ข้ามไปเนื้อหา

คอเลสติแลน

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
คอเลสติแลน
ข้อมูลทางคลินิก
ชื่อทางการค้าBindRen
AHFS/Drugs.comInternational Drug Names
ระดับความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์
  • B
ช่องทางการรับยาการรับประทาน
รหัส ATC
กฏหมาย
สถานะตามกฏหมาย
  • In general: ℞ (Prescription only)
ข้อมูลเภสัชจลนศาสตร์
ชีวประสิทธิผลไม่ถูกดูดซึม
การจับกับโปรตีนไม่ถูกดูดซึม
การเปลี่ยนแปลงยาไม่ถูกดูดซึม
ครึ่งชีวิตทางชีวภาพไม่ถูกดูดซึม
การขับออกอุจจาระ
ตัวบ่งชี้
  • 2-(chloromethyl)oxirane 2-methyl-1H-imidazole copolymer
เลขทะเบียน CAS
PubChem CID
ChemSpider
  • none
KEGG
ChEMBL
ข้อมูลทางกายภาพและเคมี
สูตร(C4H5ClN2)m(C3H6O)n
  7checkY (what is this?)  (verify)
สารานุกรมเภสัชกรรม

คอเลสติแลน (อังกฤษ: Colestilan, ชื่อการค้า BindRen) เป็นยาที่ออกฤทธิ์เป็นยาจับฟอสเฟต (phosphate binder)[1][2][3] และยังจัดเป็นยาลดระดับไขมันในกระแสเลือดกลุ่มไบล์แอซิดซีเควสแตรนต์ (bile acid sequestrant) อีกด้วย[2][4][5]

การใช้ประโยชน์ทางคลินิก

[แก้]

คอเลสติแลนถูกใช้เป็นยาสำหรับรักษาภาวะฟอสเฟตสูงในเลือด (Hyperphosphataemia) ในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่จำเป็นต้องแยกสารผ่านเยื่อ (dialysis) ซึ่งรวมไปถึงผู้ป่วยที่ต้องชำระเลือดผ่านเยื่อบุช่องท้อง (peritoneal dialysis)[1][2][6][7] จากการศึกษาทางคลินิกพบว่าคอเลสติแลนทำให้ระดับฟอสเฟตในกระแสเลือดลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยการรับประทานคอเลสติแลนในขนาด 11.5 กรัม และ 13.1 กรัมต่อวัน สามารถลดระดับฟอสเฟตในกระแสเลือดลงได้ 0.36 และ 0.50 มิลลิโมลต่อลิตร ตามลำดับ[3][7] นอกจากนี้ ผลของคอเลสติแลนทำให้ปริมาณกรดน้ำดีในร่างกายลดลง กระตุ้นการสังเคราะห์กรดน้ำดีทดแทนที่ตับ โดยการดึงเอาคอเลสเตอรอลในกระแสเลือดและตับมาสร้างเป็นกรดน้ำดีทำให้ลดการสะสม ไขมันในตับและคอเลสเตอรอลในกระแสเลือด จึงมีการนำเอาคอเลสติแลนมาใช้เพื่อลดระดับไขมันในเลือดด้วย แต่ยังคงอยู่ในขอบเขตที่จำกัด [5]

รูปแบบเภสัชภัณฑ์

[แก้]

คอเลสติแลน มีจำหน่ายในชื่อการค้า BindRen เป็นยาเม็ดเคลือบขนาด 1 กรัม/เม็ด สีขาว รูปไข่ ยาว 20.2 มิลลิเมตร ส่วนกว้างที่สุด 10.7 มิลลิเมตร พร้อมกับมีตัวอักษร “BINDREN” สีชมพูพิมพ์อยู่ด้านหนึ่งของเม็ดยา [8]

ขนาดยา

[แก้]

