สามก๊ก มหาสนุก
สามก๊ก มหาสนุก | ||||||||||
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
| ||||||||||
|
สามก๊ก มหาสนุก[a] หรือ การ์ตูนมหาสนุก ฉบับ สามก๊ก[b] เป็นงานเขียนการ์ตูนเรื่องยาวแนวสุขนาฏกรรม วาดโดยสุชาติ พรหมรุ่งโรจน์ (หมู นินจา) อิงจากจากนิยายอิงประวัติศาสตร์จีนในศตวรรษที่ 14 เรื่องสามก๊ก ตีพิมพ์ในนิตยสารมหาสนุกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 จนถึง พ.ศ. 2550 รวบรวมตีพิมพ์เป็นหนังสือการ์ตูนรวมเล่มเป็นการ์ตูนสีรวมทั้งหมด 45 เล่ม หนังสือการ์ตูนได้รับการแปลเป็นภาษาเกาหลี จัดจำหน่ายโดยบริษัท พีเอ็มจี โฮลดิ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท ซัมซุง บุ๊ค พับลิเชอร์[2] แอนิเมชันดัดแปลงผลิตโดยบริษัทวิธิตาแอนิเมชันออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 รวม 2 ภาคตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 ถึงธันวาคม พ.ศ. 2549
ลักษณะการดำเนินเรื่อง
[แก้]การ์ตูนสามก๊กฉบับนี้ดำเนินเรื่องค่อนข้างรวดเร็ว แต่คงเนื้อหาและใจความหลักของเรื่องเดิมไว้เป็นส่วนใหญ่ ภายในเรื่องจะมีการสอดแทรกมุขเสียดสีสถานการณ์บ้านเมืองขณะที่เขียนไว้อย่างแสบๆ คันๆ อยู่เสมอ ตอนใดที่ในสามก๊กฉบับภาษาจีนมีบทกวีที่ไพเราะ ก็จะมีการแปลแทรกและเขียนประกอบไว้ในเรื่องด้วย เช่น ตอนหองจูเปียนรำพันก่อนถูกลิยู ลูกน้องของตั๋งโต๊ะปลงพระชนม์ ตอนโจสิดต้องร่ายกลอนให้สำเร็จภายในชั่ว 7 ก้าวเดินเพื่อเอาชีวิตรอด เป็นต้น
ในหนังสือการ์ตูนนั้น เนื้อเรื่องเริ่มจากการเล่าย้อนถึงความเป็นไปของราชวงศ์ฮั่นอย่างพอสังเขปดำเนินมาถึงรัชสมัยของพระเจ้าเลนเต้และเริ่มกล่าวถึงตอนเตียวก๊กตั้งกองกำลังโจรโพกผ้าเหลือง แล้วดำเนินเรื่องจนถึงตอนขงเบ้งเสียชีวิตและอุยเอี๋ยนก่อกบฏ ในเหตุการณ์หลังจากนี้ได้กล่าวได้เพียงสรุปว่าแต่ละปี มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอีกบ้าง อนึ่ง ในตอนสุดท้าย เป็นตอนภาคผนวกที่กล่าวถึงการล่มสลายของจ๊กก๊กโดยเฉพาะ โดยกล่าวตั้งแต่พระเจ้าเล่าเสี้ยนลุ่มหลงสุรานารี จนถึงตอนพระเจ้าเล่าเสี้ยนไปงานเลี้ยงของสุมาเจียว
ส่วนในการ์ตูนแอนิเมชัน ภาคแรก เริ่มเรื่องตั้งแต่ตอนเตียวก๊กตั้งกองกำลังโจรโพกผ้าเหลือง จนถึงตอนเล่าปี่เตรียมรับกองทัพโจโฉที่ชีจิ๋ว ส่วนในภาคสอง เริ่มตั้งแต่โจโฉยึดเมืองชีจิ๋วจนถึงตอนจิวยี่เสียชีวิต แล้วจึงกล่าวสรุปเหตุการณ์หลังจิวยี่เสียชีวิตถึงสามก๊กรวมเป็นหนึ่งแต่พอสังเขป
การแทรกอารมณ์ขันในเรื่อง
[แก้]ในสามก๊ก มหาสนุกบางฉากจะมีการนำคำพูดดังๆ ในช่วงเวลาที่เขียนเรื่องมาให้ตัวละครในเรื่องพูดตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เช่น ฉากโจโฉคิดฆ่าตั๋งโต๊ะแต่ไม่สำเร็จเพราะตั๋งโต๊ะตื่นเสียก่อน ตั๋งโต๊ะสังเกตเห็นโจโฉเหงื่อไหลออกมากผิดปกติด้วยความตกใจ โจโฉจึงทำทีกลบเกลื่อนโดยใช้คำพูดของพระพยอม กัลยาโณในโฆษณาชิ้นหนึ่ง ที่ว่า "ขยันให้เหงื่อออกทางขุมขน ดีกว่าขี้เกียจแล้วยากจน จนน้ำล้นออกมาทางตา" เป็นต้น (ปรากฏอยู่ในสามก๊กรวมเล่ม เล่มที่ 4)
