ข้ามไปเนื้อหา

ผลต่างระหว่างรุ่นของ "ระบอบนาซี"

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เนื้อหาที่ลบ เนื้อหาที่เพิ่ม
Thastp (คุย | ส่วนร่วม)
Thastp (คุย | ส่วนร่วม)
บรรทัด 1,391: บรรทัด 1,391:
|page=60
|page=60
|isbn=0-8147-7524-1
|isbn=0-8147-7524-1
}}</ref> ฮิตเลอร์อ้างว่าพันธสัญญาใหม่ถูก[[เปาโลอัครทูต]]บิดเบือน ฮิตเลอร์บรรยายว่าเขาเป็น "[[ฆาตกรรมหมู่|ฆาตกรหมู่]]ที่กลายเป็น[[นักบุญ]]"<ref name="Redles60"/>
}}</ref> ฮิตเลอร์อ้างว่าพันธสัญญาใหม่ถูก[[เปาโลอัครทูต]]บิดเบือน ฮิตเลอร์บรรยายว่าเขาเป็น "[[ฆาตกรรมหมู่|ฆาตกรหมู่]]ที่กลายเป็น[[นักบุญ]]"<ref name="Redles60"/> พวกนาซีใช้งานเขียนของ[[การปฏิรูปศาสนาฝ่ายโปรเตสแตนต์|นักปฏิรูป]][[โปรเตสแตนต์]][[มาร์ติน ลูเทอร์]] ในโฆษณาชวนเชื่อ และจัดแสดงต้นฉบับงานเขียนของลูเทอร์ ''Von den Jüden und iren Lügen'' ("ว่าด้วยยิวและคำโกหกของพวกเขา") ออกสู่สาธารณะในการเดินขบวนประจำปีที่เนือร์นแบร์ค<ref name="understandably">งานวิชาการถึงอิทธิพลซึ่งศาสตรนิพนธ์ ค.ศ. 1543 ของมาร์ติน ลูเทอร์ "ว่าด้วยยิวและคำโกหกของเขา" มีต่อเจตคติของเยอรมนี ดูที่:
* {{cite journal
|last=Wallmann|first= Johannes
|title=The Reception of Luther's Writings on the Jews from the Reformation to the End of the 19th Century
|journal=Lutheran Quarterly|volume=1|issue=1|date= 1987|pages=72–97.
|quote=The assertion that Luther's expressions of anti-Jewish sentiment have been of major and persistent influence in the centuries after the Reformation, and that there exists a continuity between Protestant anti-Judaism and modern racially oriented anti-Semitism, is at present wide-spread in the literature; since the Second World War it has understandably become the prevailing opinion.
|issn=0024-7499
}}
* {{cite book
|last=Michael|first= Robert
|title=Holy Hatred: Christianity, Antisemitism, and the Holocaust
|location=[[]]New York
|publisher=Palgrave Macmillan
|date=2006
|chapter=The Germanies from Luther to Hitler
|pages=105–151
|isbn=9780230601987
}}
* {{cite encyclopedia
|last=Hillerbrand|first= Hans J.
|entry=Martin Luther
|encyclopedia=สารานุกรมบริแทนนิกา
|date=2007
|quote=[H]is strident pronouncements against the Jews, especially toward the end of his life, have raised the question of whether Luther significantly encouraged the development of German anti-Semitism. Although many scholars have taken this view, this perspective puts far too much emphasis on Luther and not enough on the larger peculiarities of German history.
}}</ref><ref name="baylor">{{cite web
|last=Ellis|first= Marc H.
|url=http://www3.baylor.edu/American_Jewish/everythingthatusedtobehere/resources/PowerPoints/Christian%20Anti-Semitism%20(part%202).ppt
|title=Hitler and the Holocaust, Christian Anti-Semitism
|archive-url=https://web.archive.org/web/20070710100514/http://www3.baylor.edu/American_Jewish/everythingthatusedtobehere/resources/PowerPoints/Christian%20Anti-Semitism%20%28part%202%29.ppt
|archive-date=10 กรกฎาคม 2007
|website=Baylor University Center for American and Jewish Studies
|date=2004
|page=14
}} และดูเพิ่มที่ {{cite report
|url=http://elsinore.cis.yale.edu/lawweb/avalon/imt/proc/04-29-46.htm#herrwerth
|title=Nuremberg Trial Proceedings
|archive-url=https://web.archive.org/web/20060321151237/http://elsinore.cis.yale.edu/lawweb/avalon/imt/proc/04-29-46.htm
|archive-date=21 มีนาคม 2006
|volume=12
|page=318
|website=Avalon Project
|publisher=Yale Law School
|date=19 เมษายน 1946
}}</ref> พวกนาซีรับรององค์กร[[คริสเตียนเยอรมัน (ขบวนการ)|คริสเตียนเยอรมัน]]ที่สนับสนุนนาซี


== หมายเหตุ ==
== หมายเหตุ ==

รุ่นแก้ไขเมื่อ 17:34, 8 ธันวาคม 2565

ระบอบนาซี (เยอรมัน: Nazismus)[1] ชื่อสามัญของ ชาติสังคมนิยม (เยอรมัน: Nationalsozialismus, ภาษาเยอรมัน: [natsi̯oˈnaːlzotsi̯aˌlɪsmʊs] ( ฟังเสียง)) เป็นแนวปฏิบัติและอุดมการณ์ทางการเมืองแบบรวบอำนาจเบ็ดเสร็จ[2] ขวาจัด[3] ที่เกี่ยวข้องกับอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และพรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมันหรือพรรคนาซีในนาซีเยอรมนี ในยุโรปในช่วงของการเถลิงอำนาจของอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ในคริสต์ทศวรรษ 1930 ระบอบมักถูกเรียกในอีกชื่อว่า ลัทธิฮิตเลอร์ (เยอรมัน: Hitlerfaschismus) คำที่มีความเกี่ยวข้องในภายหลังคำว่า "นีโอนาซี" ใช้หมายถึงกลุ่มการเมืองขวาจัดอื่น ๆ ที่มีแนวคิดคล้ายกันที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง

ระบอบนาซีเป็นลัทธิฟาสซิสต์รูปแบบหนึ่ง[4][5][6][7] ซึ่งดูถูกเหยียดหยามประชาธิปไตยเสรีนิยมและระบบรัฐสภา โดยรวมระบอบเผด็จการ[2] การต่อต้านยิวอย่างกระตือรือร้น การต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ คตินิยมเชื้อชาติทางวิทยาศาสตร์ (scientific racism) และการใช้งานสุพันธุศาสตร์เข้าด้วยกันเป็นหลักความเชื่อของระบอบ ความเป็นชาตินิยมสุดโต่งของมันมีต้นตอมาจากอุดมการณ์รวมกลุ่มเยอรมันและขบวนการชาตินิยมชาติพันธุ์ (ethnic nationalism) นีโอเพแกน (neopagan) นามว่าขบวนการเฟิลคิช (Völkisch movement) ซึ่งได้กลายมาเป็นลักษณะสำคัญของชาตินิยมเยอรมัน (German nationalism) นับแต่ช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และยังได้รับอิทธิพลโดดเด่นจากกองกำลังกึ่งทหารไฟรคอร์ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นหลังจากความพ่ายแพ้ของเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และเป็นแหล่งที่มาของ "ลัทธิบูชาความรุนแรง" (cult of violence) ที่เป็นพื้นเดิมของพรรค[8] ระบอบนาซีเห็นด้วยกับทฤษฎีวิทยาศาสตร์เทียมที่เกี่ยวกับลำดับชั้นทางเชื้อชาติ (racial hierarchy)[9] และทฤษฎีดาร์วินทางสังคม นาซีกล่าวอ้างว่าชาวเยอรมันเป็นเชื้อชาติอารยะที่สูงส่งที่สุด[10] โดยระบุว่าชาวเยอรมันเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่พวกนาซีถือว่าคือเชื้อชาติเจ้านายเชื้อชาติอารยัน (Aryan race) หรือนอร์ดิก (Nordic race)[11] โดยมีเป้าหมายเพื่อก้าวข้ามความแบ่งแยกในสังคมและสร้างสังคมเยอรมันที่เป็นเอกพันธุ์ (Homogeneity and heterogeneity) บนฐานของความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติซึ่งเป็นภาพแทนของประชาคมของประชาชน (ฟ็อลค์สเกอไมน์ชัฟท์ (Volksgemeinschaft)) พวกนาซีมุ่งที่จะเชื่อมผสานชาวเยอรมันทุกคนที่อาศัยอยู่ในอาณาเขตของเยอรมนีในประวัติศาสตร์เข้าด้วยกัน และหาแผ่นดินมาเพิ่มสำหรับการขยายตัวของเยอรมนีภายใต้หลักการเลเบินส์เราม์ และกีดกันผู้ใดก็ตามที่พวกเขามองว่าเป็นคนต่างด้าวในประชาคม (community alien) หรือเป็นเชื้อชาติที่ "ต่ำกว่า" (อุนเทอร์เม็นช์)

คำว่า "ชาติสังคมนิยม" เกิดขึ้นจากความพยายามในการให้นิยามใหม่กับ สังคมนิยม ให้เป็นทางเลือกแทนไม่ว่าจะเป็นสังคมนิยมสากลนิยมมากซิสต์หรือทุนนิยมตลาดเสรีก็ตาม ระบอบนาซีปฏิเสธแนวคิดมากซิสต์เกี่ยวกับการต่อสู้ทางชนชั้นและความเสมอภาคอันเป็นสากล ต่อต้านสากลนิยม (internationalism (politics)) พลเมืองโลก (cosmopolitanism) และต้องการโน้มน้าวใจสังคมเยอรมันใหม่ในทุกภาคส่วนให้วางผลประโยชน์ส่วนตัวของพวกเขาอยู่ใต้ "ประโยชน์ส่วนรวม" (common good) และยอมรับเอาผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นเป้าหมายหลักของการจัดระเบียบทางเศรษฐกิจ[12] ซึ่งมักตรงกับทัศนะทั่วไปของคติรวมหมู่ (collectivism) หรือประชาคมนิยม (communitarianism) มากกว่าจะเป็นสังคมนิยมเศรษฐศาสตร์ ต้นเค้าของพรรคนาซี กล่าวคือพรรคกรรมกรเยอรมัน (DAP) ซึ่งต่อต้านยิวและเป็นชาตินิยมรวมกลุ่มเยอรมัน ถูกก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 มกราคม ค.ศ. 1919 และจนกระทั่งช่วงตั้นคริสต์ทศวรรษ 1920 พรรคถูกเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมันเพื่อดึงดูดกรรมกรที่นิยมการเมืองฝ่ายซ้าย[13] ซึ่งเป็นการเปลี่ยนชื่อที่ฮิตเลอร์ต่อต้านในตอนแรก[14] แนวนโยบายชาติสังคมนิยม (National Socialist Program) หรือแนวนโยบาย "25 ข้อ" ถูกรับมาใช้ใน ค.ศ. 1920 และเรียกร้องให้มีเยอรมนีใหญ่ที่เป็นปึกแผ่นที่จะไม่ให้ชาวยิวหรือบุคคลที่เป็นทายาทชาวยิวเป็นพลเมือง และในขณะเดียวกันสนับสนุนการปฏิรูปที่ดินและการโอนบางอุตสาหกรรมมาเป็นของรัฐ ในไมน์คัมพฟ์ ซึ่งแปลว่า "การต่อสู้ของข้าพเจ้า" ที่เผยแพร่ระหว่าง ค.ศ. 1925 และ 1926 ฮิตเลอร์ได้ร่างเค้าโครงให้การต่อต้านยิวและการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์เป็นใจกลางของปรัชญาการเมืองของเขา เช่นเดียวกันกับความรังเกียจของเขาต่อประชาธิปไตยแบบมีผู้แทนและความเชื่อว่าประเทศเยอรมนีถือสิทธิที่จะขยายเขตแดนของตัวเองออกไป[15]

พวกเขากล่าวอ้างว่าความอยู่รอดของประเทศเยอรมนีในฐานะชาติที่ยิ่งใหญ่ในสมัยใหม่นี้จำต้องสร้างระเบียบโลกใหม่ขึ้น เป็นจักรวรรดิในทวีปยุโรปซึ่งจะทำให้ชาติเยอรมันมีผืนดินขนาดใหญ่ ทรัพยากร ตลอดจนการขยายตัวของประชากรที่จำเป็นต่อการแข่งขันกับมหาอำนาจอื่น ๆ ทั้งทางเศรษฐกิจและทางทหาร[16]

พวกนาซีกล่าวอ้างว่าชาวยิวเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดของเชื้อชาติอารยะเยอรมัน พวกเขาพิจารณาว่าชาวยิวเป็นเชื้อชาติเบียดเบียนซึ่งแนบตนเองเข้ากับอุดมการณ์และขบวนการอื่น ๆ เพื่อธำรงไว้ซึ่งความอยู่รอดของตนเอง อาทิ การเรืองปัญญา เสรีนิยม ประชาธิปไตย ระบบรัฐสภา ทุนนิยม การกลายเป็นอุตสาหกรรม มาร์กซิสต์ และสหภาพแรงงาน[17]

เพื่อกอบกู้เยอรมนีจากผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ นาซีเสนอตำแหน่งที่สามในทางเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นระบบเศรษฐกิจภายใต้การจัดการซึ่งมิใช่ทั้งทุนนิยมหรือคอมมิวนิสต์[18][19] นาซีกล่าวโทษคอมมิวนิสต์และทุนนิยมว่าเข้าร่วมกับอิทธิพลและผลประโยชน์ของชาวยิว[20] พวกเขาสนับสนุนสังคมนิยมรูปแบบชาตินิยมซึ่งเป็นหลักการสำหรับเชื้อชาติอารยันและชาติเยอรมัน: ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โครงการสวัสดิการสังคมสำหรับผู้ใช้แรงงาน ค่าจ้างที่ยุติธรรม เกียรติยศสำหรับความสำคัญของผู้ใช้แรงงานที่มีต่อชาติ และการป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์อันไม่ชอบธรรมของทุนนิยม[21]

พรรคนาซีได้รับส่วนแบ่งคะแนนเสียงของประชาชนสูงที่สุดในการเลือกตั้งสมาชิกไรชส์ทาคเป็นการทั่วไปทั้งสองครั้งใน ค.ศ. 1932 ทำให้เป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุดในสภานิติบัญญัติอย่างชัดเจน แม้ว่าจะยังไม่ถึงกับเป็นเสียงส่วนใหญ่ทีเดียว (37.3 % เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม ค.ศ. 1932 (July 1932 German federal election) และ 33.1 % เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน ค.ศ. 1932 (November 1932 German federal election)) แต่ในเมื่อไม่มีพรรคใดต้องการหรือสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมได้ ประธานาธิบดีเพาล์ ฟ็อน ฮินเดินบวร์ค จึงได้แต่งตั้งฮิตเลอร์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีเมื่อวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1933 ด้วยแรงสนับสนุนและความรู้เห็นเป็นใจจากนักชาตินิยมอนุรักษ์นิยมจารีตประเพณีซึ่งเชื่อว่าพวกเขาจะสามารถควบคุมฮิตเลอร์และพรรคของเขาได้ ในไม่ช้าพวกนาซีก็สถาปนารัฐพรรคการเมืองเดียวและเริ่มดำเนินการไกลช์ชัลทุง โดยใช้รัฐกำหนดของประธานาธิบดีฮินเดินบวร์คและการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไวมาร์ (Weimar Constitution) ซึ่งให้อำนาจกับคณะรัฐมนตรีในการปกครองผ่านการออกฎหมายโดยตรงได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านทั้งประธานาธิบดีฮินเดินบวร์คหรือสภาไรชส์ทาคก็ตาม

ชตวร์มอัพไทลุง (SA) และชุทซ์ชตัฟเฟิล (SS) ทำหน้าที่เป็นองค์กรกึ่งทหารของพรรคนาซี ในช่วงกลาง ค.ศ. 1934 ฮิตเลอร์ใช้กองกำลัง SS กวาดล้างปีกของพรรคซึ่งมูลวิวัติในทางสังคมและเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งรวมถึงกลุ่มผู้นำของ SA ด้วย เหตุการณ์เป็นที่รู้จักในชื่อคืนมีดยาว อำนาจทางการเมืองหลังจากอสัญกรรมของประธานาธิบดีฮินเดินบวร์คเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ค.ศ. 1934 ถูกรวมศูนย์เข้าเงื้อมมือฮิตเลอร์ เขาจึงได้กลายเป็นทั้งประมุขแห่งรัฐและหัวหน้ารัฐบาลในตำแหน่งฟือเรอร์อุนท์ไรช์คันท์ซเลอร์ซึ่งแปลว่า "ผู้นำและนายกรัฐมนตรีเยอรมนี" (ดูเพิ่มที่การลงประชามติในประเทศเยอรมนี ค.ศ. 1934 (1934 German referendum)) นับแต่นั้นมา ในทางปฏิบัติ ฮิตเลอร์ได้กลายเป็นผู้เผด็จการนาซีเยอรมนีหรือในอีกชื่อว่าไรช์ที่สาม ซึ่งภายใต้เขานั้น ชาวยิว ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง และองค์ประกอบ "อันไม่พึงประสงค์" อื่น ๆ จะถูกเบียดตกขอบ คุมขัง หรือฆ่า ผู้คนหลายล้านคนซึ่งรวมถึงประชากรยิวกว่าสองในสามที่อยู่ในยุโรปถูกฆ่าหมดสิ้นไปในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซึ่งเป็นที่รู้จักในชื่อฮอโลคอสต์ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากความพ่ายแพ้ของเยอรมนีในสงครามโลกครั้งที่สองและการค้นพบขอบเขตเต็มของเหตุการณ์ฮอโลคอสต์ อุดมการณ์นาซีจึงกลายเป็นความอัปยศโดยสากล และถูกถืออย่างกว้างขวางว่าเป็นความผิดศีลธรรมและความชั่วร้าย โดยมีเพียงกลุ่มเหยียดเชื้อชาติตกขอบจำนวนน้อยเท่านั้นที่กล่าวว่าตนเป็นผู้ติดตามอุดมการณ์ชาติสังคมนิยม โดยมักถูกเรียกว่าเป็นนีโอนาซีที่แปลว่านาซีใหม่

ศัพทมูลวิทยา

ธงพรรคนาซี คล้ายแต่ไม่เหมือนกับธงชาตินาซีเยอรมนี (ค.ศ. 1933-1945) ซึ่งสวัสติกะจะเฉจากตรงกลางเล็กน้อย

ชื่อเต็มของพรรคคือ Nationalsozialistische Deutsche Arbeiterpartei (ไทย: พรรคกรรมกรชาติสังคมนิยมเยอรมัน) และในทางการใช้ตัวย่อ NSDAP คำว่า "Nazi" เองมีใช้อยู่แล้วก่อนกำเนิดของพรรคนาซี โดยเป็นคำภาษาปากและคำดูถูกไว้เรียกชาวนาและชาวสวน เป็นภาพลักษณ์ของคนซุ่มซ่ามและเคอะเขิน กล่าวคือคนบ้านนอก (yokel) คำว่านาซีในความหมายนี้เป็นชื่อเล่นจากชื่อเต็มของชายชาวเยอรมัน Ignatz/Ignaz (อีคนัทซ์) (ซึ่งมันเองผันมาจากชื่อ Ignatius) ซึ่งเป็นชื่อโหลในไบเอิร์นในสมัยนั้น เป็นบริเวณเดียวกันที่พรรคนาซีถือกำเนิดขึ้นมา[22][23]

ในคริสต์ทศวรรษ 1920 ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของพรรคนาซีในขบวนการแรงงานเยอรมันได้ฉวยโอกาสนี้ไว้ โดยล้อตามชื่อย่อ "Sozi" (โซทซี) สำหรับ Sozialist (โซทซีอาลิสต์)[23] ชื่อของพรรคนาซี Nationalsozialistische (นัทซีโอนาลโซทซีอาลิสทิชเชอ) จึงถูกย่อเป็น "Nazi" (นัทซี หรือนาซี) ในเชิงดูถูกเพื่อสัมพันธ์พวกเขากับการใช้งานคำในอีกความหมายดังที่อธิบายไว้ด้านบน[24][23][25][26][27] การใช้งานคำว่า "Nazi" โดยพวกชาติสังคมนิยมเองมีอยู่ใน ค.ศ. 1926 ในงานของโยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ ที่ชื่อว่า Der Nazi-Sozi (แดร์ นัทซี-โซทซี) ในจุลสารของเกิบเบิลส์ คำว่า "Nazi" ปรากฏเคียงกับคำว่า "Sozi" เท่านั้นในฐานะตัวย่อของคำว่า "Nationalsozialistische"[28]

หลังจากพรรค NSDAP หรือพรรคนาซีขึ้นสู่อำนาจในคริสต์ทศวรรษ 1930 การใช้คำว่า "Nazi" แบบโดดหรือในคำอย่างนาซีเยอรมนี ระบอบนาซี และอื่น ๆ เกิดเป็นที่รู้จักจากผู้ถูกเนรเทศชาวเยอรมันที่อยู่นอกประเทศ แต่ในเยอรมนีเองกลับไม่ คำนี้จากพวกเขาก็กระจายไปยังภาษาต่าง ๆ และในที่สุดถูกนำย้อนกลับเข้ามาในประเทศเยอรมนีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง[25] พรรค NSDAP รับเอาชื่อ "นาซี" มาใช้อยู่สักครู่หนึ่งเพื่อพยายามฉกฉวยคำคืน (reappropriation) แต่ในไม่นานก็ล้มเลิกความพยายามนี้ไป และโดยทั่วไปจะหลีกเลี่ยงที่จะใช้คำนี้ระหว่างที่ยังอยู่ในอำนาจ[25][26] ในแต่ละกรณี ผู้เขียนมักเรียกตัวเองว่าเป็น "National Socialists" และเรียกขบวนการว่า "National Socialism" แต่ไม่เรียกว่า "Nazi" เลย เอกสารรวบรวมบทสนทนาของฮิตเลอร์จาก ค.ศ. 1941 ถึง 1944 ชื่อว่า Hitler's Table Talk ไม่มีคำว่า "Nazi" เช่นกัน[29] ในคำปราศรัยของแฮร์มัน เกอริง เขาไม่เคยใช้คำว่า "Nazi"[30] ผู้นำยุวชนฮิตเลอร์เมลีทา มัชมัน (Melita Maschmann) ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประสบการณ์ของเธอไว้ชื่อว่า Account Rendered[31] แต่เธอไม่เรียกตัวเองว่าเป็น "Nazi" แม้ว่าจะถูกเขียนขึ้นมาหลังสงครามโลกครั้งที่สองพอสมควร ใน ค.ศ. 1933 สมาชิกพรรคนาซี 581 คนได้ตอบคำถามสัมภาษณ์ของศาสตราจารย์ธีโอดอร์ เฟรด เอเบิล (Theodore Fred Abel) จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย พวกเขาก็ไม่ได้เรียกตัวเองว่าเป็น "Nazi" เหมือนกัน[32]

ตำแหน่งในสเปกตรัมการเมือง

จากซ้ายไปขวา: อดอล์ฟ ฮิตเลอร์, แฮร์มัน เกอริง, รัฐมนตรีกระทรวงโฆษณาการโยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ และรูด็อล์ฟ เฮ็ส
นาซีและสมาชิกของพรรคประชาชนแห่งชาติเยอรมัน (DNVP) พรรคการเมืองปฏิกิริยาราชาธิปไตยนิยม (monarchist) ขวาจัด ระหว่างพันธมิตรระยะสั้นระหว่าง NSDAP–DNVP ในแนวร่วมฮาทซ์บวร์คจาก ค.ศ. 1931 ถึง 1932

นักวิชาการส่วนใหญ่จัดว่าระบอบนาซีทั้งในทางทฤษฎีและในทางปฏิบัติเป็นการเมืองฝ่ายขวาจัด[3] ลักษณะความเป็นขวาจัดในระบอบนาซีเช่น การอ้างว่าผู้ที่สูงส่งมีสิทธิที่จะครอบงำผู้อื่นและกวาดล้างให้สิ้นองค์ประกอบที่ต่ำต้อยไปจากสังคม[33] อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และผู้สนับสนุนปฏิเสธว่าระบอบนาซีไม่ได้เป็นทั้งฝ่ายซ้ายหรือขวา แต่วาดภาพแสดงระบอบนาซีเป็นขบวนการเชิงผสาน (Syncretic politics) แทนในทางการ[34][35] ในไมน์คัมพฟ์ ฮิตเลอร์โจมตีทั้งการเมืองฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาในเยอรมนีโดยตรง โดยกล่าวว่า:

ในวันนี้ โดยเฉพาะนักการเมืองฝ่ายซ้ายของเรา พวกเขาคะยั้นคะยออยู่เสมอว่านโยบายต่างประเทศขี้ขลาดตาขาวและประจบสอพลอของพวกเขานั้นเป็นผลอันจำเป็นจากการลดอาวุธของเยอรมนี แม้ความจริงนั้นคือนี่เป็นนโยบายของพวกทรยศ ... แต่นักการเมืองฝ่ายขวาก็สมควรถูกตำหนิแบบเดียวกัน ก็เป็นเพราะความขี้ขลาดน่าสมเพชของพวกเขาที่ทำให้อันธพาลยิวพวกนั้นที่ขึ้นมามีอำนาจในปี 1918 ได้สามารถปล้นอาวุธไปจากชาติได้[i]

ในคำปราศรัยที่มิวนิกเมื่อวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1922 ฮิตเลอร์กล่าวว่า:

มีความเป็นไปได้สองทางเท่านั้นในเยอรมนี อย่าคิดว่าผู้คนจะเลือกพรรคกลางพรรคแห่งการประนีประนอมตลอดไป วันหนึ่งพวกเขาจะหันมาหาคนเหล่านั้นที่ได้ทำนายอย่างสม่ำเสมอถึงความย่อยยับที่ใกล้เข้ามาและที่พยายามแยกตัวห่างจากมัน และพรรคนั้นก็จะเป็นพวกฝ่ายซ้าย พระเจ้าช่วยเราด้วย! มันจะนำเราไปสู่การทำลายล้างสิ้น จะกลายเป็นลัทธิบอลเชวิค หรือไม่อย่างนั้นก็จะเป็นพรรคพวกฝ่ายขวาซึ่งในตอนสุดท้ายที่ผู้คนหมดหวังเต็มทีแล้ว และได้เสียกำลังใจไปหมดสิ้นไม่เหลือความศรัทธาในสิ่งใด ๆ พวกเขาเป็นแน่ที่จะเข้ายึดบังเหียนอำนาจอย่างไร้ปรานี นั่นเองจะเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อต้านที่ผมได้พูดถึงไปไม่กี่นาทีที่แล้ว[ii]

บางครั้งฮิตเลอร์จะให้นิยามใหม่กับสังคมนิยม ตอนที่จอร์จ ซิลเวสเตอร์ เฟียร์เอ็ค (George Sylvester Viereck) ได้สัมภาษณ์ฮิตเลอร์ในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1923 และถามเขาว่าทำไมจึงเรียกพรรคตัวเองว่าเป็น 'สังคมนิยม' เขาตอบว่า:

สังคมนิยมเป็นศาสตร์ของการจัดการสวัสดิภาพของส่วนรวม ลัทธิคอมมิวนิสต์ไม่ใช่สังคมนิยม ลัทธิมากซ์ไม่ใช่สังคมนิยม พวกมากซิสต์ขโมยคำนี้ไปแล้วสับสนความหมายของมัน ผมสมควรที่จะเอาสังคมนิยมกลับมาจากพวกสังคมนิยม สังคมนิยมเป็นสถาบันเจอร์แมนิกอารยันโบราณ บรรพบุรุษเยอรมันของเราถือครองที่ดินบางส่วนเป็นส่วนรวม พวกเขาได้ปลูกฝังแนวคิดเกี่ยวกับสวัสดิภาพของส่วนรวม ลัทธิมากซ์ไม่มีสิทธิที่จะจำแลงกายเป็นสังคมนิยม สังคมนิยมนั้นต่างจากลัทธิมากซ์ตรงที่มันไม่ยกเลิกทรัพย์สินส่วนบุคคล ต่างจากลัทธิมากซ์ตรงที่มันไม่ปฏิเสธบุคลิกลักษณะ และต่างจากลัทธิมากซ์ตรงที่มันรักชาติ[iii]

ใน ค.ศ. 1929 ฮิตเลอร์ได้ปราศรัยให้แก่กลุ่มผู้นำนาซี และทำให้คำว่า 'สังคมนิยม' ง่ายลงอีกให้แปลว่า "สังคมนิยม! เป็นคำอัปมงคลทีเดียว ... จริง ๆ แล้วสังคมนิยมแปลว่าอะไร? ถ้าผู้คนมีของให้กินและมีความสุขแล้ว พวกเขาก็มีสังคมนิยมของพวกเขา"[iv]

เมื่อถูกถามถึงในการสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 27 มกราคม ค.ศ. 1934 ว่าเขาสนับสนุน "ฝ่ายขวากระฎุมพี" หรือไม่ ฮิตเลอร์อ้างว่าระบอบนาซีนั้นไม่ได้มีไว้สำหรับชนชั้นใดชนชั้นหนึ่ง และชี้ว่าไม่ได้สนับสนุนฝ่ายใดไม่ว่าซ้ายหรือขวา แต่เก็บองค์ประกอบ "บริสุทธิ์" มาจากทั้งสอง "ค่าย" โดยกล่าวว่า: "จากค่ายของประเพณีกระฎุมพี มันจะได้แก้ไขปัญหาระดับชาติ และจากวัตถุนิยมของลัทธิมากซ์ คือสังคมนิยมที่สร้างสรรค์และมีชีวิต"[v]

นักประวัติศาสตร์ถือว่าการจับระบอบนาซีมาเท่ากับ "ลัทธิฮิตเลอร์" นั้นเป็นการง่ายเกินไป เพราะเป็นคำที่มีใช้อยู่แล้วก่อนฮิตเลอร์และนาซีได้อำนาจ และอุดมการณ์ต่าง ๆ ซึ่งรวมอยู่ในระบอบนาซีนั้นมีรากฐานที่แข็งแรงอยู่แล้วในบางส่วนของสังคมเยอรมันก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[41] พวกนาซีได้รับอิทธิพลอย่างมากจากฝ่ายขวาจัดหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งในเยอรมนี ซึ่งถือคติร่วมกันอาทิ การต่อต้านลัทธิมากซ์ การต่อต้านเสรีนิยม และการต่อต้านยิว พร้อมกับแนวคิดชาตินิยม ความรังเกียจในสนธิสัญญาแวร์ซาย และการประณามสาธารณรัฐไวมาร์ที่ไปลงนามสงบศึกเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918 ซึ่งนำไปสู่การลงนามสนธิสัญญาแวร์ซายในภายหลัง[42] แรงบันดาลใจหลักของนาซีมาจากกองกำลังกึ่งทหารชาตินิยมขวาจัดไฟรคอร์ซึ่งมี่ความเกี่ยวข้องกับความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[42] ในตอนแรก ฝ่ายขวาจัดเยอรมันหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งถูกควบคุมโดยฝ่ายราชาธิปไตยนิยม แต่คนรุ่นเด็กกว่าซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับแนวคิดชาตินิยมเฟิลคิช เป็นมูลวิวัติมากกว่าและไม่ได้ให้ความสนใจในการฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยเยอรมันเลย[43] คนรุ่นเด็กกว่ากลุ่มนี้ต้องการรื้อถอนสาธารณรัฐไวมาร์และสร้างใหม่เป็นรัฐที่แข็งแกร่งและมูลวิวัติบนฐานของชาติพันธุ์ชนชั้นปกครองที่จะทำศึกสงครามและจะสามารถรื้อฟื้น "จิตวิญญาณแห่ง ค.ศ. 1914" (Spirit of 1914) ซึ่งถูกเชื่อมโยงกับความเป็นเอกภาพของชาติเยอรมันกลับมาได้ (ฟ็อลค์สเกอไมน์ชัฟท์)[43]

พวกนาซี พวกราชาธิปไตยนิยมขวาจัด พวกปฏิกิริยาพรรคประชาชนแห่งชาติเยอรมัน (DNVP) และกลุ่มอื่น ๆ อย่างเช่นนายทหารที่สนับสนุนราชาธิปไตยในกองทัพเยอรมัน และนักอุตสาหกรรมคนสำคัญหลายคนได้ร่วมสร้างพันธมิตรต่อต้านสาธารณรัฐไวมาร์เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม ค.ศ. 1931 ที่บาทฮาทซ์บวร์ค (Bad Harzburg) ซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างเป็นทางการว่า "Nationalen Front" (แนวร่วมแห่งชาติ) แต่มักถูกเรียกในชื่อแนวร่วมฮาทซ์บวร์ค (Harzburg Front)[44] พวกนาซีกล่าวว่าพันธมิตรนี้เป็นแค่พันธมิตรทางยุทธศาสตร์ล้วน ๆ และยังพวกเขายังคงมีความแตกต่างจากพรรค DNVP แล้วพันธมิตรก็พังทลายลงเมื่อพรรค DNVP เสียที่นั่งจำนวนมากในไรชส์ทาคหลังจากการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1932 พวกนาซีกล่าวหาว่าพวกเขาเป็น "กลุ่มก้อนปฏิกิริยาที่ไม่มีความสำคัญ"[vi] พรรค DNVP จึงตอบกลับด้วยการกล่าวหาพวกนาซีเรื่องสังคมนิยม ความรุนแรงบนท้องถนน และ "การทดลองทางเศรษฐกิจ" ที่จะเกิดขึ้นหากพวกเขาได้ขึ้นสู่อำนาจ[46] แต่ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ไร้บทสรุปที่นักการเมืองอนุรักษ์นิยมฟรันทซ์ ฟ็อน พาเพิน และควร์ท ฟ็อน ชไลเชอร์ ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้หากไร้พวกนาซี พาเพินจึงได้เสนอกับประธานาธิบดีฮินเดินบวร์คให้แต่งตั้งฮิตเลอร์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหัวหน้ารัฐบาลที่ประกอบไปด้วยพวกอนุรักษ์นิยมเป็นส่วนใหญ่ และมีรัฐมนตรีนาซีเพียงสามคน[47][48] ฮินเดินบวร์คทำเช่นนั้น และตรงข้ามกับความคาดหวังของพาเพินและพรรค DNVP ในไม่ช้าฮิตเลอร์จะสามารถก่อตั้งเผด็จการนาซีพรรคเดี่ยวได้[49]

ไคเซอร์วิลเฮ็ล์มที่ 2 ซึ่งถูกกดดันให้สละราชบัลลังก์และลี้ภัยหนีไปท่ามกลางความพยายามปฏิวัติคอมมิวนิสต์ในเยอรมนี ซึ่งในตอนแรกพรรคนาซีสนับสนุน โอรสของเขาสี่คนซึ่งรวมถึงเจ้าชายไอเทิล ฟรีดริช และเจ้าชายอ็อสคาร์ (Prince Oskar of Prussia) เข้าเป็นสมาชิกพรรคนาซีโดยหวังว่าพวกนาซีจะการฟื้นฟูระบอบราชาธิปไตยกลับมาเพื่อแลกกับการสนับสนุนของพวกเขา[50]

ข้างในพรรคนาซีก็มีการแบ่งฝักฝ่าย ทั้งอนุรักษ์นิยมและมูลวิวัติ[51] นาซีอนุรักษ์นิยมแฮร์มัน เกอริง แนะนำให้ฮิตเลอร์ประนีประนอมกับพวกทุนนิยมและพวกปฏิกิริยา[51] นาซีอนุรักษ์นิยมคนสำคัญคนอื่นเช่นไฮน์ริช ฮิมเลอร์ และไรน์ฮาร์ท ไฮดริช[52] ในขณะที่นาซีมูลวิวัติโยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ ต่อต้านทุนนิยม โดยมองว่ามีชาวยิวเป็นศูนย์กลางและเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่พรรคต้องเน้นภาพลักษณ์แบบชนกรรมาชีพและชาตินิยม อ็อทโท ชตรัสเซอร์ มีมุมมองเหล่านั้นร่วมด้วย และในภายหลังเขาออกจากพรรคนาซีไปตั้งแนวร่วมดำโดยเชื่อและกล่าวหาว่าฮิตเลอร์ได้ทรยศเป้าหมายสังคมนิยมของพรรคด้วยการสนับสนุนระบอบทุนนิยม[51]

จากที่ไม่มีใครรู้จัก พรรคนาซีกลายเป็นอิทธิพลการเมืองหลักหลัง ค.ศ. 1929 ปีกอนุรักษ์นิยมมีอิทธิพลมากยิ่งขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อผู้บริจาคที่ร่ำรวยหันมาให้ความสนใจกับศักยภาพของนาซีที่จะเป็นปราการป้องกันลัทธิคอมมิวนิสต์[53] ก่อนหน้านั้นพรรคนาซีได้รับเงินทุนเกือบทั้งสิ้นจากค่าสมาชิก แต่หลังจาก ค.ศ. 1929 กลุ่มผู้นำเริ่มรุกแสวงหาเงินบริจาคจากนักอุตสาหกรรมเยอรมัน และฮิตเลอร์เริ่มจัดการประชุมระดมทุนกับกลุ่มผู้นำธุรกิจในหลายโอกาส[54] ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ธุรกิจเยอรมันซึ่งเผชิญกับความเป็นไปได้ของหายนะทางเศรษฐกิจในมือหนึ่ง และในอีกข้างเป็นรัฐบาลประชาธิปไตยสังคมนิยมหรือรัฐบาลคอมมิวนิสต์ พวกเขาเริ่มหันมาหาระบอบนาซีกันมากขึ้นเพื่อเป็นทางออกจากสถานการณ์นั้นด้วยสัญญาของเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยรัฐที่จะสนับสนุนผลประโยชน์ของธุรกิจที่ดำเนินการอยู่แทนที่จะโจมตี[55] จนกระทั่งเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 1933 พรรคนาซีได้รับความสนับสนุนจากอุตสาหกรรมเยอรมันในภาคส่วนที่มีความสำคัญ กล่าวคือผู้ผลิตถ่านหินและเหล็ก ธุรกิจประกันภัย และอุตสาหกรรมเคมีเป็นหลัก[56]

สัดส่วนขนาดใหญ่ของพรรคนาซี โดยเฉพาะในหมู่สมาชิกชตวร์มอัพไทลุง (SA) มุ่งมั่นในจุดยืนสังคมนิยม ปฏิวัติ และ ต่อต้านทุนนิยม (anti-capitalism) ที่เป็นทางการของพรรค และคาดหวังถึงการปฏิวัติทางสังคมและเศรษฐกิจหลังจากพรรคได้อำนาจมาใน ค.ศ. 1933[57] ทันที่ก่อนที่นาซีจะเข้ายึดอำนาจ ก็ยังมีแม้แต่พวกประชาธิปไตยสังคมนิยมและพวกคอมมิวนิสต์ที่เปลี่ยนฝั่งแล้วถูกเรียกว่า "นาซีสเต๊กเนื้อ" (Beefsteak Nazi): ข้างนอกสีน้ำตาลแต่ข้างในสีแดง[58] ผู้นำ SA แอ็นสท์ เริห์ม ผลักดันให้มี "การปฏิวัติครั้งที่สอง" ("การปฏิวัติครั้งที่หนึ่ง" คือที่นาซีเข้ายึดอำนาจ) ที่จะบัญญัตินโยบายสังคมนิยม มากไปกว่านั้นเริห์มยังต้องการให้กองทัพเยอรมันซึ่งมีขนาดเล็กกว่ารวมเข้ากับ SA ให้อยู่ภายใต้บัญชาของเขา[57] เมื่อนาซีได้อำนาจแล้ว ฮิตเลอร์ได้สั่งการให้ SA ของเริห์มเข้าปราบปรามพรรคฝ่ายซ้ายอย่างรุนแรง และก็เริ่มโจมตีปัจเจกบุคคลที่ถือว่าเกี่ยวข้องกับปฏิกิริยาอนุรักษ์นิยมด้วย[59] ฮิตเลอร์มองว่าการกระทำโดยอิสระของเริห์มนั้นละเมิดและอาจเป็นภัยต่อภาวะผู้นำของเขา และยังเป็นอันตรายต่อระบอบด้วยความบาดหมางกับประธานาธิบดีอนุรักษ์นิยมเพาล์ ฟ็อน ฮินเดินบวร์ค และกองทัพเยอรมันที่เอียงไปทางอนุรักษ์นิยม[60] นี่ส่งผลให้ฮิตเลอร์กวาดล้างเริห์มและสมาชิกสายมูลวิวัติคนอื่น ๆ ใน SA ไปใน ค.ศ. 1934 เป็นที่รู้จักในชื่อคืนมีดยาว[60]

ก่อนฮิตเลอร์เข้าร่วมกองทัพกองทัพบาวาเรียเพื่อต่อสู้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขามีวิถีชีวิตแบบโบฮีเมีย (Bohemianism) เป็นศิลปินสีน้ำขนาดย่อมตามท้องถนนในเวียนนาและมิวนิก และเขายังคงบางส่วนของวิถีชีวิตนี้ไว้ในภายหลัง โดยเข้านอนดึกมากแล้วตื่นตอนบ่ายของวัน แม้ว่าหลังจากเขาได้เป็นนายกรัฐมนตรีและฟือเรอร์แล้วก็ตาม[61] หลังสงครามสิ้นสุด กองพันที่เขาอยู่ถูกรวมเข้ากับสาธารณรัฐโซเวียตไบเอิร์น (Bavarian Soviet Republic) ระหว่าง ค.ศ. 1918 ถึง 1919 ซึ่งเขาได้รับเลือกตั้งเป็นรองผู้แทนกองพัน นักประวัติศาสตร์โทมัส เวเบอร์ (Thomas Weber (historian)) กล่าวว่าฮิตเลอร์เข้าร่วมงานศพของคอมมิวนิสต์ควร์ท ไอส์เนอร์ (Kurt Eisner) (ชาวเยอรมันเชื้อสายยิว) โดยสวมปลอกแขนไว้อาลัยสีดำไว้ข้างหนึ่ง และอีกข้างสวมปลอกแขนคอมมิวนิสต์สีแดง[62] ซึ่งเขามองว่าเป็นหลักฐานว่าความเชื่อทางการเมืองของฮิตเลอร์นั้นยังไม่ตกผลึก[62] ในไมน์คัมพฟ์ ฮิตเลอร์ไม่เคยกล่าวถึงการรับราชการให้กับสาธารณรัฐโซเวียตไบเอิร์น และกล่าวว่าเขากลายเป็นพวกต่อต้านยิวใน ค.ศ. 1913 ขณะที่อยู่ในเวียนนา ข้อความนี้ถูกแย้งว่าในตอนนั้นเขายังไม่เป็นพวกต่อต้านยิว[63] แม้ว่าเป็นที่ยอมรับแล้วว่าในช่วงเวลานั้นเขาได้อ่านหนังสือและวารสารต่อต้านยิวหลายฉบับและชื่นชมนายกเทศมนตรีเวียนนาที่ต่อต้านยิวคาร์ล ลูเอเกอร์ (Karl Lueger)[64] ฮิตเลอร์เปลี่ยนมุมมองทางการเมืองของเขาหลังจากการลงนามสนธิสัญญาแวร์ซายเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1919 และเมื่อนั้นเองเขาได้กลายเป็นชาตินิยมเยอรมันที่ต่อต้านยิว[63]

ฮิตเลอร์ต่อต้านทุนนิยมโดยถือว่ามีต้นกำเนิดจากยิว และกล่าวหาว่าทุนนิยมกำลังจับประเทศชาติเป็นตัวประกันเรียกค่าไถ่ให้กับผลประโยชน์ของชนชั้นปรสิตของเสือนอนกิน (rentier capitalism) พลเมืองโลก[65] เขาก็ต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์และสังคมนิยมรูปแบบสมภาคนิยมด้วย โดยอ้างว่าความไม่เท่าเทียมและการมีลำดับชั้นนั้นเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ[66] เขาเชื่อว่าชาวยิวเป็นผู้ประดิษฐ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ขึ้นมาเพื่อทำให้ประเทศชาติอ่อนแอด้วยการส่งเสริมการต่อสู้ทางชนชั้น[67] หลังจากเขาได้ขึ้นสู่อำนาจ ฮิตเลอร์มีจุดยืนทางเศรษฐศาสตร์แบบปฏิบัตินิยม โดยอนุญาตให้มีทรัพย์สินส่วนบุคคลและให้วิสาหกิจเอกชนทุนนิยมดำรงอยู่ตราบใดที่พวกเขายึดโยงกับเป้าหมายของรัฐนาซี แต่ไม่ยอมทนกับวิสาหกิจที่พวกเขามองว่าขัดแย้งกับผลประโยชน์ของชาติ[51]

ผู้นำธุรกิจเยอรมันไม่ชอบอุดมการณ์นาซีแต่สนับสนุนฮิตเลอร์เพราะพวกเขามองว่าพวกนาซีเป็นพันธมิตรที่มีประโยชน์ในการส่งเสริมผลประโยชน์ของพวกเขา[68] กลุ่มธุรกิจมีส่วนสำคัญในเงินทุนของพรรคนาซีทั้งก่อนและหลังการยึดอำนาจ โดยพวกเขาหวังว่าเผด็จการนาซีจะกำจัดขบวนการแรงงานจัดตั้งและพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายให้หมดไป[69] ฮิตเลอร์แสวงหาการสนับสนุนจากผู้นำธุรกิจอย่างแข็งขันด้วยการอ้างว่าวิสาหกิจเอกชนนั้นเข้ากันไม่ได้กับระบอบประชาธิปไตย[70]

ถึงแม้ว่าฮิตเลอร์จะต่อต้านอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ แต่เขาชื่นชมผู้นำสหภาพโซเวียตโจเซฟ สตาลิน และลัทธิสตาลินอย่างเปิดเผยในหลายโอกาส[71] ฮิตเลอร์ยกย่องสตาลินที่เขาพยายามชำระล้างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหภาพโซเวียตให้สิ้นอิทธิพลยิว โดยระบุถึงการที่สตาลินได้กวาดล้างคอมมิวนิสต์ชาวยิวไม่ว่าจะเป็นเลออน ทรอตสกี, กรีโกรี ซีโนเวียฟ (Grigory Zinoviev), เลฟ คาเมเนฟ (Lev Kamenev) และคาร์ล ราเดค (Karl Radek)[72] ในขณะที่ฮิตเลอร์มีเจตนาที่จะให้ประเทศเยอรมนีมีความขัดแย้งกับสหภาพโซเวียตมาตลอดเพื่อให้สามารถเพิ่มเลเบินส์เราม์ ("พื้นที่อยู่อาศัย") ได้ แต่เขาก็สนับสนุนพันมิตรยุทธศาสตร์ชั่วคราวระหว่างนาซีเยอรมนีกับสหภาพโซเวียตเพื่อสร้างแนวร่วมต่อต้านเสรีนิยมร่วมกันให้เอาชนะระบอบประชาธิปไตยเสรีนิยมให้ได้ โดยเฉพาะประเทศฝรั่งเศส[71]

ฮิตเลอร์ชื่นชมจักรวรรดิบริติชและระบอบอาณานิคม (Analysis of Western European colonialism and colonization) ของจักรวรรดิว่าเป็นบทพิสูจน์ซึ่งดำรงอยู่ที่แสดงถึงความเหนือกว่าของเชื้อชาติเจอร์แมนิกเหนือเชื้อชาติที่ "ต่ำ" กว่า และมองสหราชอาณาจักรเป็นพันธมิตรโดยธรรมชาติของประเทศเยอรมนี[73][74] เขาเขียนไว้ในไมน์คัมพฟ์ว่า: "เวลาอีกยาวนานที่กำลังจะถึง ในยุโรปจะมีเพียงสองอำนาจที่อาจจะสามารถลงเอยเป็นพันธมิตรกับเยอรมนีได้ อำนาจเหล่านี้คือบริเตนใหญ่และอิตาลี"[vii]

กำเนิด

รากทางประวัติศาสตร์ของระบอบนาซีพบได้ในหลากหลายองค์ประกอบของวัฒนธรรมการเมืองยุโรปซึ่งหมุนเวียนอยู่ภายในเมืองศูนย์กลางทางปัญญาต่าง ๆ ในทวีป หรือสิ่งที่นักประวัติศาสตร์โยอาคีม เฟสต์ (Joachim Fest) เรียกว่า "กองเศษวัสดุมโนคติ" (scrapheap of ideas) ที่แพร่หลายในสมัยนั้น[75][76] นักประวัติศาสตร์มาร์ทีน โบรสท์ซัท (Martin Broszat) ชี้ว่า:

องค์ประกอบสำคัญของอุดมการณ์นาซีเกือบทั้งสิ้นสามารถพบได้ในจุดยืนสายมูลวิวัติของขบวนการประท้วงเชิงอุดมการณ์ในประเทศเยอรมนีก่อน ค.ศ. 1914 เหล่านั้นเช่น: การต่อต้านยิวอย่างรุนแรง อุดมการณ์เลือดและดิน แนวคิดเชื้อชาติเจ้านาย และแนวคิดการเข้ายึดครองและตั้งถิ่นฐานในตะวันออก ความคิดเหล่านี้ฝังตัวอยู่ในแนวคิดชาตินิยมประชานิยมซึ่งต่อต้านนวนิยมและมนุษยนิยมอย่างแข็งขัน และเป็นเชิงศาสนาเทียม"[viii]

เมื่อรวมกันแล้ว ผลลัพธ์เป็นอุดมการณ์ที่ต่อต้านปัญญาชนและกึ่งไม่รู้ความในทางการเมืองซึ่งขาดความเชื่อมโยง อันเป็นผลผลิตของวัฒนธรรมมวลชนซึ่งมอบความผูกพันทางอารมณ์และโลกทัศน์ที่ย่อยง่ายและเรียบง่ายที่มีรากฐานเป็นปกรณัมทางการเมืองสำหรับมวลชนให้แก่ผู้ที่ติดตามมัน[76]

ชาตินิยมเฟิลคิช

โยฮัน ก็อทลีพ ฟิชเทอ ผู้ที่ถือว่าเป็นหนึ่งในบิดาแห่งชาตินิยมเยอรมัน

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ และสมาชิกคนอื่น ๆ ของพรรคนาซีในสาธารณรัฐไวมาร์ (ค.ศ. 1918–1933) ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากนักคิดและผู้ที่นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับมานุษยวิทยานิเวศ (ecological anthropology), คตินิยมเชื้อชาติทางวิทยาศาสตร์ (scientific racism), วิทยาศาสตร์แบบองค์รวม (Holism in science), และอินทรียนิยม (organicism) ในเชิงปรัญชา ภว-ญาณวิทยา และทฤษฎีจากสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 และช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 หลายคน ในส่วนที่เกี่ยวกับองค์ประกอบของระบบซับซ้อน (complex system) และการสร้างทฤษฎีว่าด้วยสังคมของเชื้อชาติที่มีชีวิต[77][78][79][80] โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักปรัชญาชาตินิยมเยอรมันยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 โยฮัน ก็อทลีพ ฟิชเทอ หนึ่งในอิทธิพลที่สำคัญที่สุดที่มีต่ออุดมการณ์ของพวกนาซี ผลงานของเขาได้ทำหน้าที่เป็นแรงบันดาลใจแด่ฮิตเลอร์และสมาชิกพรรคนาซีคนอื่น ๆ และแนวคิดของเขาถูกนำไปปฏิบัติใช้เป็นส่วนหนึ่งของรากฐานทางปรัชญาและอุดมการณ์ของชาตินิยมเฟิลคิชแนวนาซี[78]

ผลงานของโยฮัน ก็อทลีพ ฟิชเทอ ทำหน้าที่เป็นแรงบันดาลใจแด่ฮิตเลอร์และสมาชิกพรรคนาซีคนอื่น ๆ เช่นดีทริช เอคาร์ท (Dietrich Eckart) และอาร์น็อลท์ ฟังค์ (Arnold Fanck)[78][81] ใน Speeches to the German Nation (ค.ศ. 1808) ซึ่งเขียนขึ้นมาระหว่างจักรวรรดิฝรั่งเศสที่หนึ่งเข้าครอบครองเบอร์ลินในช่วงสงครามนโปเลียน ฟิชเทอเรียกร้องให้มีการปฏิวัติแห่งชาติเยอรมันต่อต้านกองทัพจักรวรรดิฝรั่งเศส (French Imperial Army (1804–1815)) ผู้ครอบครอง โดยปราศรัยในที่สาธารณะด้วยแรงกล้า ติดอาวุธศิษย์ของเขาเพื่อต่อสู้กับฝรั่งเศส และเน้นย้ำถึงความจำเป็นของการกระทำโดยชาติเยอรมันเพื่อให้สามารถปลดปล่อยตนเองได้[82] ชาตินิยมเยอรมันของฟิชเทอเป็นประชานิยมและตรงข้ามกับของอภิชนจารีตประเพณี โดยกล่าวถึงความจำเป็นที่จะต้องมี "สงครามของประชาชน" (Volkskrieg) และนำเสนอแนวคิดต่าง ๆ ซึ่งคล้ายกับที่นาซีดัดแปลงมาใช้[82] ฟิชเทอสนับสนุนคติข้อยกเว้นเยอรมัน (exceptionalism) และเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ชาติเยอรมันจะต้องทำให้ตนเองบริสุทธิ์ (ประกอบด้วยการชำระล้างคำภาษาฝรั่งเศสออกไปจากภาษาเยอรมัน ซึ่งเป็นนโยบายที่พวกนาซีนำไปปฏิบัติเมื่อได้อำนาจ)[82]

อีกบุคคลหนึ่งที่สำคัญในแนวคิดแบบเฟิลคิชยุคก่อนนาซีคือวิลเฮ็ล์ม ไฮน์ริช รีห์ล (Wilhelm Heinrich Riehl) ผลงานของเขา ลันท์อุนท์ล็อยเทอ (Land und Leute "แผ่นดินและผู้คน" เขียนขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1857 และ 1863) ผูกมัดฟ็อล์ค (ประชาชน) เยอรมันที่มีชีวิตรวมเข้ากับธรรมชาติและภูมิทัศน์พื้นถิ่นของพวกเขารวมกัน ซึ่งเป็นการจับคู่ที่ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิงกับอารยธรรมแบบวัตถุนิยมและเชิงกลซึ่งในขณะนั้นกำลังพัฒนาขึ้นมาเนื่องมาจากการปรับให้เป็นอุตสาหกรรม (industrialisation)[83] นักภูมิศาสตร์ฟรีดริช รัทเซิล และคาร์ล เฮาส์โฮเฟอร์ (Karl Haushofer) ได้หยิบยืมงานของรีห์ลมาใช้ เช่นเดียวกับผู้ติดตามอุดมการณ์นาซีอัลเฟรท โรเซินแบร์ค และเพาล์ ชุลท์เซอ-เนาม์บวร์ค (Paul Schultze-Naumburg) ทั้งสองได้นำเอาปรัชญาของรีห์ลบางส่วนมาใช้อ้างว่า "แต่ละรัฐประชาชาตินั้นเป็นสิ่งมีชีวิตซึ่งต้องการพื้นที่อยู่อาศัยประมาณหนึ่งเพื่อเอาชีวิตให้รอด"[84] อิทธิพลของรีห์ลนั้นมองเห็นได้อย่างชัดเจนจากปรัชญาบลุทอุนท์โบเดิน (Blut und Boden "เลือดและดิน") ที่อ็อสวัลท์ ชเป็งเลอร์ (Oswald Spengler) เป็นผู้นำเสนอ ซึ่งนักเกษตรศาสตร์นาซีริชชาร์ท วัลเทอร์ ดาเร (Richard Walther Darré) และนาซีคนสำคัญคนอื่น ๆ นำไปใช้[85][86][87]