ขนาดของคอเลสติแลนที่แนะนำต่อวัน คือ 6-9 กรัมต่อวัน โดยแบ่งให้วันละ 2-3 ครั้ง หลังอาหารทันที (ทั้งผู้ที่ยังไม่เคยได้รับยาจับฟอสเฟตหรือผู้ที่เปลี่ยนยาจับฟอสเฟตชนิดอื่นมาเป็นคอเลสติแลน) ทั้งนี้ ควรติดตามระดับฟอสเฟตในกระแสเลือดเป็นระยะระหว่างการใช้คอเลสติแลน ในกรณีที่ระดับฟอสเฟตในกระแสเลือดยังไม่ถึงเป้าหมาย สามารถเพิ่มขนาดยาได้สูงสุดไม่เกิน 3 กรัมต่อวัน ในช่วงระยะห่าง 2-3 สัปดาห์ โดยขนาดของคอเลสติแลนสูงสุดที่มีการใช้ในการศึกษาทางคลินิกคือ 15 กรัมต่อวัน[8]

การใช้ยาในกลุ่มประชากรพิเศษ

[แก้]

การใช้คอเลสติพอลในกลุ่มประชากรพิเศษส่วนใหญ่แล้วยังมีข้อมูลอยู่อย่างจำกัดหรือยังขาดข้อมูลถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว ดังรายละเอียดต่อไปนี้:[8]

  • ความปลอดภัยของการใช้คอเลสติแลนในผู้ที่มีอายุมากกว่า 75 ปีขึ้น ยังมีข้อมูลจำกัด
  • ไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะที่ 1-4
  • การศึกษาทางคลินิกที่ผ่านมาจะคัดผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของตับบกพร่องร้ายแรงออกจากการศึกษา ทำให้ขาดข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของคอเลสติแลนในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่แนะนำให้ใช้คอเลสติแลนในผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของตับบกพร่องรุนแรง
  • ยังไม่มีการศึกษาถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัยของคอเลสติแลนในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี

ข้อห้ามใช้

[แก้]

ห้ามใช้คอเลสติแลนในผู้ป่วยที่มีการอุดกั้นของทางเดินอาหารและผู้ที่แพ้ยานี้[2][6][8]

ข้อควรระวัง

[แก้]

ปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของคอเลสติแลนในกลุ่มผู้ป่วยต่อไปนี้ จึงควรระมัดระวังการใช้คอเลสติแลนในกลุ่มผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว:[8]

  • ผู้ที่มีภาวะกลืนอาหารลำบาก (Dysphagia) หรือมีปัญหาอื่นๆเกี่ยวกับการกลืน
  • ผู้ที่มีความผิดปกติอย่างรุนแรงของระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูกรุนแรง และ/หรือเรื้อรัง, ลำไส้อุดตัน (intestinal stenosis), ถุงผนังลำไส้อักเสบ (intestinal diverticulum), ลำไส้ใหญ่ส่วนปลายอักเสบ (sigmoid colitis), แผลในทางเดินอาหาร (gastrointestinal ulcers), หรือเพิ่งได้รับการผ่าตัดทางเดินอาหาร
  • ผู้ป่วยท่อน้ำดีอุดกั้น (Biliary obstruction)
  • ผู้ที่มีภาวะการทำงานของตับบกพร่องอย่างรุนแรง
  • ผู้ป่วยโรคลมชัก
  • ผู้ที่มีประวัติเกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (peritonitis) จากการล้างไตทางหน้าท้อง
  • ผู้ที่มีระดับโปรตีนอัลบูมินในกระแสเลือดต่ำกว่า 30 กรัมต่อลิตร

อย่างไรก็ตาม ไม่แนะนำให้ใช้คอเลสติแลนในผู้ป่วยดังข้างต้น

อันตรกิริยาระหว่างยา

[แก้]

คอเลสติแลนสามารถยับยั้งการถูกดูดซึมของยาอื่นได้ รวมไปถึงวิตามินที่ละลายในไขมัน (เอ, ดี, อี, และเค) และโฟเลท (Folate) ด้วย[1][2] ทำให้ระดับยาอื่นในกระแสเลือดลดลง จนเกิดปัญหาในการรักษาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาที่มีช่วงการรักษาแคบหรือยาที่ใช้รักษาความเจ็บป่วยที่ร้ายแรง อย่างเช่น ยารักษาโรคมะเร็ง ยากันชัก เป็นต้น[6] ดังนั้นจึงควรรับประทานยาอื่นก่อนคอเลสติแลนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง หรือหลังรับประทานคอเลสติแลนอย่างน้อย 3 ชั่วโมง[7]

