งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ
มุมมองและกรณีตัวอย่างในบทความนี้อาจไม่ได้แสดงถึงมุมมองที่เป็นสากลของเรื่อง |
ส่วนหนึ่งของชุดบทความ |
ศาสนาพุทธ |
---|
งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ หรือ พุทธชยันตี 2500 ปี (อังกฤษ: 2500th Buddha Jayanti Celebration) เป็น เทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2500 เนื่องในโอกาสที่ครบรอบ 2500 ปีแห่งการปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นอกจากนี้ยังเรียกว่างานฉลองกึ่งพุทธกาล เนื่องจากความเชื่อโบราณว่าพระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ 5000 ปี แล้วจักเสื่อมสลายลง1
งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ในประเทศไทย ได้มีการเตรียมการล่วงหน้ากว่า 5 ปี นับแต่ปี พ.ศ. 2495 มีการสร้างอนุสรณ์สถานพุทธมณฑล และการจัดกิจกรรมมากมายเพื่อเฉลิมฉลองพร้อมกันกับประเทศ ศรีลังกา อินเดีย พม่า เนปาล และประเทศที่มีประชากรนับถือพระพุทธศาสนาทั่วโลก2 โดยในประเทศอื่นใช้คำว่า "พุทธชยันตี 2500 ปี"
งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษมีการถ่ายทอดสดโดยสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีช่อง 4
ประวัติ
[แก้]งานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ในประเทศไทย เริ่มจัดขึ้นโดยการปรารภของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม โดยการแนะนำของ ฯพณฯ อู ถั่น ชาวพุทธพม่า เลขาธิการองค์การสหประชาชาติในขณะนั้น ที่ท่านได้ดำริให้ชาวพุทธทั่วโลกร่วมกันจัดงานฉลองพุทธชยันตี 25 พุทธศตวรรษ หรือ 2500th Buddha Jayanti Celebration โดยมีการรณรงค์ให้ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาต่าง ๆ จัดกิจกรรมเฉลิมฉลองในปีนั้น เช่น ประเทศพม่า ประเทศศรีลังกา[1] ประเทศอินเดีย[2][3] โดยประเทศต่าง ๆ ได้จัดกิจกรรมเพื่อการฉลองนี้เป็นงานสำคัญระดับประเทศ
โดยในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้นำโอกาสนี้จัดเป็นงานฉลองทางพระพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่ของประเทศไทย โดยเริ่มงานตั้งแต่ พ.ศ. 2495 มีการวางโครงการและระดมทุนเพื่อจัดสร้างพุทธมณฑล เพื่อเป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช (รัชกาลที่9) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างพุทธมณฑล เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2498 นอกจากนี้ยังมีการออกประกาศพระบรมราชโองการ พระราชทานบริเวณสนามหลวงเป็นสังฆปริมณฑลสำหรับจัดงานฉลองในครั้งนี้เป็นการชั่วคราว[4] ระหว่างวันที่ 12 - 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 โดยมีการจัดสร้างพระเครื่องจำนวนมากที่สุด เรียกว่า "พระฉลอง 25 พุทธศตวรรษ" จำนวนกว่า 5,042,500 องค์[5] เพื่อระดมทุนในการสร้างพุทธมณฑล มีการออกประกาศให้วันธรรมสวนะเป็นวันหยุดราชการ[6]1 มีการออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม[7] พระราชบัญญัติล้างมลทิน[8] นอกจากนี้แล้ว รัฐบาลยังได้ออกพระราชบัญญัติเหรียญงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ[9] เป็นกรณีพิเศษด้วย ซึ่งเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในประเทศไทยที่รัฐบาลมีการออกเหรียญที่ระลึก และแพรแถบ เนื่องในโอกาสสำคัญทางศาสนา นอกจากนี้ ยังได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค เพื่อฉลอง 25 พุทธศตวรรษ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 ด้วย ซึ่งเป็นการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคเป็นครั้งแรกในรัชกาลที่ 9
-
พระฉลอง 25 พุทธศตวรรษ สร้างขึ้นประกอบด้วย แผ่นทองแดง ตะกั่ว เงิน ที่พระคณาจารย์ต่างๆ เกือบทั้งราชอาณาจักรได้ลงจารจารึกส่งมาให้ และเศษชนวนหล่อพระในพิธีแห่งอื่นๆ รวมหล่อผสมลงไปในคราวนี้ด้วย
-
พระฉลอง 25 ศตวรรษ เนื้อผง เนื้อดิน
เชิงอรรถ
