุคแรกของเวสเทิร์นสะฮารา อยู่ในบริเวณแกตูลี (Gaetuli) ตั้งแต่ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ แหล่งข้อมูลในสมัยโรมันกล่าวถึงดินแดนที่อยู่อาศัยโดยชาวออโตลู แกตูเลี่ยน (Gaetulian Autololes) หรือชาวเผ่าดาราเด แกตูเลี่ยน (Gaetulian Daradae) มรดกของชาวเบอร์เบอร์ยังคงเห็นได้ชัดจากชื่อสถานที่ เช่นเดียวกับชื่อชนเผ่า

การตั้งถิ่นฐานในช่วงแรกของเวสเทิร์นสะฮาราของชนเผ่าอื่น ๆ อาจรวมถึงชาวบาฟูร์ (Bafour)[14] และชาวเซเรอร์ ชาวบาฟูร์ต่อมาถูกแทนที่หรือถูกดูดกลืนโดยกลุ่มคนที่พูดภาษาเบอร์เบอร์ ซึ่งในที่สุดก็รวมเป็นหนึ่งเดียวกับการอพยพของชาวอาหรับเผ่าเบนี ฮัสซัน (Beni Ḥassān)

การเข้ามาของศาสนาอิสลามในคริสศตวรรษที่ 8 มีบทบาทสำคัญในพัฒนาการของภูมิภาคมาเกร็บ การค้าขายพัฒนาขึ้นและดินแดนนี้เป็นเส้นทางหนึ่งสำหรับคาราวานโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างเมือง มาร์ราคิช (Marrakesh) และ ภูมิภาคทอมบอคตู (Tombouctou) ในประเทศมาลี

ในคริสศตวรรษที่ 11 ชาวอาหรับมาคิล (the Maqil Arabs) ประมาณ 200 คน ได้เข้ามาตั้งรกรากอยู่ในโมร็อกโก (ส่วนใหญ่ในบริเวณลำห้วยดรา (the Draa River valley), บริเวณแม่น้ำมูลูยา (Moulouya River), บริเวณเมืองทาฟิลาลท์ (Tafilalt) และ ทาอูรีท์ (Taourirt)[15] ในช่วงยุคสุดท้ายของอาณาจักรอัลโมฮัด กาหลิบ (Almohad Caliphate) ชาว เบนี ฮัสซัน ชนเผ่าย่อยเผ่าหนึ่งของพวกมาคิลถูกขอร้องโดยผู้ปกครองท้องถิ่นชาวซูส์ (Sous) เพื่อให้มาระงับจลาจล พวกเขาเข้ามาตั้งถิ่นฐานในบริเวณปราสาทซูส์ (Sous Ksours) และปกครองเมืองต่าง ๆ เช่น ทารูแดนท์ (Taroudant)[15] ในช่วงการปกครองของราชวงศ์มารินีด ชาวเบนี ฮัสซันก่อการกบฏขึ้น แต่ก็พ่ายแพ้ให้กับสุลต่านและได้หลบหนีออกไปทางแม่น้ำซากวัย เอล-ฮัมราที่แห้งแล้ง (the Saguia el-Hamra river)[15][16] หลังจากนั้น ชาวเบนี ฮัสซันก็ต้องทำสงครามกับชาวเบอร์เบอร์เร่ร่อนเผ่าหนึ่งในทะเลทรายสะฮารา ที่ชื่อ เผ่าลัมตูน่า (Lamtuna) อยู่เสมอ ประมาณห้าศตวรรษผ่านไป กระบวนการที่ซับซ้อนของการผสมผสานทางวัฒนธรรมและการผสมผสานในที่ต่าง ๆ ในภูมิภาคมาเกร็บและแอฟริกาเหนือทำให้ชนเผ่าพื้นเมืองเบอร์เบอร์บางเผ่าได้ปะปนไปกับชนเผ่าอาหรับมาคิล ก่อให้เกิดเป็นวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของโมร็อกโกและมอริเตเนีย

