ข้ามไปเนื้อหา

เหตุการณ์รถตู้สาธารณะถูกชนบนทางยกระดับอุตราภิมุข พ.ศ. 2553

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
เหตุการณ์รถตู้สาธารณะถูกชนบนทางยกระดับอุตราภิมุข พ.ศ. 2553
เอกสารแถลงการณ์ถึงเหตุการณ์ ของสภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
แผนที่
จุดเกิดเหตุ
รายละเอียด
วันที่27 ธันวาคม พ.ศ. 2553
ราว 21.30 เวลาประเทศไทย (UTC+07:00) [1]
สถานที่ไทย ทางยกระดับอุตราภิมุข ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31
แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร
พิกัด13°51′13″N 100°33′54″E / 13.853606°N 100.564996°E / 13.853606; 100.564996
สายสาย ต.118
(มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กับสถานีหมอชิต)
จำนวน
ยานยนต์
ผู้โดยสาร15 [1]
เสียชีวิต9 [2] [3]
บาดเจ็บ6 [3]
แผนที่เส้นทาง
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
ขึ้นทางด่วน และวิ่งบนทางยกระดับอุตราภิมุข
ทางยกระดับอุตราภิมุข
บริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ด้านถนนวิภาวดี
ลงทางด่วน
โรงเรียนหอวัง
BTS สถานีหมอชิต

เหตุการณ์รถตู้สาธารณะถูกชนบนทางยกระดับอุตราภิมุข พ.ศ. 2553 เป็นอุบัติเหตุบนท้องถนน เกิดขึ้นในคืนวันที่ 27 ธันวาคม 2553 เมื่อรถยนต์นั่งส่วนบุคคล สีขาว ยี่ห้อฮอนด้า ซีวิค ขับโดย อรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ชื่อเล่นว่า แพรวา อายุ 17 ปี[4] แล่นมาด้วยความเร็ว พุ่งเข้าชนท้ายรถตู้สาธารณะ สีขาว ยี่ห้อโตโยต้า ไฮเอซ บนทางยกระดับอุตราภิมุขเส้นทางระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กับสถานีหมอชิต (สาย ต.118) ซึ่งมีผู้โดยสาร 14 คน ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ[1] เป็นเหตุให้รถตู้คันดังกล่าวฟาดกับขอบทางยกระดับอุตราภิมุขอย่างแรง มีผู้โดยสารกระเด็นออกจากรถ เบื้องต้นเสียชีวิต 8 คน บาดเจ็บอีก 6 คน[5][6] ต่อมา ผู้บาดเจ็บเสียชีวิตลงอีก 1 คน รวมจำนวนผู้โดยสารเสียชีวิต 9 คน และบาดเจ็บ 5 คน[7] ส่วนอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา บาดเจ็บเล็กน้อย[1]

อุบัติเหตุครั้งนี้สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในด้านลบต่ออรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา อย่างกว้างขวางในสังคมออนไลน์ ขณะที่ชาวเน็ตบางกลุ่มเรียกร้องให้รัฐดำเนินกระบวนการยุติธรรมเกี่ยวกับอุบัติเหตุครั้งนี้อย่างโปร่งใสและเป็นกลาง[8] อีกทั้งยังส่งผลให้รัฐพิจารณาออกกฎระเบียบบังคับให้ผู้โดยสารรถสาธารณะต้องคาดเข็มขัดนิรภัยทุกคนด้วย[9]

สำหรับคดีอาญา ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางสั่งโทษจำคุกให้รอลงอาญา 3 ปี คุมประพฤติ 3 ปี และห้ามขับรถจนอายุ 25 ปีบริบูรณ์ ส่วนคดีแพ่ง ศาลฎีกาสั่งให้ชดใช้รวมประมาณ 26 ล้านบาท[10]

เดือนกรกฎาคม 2562 เหตุการณ์ดังกล่าวกลับมามีชื่อเสียงอีกครั้ง หลังญาติผู้เสียชีวิตไปออกรายการ "ถามตรง ๆ กับ จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์" และว่า พวกตนยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยาจากผู้ก่อเหตุ[10]

วันที่ 6 สิงหาคม 2562 เวลา 09.00 น. นายเดชา กิตติวิทยานันท์ ทนายความ พร้อม หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย ผู้รับมอบอำนาจจากครอบ ครอบครัวนางสาวอรชร  เทพหัสดิน ณ อยุธยา นำแคชเชียร์เช็คจำนวน 41,755,050.79 บาท พร้อมเงินค่าทำเนียบศาล 20,000 บาท มาวางต่อศาลแพ่ง ถ.รัชดา  ตามคำพิพากษาศาลฎีกา เพื่อชดใช้ค่าเสียหายแก่ครอบครัวผู้ประสบเหตุ จากอุบัติเหตุเมื่อปี 2553 กรรชัย เปิดเผยว่าเพื่อให้เรื่องนี้ได้จบสิ้น เนื่องจากคดีมีความยืดเยื้อมานานมาก สมควรแก่การเวลาที่ญาติฝั่งผู้เสียหาย ทั้งผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บได้รับการเยียวยา ก่อนหน้านี้ตนเองได้รับโฉนดมาจากครอบครัวของแพรวา เพื่อเป็นตัวกลางในการจำหน่ายแต่กก็ติดขัดเรื่อยมา กระทั่งครอบครัวแพรวาตัดสินใจยืมเงินจากญาติพี่-น้อง จนได้ตามจำนวนกว่า 41 ล้านบาทนำมากับศาลในวันนี้ แต่ยังขาดเงินอีกว่า 8 แสนบาทเนื่องจากเข้าใจตัวเลขคาดเคลื่อน ซึ่งภายใน 2-3 วันนี้จะนำเงินมาวางเพิ่มเติมให้ครบ ยืนวันทุกอย่างจะดำเนินการเสร็จสิ้นภายในวันที่ 28 สิงหาคม ส่วนสาเหตุที่ก่อนหน้านี้ครอบครัวแพรวาไม่ใช้วิธีการกู้ยืมเงินเพื่อเยียวค่าเสียหายเนื่องจากเป็นเรื่องของกระบวนการทางกฎหมายที่อยู่ในช่วงต่อสู้ทางคดีทำให้ตัวเลขของเงินเยียวยาของแต่ละศาลไม่เท่ากัน[11] โดยข่าวหลายสำนักได้เผนแพร่ข่าวโดยประมาณว่าทางครอบครัวนางสาวอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยาประกาศขายที่ดินเพื่อหาเงินมาชดใช้ค่าเสียหายแต่เนื่องจากที่ดินมีมูลค่าสูงจึงหาคนมาซื้อยากทำให้คดีต้องยืดเยื้อและเป็นที่กังขาของสังคมมาหลายปี

การชน

[แก้]

วันที่ 27 ธันวาคม 2553 ราว 21:00 นาฬิกา รถคันข้างต้นได้รับผู้โดยสาร 14 คนจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ที่เลิกเรียนและเลิกงานจะกลับบ้านก่อนวันหยุดยาวช่วงขึ้นปีใหม่[1] ปลายทางของรถตู้คือสถานีหมอชิต เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร[1]

ครั้นมาถึงทางยกระดับอุตราภิมุข ซึ่งอยู่สูง 20 เมตรเหนือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ติดต่อกับสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และบริษัทยาคูลท์ (ประเทศไทย) จำกัด แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร[1][12] รถยนต์นั่งส่วนบุคคลของอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ได้วิ่งมาด้วยความเร็ว พุ่งเข้าชนท้ายรถตู้ รถตู้จึงเสียหลัก พลิกคว่ำไปชนขอบกั้นคอนกรีตของทางยกระดับอุตราภิมุข และฟาดกับเสาไฟฟ้า ก่อนคว่ำลงกับพื้นในลักษณะตะแคง กระจกแตก และประตูเปิดออก[13] แรงเหวี่ยงส่งผลให้ผู้โดยสารบางส่วนกระเด็นจากรถ กระแทกพื้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 บางส่วนปลิวตกลงคลองของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มี 1 คนกระเด็นไปกระแทกสะพานลอยใต้ทางยกระดับอุตราภิมุขเสียชีวิตและศพเกี่ยวห้อยอยู่ ณ ที่นั้น ขณะที่อีกส่วนคาอยู่ในรถตู้[1][14]

