สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
Office of The Consumer Protection Board
ภาพรวมหน่วยงาน
สำนักงานใหญ่120 ชั้น 5 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร
งบประมาณประจำปี220.442 ล้านบาท (พ.ศ. 2559)[1]
ฝ่ายบริหารหน่วยงาน
  • ธสรณ์อัฑฒ์ ธนิทธิพันธ์, เลขาธิการ
  • พ.ต.อ.ประทีป เจริญกัลป์, รองเลขาธิการ
  • ทรงศิริ จุมพล, รองเลขาธิการ
ต้นสังกัดหน่วยงานสำนักนายกรัฐมนตรี
เว็บไซต์http://www.ocpb.go.th

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. (อังกฤษ: Office of The Consumer Protection Board : OCPB) เป็นส่วนราชการระดับกรม สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 ปัจจุบันมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคารบี ชั้น 5 ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร

ประวัติ[แก้]

ใน พ.ศ. 2512 สมาคมผู้บริโภคของประเทศต่างๆ ได้เข้ามาชักชวนให้มีการจัดตั้งสมาคมผู้บริโภคขึ้นในประเทศไทย แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จนกระทั่งในรัฐบาลของ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ขึ้นคณะหนึ่งโดยมีพลตรี ประมาณ อดิเรกสาร รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งเริ่มดำเนินการเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2519 และยุติการดำเนินการในเวลาต่อมา

ในรัฐบาลของ พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคขึ้นอีกครั้ง โดยมอบหมายให้นาย สมภพ โหตระกิตย์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการจนนำไปสู่การร่างพระราชบัญญัติเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 เป็นผลให้เกิด "คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค" อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2522 เป็นต้นมา

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายรัฐมนตรี พ.ศ. 2522 ตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2522[2] จึงถือกำเนิด สคบ. ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา

วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับหลักการ ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ซึ่งได้กำหนดให้มีการจัดตั้ง คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคแห่งชาติ แทน คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการนอกจากนี้ยังกำหนดให้โอนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจากสำนักนายกรัฐมนตรีมาอยู่ภายใต้การกำกับของนายกรัฐมนตรีโดยตรง

คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค[แก้]

กรรมการ ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2558
1. นายวัยวุฒิ หล่อตระกูล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านกฎหมาย
2. นายทรงฤทธิ์ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านกฎหมาย
3. พลตำรวจเอก ดร. สุวิระ ทรงเมตตา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านรัฐศาสตร์
4. นายสัมมา คีตสิน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านเศรษฐศาสตร์
5. นายโฆสิต สุวินิจจิต กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการตลาดและโฆษณา
6. พลอากาศตรี นายแพทย์ อิทธพร คณะเจริญ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านสุขภาพและเสริมความงาม
7. นางชูเนตร ศรีเสาวชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านการพัฒนาองค์กรเอกชน[3]

ต่อมาในวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2559 นายวัยวุฒิได้ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านกฎหมายทำให้ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งให้นาย อัมพร เหลียงน้อย เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้านกฎหมายแทนนายวัยวุฒิและนาย สมชาย อัศวเศรณี เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติม

หน่วยงานภายใน[แก้]

สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค แบ่งหน่วยงานภายใน ดังนี้[4]

  • สำนักงานเลขานุการกรม
  • กองกฎหมายและคดี
  • กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา
  • กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก
  • กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง
  • กองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา
  • กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์
  • สำนักแผนและการพัฒนาการคุ้มครองผู้บริโภค

อ้างอิง[แก้]

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]