จังหวัดของสเปน

[แก้]
เวสเทิร์นสะฮารา ในปี 2419

ชาวสเปนเริ่มสนใจในบริเวณสะฮาราเพื่อใช้ในการทำท่าเรือเพื่อการค้าทาส โดยในช่วงทศวรรษที่ 1700 สเปนได้เปลี่ยนกิจกรรมทางเศรษฐกิจบนชายฝั่งทะเลสะฮาราไปสู่การจับปลาเชิงพาณิชย์[17] หลังจากมีข้อตกลงร่วมกันระหว่างมหาอำนาจอาณานิคมในยุโรปในการประชุมที่เบอร์ลินเมื่อปี 2427 เกี่ยวกับขอบข่ายอาณานิคมในแอฟริกา สเปนได้ยึดอำนาจควบคุมเวสเทิร์นสะฮาราและจัดตั้งเป็นอาณานิคมของสเปน[18] หลังจากปี 2482 และการปะทุขึ้นของสงครามโลกครั้งที่สองทำให้พื้นที่นี้ถูกปกครองโดยโมร็อกโกของสเปน จากผลดังกล่าวทำให้ อาห์เหม็ด เบลบาเชอร์ ฮัสคูรี (Ahmed Belbachir Haskouri) หัวหน้าคณะรัฐมนตรี เลขาธิการรัฐบาลโมร็อกโกของสเปน ได้ร่วมมือกันกับชาวสเปนเพื่อเลือกผู้ว่าการในดินแดนนั้น บรรดาผู้มีอิทธิพลในสะฮาราซึ่งอยู่ในสถานะที่สำคัญ เช่น สมาชิกของตระกูล มา เอล ไอนาอิน (Maa El Ainain family) ได้เสนอรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าการคนใหม่ เบลบาเชอร์ ได้รับเลือกให้อยู่รายชื่อนี้พร้อมด้วยข้าราชการชั้นสูงของสเปน ในช่วงงานเฉลิมฉลองประจำปีของการประสูติศาสดามุฮัมมัด บรรดาผู้มีอิทธิพลเหล่านี้ก็ได้แสดงความเคารพต่อกาหลิบเพื่อแสดงความซื่อสัตย์ต่อราชวงศ์โมร็อกโก

รัฐในอารักขาของสเปนและฝรั่งเศสในโมร็อกโกและสะฮาราของสเปน ในปี 2455

เมื่อเวลาผ่านไป การปกครองอาณานิคมของสเปนเริ่มคลี่คลายลงด้วยกระแสทั่วไปของการมอบเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ดินแดนหรือรัฐในอารักขาในแอฟริกาเหนือและในบริเวณตอนล่างของทะเลทรายสะฮาราเริ่มจะได้รับเอกราชจากมหาอำนาจในทวีปยุโรป การให้เอกราชของสเปนเป็นไปอย่างเชื่องช้า แต่แรงกดดันทางด้านการเมืองและสังคมภายในของสเปนนั้นเกิดขึ้นในช่วงท้ายของการปกครองของฟรันซิสโก ฟรังโก มันเป็นแนวความคิดที่นิยมไปทั่วโลกที่มีต่อการให้เอกราช สเปนจึงเริ่มที่จะปลดตัวเองออกจากดินแดนอาณานิคมที่เหลืออยู่ ในปี 2517-2518 รัฐบาลได้ออกคำมั่นสัญญาว่าจะลงประชามติเกี่ยวกับการให้เอกราชในเวสเทิร์นสะฮารา

ในเวลาเดียวกัน โมร็อกโกและมอริเตเนียซึ่งมีข้อเรียกร้องทางประวัติศาสตร์และแข่งกันอ้างถึงอธิปไตยเหนือดินแดน โต้แย้งว่าดินแดนดังกล่าวถูกแบ่งแยกออกโดยมหาอำนาจอาณานิคมของยุโรป แอลจีเรียซึ่งมีพรมแดนติดกับดินแดนนี้ ยังคงมองข้อเรียกร้องเหล่านั้นโดยมีข้อกังขาเนื่องจากเป็นคู่แข่งกับโมร็อกโกมาอย่างยาวนาน หลังจากการพิจารณาในเรื่องกระบวนการปลดปล่อยอาณานิคมโดยสหประชาชาติ รัฐบาลแอลจีเรียภายใต้การนำของ อูอารี บูเมเดียน (Houari Boumédiènne) ในปี 2518 ก็ได้ให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มแนวร่วมโปลิซาริโอ (Polisario Front) ซึ่งคัดค้านการเรียกร้องสิทธิของโมร็อกโกและมอริเตเนียและเรียกร้องอิสรภาพให้แก่เวสเทิร์นสะฮารา