เวลา 21:41 นาฬิกา พันตำรวจโท ฉัตรชัย เอี่ยมอ่อง สารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลวิภาวดีรังสิต รับรายงานเหตุ จึงนำกำลังไปตรวจสอบ และสั่งปิดการจราจรบนทางยกระดับอุตราภิมุข ตลอดจนบริเวณทางคู่ขนานขาเข้าทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 ตั้งแต่หน้าบริษัทยาคูลท์ ไปจนถึงสี่แยกบางเขน[12][15] บนทางยกระดับอุตราภิมุข เขาพบรถรรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา จอดอยู่กลางถนน หน้ารถพังยับเยิน และล้อหลุด ส่วนอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา พิงขอบทางยกระดับอุตราภิมุข ใช้แบล็กเบอร์รีอยู่ข้าง ๆ[16] และพบรถตู้ที่ประสบเหตุ กำลังพลิกคว่ำ สภาพท้ายรถพังยับเยิน[1] นอกจากนี้ เขายังพบศพกระจายเกลื่อนอยู่บนทางคู่ขนาน ตั้งแต่หน้าหน้าสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ มาถึงประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นับได้ทั้งหมด 8 ศพ ส่วนผู้บาดเจ็บมี 7 คน รวมอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ด้วยแล้ว เจ้าหน้าที่และพลเมืองดีได้ช่วยกันนำส่งโรงพยาบาลวิภาวดีที่อยู่ใกล้เคียง[14] ต่อมา จันจิรา ซิมกระโทก ผู้บาดเจ็บ ตายลงอีก 1 จำนวนผู้ประสบเหตุจึงเปลี่ยนแปลงเป็น เสียชีวิต 9 คน บาดเจ็บ 6 คน[7]

เมื่อทราบข่าวแล้ว ค่ำวันนั้น นักศึกษาและอาจารย์จำนวนหนึ่งของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งรวมถึงปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เดินทางเข้าเยี่ยมผู้บาดเจ็บที่โรงพยาบาลวิภาวดี และเวลาเดียวกัน เจ้าหน้าที่จากกรมทางหลวงก็ทำความสะอาดพื้นที่เกิดเหตุ[17] ครั้นวันรุ่งขึ้น เวลา 11:00 นาฬิกา พลโท พร้อมพงศ์ พีระบูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิภาวดี แถลงข่าวว่า ให้ส่งผู้บาดเจ็บที่เป็นนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติได้ ผู้บาดเจ็บส่วนใหญ่อาการสาหัสและต้องรักษาพยาบาลด้วยการผ่าตัด ส่วนอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เพียงปากและข้อศอกแตก[16] แพทย์รักษาพยาบาลแล้วก็ให้กลับได้[18] บ่ายวันเดียวกัน ที่สถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ญาติมิตรของผู้เสียชีวิตทั้ง 8 ทยอยเดินทางมารับศพไปจัดการต่อไป[16]

ผู้ประสบเหตุ

[แก้]

ผู้เสียชีวิต

[แก้]
ลำดับที่ ชื่อ อายุ (ปี) อาชีพ หรือความเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ สาเหตุการเสียชีวิต
1. เกียรติมันต์ รอดอารีย์[19] 23[20] นักศึกษา สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์[21]
2. จันจิรา ซิมกระโทก[7] 22[3] นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[3] • เดิมบาดเจ็บ กระดูกหักเกือบทั้งตัว โดยเฉพาะที่เชิงกราน ทรวงอก และซี่โครงซ้าย ศีรษะยังถูกกระแทก สมองบวมมาก และไม่รู้สึกตัว[16]
• ต้องผ่าตัดสมอง ให้เลือด และใส่เครื่องช่วยหายใจ อยู่หน่วยอภิบาล แพทย์แถลงว่าเป็นตายมีโอกาสเท่ากัน[18]
• ต่อมาเสียชีวิตในวันที่ 30 ธันวาคม 2553[7]
3. ตรอง สุดธนกิจ[20] 24[22] รัฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[22]
4. นฤมล ปิตตาทะนัง[1] 38[22] คนขับรถตู้คันประสบเหตุ[22]
5. ปรัชญา คันธา[1] 21[23] นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[22]
6. ภิญโญ จินันทุยา[1] 34[23] ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหารจัดการเทคโนโลยีและสารสนเทศ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[20]
7. ศาสตรา เช้าเที่ยง[22] 33[20] นักวิจัย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ[22] หนังสือพิมพ์ไทยรัฐพรรณนาสภาพศพของเขาว่า "...ค้างอยู่บนสะพานลอยคนข้าม สภาพกะโหลกศีรษะเปิด เศษสมองร่วงไหลหล่นลงมาบนพื้นถนน เจ้าหน้าที่กู้ภัยต้องใช้เชือกผูกไว้ กันร่างไร้วิญญาณร่วงหล่นลงมา..."[14]
8. สุดาวดี นิลวรรณ[1] 20[20] นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[1]
9. อุกฤษฎ์ รัตนโฉมศรี[1] 30[23] ผู้ช่วยนักวิจัย ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ[20]

ผู้บาดเจ็บ

[แก้]
ลำดับที่ ชื่อ อายุ (ปี) อาชีพ หรือความเกี่ยวข้องในเหตุการณ์ อาการเจ็บ
1. กันณภัส ปัญญาประเสริฐ[15] 23[15] นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ • มีบาดแผลทั่วกาย และปวดหลัง ส่งต่อยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ[16]
• บาดแผลตกสะเก็ดและดีขึ้นตามลำดับ ต้องเข้าเฝือกที่ขาขวา แพทย์ให้รักษาตัวอย่างน้อย 6 สัปดาห์ ก่อนให้ทำกายภาพบำบัด และหัดเดิน[24]
2. มูฮัมหมัด ชารีฟ[18] หรือ
โมฮัมเหม็ด ซาคีป[24]
31[15] นักศึกษาสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย[24] • มีแผลที่เท้าและเข่า นิ้วก้อยเท้าแตก กระดูกที่เข่าขวาซ้อนทับกัน[16]
• เอกซเรย์กระดูก ผ่าตัดรักษา ดึงกระดูกคืนเดิม แต่ยังไม่สามารถเดินได้ ต้องใช้ไม้ค้ำยันประมาณ 25 วัน จึงเข้าสู่ภาวะปรกติ[24]
3. วรัญญู เกตุชู[15] 20[15] นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ และเลขาธิการองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ • ไหปลาร้าซ้ายหัก หัวเข่าแตก ผ่าตัดรักษา และส่งต่อยังโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ[16]
• เข้าเฝือกที่เข่าซ้าย แพทย์ให้หัดเดินใหม่[24]
4. วิศรุต พลสิทธิ์[15] 35[15] ผู้ช่วยนักวิจัย ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ[15] ปวด และมีแผลถลอกตามตัว ปฐมพยาบาล แล้วให้กลับได้[16]
5. สุนทร ปิตตาทะนัง[25] 44[25] สามีของคนขับรถตู้ หัวแตก หัวไหล่ซ้ายเคลื่อน เย็บแผลและรักษาให้ และปลอดภัยแล้ว[16]
6. อรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา 17[4] คนขับรถยนต์นั่งส่วนบุคคลผู้ก่อเหตุ ปากและข้อศอกแตก รักษาพยาบาลแล้ว ให้กลับได้ในวันที่ 28 ธันวาคม 2553[18] [16]

สถิติ

[แก้]

ผู้ประสบเหตุทั้งหมดสิบห้าคน ซึ่งรวม อรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยาแล้ว หาก

การสอบสวนและดำเนินคดี

[แก้]

วันที่ 28 ธันวาคม 2553 เวลา 10:00 นาฬิกา พันตำรวจโท ฉัตรชัย เอี่ยมอ่อง แถลงข่าวว่า เบื้องต้น ได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิด พบว่าสามารถบันทึกภาพช่วงที่เกิดเหตุได้[16] โดยปรากฏว่า[1]

...รถตู้วิ่งอยู่เลนกลางด้วยความเร็วประมาณแปดสิบ กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถเก๋งซีวิควิ่งตามหลังมาด้วยความเร็วสูง แล้วเกิดเปลี่ยนเลน [ช่องทาง] ไปทางขวากะทันหัน ทำให้ด้านหน้ารถเก๋งชนท้ายขวาของรถตู้อย่างแรง...รถตู้หมุนหัวรถหันไปทาง ด้านซ้าย...รถเก๋งซึ่งเสียหลักก็หมุนเช่นกัน ส่งผลให้ด้านข้างขวาของรถเก๋งกระแทกซ้ำเข้าไปที่ด้านซ้ายของรถตู้อย่างจัง ผลจากการชนซ้ำทำให้รถตู้กระแทกเข้าไปที่ขอบปูนอย่างรุนแรง จนด้านหน้าของรถตู้ฉีกขาด ทำให้ผู้โดยสารที่อยู่ภายในหลุดกระเด็นออกมา...ช่วงระยะเวลาที่เกิดเหตุนั้น รวมเพียงแค่ห้าถึงหกวินาทีเท่านั้น...