ชาตินิยมเฟิลคิชประณามวัตถุนิยม, ปัจเจกนิยม (individualism) และสังคมอุตสาหกรรมเมืองโลกวิสัยที่ไร้จิตวิญญาณ และสนับสนุนสังคมที่ "เหนือ" กว่าบนรากฐานของวัฒนธรรม "พื้นบ้าน" ชาติพันธุ์เยอรมันและ "เลือด" เยอรมัน[88] แนวคิดนี้ประณามคนต่างชาติและแนวคิดต่างชาติ และประกาศว่าชาวยิว ฟรีเมสัน และคนอื่น ๆ นั้นเป็น "พวกทรยศชาติ" และไม่สมควรถูกรวมเข้า[89] ชาตินิยมเฟิลคิชมองโลกผ่านแว่นของกฎหมายธรรมชาติ (natural law) และจินตนิยม (romanticism) และมองว่าสังคมนั้นมีชีวิต ยกย่องคุณธรรมของชีวิตชนบท ประณามการทอดทิ้งประเพณีและการเสื่อมของศีลธรรม ประณามการทำลายล้างธรรชาติแวดล้อม และประณามวัฒนธรรมแบบ "พลเมืองโลก" เช่นชาวยิวและชาวโรมานี[90]

พรรคการเมืองพรรคแรกที่พยายามผสมชาตินิยมเข้ากับสังคมนิยมคือพรรคกรรมกรเยอรมันในออสเตรีย-ฮังการี (German Workers' Party (Austria-Hungary)) ซึ่งเป็นหลักแล้วมุ่งเน้นที่จะแก้ไขความขัดแย้งระหว่างชาวเยอรมันเชื้อสายออสเตรียกับชาวเช็กในจักรวรรดิออสเตรียซึ่งหลากชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการีในสมัยนั้น[91] ใน ค.ศ. 1896 นักการเมืองชาวเยอรมันฟรีดริช เนามันน์ (Friedrich Naumann) ได้ก่อตั้งสมาคมชาติสังคม (National-Social Association) ซึ่งมุ่งเน้นที่จะผสมชาตินิยมเยอรมันเข้ากับสังคมนิยมในรูปแบบที่ไม่ใช่มากซิสต์ ความพยายามกลับล้มเหลว แล้วความคิดที่จะเชื่อมต่อชาตินิยมเข้ากับสังคมนิยมถูกมองว่าเท่ากับการต่อต้านยิว ชาตินิยมเยอรมันสุดโต่ง และขบวนการเฟิลคิชโดยทั่วไปอย่างรวดเร็ว[41]

เกออร์ค ริทเทอร์ ฟ็อน เชอเนอเรอร์ ผู้สนับสนุนคนหลักของอุดมการณ์รวมกลุ่มเยอรมันในออสเตรีย

ในสมัยจักรวรรดิเยอรมัน ชาตินิยมเฟิลคิชถูกบดบังโดยอุดมการณ์รักชาติปรัสเซียและประเพณีสหพันธรัฐของรัฐสมาชิกแต่ละรัฐของมัน[92] เหตุการณ์ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและจุดจบของระบอบราชาธิปไตยปรัสเซียในเยอรมนีส่งผลให้ชาตินิยมเฟิลคิชปฏิวัติเติบโตขึ้นมา[93] พวกนาซีสนับสนุนนโยบายชาตินิยมปฏิวัติแบบเฟิลคิชเหล่านั้น[92] และอ้างว่าอุดมการณ์ของพวกเขาได้รับอิทธิพลมาจากการนำและนโยบายของนายกรัฐมนตรีเยอรมนีอ็อทโท ฟ็อน บิสมาร์ค ซึ่งมีส่วนสำคัญในการก่อตั้งจักรวรรดิเยอรมัน[94] พวกนาซีประกาศว่าพวกเขานั้นมีความมุ่งมั่นที่จะสานต่อกระบวนการก่อสร้างรัฐชาติเยอรมันที่เป็นปึกแผ่นที่บิสมาร์คได้ริเริ่มไว้และต้องการทำให้สำเร็จ[95] แม้ว่าฮิตเลอร์จะสนับสนุนการก่อสร้างจักรวรรดิเยอรมันของบิสมาร์ค แต่เขาวิพากษ์นโยบายในประเทศแบบสายกลางของบิสมาร์ค[96] ฮิตเลอร์กล่าวถึงประเด็นที่บิสมาร์คสนับสนุนไคลน์ด็อยชลันท์ (Kleindeutschland "เยอรมนีเล็ก" ซึ่งไม่รวมออสเตรีย) มากกว่าโกรสด็อยชลันท์ (Großdeutschland "เยอรมนีใหญ่") แบบรวมกลุ่มเยอรมันที่นาซีสนับสนุนไว้ว่า ที่บิสมาร์คสามารถสร้างไคลน์ด็อยชลันท์ได้สำเร็จนั้นเป็น "ความสำเร็จสูงสุด" ที่บิสมาร์คสามารถทำได้ "ภายใต้ข้อจำกัดที่ทำได้ในช่วงเวลานั้น"[97] ในไมน์คัมพฟ์ ฮิตเลอร์นำเสนอตัวเองเป็น "บิสมาร์คคนที่สอง"[98]

ฮิตเลอร์ในวัยเด็กของเขาที่ออสเตรียได้รับอิทธิพลทางการเมืองจากผู้สนับสนุนการรวมกลุ่มเยอรมันชาวออสเตรียเกออร์ค ริทเทอร์ ฟ็อน เชอเนอเรอร์ (Georg Ritter von Schönerer) ซึ่งสนับสนุนชาตินิยมเยอรมันมูลวิวัติ (German nationalism in Austria), การต่อต้านยิว, การต่อต้านคาทอลิก (anti-Catholicism), การต่อต้านสลาฟ (anti-Slavic sentiment) และการต่อต้านราชวงศ์ฮาพส์บวร์ค[99] ฮิตเลอร์ดัดแปลงการทักทายด้วยไฮล์ (Heil) มาใช้ในขบวนการนาซี ตำแหน่งฟือเรอร์ และตัวแบบการนำพรรคแบบสมบูรณาญาสิทธิ์มาจากฟ็อน เชอเนอเรอร์ และผู้ติดตามของเขา[99] ฮิตเลอร์ยังมีความประทับใจกับการต่อต้านยิวแบบประชานิยมและการปลุกปั่นต่อต้านกระฎุมพีเสรีนิยมของคาร์ล ลูเอเกอร์ ซึ่งเป็นนายกเทศมนตรีของเวียนนาในขณะที่ฮิตเลอร์อยู่ที่นั่น เขาใช้การปราศรัยปลุกระดมที่ดึงดูดใจมวลชนวงกว้าง[100] ลูเอเกอร์ไม่ได้เป็นชาตินิยมเยอรมันซึ่งต่างจากต่างจากฟ็อน เชอเนอเรอร์ แต่เป็นผู้สนับสนุนราชวงศ์ฮาพส์บวร์คและคาทอลิกและใช้วาทกรรมชาตินิยมเยอรมันเป็นบางครั้งก็เมื่อเป็นประโยชน์กับวาระทางการเมืองของเขาเท่านั้น[100] แม้ว่าฮิตเลอร์จะชื่นชมทั้งลูเอเกอร์และเชอเนอเรอร์ แต่เขาวิจารณ์ลูเอเกอร์ที่ไม่ปฏิบัติใช้หลักคำสอนทางเชื้อชาติกับชาวยิวและชาวสลาฟ[101]

ทฤษฎีเชื้อชาติและการต่อต้านยิว

อาร์ตูร์ เดอ กอบีโน หนึ่งในผู้ประดิษฐ์คนสำคัญของทฤษฎีว่าด้วย "เชื้อชาติอารยัน"

แนวคิดเกี่ยวกับเชื้อชาติอารยันที่พวกนาซีส่งเสริมนั้นมีรากมาจากทฤษฎีเชื้อชาติที่กล่าวว่าคนยุโรปเป็นทายาทของผู้ตั้งถิ่นฐานชาวอินโด-อิหร่าน ซึ่งเป็นผู้คนจากอินเดียโบราณและเปอร์เซียโบราณ[102] ผู้ที่สนับสนุนทฤษฎีนี้ใช้ข้อเท็จจริงที่ว่าคำในภาษาแถบยุโรปมีการออกเสียงและความหมายที่คล้ายคลึงกับคำในกลุ่มภาษาอินโด-อิเรเนียน[102] โยฮัน ก็อทฟรีท แฮร์เดอร์ อ้างว่าชาวเจอร์แมนิกมีความเชื่อมโยงทางเชื้อชาติที่ใกล้ชิดกับชาวอินเดียโบราณและชาวเปอร์เซียโบราณ ซึ่งเขาอ้างว่าเป็นผู้คนขั้นสูงที่มีความสามารถยิ่งใหญ่ในทางสติปัญญา ความสูงศักดิ์ ความอดกลั้น และวิทยาศาสตร์[102] ผู้คนในสมัยเดียวกับแฮร์เดอร์ใช้แนวคิดเรื่องเชื้อชาติอารยันเพื่อลากเส้นแบ่งแยกระหว่างสิ่งที่พวกเขามองว่าเป็นวัฒนธรรมอารยันที่ "สูงส่งและสูงศักดิ์" ออกจากสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมเซมีติกซึ่งเป็น "ปรสิต"[102]

แนวคิดเกี่ยวกับความสูงสุดของคนผิวขาว (white supremacy) และความเหนือกว่าของเชื้อชาติอารยันถูกหลอมรวมเข้ากันในคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อพวกที่เชื่อในความสูงสุดของคนผิวขาวยึดในความเชื่อว่าคนผิวขาวบางกลุ่มนั้นเป็นสมาชิกของ "เชื้อชาติเจ้านาย" ที่เหนือกว่าเชื้อชาติอื่น ๆ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเหนือกว่าเชื้อชาติเซมีติก ซึ่งพวกเขาสัมพันธ์มันกับ "ความเป็นหมันทางวัฒนธรรม"[102] อาร์ตูร์ เดอ กอบีโน (Arthur de Gobineau) นักทฤษฎีเชื้อชาติและชนชั้นสูงชาวฝรั่งเศสกล่าวโทษว่าการล่มสลายของอองเซียงเรฌีมในประเทศฝรั่งเศสนั้นเป็นเหตุจากความเสื่อมทรามทางเชื้อชาติที่เกิดจากการผสมเชื้อชาติ (Miscegenation) ซึ่งเขาอ้างว่าได้ทำลายความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติอารยัน เขาใช้คำนี้สำหรับหมายถึงชาวเจอร์แมนิกเท่านั้น[103][104] ทฤษฎีของกอบีโนซึ่งได้ดึงดูดผู้ติดตามที่เข้มแข็งในเยอรมนี[103] เน้นย้ำถึงการดำรงอยู่ของสภาพขั้ว (polarity (international relations)) ระหว่างวัฒนธรรมอารยัน (เจอร์แมนิก (Germanic culture)) กับวัฒนธรรมยิว (Jewish culture) ที่ปรองดองกันไม่ได้[102]

หนังสือของฮิวสตัน สจวร์ต เชมเบอร์ลิน The Foundations of the Nineteenth Century ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นผลงานต้นเชื้อในประวัติศาสตร์ของชาตินิยมเยอรมัน

รหัสยลัทธิอารยันอ้างว่าศาสนาคริสต์มีต้นกำเนิดมาจากประเพณีศาสนาอารยัน และชาวยิวแย่งชิงตำนานนั้นไปจากชาวอารยัน[102] ผู้สนับสนุนทฤษฎีเชื้อชาติชาวอังกฤษเชื้อสายเยอรมันฮิวสตัน สจวร์ต เชมเบอร์ลิน (Houston Stewart Chamberlain) สนับสนุนแนวคิดความสูงสุดของกลุ่มชนเจอร์แมนิกและการต่อต้านยิวในเยอรมนี[103] งานของเชมเบอร์ลิน The Foundations of the Nineteenth Century (ค.ศ. 1899 "รากฐานของคริสต์ศตวรรษที่ 19") สรรเสริญความสร้างสรรค์และจิตนิยมของชาวเจอร์แมนิกและกล่าวว่าจิตวิญญาณเจอร์แมนิกนั้นถูกขู่เข็ญจากจิตวิญญาณ "ยิว" ซึ่งเห็นแก่ตัวและเป็นวัตถุนิยม[103] เชมเบอร์ลินใช้สมมติฐานของเขาเพื่อส่งเสริมแนวคิดอนุรักษนิยมราชาธิปไตยและประณามระบอบประชาธิปไตย, เสรีนิยม และสังคมนิยม[103] หนังสือเล่มนี้กลายเป็นที่นิยมขึ้นมาโดยเฉพาะในประเทศเยอรมนี[103] เชมเบอร์ลินเน้นย้ำว่าชาติจำเป็นที่จะต้องรักษาความบริสุทธิ์ทางเชื้อชาติไว้เพื่อป้องกันจากความเสื่อมทรามและอ้างว่าการผสมเชื้อชาติกับชาวยิวนั้นควรถูกห้าม[103] ใน ค.ศ. 1923 เชมเบอร์ลินได้พบกับฮิตเลอร์ ซึ่งเป็นผู้นำที่เขายกย่องว่าเป็นจิตวิญญาณเสรีที่กลับมาเกิดใหม่[105] หนังสือเล่มหนึ่งที่ฮิตเลอร์อ่านแล้วกล่าวว่าเป็น "ไบเบิลของผม" คืองานของแมดิสัน แกรนต์ (Madison Grant) The Passing of the Great Race (ค.ศ. 1916 "สิ้นเชื้อชาติอันยิ่งใหญ่") ที่สนับสนุนลัทธินอร์ดิก (Nordicism) และนำเสนอให้มีการปฏิบัติใช้โครงการสุพันธุศาสตร์เพื่ออนุรักษ์ความบริสุทธิ์ของเชื้อชาตินอร์ดิก[106]

ในประเทศเยอรมนี ความเชื่อว่าชาวยิวนั้นกำลังใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากชาวเยอรมันกลายเป็นที่นิยมเพราะชาวยิวผู้มั่งคั่งหลายคนได้ขึ้นรับตำแหน่งสำคัญในการรวมชาติเยอรมันเมื่อ ค.ศ. 1871[107] ตั้งแต่ ค.ศ. 1871 จนถึงช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ชาวเยอรมันเชื้อสายยิวมีอยู่มากในชนชั้นกลางและชนชั้นสูงในขณะที่ในชนชั้นล่างของประเทศเยอรมนีกลับมีอยู่น้อย โดยเฉพาะในภาคส่วนของแรงงานเกษตรและอุตสาหกรรม[108] นักการเงินการธนาคารชาวเยอรมันเชื้อสายยิวมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการเติบโตของเศรษฐกิจเยอรมันระหว่าง ค.ศ. 1871 จนถึง 1913 และพวกเขาได้รับผลประโยชน์มหาศาลจากการขยายตัวนี้ ใน ค.ศ. 1908 ในยี่สิบเก้าตระกูลชาวเยอรมันที่ร่ำรวยที่สุดซึ่งความมั่งคั่งรวมกันแล้วกว่า 55 ล้านมาร์คในสมัยนั้น ห้าตระกูลเป็นเชื้อสายยิวและตระกูลชาวเยอรมันที่ร่ำรวยที่สุดเป็นอันดับสองคือตระกูลรอธส์ไชลด์[109] ชาวยิวมีความเด่นชัดมากในภาคการธนาคาร การพาณิชย์ และอุตสาหกรรมของประเทศเยอรมนีในช่วงเวลานี้ แม้ว่าชาวยิวนั้นประกอบเพียงร้อยละ 1 ของประชากรในประเทศเยอรมนีเท่านั้นโดยประมาณ[107] ชาวยิวที่ประกอบเป็นจำนวนมากเกินสัดส่วนในสาขาเหล่านี้กลายเป็นเชื้อเพลิงให้กับความขุ่นเคืองของชาวเยอรมันที่ไม่ได้มีเชื้อสายยิวในช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจ[108] เหตุการณ์ตลาดหุ้นตกใน ค.ศ. 1873 และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ตามมาส่งผลให้เกิดกระแสการโจมตีชาวยิวที่ถูกกล่าวหาว่าครอบงำเศรษฐกิจเยอรมนี และการต่อต้านยิวก็เพิ่มขึ้น[108] ในช่วงเวลานี้ ในคริสต์ทศวรรษ 1860 ชาตินิยมเฟิลคิชเยอรมันรวมทั้งขบวนการการเมืองฝ่ายขวามูลวิวัติอีกหลายกลุ่มเริ่มนำประเด็นการเหยียดเชื้อชาติและการต่อต้านยิวมาใช้[110]

ผู้สนับสนุนชาตินิยมเฟิลคิชคนสำคัญหลายคนส่งเสริมการต่อต้านยิวแบบมูลวิวัติ เช่นอ็อยเกิน ดีเดอริชส์ (Eugen Diederichs), เพาล์ เดอ ลาการ์ด (Paul de Lagarde) และยูลีอุส ลังเบห์น (Julius Langbehn)[90] เดอ ลาการ์ด เรียกชาวยิวว่าเป็น "บาซิลลัส พาหะของความเสื่อมโทรม ... เป็นมลทินต่อวัฒนธรรมทุก ๆ ชาติ ... และทำลายล้างศรัทธาทั้งสิ้นด้วยเสรีนิยมแบบวัตถุนิยมของพวกเขา"[ix] และเรียกร้องให้มีการกำจัดชาวยิวให้สิ้นไป[111] ลังเบห์นเรียกร้องให้มีสงครามทำลายล้างชาวยิว และในภายหลังพวกนาซีได้เผยแพร่นโยบายฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของเขาจำหน่ายให้กับทหารแนวหน้าระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง[111] ผู้สนับสนุนอุดมการณ์ต่อต้านยิวอีกคนหนึ่งในสมัยนั้นฟรีดริช ลังเงอ (Friedrich Lange (journalist)) ยังได้ใช้คำว่า "ชาติสังคมนิยม" ไว้เรียกแม่แบบชาตินิยมเฟิลคิชแนวต่อต้านทุนนิยมของเขาเอง[112]

โยฮัน ก็อทลีพ ฟิชเทอ กล่าวหาว่าชาวยิวในประเทศเยอรมนีเป็น "รัฐซ้อนรัฐ" ที่เป็นภัยต่อเอกภาพของชาติเยอรมันและจะเป็นต่อไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้[82] ฟิชเทอเสนอสองตัวเลือกสำหรับการจัดการกับเรื่องนี้ ประการแรกคือการก่อสร้างรัฐยิวในภูมิภาคปาเลสไตน์เพื่อจูงใจให้ชาวยิวย้ายออกจากยุโรป[113] ตัวเลือกที่สองคือการใช้ความรุนแรงต่อชาวยิว และเขากล่าวว่าเป้าหมายของความรุนแรงนั้นคือเพื่อ "ตัดหัวของพวกเขาให้หมดภายในหนึ่งคืน ตั้งหัวใหม่ไว้บนไหล่ของพวกเขา ซึ่งควรจะไม่มีแนวคิดยิวอยู่ในนั้นแม้แต่เสี้ยวเดียว"[113]

The Protocols of the Elders of Zion (ค.ศ. 1912 "พิธีสารปราชญ์แห่งไซออน") เป็นงานที่ถูกปลอมแปลงขึ้นโดยโอฮรานา (okhrana) หน่วยงานลับของจักรวรรดิรัสเซีย พวกต่อต้านยิวหลายคนเชื่อว่ามันเป็นเรื่องจริงและมันจึงกลายเป็นที่โด่งดังหลังจากสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง[114] พิธีสารนั้นอ้างถึงการสมคบคิดอย่างลับของชาวยิวจากนานาชาติที่จะเข้ายึดครองโลก[115] อัลเฟรท โรเซินแบร์ค เป็นผู้แนะนำให้ฮิตเลอร์ได้รู้จักกับพิธีสารนั้น และตั้งแต่ ค.ศ. 1920 เป็นต้นมาเขามุ่งเน้นการโจมตีด้วยการอ้างว่าลัทธิมากซ์และศาสนายูดาห์มีความเกี่ยวโยงกันโดยตรง ว่าชาวยิวและพวกบอลเชวิคเป็นคนกลุ่มเดียวกลุ่มเดียวกัน และว่าลัทธิมากซ์เป็นอุดมการณ์ยิว ซึ่งเหล่านี้กลายเป็นที่รู้จักว่า "ลัทธิบอลเชวิกยิว"[116] ฮิตเลอร์เชื่อว่าพิธีสารชิ้นนั้นเป็นของแท้[117]

ก่อนนาซีขึ้นสู่อำนาจ ฮิตเลอร์มักกล่าวโทษว่าศีลธรรมนั้นเสื่อมลงเพราะรัสเซินชันเดอ (Rassenschande "ความเสื่อมเสียทางเชื้อชาติ") ซึ่งเป็นวิธีการเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้ติดตามของเขาว่ายังคงต่อต้านยิวอยู่ ซึ่งถูกทำให้เจือจางลงไว้สำหรับคนส่วนมาก[118] ก่อนที่พวกนาซีออกกฎหมายเชื้อชาติเนือร์นแบร์คมาใน ค.ศ. 1935 พวกชาตินิยมเยอรมันหลายคนสนับสนุนกฎหมายที่ห้ามรัสเซินชันเดอระหว่างชาวอารยันกับชาวยิวโดยให้ถือเป็นการกบฏต่อเชื้อชาติ เช่นโรลันท์ ไฟรส์เลอร์[118] และแม้กระทั่งก่อนกฎหมายจะออกมาอย่างเป็นทางการเสียอีก พวกนาซีก็ได้ห้ามเพศสัมพันธ์และการสมรสกันระหว่างสมาชิกพรรคกับชาวยิวแล้ว[119] สมาชิกพรรคที่พบว่ามีความผิดฐานรัสเซินชันเดอจะถูกลงโทษอย่างรุนแรง สมาชิกพรรคบางคนถูกตัดสินให้รับโทษประหารชีวิตก็มี[120]

พวกนาซีอ้างว่าบิสมาร์คไม่สามารถรวมชาติเยอรมันได้สำเร็จเพราะมีชาวยิวแทรกซึมอยู่ในรัฐสภาเยอรมัน และอ้างว่าการที่พวกเขายุบสภาได้ทำให้อุปสรรคต่อการรวมชาตินี้สิ้นสุดลง[94] พวกนาซีกล่าวหาชาวยิวและประชากรกลุ่มอื่น ๆ ที่พวกเขาถือว่าไม่เป็นเยอรมันว่ามีความภักดีต่อต่างชาติด้วยตำนานแทงข้างหลัง นี่จึงทำให้การต่อต้านยิวในเยอรมนีเรื่องยูเดินฟราเกอ (ปัญหาชาวยิว) รุนแรงขึ้น กล่าวคือข้อกล่าวหาเท็จ (Antisemitic canard) ของการเมืองฝ่ายขวาจัดซึ่งเป็นที่นิยมในช่วงที่ขบวนการเฟิลคิชเชิงชาติพันธุ์และนโยบายชาตินิยมแบบจินตนิยม (romantic nationalism) เพื่อสถาปนาโกรสด็อยชลันท์ (เยอรมนีใหญ่) ของมันกำลังเข้มแข็ง[121][122]

นโยบายเชื้อชาติของระบอบนาซีอาจพัฒนามาจากมุมมองของนักชีววิทยาคนสำคัญในคริสต์ศตวรรษที่ 19 อาทินักชีววิทยาชาวฝรั่งเศสฌ็อง-บาติสต์ ลามาร์ก (Jean-Baptiste Lamarck) ผ่านทฤษฎีของลามาร์กแบบจิตนิยมของแอ็นสท์ เฮ็คเคิล (Ernst Haeckel) และนักพฤกษศาสตร์ชาวเยอรมันบิดาของวิชาพันธุศาสตร์เกรกอร์ เม็นเดิล[123] ในภายหลัง พวกนาซีประณามงานของเฮ็ตเติลว่าไม่เหมาะสมสำหรับ "การก่อร่างและการศึกษาแบบชาติสังคมนิยในไรช์ที่สาม" [x] ส่วนหนึ่งอาจเป็นจากปรัชญาวัตถุนิยมและอเทวนิยม "แบบเอกนิยม" ของเขาซึ่งพวกนาซีไม่นิยม พร้อมทั้งความเป็นมิตรที่เขามีต่อชาวยิว การต่อต้านแสนยนิยม (militarism) และการสนับสนุนปรัตถนิยม (altruism) โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐนาซีคนหนึ่งเรียกร้องให้ประณามเขา[124] ทฤษฎีของลามาร์กจัดลำดับชั้นเชื้อชาติตามวิวัฒนการจากเอป ซึ่งต่างจากทฤษฎีของเม็นเดิลซึ่งไม่ได้จัดลำดับชั้นของเชื้อชาติว่ามีวิวัฒนาการที่สูงหรือต่ำกว่าจากเอป เพียงแต่กล่าวว่ามนุษย์ล้วนวิวัฒน์มาจากเอปด้วยกัน[123] ผู้สนับสนุนลามาร์กมองว่าเชื้อชาติที่ "ต่ำกว่า" ได้ประสบกับสภาวะที่ทรุดโทรมมานานเกินพอที่ "การพัฒนา" ของสภาวะของพวกเขาอย่างมีนัยสำคัญใด ๆ จะสามารถเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้[125] เฮ็คเคิลใช้ทฤษฎีของลามาร์กเพื่ออธิบายถึงการต่อสู้ระหว่างเชื้อชาติที่เกิดขึ้นและจัดวางแต่ละเชื้อชาติลงบนลำดับชั้นของวิวัฒนาการ โดยเรียงลงมาตั้งแต่มนุษย์เต็มตัวจนถึงต่ำกว่ามนุษย์[123]

พวกนาซีและนักสุพันธุศาสตร์กระแสหลักในสมัยนั้นสนับสนุนพันธุศาสตร์ของเม็นเดิลหรือทฤษฎีของเม็นเดิล ทฤษฎีการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมของเม็นเดิลกล่าวว่าลักษณะทางพันธุกรรมจะถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น[126] นักสุพันธุศาสตร์ใช้ทฤษฎีการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมของเม็นเดิลเพื่อแสดงการถ่ายทอดโรคและความบกพร่องทางชีววิทยาจากบุพการีสู่บุตร ซึ่งรวมถึงความผิดปกติทางจิต ในขณะที่ผู้อื่นใช้ทฤษฎีของเม็นเดิลเพื่อแสดงการถ่ายทอดลักษณะทางสังคม โดยพวกถือคตินิยมเชื้อชาติอ้างว่าเบื้องหลังลักษณะทั่วไปบางประการเช่นความคิดสร้างสรรค์หรือพฤติกรรมอาชญากรนั้นมีธรรมชาติเชิงเชื้อชาติอยู่[127]

