เจ็มไฟโบรซิล

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เจ็มไฟโบรซิล
ข้อมูลทางคลินิก
ชื่อทางการค้าLopid
AHFS/Drugs.comโมโนกราฟ
MedlinePlusa686002
ระดับความเสี่ยงต่อทารกในครรภ์
  • ระดับ C
ช่องทางการรับยาการรับประทาน
รหัส ATC
กฏหมาย
สถานะตามกฏหมาย
  • ยาอันตราย
ข้อมูลเภสัชจลนศาสตร์
ชีวประสิทธิผลเกือบ 100%
การจับกับโปรตีน95%
การเปลี่ยนแปลงยาตับ (CYP3A4)
ครึ่งชีวิตทางชีวภาพ1.5 ชั่วโมง
การขับออกไต 94%
อุจจาระ 6%
ตัวบ่งชี้
  • 5-(2,5-dimethylphenoxy)-2,2-dimethyl-pentanoic acid
เลขทะเบียน CAS
PubChem CID
IUPHAR/BPS
DrugBank
ChemSpider
UNII
KEGG
ChEBI
ChEMBL
ECHA InfoCard100.042.968
ข้อมูลทางกายภาพและเคมี
สูตรC15H22O3
มวลต่อโมล250.333 g/mol g·mol−1
แบบจำลอง 3D (JSmol)
จุดหลอมเหลว61 ถึง 63 องศาเซลเซียส (142 ถึง 145 องศาฟาเรนไฮต์)
  • O=C(O)C(C)(C)CCCOc1cc(ccc1C)C
  • InChI=1S/C15H22O3/c1-11-6-7-12(2)13(10-11)18-9-5-8-15(3,4)14(16)17/h6-7,10H,5,8-9H2,1-4H3,(H,16,17) checkY
  • Key:HEMJJKBWTPKOJG-UHFFFAOYSA-N checkY
  (verify)
สารานุกรมเภสัชกรรม

เจ็มไฟโบรซิล (อังกฤษ: Gemfibrozil) เป็นชื่อสามัญของยาลดระดับไขมันในกระแสเลือดชนิดรับประทาน ซึ่งถูกจัดอยู่ในยากลุ่มไฟเบรต (Fibrate derivatives) มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับคลอไฟเบรต[1] ปัจจุบันมีจำหน่ายในชื่อการค้าต่างๆมากมาย เช่น Lopid, Jezil,  Gen-Fibro เป็นต้น

ประวัติการค้นพบ[แก้]

เจ็มไฟโบรซิลเป็นหนึ่งในสารประกอบที่หลายชนิดที่ถูกสังเคราะห์ได้ในห้องทดลองของบริษัทยาสัญชาติอเมริกันที่มีชื่อว่า ปาร์ค ดาวิส (Parke Davis) ในช่วงปลายทศวรรษ 1970 โดยการสังเคราะห์สารเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาวิจัยเพื่อคิดค้นสารประกอบที่มีฤทธิ์ลดระดับไขมันในกระแสเลือดทั้งในมนุษย์และสัตว์[2]

กลไกการออกฤทธิ์[แก้]

เจ็มไฟโบรซิลออกฤทธิ์โดยการกระตุ้นการทำงานของตัวรับ peroxisome proliferator-activated receptor-alpha (PPARα) ภายในนิวเคลียส ผลจากการกระตุ้นที่ตัวรับนี้จะทำให้เกิดการเผาผลาญสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรทและไขมันมากขึ้น ซึ่งรวมไปถึงกระตุ้นให้เกิดการเจริญของเซลล์เนื้อเยื่อไขมันใต้ผิวหนังมากขึ้น (adipose tissue differentiation) นอกจากนี้ การกระตุ้นที่ตัวรับดังกล่าวจะทำให้ร่างกายมีการสังเคราะห์เอนไซม์ไลโปโปรตีนไลเปส (lipoprotein lipase) มากขึ้น ซึ่งผลจากการเพิ่มขึ้นของเอนไซม์นี้ จะทำให้ไตรกลีเซอไรด์ถูกย่อยเป็นกรดไขมันและกลีเซอรอลมากขึ้น เป็นผลให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดลดลงได้ในที่สุด

นอกจากนี้ เจ็มไฟโบรซิลยังมีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไตรกลีเซอไรด์ของตับ ผ่านกระบวนการการยับยั้งการสลายไขมันในกระแสเลือด (lipolysis) ทำให้มีปริมาณกรดไขมันอิสระในกระเลือดไม่มากพอที่จะนำไปสร้างไตรกลีเซอไรด์ อีกทั้งเจ็มไฟโบรซิลยังสามารถยับยั้งการสร้างการสังเคราะห์อะโปโปรตีนตัวพาของคอเลสเตอรอลชนิดความหนาแน่นต่ำมาก (VLDL cholesterol) ทำให้ระดับ VLDL-C ลดลง ส่งผลต่อเนื่องให้ระดับ LDL-C ซึ่งสร้างมาจาก VLDL-C ลดลงได้ในที่สุด[1][3] ทั้งนี้การศึกษาในสัตว์ทดลองหลายการศึกษาพบว่า เจ็มไฟโบรซิลมีผลลดการเกิดปฏิกิริยาการสลายไขมันในเซลล์เนื้อเยื่อไขมันใต้ผิวหนัง รวมทั้งมีผลลดการรวมตัวของกรดพาล์มมิติคที่ได้รับการติดฉลากเภสัชรังสี (radiolabeled palmitic acid) เข้าไปในโมเลกุลของไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งภายหลังจะถูกหลั่งออกมาจากตับในรูปของ VLDL-C[4]

ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา[แก้]

ตัวรับ PPARα (peroxisome proliferator-activated receptor-alpha receptor) เป้าหมายการออกฤทธิ์ของเจ็มไฟโบรซิล