ภาพยังปรากฏอีกว่า เมื่อรถตู้ถูกชน มีจังหวะหนึ่งผู้โดยสารกระเด็นออกจากรถตู้ขึ้นสู่อากาศกว่าเจ็ดสิบเมตร[26]

พันตำรวจโท ฉัตรชัย เอี่ยมอ่อง ระบุด้วยว่า สอบสวนอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ผู้ก่อเหตุ เบื้องต้นแล้ว พบว่าเป็นบุตรของ พันเอก รัฐชัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา, เป็นน้องสาวของ ณัฏฐ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา นักแสดงวัยรุ่น[15] กับทั้งเป็นหลานของ วรัญญู เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคไทยรักไทย และ กนก เทพหัสดิน ณ อยุธยา เจ้าของนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี[27][28] เนื่องจากอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา มีอายุเพียงสิบเจ็ดปี ย่อมปรากฏชัดว่า ขับรถโดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ ซึ่งจะออกให้สำหรับบุคคลอายุสิบแปดปีขึ้นไปเท่านั้น แต่เด็กอายุสิบเจ็ดปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 แล้ว ไม่อาจรับโทษได้เต็มที่ เขาจึงตัดสินใจยังไม่แจ้งข้อกล่าวหาแก่เธอในเวลานี้[26] แต่จะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยพัฒนาการจราจร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และจากศูนย์ความปลอดภัย กระทรวงคมนาคม มาร่วมหาปัจจัยในเชิงลึกของเหตุการณ์นี้เพื่อปฏิบัติการสอบสวนตามกฎหมายเสียก่อน[1]

โอกาสเดียวกัน พลตำรวจตรี ภาณุ เกิดลาภผล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ด้านการจราจร ว่า เขาได้ดูภาพจากกล้องวงจรปิดแล้วเช่นกัน พบว่ารถยนต์นั่งส่วนบุคคลของอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ขับมาชนรถตู้อย่างกระชั้น โดยเขาใช้คำว่า "สะกิดรถตู้ให้เสียหลัก"[29] ขณะที่สมบัติ วงศ์กำแหง โฆษกสภาทนายความ ว่า "...คนขับรถตู้มีความผิดชัดเจนอยู่แล้ว แต่คนขับเสียชีวิตด้านอาญาไม่ต้องรับผิดชอบ แต่ทางแพ่งยังคงต้องรับผิดชอบ โดยผู้เสียหายหรือญาติสามารถฟ้องร้องจากเจ้าของรถตู้ หรือถ้าผู้ตายเป็นเจ้าของก็สามารถฟ้องร้องนำทรัพย์สินมาชดใช้เป็นค่าเสียหาย ได้ ส่วนรถเก๋งก็ต้องรับผิดชอบด้วยเหมือนกัน แต่จะต้องรับผิดชอบทั้งอาญาและแพ่ง..." เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นหนึ่งที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เป็นอันมากในสังคม ออนไลน์[30][31]

วันที่ 30 ธันวาคม 2553 พลตำรวจตรี อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ว่า เจ้าพนักงานตำรวจได้หมายเรียกอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ให้มาที่สถานีตำรวจนครบาลวิภาวดีในวันที่ 5 มกราคม 2554 เวลา 12.00 น. เพื่อถามปากคำ หากไม่มาตามหมาย ก็จะขอให้ศาลหมายจับต่อไป และที่มีข่าวว่า อรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยาเตรียมหลบหนีออกนอกประเทศนั้น ทางตำรวจได้ประสานกับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองประจำทุกจุดผ่านแดนให้เตรียมสะกัดไว้แล้ว[7] เขายังสำทับด้วยว่า เตรียมตั้งข้อกล่าวหาอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ว่ากระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิตและบาดเจ็บ และขับขี่รถยนต์ โดยไม่มีใบอนุญาตขับขี่[22]

วันที่ 1 มกราคม 2554 อรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ลงลายมือชื่อรับทราบหมายเรียก[32][33] หลังถามปากคำแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจส่งอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ไปให้สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนควบคุมตัวต่อ ให้บิดามารดาขอสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนปล่อยเธอชั่วคราวเอง[34]

วันที่ 31 สิงหาคม 2555 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง สนามหลวง อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 1233/2554 ลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและทำให้ทรัพย์สินเสียหายเป็นเวลา 3 ปี คำให้การในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกเป็นเวลา 2 ปี โทษจำคุกให้รอลงอาญาเป็นเวลา 3 ปี คุมประพฤติจำเลย 3 ปี และให้รายงานตัวทุก 3 เดือน ให้ทำงานบริการสังคมโดยการดูแลผู้ป่วยจากอุบัติเหตุเป็นเวลา 48 ชั่วโมง และห้ามจำเลยขับรถยนต์จนกว่าจะมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์ ส่วนความผิดฐานใช้โทรศัพท์ขณะขับรถ ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากไม่สามารถนำสืบได้ว่าจำเลยใช้โทรศัพท์จริงหรือไม่ เพราะอยู่ในรถ[35]

การตอบสนอง

[แก้]

การตอบสนองในสังคมออนไลน์

[แก้]

อุบัติเหตุครั้งนี้ กลายเป็นประเด็นสนทนาเป็นอันมากในสังคมออนไลน์ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่พยายามค้นหาประวัติของอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา และส่วนใหญ่แสดงความคิดเห็นเชิงลบ รุมประณามการที่อรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ขับรถโดยประมาทและในวัยสิบเจ็ดปีเท่านั้น ตลอดจนกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจไม่ดำเนินคดี ต่างก็คาดเดากันว่า เนื่องจากอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นลูกหลานราชสกุลเทพหัสดิน จึงหลุดพ้นคดีได้[36][27] มีผู้ตั้งกระทู้ในเว็บไซต์ และตั้งหัวข้อสนทนา เป็นหลายประการ อาทิ ในพันทิปดอตคอม มีหัวข้อว่า "ขอประณามการกระทำคุณแพรวา และครอบครัว"[37], "ตกลงใครเป็นคนขับชนกันแน่...รถตู้โดนซีวิคชนท้าย คนตกทางด่วน ตายเกลื่อน"[38] และ "มาดูหลังภาพรถเก๋งและคนขับหลังจากเกิดเหตุการณ์"[39] เป็นต้น อีกประเด็นหนึ่งที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์มาก คือ กรณีที่สมบัติ วงศ์กำแหง โฆษกสภาทนายความ แถลงว่าคนขับรถตู้ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญานั้น มีผู้แสดงความคิดว่า "นายสมบัติ วงศ์กำแหง มึงดูภาพจากล้องหรือยัง ถ้ามึงขับมาดี ๆ ไม่เร็ว ขับปรกติ แล้วรถมาชนตูดมึง รถมึงหมุน ลูกมึงกระเด็นมาตายนอกรถ มึงว่ามึงผิดไหม แล้วมึงต้องจ่ายค่าเสียหายรถที่ขับมาชนตูดมึงไหม...." เป็นอาทิ[40][41]

ส่วนประชาคมธรรมศาสตร์บนเฟซบุ๊ก แสดงความคิดเห็นทำนองเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ผู้ตายซึ่งเป็นเพื่อนและอาจารย์ร่วมมหาวิทยาลัย และประสงค์ให้ตำรวจไทยกล้าหาญทำสิ่งที่ถูกต้อง ไม่เกรงกลัวอิทธิพลของราชสกุล บางคนว่า "มันช่างตลกร้าย นักกฎหมายแท้ ๆ ที่ตาย แต่คนชนกลับหลุดรอดกฎหมายไปได้...", "เด็กผู้หญิงอายุสิบเจ็ด ไม่มีใบขับขี่ ขับรถเก๋งบนทางด่วนด้วยความเร็วสูงตอนสี่ทุ่ม ผู้ปกครองปล่อยมาได้อย่างไร" และ "เด็กไม่ได้ตั้งใจ แต่มีคนเจ็บคนตายนะ เด็กควรขอโทษ พ่อแม่ครอบครัวเด็กมีฐานะ น่าจะแสดงความรับผิดชอบหรือแสดงถึงน้ำใจและความรู้สึกเสียใจต่อการกระทำของเด็กสักนิด" เป็นต้น[27][42]