[แก้]หมายเหตุ 1: ความเชื่อว่าพระพุทธศาสนาจะดำรงอยู่ 5000 ปี แล้วจักเสื่อมสลาย มีที่มาจากคัมภีร์จตุตถสมันตปาสาทิกา อรรถกถาพระวินัย จุลลวรรค ว่าด้วยภิกขุนิกขันธกวรรณนา[10] ซึ่งคัมภีร์นี้แต่งโดยพระเถระชาวชมพูทวีปในสมัยหลังพุทธกาล เพื่ออธิบายความในพระวินัยปิฎก ซึ่งเป็นอัตตโนมติสำหรับการศึกษาเพิ่มเติมจากพระไตรปิฎกเท่านั้น อย่างไรก็ดี ในพระบาลีพุทธพจน์ พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสไว้ว่าศาสนาพุทธจะมีอายุ 5000 ปี หรือกำหนดปีแห่งการสิ้นสุดของศาสนาพุทธหรือพระธรรมวินัยไว้ แม้ในพระไตรปิฎก เล่มที่ 7 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 7 จุลวรรค ภาค 2 ตอนว่าด้วยครุธรรม 8 ประการของภิกษุณี[11] ที่ผู้แต่งคัมภีร์จตุตถสมันตปาสาทิกานำมาอธิบายความ ก็ไม่ได้มีเนื้อความที่ทรงกำหนดปีสิ้นสุดของพระพุทธศาสนาไว้แต่ประการใด ดังนั้นคำว่ากึ่งพุทธกาล หรือความเชื่อว่าศาสนาพุทธจักสิ้นใน 5000 ปีหลังพุทธปรินิพพาน จึงเป็นความเชื่อที่มีมาแต่โบราณที่ยึดเอามติของผู้เขียนคัมภีร์สมัยหลังพระบาลีที่เป็นคัมภีร์อื่นนอกเหนือจากพระไตรปิฎกเป็นสำคัญ ซึ่งในทางวิชาการพุทธศาสนาเถรวาทถือว่าโต้แย้งได้
หมายเหตุ 2: ประเทศไทยจัดงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ ช้ากว่าประเทศอื่น ๆ 1 ปี โดยประเทศอินเดีย ศรีลังกา และพม่า จัดงานฉลองนี้ในปี พ.ศ. 2499 เนื่องจากประเทศไทยนับพุทธศักราชช้ากว่าประเทศอื่น โดยประเทศไทยนับหนึ่งปีหลังพุทธปรินิพพานเป็น พ.ศ. 1 แต่ประเทศอื่นนับตั้งแต่การปรินิพพานของพระพุทธเจ้าเป็น พ.ศ. 1 (ดูเพิ่มที่ พุทธศักราช)
เหรียญที่พระราชทานเป็นที่ระลึก
[แก้]-
เหรียญงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Ananda W. P. Guruge. (2012). A Blueprint for the Revival of Buddhism: Reflections on the Fiftieth Anniversary of 2500 Buddha Jayanti. [on-line]. Available URL: [1] เก็บถาวร 2012-07-01 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน 19-3-12
- ↑ วัดไทยลุมพินี. (2555). ประวัติวัดไทยลุมพินี. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก http://www.watthailumbini-th.org/index.php?lay=show&ac=article&Id=538915761 เข้าถึงเมื่อ 19-3-55
- ↑ พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ. ลุมพินี สถานที่ประสูติพระรูปกายของพระสิทธัตถโคตมพุทธเจ้าแห่งศากยวงศ์. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ๒๕๔๑
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระบรมราชโองการ ประกาศ พระราชทานบริเวณสนามหลวงเป็นสังฆปริมณฑลในงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๔๓ ก , ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐, หน้า ๗๔๘
- ↑ หนังสือพิมพ์บ้านเมือง. (2555). พระฉลอง 25 พุทธศตวรรษ พระเครื่องแห่งประวัติศาสตร์ พระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเททอง ทรงกดพิมพ์. [ออน-ไลน์]. เข้าถึงได้จาก : [2] 20-3-55
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, ประกาศสำนักคณะรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาทำงานและวันหยุดราชการ (ฉบับที่ ๙) พ.ศ. ๒๔๙๙, ๗๓ ตอนที่ ๘๑ ง, ๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๙๙, หน้า ๒๙๘๐
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมในโอกาสครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๔๙๙, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๑๑ ก, ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐, หน้า ๒๘๓
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสครบ ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๔๙๙, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๑๑ ก, ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐, หน้า ๒๗๘
- ↑ ราชกิจจานุเบกษา, พระราชบัญญัติเหรียญงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ พ.ศ. ๒๔๙๙, เล่ม ๗๔ ตอนที่ ๘, ๒๒ มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๐, หน้า ๒๕๕
- ↑ อรรถกถาพระวินัย จุลลวรรค วรรณนา ภิกขุนิกขันธก วรรณนา ว่าด้วยครุธรรม ๘. จตุตถสมันตปาสาทิกา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [3]. เข้าถึงเมื่อ 20-3-55
- ↑ พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒ ครุธรรม ๘ ประการของภิกษุณี. พระไตรปิฏกฉบับสยามรัฐ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก [4]. เข้าถึงเมื่อ 20-3-55