เจ็มไฟโบรซิล (5-(2,5-dimethylphenoxy)-2,2-dimethylpentanoic acid) เป็นยาลดระดับไขมันในกระแสเลือดที่มีโครงสร้างทางเคมีที่คล้ายคลึงกับคลอไฟเบรต โดยเจ็มไฟโบรซิลมีประสิทธิภาพในการลดระดับไลโปโปรตีนคอเลสเตอรอลชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDL cholesterol) และไลโปโปรตีนคอเลสเตอรอลชนิดความหนาแน่นต่ำมาก (VLDL cholesterol) ได้เป็นอย่างดีในทางคลินิก[1] นอกจากนี้ยังมีผลเพิ่มระดับไลโปโปรตีนคอเลสเตอรอลชนิดความหนาแน่นสูง (HDL cholesterol) ได้อีกด้วย[1][5] อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างการลดระดับคอเลสเตอรอลกับการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ของเจ็มไฟโบรซิลแล้วพบว่า เจ็มไฟโบรซิลมีประสิทธิภาพในการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดได้ดีกว่า ส่วนการลดระดับคอเลสเตอรอลนั้นจะลดได้อย่างมีนัยสำคัญเฉพาะในผู้ป่วยที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงเท่านั้น[5][6][7][8]

การศึกษาทางคลินิกการศึกษาหนึ่งพบว่า นอกจากเจ็มไฟโบรซิลจะมีฤทธิ์ในการเพิ่มระดับ HDL-C และลดระดับ VLDL-C แล้ว ยังมีผลเพิ่มอะโปโปรตีนเอ-ทู (apoprotein A-II) ด้วย แต่ไม่มีผลต่ออะโปโปรตีนเอ-วัน (apoprotein A-I)[3] นอกจากนี้แล้ว เจ็มไฟโบรซิลอาจมีผลชะลอการดำเนินไปของโรคหลอดเลือดแข็ง (atherosclerosis) ในผู้ป่วยไขมันในเลือดสูงชนิดที่ 2 และ 4 (type II and IV hyperlipidemia) โดยผ่านกระบวนการการลดความไวในการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของ LDL-C [9]การศึกษาหลายการศึกษาในผู้ป่วยที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงพบว่า กระบวนการป้องกันการเกิดความผิดปกติของหลอดเลือดในรูปแบบดังกล่าวนั้น เป็นผลมาจากการลดการหลั่งไลโปโปรตีนที่เป็นสาเหตุของการเกิดความผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง VLDL-C[10]

ในบรรดาการศึกษาทางคลินิกที่ผ่านมา มีการศึกษาหนึ่งที่พบว่า การใช้เจ็มไฟโบรซิลในขนาด 600 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง มีผลเพิ่มการทำงานของเอนไซม์พาราออกซาโนส (paraoxanose) ในผู้ป่วยไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงจำนวน 57 คนได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p value < 0.001) ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่สัมพันธ์กับ HDL-C ในการไฮโดรไลซ์สารประกอบเอสเทอร์ (high-density lipoprotein (HDL)-associated ester hydrolyase enzyme) โดยเอนไซม์ดังกล่าวจะทำให้ HDL-C มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ โดยจากการทดลองพบว่า เอนไซม์ดังกล่าวมีผลลดการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของ LDL ที่เกิดจากการเหนี่ยวนำของทองแดง รวมไปถึงลดการตอบสนองต่อ LDL ที่ถูกออกซิไดซ์ (oxidized LDL) และสารประกอบไขมันที่เหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบ 9lipid-induced inflammatory) ของผนังหลอดเลือดแดงด้วย[11]

นอกเหนือไปจากการเพิ่มระดับ HDL และลดระดับไตรกลีเซอไรด์แล้ว การได้รับการรักษาด้วยเจ็มไฟโบรซิลในขนาด 300 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง จะส่งผลให้กระบวนการสลายลิ่มเลือดอุดตันในผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของการสลายลิ่มเลือดบกพร่อง (้hypofibrinolytic state) ดีขึ้นได้ ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ[12] ยิ่งไปกว่านั้น อีกการศึกษาหนึ่งพบว่า การได้รับเจ็มไฟโบรซิลในขนาดที่สูงขึ้น คือ 600 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง  ยังมีผลเพิ่มความไวต่ออินซูลินและสารสื่อประสาทต่างๆที่มีผลทำให้หลอดเลือดขายตัว (Flow-mediated vasodilation) ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาขนาดเล็กเท่านั้น (n=10)[13]

ข้อบ่งใช้[แก้]

  • ภาวะไขมันในเลือดสูง ชนิดที่ 3 โดยเจ็มไฟโบรวิลถือเป็นยาทางเลือกสำหรับข้องบ่งใช้นี้
  • ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ชนิดที่ 4 ถึงแม้ว่าเจ็มไฟโบรซิลจะมีประสิทธิภาพในการลดไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดได้ไม่ดีเท่าไนอะซิน แต่การเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากเจ็มไฟโบรซิลที่อาจเป็นผลต่อความร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วยนั้นเกิดขึ้นได้น้อยและมีความรุนแรงน้อยกว่าไนอะซิน

ข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยของการใช้ยา[แก้]

อาการเส้นเลือดหดตัวบริเวณฝ่ามือที่เรียกว่า Raynaud phenomenon ซึ่งเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนักในผู้ที่อยู่ระหว่างการรับประทานเจ็มไฟโบรซิล

ข้อห้ามใช้[แก้]