อาการไม่พึงประสงค์

[แก้]

อาการข้างเคียงที่อาจเกิดจากคอเลสติแลน ได้แก่ อาการข้างเคียงเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร เช่น ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน ร่างกายขาดวิตามินและแคลเซียม รวมไปถึงการขาดวิตามินเค ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารได้[1][2][6][7] ในรายที่ท้องผูกรุนแรงหรือเรื้อรังอาจกลายเป็นริดสีดวงทวารได้[7]

โครงสร้างทางเคมีและกลไกการออกฤทธิ์

[แก้]
2-methyl-1H-imidazole (ซ้าย) และ epichlorohydrin (ขวา)

คอเลสติแลนเป็นยาที่เกิดจากการเกิดพันธะกันระหว่างพอลิเมอร์ 2 ชนิด (Cross-linked copolymer) คือ 2-เมทิลิมิดาโซล (2-methylimidazole) และอิพิคลอโรไฮดริน (Epichlorohydrin) (ดังภาพ) โดยคอเลสติแลนออกฤทธิ์เป็นเรซินแลกเปลี่ยนไอออน (Ionn exchanger resin) ซึ่งมีความสัมพันธ์กับระดับฟอสเฟต, กรดน้ำดี, และยูเรค (Urate) ในร่างกาย โดยคอเลสติพอลจะจับกับสารทั้ง 3 ชนิดดังข้างต้นในทางเดินอาหาร เป็นผลให้สารเหล่านั้นไม่ถูกดูดซึมกลับ (enterohepatic circulation) ทั้งนี้คอเลสติแลนนั้นไม่สามารถถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด และจะถูกขับออกจากร่างกายในรูปแบบของสารประกอบเชิงซ้อนที่จับอยู่กับไอออนเป้าหมายทั้ง 3 ชนิดดังข้างต้น[1]

ดูเพิ่ม

[แก้]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 1.4 A. Klement (11 November 2013). "Dialysepflichtig – weniger Phosphat mit BindRen". Österreichische Apothekerzeitung (ภาษาเยอรมัน) (23/2013): 28f.
  2. 2.0 2.1 2.2 2.3 2.4 2.5 Lacy FC, Armstrong LL, Goldman PM, Lance LL, editors. Drug Information Handbook with international trade name index. 18th edition, New Tork, Lexi-Comp®, 2014, p. 585-588, ISBN 978-1-59195-255-8
  3. 3.0 3.1 Locatelli, F; Dimkovic, N; Spasovski, G (2013). "Evaluation of colestilan in chronic kidney disease dialysis patients with hyperphosphataemia and dyslipidaemia: a randomized, placebo-controlled, multiple fixed-dose trial" (PDF). Nephrol. Dial. Transplant. 28 (7): 1874–88. doi:10.1093/ndt/gft064. PMC 1.
  4. Handelsman, Y. (2011). "Role of Bile Acid Sequestrants in the Treatment of Type 2 Diabetes". Diabetes Care. 34: S244–S250. doi:10.2337/dc11-s237. PMID 21525463.
  5. 5.0 5.1 Houten, SM; Watanabe, M; Auwerx, J (2006). "Endocrine functions of bile acids" (PDF). The EMBO Journal. 25: 1419–25. doi:10.1038/sj.emboj.7601049. PMC 1440314.
  6. 6.0 6.1 6.2 6.3 Haberfeld, H, บ.ก. (2013). Austria-Codex (ภาษาเยอรมัน). Vienna: Österreichischer Apothekerverlag.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 MIMS (December 1, 2013). "BindRen: new phosphate binder". MIMS.co.uk. สืบค้นเมื่อ December 13, 2014.
  8. 8.0 8.1 8.2 8.3 8.4 European Commission (2013). "BindRen, INN-Colestilan" (PDF). European Commission. สืบค้นเมื่อ December 13, 2014.