การใช้ตัวแบบการเหยียดเชื้อชาติแบบอเมริกัน

ฮิตเลอร์และนักทฤษฎีกฎหมายนาซีหลายคนได้รับแรงบันดาลใจจากคตินิยมเชื้อชาติเชิงสถาบัน (institutional racism) ของประเทศสหรัฐอเมริกาและมองเห็นเป็นมันตัวแบบสำหรับทำตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกเขามองเห็นมันเป็นตัวแบบสำหรับการขยายเขตแดนและการขจัดผู้อยู่อาศัยพื้นเมืองออกไป เห็นกฎหมายที่ปฏิเสธความเป็นพลเมืองเต็มตัวให้กับชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกา (Disfranchisement after the Reconstruction era) เป็นตัวแบบที่พวกเขาต้องการปฏิบัติใช้ในแบบเดียวกันกับชาวยิว และเห็นกฎหมายคนเข้าเมืองที่เหยียดเชื้อชาติ (Immigration Act of 1924) ที่ห้ามบางเชื้อชาติเป็นตัวแบบ ในไมน์คัมพฟ์ ฮิตเลอร์สรรเสริญว่าประเทศสหรัฐอเมริกานั้นเป็นตัวอย่างร่วมสมัยเพียงประเทศเดียวเท่านั้นที่มีกฎหมายพลเมืองแบบเหยียดเชื้อชาติ (หรือแบบ "เฟิลคิช") อยู่ในคริสต์ทศวรรษ 1920 และนักกฎหมายนาซีได้นำตัวแบบอเมริกันไปใช้ในการประดิษฐ์กฎหมายสำหรับใช้ในนาซีเยอรมนี[128] กฎหมายความเป็นพลเมืองสหรัฐและกฎหมายต่อต้านการผสมเชื้อชาติในสหรัฐ (Anti-miscegenation laws in the United States) เป็นแรงบันดาลใจโดยตรงให้กับกฎหมายเนือร์นแบร์คที่สำคัญสองฉบับ กฎหมายว่าด้วยความเป็นพลเมืองไรช์และกฎหมายเพื่อคุ้มครองสายเลือดเยอรมันและเกียรติภูมิเยอรมัน[128]

การตอบสนองต่อสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและลัทธิฟาสชิสต์อิตาลี

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง นักสังคมวิทยาชาวเยอรมันโยฮันน์ เพล็งเกอ (Johann Plenge) กล่าวถึงการเติบโตของ "ชาติสังคมนิยม" ท่ามกลางสิ่งที่เขาเรียกว่า "แนวคิดของปี 1914" ว่าเป็นการประกาศสงครามต่อ "แนวคิดของปี 1789" (การปฏิวัติฝรั่งเศส)[129] อ้างอิงตามเพล็งเกอ "แนวคิดของปี 1789" เช่นสิทธิของมนุษย์ ประชาธิปไตย ปัจเจกนิยม และเสรีนิยมกำลังถูกปฏิเสธและแทนที่ด้วย "แนวคิดของปี 1914" เช่น "คุณค่าเยอรมัน" เรื่องหน้าที่ วินัย กฎหมาย และระเบียบ[129] เพล็งเกอเชื่อว่าความสามัคคีทางชาติพันธุ์ (ฟ็อลค์สเกอไมน์ชัฟท์) จะมาแทนที่การแบ่งแยกทางชนชั้น และ "สหายเชื้อชาติ" จะรวมกันสร้างสังคมแบบสังคมนิยม ประเทศเยอรมนีของ "ชนกรรมาชีพ" ปะทะบริเตนของ "ทุนนิยม"[129] เขาเชื่อว่า "จิตวิญญาณแห่งปี 1914" ได้ปรากฏตัวเป็นมโนทัศน์ของ "สันนิบาตประชาชนแห่งชาติสังคมนิยม" (People's League of National Socialism)[130] ชาติสังคมนิยมนี้เป็นรูปแบบหนึ่งของระบอบสังคมนิยมรัฐที่ปฏิเสธ "แนวคดิเกี่ยวกับเสรีภาพแบบไร้ขอบเขต" และสนับสนุนเศรษฐกิจที่จะรับใช้ประเทศเยอรมนีทั้งมวลภายใต้การนำของรัฐ[130] ชาติสังคมนิยมนี้ต่อต้านทุนนิยมเพราะมีส่วนประกอบซึ่งขัดกับ "ผลประโยชน์แห่งชาติ" ของเยอรมนี แต่ยืนกรานว่าชาติสังคมนิยมจะแสวงหาเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพที่ดีกว่า[130] เพล็งเกอสนับสนุนให้อภิชนปกครองที่ใช้เหตุผลและอำนาจนิยมพัฒนาระบอบชาติสังคมนิยมผ่านรัฐเทคโนแครตที่มีลำดับชั้น[131] และแนวคิดของเขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของรากฐานของระบอบนาซี[129]

อ็อสวัลท์ ชเป็งเลอร์ นักปรัชญาประวัติศาสตร์

นักปรัชญาวัฒนธรรมชาวเยอรมันอ็อสวัลท์ ชเป็งเลอร์ เป็นหนึ่งในอิทธิพลหลักที่มีต่อระบอบนาซี แม้ว่าหลัง ค.ศ. 1933 เขาถูกแปลกแยกจากระบอบนาซีและถูกพวกนาซีประณามในภายหลังเพราะวิจารณ์อดอล์ฟ ฮิตเลอร์[132] พวกนาซีและขบวนการปฏิวัติอนุรักษ์นิยม (Conservative revolution) ยึดถือมโนทัศน์ว่าด้วยชาติสังคมนิยมของชเป็งเลอร์และมุมมองทางการเมืองของเขาร่วมกัน[133] มุมมองของชเป็งเลอร์ก็เป็นที่นิยมในหมู่ฟาสชิสต์ชาวอิตาลี (Italian fascism) ด้วย ซึ่งรวมถึงเบนิโต มุสโสลินี[134]

หนังสือของชเป็งเลอร์ The Decline of the West (ค.ศ. 1918 "ความตกต่ำของตะวันตก") ซึ่งเขียนขึ้นในช่วงเดือนท้าย ๆ ของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง กล่าวถึงความเสื่อม (decadence) ของอารยธรรมยุโรปสมัยใหม่ที่สมมุติขึ้นมา เขาอ้างว่ามันเกิดจากกระบวนการทำให้เป็นปัจเจกอะตอมและไร้ศาสนา กับภาวะพลเมืองโลก[132] สมมติฐานหลักของชเป็งเลอร์กล่าวว่ามีกฎของพัฒนาการทางประวัติศาสตร์อยู่ซึ่งประกอบด้วยวัฏจักรของกำเนิด ความเจริญ ชราภาพ และมรณภาพเมื่อถึงรูปแบบสุดท้ายของอารยธรรมของมันแล้ว[132] เมื่อถึงจุดแห่งอารยธรรม วัฒนธรรมจะสูญเสียความสามารถคิดสร้างสรรค์ไปและยอมจำนนต่อความเสื่อมจนกว่าการปรากฏตัวของ "อนารยชน" จะมาสร้างยุคสมัยใหม่[132] ชเป็งเลอร์พิจารณาว่าโลกตะวันตกได้ยอมจำนนต่อความเสื่อมของปัญญา เงินตรา ชีวิตในเมืองแบบพลเมืองโลก ชีวิตที่ไร้ศาสนา ปัจเจกนิยมปรมาณู และเชื่อว่ามันกำลังอยู่ที่จุดจบของภาวะเจริญพันธุ์ทั้งในทางชีววิทยาและ "ทางจิตวิญญาณ" ของมันแล้ว[132] เขาเชื่อว่าชาติเยอรมัน "อันเยาว์วัย" เมื่อเป็นอำนาจจักรวรรดิจะสืบทอดมรดกของโรมโบราณมา และนำไปสู่การฟื้นฟูของคุณค่าภายใน "สายเลือด" และสัญชาตญาณ และในขณะเดียวกันอุดมคติของเหตุผลนิยมจะถูกเปิดเผยว่าไร้เหตุผล[132]

แนวคิด "สังคมนิยมปรัสเซีย" ของชเป็งเลอร์อย่างที่อธิบายไว้ในหนังสือของเขา Preussentum und Sozialismus (ค.ศ. 1919 "ความเป็นปรัสเซียและสังคมนิยม") ได้มีอิทธิพลต่อระบอบนาซีและขบวนการปฏิวัติอนุรักษ์นิยม[133] ชเป็งเลอร์เขียนว่า: "ความหมายของสังคมนิยมคือชีวิตที่มิได้ถูกควบคุมโดยความขัดแย้งกันระหว่างความรวยกับความจน แต่โดยลำดับชั้นซึ่งได้มาด้วยความสำเร็จและความสามารถ นั่นคือเสรีภาพของเรา เสรีภาพจากอำนาจเด็ดขาดทางเศรษฐกิจของปัจเจก"[xi] ชเป็งเลอร์รับเอาแนวคิดต่อต้านอังกฤษที่เพล็งเกอและซ็อมบาร์ทพูดถึงระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่งซึ่งประณามเสรีนิยมอังกฤษ (Liberalism in the United Kingdom) และระบบรัฐสภาแบบอังกฤษและสนับสนุนระบบชาติสังคมนิยมที่เป็นอิสระจากลัทธิมากซ์และจะเชื่อมโยงปัจเจกชนเข้ากับรัฐผ่านองค์กรแบบบรรษัทนิยมมาปรับใช้[132] ชเป็งเลอร์อ้างว่าคุณลักษณะของปรัสเซียแบบสังคมนิยมนั้นดำรงอยู่ทั่วทั้งประเทศเยอรมนี ไม่ว่าจะเป็นความคิดสร้างสรรค์ วินัย ความเห็นแก่ประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ ผลิตภาพ และการเสียสละตนเอง[135] เขาเสนอว่าสงครามเป็นสิ่งที่จำเป็น โดยกล่าวว่า: "สงครามเป็นรูปนิรันดร์ของการดำรงอยู่ของมนุษย์ที่เหนือกว่า และรัฐดำรงอยู่ก็เพื่อสงคราม: มันเป็นการแสดงออกถึงความอยากทำสงคราม"[xii]

กองพลน้อยนาวิกโยธินแอร์ฮาร์ท (Marinebrigade Erhardt) ระหว่างกบฎคัพพ์ (Kapp Putsch) ที่เบอร์ลิน ค.ศ. 1920[137] (กองพลน้อยนาวิกโยธินแอร์ฮาร์ทใช้สวัสติกะเป็นสัญลักษณ์ของหน่วย เห็นได้จากหมวกและรถบรรทุก ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้พรรคนาซีนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของขบวนการ)

นิยามของสังคมนิยมของชเป็งเลอร์ไม่ได้มีการเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ทางทรัพย์สิน[133] เขาประณามลัทธิมากซ์ว่าพยายามฝึกซ้อมชนกรรมาชีพให้ไป "ยึดทรัพย์จากผู้ยึดทรัพย์" หรือนายทุน แล้วให้ใช้ชีวิตที่สุขสบายด้วยทรัพย์ที่ยึดมาเหล่านี้[138] เขาอ้างว่า "ลัทธิมากซ์คือทุนนิยมของชนชั้นแรงงาน" และไม่ใช่สังคมนิยมที่แท้จริง[138] อ้างอิงตามชเป็งเลอร์ สังคมนิยมที่แท้จริงจะเป็นบรรษัทนิยมรูปแบบหนึ่ง เขากล่าว "องค์กรบรรษัทท้องถิ่นที่จัดระเบียบตามความสำคัญที่แต่ละวิชาชีพมีต่อประชาชนโดยรวม การมีผู้แทนในลำดับที่สูงขึ้นไปจนถึงสภาสูงสุดแห่งรัฐ ที่อาณัติสามารถถูกถอดถอนได้ทุกเมื่อ ไม่มีพรรคการเมืองจัดตั้ง ไม่มีนักการเมืองมืออาชีพ ไม่มีการเลือกตั้งเป็นประจำ"[139]

หนังสือ Das Dritte Reich (ค.ศ. 1923) แปลว่า "ไรช์ที่สาม" ของอาร์ทัวร์ เมิลเลอร์ ฟัน เดน บรุค

ปัญญาชนต่อต้านยิวชาวเยอรมันวิลเฮ็ล์ม ชตาเพิล (Wilhelm Stapel) ใช้สมมติฐานของชเป็งเลอร์ว่าด้วยการปะทะกันทางวัฒนธรรมระหว่างชาวยิวที่ชเป็งเลอร์อธิบายว่าเป็นคนจำพวกเมไจ (Magi) กับชาวยุโรป (Ethnic groups in Europe) ซึ่งเป็นคนจำพวกเฟาสต์[140] ชตาเพิลพรรณนาว่าชาวยิวเป็นชนร่อนเร่ไร้แผ่นดินที่กำลังตามหาวัฒนธรรมนานาชาติที่จะใช้เพื่อปรับตัวเขากับอารยธรรมตะวันตก[140] ดังนั้น ชตาเพิลจึงอ้างว่าสังคมนิยม สันตินิยม หรือทุนนิยมในรูปแบบ "สากล" จึงดึงดูดใจชาวยิว เพราะชาวยิวซึ่งเป็นผู้คนที่ไม่มีแผ่นดินได้รุกล้ำเขตแดนของชาติและวัฒนธรรมมามากมายแล้ว[140]

ในช่วงแรก อาร์ทัวร์ เมิลเลอร์ ฟัน เดน บรุค (Arthur Moeller van den Bruck) เป็นบุคคลสำคัญของระบอบนาซีที่ได้รับอิทธิพลจากนักปฏิวัติอนุรักษ์นิยม[141] เขาปฏิเสธอนุรักษ์นิยมแบบปฏิกิริยาและเสนอให้มีรัฐใหม่ซึ่งเขาบัญญัติชื่อว่า "ไรช์ที่สาม" ซึ่งจะประสานทุก ๆ ชนชั้นภายใต้การปกครองแบบอำนาจนิยม[142] ฟัน เดน บรุค สนับสนุนส่วนผสมระหว่างชาตินิยมจากฝ่ายขวาและสังคมนิยมจากฝ่ายซ้าย[143]

ลัทธิฟาสซิสต์เป็นหนึ่งในอิทธิพลหลักที่มีต่อระบอบนาซี การยึดอำนาจโดยผู้นำฟาสชิสต์ชาวอิตาลีเบนิโต มุสโสลินี ในการเดินขบวนสู่โรมใน ค.ศ. 1922 ได้ดึงดูดความชื่นชมจากฮิตเลอร์ ซึ่งไม่ถึงเดือนถัดมาก็ได้เริ่มจำลองตัวเองและพรรคนาซีตามแบบมุสโสลินีและพวกฟาสชิสต์[144] ฮิตเลอร์นำเสนอให้พวกนาซีเป็นลัทธิฟาสชิสต์เยอรมันรูปแบบหนึ่ง[145][146] ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1923 พวกนาซีได้พยายามทำ "การเดินขบวนสู่เบอร์ลิน" ตามแบบอย่างการเดินขบวนสู่โรม ซึ่งนำไปสู่กบฏโรงเบียร์ที่มิวนิกซึ่งล้มเหลว[147]

ฮิตเลอร์กล่าวถึงหนี้ที่ระบอบนาซีมีต่อความสำเร็จในการขึ้นสู่อำนาจของลัทธิฟาสชิสต์ในประเทศอิตาลี[148] ในการสนทนาส่วนตัวเมื่อ ค.ศ. 1941 ฮิตเลอร์กล่าวว่า "พวกชุดน้ำตาลคงไม่เกิดขึ้นหากไม่มีพวกชุดดำ" โดยที่ "พวกชุดน้ำตาล" หมายถึงกองกำลังนาซีและ "พวกชุดดำ" หมายถึงกองกำลังฟาสชิสต์ (blackshirts)[148] เขากล่าวถึงช่วงคริสต์ทศวรรษ 1920 ด้วยว่า: "หากมุสโสลินีถูกลัทธิมากซ์แซงไป ผมก็ไม่รู้ว่าเราจะรอดมาได้สำเร็จหรือเปล่า ในช่วงเวลานั้นชาติสังคมนิยมยังเติบโตอย่างเปราะบางมาก"[xiii]

นาซีคนอื่น ๆ โดยเฉพาะพวกซึ่งในสมัยนั้นมีความเกี่ยวข้องกับปีกสายมูลวิวัติกว่าของพรรค อาทิเกรกอร์ ชตรัสเซอร์, โยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ และไฮน์ริช ฮิมเลอร์ ปฏิเสธลัทธิฟาสชิสต์อิตาลี (italian fascism) และกล่าวหาว่ามันเป็นอนุรักษ์นิยมหรือทุนนิยมมากเกินไป[149] อัลเฟรท โรเซินแบร์ค ประณามลัทธิฟาสชิสต์อิตาลีว่าสบสันทางเชื้อชาติและมีอิทธิพลของความคลั่งไคล้ยิว (Philosemitism)[150] ชตรัสเซอร์วิจารณ์นโยบายฟือเรอร์พรินท์ซีพ (Führerprinzip) ว่าเป็นสิ่งประกอบสร้างของมุสโสลินีและถือว่าเป็นแนวคิดต่างด้าวที่ถูกนำเข้ามาอยู่ในระบอบนาซี[151] ตลอดความสัมพันธ์ระหว่างนาซีเยอรมนีและอิตาลีฟาสชิสต์ นาซีชั้นผู้น้อยหลายคนมองลัทธิฟาสชิสต์ด้วยความเหยียดหยามว่าเป็นขบวนการอนุรักษ์นิยมที่ขาดศักยภาพในการปฏิวัติอย่างเต็มที่[151]

อุดมการณ์และแนวนโยบาย

นักประวัติศาสตร์มาร์ทีน โบรสท์ซัท เขียนไว้ในหนังสือของเขา The Hitler State (Der Staat Hitlers) ว่า:

...ชาติสังคมนิยมไม่ได้เป็นในเชิงอุดมการณ์หรือแนวนโยบายเป็นหลัก แต่เป็นขบวนการเชิงบารมี (charismatic authority) ซึ่งอุดมการณ์นั้นรวมเข้าอยู่ในตัวฟือเรอร์ฮิตเลอร์ และมันจะเสียอำนาจรวบรวมของมันไปสิ้นหากไร้ซึ่งเขา ... อุดมการณ์ชาติสังคมนิยมที่คลุมเครือ ยูโทเปีย และนามธรรมนั้นประสบความเร็จกลายเป็นจริงและแน่นอนเพียงเท่าที่มันทำได้ผ่านฮิตเลอร์เป็นสื่อกลาง[xiv]

ดังนั้น การอธิบายอุดมการณ์ของระบอบนาซีจะต้องเป็นการอธิบายแบบพรรณนา เพราะมันไม่ได้เป็นผลผลิตจากหลักการเบื้องต้นเป็นหลัก แต่เป็นผลมาจากปัจจัยหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นมุมมองส่วนตัวที่ฮิตเลอร์ถือไว้อย่างเข้มแข็ง บางส่วนจากแผน 25 ข้อ เป้าหมายโดยทั่วไปของขบวนการชาตินิยมและขบวนการเฟิลคิช และความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่ภายในพรรคนาซีที่ต่อสู้กันแก่งแย่ง "เอาชนะใจฮิตเลอร์ให้ยอมรับการตีความชาติสังคมนิยมของพวกเขาแต่ละคน" และหลังจากพรรคเริ่มกวาดล้างอิทธิพลเบี่ยงเบนเช่นลัทธิชตรัสเซอร์ออกไปแล้ว กลุ่มผู้นำของพรรคได้ยอมรับให้ฮิตเลอร์เป็น "อำนาจสูงสุดในการตัดสินใจประเด็นเชิงอุดมการณ์"[152]

ชาตินิยมและคตินิยมเชื้อชาติ

ระบอบนาซีเน้นความสำคัญของชาตินิยมเยอรมัน ไม่ว่าจะเป็นลัทธิเรียกร้องดินแดนคืน (irredentism) หรือลัทธิการขยายอาณาเขต (expansionism) ระบอบนาซียึดถือทฤษฎีเชื้อชาติที่มีรากฐานอยู่บนความเชื่อว่ามีเชื้อชาติเจ้านายอารยันซึ่งเหนือกว่าเชื้อชาติอื่นใดทั้งมวลอยู่ พวกนาซีเน้นความสำคัญของการดำรงอยู่ซึ่งความขัดแย้งทางเชื้อชาติระหว่างเชื้อชาติอารยันกับเชื้อชาติอื่น ๆ โดยเฉพาะชาวยิวซึ่งพวกนาซีมองว่าเป็นเชื้อชาติผสมที่ได้แทรกซึมเข้าไปในหลายสังคมและมีส่วนในการเอาเปรียบและกดทับเชื้อชาติอารยัน พวกนาซีก็จัดประเภทชาวสลาฟเป็นอุนเทอร์เม็นช์ (ต่ำกว่ามนุษย์) ด้วย[153]

นักประวัติศาสตร์ชาวเยอรมันว็อล์ฟกัง บีอาลาส (Wolfgang Bialas) อ้างว่าสำนึกในศีลธรรมของนาซีสามารถอธิบายได้ว่าเป็นจริยธรรมเชิงคุณธรรม (virtue ethics) เชิงกระบวนการรูปแบบหนึ่ง เพราะว่ามันต้องการให้เชื่อฟังต่อคุณธรรมสัมบูรณ์อย่างไร้เงื่อนไขพร้อมด้วยเจตคติของการวิศวกรรมสังคม และได้แทนที่อัชฌัตติกญาณสามัญด้วยคำสั่งและคุณธรรมเชิงอุดมการณ์ชุดหนึ่ง บุรุษแบบใหม่ในอุดมคติของนาซีต้องมีจิตสำนึกทางเชื้อชาติและเป็นนักรบผู้อุทิศตนแด่อุดมการณ์ซึ่งจะสามารถกระทำการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์แห่งเชื้อชาติเยอรมันและเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เขากำลังทำอยู่นั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเที่ยงธรรมไปในเวลาเดียวกัน พวกนาซีเชื่อว่าปัจเจกจะสามารถพัฒนาความสามารถและคุณลักษณะปัจเจกของตนได้เพียงภายใต้กรอบของเชื้อชาติที่ปัจเจกนั้นเป็นสมาชิกอยู่เท่านั้น เชื้อชาติที่เขาเป็นจะเป็นตัวกำหนดว่าเขาสมควรได้รับการดูแลอย่างถูกศีลธรรมหรือไม่ มโนทัศน์ของการปฏิเสธตนเอง (self-denial) แบบคริสเตียนจะถูกแทนที่ด้วยการเสนอตนเองเหนือพวกที่เขาถือว่าต่ำกว่า พวกนาซีประกาศให้การคัดเลือกโดยธรรมชาติและการต่อสู่แย่งชิงการดำรงอยู่เป็นกฎที่ศักดิ์สิทธิ์สูงสุด พวกเขากล่าวว่าผู้คนและปัจเจกซึ่งถือว่าต่ำกว่าจะไม่สามารถเอาชีวิตรอดได้โดยไม่มีพวกที่ถือว่าเหนือว่า ทว่าการกระทำเช่นนี้ก็เป็นการที่พวกเขาเพิ่มภาระให้กับพวกที่เหนือกว่า พวกเขาถือว่าการคัดเลือกโดยธรรมชาติจะเห็นชอบความแข็งแกร่งเหนือความอ่อนแอ และพวกนาซีถือว่าการปกป้องพวกที่ถือว่าต่ำกว่าเป็นการป้องกันมิให้ธรรมชาติดำเนินตามครรลองของมัน พวกเขามองว่าพวกที่ไม่สามารถเสนอตนได้ถูกกำหนดให้พบกับหายนะ และพวกที่จะได้รับสิทธิในการมีชีวิตคือพวกที่สามารถเอาชีวิตรอดด้วยตนเองได้เท่านั้น[154]

ลัทธิเรียกร้องดินแดนคืนและลัทธิการขยายอาณาเขต

การพิจารณาคดีนาซีครั้งแรกในยุโรป (Trial of Neumann and Sass) ที่เกานัสเมื่อ ค.ศ. 1935 จำเลยอ้างว่าภูมิภาคเกล็ยเปดา (Klaipėda Region) ควรเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเยอรมนีไม่ใช่ประเทศลิทัวเนีย และแพร่กระจายโฆษณาชวนเชื่อเตรียมพร้อมสำหรับการการก่อการกำเริบติดอาวุธ[155]

พรรคนาซีเยอรมันสนับสนุนการอ้างสิทธิ์เรียกร้องดินแดนประเทศออสเตรีย อาลซัส-ลอแรน ภูมิภาคที่ปัจจุบันเป็นสาธารณรัฐเช็ก และภูมิภาคที่เป็นที่รู้จักตั้งแต่ ค.ศ. 1919 ว่าฉนวนโปแลนด์กลับคืนประเทศเยอรมนี หนึ่งในนโยบายหลักของพรรคนาซีเยอรมันคือเลเบินส์เราม์ ("พื้นที่อยู่อาศัย") สำหรับชาติเยอรมันซึ่งอ้างอิงข้ออ้างว่าหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งประเทศเยอรมนีประสบกับวิกฤตประชากรล้นเกินและจะต้องขยายอาณาเขตเพื่อให้ปัญหาประชากรล้นประเทศหมดไปจากเขตแดนจำกัดที่มีอยู่ และเพื่อจัดหาทรัพยากรอันจำเป็นต่อสวัสดิภาพของประชาชนของประเทศ[156] ตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1920 พรรคนาซีส่งเสริมการขยายอาณาเขตชองประเทศเยอรมนีเข้าไปในอาณาเขตที่สหภาพโซเวียตถือครองอยู่อย่างเปิดเผย[157]

ช่วงเริ่มแรกของเลเบินส์เราม์ การขับไล่ชาวโปแลนด์โดยนาซีเยอรมนีออกจากโปแลนด์เมื่อ ค.ศ. 1939

ในไมน์คัมพฟ์ ฮิตเลอร์กล่าวว่าจะหาเลเบินส์เราม์มาได้จากยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะประเทศรัสเซีย[158] ในปีแรก ๆ ในตำแหน่งผู้นำนาซี ฮิตเลอร์กล่าวอ้างว่าเขายินดีน้อมรับความสัมพันธ์แบบเป็นมิตรกับประเทศรัสเซียบนเงื่อนไขเชิงยุทธศาสตร์ที่รัสเซียจะยอมคืนเส้นแบ่งเขตแดนกลับไปแบบที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศเยอรมนีและประเทศรัสเซียสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ซึ่งลงนามโดยกริกอรี โซคอลนีคอฟ (Grigori Sokolnikov) จากสาธารณรัฐโซเวียตรัสเซียเมื่อ ค.ศ. 1918 ที่มอบอาณาเขตผืนใหญ่ที่รัสเซียถือครองมาอยู่ภายใต้การควบคุมของเยอรมนีเพื่อแลกกับสันติภาพ[157] ใน ค.ศ. 1921 ฮิตเลอร์ชมเชยสนธิสัญญาเบรสท์-ลีตอฟสก์ว่าเป็นการเปิดโอกาสให้แก่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีและรัสเซียว่า:

ผ่านสันติภาพกับรัสเซีย การยังชีพเยอรมนีและการจัดหางานจะหามาได้จากการครอบครองแผ่นดินและผืนดิน จากการเข้าถึงวัตถุดิบ และจากมิตรสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ

— อดอล์ฟ ฮิตเลอร์[xv]
แผนที่ภูมิประเทศของทวีปยุโรป: พรรคนาซีประกาศสนับสนุนดรังนัคอ็อสเทิน (Drang nach Osten "ขับสู่ตะวันออก" การขยายอาณาเขตเยอรมนีออกไปทางตะวันออกของเทือกเขายูรัล แสดงเป็นเส้นแนวทแยงสีน้ำตาลทางขวาบนของแผนที่

ระหว่าง ค.ศ. 1921 ถึง 1922 ฮิตเลอร์ปลุกเรียกใช้ทั้งวาทกรรมของความสำเร็จของเลเบินส์เราม์ซึ่งจะประกอบด้วยการยอมรับประเทศรัสเซียที่มีอาณาเขตลดลง และการสนับสนุนพวกชาตินิยมรัสเซีย (Russian nationalism) ให้โค่นล้มบอลเชวิคและสถาปนารัฐบาลรัสเซียขาวใหม่[157] แต่จุดยืนของฮิตเลอร์เปลี่ยนไปเมื่อสิ้นปี 1922 เมื่อเขาหันมาสนับสนุนให้มีพันธมิตรระหว่างเยอรมนีกับบริเตนเพื่อทำลายรัสเซีย[157] ในภายหลังฮิตเลอร์ประกาศว่าเขาตั้งใจขยายประเทศเยอรมนีเข้าไปในประเทศรัสเซียถึงเท่าใด:

ทวีปเอเชีย แหล่งกักเก็บมนุษย์ที่น่ากังวลเหลือเกิน! เราไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยของทวีปยุโรปจนกว่าเราจะขับไล่เอเชียไปอยู่หลังยูรัลได้ ไม่ควรมีรัฐรัสเซียจัดตั้งอยู่เลยเส้นนั้นมาทางทิศตะวันตก

— อดอล์ฟ ฮิตเลอร์[xvi]

นโยบายสำหรับเลเบินส์เราม์วางแผนให้มีการขยายอาณาเขตของเยอรมนีอย่างมหาศาลไปทางตะวันออกของเทือกเขายูรัล[159][160] ฮิตเลอร์วางแผนเนรเทศประชากรรัสเซีย "ส่วนเกิน" ที่อาศัยทางตะวันตกของเทือกเขายูรัลไปยังฝั่งตะวันออกของเทือกเขายูรัล[161]

นักประวัติศาสตร์อดัม ทูซ (Adam Tooze) อธิบายว่า ฮิตเลอร์เชื่อว่าเลเบินส์เราม์นั้นมีความสำคัญต่อการจัดหาความมั่งคั่งแบบบริโภคนิยมแนวอเมริกันมาให้แก่ชาวเยอรมัน ทูซอ้างว่าเพราะเหตุนี้การมองว่าระบอบนาซีประสบกับข้อขัดแย้งระหว่าง "ปืนหรือเนย" (guns and butter) นั้นเป็นการมองที่ผิด แม้ว่าจะจริงที่ทรัพยากรถูกเบี่ยงออกจากการบริโภคของภาคพลเรือนมาใช้ในการผลิตทางทหาร แต่ทูซอธิบายว่าในระดับยุทธศาสตร์แล้ว "ในท้ายที่สุด ปืนถูกมองว่าเป็นวิธีการหาเนยมาเพิ่ม"[162]

ในขณะที่ความหมกมุ่นที่พวกนาซีมีกับวิถีชีวิตเกษตรกรรมและการผลิตอาหารนั้นมักถูกมองว่าเป็นนัยที่สื่อถึงความล้าหลังของพวกเขา แต่ทูซอธิบายว่าความจริงแล้วเหล่านั้นเป็นหนึ่งในประเด็นขับเคลื่อนหลักของสังคมยุโรปเป็นเวลาอย่างน้อยสองศตวรรษที่ผ่านมา หนึ่งในปัญหาหลักที่ยุโรปต้องประสบพบเจอในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 คือปัญหาว่าสังคมยุโรปควรตอบสนองต่อเศรษฐกิจโลก (world economy) ใหม่ของอาหารอย่างไร วิถีชีวิตเกษตรกรรมมีอยู่แพร่หลายอย่างยิ่งในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 1930 ในทวีปยุโรป (อาจยกเว้นเกาะบริเตนใหญ่) และชาวเยอรมันกว่า 9 ล้านคน (เกือบหนึ่งในสามของกำลังแรงงาน) ยังทำงานอยู่ในภาคการเกษตร และหลายคนที่ไม่ได้ทำงานเกษตรกรรมก็ยังมีแปลงจัดสรรขนาดเล็กหรือปลูกอาหารไว้บริโภคเอง ทูซประมาณการณ์ว่ากว่าครึ่งของประชากรเยอรมันในคริสต์ทศวรรษ 1930 อาศัยอยู่ในเมืองเล็ก ๆ และหมู่บ้านต่าง ๆ ซึ่งมีประชากรต่ำกว่า 20,000 คน หลายคนที่อาศัยในเมืองใหญ่ยังคงมีความทรงจำถึงการย้ายถิ่นฐานเข้าเมืองจากชนบทอยู่ ทูซจึงอธิบายว่าความหมกมุ่นที่พวกนาซีมีกับแนวคิดเกษตรนิยมนั้นไม่ใช่การเคลือบเงาความล้าสมัยลงบนชาติอุตสาหกรรมสมัยใหม่ แต่เป็นผลพวงมาจากข้อเท็จจริงที่ว่าระบอบนาซี (ทั้งในฐานของอุดมการณ์และขบวนการ) เป็นผลผลิตของสังคมที่ยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจ[163]

ความหมกมุ่นของพวกนาซีในเรื่องการผลิตอาหารเป็นผลของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แม้ว่าทวีปยุโรปจะสามารถหลีกเลี่ยงทุพภิกขภัยได้ด้วยการนำเข้าจากนานาชาติ แต่การปิดล้อมได้นำเอาประเด็นความมั่นคงทางอาหาร (food security) กลับเข้ามาในการเมืองยุโรป การปิดล้อมประเทศเยอรมนี (blockade of Germany) โดยฝ่ายสัมพันธมิตรในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและหลังสงครามไม่ได้ทำให้เกิดทุพภิกขภัยโดยสมบูรณ์ แต่ภาวะขาดสารอาหารเรื้อรังได้คร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 600,000 คนโดยประมาณในประเทศเยอรมนีและออสเตรีย วิกฤตเศรษฐกิจในยุคระหว่างสงครามหมายความว่าชาวเยอรมันส่วนใหญ่มีความทรงจำถึงอาการหิวเฉียบพลัน ทูซจึงสรุปว่าความหมกมุ่นของพวกนาซีในเรื่องการหาที่ดินเพิ่มไม่ได้เป็นเรื่องของ "การเดินทวนเข็มนาฬิกา" แต่เป็นการปฏิเสธที่จะยอมรับว่าการแบ่งสรรที่ดิน ทรัพยากร และประชากรอันเป็นผลมาจากสงครามจักรวรรดินิยมในคริสต์ศตวรรษที่ 18 และ 19 นั้นควรถูกยอมรับว่าเป็นที่สิ้นสุดเสียมากกว่า ในขณะที่ผู้ชนะในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมีอาจมีที่ดินทำการเกษตรที่เหมาะสมกับสัดส่วนประชากรหรือจักวรรดิขนาดใหญ่ (หรือทั้งสองอย่าง) ซึ่งทำให้พวกเขาสรุปประเด็นเรื่องพื้นที่อยู่อาศัยให้เป็นที่สิ้นสุดได้ แต่พวกนาซีซึ่งรู้ว่าประเทศเยอรมนีขาดทั้งสองอย่างนี้ได้ปฏิเสธที่จะยอมรับให้ที่ยืนของประเทศเยอรมนีบนโลกเป็นโรงงานขนาดกลางซึ่งต้องพึ่งพาอาหารนำเข้า[164]

หากอิงตามเกิบเบิลส์ การพิชิตล่าหาเลเบินส์เราม์นั้นมีความตั้งใจให้เป็นก้าวแรก[165] สู่เป้าหมายสุดท้ายของอุดมการณ์นาซี ซึ่งคือการสถาปนาอำนาจนำโลก (Hyperpower) ของเยอรมนีอย่างสมบูรณ์[166] รูด็อล์ฟ เฮ็ส บอกกล่าวแก่วัลเทอร์ เฮเวิล ถึงความเชื่อของฮิตเลอร์ว่าสันติภาพโลกจะเกิดขึ้น "ก็ต่อเมื่ออำนาจหนึ่ง ซึ่งเป็นเชื้อชาติที่ดีที่สุด (supremacism) ได้มาซึ่งความสูงสุดอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง" และเมื่อได้อำนาจควบคุมนี้แล้ว อำนาจนี้จะสามารถตั้งตนเป็นตำรวจโลกได้และรับประกันให้กับตัวเองซึ่ง "พื้นที่อยู่อาศัยอันจำเป็น [...] เชื้อชาติที่ต่ำกว่าจะต้องจำกัดตนเองตามจากนั้น"[166]

ทฤษฎีเชื้อชาติ

การจัดเชื้อชาติแบบนาซีมองว่าเชื้อชาติอารยันเป็นเชื้อชาติเจ้านายของโลก เป็นเชื้อชาติที่เหนือว่าเชื้อชาติอื่นใด[167] โดยมองว่าชาวอารยันมีความขัดแย้งทางเชื้อชาติกับกลุ่มชนเชื้อชาติผสมกลุ่มหนึ่ง กล่าวคือชาวยิว ซึ่งพวกนาซีชี้ว่าเป็นศัตรูร้ายของชาวอารยัน และมองกลุ่มชนอื่น ๆ หลายกลุ่มว่าเป็นภัยต่อสวัสดิภาพของเชื้อชาติอารยัน ใน ค.ศ. 1935 มีการออกประมวลกฎหมายเชื้อชาติมาเพื่อสงวนไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติอารยันที่พวกเขามองนามว่ากฎหมายเนือร์นแบร์ค ในช่วงแรกกฎหมายนี้ห้ามเฉพาะเพศสัมพันธ์และการสมรสระหว่างชาวเยอรมันกับชาวยิว แต่ในภายหลังถูกขยายให้ครอบคลุมถึง "ยิปซี เนโกร และทายาทลูกผสมของพวกเขา" ด้วย ซึ่งพวกนาซีบรรยายว่าเป็นผู้คน "สายเลือดต่างด้าว"[168][169] ความสัมพันธ์เช่นนั้นระหว่างชาวอารยัน (ดูที่ใบรับรองอารยัน (Aryan certificate)) กับคนที่มิใช่ชาวอารยันสามารถถูกลงโทษได้ภายใต้กฎหมายเชื้อชาติฐานเป็นรัสเซินชันเดอ หรือ "ความเสื่อมเสียทางเชื้อชาติ"[168] หลังสงครามเริ่มต้นขึ้น กฎหมายความเสื่อมเสียทางเชื้อชาติถูกขยายครอบคลุมถึงคนต่างชาติทั้งหมด (คนที่มิใช่ชาวเยอรมัน)[170] เชื้อชาติที่มิใช่อารยันที่อันดับล่างสุดมีชาวยิว ชาวโรมานี ชาวสลาฟ[171] และคนผิวดำ[172] ในที่สุดพวกนาซีพยายามฆ่าล้างชาวยิว ชาวโรมานี ชาวสลาฟ และคนพิการทางร่างกาย (Physical disability) และทางทางสติปัญญา (Developmental disability) เพื่อรักษา "ความบริสุทธิ์และความแข็งแกร่ง" ของเชื้อชาติอารยัน[171][172] กลุ่มอื่น ๆ ที่ถูกชี้ว่า "เสื่อม" (Social degeneration) และ "ไม่เข้าสังคม" (Asociality) ที่ไม่ถูกเพ่งเล็งสำหรับฆ่าล้างแต่ได้รับการปฏิบัติแบบกีดกันจากรัฐนาซีเช่นคนรักร่วมเพศ คนผิวดำ (Black people in Nazi Germany) ศาสนิกชนพยานพระยะโฮวา และศัตรูทางการเมือง[172] ความมุ่งมั่นหนึ่งของฮิตเลอร์ในตอนต้นสงครามคือการฆ่าล้าง ขับไล่ หรือจับเป็นทาสชาวสลาฟส่วนใหญ่หรือทั้งหมดจากยุโรปกลางและตะวันออกเพื่อหาเลเบินส์เราม์ให้กับผู้ตั้งถิ่นฐานชาวเยอรมัน[173]

"ข้อมูลบนใบปิด" จากนิทรรศการ "Miracle of Life" (ความมหัศจรรย์ของชีวิต) ที่เบอร์ลินเมื่อ ค.ศ. 1935

หนังสือเรียนสำหรับนักเรียนเยอรมันสมัยนาซีชื่อว่า Heredity and Racial Biology for Students (กรรมพันธุ์และชีววิทยาเชื้อชาติสำหรับนักเรียน) ที่เขียนขึ้นโดยยาค็อพ กรัฟ (Jakob Graf) อธิบายมโนทัศน์ว่าด้วยเชื้อชาติอารยันของนาซีให้นักเรียนไว้ในส่วน "The Aryan: The Creative Force in Human History" (ชาวอารยัน: แรงสร้างสรรค์ในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ)[167] กรัฟอ้างว่าชาวอารยันดั้งเดิมพัฒนามาจากชาวนอร์ดิกที่เข้าบุกรุกอินเดียโบราณ พวกเขาเริ่มพัฒนาวัฒนธรรมอารยันในช่วงแรกที่นั่น และในภายหลังก็กระจายเข้าสู่เปอร์เซียโบราณ (ancient Persia) เขาอ้างว่าเปอร์เซียพัฒนากลายเป็นจักรวรรดิได้เพราะมีชาวอารยันอาศัยอยู่[167] เขาอ้างว่าชาวนอร์ดิกเป็นชนผู้พัฒนาวัฒนธรรมกรีกโบราณเพราะในภาพวาดจากสมัยนั้นแสดงถึงชาวกรีกซึ่งตัวสูง ผิวสีอ่อน ตาสีอ่อน และผมสีทอง[167] เขากล่าวว่ากลุ่มชนอิตาลิก (Italic peoples) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับชาวเคลต์เป็นชนผู้พัฒนาจักรวรรดิโรมันและเป็นชาวนอร์ดิกด้วย[167] เขาเชื้อว่าเพราะประชากรนอร์ดิกหายไปจากประชากรของกรีซโบราณและโรมโบราณจึงนำไปสู่ความล่มสลายของทั้งสอง[167] เขาอ้างว่าสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยาพัฒนาขึ้นมาในจักรวรรดิโรมันตะวันตกเพราะสายเลือดนอร์ดิกระลอกใหม่เข้ามาสู่ดินแดนของจักรวรรดิในสมัยการย้ายถิ่น เช่นสายเลือดนอร์ดิกที่มีอยู่ในชาวลอมบาร์ด (ในหนังสือใช้คำว่าลองโกบาร์ด) และอ้างว่ากลุ่มชาววิซิกอทที่หลงเหลืออยู่เป็นชนผู้สร้างจักรวรรดิสเปน และอ้างว่ามรดกของชาวแฟรงก์ ชาวกอท และกลุ่มชนเจอร์แมนิกในประเทศฝรั่งเศสเป็นเหตุให้มันสามารถโตขึ้นเป็นมหาอำนาจได้[167] เขาอ้างว่าจักรวรรดิรัสเซียเถลิงอำนาจขึ้นมาได้เพราะนำโดยกลุ่มชนทายาทนอร์มัน[167] เขาอธิบายว่าสังคมแอลโกล-แซกซันเติบโตขึ้นในทวีปอเมริกาเหนือ ประเทศแอฟริกาใต้ และประเทศออสเตรเลียเพราะเป็นผลมาจากมรดกนอร์ดิกของชาวแองโกล-แซกซัน[167] เขาสรุปความประเด็นเหล่านี้ด้วยการกล่าวว่า: "ในทุก ๆ แห่ง แรงสร้างสรรค์ของชาวนอร์ดิกได้สร้างจักวรรดิที่ยิ่งใหญ่ด้วยความคิดจิตใจสูงส่ง และตราบจนวันนี้ภาษาและคุณค่าวัฒนาธรรมของชาวอารยันก็กระจายอยู่ทั่วส่วนใหญ่ของโลก แม้ว่าสายเลือดนอร์ดิกที่สร้างสรรค์นั้นจะได้หายไปจากหลายแห่งนานแล้วก็ตาม"[xvii]

กระบะขนศพกองสูงข้างนอกที่เผาศพในค่ายกักกันบูเคินวัลท์

ในนาซีเยอรมนี ความคิดการสร้างเชื้อชาติเจ้านายทำให้เกิดความพยายามทำให้ด็อยท์เชอฟ็อลค์ (ชาวเยอรมัน) บริสุทธิ์ด้วยสุพันธุศาสตร์ (Nazi eugenics) และผลสุดท้ายกลายเป็นการบังคับทำหมัน (compulsory sterilisation) หรือการุณยฆาตโดยขัดกับความประสงค์ (involuntary euthanasia) ของผู้พิการทางร่างกายหรือสติปัญญา ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โครงการการุณยฆาตดังกล่าวถูกเรียกว่าอัคซีโยน เทเฟียร์[174] ข้อแก้ตัวทางอุดมการณ์สำหรับการุณยฆาตมาจากมุมมองที่ฮิตเลอร์มีต่อสปาร์ตา (ระหว่างศตวรรษที่ 11 ถึงปี 195 ก่อนคริสตกาล) ว่าเป็นรัฐเฟิลคิชต้นฉบับ เขาชื่นชมที่สปาร์ตาทำลายทารกกำเนิดผิดรูปอย่างไร้อารมณ์ความรู้สึกเพื่อรักษาความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติ[175][176] ในองค์กรนาซีเช่นยุวชนฮิตเลอร์และแวร์มัคท์มีคนที่ไม่ใช่ชาวอารยันสมัครเข้าร่วมอยู่บางคน ประกอบด้วยชาวเยอรมันเชื้อสายแอฟริกา[177] และเชื้อสายยิว[178] พวกนาซีเริ่มนำนโยบาย "อนามัยทางเชื้อชาติ" มาปฏิบัติใช้ทันทีที่ได้อำนาจมา "กฎหมายป้องกันบุตรหลานเป็นโรคทางพันธุกรรม" (Law for the Prevention of Hereditarily Diseased Offspring) ในเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1933 กำหนดให้บังคับทำหมันผู้คนที่มีอาการต่าง ๆ ซึ่งถูกมองว่าเป็นตามกรรมพันธุ์ เช่นโรคจิตเภท โรคลมชัก โรคฮันติงตัน และ "ปัญญาอ่อน" นอกจากนี้ยังบังคับทำหมันผู้ที่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังและมีความเบี่ยงเบนทางสังคม (deviance (sociology)) ด้วย[179] ผู้คนประมาณ 360,000 คนถูกทำหมันจากกฎหมายนี้ระหว่าง ค.ศ. 1933 ถึง 1939 แม้ว่านาซีบางคนเสนอให้ขยายโครงการครอบคลุมถึงผู้พิการทางร่างกายด้วย แต่ความคิดนั้นต้องแสดงออกมาอย่างระมัดระวัง ด้วยข้อเท็จจริงว่านาซีบางคนมีความพิการทางร่างกาย ตัวอย่างหนึ่งเป็นหนึ่งในผู้ทรงอำนาจมากที่สุดของระบอบ นั่นคือโยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ ซึ่งมีขาขวาผิดรูป (clubfoot)[180][181]

นักทฤษฎีเชื้อชาตินาซีฮันส์ เอฟ. เค. กึนเทอร์ (Hans F. K. Günther) อ้างว่าชาวยุโรปสามารถแบ่งออกได้เป็นห้าเชื้อชาติ กล่าวคือเชื้อชาตินอร์ดิก เมดิเตอร์เรเนียน (Mediterranean race) ดินาริก (dinaric race) แอลป์ (alpine race) และบอลติกตะวันออก (east baltic race)[11] กึนเทอร์ใช้มโนทัศน์แบบลัทธินอร์ดิกเพื่อให้เหตุผลกับความเชื่อของเขาว่าชาวนอร์ดิกอยู่สูงที่สุดบนลำดับชั้นของเชื้อชาติ[11] ในหนังสือของเขา Rassenkunde des deutschen Volkes (ค.ศ. 1922 "ศาสตร์เชื้อชาติของชาวเยอรมัน") กึนเทอร์ให้ชาวเยอรมันประกอบด้วยทั้งห้าเชื้อชาติ แต่เน้นว่าพวกเขามีมรดกจากนอร์ดิกที่เข้มข้ม[182] ฮิตเลอร์ได้อ่าน Rassenkunde des deutschen Volkes ซึ่งส่งอิทธิพลต่อนโยบายด้านเชื้อชาติของเขา[183] กึนเทอร์เชื้อว่าชาวสลาฟอยู่ใน "เชื้อชาติตะวันออก" และเตือนชาวเยอรมันว่าอย่าผสมกับพวกเขา[184] พวกนาซีบรรยายถึงชาวยิวว่าเป็นกลุ่มชนเชื้อชาติผสมระหว่างเชื้อชาติตะวันออกใกล้ (Armenoid race) และบูรพา (Arabid race) เป็นหลัก[185] เพราะเชื้อชาติดังกล่าวเหล่านั้นถูกถือว่ามีศูนย์กลางอยู่นอกทวีปยุโรป พวกนาซีจึงอ้างว่าชาวยิวเป็น "เชื้อชาติต่างด้าว" จากชาวยุโรปทั้งมวลและไม่มีรากเหง้าทางเชื้อชาติที่ลึกซึ้งในทวีปยุโรป[185]

กึนเทอร์เน้นยำว่าชาวยิวมีมรดกทางเชื้อชาติแบบตะวันออกใกล้[186] เขาชี้ว่ามีชาวยิวอยู่สองกลุ่มหลัก ๆ ซึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนศาสนาครั้งใหญ่ของชาวคาซาร์ (Khazars) มาเป็นศาสนายูดาห์ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 กลุ่มที่มีมรดกทางเชื้อชาติแบบตะวันออกใกล้เป็นหลักกลายเป็นชาวยิวอัชเกนัซ (ซึ่งเขาเรียกว่าชาวยิวตะวันออก) ในขณะที่กลุ่มที่มีมรดกทางเชื้อชาติแบบบูรพาเป็นหลักกลายเป็นชาวยิวเซฟาร์ดี (ซึ่งเขาเรียกว่าชาวยิวใต้)[187] กึนเทอร์อ้างว่ากลุ่มตะวันออกใกล้ประกอบด้วยผู้ค้าที่มีชั้นเชิงและจิตวิญญาณค้าขาย ว่ากลุ่มนั้นมีทักษะการชักจูงทางจิตวิทยาที่เข้มแข็งซึ่งช่วยพวกเขาในการค้าขาย[186] เขาอ้างว่าเชื้อชาติตะวันออกใกล้นั้น "ไม่ได้ผสมพันธุ์มาเพื่อการพิชิตและการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติเท่าใดนัก เพราะตลอดมานั้นคือเพื่อการพิชิตและการใช้ประโยชน์จากผู้คน"[xviii] กึนเทอร์เชื่อว่าชาวยุโรปมีความรังเกียจผู้คนที่มีต้นกำเนิดจากเชื้อชาติตะวันออกใกล้และคุณลักษณะของพวกเขาโดยมีเชื้อชาติเป็นแรงจูงใจ และเขาแสดงหลักฐานสนับสนุนสิ่งนี้ด้วยการแสดงตัวอย่างของภาพวาดแสดงรูปของซาตานหลายชิ้นในศิลปะยุโรปที่มีลักษณะหน้าตาแบบตะวันออกใกล้[188]

มโนทัศน์ว่าด้วยแฮร์เรินฟ็อลค์อารยัน ("เชื้อชาติเจ้านายอารยัน") ของฮิตเลอร์ไม่รวมถึงชาวสลาฟส่วนใหญ่จากยุโรปกลางและตะวันออก (Central and Eastern Europe) (อาทิชาวโปแลนด์ (Nazi crimes against the Polish nation) ชาวรัสเซีย ชาวยูเครน ฯลฯ) พวกเขาถูกมองว่าเป็นเชื้อชาติของคนที่ไม่มีแนวโน้มไปทางอารยธรรมขั้นที่สูงกว่าซึ่งตกอยู่ใต้อำนาจของสัญชาตญาณที่คืนสภาพพวกเขากลับสู่ธรรมชาติ พวกนาซีมองว่าชาวสลาฟมีอิทธิพลแบบยิวและเอเซียติก (หมายถึงมองโกล) ที่อันตรายอยู่ด้วย[189] เพราะเช่นนี้เอง พวกนาซีประกาศให้ชาวสลาฟเป็นอุนเทอร์เม็นเชิน ("ต่ำกว่ามนุษย์")[153] นักมานุษยวิทยานาซีพยายามพิสูจน์ในทางวิทยาศาสตร์ถึงส่วนผสมทางประวัติศาสตร์ของชาวสลาฟซึ่งอาศัยอยู่ไกลออกไปทางทิศตะวันออก และนักทฤษฎีเชื้อชาตินาซีชั้นนำฮันส์ กึนเทอร์ ถือว่าชาวสลาฟเป็นนอร์ดิกเป็นหลักเมื่อหลายศตวรรษที่แล้ว แต่เขาเชื่อว่าพวกเขาได้ผสมกับพวกที่ไม่ใช่นอร์ดิกเมื่อเวลาผ่านไป[190] มีข้อยกเว้นให้กับชาวสลาฟสัดส่วนเล็ก ๆ ที่พวกนาซีมองว่าเป็นทายาทของผู้ตั้งถิ่นฐานเยอรมันและจึงเหมาะสมที่จะถูกเปลี่ยนเป็นเยอรมันและยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของเชื้อชาติเจ้านายอารยัน[191] ฮิตเลอร์บรรยายว่าชาวสลาฟเป็น "มวลชนของข้าทาสแต่กำเนิดซึ่งรู้สึกถึงความต้องการเจ้านาย"[192] นิยามว่าด้วยชาวสลาฟของนาซีที่บอกว่าอยู่ต่ำกว่าได้ทำหน้าที่เป็นข้ออ้างให้ความชอบธรรมแก่ความต้องการสร้างเลเบินส์เราม์ให้กับชาวเยอรมันและกลุ่มชนเจอร์แมนิกอื่น ๆ ในยุโรปตะวันออก ที่ผู้ตั้งถิ่นฐานชาวเยอรมันและเจอร์แมนิกอื่น ๆ หลายล้านคนจะย้ายเข้าไปอยู่เมื่อสามารถยึดครองพื้นที่เหล่านั้นได้แล้ว ในขณะที่ผู้อยู่อาศัยชาวสลาฟดั้งเดิมก็จะถูกกวาดล้าง ลบทิ้ง หรือตกเป็นทาส[193] นโยบายของนาซีเยอรมนีที่มีต่อชาวสลาฟได้เปลี่ยนไปเพื่อตอบสนองต่อความขาดแคลนกำลังทหาร และถูกบังคับให้ต้องอนุญาตชาวสลาฟเข้าทำงานในกองกำลังติดอาวุธภายในพื้นที่ที่กำลังยึดครองอยู่ได้ แม้ว่าพวกเขาจะถูกมองว่าเป็นพวก "ต่ำกว่ามนุษย์" ก็ตาม[194]