  • ห้ามใช้เจ็มไฟโบรซิลร่วมกับรีพากลิไนด์ (repaglinide), ซิมวาสแตติน (simvastatin)[14], ยาอื่นในกลุ่มไฟเบรต, และดาซาบูเวียร์ (Dasabuvir)[11]
  • ห้ามใช้เจ็มไฟโบรวิลในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับบกพร่อง (Hepatic dysfunction) รวมไปถึงโรคตับแข็งบิลิอารีชนิดปฐมภูมิ (primary biliary cirrhosis)[14]
  • ห้ามใช้เจ็มไฟโบรซิลในผู้ที่แพ้ยานี้[14]
  • ห้ามใช้เจ็มไฟโบรซิลในผู้ป่วยที่มีประวัติเคยเป็นโรคที่เกี่ยวเนื่องกับถุงน้ำดี (gallbladder disease)[14]
  • ห้ามใช้เจ็มไฟโบรซิลในผู้ป่วยไตทำงานบกพร่องอย่างรุนแรง (Severe renal dysfunction)[14]

ข้อควรระวัง[แก้]

ควรใช้เจ็มไฟโบรซิลด้วยความระมัดระวังในผู้ป่วยต่อไปนี้:[14]

  • ผู้ป่วยโรคท่อน้ำดี เนื่องจากการใช้เจ็มไฟโบรซิลจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี (cholelithiasis) หากพบการเกิดความผิดปกติดังกล่าว ให้พิจารณาหยุดการใช้เจ็มไฟโบรซิลทันที
  • การใช้เจ็มไฟโบรวิลจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ ที่นอกหเนือจากโรคหลอดเลือดหัวใจได้ (noncoronary heart disease)
  • การใช้เจ็มไฟโบรซิลจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะโลหิตจางที่รุนแรง, เม็ดเลือดขาวต่ำ (leukopenia), เกร็ดเลือดต่ำ (thrombocytopenia), และเกิดการกดการทำงานของไขกระดูก (bone marrow hypoplasia) ได้ จึงควรมีการติดตามผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวเนื่องเป็นระยะระหว่างการใช้ยานี้
  • การใช้เจ็มไฟโบรซิลอาจมีผลทำให้ระดับเอนไซม์ตับผิดปกติได้ ควรมีการติดตามผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เกี่ยวเนื่องกับการทำงานของตับเป็นระยะ หากมีอาการรุนแรงและต่อเนื่อง อาจพิจารณาหยุดการใช้เจ็มไฟโบรซิลได้
  • การใช้เจ็มไฟโบรซิลเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งได้ ยกเว้น มะเร็งผิวหนังชนิดเบซอลเซลล์ (basal cell carcinoma)
  • การใช้เจ็มไฟโบรซิลอาจทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้ออักเสบ (Myositis) ได้ หากตรวจพบความผิดปกติดังกล่าว ให้หยุดการใช้เจ็มไฟโบรวิลโดยทันที
  • การใช้เจ็มไฟโบรซิลอาจทำให้การทำงานของไตแย่ลงได้ โดยพบรายงานการเกิดได้บ่อยผู้ป่วยที่มีระดับครีทีนีนในกระแสเลือด (plasma creatinine) มากกว่า 2 กรัมต่อเดซิลิตร ดังนั้นจึงแนะนำให้ใช้การรักษาทางเลือกอื่นในผู้ป่วยกลุ่มนี้

อาการไม่พึงประสงค์[แก้]

ผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด[แก้]

  1. หัวใจห้องบนเต้นแผ่วระรัว (AF): ในการศึกษาแบบปกปิดทั้งสองด้าน, มีกลุ่มควบคุม-ทดลอง (double-blind, placebo-controlled trial) ที่มีชื่อว่า Helsinki study พบอุบัติการณ์การเกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Atrial fibrillation ในผู้ป่วยที่อยู่ระหว่างการใช้เจ็มไฟโบรซิลประมาณ 0.7% ในขณะที่กลุ่มที่ได้รับยาหลอกเกิดความผิดปกติดังกล่าวเพียง 0.1% ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ[15]
  2. การมีโฮโมซิสเทอีนสูงในเลือด (Hyperhomocysteinemia): จากข้อมูลในการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าการมีระดับโฮโมซิสเทอีนสูงผิดปกตินั้นมีความสัมพันธ์กับการใช้ยาฟีโนไฟเบรต โดยการศึกษาดังกล่าวเป็นการศึกษาวิจัยแบบข้ามและมีการสุ่มกลุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่มการศึกษา (randomized, crossover trial) ผลการศึกษาพบว่า การได้รับฟีโนไฟเบรตเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ทำให้ระดับโฮโมซิสเทอีนในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นมากกว่าการได้รับเจ็มไฟโบรซิลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เช่นเดียวกันกับระดับครีทีนีนในกระแสเลือดและซิสเตตินซี (cystatin C) ที่เพิ่มขึ้นได้มากกว่าในกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยฟีโนไฟเบรต ในขณะที่ประสิทธิภาพในการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ของยาทั้งสองชนิดนั้นให้ผลไม่แตกต่างกัน จากผลการศึกษาดังกล่าวจึงพอจะสรุปได้ว่า การเพิ่มขึ้นของระดับโฮโมซิสเทอีนในกระแสเลือดนั้นเกิดจากการที่ไตทำงานลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากยาฟีโนไฟเบรตอีกทอดหนึ่ง โดยการเพิ่มขึ้นของระดับโฮโมซิสเทอีนในกระแสเลือดนี้ถือเป็นความเสี่ยงหนึ่งต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ[16]
  3. อาการหลอดเลือดหดตัวชนิด Raynaud's phenomenon: มีรายงานการเกิดความผิดปกติดังกล่าวในผู้ป่วยเพศชายอายุ 34 ปี โดยมีความผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณมือทั้งสองข้าง อาการของโรครุนแรงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนทำให้เกิดการขาดเลือดของเนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าว, เกิดหลอดเลือดอักเสบ (vasculitis), เกิดอาการปวดข้อหลายข้อร่วมกัน (polyarthritis) ผู้ป่วยรายนี้มีประวัติการใช้เจ็มไฟโบรซิลมาเป็นเวลานาน 3 ปีก่อนเกิดความผิดปกติดังกล่าว ผลจากการเกิด Raynaud's phenomenon ทำให้ผู้ป่วยต้องหยุดการใช้ยาเจ็มไฟโบรซิล และเข้ารับการรักษาตามอาการ ซึ่งสามารถรักษาได้หายขาดในที่สุด[17]