การสกัดกั้นการเข้าถึง โดย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

นอกจากนี้ ในเว็บบล็อกดรามา-แอดดิกต์ดอตคอม มีการเผยแพร่บทความเรื่อง "[รายงานพิเศษ]ไฮโซแปดศพ!!" นำเสนอข้อมูลข่าวสารเชิงวิพากษ์เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนไทยที่ไม่เป็นกลางและเชื่อถือได้น้อย และเกี่ยวกับอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เอง[43] ส่วนในเฟซบุ๊กก็มีการตั้งโครงการ "มั่นใจว่าคนไทยเกินล้านคนไม่พอใจ แพรวา (อรชร) เทพหัสดิน ณ อยุธยา" มีชาวเฟซบุ๊กจำนวนมากเข้าได้ไปสนทนาในทางด่าว่าอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นข้อหยาบคายต่าง ๆ[42] ซึ่งซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง[44] โครงการดังกล่าวก็มีผู้เข้าเป็นสมาชิกถึงหนึ่งแสนแปดหมื่นคน และในเช้าวันที่ 29 ธันวาคม 2553 มีนักเลงคอมพิวเตอร์เจาะเข้าไปในเว็บไซต์ "ราชสกุลเทพหัสดิน" แล้วเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเกี่ยวกับอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เป็นว่า "ฆาตกรแพรวา เทพหัสดิน ณ วิภาวดี เก้าศพ"[45] แต่ไม่ช้า เหล่าเว็บไซต์ที่กล่าวมาก็ถูกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสกัดกั้นการเข้าถึง โดยเปลี่ยนทางไปยังหน้า "118.175.8.61 เก็บถาวร 2010-12-04 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน" อันปรากฏข้อความว่า "การเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวนี้ ถูกระงับชั่วคราว โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน" แม้อันที่จริง ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินจะสิ้นสุดลงเมื่อราวหนึ่งสัปดาห์ก่อนแล้วก็ตาม[27] เหตุการณ์นี้ยิ่งทำให้ชาวไซเบอร์ส่วนหนึ่งกล่าวหาว่า เจ้าหน้าที่บ้านเมืองไม่กล้าดำเนินคดีกับคนผิด หากแต่ช่วยปกป้องเพราะเห็นแก่ราชสกุล บ้างก็กล่าวหาว่าเจ้าหน้าที่รัฐถูกอิทธิพลครอบงำ[36]

อย่างไรก็ดี มีสมาชิกอีกกลุ่มในสังคมออนไลน์เชิญชวนให้เพื่อนสมาชิกหมั่นใช้วิจารณญาณ และระงับสติอารมณ์ บางคนแสดงความคิดเห็นว่า "เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า คนไทยจำนวนหนึ่ง จะมากน้อยไม่รู้ มีความเก็บกดทางความคิดและอารมณ์ โดยเฉพาะในประเด็นความไม่ทัดเทียมกันในสังคมที่มีให้เห็นอย่างดาษดื่น" และ "...คนส่วนใหญ่มีการศึกษาและเข้าถึงข่าวสาร แต่กลับใช้อารมณ์ตัดสินและแต่งเติม" เป็นต้น[27][42]

เวลา 19:00 นาฬิกาของวันเดียวกัน ชาวเฟซบุ๊กจากโครงการ "มั่นใจว่าคนไทยเกินล้านคนไม่พอใจ แพรวา (อรชร) เทพหัสดิน ณ อยุธยา" ข้างต้น ราวห้าสิบคน นัดรวมตัวกันและเดินเท้าจากหน้าโรงพยาบาลวิภาวดี ไปยังทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 31 ใต้ทางยกระดับอุตราภิมุขจุดเกิดเหตุ แล้วจุดเทียนไว้อาลัยแก่ผู้ตาย ทั้งกล่าวด้วยว่าจะจัดกิจกรรมเช่นนี้ต่อไปจนกว่าอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยาจะได้รับการลงโทษตามกฎหมาย มีรายงานข่าวว่า ประชาชนที่ผ่านไปมาหยุดดูด้วยความสนใจ[46]

วันที่ 30 ธันวาคม 2553 พลตำรวจตรีประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนชาวไซเบอร์ให้ระมัดระมัดในการวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์ เพราะอาจเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาได้ เนื่องจากขณะนั้น อรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ยังไม่มีสถานะเป็นผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญา[22]

อนึ่ง สถิติจากกูเกิลเจาะลึกการค้นหา เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2554 ยังพบว่า ในช่วงปลายปี 2553 ถึงวันดังกล่าว คำสำคัญที่เกี่ยวกับอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา อาทิ "อรชร เทพหัสดิน," "เทพหัสดิน ณ อยุธยา," "แพรวา อรชร" และ "น.ส.อรชร" ได้รับความนิยมใช้ค้นหาในกูเกิลมากถึงร้อยละร้อย ขณะที่คำสำคัญอย่าง "ข่าวอรชร เทพหัสดิน," "ชนรถตู้," "น.ส.อรชร," "ประวัติอรชร เทพหัสดิน" และ "แพรวา" เป็นต้น กำลังได้รับความนิยมใช้มากขึ้นโดยลำดับ ขนาดที่กูเกิลเจาะลึกการค้นหากล่าวว่าเป็น "ดาวรุ่งพุ่งแรง"[47]

การตอบสนองจากรัฐ

[แก้]
ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ออกควบคุมการให้บริการรถตู้ทันทีหลังเหตุการณ์ครั้งนี้

วันที่ 28 ธันวาคม 2553 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ออก "ประกาศมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่อง ข้อกำหนดในการให้บริการรถตู้โดยสารที่มีสถานีรับส่งผู้โดยในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2553" สาระสำคัญเป็นข้อกำหนดให้ผู้ให้บริการรถตู้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ต้องจัดให้ผู้โดยสารทุกคนคาดเข็มขัดนิรภัย ถ้ามีผู้โดยสารไม่คาด ห้ามออกรถเป็นอันขาด กับทั้งกำหนดความเร็วรถและเส้นทางของรถ ห้ามพนักงานที่เมา เมาค้าง อ่อนเพลีย หรือไม่พร้อมทำหน้าที่ เช่น เพิ่งหายป่วย หรืออดนอน ขับรถโดยเด็ดขาด ตลอดจนกำหนดให้ติดเลขหมายโทรศัพท์ของรองอธิการบดีฝ่ายบริหารทั่วไปไว้ในรถทุกคัน เพื่อให้ผู้ใช้บริการร้องเรียนได้โดยพลัน ประกาศนี้ให้ใช้บังคับทันที[36]

วันที่ 29 ธันวาคม 2553 สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ออก "แถลงการณ์สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ฉบับที่ 1) กรณีอุบัติเหตุบนดอนเมืองโทลล์เวย์เมื่อ 27 ธันวาคม 2553 ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2553" เนื้อใหญ่ใจความ เป็นการแสดงความเสียใจต่อผู้ประสบเหตุ, เรียกร้องให้อรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา แสดงความรับผิดชอบ ตลอดจน เรียกร้องให้เจ้าพนักงานตำรวจมีความกล้าหาญ ไม่เกรงกลัวอิทธิพล และเป็นกลาง

บ่ายวันนั้น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่าเกี่ยวกับประเด็นที่สัมคมออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์ถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจในคดีนี้ว่า "...ไม่มีใครอยู่เหนือกฎหมาย ไม่มีใครสิทธิพิเศษ ก็ต้องมีการติดตามคดีอย่างเต็มที่ ส่วนการบังคับใช้กฎหมาย เพราะคนขับที่เป็นต้นเหตุอายุแค่ 16 ปีนั้น...นี่แหละคือสิ่งที่เราพยายามอย่างมากขณะนี้ คือ หนึ่ง การเคารพกฎหมาย สอง ความไม่ประมาท อันนี้เป็นจุดอ่อนมาโดยตลอด และ สาม เราจะต้องเข้มงวดกวดขันมากขึ้น"[48] และกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร มีหนังสือเรียกเจ้าพนักงานตำรวจที่เกี่ยวข้องให้เข้าชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นเดียวกัน ในวันที่ 5 มกราคม 2554[49]

วันที่ 30 ธันวาคม 2553 องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดตั้ง "กลุ่มเฝ้าระวังอุบัติเหตุของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" เพื่อจับตาความปลอดภัยของชาวมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[41] ในโอกาสเดียวกัน สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงว่า[50]

"...ที่มีหลายฝ่ายเกรง ว่าผู้กระทำผิดจะรอดจากคดีนี้ เนื่องจากเป็นผู้เยาว์ และนามสกุลดังนั้น เรื่องนี้ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตั้งทีมนักกฎหมายที่ดีที่สุด ของมหาวิทยาลัยไปดูแล ประกอบด้วย รองศาสตราจารย์ ณรงค์ ใจหาญ ผู้อำนวยการศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา รวมทั้งทนายความจากศูนย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สามคน และนิติกรจากสำนักนิติการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อีกสองคน ไปช่วยดูแลคดี โดยที่ญาติ ๆ ของผู้ที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บไม่ต้องจ้างทนายความเองทั้งคดีแพ่งและ คดีอาญา..."

