วิธิต อุตสาหจิต

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วิธิต อุตสาหจิต
ไฟล์:Vithit Utsahajit.jpg
บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นิตยสารขายหัวเราะ
ดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2516 – พ.ศ. 2516
บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณา นิตยสารมหาสนุก
เริ่มดำรงตำแหน่ง
พ.ศ. 2518
ข้อมูลส่วนบุคคล
เกิดพ.ศ. 2496 (อายุ 71 ปี)
จังหวัดพระนคร ประเทศไทย

วิธิต อุตสาหจิต (อักษรโรมัน: Vithit Utsahajit) บรรณาธิการหนังสือการ์ตูนในเครือบรรลือสาส์น ผู้ก่อตั้งนิตยสารขายหัวเราะและมหาสนุก และผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง ผีหัวขาด เขายังเป็นผู้บุกเบิกการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่นสามมิติเป็นผู้แรกในประเทศไทย มีผู้ให้สมญานามแก่เขาว่า “ราชาแห่งการ์ตูนไทย” ในยุคปัจจุบัน แฟนการ์ตูนบรรลือสาส์นรู้จักกันดีในนาม “บ.ก.วิติ๊ด”

ประวัติ[แก้]

วิธิต อุตสาหจิต เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2496 เป็นบุตรของนายบันลือ อุตสาหจิต เจ้าของและผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น ลำดับที่ 1 กับนางกนกวรรณ อุตสาหจิต จากจำนวนพี่น้องทั้งหมด 9 คน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2498 จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจากโรงเรียนสตรีจุลนาค ต่อมาย้ายไปเรียนต่อสายวิชาชีพจนได้วุฒิประกาศนียบัตรทางวิชาชีพ (ปวช.) จากโรงเรียนพณิชยพระนคร ช่วงนี้เองที่วิธิตมีโอกาสได้เรียนรู้ และเข้าไปฝึกงานด้านฟิล์ม โดยเข้าฝึกงานกองถ่ายภาพยนตร์ ก่อนจะไปตัดสินใจไปเรียนการทำภาพยนตร์ที่ London Film School ประเทศอังกฤษ จนจบการศึกษาระดับ Diploma of Higher Education (DipHE)

ภายหลังสำเร็จการศึกษาแล้ว วิธิตจึงรับช่วงต่อธุรกิจจากบิดา เพื่อรับหน้าที่เป็นหัวเรือใหญ่ขับเคลื่อนธุรกิจโรงพิมพ์ และหนังสือขายมุขในเครือบรรลือสาส์นช่วงประมาณปี 2520

วิธิตกับภาพยนตร์ไทย[แก้]

วิธิตเริ่มงานภาพยนตร์ในฐานะผู้กำกับเรื่อง “ผีหัวขาด” ให้กับบริษัทศรีสยามภาพยนตร์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มบรรลือสาส์นในปี พ.ศ. 2523 โดยภาพยนตร์นำแสดงโดย สรพงศ์ ชาตรี เศรษฐา ศิระฉายา เป็นต้น ผีหัวขาดประสบความสำเร็จอย่างสูงจากรายได้การฉายหนังกว่า 5 ล้านบาท และร่วมผลิตหนังอื่นๆ เกือบ 20 เรื่องแต่ต้องใช้ทุนสูง ประกอบกับการที่วิธิตได้พบประสบการณ์ที่ไม่น่าประทับใจหลายอย่าง ทำให้เขาหันหลังให้กับวงการบันเทิงอย่างสิ้นเชิง และกลับมามุ่งเน้นพัฒนาการทำหนังสือการ์ตูนและกิจการโรงพิมพ์ อันเป็นกิจการหลักของครอบครัวอย่างเต็มตัว

อนึ่ง วิธิตเคยมีโอกาสร่วมงานในคณะถ่ายทำภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ของฮอลลีวู้ดเรื่อง “เดียร์ฮันเตอร์” ที่เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย จนทางฮอลลีวูดสนใจจะดึงตัวเขาไปร่วมงานที่สหรัฐอเมริกา แต่เขาได้ปฏิเสธไป ซึ่งวิธิตกล่าวในภายหลังว่า "...ไม่เสียใจที่เลือกทิ้งโอกาสนั่น เพราะวันนี้ผมมีความสุขกับปัจจุบัน[1]