ผลต่อระบบผิวหนัง[แก้]

ผื่นผิวหนังอักเสบ (Eczema) เป็นอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ในผู้รับประทานเจ็มไฟโบรวิล ในการศึกษาแบบปกปิดทั้งสองด้าน, มีกลุ่มควบคุม-ทดลอง (double-blind, placebo-controlled trial) ที่มีชื่อว่า Helsinki study พบอุบัติการณ์การเกิดผื่นผิวหนังอักเสบในกลุ่มผู้ที่ใช้เจ็มไฟโบรซิลประมาณ 1.9% เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ที่เกิดความผิดปกติดังกล่าวได้ 1.2% ซึ่งไม่ได้มีความแตกต่างกันจนถึงระดับที่มีนัยสำคัญทางสถิติ[15] นอกจากนี้แล้ว ยังมีรายงานการเกิดกล้ามเนื้ออักเสบร่วมกับผิวหนังอักเสบ (dermatomyositis/polymyositis) ในผู้ป่วยหญิงสูงอายุรายหนึ่งซึ่งอยู่ระหว่างการรักษาภาวะไขมันในเลือดสูงด้วยเจ็มไฟโบรซิล โดยผู้ป่วยมีอาการผิวหนังเป็นสะเก็ด, เกิดผื่นคัน, จ้ำผื่นสีม่วง, มีอาการอ่อนแรงมากขึ้น และมีระดับ Creatinin kinase (CPK) เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก หลังจากหยุดการใช้เจ็มไฟโบรซิล และให้การรักษาความผิดปกติดังกล่าวด้วยยาสเตียรอยด์ พบว่าผู้ป่วยตอบสนองต่อการรักษาดี และหายจาดได้ในที่สุด[18]

ส่วนการเกิดผื่นผิวหนังธรรมดา (Rash) ในการศึกษาดังกล่าว พบอุบัติการณ์การเกิดในผู้ที่ได้รับเจ็มไฟโบรซิลประมาณ 1.7% เปรียบทับกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอกที่เกิดความผิดปกติดังกล่าว 1.3% ซึ่งไม่ได้มีความแตกต่างกันจนถึงระดับที่มีนัยสำคัญทางสถิติแต่อย่างใด[15]

ผลต่อระดับน้ำตาลในกระแสเลือด[แก้]

การศึกษาในผู้ป่วยไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานจำนวน 24 คน พบว่า เจ็มไฟโบรซิลไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลและระดับอินซูลินในกระแสเลือดของผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว[19] ในทางตรงกันข้าม มีรายงานจากอีกการศึกษาหนึ่งที่พบว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่อยู่ระหว่างการรักษาด้วยยากลุ่มซัลโฟนิลยูเรีย (sulfonylurea) ที่มีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดเฉลี่ยสูงกว่า 9 มิลลิโมลต่อลิตร (กลุ่มที่ควบคุมน้ำตาลในกระแสเลือดได้ไม่ดี) มีระดับน้ำตาลในเลือดที่ลดลงจนถึงระดับที่มีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อได้รับการรักษาด้วยเจ็มไฟโบรซิล 600-1200 มิลลิกรัมต่อวัน อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มผู้ป่วยที่ควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี กลับพบว่าการใช้เจ็มไฟโบรซิลในขนาดดังกล่าวทำให้ระดับน้ำตาลเฉลี่ยในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นจาก 9.2 มิลลิโมลต่อลิตร เป็น 11.7 มิลลิโมลต่อลิตร[20]

นอกจากนี้แล้ว ยังมีการศึกษาทางคลินิกอีก 2 การศึกษาที่ให้ผลสอดคล้องกับการศึกษาดังข้างต้น โดยพบว่า การใช้เจ็มไฟโบรซิลในผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีไตรกลีเซอไรด์สูงมีผลลดภาวะทนต่อต่อการเพิ่มของกลูโคสในกระแสเลือดไม่ได้ (glucose intolerance) และลดระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร (fasting blood glucose) ในขณะที่ผลดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้นจนถึงระดับที่มีนัยสำคัญทางสถิติในผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในเลือดปกติ[21] เช่นเดียวกับการศึกษาของ Pagani A. และคณะ ที่พบว่าการใช้เจ็มไฟโบรซิลไม่มีผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวใช้ระยะเวลาในการศึกษาเพียง 15 วันเท่านั้น จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงผลของเจ็มไฟโบรซิลต่อระดับน้ำตาลในกระแสเลือดในระยะยาว[22]

ผลต่อระดับเกลือแร่ในร่างกาย[แก้]

มีรายงานการเกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงที่รุนแรงจนถึงระดับที่ต้องทำการช่วยชีวิต (Life-threatening hyperkalemia) ร่วมกับการเกิดการสลายของกล้ามเนื้อแบบ rhabdomyolysis ในผู้ป่วยสูงอายุเพศหญิงที่เป็นโรคเบาหวานร่วมกับการมีระดับไขมันในเลือดสูง โดยหลังจากผู้ป่วยได้รับเจ็มไฟโบรซิลร่วมกับเซอริวาสแตตินเป็นเวลา 3 วัน ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยอาการเจ็บแน่นหน้าอกและปวดเมื่อยกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติพบว่าระดับโพแทสเซียมในกระแสเลือดสูง, ปริมาณยูเรียและไนโตรเจนในเลือดสูง, ระดับครีทินินในเลือด (serum creatinine) สูง, และครีทินินไคเนส (creatine kinase)สูง ทำให้ผู้ป่วยรายนี้ต้องได้รับการรักษาด้วยการฉีดอินซูลินและกลูโคสร่วมกับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (hemodialysis) อย่างเร่งด่วน หลังจากการรักษาพบว่าระดับโพแทสเซียมในกระแสเลือดของผู้ป่วยและผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเป็นปกติ แต่ผู้ป่วยยังจำเป็นต้องได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมต่อเนื่องอีกเป็นระยะเวลา 7 วัน จากความผิดปกติทั้งหมดที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยรายนี้ ผู้ทำการศึกษาคาดว่าน่าจะเป็นผลมาจากการที่ผู้ป่วยได้รับเซอริวาสแตตินร่วมกับเจ็มไฟโบรซิล[23]