สหประชาชาติพยายามที่จะระงับข้อพิพาทเหล่านี้ผ่านภารกิจในการไปเยือนเมื่อปลายปี 2518 รวมทั้งคำตัดสินจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) อาจยอมรับได้ว่าเวสเทิร์นสะฮารามีความเกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์กับโมร็อกโกและมอริเตเนีย แต่ประชากรในดินแดนนี้ก็มีสิทธิในการตัดสินใจการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2518 โมร็อกโกได้เริ่มปฏิบัติการกรีนมาร์ช (the Green March) ในเวสเทิร์นสะฮารา ชาวโมร็อกโกที่ปลอดอาวุธจำนวน 350,000 คน มารวมกันที่เมือง ทาร์ฟายา (Tarfaya) ในโมร็อกโกตอนใต้และรอสัญญาณจากสมเด็จพระราชาธิบดีฮะซันที่ 2 แห่งโมร็อกโกเพื่อข้ามพรมแดนในการเดินขบวนอย่างสันติ แต่เมื่อไม่กี่วันก่อนหน้านี้ ในวันที่ 31 ตุลาคมกองกำลังโมร็อกโกได้บุกเวสเทิร์นสะฮาราทางตอนเหนือไปแล้ว[19]

การเรียกร้องเอกราช

[แก้]
ระบบกำแพงโมร็อกโกในเวสเทิร์นสะฮารา เริ่มสร้างเมื่อราวทศวรรษ 2520
การเฉลิมฉลองวันประกาศเอกราชจากสเปนปีที่ 30 ในเขตปลดปล่อยตนเองเสรี (2548)

ในช่วงปลายสมัยการปกครองของนายพลฟรังโก และหลังจากปฏิบัติการกรีนมาร์ช รัฐบาลสเปนได้ลงนามในข้อตกลงไตรภาคีร่วมกับโมร็อกโกและมอริเตเนียในการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการถ่ายโอนดินแดนเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2518 ข้อตกลงนี้จะแบ่งการปกครองออกเป็นสองฝ่าย ทั้งโมร็อกโกและมอริเตเนียจะแบ่งกันครอบครองดินแดน โมร็อกโกจะครอบครองดินแดนทางตอนเหนือประมาณ 2 ใน 3 ของพื้นที่ในฐานะจังหวัดทางใต้ของโมร็อกโก และมอริเตเนียจะครอบครองดินแดนในส่วนที่สามในฐานะจังหวัด Tiris al-Gharbiyya สเปนจะยุติบทบาทของตัวเองในสะฮาราของสเปนใน 3 เดือน และจะส่งคนของตัวเองที่ยังเหลืออยู่กลับประเทศ[20]

การผนวกดินแดนของโมร็อกโกและมอริเตเนียถูกต่อต้านโดยกลุ่มแนวร่วมโปลิซาริโอ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากแอลจีเรีย[21] ในปี 2522 เริ่มเกิดสงครามกองโจรขึ้น มอริเตเนียถอนตัวออกจากแรงกดดันของกลุ่มโปลิซาริโอนี้ซึ่งรวมไปถึงการวางระเบิดในเมืองหลวงและเป้าหมายทางเศรษฐกิจอื่น ๆ โมร็อกโกจึงได้ขยายการครอบครองไปยังดินแดนที่เหลือแทน จากนั้น โมร็อกโกจึงเริ่มจะสะสมกองโจรมากขึ้นโดยการตั้งค่ายขึ้นมากลางทะเลทรายอย่างกว้างใหญ่ (หรือที่เรียกกันว่า กำแพงพรมแดนหรือกำแพงโมร็อกโก) เพื่อป้องกันนักรบกองโจร[22] ความเป็นศัตรูกันยุติลงในข้อตกลงหยุดยิงเมื่อปี 2534 ซึ่งได้รับการควบคุมโดยภารกิจรักษาสันติภาพ (MINURSO) ภายใต้ข้อกำหนด Settlement Plan ของสหประชาชาติ