พลตำรวจเอกวิเชียร พจน์โพศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ได้กำชับพันตำรวจโทฉัตรชัย เอี่ยมอ่อง เจ้าของคดี ให้ตรงไปตรงมา และขอให้สังคมมั่นใจว่าคดีจะไม่เงียบหาย อนึ่ง พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ยังสั่งให้พันตำรวจโทชัยวิณ เสมาทอง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ, พันตำรวจโทวันนพ สมจินตนากุล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ 5 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และพันตำรวจโทพงศพร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสืบสวนและสะกดรอย กรมสอบสวนคดีพิเศษ เข้าติดตามการทำงานของพันตำรวจโทฉัตรชัย เอี่ยมอ่อง อย่างใกล้ชิดด้วย[50]

ในช่วงเดียวกัน กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า มีดำริจะออกกฎกระทรวงบังคับให้ผู้โดยสารรถตู้และรถประจำทางสาธารณะทั่วประเทศต้องคาดเข็มนิรภัยทุกคน ขณะที่ ปิยะพันธ์ จัมปาสุต ประธานคณะกรรมการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ขอให้กระทรวงคมนาคมทบทวนให้ดี เกรงว่าในกรณีที่เพลิงไหม้ ผู้โดยสารอาจตายคารถ เพราะปลดเข็มขัดไม่ทัน[48] เขาเห็นว่า ควรที่จะส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย มากกว่าคอยออกกฎระเบียบ[9]

รัฐยังได้อำนวยพิธีศพของผู้ตายบางคนด้วย อาทิ วันที่ 2 มกราคม 2554 เวลา 16:00 นาฬิกา อิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานพิธีศพของสุดาวี นิลวรรณ ณ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี มีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และประชาชนร่วมงานคับคั่ง เวลาเดียวกันนั้น สุเทพ โกมลภมร ผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิงศพของศาสตรา เช้าเที่ยง ณ วัดเกาะนัมมทาปทวลัญชาราม อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี[51] และในเวลาไล่เลี่ยกัน ทวีศักดิ์ กออนันต์ตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาและวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ก็เป็นประธานพิธีพระราชทานเพลิงศพของอุกฤษฏ์ รัตนโฉมศรี ณ วัดบางพระราชวรวิหาร ตำบลบางพระ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี[52]

การตอบสนองจากครอบครัวเทพหัสดิน ณ อยุธยา

[แก้]

นับแต่เกิดเหตุเป็นต้นมา อรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา และครอบครัวยังคงเก็บตัวเงียบ ในขณะที่ฝ่ายผู้เสียหายในอุบัติครั้งนี้ต่างเรียกร้องให้อรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา แสดงความรับผิดชอบบ้าง อาทิ สะโอด ซิมกระโทก บิดาของจันจิรา ซิมกระโทก ผู้ตาย ว่า "...อยากให้เจ้าหน้าที่ ตำรวจทำคดีอย่างตรงไปตรงมา...และอยากให้คู่กรณีออกมาแสดงความรับผิดชอบบ้าง ให้มีน้ำใจต่อกันบ้าง สำหรับตอนนี้ ยังไม่มีใครออกมารับผิดชอบหรือให้ความช่วยเหลืออะไรเลย" ขณะที่ปิยะวรรณ ซิมกระโทก มารดาของจันจิรา ซิมกระโทก ว่า "...ตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครออกมาแสดงความรับผิดชอบ ไม่ใช่เรียกร้องเรื่องเงิน แต่ให้คนที่เกี่ยวข้องออกมารับผิดชอบบ้าง แค่แสดงความเสียใจก็ยังดี แต่ถึงตอนนี้ยังไม่มีใครทำอะไรเลย"[53]

กระทั่งวันที่ 30 ธันวาคม 2553 ลัดดาวัลย์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา มารดาของอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา แถลงว่า ที่ไม่ได้แสดงความรับผิดชอบตั้งแต่แรกเริ่มนั้น เพราะต้องการให้กระแสของอารมณ์ในสังคมคลี่คลายลงเสียก่อน และยืนยันว่าจะไม่หนีไปไหน เธอยังกล่าวด้วยว่า "...ลูกสาวยอมรับว่าขับรถเร็ว เพราะจะรีบเอารถไปคืนเพื่อน รถไม่ใช่ของเรา ดิฉันไม่เคยอนุญาตให้ลูกขับรถไปข้างนอกแบบนั้น...ลูกสาวผิดแน่ที่อายุสิบเจ็ดไม่มีบัตร [ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์] แพรวารีบกดบีบี [แบล็กเบอร์รี] บอกเพื่อนว่ารถชน และถามเรื่องประกันของรถคันนี้ ไม่ใช่มัวเล่นบีบีตามที่บางท่านเข้าใจ...ถ้าน้องผิดจริง เราก็ยินดีให้น้องเข้ากระบวนการทุกอย่าง"[50]

พันเอกรัฐชัย เทพหัสดิน ณ อยุธยา บิดาของอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา กล่าวเสริมว่า "...กระแสในโซเชียลเน็ตเวิร์คที่กล่าวว่าลูกสาวเส้นใหญ่ หรือมีการปิดสื่อ ไม่โกรธที่จะมีใครคิดอย่างนั้น เพราะว่าใครเห็นนามสกุลของตระกูล ก็สามารถคิดได้ทั้งนั้น แต่ไม่เคยมีพฤติกรรมเอาเปรียบประชาชน เพราะตั้งแต่เข้ารับราชการกระทั่งลาออก ทำหน้าที่ของตัวเองอย่างดี ไม่เคยเล่นเส้นสายหรือทุจริตแต่อย่างใด..."[54] ค่ำวันเดียวกัน ครอบครัวเทพหัสดินมีหนังสือแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และอวยพรปีใหม่ตบท้าย[55] ครั้นวันถัดมา อรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ให้สัมภาษณ์ว่า จำไม่ได้ว่าวันเกิดเหตุขับรถด้วยความเร็วเท่าไร ทว่า ในคำสัมภาษณ์ช่วงหลังปรากฏถ้อยคำว่า "...ถ้าหนูไม่ขับเร็วในวันนั้น เหตุการณ์นี้ก็คงไม่เกิดขึ้น..." อรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยากล่าวด้วยว่า ที่ใช้แบล็กเบอร์รี ก็เพื่อแจ้งพวกพ้องให้ทราบถึงเหตุการณ์และเรียกบริษัทประกัน หาได้สนทนากับเพื่อน หรือเพิ่มเติมเนื้อหาในหน้าเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์ของตน แต่ประการใดไม่ และทิ้งท้ายว่า หลังเหตุการณ์เธอจะไปบวชชี[4] บ่ายวันเดียวกัน เธอและครอบครัว เดินทางไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บทั้งห้าคน พร้อมให้ขนมเปี๊ยะเป็นกำนัลคนละกล่อง[56]

วันที่ 1 มกราคม 2554 เวลา 15.00 นาฬิกา ลัดดาวัลย์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา มารดาของอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เดินทางไปยังวัดเกาะนัมมทาปทวลัญชาราม อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เพื่อขอขมาศพศาสตรา เช้าเที่ยง และกราบเท้าถวิล เช้าเที่ยง มารดาบุญธรรมของศาสตรา เช้าเที่ยง สามครั้ง พร้อมกล่าวขอโทษด้วยน้ำตานองหน้า และมอบเงินสามหมื่นบาทให้เป็นค่าปลงศพ ในโอกาสนี้ เธอยังแถลงว่าได้ประสานให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประสบเหตุทุกรายแล้ว[57] วันที่ 2 มกราคม 2554 พันตำรวจเอกศรัญ นิลวรรณ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี บิดาของสุดาวดี นิลวรรณ ผู้ตาย กล่าวว่า ไม่เคยมีใครติดต่อมา และไม่สนใจว่าใครจะติดต่อมา สิ่งเดียวที่เขาสนใจคือการเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่บุตร[51]