ผลต่อระบบทางเดินอาหาร[แก้]

อาการไม่พึงประสงค์ของเจ็มไฟโบรซิลค่อระบบทางเดินอาหารที่พบได้บ่อย คือ อาการปวดท้อง และอาการท้องเสีย ในการศึกษาแบบปกปิดทั้งสองด้าน, มีกลุ่มควบคุม-ทดลอง (double-blind, placebo-controlled trial) ที่มีชื่อว่า Helsinki study พบอุบัติการณ์การเกิดอาการปวดท้องและท้องเสียในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยเจ็มไฟโบรซิลประมาณร้อยละ 9.8 และ 7.5 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาหลอก ที่เกิดความผิดปกติดังกล่าวเพียงร้อยละ 5.6 และ 6.5 ลำดับ ซึ่งมีเฉพาะอาการปวดท้องเท่านั้นที่พบว่าความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มที่ได้รับการรักษาแตกต่างกัน [15]

ส่วนอาการข้างเคียงต่อระบบทางเดินอาหารอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ ไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน โดยในการศึกษาเดียวกันกับการศึกษาดังข้างต้น พบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยเจ็มไฟโบรซิลมีอุบัติการณ์การเกิดไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลันมากกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เช่นเดียวกันกับการเกิดถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis) และนิ่วในถุงน้ำดี (Cholelithiasis) ที่พบอุบัติการณ์การเกิดในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยเจ็มไฟโบรซิลสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับยาหลอกประมาณ 2 เท่า [15]

ผลต่อระบบโลหิต[แก้]

อาการข้างเคียงที่รุนแรงของเจ็มไฟโบรซิลต่อระบบโลหิตที่อาจเกิดขึ้นได้ คือ การอักเสบของทางเดินอาหารเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอีโอสิโนฟิลล์ (Eosinophilic gastroenteritis) ซึ่งพบรายงานการเกิดความผิดปกติดังกล่าวในผู้ป่วยหญิงสูงอายุที่ได้รับการรักษาภาวะไขมันในกระแสเลือดสูงด้วยเจ็มไฟโบรซิลแล้วเกิดปฏิกิริยาการแพ้ยาหลังจากรับประทานยาได้ 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยมีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำร่วมกับอาการปวดเกร็งช่องท้อง อาการของโรครุนแรงขึ้นภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว จนทำให้ผู้ป่วยรายนี้ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (allergic rhinitis), หอบหืด (asthma), เก๊าต์, และโรคเบาหวาน ขณะเข้ารับการรักษาอยู่ในโรงพยาบาล ผู้ป่วยมีอาการซีดและขาดน้ำ ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่าผู้ป่วยมีระดับอีโอสิโนฟิลล์เพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก

การส่องกล้องตรวจกระเพาะอาหาร (Endoscopy) ในผู้ป่วยรายดังกล่าวพบรอยพับบริเวณกระเพาะอาหารส่วนเอนทรัมอย่างเด่นชัด (antral folds), พบติ่งเนื้อที่กระเพาะอาหาร (gastric polyp), พบความเป็น granularity ของเยื่อบุลำไส้เล็กส่วนต้นและส่วนกลางได้อย่างชัดเจน ผลการตรวจชิ้นเนื้อทั้งจากระบบทางเดินอาหารส่วนบนและส่วนล่างพบว่าอีโอสิโนฟิลล์ในเซลล์เยื่อบุผิวของกระเพาะอาหารส่วนเอนทรัม, ลำไส้เล็กส่วนต้น, ลำไส้ใหญ่ส่วนขึ้น (ascending colon), ลำไส้ใหญ่ส่วนขวาง (transverse colon) และลำไส้ตรง (rectum) ในปริมาณมาก จากผลการตรวจดังกล่าว ได้มีการสั่งหยุดการใช้เจ็มไฟโบรซิลในผู้ป่วยรายนี้ หลังจากที่ผู้ป่วยรายนี้ได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติ ได้มีการทดลองใช้ยาเจ็มไฟโบรซิลซ้ำ (echallenged) พบว่าผู้ป่วยกลับมีอาการท้องเสียและมีการเพิ่มขึ้นของอีโอสิโนฟิลล์เช่นเดิม จึงพิจารณาหยุดการใช้เจ็มไฟโบรซิลในผู้ป่วยรายนี้ [24]

การเพิ่มขึ้นของไฟบริโนเจน (Fibrinogen) เป็นอาการข้างเคียงจากเจ้มไฟโบรวิลอีกอย่างหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ ข้อมูลจากการศึกษาในผู้ป่วยไขมันในเลือดสูงที่ได้รับการรักษาด้วยเจ็มไฟโบรซิลและมีภาวะการแข็งตัวของเลือดเป็นปรกติ พบว่า ผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวมีระดับไฟบริโนเจนในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 17.6 จึงพอจะอนุมานได้ว่า การใช้เจ็มไฟโบรซิลอาจจะมีประโยชน์ในการป้องกันการอุดตันของเส้นเลือดในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ[25] ส่วนการมีจำนวนเม็ดเลือดแดงและ/หรือเม็ดเลือดขาวผิดปกติที่เป็นผลมาจากเจ็มไฟโบรซิลนั้น ผลศึกษาทางคลินิกไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างการใช้เจ็มไฟโบรซิลต่อเนื่องในระยะยาวกับการเกิดความผิดปกติดังกล่าว[26] อย่างไรก็ตาม การลดลงของฮีโมโกลบิน, ฮีมาโทคริต, และเม็ดเลือดขาว อาจเกิดขึ้นได้ในช่วงแรกของการรับประทานเจ็มไฟโบรซิล จึงควรมีการติดตามค่าพารามิเตอร์ที่เกี่ยวเนื่องอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะในช่วงปีแรกของการเริ่มใช้เจ็มไฟโบรซิล ถึงแม้ว่าอุบัติการณ์การเกิดจะน้อยมากก็ตาม[15][25]

