ข้ามไปเนื้อหา

อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว
ที่ตั้งอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร , อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร , อำเภอชานุมาน และอำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ ประเทศไทย
พื้นที่144375.00 ไร่ หรือ 231 ตร.กม.
จัดตั้ง30 ธันวาคม พ.ศ. 2535
หน่วยราชการสำนักอุทยานแห่งชาติ

อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 75 ของประเทศไทย ตั้งที่ทำการอุทยานฯ อยู่ที่อ่างเก็บน้ำห้วยหินข้อ บ้านหนองเม็ก ตำบลป่าไร่ อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร มีเนื้อที่อยู่บนแนวเขตรอยต่อ 3 จังหวัด คือ อำเภอนิคมคำสร้อย อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร อำเภอชานุมาน และอำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ

ประวัติ

[แก้]

ในอดีตประมาณปี พ.ศ. 2508-2525 พื้นที่ป่าอันอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ เคยเป็นที่แทรกซึมของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ (ผกค.) นับได้ว่าเป็นขุมกำลังที่มีความสำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศ จึงไม่มีราษฎรบุกรุกเข้าทำกินในพื้นที่ ในปี พ.ศ. 2525 เมื่อเหตุการณ์คลี่คลายลง ผกค. เข้ามอบตัวต่อทางราชการ ทางการจึงจัดสรรที่ดินทำกินให้กับราษฎรบริเวณบ้านน้อมเกล้า ตำบลบุ่งค้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร และที่บ้านภูผาหอม ตำบลเหล่าหมี อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร จากนั้นปัญหาต่างๆ ด้านป่าไม้ก็ตามมาไม่ว่าจะเป็นการจับจอง บุกรุก แผ้วถางป่าการลักลอบตัดไม้ทำลายป่า ด้วยเกรงว่าปัญหาเหล่านี้จะลุกลามออกไป

ในช่วงปี พ.ศ. 2525 ป่าไม้อำเภอดอนตาล ได้เสนอเรื่องต่อจังหวัดมุกดาหาร และป่าไม้อำเภอเลิงนกทา ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภูลำกลาง ภูสระดอกบัว และภูผาแต้ม เพื่อเสนอเรื่องต่อทางจังหวัดยโสธร ให้จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยว จากเหตุผลความเหมาะสมนานับประการ ก่อประโยชน์ทั้งความมุ่งมั่นที่จะอนุรักษ์ผืนป่าแห่งนี้ไว้เป็นสมบัติของชาติ และอนุชนรุ่นหลังได้เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ ทั้งยังเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของผู้คนโดยทั่วไป

กองอุทยานแห่งชาติ จึงทำการสำรวจอย่างจริงจัง ในปี พ.ศ. 2531 และเริ่มดำเนินการจัดตั้ง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 เป็นต้นมา ซึ่งได้ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติโดยได้มีพระราชกฤษฏีกากำหนดที่ดินป่าดงบังอี่ แปลงที่สาม และป่าดงบังอี่ แปลงที่สี่ ในท้องที่ตำบลดงเย็น อำเภอเมืองมุกดาหาร ตำบลนาอุดม ตำบลนิคมคำสร้อย ตำบลโชคชัย อำเภอนิคมคำสร้อย และตำบลเหล่าหมี ตำบลป่าไร่ ตำบลบ้านบาก อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ป่าดงบังอี่ในท้องที่ตำบลกุดแห่ ตำบลบุ่งค้า อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ป่าดงบังอี่ฝั่งซ้ายห้วยทมในท้องที่ตำบลคำเขื่อนแก้ว อำเภอชานุมาน จังหวัดอุบลราชธานี และป่าดงหัวกอง และป่าดงบังอี่ ในท้องที่ตำบลเสนางคนิคม ตำบลโพนทอง ตำบลหนองไฮ อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอุบลราชธานี ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 109 ตอนที่ 126 ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2535 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 75 ของประเทศไทย

ข้อมูลทั่วไป

[แก้]
พื้นที่อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว

ลักษณะภูมิประเทศ

[แก้]

อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว มีสภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนของเทือกเขาหลายๆ ลูกเทือเขาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาใหญ่ที่เรียกว่า เทือกเขาภูพาน ทอดตัวเป็นแนวยาวจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ลงสู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ โดยแบ่งที่ราบสูงโคราชออกเป็น 2 แอ่ง ทางตอนเหนือคือแอ่งสกลนคร ส่วนทางตอนใต้เป็นแอ่งใหญ่ คือ แอ่งโคราช – อุบล ลักษณะของหินและการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลกที่เป็นมาในอดีตภายในเขตอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว ก่อให้เกิดจุดสนใจทางด้านการศึกษาทั้งทางธรณีวิทยาและทาง ภูมิศาสตร์โดยเฉพาะการเกิดการชะล้างของหอนทราย ทำให้มีหน้าผา บ่อรูปหม้อ (Pothole) หรือแอ่งหินบนยอดเขา และการเกิดรอยแตกของหิน (Fault) ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวนี้ นอกจากจะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้ว ยังเป็นสถานที่ศึกษาทางด้านการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติได้อีกด้วย การเปลี่ยนแปลงภายในและภายนอกของเปลือกโลกจากอดีตจนถึงปัจจุบันทำให้อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว เกิดมีภูเขาต่างๆ มากมาย เช่น ภูหมู ภูแผงม้า ภูไม้ซาง ภูของ ภูอัครอาด ภูตาเฟีย ภูผาด่าง ภูผาหอม ภูโป่งเปือย ภูหนาด ภูกะซะ ภูหัวนาค ภูผาสะเงาะ ภูสะลุน ภูถ้ำพระ ภูสระดอกบัว เหล่านี้ เรียงตัวประกอบขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างขนาดเล็กทางธรณีวิทยารูปเรื่อคว่ำซึ่งทอดตัวในแนวเดียวกับเทือกเขาใหญ่ภูพาน โดยโครงสร้างขนาดเล็กนี้มีการเอียงเทไปทางทิศาตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งประกอบด้วยป่าอันอุดมสมบูรณ์หลายชนิด พื้นที่หลายแห่งมีลานหินขนาดใหญ่ ชาวท้องถิ่น เรียกว่า “ดาน” กระจายอยู่ตามยอดเขาต่าง ๆ และบนยอดเขาภูสระดอกบัวมีแอ่งหินขนาดความกว้างประมาณ 5–6 เมตร ลึกประมาณ 2 เมตร มีดอกบัวซึ่งเป็นดอกบัวที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นดอกบัวเผื่อนมีสีขาวแซมด้วยสีชมพูอ่อน กระจายตามแอ่งบัวจึงเป็นที่มาของอุทยานแห่งชาติ ภูสระดอกบัว นอกจากนั้นยังมี ยอดภูไม้ซางเป็นยอดเขาสูงสุดประมาณ 494 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ยอดภูเขาอื่น ๆ มีความสูงเฉลี่ยประมาณ 350 - 450 เมตร พื้นที่เหล่านี้ยังเป็นแหล่งกำเนิดต้นน้ำลำธาร หลายสาย เช่น ห้วยทม ห้วยไห ห้วยตูบ ห้วยก้านเหลือง ห้วยลำกลาง ห้วยขี้เหล็ก ห้วยหินขัว ห้วยจิงหิง เป็นต้น ลำธารเหล่านี้ไหลลงสู่พื้นราบ รายรอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งราษฎรที่อยู่โดยรอบอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว ใช้อุปโภค บริโภค และทำการเกษตรตั้งแต่อดีต จนถึงปัจจุบัน[1]

ลักษณะภูมิอากาศ

[แก้]

สภาพภูมิอากาศอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว แบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ

  • ฤดูฝน ระหว่าง เดือน พฤษภาคม - เดือน ตุลาคม จะมีฝนตกชุก ในเดือนสิงหาคม
  • ฤดูหนาว ระหว่าง เดือน พฤศจิกายน - เดือน มกราคม อุณหภูมิต่ำสุด ในเดือนธันวาคม
  • ฤดูร้อน ระหว่าง เดือน กุมภาพันธ์ - เดือน เมษายน อุณหภูมิสูงสุด ในเดือนมีนาคม

พืชพรรณและสัตว์ป่า

[แก้]

พืชพรรณในอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว

[แก้]
  1. ป่าเต็งรัง (Dry Dipterocarp Forest) ป่าเต็งรังในอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว เป็นสังคมพืชที่ครอบคลุมเนื้อที่มากที่สุดหรือประมาณร้อยละ 90 ของพื้นที่ ส่วนใหญ่ ปกคลุมอยู่ในพื้นที่ที่มีดินค่อนข้างตื้น เป็นทรายจัด หรือมีหินผสมอยู่มากหรือในพื้นที่มีชั้นของดินลูกรัง (Later tic - zone) ปรากฏอยู่ชิดผิวดินลักษณะของสังคมพืชแห่งนี้ พบขึ้นตามพื้นที่ค่อนข้างราบและ/หรือมีหินปรากฏอยู่ที่ผิวดินเป็นจำนวนมาก มีไฟป่าเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โครงสร้างเรือนยอดทางด้านตั้งมี 2 ลักษณะ ลักษณะเรือนยอดแบ่งออกได้เป็น 3 ชั้น เรือนยอด ชั้นบนสูงประมาณ 15 – 25 เมตร ไม้เด่นของสังคมได้แก่ เต็ง อื่นๆ ที่ขึ้นผสมอยู่ เช่น ไม้พะยอมหว้า มะพอก ประดู่ เรือนยอดชั้นรองมีความสูงอยู่ระหว่าง 5 - 14 เมตร เป็นไม้ขนาดกลาง ชนิดไม้ที่สำคัญได้แก่ กระโดน ขะเจ๊าะ เคด ส้านใบเล็ก รกฟ้า ยางเหียง
  2. ป่าผสมผลัดใบ ( Mixed Decidous Forest ) พบบริเวณตอนกลางขึ้นไปตามทางตอนใต้ของพื้นที่รวมทั้งบริเวณที่ลาดชันด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ลักษณะเรือนยอดแบ่งออกได้เป็น 3 ชั้นเรือนยอด เรือนยอดชั้นบนสูงสุดประมาณ 18 - 30 เมตร พันธ์ไม้สำคัญของเรือนยอด ชั้นนี้ได้แก่ แดง ตะแบกเปลือกบาง ประดู่ สาธร ส้านใหญ่ ตระคร้อ กางขี้มอด ติ้วเกลี้ยง เป็นต้น เรือนยอดชั้นรองมีความสูงประมาณ 8 - 17 เมตร ไม้เด่นที่สำคัญได้แก่ ขานาง อีแปะ สกุณี เก็ดแดง ปอเลี้ยงฝ้าย คูณ มะกอก กว้าว โมกมัน เป็นต้น นอกจากนี้ป่าผสมผลัดใบยังเป็นแหล่งไม้ไผ่ที่สำคัญ ชนิดที่ปรากฏอยู่ทั่วไปได้แก่ ไม้ไผ่ซาง และไผ่ไร่
  3. ป่าดิบแล้ง (Dry Evegreen Forest) พบบริเวณตอนกลางของพื้นที่และตอนล่างของพื้นที่แต่เป็นหย่อมเล็กๆ เนื่องจากดินค่อนข้างลึกและเก็บความชื้นได้ดีพอสมควร ลักษณะโครงสร้างแบ่งออกเป็น 3 ชั้นเรือนยอด เรือนยอดชั้นบนสุดมีความสูงประมาณ 20 - 40 เมตร ไม้ที่สำคัญในเรือนยอดชั้นนี้ได้แก่ กระบาก ยาง มะพอก คอแลน ต้น เรือนยอดชั้นรองมีความสูงประมาณ 18 เมตร ค่อนข้างหนาแน่นมากจึงทำให้เห็นเรือนยอดที่ต่อเนื่องกัน พรรณไม้ที่สำคัญในชั้นนี้ได้แก่ ยางโอน พลับพลา เสม็ดแดง คันจ้อง พลองใบเล็ก พะยอม เปล้าหลวง กระบก เป็นต้น ส่วนชั้นของไม้ขนาดเล็ก และไม้พุ่มมีความสูงกว่า 8 เมตร ปรากฏค่อนข้างหนาแน่นผสมกับไม้วัยรุ่นของไม้ชั้นกลางและชั้นบน ที่พบมากได้แก่ หมักม้อ ครมเขา แอ พื้นป่าประกอบด้วย กล้าไม้ชนิดต่างๆ ชั้นหนาแน่นผสมกับพืชล้มลุกมากมายหลายชนิด โดยเฉพาะพืชในวงศ์ขิงข่า เข็มป่า เถาประสงค์ กล้วยเต่า เป็นต้นสังคมพืชในชั้นของการทดแทนในพื้นที่ที่เคยถูกรบกวนในอดีต (Secondary Forest) เป็นผลจากการทำลายพื้นที่อยู่ในระหว่างการทดแทน (Succersbnal Stage) หลายระดับด้วยกัน ความผันแปรของสังคมพืชที่พบขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของการทำลาย และช่วงเวลาที่ถูกทอดทิ้งไว้ และสังคมป่าดั้งเดิมที่ก่อนถูกทำลาย

สัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว

[แก้]

เนื่องจากอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งใหม่ และมีชุมชนที่ตั้งอยู่ทั้งในและนอกเขตอุทยานจำนวนมาก นอกจากนี้สภาพป่าส่วนมากยังเป็นป่าเต็งรัง ที่มีลักษณะเป็นป่าโปร่ง ปัจจุบันสัตว์ป่าไม่ค่อยมีให้เห็น นอกจาก กระต่ายป่า ลิง กระรอก และนกชนิดต่างๆ สันนิฐานว่าสัตว์ใหญ่คงอพยพไปยังพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูผาเทิบ หรือไม่ก็ถูกล่าจนหมด จากการสำรวจความหลากหลายของชนิดของสัตว์ป่า พบว่ามีสัตว์ป่าประกอบไปด้วย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสัตว์ที่พบเห็นได้โดยตรง ได้แก่ กระแต บ่าง กระต่ายป่า กระจ้อน เป็นต้น ส่วนสัตว์ที่พบเพียงแต่ร่องรอย เช่น หมูป่า เก้ง นก เป็นกลุ่มสัตว์ที่ค่อนข้างจะพบเห็นได้ตลอดเวลาทั่วพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นนกที่เลือกถิ่นอาศัยในรูปของป่าเต็งรัง และป่าเบญจพรรณ นกที่พบ เช่น ยางควาย นกกระปูด เหยี่ยวขาว และนกเขาเปล้าธรรมดา ไก่ป่า นกกระเต็น นกกระจอก นกเอี้ยง นกเค้าแมว เป็นต้น

  1. สัตว์เลื้อยคลาน ตัวอย่าง เช่น งูเห่า งูสิง งูเขียว งูจงอาง จิ้งจก กิ่งก่าแก้ว จิ้งเหลน ตะกวด และจิ้งเหลนภูเขา เป็นต้น
  2. ปลา ยังไม่มีการสำรวจพันธ์ปลาที่เกิดตามลำธารในป่า และลำธารที่มีน้ำไหลตลอดปี แต่ที่เชื่อว่ามีในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณลำห้วยขนาดใหญ่ ชนิดปลาได้แก่ ปลาดุก ปลาช่อน ปลาตะเคียน ปลาซิว ปลาเนื้ออ่อน ปลาแขยงใบข้าว ปลาตะเพียน ปลากดเหลือง ปลาไหล
  3. สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พบโดยการส่องไฟในเวลากลางคืน ตัวอย่างเช่น กบ อึ่งอ่าง และเขียด เป็นต้น
  4. แมลงป่าไม้ เป็นพวกผีเสื้อกลางวันจัดเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของผีเสื้อมากอีกแห่งหนึ่งซึ่งยังคงความอุดมสมบรูณ์ นอกจากนี้พบได้บริเวณตามลำห้วยที่มีน้ำขังหรือพื้นที่โล่ง เช่น ผีเสื้อหนอนคูณธรรมดา ผีเสื้อยักษ์ นอกจากนี้ยังพบแมลงป่าไม้ที่มีความสวยงามมาก และพบเป็นจำนวนมากในช่วงฤดูฝนบริเวณป่าเต็งรังนั่นคือ แมลงทับขาแดง กับแมลงทับขาเขียวโดยที่แมลงทับขาแดง พบเป็นจำนวนมากกว่า

ทรัพยากรทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์

[แก้]
ภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 3,000-4,000 ปี ที่ภูผาแต้ม

ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว ประชาชนส่วนใหญ่เป็นคนเชื้อสายเผ่าภูไท ข่า กะเลิง และไทอีสาน ซึ่งจะมีวิถีชีวิตที่ค่อนข้างจะแตกต่างกันไปในแต่ละชุมชนท้องถิ่น ทั้งสภาพเศรษฐกิจโดยส่วนใหญ่ จะเป็นการพึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประกอบอาชีพของราษฎรในพื้นที่ ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำไร่มันสำปะหลัง ไร่อ้อย ปัจจุบันนิยมปลูกยางพารา และเข้ามาทำงานเป็นเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว ทำให้มีรายได้ในการดำรงชีวิตอย่างพอเพียงบ้างบางส่วน ราษฎรส่วนใหญ่ในพื้นที่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของคนอีสานเอาไว้อย่างเหนี่ยวแน่นโดยเฉพาะประเพณีงานบุญประจำปี และตาม ฮีตครองที่ปฏิบัติร่วมกันมาก่อนในอดีตจนถึงปัจจุบัน เช่น ประเพณีสงกรานต์ บุญบั้งไฟ ลอยกระทง เข้าพรรษา ออกพรรษา บุญบูชากองข้าวเปลือก เป็นต้น และได้มีการสำรวจพบแหล่งโบราณสถานซึ่งมีความสำคัญในยุคก่อนประวัติศาสตร์ คือ เป็นที่ชุมนุมในการดำรงชีวิตของกลุ่มชนที่อยู่บนที่สูงโดยเฉพาะกลุ่มชนที่อยู่บนเทือกเขาภูพานที่ซึ่งชุมชนใช้ในการประกอบพิธีกรรมที่ว่านี้ก็คือภูผาแต้มบริเวณที่มีภาพเขียนโบราณภาพเขียนสีเหล่านี้มีอายุประมาณ 3,000-4,000 ปีมาแล้ว นั้นคือ อยู่ในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และนอกจากนี้ยังมีการสำรวจพบภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ภาพเขียนสีที่พบนี้พอจะแบ่งคร่าวๆได้เป็น 2 ลักษณะ คือ กลุ่มภาพฝ่ามือ และกลุ่มภาพลวดลายเรขาคณิต