วันที่ 17 กรกฎาคม 2562 หลังมีข่าวว่าผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์วิจารณ์ตระกูลเทพหัสดิน ณ อยุธยา พลเอก วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขออย่าเหมารวมทั้งวงศ์ตระกูล โดยว่า "ต้นตระกูล เทพหัสดิน เป็นนามสกุลพระราชทาน และที่ผ่านมาก็มีบรรพบุรุษหลายคนที่ทำคุณงามความดีรับใช้ให้ชาติ" พร้อมว่า หากมีการพาดพิงจะฟ้องร้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550[58]

การเยียวยาความเสียหาย

[แก้]

วันที่ 29 ธันวาคม 2553 ปิยะพันธ์ จัมปาสุต ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ว่า "...ได้ตรวจสอบแล้วว่ารถตู้คันดังกล่าวเป็นรถตู้ของบริษัท สยามออโต้เซอร์วิส จัดทำประกันภัยไว้กับบริษัทนำสินประกันภัย ประเภท 1 ระยะเวลาประกันภัยตั้งแต่ 31 ธันวาคม 2552 ถึง 31 ธันวาคม 2553 โดยผู้เสียชีวิตจะได้รับค่าชดเชยจากบริษัทประกันภัยรายละสองแสนบาท และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจะได้รับค่ารักษาพยาบาลก่อนไม่เกินหนึ่งแสนบาท..." วันถัดมา จันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย แถลงว่า เงินดังกล่าวเป็นเพียงเบื้องต้น และบริษัทประกันภัยได้เริ่มจ่ายให้แก่ทายาทผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บแล้ว[50]

ในโอกาสเดียวกัน บริษัทนำสินประกันภัย ว่า เงินทั้งนี้ บริษัทประกันจ่ายให้แก่ผู้ประสบเหตุ โดยไม่คำนึงว่าฝ่ายใดถูกฝ่ายใดผิด แม้เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วจะปรากฏว่าฝ่ายรถตู้ผิด ก็จะรับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมอีกไม่เกินจำนวนหนึ่งล้านบาทให้แก่ผู้ตายแต่ละคน และไม่เกินหนึ่งแสนห้าหมื่นบาทให้แก่ผู้บาดเจ็บ แต่ถ้าฝ่ายรถตู้ถูก บริษัทจะเรียกค่าสินไหมทดแทนจากอรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา ให้[59]

นอกจากนี้ สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงว่า มหาวิทยาลัยจะจ่ายเงินช่วยเหลือแก่อาจารย์ที่เสียชีวิตเป็นเงินหนึ่งแสนหกหมื่นบาทจากการประกันอุบัติเหตุกลุ่ม และอีกสามแสนบาทจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์ธรรมศาสตร์ รวมเป็นเงินสี่แสนหกหมื่นบาทต่อคน ส่วนนักศึกษาที่เสียชีวิต จะได้รับเงินหนึ่งแสนหกหมื่นบาทจากการประกันอุบัติเหตุ และอีกราวสองหมื่นถึงสามหมื่นบาทจากกองทุนของมหาวิทยาลัย รวมเป็นเงินราวหนึ่งแสนแปดหมื่นถึงหนึ่งแสนเก้าหมื่นบาทต่อคน[60] เย็นวันเดียวกันนั้น ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มอบเงินช่วยเหลือของมหาวิทยาลัยให้แก่ครอบครัวของจันจิรา ซิมกระโทก ผู้เสียชีวิต จำนวนแปดหมื่นบาท เป็นค่ารักษาพยาบาลและค่าปลงศพ และจะให้เงินสามแสนหนึ่งหมื่นบาทอีกภายหลัง[7]