ผลต่อการทำงานของตับ[แก้]

การใช้เจ็มไฟโบรซิลอาจมีผลทำให้ระดับเอนไซม์ของตับ เช่น SGOT (AST), SGPT (ALT), LDH, bilirubin, lactate dehydrogenase, และ alkaline phosphatase เพิ่มสูงขึ้นได้ โดยทั่วไปแล้ว ค่าเหล่านี้จะกลับเข้าสู่ระดับปกติได้เองเมื่อมีการหยุดใช้ยา อย่างไรก็ตาม หากค่าดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับที่สูงมากอย่างต่อเนื่อง ควรพิจารณาหยุดการใช้ยานี้[15]

ผลต่อระบบกล้ามเนื้อโครงสร้าง[แก้]

ปัสสาวะของผู้ป่วยที่เกิดภาวะการสลายของกล้ามเนื้อแบบ Rhabdomyolysis ซึ่งจะมีสีน้ำตาลคล้ำ เป็นผลมาจากมีไมโอโกลบิน ที่เกิดจากการสลายของกล้ามเนื้อปนออกมากับปัสสาวะมากเกินไป

กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการเหนี่ยวนำของยา (Drug-induced myopathy) เป็นอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดได้ในผู้ที่อยู่ระหว่างการรับประทานเจ็มไฟโบรซิล โดยมีรายงานการเกิดโรคกล้ามเนื้ออักเสบ (myositis) จากการมีความดันในช่องกล้ามเนื้อสูงขึ้นอย่างเฉียบพลัน (acute compartment syndrome) ในผู้ป่วยที่ได้รับเจ็มไฟโบรซิล 1200 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 6 สัปดาห์ จากนั้น[27] นอกจากนี้ยังมีรายงานการเกิดภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการเหนี่ยวนำของเจ็มไฟโบรซิล (gemfibrozil-induced myopathy) ในผู้ป่วยชายอายุ 52 ปีที่ได้รับเจ็มไฟโบรซิลในขนาด 1200 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 3 ปี โดยผู้ป่วยมีอาการปวดอย่างเฉียบพลันที่บริเวณส่วนล่างของกล้ามเนื้อขา ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติพบว่าค่าครีทินินไคเนส (creatine kinase) เท่ากับ 590 หน่วยต่อลิตร (ค่าปกติ 32-230 หน่วยต่อลิตร) ผู้ป่วยไม่มีอาการของภาวะกล้ามเนื้อสลายชนิด Rhabdomyolysis หลังจากการหยุดยาจนอาการดีขึ้น แล้วให้ยาซ้ำ (drug rechallenge) พบว่าผู้ป่วยกลับมามีอาการผิดปกติเช่นเดิม ทำให้ต้องมีการหยุดการใช้ยาเจ็มไฟโบรซิลในผู้ป่วยรายนี้[28]

นอกจากนี้แล้ว เจ็มไฟโบรซิลยังสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่อกล้ามเนื้อที่รุนแรงได้ เรียกว่า ภาวะกล้ามเนื้อสลายชนิด Rhabdomyolysis ซึ่งพบรายงานการเกิดความผิดปกติดังกล่าวร่วมกับภาวะไตวายเฉียบพลันในผู้ป่วยที่ได้รับเจ็มไฟโบรซิลในขนาด 1200 มิลลิกรัมต่อวัน ทั้งในกรณีที่ใช้และไม่ใช้ยาลดไขมันกลุ่มสแตตินร่วมด้วย อาการที่พบได้แก่ กล้ามเนื้ออ่อนแรงและหดเกร็ง สูญเสียความสามารถในการเดิน ปัสสาวะสีน้ำตาลคล้ำ โดยการใช้ยาลดไขมันกลุ่มสแตตินร่วมกับเจ็มไฟโบรซิลจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกตินี้ได้มากยิ่งขึ้น[29][30][31][32][33]

ผลต่อสุขภาพจิต[แก้]

มีรายงานจากศูนย์เฝ้าระวังและติดตามการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาแห่งประเทศนิวซีแลนด์ (New Zealand Centre of Adverse Reactions Monitoring; CARM) ว่าพบการเกิดความผิดปกติทางจิตที่มีความสัมพันธ์กับการได้รับกรดไฟบริค (fibric acid หรือ fibrates) ในผู้ป่วยจำนวน 77 ราย ประกอบด้วย ความผิดปกติทางอารมณ์ (mood disorders) 23 ราย โดนในจำนวนนี้มีอาการรุนแรง 1 ราย และ 1 รายมีการกลับเป็นซ้ำหลังจากได้รับเจ็มไฟโบรซิลอีกครั้ง, ความผิดปกติเกี่ยวความทรงจำและการเรียนรู้ (cognitive disorders) จำนวน 3 ราย ในจำนวนนี้มีอาการรุนแรง 2 ราย, ความผิดปกติเกี่ยวกับการนอนหลับ (sleep disorders) จำนวน 12 ราย ในจำนวนนี้มีอาการรุนแรง 4 รายและ 1 รายมีการกลับเป็นซ้ำหลังจากได้รับเจ็มไฟโบรซิลอีกครั้ง, ความผิดปกติของระบบประสาทรับสัมผัส (perception disorders) จำนวน 2 ราย โดยมีอาการรุนแรงทั้ง 2 ราย, และความผิดปกติอื่นๆอีก 49 ราย ในจำนวนนี้มีอาการรุนแรง 3 ราย [34]