วิธิตกับการ์ตูนในเครือบรรลือสาส์น[แก้]

ปกนิตยสารมหาสนุกมีจุดเด่นที่การนำเอาคาแร็คเตอร์ของวิธิตมาล้อเลียนกับกระแสต่างๆ ในสังคมอยู่เสมอ ซึ่งบางครั้งก็จะมีการเขียนภาพล้อของครอบครัววิธิตลงไปด้วย ในภาพนี้คือปกนิตยสารมหาสนุก ฉบับที่ 929 ประจำวันที่ 14-21 มกราคม พ.ศ. 2552 ซึ่งวาดล้อวิธิตกับภาพยนตร์ "องค์บาก 2" ภาพปกโดย สุพล เมนาคม (ต้อม)

วิธิตชื่นชอบงานเขียนการ์ตูน ลายเส้น และคลุกคลีอยู่กับงานโรงพิมพ์ของครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก จนเมื่อ พ.ศ. 2516 ขณะมีอายุได้ 18 ปี เขาจึงได้เขียนการ์ตูนแนวสามช่องจบ (หรือการ์ตูนแก๊ก) และออกหนังสือการ์ตูนของตัวเองฉบับแรกชื่อ ขายหัวเราะ ด้วยเห็นโอกาสในตลาดที่มีการ์ตูนแนวนี้อยู่น้อยมาก และด้วยความเชื่อที่ว่าแนวขายหัวเราะสามารถขายได้

เมื่อขายหัวเราะประสบความสำเร็จ วิธิตจึงออกหนังสือการ์ตูนเล่มใหม่แนวเดียวกับขายหัวเราะ แต่เน้นเจาะตลาดครอบครัว ชื่อ มหาสนุก ในปี พ.ศ. 2518 และได้รับความนิยมมากตลอดจนถึงทุกวันนี้ ภายหลังจึงได้ออกการ์ตูนชุดมินิซีรีส์ของนักเขียนคนดังๆ ในบรรลือสาส์น เช่น ปังปอนด์ บ้าครบสูตร สาวดอกไม้กะนายกล้วยไข่ เรียกข้าว่าพญายม คนอลเวง หนูหิ่นอินเตอร์ เป็นต้น เพื่อรวมเล่มชุดผลงานการ์ตูนเรื่องสั้นของนักเขียนการ์ตูนในเครือ เช่น นิค ต้อม ต่าย เฟน เอ๊าะ ซึ่งบางเล่มก็ได้พัฒนาไปเป็นหนังสือการ์ตูนของนักเขียนเจ้าของผลงานเองแต่ละคนในเวลาต่อมา

ต่อมาในปี 2554 บรรลือสาส์นได้ทำการเปิดตัว ขายหัวเราะ แฮพพลิเคชั่น (Kai Hua Roh Happlication) สำหรับดาวน์โหลดอีแม็กกาซีน โดยใช้ได้กับแท็บเล็ต และโทรศัพท์อัจฉริยะในระบบปฏิบัติการไอโอเอสและแอนดรอยด์อีกด้วย[2]

ชีวิตครอบครัว[แก้]

วิธิตสมรสกับโชติกา อุตสาหจิต (นก) มีบุตร 5 คน เป็นหญิง 3 คน ชาย 2 คน (สามคนสุดท้ายเป็นแฝด) มีรายนามดังนี้

  • พิมพ์พิชา อุตสาหจิต (นิว)
  • ภาดารี อุตสาหจิต (นาว)
  • ภีมเดช อุตสาหจิต (เนม)
  • ภีมธัช อุตสาหจิต (น็อบ)
  • ภีมนิดา อุตสาหจิต (แนตตี้)

ดูเพิ่ม[แก้]

อ้างอิง[แก้]

  1. วิธิต อุตสาหจิต ขายหัวเราะ บทสัมภาษณ์ในนิตยสาร Positioning ฉบับเดือนกรกฎาคม 2547
  2. "บันลือกรุ๊ป" ทุ่มลงทุน 10 ล้าน จับขายหัวเราะทำอีแมกกาซีน. กรุงเทพธุรกิจ. ปีที่ 24 ฉบับที่ 8378. วันพุธที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2554. ISSN 1685537X. หน้า 8

แหล่งข้อมูลอื่น[แก้]