เชิงอรรถ

[แก้]
  1. 1.00 1.01 1.02 1.03 1.04 1.05 1.06 1.07 1.08 1.09 1.10 1.11 1.12 1.13 1.14 1.15 1.16 เดลินิวส์; 2553, 28 ธันวาคม : ออนไลน์.
  2. อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ list
  3. 3.0 3.1 3.2 3.3 มติชนออนไลน์; 2553, 30 ธันวาคม (""ญาติ-เพื่อน" ร่วมรับศพ "น.ศ.ธรรมศาสตร์" เหยื่อเก๋งซิ่งรายล่าสุด มธ.มอบเงิน-จัดทีม กม.ช่วยเหลือด้านคดี") : ออนไลน์.
  4. 4.0 4.1 4.2 ผู้จัดการออนไลน์; 2553, 31 ธันวาคม ("“วัยรุ่นซีวิค” เปิดปากรับผิดประมาทจนก่ออุบัติเหตุ ปฏิเสธเล่นบีบี-โพสต์ FB ระบุอายุ 17 ปี") : ออนไลน์.
  5. Tha Nation; 2010, 28 December : Online.
  6. Bangkok Post; 2010, 28 December ("Eight killed in latest van horror") : Online.
  7. 7.0 7.1 7.2 7.3 7.4 7.5 ไทยรัฐ; 2553, 30 ธันวาคม ("ออกหมายเรียก สาวซิ่งซีวิค เหยื่อตายเพิ่ม 1") : ออนไลน์.
  8. มติชนออนไลน์; 2553, 29 ธันวาคม ("โซเชียลเน็ตเวิร์กโพสท์วิจารณ์"น.ส.เอ" กระหน่ำทะลุแสน") : ออนไลน์.
  9. 9.0 9.1 บ้านเมือง; 2553, 30 ธันวาคม : ออนไลน์.
  10. 10.0 10.1 "ญาติเหยื่อทวงความเป็นธรรม แห่ติด #แพรวา9ศพ พุ่งอันดับ 1 เทรนทวิตเตอร์". Workpoint News. คลังข้อมูลเก่าเก็บจากแหล่งเดิมเมื่อ 2019-07-18. สืบค้นเมื่อ 2019-07-18.
  11. "ย้อนคดีดังแพรวา สู่บทสรุป 9 ปี กับวันนี้ที่ต้องชดใช้". Tnews. 2019-08-06.
  12. 12.0 12.1 ข่าวสด; 2553, 28 ธันวาคม : ออนไลน์.
  13. โพสต์ทูเดย์; 2553, 28 ธันวาคม : ออนไลน์.
  14. 14.0 14.1 14.2 14.3 ไทยรัฐ; 2553, 28 ธันวาคม ("เก๋งแข่งนรกเสยท้ายรถตู้ 8 ศพ เละร่วงจากโทลล์เวย์") : ออนไลน์.
  15. 15.00 15.01 15.02 15.03 15.04 15.05 15.06 15.07 15.08 15.09 ทรูไลฟ์นิวส์รีพอร์ต; 2553, 28 ธันวาคม : ออนไลน์.
  16. 16.00 16.01 16.02 16.03 16.04 16.05 16.06 16.07 16.08 16.09 16.10 ผู้จัดการออนไลน์; 2553, 28 ธันวาคม ("ภาพฟ้องเก๋งซิ่งสะบัดชนรถตู้ก่อนคร่า 8 ศพ!") : ออนไลน์.
  17. มติชนออนไลน์; 2553, 27 ธันวาคม : ออนไลน์.
  18. 18.0 18.1 18.2 18.3 สำนักข่าวไทย; 2553, 28 ธันวาคม ("อาการผู้บาดเจ็บรถตู้ตกทางด่วนสาหัส 1 คน อีก 6 คน พ้นขีดอันตราย") : ออนไลน์.
  19. สำนักข่าวไทย; 2553, 28 ธันวาคม ("อุบัติเหตุรถตู้ตกทางด่วนทำให้เสียนักวิทยาศาสตร์ถึง 3 คน") : ออนไลน์.
  20. 20.0 20.1 20.2 20.3 20.4 20.5 Tha Nation; 2010, 30 December ("What went wrong?") : Online.
  21. ย้อนอ่านบันทึกเศร้า ‘พ่อเหยื่อน.ร.ทุนปริญญาเอก’ คดีแพรวา
  22. 22.0 22.1 22.2 22.3 22.4 22.5 22.6 22.7 22.8 Tha Nation; 2010, 30 December ("Sedan driver to face several charges") : Online.
  23. 23.0 23.1 23.2 อ้างอิงผิดพลาด: ป้ายระบุ <ref> ไม่ถูกต้อง ไม่มีการกำหนดข้อความสำหรับอ้างอิงชื่อ Thairath-002
  24. 24.0 24.1 24.2 24.3 24.4 ไทยรัฐ; 2554; 2 มกราคม : ออนไลน์.
  25. 25.0 25.1 ผู้จัดการออนไลน์; 2553, 28 ธันวาคม ("ซีวิคซิ่งชนรถตู้บนด่วน “โทลล์เวย์” ผู้โดยสารร่วงลงมาตาย 8 ศพ เจ็บอีก 7") : ออนไลน์.
  26. 26.0 26.1 The Nation; 2010, 29 December ("Driver of sedan was a 16-year-old girl.") : Online.
  27. 27.0 27.1 27.2 27.3 27.4 ผู้จัดการออนไลน์; 2553, 29 ธันวาคม : ออนไลน์.
  28. ผู้จัดการออนไลน์; 2553, 28 ธันวาคม ("“ณัฏฐ์” รับช็อก น้องสาวต่างแม่ต้นเหตุซิ่งเก๋งชนรถตู้ตาย 8 ศพ") : ออนไลน์.
  29. เดลินิวส์; 2553, 30 ธันวาคม ("ฟันเด็กตีนผีชนรถตู้ 8 ศพ ") : ออนไลน์.
  30. เนชั่นชาแนล; 2553, 28 ธันวาคม : ออนไลน์.
  31. Bangkok Post; 2010, 28 December ("Relatives of van victims urged to sue") : Online.
  32. ผู้จัดการออนไลน์; 2554, 1 มกราคม ("“แพรวา 9 ศพ” พร้อมเข้ารับทราบข้อกล่าวหา 5 ม.ค.!") : ออนไลน์.
  33. ไทยรัฐ; 2554, 2 มกราคม ("สาวตีนผีพบ ตร. ตามนัด") : ออนไลน์.
  34. ทีวีไทย; 2554, 2 มกราคม : ออนไลน์.
  35. http://www.dailynews.co.th/crime/152654
  36. 36.0 36.1 36.2 โกซิกซ์; 2553, 29 ธันวาคม : ออนไลน์.
  37. พันทิพ; 2553, 28 ธันวาคม ("ขอประณามการกระทำคุณแพรวา และครอบครัว") : ออนไลน์.
  38. พันทิพ; 2553, 28 ธันวาคม (ตกลงใครเป็นคนขับชนกันแน่...รถตู้โดนซีวิคชนท้าย คนตกทางด่วน ตายเกลื่อน) : ออนไลน์.
  39. พันทิพ; 2553, 28 ธันวาคม ("ภาพหลังเหตุการณ์บนโทลเวย์") : ออนไลน์.
  40. เฟซบุ๊ก; 2553, 29 ธันวาคม ("Chawalit รักไม่ลงคนหลอกลวง") : ออนไลน์.
  41. 41.0 41.1 ไทยรัฐ; 2553, 30 ธันวาคม ("โพสต์เน็ตอัดยับ สาว 16 ชนดับ 9 ศพ") : ออนไลน์.
  42. 42.0 42.1 42.2 มติชนออนไลน์; 2553, 29 ธันวาคม ("จากอุบัติเหตุสะเทือนใจบน "ดอนเมือง โทลล์เวย์" ถึงหลากหลายปฏิกิริยาสนองกลับใน "เฟซบุ๊ก"") : ออนไลน์.
  43. ดรามา-แอดดิกต์; 2553, 28 ธันวาคม : ออนไลน์.
  44. CNN iReport; 2010, 29 December : Online.
  45. ระบบฐานข้อมูลเครือญาติ ราชสกุลเทพหัสดิน ณ อยุธยา, ม.ป.ป. : ออนไลน์.
  46. ไทยรัฐ; 2553, 29 ธันวาคม ("กลุ่มในเฟซบุ๊กจุดเทียนรำลึกผู้เคราะห์ร้าย ประกันจ่ายรายละ 2 แสน") : ออนไลน์.
  47. กูเกิลเจาะลึกการค้นหา; 2554, 2 มกราคม : ออนไลน์.
  48. 48.0 48.1 ไทยรัฐ; 2553, 29 ธันวาคม ("ชนบนโทลล์เวย์ มาร์คยัน ดำเนินคดีเต็มที่") : ออนไลน์.
  49. มติชนออนไลน์; 2553, 29 ธันวาคม ("กมธ.ตำรวจสภา เรียก พนง.สอบสวนคดีซีวิคชนรถตู้แจง 5 ม.ค.") : ออนไลน์.
  50. 50.0 50.1 50.2 50.3 เดลินิวส์; 2553, 30 ธันวาคม ("นศ.ธรรมศาสตร์เหยื่อซีวิคสิ้นใจ") : ออนไลน์.
  51. 51.0 51.1 ไทยรัฐ; 2554, 2 มกราคม ("พ่อสะอื้นกล่าวไว้อาลัย 'น้องนุ่น' เหยื่อรถตู้") : ออนไลน์.
  52. ผู้จัดการออนไลน์; 2554, 2 มกราคม : ออนไลน์.
  53. ผู้จัดการออนไลน์; 2553, 30 ธันวาคม : ออนไลน์.
  54. มติชนออนไลน์; 2553, 30 ธันวาคม ("เปิดใจ"พ.อ.รัฐชัย"พ่อมือขับซีวิค ยันลูกโทร.หาตัว ไม่ได้เล่นบีบี วอนสังคมให้ความเป็นธรรม") : ออนไลน์.
  55. ไทยรัฐ; 2553, 30 ธันวาคม ("สกุล 'เทพหัสดิน' แพร่จดหมายเสียใจ") : ออนไลน์.
  56. ผู้จัดการออนไลน์; 2553, 31 ธันวาคม ("แม่ "แพรวา" ขอขมาศพ "ดร.ศาสตรา" - กราบเท้าขออภัยแม่บุญธรรม") : ออนไลน์.
  57. ผู้จัดการออนไลน์; 2554, 1 มกราคม ("“แพรวา 9 ศพ” พร้อมเข้ารับทราบข้อกล่าวหา 5 ม.ค.!") : ออนไลน์.
  58. "ราชสกุล"เทพหัสดิน ณ อยุธยา" ป้อง"นามสกุล"วอนสื่อ โซเชียล อย่าเหมารวม". ไทยรัฐ. สืบค้นเมื่อ 2019-07-18.
  59. ไทยรัฐ; 2553, 30 ธันวาคม ("8 ศพโทลล์เวย์ สาว 16 หนีภัย") : ออนไลน์.
  60. ไทยรัฐ; 2553, 31 ธันวาคม : ออนไลน์.

อ้างอิง

[แก้]