ผลต่อการทำงานไต[แก้]

เมื่อเปรียบเทียบความเป็นพิษต่อไต (Nephrotoxicity) ของเจ็มไฟโบรซิลกับยาอื่นในกลุ่มเดียวกัน อย่าง ซิโปรไฟเบรตและฟีโนไฟเบรตแล้ว พบว่าเจ็มไฟโบรซิลมีผลเพิ่มระดับคริทินีนในกระแสเลือด (serum creatinine) ได้น้อยกว่ายาทั้งสองชนิดดังข้างต้น โดยผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยซิโปรไฟเบรตหรือฟีโนไฟเบรตจะมีระดับของคริทินีนในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับค่าคริทินีนในกระแสเลือดพื้นฐานเดิมของผู้ป่วยก่อนได้รับการรักษา (17% และ 12% สำหรับซิโปรไฟเบรตและฟีโนไฟเบรต ตามลำดับ; p value < 0.001 ทั้งสองกลุ่ม) ส่วนเจ็มไฟโบรซิลนั้นเพิ่มค่าพารามิเตอร์ดังกล่าวขึ้นเพียง 6% ซึ่งไม่ได้แตกต่างไปจากค่าพื้นฐานเดิมก่อนการรักษาของผู้ป่วยจนถึงระดับที่มีนัยสำคัญทางสถิติ[35] ส่วนการศึกษาอีกการศึกษาหนึ่งก็ให้ผลไม่แตกต่างกันกับการศึกษาดังข้างต้น [36]

อย่างไรก็ตาม เจ็มไฟโบรซิลสามารถทำให้เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้จากการเหนี่ยวนำให้เกิดการสลายของกล้ามเนื้อแบบ rhabdomyolysis โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยที่ใช้เจ้มไฟโบรซิลร่วมกับยาลดไขมันในกระแสเลือดกลุ่มสแตตินจะทำให้ความเสี่ยงต่อการเกิดความผิดปกติดังกล่าวเพิ่มมากยิ่งขึ้น ภึงแม้จะเป็นการใช้ยาในขนาดปกติก็ตาม[29][30][31][32][33]

การเกิดอันตรกิริยาระหว่างยา[แก้]

  • ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants): เจ็มไฟโบรวิลมีผลต่อระดับยาวาร์ฟาริน (warfarinและอินดานีไดโอน (indanedione)ในกระแสเลือดเป็นอย่างมาก
  • ยาลดไขมันในกระแสเลือดกลุ่มสแตติน (Statin drugs): การใช้เจ็มไฟโบรซิลร่วมกับยากลุ่มสแตตินจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่อกล้ามเนื้อมากขึ้น เช่น ปวดเมื่อกล้ามเนื้อ เป็นตะคริว หรือในบางรายอาจมีความรุนแรงจนเกิดการสลายของกล้ามเนื้อแบบ rhabdomyolysis

ข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับสิ่งแวดล้อม[แก้]

มีรายงานการพบเจ็มไฟโบรซิลปนเปื้อนในกากของเสียที่เหลือจากการบำบัดน้ำเสีย (biosolids) ในระดับที่มีความเข้มข้นมากถึง 2650 นาโนกรัมต่อกรัมของน้ำหนักแห้ง[37] 