ฮิตเลอร์ประกาศว่าความขัดแย้งทางเชื้อชาติต่อชาวยิวเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยให้เยอรมนีรอดพ้นจากความทุกข์ทรมานของการอยู่ใต้พวกเขา และปัดทิ้งความกังวลว่าความขัดแย้งดังกล่าวนั้นเป็นสิ่งที่ไร้มนุษยธรรมและอยุติธรรมไว้ว่า:

เราอาจไร้มนุษยธรรม แต่หากเราช่วยเหลือเยอรมนีได้เราก็ได้กระทำการอันยิ่งใหญ่สูงสุดในโลกนี้สำเร็จแล้ว เราอาจทำการอยุติธรรม แต่หากเราช่วยเหลือเยอรมนีได้เราก็ได้ลบล้างอยุติธรรมสูงสุดในโลกนี้แล้ว เราอาจผิดศีลธรรม แต่หากช่วยเหลือประชาชนของเราให้รอดได้เราก็ได้เปิดหนทางสู่ศีลธรรมแล้ว[xix]

นักโฆษณาชวนเชื่อนาซีโยเซ็ฟ เกิบเบิลส์ มักใช้วาทกรรมต่อต้านยิวเพื่อขีดเส้นใต้มุมมองนี้อยู่บ่อย ๆ: "พวกยิวเป็นศัตรูและเป็นผู้ทำลายสายเลือดอันบริสุทธิ์ ผู้ทำลายเชื้อชาติของเราโดยเจตนา"[xx]

ชนชั้นทางสังคม

การเมืองชาติสังคมนิยมมีหลักการการจัดตั้งอยู่บนพื้นฐานของการแข่งขันและการต่อสู้ และพวกนาซีเชื่อว่า "ชีวิตมนุษย์ประกอบขึ้นด้วยการต่อสู้และการแข่งขันอันเป็นนิรันดร์ และความหมายของมันมาจากการต่อสู้และการแข่งขัน"[xxi] พวกนาซีมองการต่อสู้นิรันดร์นี้ผ่านแว่นตาแบบทหาร และสนับสนุนให้มีสังคมซึ่งจัดระเบียบคล้ายกับกองทัพเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น พวกเขาส่งเสริมแนวคิด "ประชาคมของประชาชน" แห่งชาติและเชื้อชาติ (ฟ็อลค์สเกอไมน์ชัฟท์) เพื่อบรรลุผล "การดำเนินการต่อสู้กับชนและรัฐอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ"[198] ฟ็อลค์สเกอไมน์ชัฟท์นี้คล้ายกับกองทัพและตั้งใจให้ประกอบขึ้นด้วยลำดับชั้นของยศและชนชั้นของผู้คน บางส่วนสั่งการและส่วนอื่นเชื่อฟัง ทั้งมวลทำงานด้วยกันโดยมีเป้าหมายร่วมกัน[198] มโนทัศน์มีรากเหง้ามาจากงานเขียนยุคคริสต์ศตวรรษที่ 19 ของนักเขียนเฟิลคิชที่เชิดชูสังคมเยอรมันยุคกลาง โดยมองว่าเป็น "ประชาคมซึ่งหยั่งรากลงในแผ่นดินและมัดรวมกันด้วยขนบธรรมเนียมและประเพณี" ซึ่งไม่มีความขัดแย้งระหว่างชนชั้นหรือปัจเจกนิยมเห็นแก่ตัว[199] มโนทัศน์ว่าด้วยฟ็อลค์สเกอไมน์ชัฟท์ของนาซีดึงดูดใจคนจำนวนมาก เพราะอย่างที่เคยเป็นครั้งหนึ่ง มันถูกมองว่าเป็นการยืนยันความตั้งใจต่อสังคมชนิดใหม่สำหรับยุคสมัยใหม่ แต่ก็ยังมอบความคุ้มครองจากความตึงเครียดและความไม่มั่นคงของความทันสมัย (modernisation) ซึ่งจะรักษาสมดุลระหว่างความสำเร็จของปัจเจกกับความสามัคคีของกลุ่ม และระหว่างการร่วมมือกันกับการแข่งขัน เมื่อริบผิวหน้าอุดมการณ์ออกไปแล้ว วิสัยทัศน์ของการทำให้ทันสมัยที่ไร้ความขัดแย้งภายในและประชาคมการเมืองที่มอบความมั่นคงและโอกาสให้ของนาซีเป็นวิสัยทัศน์ของอนาคตที่มีศักยภาพอย่างยิ่งเสียจนชาวเยอรมันหลายคนพร้อมมองข้ามเนื้อแท้ที่เหยียดเชื้อชาติและต่อต้านยิวของมันไป[200]

ระบอบนาซีปฏิเสธแนวคิดการต่อสู้ทางชนชั้นของลัทธิมากซ์ และชมเชยทั้งนายทุนและกรรมกรเยอรมันว่าทั้งสองเป็นส่วนสำคัญของฟ็อลค์สเกอไมน์ชัฟท์ ในฟ็อลค์สเกอไมน์ชัฟท์ ชนชั้นทางสังคมจะยังดำรงอยู่ แต่จะไม่มีความขัดแย้งทางชนชั้นระหว่างกัน[201] ฮิตเลอร์กล่าวว่า "พวกนายทุนเขาทำงานไต่เต้าขึ้นไปบนยอดด้วยความสามารถของพวกเขา และด้วยพื้นฐานการคัดเลือกนี้ ซึ่งพิสูจน์ว่าพวกเขาเป็นเชื้อชาติที่เหนือกว่าก็เท่านั้น พวกเขาจึงมีสิทธิที่จะนำ"[xxii] ผู้นำธุรกิจเยอรมันร่วมมือกับนาซีในช่วงที่พวกเขากำลังขึ้นสู่อำนาจและได้รับผลประโยชน์มากมายจากรัฐนาซีหลังถูกสถาปนาขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผลกำไรที่สูงและการผูกขาดและสร้างคาร์เทลที่รัฐอนุญาต[203] มีการเฉลิมฉลองขนาดใหญ่และการใช้สัญลักษณ์อย่างทั่วถึงเพื่อสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ใช้แรงงานทางกายภาพในนามของเยอรมนี โดยนาซีชั้นนำหลายคนมักสรรเสริญ "เกียรติของแรงงาน" ซึ่งปลูกฝังจิตสำนึกความเป็นประชาคม (เกอไมน์ชัฟท์) ให้กับชาวเยอรมันและส่งเสริมความสมานฉันท์ในอุดมการณ์นาซี[204] บางครั้งโฆษณาชวนเชื่อนาซีนำเสนอเป้าหมายของนโยบายขยายดินแดนว่าเป็น "การต่อสู้ทางชนชั้นระหว่างชาติ" เพื่อแย่งชิงกรรมกรจากลัทธิมากซ์[202] หมวกแก๊ปหลากสีของเด็กนักเรียนถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในกองไฟเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของเอกภาพระหว่างชนชั้นทางสังคมต่าง ๆ[205]

ใน ค.ศ. 1922 ฮิตเลอร์ดูถูกพรรคการเมืองชาตินิยมและเชื้อชาตินิยมอื่น ๆ ว่าลอยตัวอยู่เหนือมวลชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นเด็กในชนชั้นแรงงานและชนชั้นล่าง ว่า:

พวกเชื้อชาตินิยมไม่มีความสามารถดึงเอาข้อสรุปเชิงปฏิบัติมาจากการตัดสินทางทฤษฎีที่ถูกต้องได้ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาชาวยิว ในการนี้ขบวนการเชื้อชาตินิยมเยอรมันพัฒนาแบบแผนที่คล้ายกับอย่างในทศวรรษ 1880 และ 1890 ในสมัยนั้นตำแหน่งผู้นำของมันค่อย ๆ ตกกลายเป็นของพวกที่มีเกียรติยศสูงส่ง แต่เป็นผู้มีการศึกษา ศาสตราจารย์ สมาชิกสภาเขต ผู้อำนวยการโรงเรียน และนักกฎหมายที่ไร้เดียงสาจนน่าอัศจรรย์ กล่าวสั้น ๆ คือพวกชนชั้นกระฎุมพี จิตนิยม และสุภาพบุรุษ มันขาดลมหายใจอันอบอุ่นของพลังอันเยาว์วัยของชาติ[xxiii]

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ฐานคะแนนเสียงของพรรคนาซีกลับเป็นเกษตรกรและชนชั้นกลางเป็นหลัก ซึ่งรวมถึงกลุ่มข้ารัฐการรัฐบาลไวมาร์ ครูบาอาจารย์ แพทย์ เสมียน นักธุรกิจส่วนตัว พนักงานขาย ข้ารัฐการเกษียณ วิศวกร และนักเรียน[207] ความต้องการของพวกเขาประกอบด้วยการลดภาษี การขึ้นราคาอาหาร การจำกัดควบคุมห้างสรรพสินค้าและสหกรณ์ผู้บริโภค และการลดบริการทางสังคมและค่าจ้าง[208] ความจำเป็นที่จะต้องรักษาคนกลุ่มเหล่านี้ไว้ทำให้พวกนาซีดึงดูดชนชั้นแรงงานได้อย่างยากลำบาก เพราะชนชั้นแรงงานมักมีความต้องการไปในทางตรงกันข้าม[208]

จาก ค.ศ. 1928 เป็นต้นมา พรรคนาซีขยายกลายเป็นขบวนการการเมืองระดับชาติขนาดใหญ่โดยพึ่งพาการสนับสนุนของชนชั้นกลาง และภาพลักษณ์ที่มีต่อสาธารณะซึ่ง "สัญญาว่าจะอยู่ข้างชนชั้นกลาง และเผชิญหน้ากับอำนาจทางการเมืองและทางเศรษฐกิจของชนชั้นแรงงาน"[209] ความล้มละลายทางการเงินของชนชั้นกลางคอปกขาว (White-collar worker) ในคริสต์ทศวรรษ 1920 เป็นโดยส่วนมากว่าทำไมพวกเขาจึงสนับสนุนระบอบนาซีอย่างเข้มแข็ง[210] ถึงแม้ว่าพวกนาซีพยายามดึงดูดใจ "กรรมกรเยอรมัน" ต่อ แต่นักประวัติศาสตร์ทิโมธี เมสัน (Timothy Mason) สรุปว่า "ฮิตเลอร์ไม่มีอะไรให้กับชนชั้นแรงงานนอกจากคำขวัญ"[211]

นักประวัติศาสตร์โคนัน ฟิชเชอร์ (Conan Fischer) และเด็ทเล็ฟ มืห์ลแบร์เกอร์ (Detlef Mühlberger) อ้างว่า แม้ว่าพวกนาซีมีฐานรากเป็นชนชั้นกลางค่อนล่างเป็นหลัก แต่สามารถดึงดูดใจคนจากทุกชนชั้นในสังคมได้ และแม้ว่ากรรมกรโดยทั่วไปมีแสดงตนอยู่น้อย แต่ก็ยังเป็นฐานเสียงสนับสนุนที่มีน้ำหนักสำหรับนาซี[212][213] เอช. แอล. อันส์บัคเคอร์ กล่าวอ้างว่าทหารที่มาจากชนชั้นแรงงานเป็นส่วนที่มีความศรัทธาในตัวฮิตเลอร์มากกว่ากลุ่มวิชาชีพใด ๆ ในประเทศเยอรมนี[214]

พวกนาซียังได้สร้างค่านิยมว่ากรรมกรคนงานทุก ๆ คนควรที่จะมีทักษะอยู่บ้าง นี่ไม่ได้เป็นเพียงแค่วาทกรรม จำนวนผู้ชายที่ลาออกจากการเรียนเพื่อหางานทำเป็นผู้ใช้แรงงานไม่มีฝีมือลดลงจาก ค.ศ. 1934 ที่ 200,000 คนกลายเป็น 30,000 คนใน ค.ศ. 1934 สำหรับครอบครัวชนชั้นแรงงานหลายครัวเรือน คริสต์ทศวรรษ 1930 และ 1940 เป็นสมัยของการขยับสถานะทางสังคม แต่ไม่ใช่ในความหมายที่เป็นการขยับเข้าสู่ชนชั้นกลาง แต่เป็นการขยับภายในลำดับชั้นทักษะแรงงานคอปกน้ำเงิน[215] โดยรวมแล้วประสบการณ์ของคนทำงานในระบอบนาซีมีความแตกต่างกันอย่างมาก ค่าจ้างของคนทำงานไม่ได้เพิ่มขึ้นมากในระบอบนาซี เนื่องมาจากการจำกัดการขึ้นค่าจ้างของรัฐบาลที่กลัวเงินเฟ้อจากค่าจ้างและราคา ราคาอาหารและเครื่องนุ่งห่มสูงขึ้น แต่ราคาสำหรับทำความร้อน ค่าเช่า และแสงไฟลดลง มีการขาดแคลนคนงานฝีมือตั้งแต่ ค.ศ. 1936 เป็นต้นไป หมายความว่าคนทำงานที่จบอาชีวศึกษามีโอกาสได้รับค่าจ้างที่สูงพอสมควร สิทธิประโยชน์ที่ได้จากแนวร่วมแรงงานเยอรมันถูกมองในแง่บวกโดยทั่วไป แม้ว่าคนงานจะไม่เชื่อในโฆษณาเรื่องฟ็อลค์สเกอไมน์ชัฟท์เสมอไป คนทำงานน้อมรับโอกาสการจ้างงานหลังจากหลายปีที่ลำบากในช่วงภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ซึ่งสร้างความเชื่อร่วมกันว่านาซีได้แก้ปัญหาความไม่มั่นคงของการว่างงานได้แล้ว คนทำงานที่ยังคงไม่พอใจเสี่ยงถูกจับได้จากสายของเกสตาโพ ในตอนสุดท้ายนาซีต้องเผชิญหน้ากับความขัดแย้งระหว่างโครงการสะสมกำลังรบซึ่งจำเป็นต้องใช้ความเสียสละทางวัตถุสภาพจากคนงาน (เวลาทำงานที่ยาวขึ้นและคุณภาพชีวิตที่ต่ำลง) กับความจำเป็นที่จะต้องรักษาความไว้วางใจจากชนชั้นแรงงานที่มีต่อระบอบ ฮิตเลอร์มีความเห็นใจต่อมุมมองที่เน้นย้ำให้ใช้มาตรการเพิ่มเติมสำหรับการสะสมกำลังรบ แต่เขาไม่ได้นำมาตรการเหล่านั้นมาใช้โดยสมบูรณ์เท่าที่จำเป็น เพื่อหลีกเลี่ยงการสร้างความแปลกแยกต่อชนชั้นแรงงาน[216]

แม้ว่านาซีจะมีแรงสนับสนุนที่มีน้ำหนักจากชนชั้นกลาง แต่พวกเขามักโจมตีคุณค่าของชนชั้นกลางแบบประเพณีดั้งเดิม และฮิตเลอร์รังเกียจพวกเขาเป็นการส่วนตัว นี่เป็นเพราะภาพจำดั้งเดิมของชนชั้นกลางนั้นเป็นภาพของกลุ่มคนที่หมกมุ่นกับสถานะของตน ความสำเร็จทางวัตถุ และการดำเนินชีวิตที่สุขสบาย ซึ่งตรงกันข้ามกับบุรุษแบบใหม่ในอุดมคติของนาซี วิสัยทัศน์ของบุรุษแบบใหม่ของนาซีเป็นวีรบุรุษซึ่งปฏิเสธชีวิตส่วนตัวและวัตถุนิยมและหันมาหาชีวิตสาธารณะและสำนึกในหน้าที่ที่หยั่งลึก ซึ่งพร้อมสละทุกสิ่งเพื่อชาติ แต่พวกนาซียังคงสามารถรักษาคะแนนเสียงของชนชั้นกลางหลายล้านเสียงได้ถึงแม้ว่าจะรังเกียจคุณค่าของพวกเขาก็ตาม เฮอร์แมนน์ เบค (Hermann Beck) อ้างว่าถึงชนชั้นกลางบางคนปัดว่าเหล่านี้เป็นแค่วาทกรรม คนอื่น ๆ หลายคนเห็นด้วยกับพวกนาซีในหลายแง่ ความพ่ายแพ้ใน ค.ศ. 1918 และความล้มเหลวของยุคไวมาร์ได้ทำให้ชาวเยอรมันชนชั้นกลางหลายคนตั้งข้อสงสัยกับอัตลักษณ์ของตน โดยคิดว่าคุณค่าจารีตประเพณีดั้งเดิมของพวกเขาเป็นสิ่งหลงยุคและเห็นด้วยกับนาซีว่าคุณค่าเหล่านี้ใช้ไม่ได้อีกต่อไป แม้ว่าวาทกรรมนี้เริ่มน้อยลงหลัง ค.ศ. 1933 จากการเน้นในแนวคิดฟ็อลค์สเกอไมน์ชัฟท์ มากขึ้น และวาทกรรมและแนวคิดของมันจะยังไม่หายไปจริง ๆ จนกระทั่งระบอบถูกโค่นล้ม พวกนาซีเน้นว่าชนชั้นกลางจะต้องกลายเป็นชตาทสเบือเกอร์ (staatsbürger) พลเมืองซึ่งตื่นรู้และมีส่วนร่วมในสาธารณะ แทนที่จะเป็นชปีสเบือเกอร์ (spießbürger) ที่เห็นแก่ตัวและวัตถุนิยมซึ่งสนใจแต่ชีวิตส่วนตัว[217][218]

เพศและเพศสภาพ

ข้อกำหนดสำหรับคนงานชาวโปแลนด์ในประเทศเยอรมนี คำเตือนโทษประหารชีวิตสำหรับกิจกรรมทางเพศใด ๆ ระหว่างชาวเยอรมันกับชาวโปแลนด์

ระบอบนาซีสนับสนุนให้กีดกันผู้หญิงออกจากการยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และจำกัดให้พวกเขาอยู่ในขอบเขตของ "คินเดอร์, คึชเชอ, เคียร์ชเชอ" (Kinder, Küche, Kirche "เด็ก ครัว โบสถ์") เท่านั้น[219] ผู้หญิงหลายคนสนับสนุนระบอบอย่างกระตือรือร้น แต่ก็สร้างลำดับชั้นภายในกลุ่มของพวกเขาเอง[220] ฮิตเลอร์มีความคิดเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับประเด็นเรื่องผู้หญิงในนาซีเยอรมนีว่า ประวัติศาสตร์เยอรมันยุคอื่น ๆ ประสบกับพัฒนาการและการปลดปล่อยความคิดของผู้หญิง แต่เป้าหมายของชาติสังคมนิยมมีเพียงหนึ่งเดียวคือให้พวกเขาผลิตเด็กออกมา[221] ฮิตเลอร์ครั้งหนึ่งกล่าวถึงผู้หญิงโดยอิงฐานความคิดนี้ว่า "เด็กทุกคนที่เธอนำออกมาสู่โลก คือการต่อสู้เพื่อชาติของเธอ ผู้ชายลุกขึ้นยืนเพื่อ ฟ็อล์ค เหมือนกับที่ผู้หญิงลุกขึ้นยืนเพื่อครอบครัว"[222] โครงการมูลเดิมก่อนการสนับสนุนการเกิด (natalism) ในนาซีเยอรมนีมีการให้เงินกู้และเงินทุนแก่คู่สมรสใหม่ และส่งเสริมให้พวกเขาให้กำเนิดบุตรออกมาด้วยการเพิ่มแรงจูงใจต่าง ๆ[223] ผู้หญิงที่ "มีคุณค่า" ทางเชื้อชาติในนาซีเยอรมนีถูกโน้มน้าวให้ไม่ใช้การคุมกำเนิดและมีการห้ามทำแท้งด้วยกฎหมายที่เคร่งครัด โดยระบุโทษจำคุกให้ผู้หญิงที่แสวงหาบริการและโทษจำคุกให้แพทย์ที่ให้บริการพวกเขา แต่กับผู้ที่มีเชื้อชาติ "อันไม่พึงประสงค์" กลับส่งเสริมให้เข้ารับการทำแท้ง[224][225]

ฮิตเลอร์มักใช้ข้ออ้างว่าชีวิตยุ่งซึ่งทำให้ขาดโอกาสในการสมรสใด ๆ และจนกระทั่งสิ้นระบอบแล้วเขาก็ยังคงไม่ได้แต่งงาน[226] สำหรับผู้สนับสนุนอุดมการณ์นาซี การสมรสไม่ได้มีคุณค่าเพราะเหตุผลทางศีลธรรม แต่เพราะมันเป็นสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดสำหรับการผสมพันธุ์ มีการกล่าวว่า ไรชส์ฟือเรอร์-เอ็สเอ็ส ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ เคยบอกกับคนสนิทคนหนึ่งว่าในตอนที่เขาจัดตั้งโครงการเลเบินส์บอร์นขึ้นมา ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อการเพิ่มอัตราการเกิดของเด็ก "อารยัน" ให้มากขึ้นอย่างล้นหลามด้วยความสัมพันธ์นอกสมรสระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายซึ่งทั้งสองถูกจัดประเภทว่ามีเชื้อชาติบริสุทธิ์ เขาพิจารณาเฉพาะ "ผู้ช่วยการตั้งครรภ์" เพศชายที่บริสุทธิ์ที่สุดเท่านั้น[227]

ตั้งแต่ที่นาซีได้ขยายกฎหมายรัสเซินชันเดอ ("ความเสื่อมเสียทางเชื้อชาติ") ให้ครอบคลุมชาวต่างชาติทั้งหมดเมื่อสงครามเริ่มต้นขึ้น[170] ก็มีจุลสารที่เผยแพร่ออกมาให้แก่ผู้หญิงชาวเยอรมันที่สั่งให้พวกเขาหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับกรรมกรต่างชาติซึ่งถูกนำเข้ามาในประเทศเยอรมนี จุลสารเหล่านั้นยังได้สั่งให้ผู้หญิงชาวเยอรมันมองกรรมกรต่างชาติเหล่านี้เป็นภยันตรายต่อสายเลือดของพวกเขาอีกด้วย[228] แม้ว่ากฎหมายฉบับนี้จะใช้ได้กับทั้งสองเพศสภาพ แต่ผู้หญิงชาวเยอรมันถูกลงโทษด้วยความรุนแรงมากกว่าสำหรับการมีเพศสัมพันธ์กับแรงงานเกณฑ์ต่างชาติในเยอรมนี[229] พวกนาซีออกรัฐกฤษฎีกาโปแลนด์ (Polish decrees) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1940 ซึ่งประกอบด้วยข้อกำหนดว่าด้วยแรงงานเกณฑ์ชาวโปแลนด์ (ซีวีลอาร์ไบเทอร์ (Zivilarbeiter)) ที่ถูกนำเข้ามาในประเทศเยอรมนีระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หนึ่งในนั้นกล่าวว่าชาวโปแลนด์คนใด "ผู้มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายหรือผู้หญิงชาวเยอรมัน หรือเข้าหาพวกเขาด้วยกิริยาอันไม่สมควรอย่างอื่นอย่างใดก็ตาม จะได้รับโทษประหารชีวิต"[230] หลังจากกฎหมายฉบับนี้ออกมา ฮิมเลอร์กล่าวว่า:

พี่น้องเยอรมันคนใดที่มีเพศสัมพันธ์กับกรรมกรพลเมืองสัญชาติโปแลนด์ไม่ว่าชายหรือหญิง กระทำการอันผิดศีลธรรมอื่น ๆ หรือมีความสัมพันธ์รักใคร่ ก็จะถูกจับทันที[231]

ในภายหลังพวกนาซีได้ออกข้อกำหนดที่คล้ายกันสำหรับกรรมกรจากแถบตะวันออก (อ็อสท์อาร์ไบเทอร์ (Ostarbeiter)) ซึ่งประกอบด้วยโทษประหารชีวิตหากพวกเขามีเพศสัมพันธ์กับชาวเยอรมัน[232] เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1942 ไฮดริชได้ออกรัฐบัญญัติซึ่งประกาศว่าการร่วมเพศระหว่างผู้หญิงชาวเยอรมันกับกรรมกรหรือเชลยศึกชาวรัสเซียจะนำไปสู่การลงโทษประหารชีวิตฝ่ายชายชาวรัสเซีย[233] เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1942 ฮิมเลอร์ได้ออกรัฐบัญญัติซึ่งกล่าวว่า "การร่วมเพศที่ไม่ได้รับอนุญาต" จะนำไปสู่โทษประหารชีวิต[234] แต่เพราะกฎหมายเพื่อคุ้มครองสายเลือดเยอรมันและเกียรติภูมิเยอรมันไม่อนุญาตให้ใช้โทษประหารชีวิตกับความเสื่อมเสียทางเชื้อชาติ จึงมีการจัดตั้งศาลพิเศษขึ้นมาเพื่อให้สามารถตัดสินประหารชีวิตในบางกรณีได้[235] ผู้หญิงชาวเยอรมันซึ่งถูกกล่าวหาว่าสร้างความเสื่อมเสียทางเชื้อชาติจะถูกโกนหัวและห้อยป้ายที่ระบุอาชญากรรมของพวกเขาเดินแห่ไปบนท้องถนน[236] และผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดเสื่อมเสียต่อเชื้อชาติจะถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกันต่าง ๆ[228] มีรายงานว่าเมื่อฮิมเลอร์ถามฮิตเลอร์ว่าโทษสำหรับเด็กผู้หญิงและผู้หญิงชาวเยอรมันซึ่งถูกตัดสินว่ามีความผิดเสื่อมเสียต่อเชื้อชาติกับเชลยศึกควรเป็นอย่างไร เขาสั่งว่า "เชลยศึกทุกคนซึ่งมีความสัมพันธ์กับเด็กผู้หญิงชาวเยอรมันหรือชาวเยอรมันจะโดนยิง" และผู้หญิงชาวเยอรมันจะถูกทำให้อับอายขายหน้าในที่สาธารณะด้วยการ "โกนผมและส่งตัวไปยังค่ายกักกัน"[237]

มีการกล่าวถึงสันนิบาตสาวเยอรมันโดยเฉพาะ ว่าได้สั่งให้เด็กผู้หญิงชาวเยอรมันหลีกเลี่ยงความเสื่อมเสียทางเชื้อชาติ ซึ่งได้รับความสำคัญเป็นพิเศษสำหรับกรณีของผู้หญิงวัยเยาว์[238]

การต่อต้านรักร่วมเพศ

อนุสรณ์สถานเหยื่อฮอโลคอสต์รักร่วมเพศที่เบอร์ลิน โททเกอชลาเกิน – โททเกอชวีเกิน (Totgeschlagen – Totgeschwiegen "ตีตาย – ปิดปาก")

ภายหลังเหตุการณ์คืนมีดยาว ฮิตเลอร์ได้เลื่อนยศฮิมเลอร์และส่งเสริมชุทซ์ชตัฟเฟิล ซึ่งต่อมาปราบปรามรักร่วมเพศด้วยความกระตือรือร้น โดยกล่าวว่า: "เราจะต้องถอนรากถอนโคนคนพวกนี้ ... พวกรักร่วมเพศจะต้องโดนกวาดล้าง"[239] ใน ค.ศ. 1936 ฮิมเลอร์ได้ก่อตั้ง "สำนักงานกลางไรช์เพื่อการปราบปรามรักร่วมเพศและการทำแท้ง" (Reichszentrale zur Bekämpfung der Homosexualität und Abtreibung) ขึ้นมา[240] ระบอบนาซีคุมขังคนรักร่วมเพศกว่า 100,000 คนในคริสต์ทศวรรษ 1930[241] นักโทษชายรักร่วมเพศในค่ายกักกันถูกบังคับให้ติดเครื่องหมายสามเหลี่ยมชมพู[242][243][ต้องการเลขหน้า] อุดมการณ์นาซีมองว่าผู้ชายชาวเยอรมันซึ่งเป็นเกย์ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของเชื้อชาติเจ้านายอารยัน แต่ระบอบนาซีพยายามบังคับให้พวกเขาเปลี่ยนคล้อยตามแบบแผนทางเพศและสังคม คนรักร่วมเพศถูกมองว่าล้มเหลวในการทำหน้าที่ร่วมเพศและขยายพ้นธุ์ให้แก่ชาติอารยัน เกย์เพศชายที่ไม่ยอมเปลี่ยนหรือเสแสร้งว่าเปลี่ยนรสนิยมทางเพศของตนถูกส่งไปยังค่ายกักกันภายใต้โครงการ "การกำจัดผ่านการใช้แรงงาน"[244]