อ้างอิง

[แก้]
  1. "การประเมินประชากรโลก พ.ศ. 2560". ESA.UN.org (custom data acquired via website). United Nations Department of Economic and Social Affairs, Population Division. สืบค้นเมื่อ 10 September 2017.
  2. Department of Economic and Social Affairs Population Division (2009). "World Population Prospects, Table A.1" (PDF). 2008 revision. United Nations. สืบค้นเมื่อ 12 March 2009. {{cite journal}}: Cite journal ต้องการ |journal= (help)
  3. Mariano Aguirre, Vers la fin du conflit au Sahara occidental, Espoirs de paix en Afrique du Nord Latine in: Le Monde diplomatique, Novembre 1997
  4. United Nations General Assembly (16 December 1965). "RESOLUTIONS ADOPTED BY THE GENERAL ASSEMBLY DURING ITS TWENTIETH SESSION, resolution 2072 (XX), QUESTION OF IFNI AND SPANISH SAHARA".
  5. 5.0 5.1 "Milestones in the Western Sahara conflict". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 27 February 2012.
  6. González Campo, Julio. "Documento de Trabajo núm. 15 DT-2004. Las pretensiones de Marruecos sobre los territorios españoles en el norte de África (1956–2002)" (PDF) (ภาษาสเปน). es:Real Instituto Elcano. p. 6. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิม (PDF)เมื่อ 4 March 2016.
  7. "United Nations General Assembly Resolution 34/37, The Question of Western Sahara". undocs.org (ภาษาอังกฤษ). United Nations. 21 November 1979. A/RES/34/37. สืบค้นเมื่อ 28 March 2017.
  8. "Report of the Secretary-General on the situation concerning Western Sahara (paragraph 37, p. 10)" (PDF). March 2, 1993. สืบค้นเมื่อ October 4, 2014.
  9. http://www.wsrw.org/a105x1410
  10. http://www.scilj.se/news/international-law-allows-the-recognition-of-western-sahara/
  11. มีเพียงส่วนของชายฝั่งในบริเวณพื้นที่เล็ก ๆ ทางด้านทิศใต้ รวมไปถึงคาบสมุทร ราส นูอาดิบู เท่านั้นที่ไม่ได้ถูกปกครองโดยโมร็อกโก
  12. Baehr, Peter R. The United Nations at the End of the 1990s. 1999, page 129.
  13. Arabic News, Regional-Morocco, Politics (17 December 1998). "Arab League Withdraws Inaccurate Moroccan maps". คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ October 22, 2013.{{cite web}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)[แหล่งอ้างอิงอาจไม่น่าเชื่อถือ]
  14. Handloff, Robert. "The West Sudanic Empires". Federal Research Division of the Library of Congress. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2011-05-11. สืบค้นเมื่อ 3 September 2009.
  15. 15.0 15.1 15.2 History of Ibn Khaldun Volume 6, pp80-90 by ibn Khaldun
  16. "Rawd al-Qirtas, Ibn Abi Zar
  17. Besenyo, Janos. Western Sahara. Publikon, 2009, P. 49.
  18. "ICE Conflict Case ZSahara". .american.edu. 17 March 1997. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2012-01-25. สืบค้นเมื่อ 13 November 2011.
  19. János, Besenyő (2009). Western Sahara (PDF). Pécs: Publikon Publishers. ISBN 978-963-88332-0-4.
  20. Tomás Bárbulo, "La historia prohibida del Sáhara Español," Destino, Imago mundi, Volume 21, 2002, Page 292
  21. "Algeria Claims Spanish Sahara Is Being Invaded". The Monroe News-Star. 1 January 1976. สืบค้นเมื่อ 19 October 2016 – โดยทาง Newspapers.com.
  22. McNeish, Hannah (5 June 2015). "Western Sahara's Struggle for Freedom Cut Off By a Wall". Al Jazeera. สืบค้นเมื่อ 17 October 2016.

แหล่งข้อมูลอื่น

[แก้]