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. 1.0 1.1 1.2 1.3 Anon, G (1976). "Gemfibrozil: a new lipid lowering agent". Proc R Soc Med. 69 (Supplement 2) (1).
  2. Rodney, G; และคณะ (1976). "The Hypolipidemic Effect of Gemfibrozil (CI-719) in Laboratory Animals". Proc. roy. Soc. Med. 69 (Supplement 2): 6–9. PMC 1864017. PMID 828263.
  3. 3.0 3.1 Kaukola S, Manninen V, Malkonen M; และคณะ (1981). "Gemfibrozil in the treatment of dyslipidaemias in middle-aged male survivors of myocardial infarction". Acta Med Scand. 209: 69–73.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  4. Rodney G, Uhlendorf P, & Maxwell RE (1976). "The hypolipidemic effect of gemfibrozil (CI-719) in laboratory animals". Proc R Soc Med. 99 (Supplement 2): 6–10.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  5. 5.0 5.1 Nye EE, Sutherland WH, & Temple WA (1980). "The treatment of hyperlipoproteinaemia with gemfibrozil compared with placebo and clofibrate". N Z Med J. 92: 345–349.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  6. Olsson (1976). "Effect of gemfibrozil on lipoprotein concentrations in different types of hyperlipoproteinemia". Proc R Soc Med. 69 (Supplement 2): 28–31.
  7. Vessby B, Litherll H, Boberg J; และคณะ (1976). "Gemfibrozil as a lipid lowering compound in hyperlipoproteinemia: a placebo-controlled crossover trial". Proc R Soc Med. 69: 32–37.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  8. WebMD.com. "Gemfibrozil". สืบค้นเมื่อ January 20, 2016.
  9. Yoshida H, Ishikawa T, Ayaori M; และคณะ (1998). "Beneficial effect of gemfibrozil on the chemical composition and oxidative susceptibility of low density lipoprotein: a randomized, double-blind, placebo-controlled study". Atherosclerosis. 139: 179–187.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  10. Sirtori CR, Franceschini G, Gianfranceschi G; และคณะ (1987). "Effects of gemfibrozil on plasma lipoprotein-apolipoprotein distribution and platelet reactivity in patients with hypertriglyceridemia". J Lab Clin Med. 110: 279–286.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  11. 11.0 11.1 Truven Health Analytics Inc. (2016). "Gemfibrozil". สืบค้นเมื่อ January 20, 2016.
  12. Jeng JR, Jeng CY, Sheu WHH, Lee MMS, PhDc, Huang PSH, and Shieh SM (1997). "Gemfibrozil treatment of hypertriglyceridemia: Improvement on fibrinolysis without change of insulin resistance". American Heart Journal. 134 (3): 565–571. doi:10.1016/S0002-8703(97)70096-6. สืบค้นเมื่อ January 20, 2015.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  13. Avogaro A, Miola M, Favaro A; และคณะ (2001). "Gemfibrozil improves insulin sensitivity and flow-mediated vasodilatation in type 2 diabetic patients". Eur J Clin Invest. 31 (7): 603–609.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 14.4 14.5 Parke-Davis (2014). Product Information: LOPID(R) oral tablets, gemfibrozil oral tablets. Eur J Clin Invest. New York, NY: Parke-Davis (per FDA).
  15. 15.0 15.1 15.2 15.3 15.4 15.5 15.6 Parke-Davis (2008). Product Information: LOPID(R) oral tablets, gemfibrozil oral tablets. Eur J Clin Invest. New York, NY5: Parke-Davis.{{cite book}}: CS1 maint: location (ลิงก์)
  16. Westphal S, Kierkes J, & Luley C (2001). "Effects of fenofibrate and gemfibrozil on plasma homocysteine". Lancet. 358: 39–40.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  17. Smith GW & Hurst NP (1993). "Vasculitis, Raynaud's phenomenon and polyarthritis associated with gemfibrozil therapy (letter)". Br J Rheumatol. 32: 84–85.
  18. Fusella J & Strosberg JM (1990). "Polymyositis exacerbated by gemfibrozil (letter)". J Rheumatol. 17: 572-3.
  19. Jeng CY, Sheu WHH, Fuh MMT,; และคณะ (1996). "Gemfibrozil treatment of endogenous hypertriglyceridemia: effect on insulin-mediated glucose disposal and plasma insulin concentrations". J Clin Endocrinol Metab. 81: 2550-3.{{cite journal}}: CS1 maint: extra punctuation (ลิงก์) CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  20. Shen DC, Fuh MM, Shieh SM; และคณะ (1991). "Effect of gemfibrozil treatment in sulfonylurea-treated patients with noninsulin-dependent diabetes mellitus". J Clin Endrocinol Metab. 73: 503-10.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  21. Testori GP, Ferrari C, Lepore R; และคณะ (1990). "Effect of gemfibrozil treatment on glucose tolerance in hypertriglyceridemic patients with normal or impaired glucose tolerance". Curr Ther Res. 47: 390-5.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  22. Pagani A, Dalmotto M, Pagano G; และคณะ (1989). "Effect of short-term gemfibrozil administration on glucose metabolism and insulin secretion in non-insulin-dependent diabetics". Curr Ther Res. 45: 14-20.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  23. Hendriks F, Kooman JP, & van der Sande FM (2001). "Massive rhabdomyolysis and life threatening hyperkalaemia in a patient with the combination of cerivastatin and gemfibrozil". Nephrol Dial Transplant. 16: 2418-9.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  24. Lee JY, Medellin MV, & Tumpkin C (2000). "Allergic reaction to gemfibrozil manifesting as eosinophilic gastroenteritis". South Med J. 93 (8): 807-8.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  25. 25.0 25.1 Stringer MD, Steadman CA, & Kakkar VV (1990). "Gemfibrozil in hyperlipidaemic patients with peripheral arterial disease: some undiscovered actions". Curr Med Res Opin. 12: 207-14.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  26. Kaukola S, Manninen V, Malkonen M; และคณะ (1981). "Gemfibrozil in the treatment of dyslipidaemias in middle-aged male survivors of myocardial infarction". Acta Med Scand. 209: 69-73.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  27. Chow LT, Chow WH (1993). "Acute compartment syndrome: an unusual presentation of gemfibrozil induced myositis". Med J Aust. 158: 48-9.
  28. Magarian GJ, Lucas LM, & Colley C (1991). "Gemfibrozil-induced myopathy". Arch Intern Med. 151: 1873-4.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  29. 29.0 29.1 Duell PB, Connor WE, & Illingworth DR (1998). "Rhabdomyolysis after taking atorvastatin with gemfibrozil". Am J Cardiol. 81: 368-9.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  30. 30.0 30.1 Tal A, Rajeshawari M, & Isley W (1997). "Rhabdomyolysis associated with simvastatin-gemfibrozil therapy". South Med J. 90: 546-7.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  31. 31.0 31.1 Gorriz JL, Sancho A, Lopez-Martin JM; และคณะ (1996). "Rhabdomyolysis and acute renal failure associated with gemfibrozil therapy (letter)". Nephron. 74: 437-8.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  32. 32.0 32.1 van Puijenbroek EP, Du Buf-Vereijken PWG, Spooren PFMJ; และคณะ (1996). "Possible increased risk of rhabdomyolysis during concomitant use of simvastatin and gemfibrozil". J Intern Med. 240: 403-4.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  33. 33.0 33.1 Marais GE & Larson KK (1990). "Rhabdomyolysis and acute renal failure induced by combination lovastatin and gemfibrozil therapy". Ann Intern Med. 112: 228-30.
  34. Tatley M & Savage R (2007). "Psychiatric adverse reactions with statins, fibrates and ezetimibe : implications for the use of lipid-lowering agents". Drug Saf. 30 (3): 195-201.
  35. Tsimihodimos V, Kakafika A, & Elisaf M (2001). "Fibrate treatment can increase serum creatinine levels (letter)". Nephrol Dial Transplant. 16: 1301.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  36. Broeders N, Knoop C, Antoine M; และคณะ (2000). "Fibrate-induced increase in blood urea and creatinine: is gemfibrozil the only innocuous agent?". Nephrol Dial Transplant. 15: 1993-9.{{cite journal}}: CS1 maint: multiple names: authors list (ลิงก์)
  37. United States Environment Protection Agency. "Biosolids US EPA". สืบค้นเมื่อ January 20, 2016.