ศาสนา

สมาชิกองค์กรคริสเตียนเยอรมัน (German Christians (movement)) กำลังเฉลิมฉลองวันลูเทอร์ (วันปฏิรูปศาสนา) ที่เบอร์ลิน ค.ศ. 1933 พระคุณเจ้าฮ็อสเซินเฟ็ลเดอร์ (Hossenfelder) เป็นผู้ปราศรัย
ฮิตเลอร์ใน ค.ศ. 1935 กับเอกอัครสมณทูตประจำประเทศเยอรมนี (Apostolic Nunciature to Germany) แห่งพระศาสนจักรคาทอลิกเชซาเร ออร์เซนีโก (Cesare Orsenigo)

แนวนโยบายพรรคนาซีใน ค.ศ. 1920 รับประกันเสรีภาพให้กับทุกศาสนานิกายที่ไม่เป็นศัตรูต่อรัฐ และสนับสนุนศาสนาคริสต์เชิงบวกเพื่อต่อสู้ต้าน "จิตวิญญาณวัตถุนิยมยิว"[245] ศาสนาคริสต์เชิงบวกเป็นคริสต์ศาสนาฉบับดัดแปลงซึ่งให้ความสำคัญกับความบริสุทธิ์ของเชื้อชาติ (Racial hygiene) และชาตินิยม[246] นักเทววิทยาอย่างแอ็นสท์ แบร์คมันน์ (Ernst Bergmann (philosopher)) ให้ความช่วยเหลือพวกนาซี ในงานของเขา Die 25 Thesen der Deutschreligion ("25 ข้อแห่งศาสนาเยอรมัน") แบร์คมันน์มีมุมมองว่าคัมภีร์ไบเบิลพันธสัญญาเดิมมีความไม่สอดคล้องกันกับบางส่วนในพันธสัญญาใหม่ อ้างว่าพระเยซูไม่ใช่ชาวยิวแต่เป็นชาวอารยัน และอ้างว่าอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นพระผู้ช่วยให้รอดองค์ใหม่[246]

ฮิตเลอร์ประณามว่าพันธสัญญาเดิมเป็น "ไบเบิลของซาตาน" และพยายามใช้บางชิ้นบางตอนในพันธสัญญาใหม่เพื่อพิสูจน์ว่าพระเยซูเป็นทั้งชาวอารยันและเป็นพวกต่อต้านยิวโดยอ้างอิงข้อพระคำภีร์ยอห์นบทที่ 8 ข้อที่ 44[xxiv] ว่าพระเยซูตะโกนใส่ "พวกยิว" แล้วกล่าวต่อพวกเขาว่า "พ่อของท่านคือมาร" กับเหตุการณ์การชำระพระวิหาร (Cleansing of the Temple) ที่บรรยายว่าพระเยซูใช้แส้ขับไล่ "ลูกของมาร"[247] ฮิตเลอร์อ้างว่าพันธสัญญาใหม่ถูกเปาโลอัครทูตบิดเบือน ฮิตเลอร์บรรยายว่าเขาเป็น "ฆาตกรหมู่ที่กลายเป็นนักบุญ"[247] พวกนาซีใช้งานเขียนของนักปฏิรูปโปรเตสแตนต์มาร์ติน ลูเทอร์ ในโฆษณาชวนเชื่อ และจัดแสดงต้นฉบับงานเขียนของลูเทอร์ Von den Jüden und iren Lügen ("ว่าด้วยยิวและคำโกหกของพวกเขา") ออกสู่สาธารณะในการเดินขบวนประจำปีที่เนือร์นแบร์ค[248][249] พวกนาซีรับรององค์กรคริสเตียนเยอรมันที่สนับสนุนนาซี

หมายเหตุ

  1. แปลจาก "Today our left-wing politicians in particular are constantly insisting that their craven-hearted and obsequious foreign policy necessarily results from the disarmament of Germany, whereas the truth is that this is the policy of traitors ... But the politicians of the Right deserve exactly the same reproach. It was through their miserable cowardice that those ruffians of Jews who came into power in 1918 were able to rob the nation of its arms."[36]
  2. แปลจาก "There are only two possibilities in Germany; do not imagine that the people will forever go with the middle party, the party of compromises; one day it will turn to those who have most consistently foretold the coming ruin and have sought to dissociate themselves from it. And that party is either the Left: and then God help us! for it will lead us to complete destruction—to Bolshevism, or else it is a party of the Right which at the last, when the people is in utter despair, when it has lost all its spirit and has no longer any faith in anything, is determined for its part ruthlessly to seize the reins of power—that is the beginning of resistance of which I spoke a few minutes ago."[37]
  3. แปลจาก "Socialism is the science of dealing with the common weal. Communism is not Socialism. Marxism is not Socialism. The Marxians have stolen the term and confused its meaning. I shall take Socialism away from the Socialists. Socialism is an ancient Aryan, Germanic institution. Our German ancestors held certain lands in common. They cultivated the idea of the common weal. Marxism has no right to disguise itself as socialism. Socialism, unlike Marxism, does not repudiate private property. Unlike Marxism, it involves no negation of personality, and unlike Marxism, it is patriotic..[38]
  4. แปลจาก "Socialism! That is an unfortunate word altogether... What does socialism really mean? If people have something to eat and their pleasures, then they have their socialism."[39]
  5. แปลจาก "From the camp of bourgeois tradition, it takes national resolve, and from the materialism of the Marxist dogma, living, creative Socialism"[40]
  6. แปลจาก "an insignificant heap of reactionaries"[45]
  7. แปลจาก "For a long time to come there will be only two Powers in Europe with which it may be possible for Germany to conclude an alliance. These Powers are Great Britain and Italy."[74]
  8. แปลและเรียบเรียงจาก "[A]lmost all essential elements of ... Nazi ideology were to be found in the radical positions of ideological protest movements [in pre-1914 Germany]. These were: a virulent anti-Semitism, a blood-and-soil ideology, the notion of a master race, [and] the idea of territorial acquisition and settlement in the East. These ideas were embedded in a popular nationalism which was vigorously anti-modernist, anti-humanist and pseudo-religious."[76]
  9. แปลจาก "bacillus, the carriers of decay ... who pollute every national culture ... and destroy all faiths with their materialistic liberalism"
  10. แปลจาก "National-Socialist formation and education in the Third Reich"
  11. แปลจาก "The meaning of socialism is that life is controlled not by the opposition between rich and poor, but by the rank that achievement and talent bestow. That is our freedom, freedom from the economic despotism of the individual"[133]
  12. แปลจาก "War is the eternal form of higher human existence and states exist for war: they are the expression of the will to war"[136]
  13. แปลจาก "If Mussolini had been outdistanced by Marxism, I don't know whether we could have succeeded in holding out. At that period National Socialism was a very fragile growth"[148]
  14. แปลจาก "...National Socialism was not primarily an ideological and programmatic, but a charismatic movement, whose ideology was incorporated in the Führer, Hitler, and which would have lost all its power to integrate without him. ... [T]he abstract, utopian and vague National Socialistic ideology only achieved what reality and certainty it had through the medium of Hitler."
  15. แปลจาก "Through the peace with Russia the sustenance of Germany as well as the provision of work were to have been secured by the acquisition of land and soil, by access to raw materials, and by friendly relations between the two lands."[157]
  16. แปลจาก "Asia, what a disquieting reservoir of men! The safety of Europe will not be assured until we have driven Asia back behind the Urals. No organized Russian state must be allowed to exist west of that line."[159]
  17. แปลจาก "Everywhere Nordic creative power has built mighty empires with high-minded ideas, and to this very day Aryan languages and cultural values are spread over a large part of the world, though the creative Nordic blood has long since vanished in many places"[167]
  18. แปลจาก "bred not so much for the conquest and exploitation of nature as it had been for the conquest and exploitation of people"[186]
  19. แปลจาก "We may be inhumane, but if we rescue Germany we have achieved the greatest deed in the world. We may work injustice, but if we rescue Germany then we have removed the greatest injustice in the world. We may be immoral, but if our people is rescued we have opened the way for morality."[195]
  20. แปลจาก "The Jew is the enemy and the destroyer of the purity of blood, the conscious destroyer of our race."[196]
  21. แปลจาก "human life consisted of eternal struggle and competition and derived its meaning from struggle and competition."[197]
  22. แปลจาก "the capitalists have worked their way to the top through their capacity, and as the basis of this selection, which again only proves their higher race, they have a right to lead."[202]
  23. แปลจาก "The racialists were not capable of drawing the practical conclusions from correct theoretical judgements, especially in the Jewish Question. In this way, the German racialist movement developed a similar pattern to that of the 1880s and 1890s. As in those days, its leadership gradually fell into the hands of highly honourable, but fantastically naïve men of learning, professors, district counsellors, schoolmasters, and lawyers—in short a bourgeois, idealistic, and refined class. It lacked the warm breath of the nation's youthful vigour."[206]
  24. "ยอห์น 8:44". พระคริสตธรรมคัมภีร์ภาษาไทย ฉบับมาตรฐาน. สมาคมพระคริสตธรรมไทย. 2011. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 8 ธันวาคม 2022 – โดยทาง Bible.com. พวกท่านมาจากพ่อของท่านคือมาร และท่านอยากจะทำตามความปรารถนาของพ่อ มันเป็นฆาตกรตั้งแต่เริ่มแรกและไม่ได้ตั้งอยู่ในสัจจะ เพราะมันไม่มีสัจจะ เมื่อมันพูดเท็จมันก็พูดตามสันดานของมันเอง เพราะมันเป็นผู้มุสา และเป็นพ่อของการมุสา