แหล่งท่องเที่ยว

[แก้]
  • ภูสระดอกบัว เป็นภูเขาที่มีความสูงประมาณ 423 เมตร บนรอยต่อเขต 3 จังหวัด ที่ยอดภูสระดอกบัวมีแอ่งน้ำที่ลึกลงไปในหินขนาดกว้างประมาณ 2-3 เมตร ลึก 1 เมตร อยู่ 5-6 แอ่ง มีน้ำขังตลอดปี มีบัวพันธุข์นาดเล็กขึ้นอยู่เต็มสระ เมื่อออกดอกจะสวยงามมาก ชาวบ้านเล่ากันว่ามีบัวขึ้นอยู่อย่างนี้มาตั้งแต่อดีตแล้วและเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ จึงได้ชื่อว่า “ภูสระดอกบัว” บริเวณเดียวกันยังมีถ้ำขนาดใหญ่ ที่เป็นฐานกำลังพลของผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ด้วย ภายในถ้ำสามารถจุคนได้ถึง 100 คน
  • ภูผาแต้ม ซึ่งเป็นภูเขาสูงประมาณ 336 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปทางทิศเหนือ ระยะทางประมาณ 500 เมตร ทางเดินขึ้นเขา บริเวณผาหินมีรูปภาพเขียนโบราณยุคก่อนประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่ามีอายุราว 3,000-4,000 ปี เป็นรูปรอยฝ่ามือสีแดงประทับไว้ อันอาจเป็นหลักฐานแสดงการมาถึงของผู้วาด และภาพทรงเลขาคณิตที่ยากจะตีความดูคล้ายแผนที่ที่วกวน ภาพเขียนเหล่านี้รวมอยู่กันเป็นกลุ่ม โดยแต่ละภาพจะใช้สีแดง ซึ่งคาดว่าได้มาจากสีของแร่ที่อยู่ในหินลูกรังแล้วนำมาบดผสมกับยางไม้จากนั้นจึงนำมาเขียนและนำฝ่ามือมาจุ่มสีหรือการประทับรอยฝ่ามือไว้บนเพิงผาหินนอกจาก นั้นบริเวณเหนือเพิงผา เป็นลานภูผาแต้มเนื้อที่ประมาณ 1 ไร่ เป็นจุดชมทิวทัศน์พระอาทิตย์ขึ้นและตกที่สวยงาม โดยมองผ่านผาหินที่ยื่นออกไปในอากาศ ท้าทายทิวเขา จะเห็นเรือนยอดของป่าไม้เต็งรัง และอ่างเก็บน้ำห้วยหินข้อ ที่อยู่เบื้องล่างเป็นทัศนียภาพที่สวยงามที่น่าชมอีกแห่งหนึ่งของอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว
  • วนอุทยานภูหมู ในสมัยสงครามเวียดนาม บนยอดภูหมูยังเป็นที่ตั้งสถานีสื่อสารของทหารอเมริกันด้วย หรือจะเลือกเส้นทางพิชิตยอดภูผาหอม เป็นจุดชมวิวที่สวยงามมากของเทือกเขาภูผาแต้ม จุดนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ในระยะไกล มีความสูงประมาณ 386 เมตร จากระดับน้ำทะเล จึงมองเห็นยอดเขาภูหมู ภูแผงม้า ภูไม้ซาง ภูของ ภูอัครชาดที่อยู่เบื้องหน้าได้ ในยามเย็นที่จุดนี้มีผู้นิยมมาชมพระอาทิตย์ตก เพื่อเก็บภาพอันน่าประทับใจ และพักค้างแรมกันมากอีกด้วย
  • ภูผาด่าง ทุ่งดอกไม้ป่าที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดมุกดาหาร ที่หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ที่ ภบ. 5 (ภูด่าง) ต.เหล่าหมี อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร มีดอกไม้ป่าที่มีสีสันสวยงามมากมาย ดอกไม้จะบานในช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ เช่น ดอกดุสิตา สร้อยสุวรรณา มณีเทวี กระดุมทอง สรัสจันทร หยาดน้ำค้าง จอกบ่วาย ช้างน้าว เป็นต้น อีกยังมีโขดหินรูปร่างแปลกตาเป็นรูปทรงต่าง ๆ เช่น รูปเต่ายักษ์ รูปเครื่องบินโบราณ ฯลฯ ซึ่งอยู่ที่ความสูงประมาณ 348 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง นอกจากนั้นบริเวณนี้มีผลาญหินเป็นลานกว้าง ซึ่งในช่วงฤดูฝนจะมีน้ำไหลบ่าและฝนช่วงปลายฝนต้นหนาวจะมีดอกไม้หลากสีสันออกดอกงดงามเต็มลานหิน ส่วนใหญ่เป็นพืชล้มลุก เช่น สร้อยสุวรรณา ดุสิตา มณีเทวา หยาดน้ำค้าง เป็นต้น
  • อ่างเก็บน้ำห้วยหินข้อ อยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำเป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว ริมอ่างเก็บน้ำห้วยหินข้อมีต้นไม้ป่าและไม้โตเร็วที่ปลูกเสริมขึ้นอยู่อย่างร่มรื่น เหมาะสำหรับนั่งพักผ่อนหย่อนใจหลังจากเดินชมทิวทัศน์บนเขาแล้ว อุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัวได้ตกแต่งสถานที่ริมอ่างเก็บน้ำแห่งนี้อย่างสวยงาม บ้านพักรับรองนักท่องเที่ยวปลูกสร้างยื่นลงไปริมอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ได้อย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ อากาศเย็นสบายตลอดปี ยามเย็นสามารถชมทัศนียภาพพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า ผ่านทิวไม้แห้งที่เริงระบำในอ่างเก็บน้ำห้วยหินข้ออย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ใกล้ ๆ อ่างเก็บน้ำแห่งนี้เป็นลานกางเต็นท์ที่ร่มรื่นเหมาะในการพักแรมเป็นอย่างยิ่ง
  • ภูผาหอม เป็นจุดที่มีความสูงประมาณ 386 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง บริเวณนี้เป็นที่ชมพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าที่สวยงาม สามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้ในระยะไกล เห็นยอดเขาภูแผงม้า ภูไม้ซาง บริเวณใกล้ๆภูผาหอม เป็นผาเจิ่น เจิ่น เป็นภาษาอีสาน แปลว่า พังทลาย หินตรงหน้าผาพังลงไปประมาณ ปี พ.ศ. 2519 หากมองมาจากถนนเลิงนกทา-ดอนตาล จะเห็นหน้าผาสีขาวแต่ไกล อีกนัยหนึ่งหากนั่งเฮลิคอปเตอร์ลอยอยู่บนอากาศใกล้ๆ ผาเจิ่น จะเห็นความสวยงามที่ธรรมชาติช่างสรรสร้างให้กับผืนป่าแห่งนี้
  • ภูไม้ซาง เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดของอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว สูง 494 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ด้านทิศตะวันตกบริเวณผาลับฟ้าชมพระอาทิตย์ลับขอบฟ้า บริเวณนี้มองทิวทัศน์ระยะไกล ผ่านช่องเขาภูแผงม้า ทิวเขาภูหมู และระหว่างทางเดินไป - กลับ ชมโขดหินรูปร่างมหัศจรรย์ที่ตั้งอยู่เป็นระยะ ๆ ส่วนด้านทิศตะวันออกบริเวณผาหมอก ชมพระอาทิตย์โผล่ขึ้นขอบฟ้ายามรุ่งอรุณ ชมทางเดินฤๅษี ลานสวรรค์ ซึ่งเป็นลานหินผุดเป็นปุ่ม ๆ คาดว่าเกิดจากการสึกกร่อนตามธรรมชาติ ของหินทางเคมี และฟิสิกส์ สภาพอากาศลมพัดเย็นสบายตลอดปี ภูไม้ซางเหมาะสำหรับกางเต็นท์นอนพักแรม และเป็นยอดภูที่สวยที่สุดของอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว
  • ภูวัด เป็นภูเขาสูงประมาณ 367 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง อยู่ต่อจากลานภูผาแต้ม ออกไปทางทิศเหนือ 500 เมตร เป็นบริเวณที่ร่มรื่นไปด้วยแมกไม้ เหมาะสำหรับนั่งเล่นและพักผ่อน ลานหินบนภูวัดจะมีดอกไม้ออกดอกในช่วงปลายฤดูฝน เช่น เอนอ้า กระดุมเงิน ดุสิตา สร้อยสุวรรณา หยาดน้ำค้าง เป็นแหล่งท่องเที่ยวของชาวบ้านในท้องถิ่น ในวันสงกรานต์และวันสำคัญทางศาสนา โดยใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนามีชาวบ้านมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมาก

หน่วยงานในพื้นที่

[แก้]
  1. ที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว
  2. หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติฯ ที่ ภบ.1 (ภูหมู)
  3. หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติฯ ที่ ภบ.2 (ดานหินแตก)
  4. หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติฯ ที่ ภบ.3 (เขื่อนแก้ว)
  5. หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติฯ ที่ ภบ.4 (ผาด่าง)
  6. หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติฯ ที่ ภบ.5 (เสนางคนิคม)
  7. จุดสกัดภูถ้ำพระ

การเดินทาง

[แก้]

นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางจากกรุงเทพมหานคร ผ่านอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ไปยังอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2116) ระหว่างหลักกิโลเมตร ที่ 22 - 23 แยกเข้าไปทาง ทิศเหนือประมาณ 1 กิโลเมตร ถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติภูสระดอกบัว ซึ่งตั้งอยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยหินข้อ บ้านหนองเม็ก ตำบลป่าไร่ อำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร

  • อยู่ห่างจากจังหวัดมุกดาหาร ประมาณ 60 กิโลเมตร
  • อยู่ห่างจากอำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ประมาณ 28 กิโลเมตร
  • อยู่ห่างจากอำเภอดอนตาล จังหวัดมุกดาหาร ประมาณ 22 กิโลเมตร

อ้างอิง

[แก้]