ภาษาไทย

[แก้]
  • กูเกิลเจาะลึกการค้นหา. (2554, 2 มกราคม). อรชร เทพหัสดิน [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 2 มกราคม 2554).
  • โกซิกซ์. (2553, 29 ธันวาคม). สื่อกระหน่ำ "อรชร เทพหัสดิน ณ อยุธยา" เล่น บีบี จริงหรือ?!. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
  • ข่าวสด. (2553, 28 ธันวาคม).สยองบนโทลล์เวย์ ผู้โดยสารร่วงตกรถตู้ ดับ 8 ศพ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
  • เฟซบุ๊ก. (2553, 29 ธันวาคม). Chawalit รักไม่ลงคนหลอกลวง. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
  • เดลินิวส์.
    • (2553, 28 ธันวาคม). รถตู้ฟาดกำแพงโทลล์เวย์ คนตกลงมาตาย 8 ศพ . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2553, 29 ธันวาคม). เปิดคลิปชนสยองบนทางด่วนตายเกลื่อน!. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2553, 30 ธันวาคม). นศ.ธรรมศาสตร์เหยื่อซีวิคสิ้นใจ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2553, 30 ธันวาคม). ฟันเด็กตีนผีชนรถตู้ 8 ศพ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
  • ทรูไลฟ์นิวส์รีพอร์ต. (2553, 28 ธันวาคม). สยอง! รถเก๋งชนรถตู้ บนทางด่วนโทลล์เวย์ ผู้โดยสารกระเด็นตกลงมาตาย 8 ศพ สาหัส 7 (มีคลิป). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
  • ทีวีไทย. (2554, 2 ธันวาคม). เผาแล้ว "ดร.เป็ด" เหยื่อรถตู้ตกทางด่วนโทลล์เวย์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 2 ธันวาคม 2554).
  • ไทยรัฐ.
    • (2553, 28 ธันวาคม). เก๋งแข่งนรกเสยท้ายรถตู้ 8 ศพ เละร่วงจากโทลล์เวย์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2553, 28 ธันวาคม). ตกโทลล์เวย์ ดับ 8 ศพ เก๋งซิ่งชนรถตู้. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2553, 29 ธันวาคม). 'เร็วก็ตาย ไม่เร็วตายอยู่ดี' สุดอาลัย ..จากใจโชเฟอร์รถตู้. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2553, 29 ธันวาคม). ชนบนโทลล์เวย์ มาร์คยัน ดำเนินคดีเต็มที่. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2553, 29 ธันวาคม). กลุ่มในเฟซบุ๊กจุดเทียนรำลึกผู้เคราะห์ร้าย ประกันจ่ายรายละ 2 แสน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2553, 30 ธันวาคม). โพสต์เน็ตอัดยับ สาว 16 ชนดับ 9 ศพ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2553, 30 ธันวาคม). ออกหมายเรียกสาวซิ่งซีวิค เหยื่อตายเพิ่ม 1. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2553, 30 ธันวาคม). 8 ศพโทลล์เวย์ สาว 16 หนีภัย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2553, 31 ธันวาคม). แจ้งข้อหา 5 ม.ค. สาว 16 ตีนผี ไม่มาออกหมาย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2554, 2 มกราคม). สาวตีนผีพบ ตร. ตามนัด. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 2 มกราคม).
    • (2554, 2 มกราคม). พ่อสะอื้นกล่าวไว้อาลัย 'น้องนุ่น' เหยื่อรถตู้. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 2 มกราคม).
    • (2554, 25 กุมภาพันธ์). ทีมกฎหมายอ้างสาวซีวิคไม่ได้ชนรถตู้-เผยดอดปฏิบัติธรรมในไทย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 4 มีนาคม).
    • (2554, 28 กุมภาพันธ์). ตร.สั่งฟันสาวซีวิค 2 ข้อหา. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 4 มีนาคม).
    • (2554, 1 มีนาคม). 'ทีมกม.สาวซีวิคออกแถลงฉ.2ยันอาจไม่ได้ชนแต่เสียหลัก. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 4 มีนาคม).
    • (2554, 3 มีนาคม). 'สังคมได้โปรดฟังเราบ้าง...' เปิดหัวอกแม่ 'ลัดดาวัลย์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา' (แม่สาวซีวิค). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 4 มีนาคม).
    • (2554, 4 มีนาคม). อัยการนัดฟังคำสั่งคดีสาวซีวิค 24 มี.ค. . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 4 มีนาคม).
  • เนชั่นชาแนล. (2553, 28 ธันวาคม). สภาทนายชี้ช่องฟ้องอาญา-แพ่งอุบัติเหตุโทลล์เวย์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
  • บ้านเมือง. (2553, 30 ธันวาคม). เร่งเยียวยาเหยื่อรถตู้มรณะ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
  • พันทิพ.
    • (2553, 28 ธันวาคม). ขอประณามการกระทำคุณแพรวา และครอบครัว. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2553, 28 ธันวาคม). ตกลงใครเป็นคนขับชนกันแน่...รถตู้โดนซีวิคชนท้าย คนตกทางด่วน ตายเกลื่อน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2553, 28 ธันวาคม). ภาพหลังเหตุการณ์บนโทลเวย์. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2553, 28 ธันวาคม). มาดูหลังภาพรถเก๋งและคนขับหลังจากเกิดเหตุการณ์ . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
  • โพสต์ทูเดย์. (2553, 28 ธันวาคม). เก๋งชนรถตู้คนกระเด็นตกทางด่วนดับ 8 . [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
  • ผู้จัดการออนไลน์.
    • (2553, 28 ธันวาคม). ซีวิคซิ่งชนรถตู้บนด่วน “โทลล์เวย์” ผู้โดยสารร่วงลงมาตาย 8 ศพ เจ็บอีก 7. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2553, 28 ธันวาคม). ภาพฟ้องเก๋งซิ่งสะบัดชนรถตู้ก่อนคร่า 8 ศพ! [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2553, 28 ธันวาคม). “ณัฏฐ์” รับช็อก น้องสาวต่างแม่ต้นเหตุซิ่งเก๋งชนรถตู้ตาย 8 ศพ. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2553, 29 ธันวาคม). “ฟอร์เวิร์ดว่อนไซเบอร์ประณาม “แพรวา” ทวงความยุติธรรมให้เหยื่อ ด้าน "ณัฏฐ์" ช็อกเตรียมย้ายรพ.น้องสาว. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2553, 30 ธันวาคม). “แค่น้ำใจ-เสียใจ” พ่อ-เพื่อน “น้องฝ้าย” เหยื่อตีนผีทีนเอจขอ!. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2553, 31 ธันวาคม). “วัยรุ่นซีวิค” เปิดปากรับผิดประมาทจนก่ออุบัติเหตุ ปฏิเสธเล่นบีบี-โพสต์ FB ระบุอายุ 17 ปี [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2553, 31 ธันวาคม). "แพรวา"ดอดเยี่ยมเหยื่อที่รพ.-พร้อมรับผิดชอบ แต่เตรียมปร๋อไปอเมริกา [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2554, 2 มกราคม). ญาติสุดเศร้า พระราชทานเพลิงศพ "อุกฤษฏ์" นักวิจัยไบโอเทค เหยื่อทีนเอจตีนผี [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 2 มกราคม 2554).
  • มติชนออนไลน์.
    • (2553, 28 ธันวาคม). จนท.เร่งลงมือเช็ดคราบเลือดผู้เสียชีวิตจากเหตุรถเก๋งชนรถตู้บนโทลล์เวย์ ด้านหน้า ม.เกษตร. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2553, 29 ธันวาคม). จากอุบัติเหตุสะเทือนใจบน "ดอนเมือง โทลล์เวย์" ถึงหลากหลายปฏิกิริยาสนองกลับใน "เฟซบุ๊ก". (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2553, 29 ธันวาคม). กมธ.ตำรวจสภา เรียก พนง.สอบสวนคดีซีวิคชนรถตู้แจง 5 ม.ค.. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2553, 30 ธันวาคม). เปิดใจ"พ.อ.รัฐชัย"พ่อมือขับซีวิค ยันลูกโทร.หาตัว ไม่ได้เล่นบีบี วอนสังคมให้ความเป็นธรรม. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2553, 30 ธันวาคม). โซเชียลเน็ตเวิร์กโพสท์วิจารณ์"น.ส.เอ" กระหน่ำทะลุแสน. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2553, 30 ธันวาคม). แม่สาวซิ่งซีวิคยันให้ดำเนินคดีอย่างตรงไปตรงมา. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2553, 30 ธันวาคม). "ญาติ-เพื่อน" ร่วมรับศพ "น.ศ.ธรรมศาสตร์" เหยื่อเก๋งซิ่งรายล่าสุด มธ.มอบเงิน-จัดทีม กม.ช่วยเหลือด้านคดี. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2554, 1 มกราคม). แม่ "แพรวา" ขอขมาศพ "ดร.ศาสตรา" - กราบเท้าขออภัยแม่บุญธรรม. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 2 มกราคม 2554).
    • (2554, 1 มกราคม). “แพรวา 9 ศพ” พร้อมเข้ารับทราบข้อกล่าวหา 5 ม.ค.! (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 2 มกราคม 2554).
  • ระบบฐานข้อมูลเครือญาติ ราชสกุลเทพหัสดิน ณ อยุธยา. (ม.ป.ป.). [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
  • สำนักข่าวไทย.
    • (2553, 28 ธันวาคม). อาการผู้บาดเจ็บรถตู้ตกทางด่วนสาหัส 1 คน อีก 6 คน พ้นขีดอันตราย. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 31 ธันวาคม 2553).
    • (2553, 28 ธันวาคม). อุบัติเหตุรถตู้ตกทางด่วนทำให้เสียนักวิทยาศาสตร์ถึง 3 คน. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก: <ลิงก์>. (เข้าถึงเมื่อ: 2 มกราคม 2554).

ภาษาต่างประเทศ

[แก้]
  • Bangkok Post.
    • (2010, 28 December). Eight killed in latest van horror. [Online]. Available: <link>. (Accessed: 31 December 2010).
    • (2010, 28 December). Relatives of van victims urged to sue. [Online]. Available: <link>. (Accessed: 31 December 2010).
    • (2010, 29 December). Slam brakes on urban vans. [Online]. Available: <link>. (Accessed: 30 December 2010).
  • CNN iReport. (2010, 29 December). Bangkok Auto Accident Has Facebook Fanpage with 180,000 'like' in 24 hours. [Online]. Available: <link>. (Accessed: 30 December 2010).
  • The Nation.
    • (2010, 28 December). Eight killed in grisly tollway accident. [Online]. Available: <link>. (Accessed: 31 December 2010).
    • (2010, 29 December). Driver of sedan was a 16-year-old girl. [Online]. Available: <link>. (Accessed: 31 December 2010).
    • (2010, 29 December). Tragedy shatters families. [Online]. Available: <link>. (Accessed: 31 December 2010).
    • (2010, 30 December). What went wrong?. [Online]. Available: <link>. (Accessed: 31 December 2010).
    • (2010, 30 December). Sedan driver to face several charges. [Online]. Available: <link>. (Accessed: 31 December 2010).