อ้างอิง

  1. Jones, Daniel (2003) [1917]. Roach, Peter; Hartmann, James; Setter, Jane (บ.ก.). English Pronouncing Dictionary. Cambridge University Press. ISBN 978-3-12-539683-8.
  2. 2.0 2.1 "Nazism". สารานุกรมบริแทนนิกา (ภาษาอังกฤษ). สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2022.
  3. 3.0 3.1 Fritzsche, Peter (1998). Germans into Nazis. เคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์: Harvard University Press. ISBN 978-0674350922.
    Eatwell, Roger (1997). Fascism, A History. Viking-Penguin. pp. xvii–xxiv, 21, 26–31, 114–140, 352. ISBN 978-0140257007.
    Griffin, Roger (2000). "Revolution from the Right: Fascism". ใน Parker, David (บ.ก.). Revolutions and the Revolutionary Tradition in the West 1560–1991. ลอนดอน: Routledge. pp. 185–201. ISBN 978-0415172950.
  4. Spielvogel, Jackson J. (2010) [1996]. Hitler and Nazi Germany: A History. นิวยอร์ก: Routledge. p. 1. ISBN 978-0131924697. Nazism was only one, although the most important, of a number of similar-looking fascist movements in Europe between World War I and World War II.
  5. Orlow, Dietrick (2009). The Lure of Fascism in Western Europe: German Nazis, Dutch and French Fascists, 1933–1939. ลอนดอน: Palgrave Macmillan. pp. 6–9. ISBN 978-0230608658. บางส่วน
  6. Eley, Geoff (2013). Nazism as Fascism: Violence, Ideology, and the Ground of Consent in Germany 1930–1945. นิวยอร์ก: Routledge. ISBN 978-0415812634.
  7. Kailitz, Steffen; Umland, Andreas (2017). "Why Fascists Took Over the Reichstag but Have Not captured the Kremlin: A Comparison of Weimar Germany and Post-Soviet Russia" (PDF). Nationalities Papers. 45 (2): 206–221.
  8. Evans 2003, p. 229.
  9. Skibba, Ramin (20 พฤษภาคม 2019). "The Disturbing Resilience of Scientific Racism". Smithsonian. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 ตุลาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 12 ธันวาคม 2019.
  10. Blamires 2006, p. 61.
  11. 11.0 11.1 11.2 Baum, Bruce David (2006). The Rise and Fall of the Caucasian Race: A Political History of Racial Identity. นครนิวยอร์ก/ลอนดอน: New York University Press. p. 156. ISBN 9781429415064.
  12. Kobrak, Christopher; Hansen, Per H.; Kopper, Christopher (2004). "Business, Political Risk, and Historians in the Twentieth Century". ใน Kobrak, Christopher; Hansen, Per H. (บ.ก.). European Business, Dictatorship, and Political Risk, 1920–1945. นครนิวยอร์ก/ออกซฟอร์ด: Berghahn Books. pp. 16–17. ISBN 978-1-57181-629-0.
  13. Mitcham, Samuel W. (1996). Why Hitler?: The Genesis of the Nazi Reich. Westport, Connecticut: Praeger. p. 68. ISBN 978-0275954857.
  14. Heiden, Konrad (15 กันยายน 1933). "Les débuts du national-socialisme". Revue d'Allemagne. VII (71): 821.
  15. Kershaw 1999, pp. 243–244, 248–249.
  16. Bendersky 2000, p. 176.
  17. Bendersky 2000, p. 24.
  18. Overy 1996.
  19. Nicosia, Francis R.; Huener, Jonathan. Business and Industry in Nazi Germany. Berghan Books. p. 43.
  20. Bendersky 2000, p. 159.
  21. Bendersky 2000, p. 40.
  22. Gottlieb, Henrik; Morgensen, Jens Erik, บ.ก. (2007). Dictionary Visions, Research and Practice: Selected Papers from the 12th International Symposium on Lexicography, Copenhagen 2004 (illustrated ed.). อัมสเตอร์ดัม: J. Benjamins Pub. Co. p. 247. ISBN 978-9027223340. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2014.
  23. 23.0 23.1 23.2 Harper, Douglas. "Nazi". etymonline.com. Online Etymology Dictionary. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 26 ตุลาคม 2022. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2014.
  24. Lepage, Jean-Denis (2009). Hitler Youth, 1922–1945: An Illustrated History. McFarland. p. 9. ISBN 978-0786439355.
  25. 25.0 25.1 25.2 Rabinbach, Anson; Gilman, Sander, บ.ก. (2013). The Third Reich Sourcebook. Berkeley: University of California Press. p. 4. ISBN 978-0520955141.
  26. 26.0 26.1 Copping, Jasper (23 ตุลาคม 2011). "Why Hitler hated being called a Nazi and what's really in humble pie – origins of words and phrases revealed". The Daily Telegraph. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 มกราคม 2022. สืบค้นเมื่อ 22 ตุลาคม 2014.
  27. Seebold, Elmar, บ.ก. (2002). Kluge Etymologisches Wörterbuch der deutschen Sprache (ภาษาเยอรมัน) (24th ed.). เบอร์ลิน: Walter de Gruyter. ISBN 978-3-11-017473-1.
  28. Goebbels, Joseph (1927), The Nazi-Sozi, แปลโดย Randall Bytwerk, Calvin College German Propaganda Archive, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2 ตุลาคม 2022
  29. Bormann, Martin; และคณะ (2016) [1941-1944]. Hitler's Table Talk.
  30. ดูเพิ่มที่ Selected Speeches of Field Marshal Hermann Goring
  31. Maschmann, Melita (2016) [1963]. Account Rendered: A Dossier On My Former Self. Plunkett Lake Press.
  32. Abel, Theodore (1930–1986). Theodore Fred Abel papers. OCLC 754868859.{{cite book}}: CS1 maint: date format (ลิงก์)
  33. Woshinsky, Oliver H. (2008). Explaining Politics: Culture, Institutions, and Political Behavior. Oxon; New York: Routledge. p. 156. ISBN 9780415960786.
  34. Hitler 2007, p. 170.
  35. Koshar, Rudy (1986). Social Life, Local Politics, and Nazism: Marburg, 1880–1935. University of North Carolina Press. p. 190. ISBN 9780807842874.
  36. Hitler, Adolf (2010). Mein Kampf. Bottom of the Hill Publishing. p. 287. ISBN 9781483707181.
  37. Dawidowicz, Lucy (1976). A Holocaust Reader. Behrman House. p. 31. ISBN 9780874412192. OCLC 1947646.
  38. Hitler, Adolf (9 กรกฎาคม 1932) [1923]. "1923 Interview with Adolf Hitler". Liberty (Interview). สัมภาษณ์โดย George Sylvester Viereck. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 5 ตุลาคม 2022.
  39. Turner, Henry A. (1985). German Big Business and the Rise of Hitler. Oxford University Press. p. 77. ISBN 9780195042351.
  40. Hitler 2007, pp. 171, 172–173.
  41. 41.0 41.1 Kershaw 1999, p. 135.
  42. 42.0 42.1 Peukert 1993, pp. 73–74.
  43. 43.0 43.1 Peukert 1993, p. 74.
  44. Beck 2008, p. 72.
  45. Beck 2008, pp. 72–75.
  46. Beck 2008, p. 84.
  47. Bendersky 1985, pp. 104–06.
  48. Lee, Stephen J. (1987). European Dictatorships, 1918–1945. Routledge. p. 169. ISBN 9780415027854.
  49. Bendersky 1985, pp. 106–07.
  50. Carter, Miranda (2009). George, Nicholas and Wilhelm: Three Royal Cousins and the Road to World War I. Borzoi Book. p. 420. ISBN 9780307593023.
  51. 51.0 51.1 51.2 51.3 Mann, Michael (2004). Fascists. นครนิวยอร์ก: Cambridge University Press. p. 183. doi:10.1017/CBO9780511806568. ISBN 9780511806568.
  52. Browder 2004, p. 202.
  53. Hallgarten 1973, p. 132.
  54. Hallgarten 1973, p. 133.
  55. Hallgarten 1973, pp. 137, 142.
  56. Hallgarten 1973, p. 141.
  57. 57.0 57.1 Bendersky 2007, p. 96.
  58. Heiden, Konrad (1938). Hitler: A Biography. ลอนดอน: Constable & Co. Ltd. p. 390.
  59. Nyomarkay 1967, pp. 123–124, 130.
  60. 60.0 60.1 Nyomarkay 1967, p. 133.
  61. Walters, Glenn D. (2006). Lifestyle Theory: Past, Present, and Future. Nova Publishers. p. 40. ISBN 9781600210334.
  62. 62.0 62.1 Weber, Thomas (2011). Hitler's First War: Adolf Hitler, the Men of the List Regiment, and the First World War (illustrated, reprint ed.). ออกซฟอร์ด ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร: Oxford University Press. p. 251. ISBN 9780199226382.
  63. 63.0 63.1 Gaab, Jeffrey S. (2008). Munich: Hofbräuhaus & History: Beer, Culture, & Politics (2nd ed.). นิวยอร์ก: Peter Lang Publishing, Inc. p. 61. ISBN 9780820486062. OCLC 465239716.
  64. Kershaw 1999, pp. 34–35, 50–52, 60–67.
  65. Overy 2004, pp. 399–403.
  66. Bendersky 1985, p. 49.
  67. Bendersky 1985, p. 50.
  68. Tooze 2006, pp. 101.
  69. Tooze 2006, pp. 100–101.
  70. Tooze 2006, p. 99.
  71. 71.0 71.1 Furet 1999, pp. 191–192.
  72. Furet 1999, p. 191.
  73. Nicosia, Francis R. (2000). The Third Reich and the Palestine Question. Transaction Publishers. p. 82. ISBN 076580624X.
  74. 74.0 74.1 Buchanan, Patrick J. (2008). Churchill, Hitler, and "The Unnecessary War": How Britain Lost Its Empire and the West Lost the World. Crown/Archetype. p. 325. ISBN 978-0307409560.
  75. Fest, Joachim C. (1974) [1973]. Hitler. ลอนดอน: Weidenfeld & Nicolson. ISBN 978-0-297-76755-8.
  76. 76.0 76.1 76.2 Broszat 1987, p. 38.
  77. Harrington, Anne (2021). "CHAPTER SIX: Life Science, Nazi Wholeness, and the "Machine" in Germany's Midst". Reenchanted Science: Holism in German Culture from Wilhelm II to Hitler. Princeton, New Jersey: Princeton University Press. p. 175. doi:10.1515/9780691218083-009. ISBN 9780691218083. JSTOR j.ctv14163kf.11. S2CID 162490363. When Hans Shemm in 1935 declared National Socialism to be "politically applied biology," things began to look up, not only for holism, but for the life sciences in general. After all, if the good National Socialist citizen was now seen as the man or woman who understood and revered what were called "Life's laws," then it seemed clear that the life scientists had a major role to play in defining a National Socialist educational program that would transmit the essence of these laws to every family in every village in the country. [...] So much seemed familiar: the calls among the National Socialists to return to authentic "German" values and "ways of knowing," to "overcome" the materialism and mechanism of the "West" and the "Jewish-international lie" of scientific objectivity; the use of traditional volkisch tropes that spoke of the German people (Volk) as a mystical, pseudobiological whole and the state as an "organism" in which the individual was subsumed in the whole ("You are nothing, your Volk is everything"); the condemnation of Jews as an alien force representing chaos, mechanism, and inauthenticity. Hitler himself had even used the stock imagery of conservative holism in Mein Kampf when he spoke of the democratic state as "a dead mechanism which only lays claim to existence for its own sake" and contrasted this with his vision of statehood for Germany in which "there must be formed a living organism with the exclusive aim of serving a higher idea."
  78. 78.0 78.1 78.2 Deichmann, Ute (2020). "Science and political ideology: The example of Nazi Germany". Mètode Science Studies Journal. Universitat de València. 10 (Science and Nazism. The unconfessed collaboration of scientists with National Socialism): 129–137. doi:10.7203/metode.10.13657. ISSN 2174-9221. S2CID 203335127. Although in their basic framework Nazi anti-Semitic and racist ideology and policies were not grounded in science, scientists not only supported them in various ways, but also took advantage of them, for example by using the new possibilities of unethical experimentation in humans that these ideologies provided. Scientists’ complicity with Nazi ideology and politics does, however, not mean that all sciences in Nazi Germany were ideologically tainted. I argue, rather, that despite the fact that some areas of science continued at high levels, science in Nazi Germany was most negatively affected not by the imposition of Nazi ideology on the conduct of science but by the enactment of legal measures that ensured the expulsion of Jewish scientists. The anti-Semitism of young faculty and students was particularly virulent. Moreover, I show that scientists supported Nazi ideologies and policies not only through so-called reductionist science such as eugenics and race-hygiene, but also by promoting organicist and holistic ideologies of the racial state. [...] The ideology of leading Nazi party ideologues was strongly influenced by the Volkish movement which, in the wake of the writings of philosopher Johann Gottlieb Fichte and other nineteenth century authors, promoted the idea of Volk (people) as an organic unity. They did not base their virulent anti-Semitism and racism on anthropological concepts.
  79. Anker, Peder (2021). "The Politics of Holism, Ecology, and Human Rights". Imperial Ecology: Environmental Order in the British Empire, 1895-1945. เคมบริดจ์, รัฐแมสซาชูเซตส์ และลอนดอน: Harvard University Press. p. 157. doi:10.4159/9780674020221-008. ISBN 9780674020221. S2CID 142173094. The paradoxical character of the politics of holism is the theme of this chapter, which focuses on the mutually shaping relationship between John William Bews, John Phillips, and the South African politician Jan Christian Smuts. Smuts was a promoter of international peace and understanding through the League of Nations, but also a defender of racial suppression and white supremacy in his own country. His politics, I will argue, were fully consistent with his holistic philosophy of science. Smuts was guided by the efforts of ecologists such as Bews and Phillips, who provided him with a day-to-day update of the latest advances in scientific knowledge of natural laws governing Homo sapiens. A substantial part of this chapter will thus return to their research on human ecology to explore the mutual field of inspiration linking them and Smuts. Two aspects of this human ecological research were particularly important: the human gradualism or ecological “succession” of human personalities researched by Bews, and the concept of an ecological biotic community explored by Phillips. Smuts transformed this research into a policy of racial gradualism that respected local ways of life in different (biotic) communities, a policy he tried to morally sanctify and promote as author of the famous 1945 Preamble of the United Nation Charter about human rights.
  80. Scheid, Volker (มิถุนายน 2016). "Chapter 3: Holism, Chinese Medicine, and Systems Ideologies: Rewriting the Past to Imagine the Future". ใน Whitehead, A.; Woods, A.; Atkinson, S.; Macnaughton, J.; Richards, J. (บ.ก.). The Edinburgh Companion to the Critical Medical Humanities. Vol. 1. เอดินบะระ: Edinburgh University Press. doi:10.3366/edinburgh/9781474400046.003.0003. ISBN 9781474400046. S2CID 13333626. Bookshelf ID:NBK379258 – โดยทาง NCBI. Common Roots: Holism Before and During the Interwar Years: This chapter cannot explore in detail the complex entanglements between these different notions of holism, or how they reflect Germany's troubled path towards modernity. My starting point, instead, is the interwar years. By then, holism had become an important resource for people across Europe, the US and beyond – but once again specifically in Germany – for dealing with what Max Weber, in 1918, had famously analysed as a widely felt disenchantment with the modern world. The very word ‘holism’ (as opposed to ideas or practices designated as such today), as well as related words like ‘emergence’ or ‘organicism’, date from this time. It was coined in 1926 by Jan Smuts to describe a perceived tendency of evolutionary processes towards the formation of wholes, granting these wholes a special onto-epistemic significance that parts lack. This was cultural holism now underpinned by evolutionary science and deployed by Smuts not only as a tool for grasping the coming into being of the world but also as an ideological justification for the development of Apartheid in South Africa. In Weimar Germany and then under Nazism, holistic science became a mainstream academic endeavour, once more intermingling cultural politics and serious scientific research. Holistic perspectives also became popular in the interwar years among academics and the wider public throughout the UK and US. In France, it was associated with vitalist philosophies and the emergence of neo-Hippocratic thinking in medicine, manifesting the unease many people felt about the shifts that biomedicine was undergoing at the time.
  81. Ryback 2010, pp. 129–130.
  82. 82.0 82.1 82.2 82.3 Ryback 2010, p. 129.
  83. Mosse 1964, pp. 19–23.
  84. Lekan, Thomas; Zeller, Thomas (2005). "Introduction: The Landscape of German Environmental History". ใน Lekan, Thomas; Zeller, Thomas (บ.ก.). Germany's Nature: Cultural Landscapes and Environmental History. New Brunswick, NJ: Rutgers University Press. p. 3. ISBN 9780813536675.
  85. แนวคิดนาซีว่าด้วยเลเบินส์เราม์มีความเชื่อมโยงกับแนวคิดนี้ โดยที่เพราะเกษตรกรเยอรมันหยั่งรากลงในผืนดินของพวกเขาเลยต้องหามามากขึ้นเพื่อขยับขยายฟ็อล์คเยอรมัน ต่างจากชาวยิวซึ่งเป็นตรงกันข้าม และมีธรรมชาติแบบพเนจรและอาศัยในเมือง ดูที่: Stackelberg, Roderick (2007). The Routledge Companion to Nazi Germany (1st ed.). นิวยอร์ก: Routledge. p. 259. ISBN 9780415308618.
  86. หลักฐานเพิ่มเติมถึงมรดกของรีห์ลสามารถเห็นได้จากรางวัลรีห์ล ดี ฟ็อล์คสคุนเดอ อัลส์ วิสเซินชัฟท์ (Die Volkskunde als Wissenschaft "คติชาวบ้านในฐานะของวิทยาศาสตร์") ซึ่งพวกนาซีมอบใน ค.ศ. 1935 ดูที่: Mosse 1964, p. 23
  87. ผู้ที่จะสมัครชิงรางวัลรีห์ลมีข้อกำหนดเช่นต้องมีเชื้อสายอารยัน และไม่มีหลักฐานความเป็นสมาชิกของพรรคมากซิสต์พรรคใดหรือองค์กรใดก็ตามที่มีจุดยืนต่อต้านชาติสังคมนิยม ดูที่: Stroback, Hermann (1994). "Folklore and Fascism before and around 1933". ใน Dow, James R.; Lixfeld, Hannjost (บ.ก.). The Nazification of an Academic Discipline: Folklore in the Third Reich. Bloomington: Indiana University Press. pp. 62–63. ISBN 9780253318213. OCLC 27897231.
  88. Blamires 2006, p. 542.
  89. Pickus, Keith H. (1999). Constructing Modern Identities: Jewish University Students in Germany, 1815–1914. Wayne State University Press. p. 86.
  90. 90.0 90.1 Olsen, Jonathan (1999). Nature and Nationalism: Right-wing Ecology and the Politics of Identity in Contemporary Germany. นิวยอร์ก: Palgrave Macmillan. p. 62. ISBN 9780333802205.
  91. Whiteside, Andrew Gladding (1962). Austrian National Socialism before 1918. Springer Dordrecht. pp. 1–3. doi:10.1007/978-94-015-0468-3. ISBN 978-94-015-0468-3.
  92. 92.0 92.1 Witoszek & Trägårdh 2002, pp. 89–90.
  93. Witoszek & Trägårdh 2002, pp. 90.
  94. 94.0 94.1 Gerwarth 2007, p. 150.
  95. Gerwarth 2007, p. 149.
  96. Gerwarth 2007, p. 54.
  97. Gerwarth 2007, pp. 54, 131.
  98. Gerwarth 2007, p. 131.
  99. 99.0 99.1 Nicholls 2000a, pp. 236–237.
  100. 100.0 100.1 Nicholls 2000a, pp. 159–160.
  101. Hamann, Brigitte (2010). Hitler's Vienna: A Portrait of the Tyrant as a Young Man. Tauris Parke Paperbacks. p. 302. ISBN 978-1848852778.
  102. 102.0 102.1 102.2 102.3 102.4 102.5 102.6 Blamires 2006, p. 62.
  103. 103.0 103.1 103.2 103.3 103.4 103.5 103.6 Stackelberg & Winkle 2002, p. 11.
  104. Woodman, A. J. (2009). The Cambridge Companion to Tacitus. p. 294. ISBN 9781139002783. OCLC 606621488. The white race was defined as beautiful, honourable and destined to rule; within it the Aryans are 'cette illustre famille humaine, la plus noble' แต่เดิมแล้วมีความหมายเดียวกับคำว่าอินโด-ยูโรเปียน คำว่า 'อารยัน' ได้กลายมาเป็นชื่อของเชื้อชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผลมาจากความเรียงของกอบีโน ซึ่งเขาระบุไว้ว่าคือ ลา ราส แฌร์มานิก (la race germanique "เชื้อชาติเจอร์แมนิก")
  105. Blamires 2006, p. 126.
  106. Kühl, Stefan (2002). Nazi Connection: Eugenics, American Racism, and German National Socialism. Oxford University Press. ISBN 978-0195149784.
  107. 107.0 107.1 Brustein 2003, p. 207.
  108. 108.0 108.1 108.2 Brustein 2003, p. 210.
  109. Brustein 2003, pp. 207, 209.
  110. Witoszek & Trägårdh 2002, pp. 89.
  111. 111.0 111.1 Fischel, Jack (1998). The Holocaust. Westport, CN: Greenwood Press. p. 5. ISBN 9781573566599. OCLC 85526659.
  112. Rees, Philip (1990). Biographical Dictionary of the Extreme Right Since 1890. Simon & Schuster. p. 220. ISBN 0-13-089301-3. OCLC 22347303.
  113. 113.0 113.1 Ryback 2010, p. 130.
  114. Stackelberg & Winkle 2002, p. 45.
  115. Kershaw, Ian (2001). Hitler, 1936–45: Nemesis. นิวยอร์ก: W.W. Norton & Company Inc. p. 588. ISBN 9780393322521. OCLC 48060062.
  116. Welch 2001, pp. 13–14.
  117. Welch 2001, p. 16.
  118. 118.0 118.1 Koonz, Claudia (1 พฤศจิกายน 2005). The Nazi Conscience. Belknap Press of Harvard University Press. ISBN 978-0-674-01842-6.
  119. Weikart, Richard (21 กรกฎาคม 2009). Hitler's Ethic. Palgrave Macmillan. p. 142. ISBN 978-0-230-62398-9.
  120. Gordon, Sarah Ann (1984). Hitler, Germans, and the 'Jewish Question'. Princeton University Press. p. 265. ISBN 978-0-691-10162-0.
  121. "Florida Holocaust Museum: Antisemitism – Post World War 1". The Florida Holocaust Museum. 2003. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 3 ตุลาคม 2008.
  122. "THHP Short Essay: What Was the Final Solution?". Holocaust-History.org. กรกฎาคม 2004. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 15 สิงหาคม 2004.
  123. 123.0 123.1 123.2 Bowler 1989, pp. 304–305.
  124. Richards, Robert J. "Myth 19: That Darwin and haeckel were complicit in nazi biology" (PDF). The University of Chicago. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 6 สิงหาคม 2022.
  125. Bowler 1989, p. 305.
  126. Alexander, Denis R.; Numbers, Ronald L. (2010). Biology and Ideology from Descartes to Dawkins'. ชิคาโก, รัฐอิลลินอย; ลอนดอน: University of Chicago Press. p. 209. ISBN 9780226608426.
  127. Friedlander, Henry (1995). The Origins of Nazi Genocide: From Euthanasia to the Final Solution. Chapel Hill: University of North Carolina Press. p. 5. ISBN 9780807822081.
  128. 128.0 128.1 Whitman, James Q. (2017). Hitler's American Model: The United States and the Making of Nazi Race Law. Princeton University Press. pp. 37–47. ISBN 9780691172422. OCLC 972093295.
  129. 129.0 129.1 129.2 129.3 Kitchen, Martin (2006). A History of Modern Germany, 1800–2000. Malden, MA; Oxford, England; Carlton, Victoria, Australia: Blackwell Publishing, Inc. p. 205. doi:10.5860/choice.44-2914. ISBN 9781405100410. S2CID 159283314.
  130. 130.0 130.1 130.2 Hüppauf, Bernd-Rüdiger (1997). War, Violence, and the Modern Condition. เบอรลิน: Walter de Gruyter & Co. p. 92. doi:10.1515/9783110817256. ISBN 9783110147025.
  131. Rohkrämer, Thomas (2007). A Single Communal Faith?: The German Right from Conservatism to National Socialism. Monographs in German History. Vol. 20. Berghahn Books. p. 130. ISBN 978-1-84545-368-8.
  132. 132.0 132.1 132.2 132.3 132.4 132.5 132.6 Blamires 2006, p. 628.
  133. 133.0 133.1 133.2 133.3 Winkler, Heinrich August; Sager, Alexander (2006). Germany: The Long Road West. Vol. 1: 1789-1933 (English ed.). OUP Oxford. p. 414. ISBN 9780191500602.
  134. Blamires 2006, p. 629.
  135. Weitz, pp. 336–337.
  136. Weitz, pp. 336.
  137. "Kapp-Putsch, Marine-Brigade Erhardt mit MG 08/15". บุนเดิสอาร์ชีฟ (ภาษาเยอรมัน). คำอธิบายภาพจากหอจดหมายเหตุสหพันธ์เยอรมัน
  138. 138.0 138.1 Hughes 1992, p. 108.
  139. Hughes 1992, p. 109.
  140. 140.0 140.1 140.2 Kaplan, Mordecai M. Judaism as a Civilization: Toward a Reconstruction of American-Jewish Life. p. 73. ISBN 978-1330267707.
  141. Stern, Fritz Richard (1974). The politics of cultural despair: a study in the rise of the Germanic ideology (reprint ed.). University of California Press. p. 296. ISBN 9780520026438.
  142. Burleigh, Michael (2001). The Third Reich: a new history. Pan MacMillan. p. 75. ISBN 9780330487573.
  143. Redles, David (2009). "Nazi End Times; The Third Reich as a Millennial Reich". ใน Kinane, Karolyn; Ryan, Michael A. (บ.ก.). End of Days: Essays on the Apocalypse from Antiquity to Modernity. McFarland and Co. p. 176. ISBN 9780786442041.
  144. Kershaw 1999, p. 182.
  145. Fulda, Bernhard (2009). Press and Politics in the Weimar Republic. Oxford University Press. p. 65. doi:10.1093/acprof:oso/9780199547784.001.0001. ISBN 9780199547784.
  146. Carsten 1982, p. 80.
  147. Jablonsky, David (1989). The Nazi Party in Dissolution: Hitler and the Verbotzeit, 1923–1925. Cass series on politics and military affairs in the twentieth century. Vol. 2. London; Totowa, NJ: Frank Cass and Company Ltd. pp. 20–26, 30. ISBN 9780714633220.
  148. 148.0 148.1 148.2 Trevor-Roper, Hugh R.; Weinberg, Gerhard L., บ.ก. (2008). Hitler's Table Talk 1941–1944: Secret Conversations. Enigma Books. p. 10. ISBN 9781929631667.
  149. Payne 1995, pp. 463–464.
  150. Payne 1995, pp. 463.
  151. 151.0 151.1 Payne 1995, pp. 464.
  152. Broszat 1981, p. 29.
  153. 153.0 153.1 Thorne, Steve (2006). The Language of War. ลอนดอน: Routledge. p. 38. ISBN 9780415358675.
  154. Bialas, Wolfgang; Fritze, Lothar, บ.ก. (2014). Nazi Ideology and Ethics. Cambridge Scholars Publishing. pp. 15–57. ISBN 978-1-4438-5422-1.
  155. Gliožaitis, Algirdas. "Neumanno-Sasso byla" [คดีน็อยมันน์-ซัสส์]. Mažosios Lietuvos enciklopedija (ภาษาลิทัวเนีย). เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2022. สืบค้นเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2022.
  156. Lee, Stephen J. (2003). Europe, 1890–1945. p. 237. ISBN 9780415254557.
  157. 157.0 157.1 157.2 157.3 157.4 Stachura, Peter D. The Shaping of the Nazi State. p. 31. ISBN 9781138803770.
  158. Bendersky 2000, p. 177.
  159. 159.0 159.1 Mineau 2004, p. 36.
  160. Müller, Rolf-Dieter; Ueberschär, Gerd R. (2009). Hitler's War in the East, 1941–1945. Berghahn Books. p. 89. ISBN 9781845455019. OCLC 232002191.
  161. Lightbody, Bradl (2004). The Second World War: Ambitions to Nemesis. ลอนดอน; นิวยอร์ก: Routledge. p. 97. doi:10.4324/9780203644584. ISBN 9780203644584.
  162. Tooze 2008, pp. 161–162.
  163. Tooze 2008, pp. 166–167.
  164. Tooze 2008, pp. 167–168.
  165. Goebbels, Joseph (1970). The Goebbels Diaries, 1942–1943. Greenwood Press. ISBN 978-0837138152 – โดยทาง Google Books.
  166. 166.0 166.1 Weinberg, Gerhard L. (1995). Germany, Hitler, and World War II: Essays in modern German and world history. Cambridge University Press. p. 36. ISBN 9780521566261.
  167. 167.00 167.01 167.02 167.03 167.04 167.05 167.06 167.07 167.08 167.09 Mosse 2003, p. 79.
  168. 168.0 168.1 Milton, S.H. (2001). "'Gypsies' as social outsiders in Nazi Germany". ใน Gellately, Robert; Stoltzfus, Nathan (บ.ก.). Social Outsiders in Nazi Germany. Princeton University Press. pp. 216, 231. ISBN 978-0691086842.
  169. Burleigh, Michael (1991). The Racial State: Germany 1933–1945. Cambridge University Press. p. 49. ISBN 978-0521398022.
  170. 170.0 170.1 Majer 2003, p. 180.
  171. 171.0 171.1 Mineau 2004, p. 180.
  172. 172.0 172.1 172.2 Gigliotti, Simone; Lang, Berel (2005). The Holocaust: a reader. Malden, MA; Oxford, England; Carlton, Victoria, Australia: Blackwell Publishing. p. 14. ISBN 9781405137652. OCLC 60563693.
  173. Hagen, William W. (2012). German History in Modern Times: Four Lives of the Nation. Cambridge University Press. p. 313. ISBN 0-521-19190-4.
  174. Sandner, Peter (1999). "Die "Euthanasie"-Akten im Bundesarchiv : Zur Geschichte eines lange verschollenen Bestandes" (PDF). Vierteljahrshefte für Zeitgeschichte (ภาษาเยอรมัน). 47 (3): 385. ISSN 2196-7121. เก็บ (PDF)จากแหล่งเดิมเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2022. „T4" als Kürzel für „Tiergartenstraße 4", die Berliner Adresse der Dienststelle, welche die nationalsozialistische Krankenmordaktion organisierte. „T4" war keine Tarnbezeichnung, sondern ist eine erst nach 1945 in den Strafverfahren und in der Historiographie verwandte Abkürzung.
  175. Hitler, Adolf (1961). Hitler's Secret Book. New York: Grove Press. pp. 8–9, 17–18. ISBN 978-0-394-62003-9. OCLC 9830111. Sparta must be regarded as the first Völkisch State. The exposure of the sick, weak, deformed children, in short, their destruction, was more decent and in truth a thousand times more humane than the wretched insanity of our day which preserves the most pathological subject.
  176. Hawkins, Mike (1997). Social Darwinism in European and American Thought, 1860–1945: nature as model and nature as threat. Cambridge University Press. p. 276. ISBN 978-0-521-57434-1. OCLC 34705047.
  177. Lusane, Clarence (2002). Hitler's Black Victims: The Historical Experiences of Afro-Germans, European Blacks, Africans, and African Americans in the Nazi Era. Routledge. pp. 112–113, 189. ISBN 9780415932950.
  178. Rigg, Bryan Mark (2004). Hitler's Jewish Soldiers: The Untold Story Of Nazi Racial Laws And Men Of Jewish Descent In The German Military. University Press of Kansas. ISBN 978-0700613588.
  179. Evans 2005, p. 507.
  180. Longerich 2015, p. 5.
  181. วิลเลียม แอล. ไชเรอร์ (William L. Shirer) นักข่าวที่ทำงานในเบอรลินระหว่างคริสต์ทศวรรษ 1930 และรู้จักกับเกิบเบิลส์ได้เขียนไว้ในหนังสือของเขา The Rise and Fall of the Third Reich (ค.ศ. 1960) ว่าความผิดรูปนั้นเกิดจากโรคกระดูกติดเชื้อ (osteomyelitis) ในวัยเด็ก และการผ่าตัดแก้ไขที่ล้มเหลว
  182. Maxwell, Anne (2010) [2008]. Picture Imperfect: Photography and Eugenics, 1870–1940. Eastbourne, England; Portland, OR: Sussex Academic Press. p. 150. ISBN 9781845194154.
  183. Cornwell, John (2004). "5. The 'Science' of Racial Hygiene | Racial Hygiene after the First War". Hitler's Scientists: Science, War, and the Devil's Pact. Penguin. ISBN 9781101640159.
  184. Hund, Wulf D.; Koller, Christian; Zimmermann, Moshe, บ.ก. (2011). Racisms Made in Germany. Racism analysis: Yearbook. Vol. 2. LIT Verlag Münster. p. 19. ISBN 9783643901255.
  185. 185.0 185.1 Weinreich, Max (1999). Hitler's Professors: The Part of Scholarship in Germany's Crimes Against the Jewish People. Yale University Press. p. 111. ISBN 9780300053876.
  186. 186.0 186.1 186.2 Steinweis 2008, p. 28.
  187. Steinweis 2008, pp. 31–32.
  188. Steinweis 2008, p. 29.
  189. Mineau 2004, pp. 34–36.
  190. Weiss-Wendt, Anton (2010). Eradicating Differences: The Treatment of Minorities in Nazi-Dominated Europe. Cambridge Scholars Publishing. p. 63. ISBN 978-1443824491.
  191. Lower, Wendy (2005). Nazi Empire-building and the Holocaust In Ukraine. The University of North Carolina Press. p. 27. ISBN 9780807829608.
  192. Perry, Marvin (2012). Western Civilization: A Brief History. Cengage Learning. p. 468. ISBN 9781133714170.
  193. Bendersky 2007, pp. 161–162.
  194. Davies, Norman (2008). Europe at War 1939–1945: No Simple Victory. Pan Macmillan. pp. 167, 209. ISBN 9780330472296.
  195. Koenigsberg, Richard A. (2009). Nations have the Right to Kill: Hitler, the Holocaust, and War. นิวยอร์ก: Library of Social Science. p. 2. ISBN 978-0915042234. S2CID 159085948.
  196. Goebbels, Joseph; Mjölnir (1932), Die verfluchten Hakenkreuzler. Etwas zum Nachdenken [Those Damned Nazis] (ภาษาอังกฤษ), แปลโดย Bytwerk, Randall, มิวนิก: Franz Eher Nachfolger, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2022 – โดยทาง German Propaganda Archive
  197. Mason 1993, p. 6.
  198. 198.0 198.1 Mason 1993, p. 7.
  199. Bendersky 1985, p. 40.
  200. Fritz, Stephen (1997). Frontsoldaten: The German Soldier in World War II. University Press of Kentucky. ISBN 9780813109435.
  201. Bendersky 1985, p. 48.
  202. 202.0 202.1 Nicholls 2000b, p. 245.
  203. Grunberger, Richard (1971a). A Social History of the Third Reich. ลอนดอน: Weidenfeld and Nicolson. pp. 167, 175–176. ISBN 9780297002949.
  204. Lüdtke, Alf (1994). "The 'Honor of Labor': Industrial Workers and the Power of Symbols under National Socialism". ใน Crew, David F. (บ.ก.). Nazism and German Society, 1933–1945. นิวยอร์ก: Routledge. pp. 67–109. ISBN 9780415082402.
  205. Grunberger 1971b, p. 46.
  206. Burleigh 2000, pp. 76–77.
  207. Mason 1993, pp. 48–50.
  208. 208.0 208.1 Mason 1993, p. 49.
  209. Mason 1993, p. 44: "promised to side with the middle classes and to confront the economic and political power of the working class."
  210. Burleigh 2000, p. 77.
  211. Mason 1993, p. 48: "Hitler had nothing but slogans to offer the working class."
  212. Fischer, Conan, บ.ก. (1996). The rise of national socialism and the working classes in Weimar Germany. Berghahn Books. ISBN 978-1-57181-915-4.
  213. Mühlberger, Detlef (1980). The sociology of the NSDAP: The question of working-class membership. Journal of Contemporary History. Vol. 15. p. 493–511. doi:10.1177/002200948001500306. S2CID 143874149.
  214. Fritz 1997, p. 210.
  215. Tooze 2008, p. 143.
  216. Spielvogel, Jackson J. (2016). Hitler and Nazi Germany: A History. Routledge. ISBN 9781315509174. OCLC 962355777.
  217. Beck, Hermann (2016). "The Antibourgeois Character of National Socialism". The Journal of Modern History. The University of Chicago Press. 88 (3): 572–609. doi:10.1086/687528. S2CID 157869544. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2021.
  218. Steele, David Ramsay (2001). "The Mystery of Fascism". Liberty Magazine. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2022.
  219. Bridenthal, Renate; Koonz, Claudia (1984). "Beyond Kinder, Küche, Kirche: Weimar Women in Politics and Work". ใน Bridenthal, Renate; และคณะ (บ.ก.). When Biology Became Destiny in Weimar and Nazi Germany. นิวยอร์ก: Monthly Review Press. pp. 33–65. ISBN 9780853456421. OCLC 11159823.
  220. Koonz 1988, pp. 53–59.
  221. Domarus, Max, บ.ก. (1962). "Hitler on 23 November 1937". Triumph. Hitler: Reden und Proklamationen, 1932–1945. Vol. 1. เวือทซ์บวร์ค: Verlagsdruckerei Schmidt. p. 452.
  222. ฮิตเลอร์ปราศรัยต่อสภาของสตรีชาติสังคมนิยม เผยแพร่ใน Völkischer Beobachter เมื่อวันที่ 15 กันยายน ค.ศ. 1935 (Wiener Library Clipping Collection) อ้างอิงจาก Mosse 2003, p. 40
  223. Koonz 1988, pp. 149, 185–187.
  224. Stephenson 2001, pp. 37–40.
  225. เกอร์ดา บอร์มัน (Gerda Bormann) กังวลถึงสัดส่วนของผู้หญิงที่มีคุณค่าทางเชื้อชาติซึ่งมีจำนวนมากกว่าผู้ชาย และเธอคิดว่าสงครามจะทำให้สถานการณ์ของปริมาณสูติกรรมแย่ลงกว่าเดิม มากเสียจนเธอสนับสนุนให้มีกฎหมาย (กฎหมายไม่เคยออกมา) ซึ่งอนุญาตให้ผู้ชายชาวอารยันที่สุขภาพดีสามารถมีภรรยาสองคนได้ ดูที่ Sigmund 2000, pp. 17–19
  226. Sigmund 2000, p. 17.
  227. ฮิมเลอร์คิดไว้ว่าจะให้สมาชิกเอ็สเอ็สเป็นคนทำหน้าที่นี้ ดูที่: Kersten, Felix (1952). Totenkopf und Treue. Aus den Tagebuchblättern des finnischen Medizinalrats Felix Kersten. ฮัมบวร์ค: Mölich Verlag. pp. 228–229. OCLC 4350496. OL 17782438M.
  228. 228.0 228.1 Rupp, Leila J. (1978). Mobilizing Women for War: German and American Propaganda, 1939–1945. Princeton University Press. ISBN 978-0-691-04649-5.
  229. Boak, Helen (5 มิถุนายน 2012). Nazi policies on German women during the Second World War – Lessons learned from the First World War?. From Voronezh to Stalingrad. pp. 4–5. hdl:2299/11781.
  230. Gellately, Robert (2001). Backing Hitler: Consent and Coercion in Nazi Germany. Oxford University Press. p. 155. ISBN 978-0-19-160452-2. who has sexual relations with a German man or woman, or approaches them in any other improper manner, will be punished by death
  231. Friedmann, Jan (21 มกราคม 2010). "The 'Dishonorable' German Girls: The Forgotten Persecution of Women in World War II". Der Spiegel. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2022. สืบค้นเมื่อ 21 มกราคม 2010. Fellow Germans who engage in sexual relations with male or female civil workers of the Polish nationality, commit other immoral acts or engage in love affairs shall be arrested immediately.
  232. Gellately, Robert (1990). The Gestapo and German Society: Enforcing Racial Policy, 1933–1945. Clarendon Press. p. 224. ISBN 978-0-19-820297-4.
  233. Evans, Richard J. (2012). The Third Reich at War: How the Nazis Led Germany from Conquest to Disaster. Penguin Books Limited. p. 355. ISBN 978-0-14-191755-9.
  234. Majer 2003, p. 369.
  235. Majer 2003, pp. 331–32.
  236. Stephenson 2001, p. 156.
  237. Longerich, Peter (2012). Heinrich Himmler: A Life. Oxford University Press. p. 475. ISBN 978-0-19-959232-6. every POW who has relations with a German girl or a German would be shot [...] having her hair shorn and being sent to a concentration camp
  238. Fink, Fritz; Streicher, Julius (1937), Die Judenfrage im Unterricht [The Jewish Question in Education] (ภาษาอังกฤษ), แปลโดย Bytwerk, Randall, เนือร์นแบร์ค: Stürmerverlag, เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 ตุลาคม 2022 – โดยทาง German Propaganda Archive
  239. Plant 1986, p. 99: "We must exterminate these people root and branch ... the homosexual must be eliminated"
  240. Pretzel, Andreas (2005). "Vom Staatsfeind zum Volksfeind. Zur Radikalisierung der Homosexuellenverfolgung im Zusammenwirken von Polizei und Justiz". ใน Zur Nieden, Susanne (บ.ก.). Homosexualität und Staatsräson. Männlichkeit, Homophobie und Politik in Deutschland 1900–1945. Frankfurt/M.: Campus Verlag. p. 236. ISBN 978-3-593-37749-0.
  241. Bennetto, Jason (22 ตุลาคม 2011). "Holocaust: Gay activists press for German apology". ดิอินดีเพ็นเดนต์. เก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 18 มิถุนายน 2022. สืบค้นเมื่อ 21 พฤษภาคม 2021.
  242. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ international
  243. Plant 1988.
  244. Neander, Biedron. "Homosexuals. A Separate Category of Prisoners". Auschwitz-Birkenau Memorial and Museum. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 14 มกราคม 2014. สืบค้นเมื่อ 10 สิงหาคม 2013.
  245. Noakes, J.; Pridham, G. (1974). Documents on Nazism, 1919–1945. ลอนดอน. ISBN 0224009079.
  246. 246.0 246.1 McNab 2009, p. 182.
  247. 247.0 247.1 Redles, David (2005). Hitler's Millennial Reich: Apocalyptic Belief and the Search for Salvation. นิวยอร์ก; ลอนดอน: New York University Press. p. 60. ISBN 0-8147-7524-1.
  248. งานวิชาการถึงอิทธิพลซึ่งศาสตรนิพนธ์ ค.ศ. 1543 ของมาร์ติน ลูเทอร์ "ว่าด้วยยิวและคำโกหกของเขา" มีต่อเจตคติของเยอรมนี ดูที่:
    • Wallmann, Johannes (1987). "The Reception of Luther's Writings on the Jews from the Reformation to the End of the 19th Century". Lutheran Quarterly. 1 (1): 72–97. ISSN 0024-7499. The assertion that Luther's expressions of anti-Jewish sentiment have been of major and persistent influence in the centuries after the Reformation, and that there exists a continuity between Protestant anti-Judaism and modern racially oriented anti-Semitism, is at present wide-spread in the literature; since the Second World War it has understandably become the prevailing opinion.
    • Michael, Robert (2006). "The Germanies from Luther to Hitler". Holy Hatred: Christianity, Antisemitism, and the Holocaust. [[]]New York: Palgrave Macmillan. pp. 105–151. ISBN 9780230601987.
    • Hillerbrand, Hans J. (2007). "Martin Luther". สารานุกรมบริแทนนิกา. [H]is strident pronouncements against the Jews, especially toward the end of his life, have raised the question of whether Luther significantly encouraged the development of German anti-Semitism. Although many scholars have taken this view, this perspective puts far too much emphasis on Luther and not enough on the larger peculiarities of German history.
  249. Ellis, Marc H. (2004). "Hitler and the Holocaust, Christian Anti-Semitism". Baylor University Center for American and Jewish Studies. p. 14. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 10 กรกฎาคม 2007. และดูเพิ่มที่ Nuremberg Trial Proceedings. Avalon Project (Report). Vol. 12. Yale Law School. 19 เมษายน 1946. p. 318. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 21 มีนาคม 2006.

บรรณานุกรม

แหล่งข้อมูลอื่น