บางฉากของสามก๊ก มหาสนุกก็มีการนำอุปกรณ์หรือเครื่องมือสื่อสารในโลกปัจจุบันมาใช้เป็นอุปกรณ์ของตัวละครในเรื่อง เช่น โทรศัพท์มือถือ มอเตอร์ไซค์ เป็นต้น โดยมากมักอยู่ในฉากการวางแผนการรบ (แสดงความหมายถึงการสื่อสารโดยม้าเร็ว)
การนำเพลงที่กำลังเป็นที่นิยมที่ขณะที่เขียนการ์ตูนมาแทรกอยู่ในตัวเรื่องก็ถือเป็นอีกกลวิธีการแทรกอารมณ์ขันในสามก๊ก มหาสนุก เช่น ตอนที่ตันก๋งจับตัวโจโฉที่กำลังถูกทางการประกาศจับมาไต่สวน โจโฉได้แก้ตัวว่าตนชื่อฮองฮู ไม่ใช่โจโฉ ตันก๋งไม่เชื่อจึงได้ร้องเพลง 'อมพระมาพูด' ของธงไชย แมคอินไตย์ และเสก โลโซ
อีกกลวิธีการแทรกอารมณ์ขันคือการนำเหตุการณ์สำคัญในช่วงที่เขียนการ์ตูนมาล้อเลียน เช่น สถานการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การแพร่ระบาดของไข้หวัดนก เป็นต้น
การตีพิมพ์ฉบับรวมเล่มและฉบับอื่นๆ
[แก้]- สามก๊ก มหาสนุก ฉบับรวมเล่ม
สามก๊ก มหาสนุก ฉบับรวมเล่ม มีจำนวน 45 เล่ม จำหน่ายในราคาเล่มละ 50 บาท พิมพ์สี่สี ภายในมีเนื้อหา 4 ตอนต่อเล่ม นอกจากนี้ยังการนำสามก๊กมาจัดเป็นชุด ทั้งหมด 8 ชุด ชุดละ 6 เล่ม โดยชุดสุดท้ายมีเล่มที่ 43-45, สามก๊กฉบับ Special Editor และสามก๊กฉบับมินิตูนอีก 2 เล่ม
- สามก๊กฉบับ Special Editor
สามก๊กฉบับ Special Editorเป็นหนังสือที่รวบรวมข้อมูลต่างๆ ในสามก๊ก โดยเน้นที่ชีวประวัติและเกร็ดข้อมูลของขงเบ้ง และยังมีประวัติโดยย่อของตัวละครสำคัญและเกร็ดความรู้ต่างๆ ในสามก๊ก
- สามก๊กฉบับมินิตูน
สามก๊กฉบับมินิตูน เป็นสามก๊กฉบับย่อจากสามก๊ก มหาสนุก ของหมู นินจาทั้ง 45 เล่มให้เหลือเพียง 2 เล่ม แต่ยังคงใจความสำคัญไว้ โดยจัดพิมพ์แบบ 4 สี เขียนโดยวิรัตน์ ยืนยงพัฒนากิจ (เอก วิรัตน์) โดยแบ่งเนื้อหาทั้งสองเล่มดังนี้
- ปฐมภาค ยุทธการกู้ชาติ
- บริบูรณ์ภาค ขงเบ้ง จอมปราชญ์สะท้านแผ่นดิน
- สามก๊ก มหาสนุก ชุดหนังสือปกแข็ง
ในปี พ.ศ. 2553 ได้มีการจัดพิมพ์บ๊อกซ์เซ็ตของสามก๊กมหาสนุกเป็นหนังสือปกแข็ง โดยนำสามก๊กฉบับ 45 เล่มมารวบรวมไว้ด้วยกันเป็นหนังสือปกแข็งจำนวน 8 เล่ม
รางวัล
[แก้]- รางวัลสุดยอดการ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่องยาว (TAM AWARD : Best Animation for TV Long Form) ในงานไทยแลนด์ แอนิเมชั่น แอนด์ มัลติมีเดีย หรือ TAM 2006 [3]
เกี่ยวกับการ์ตูน
[แก้]- จากการเริ่มการจัดระดับความเหมาะสมของรายการโทรทัศน์ไทย เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2549 สามก๊ก มหาสนุกซึ่งฉายทางช่อง 7 เป็นตอนสุดท้ายในขณะนั้น ได้รับการจัดระดับให้อยู่ในระดับ ท คือเหมาะสมกับผู้ชมทุกเพศทุกวัย
หมายเหตุ
[แก้]อ้างอิง
[แก้]- ↑ "3 Kingdoms Super Fun". วิธิตาแอนิเมชัน. สืบค้นเมื่อ November 24, 2022.
- ↑ The 3 Kingdoms Super Fun
- ↑ การ์ตูนยอดฮิตช่อง 7 สี “สามก๊ก มหาสนุก” คว้ารางวัลสุดยอดการ์ตูนแอนิเมชั่นโทรทัศน์
แหล่งข้อมูลอื่น
[แก้]- เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสามก๊ก มหาสนุก
- สามก๊ก มหาสนุก ทาง Vtoon (ช่องยูทูบทางการของวิธิตาแอนิเมชัน)
- สามก๊ก มหาสนุก ทางทรูไอดี
- สามก๊ก มหาสนุก เก็บถาวร 2022-11-24 ที่ เวย์แบ็กแมชชีน ทางวีทีวี