ข้ามไปเนื้อหา

วัดศรีบุญเรือง (กรุงเทพมหานคร)

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
วัดศรีบุญเรือง
แผนที่
ที่ตั้งเลขที่ 594 ซอยรามคำแหง 107 ถนนรามคำแหง แขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร 10240
ประเภทวัดราษฎร์
นิกายมหานิกาย
พระพุทธรูปสำคัญพระศรีสุโขทัย
icon สถานีย่อยพระพุทธศาสนา

วัดศรีบุญเรือง เป็นวัดราษฎร์สังกัดคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ตั้งอยู่ในแขวงหัวหมาก เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร

ประวัติ

[แก้]

วัดศรีบุญเรืองเดิมมีชื่อว่า วัดทำนบ สาเหตุที่ชื่อวัดนี้เนื่องมาจากในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เป็นแม่ทัพหน้าร่วมกับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุนนาค) เพื่อเข้าตีกรุงเวียงจันทน์ที่ก่อกบฏเมื่อ พ.ศ. 2371 ระหว่างเดินทัพออกจากพระนคร ได้มาหยุดตั้งทัพครั้งแรกที่บริเวณวัดนี้ และทหารได้รับคำสั่งให้ตั้งค่ายพักและบุกร้างถางพงตลอดจนขุดเป็นสำโหรกทำเป็นทำนบกั้นน้ำในคลองแสนแสบ เมื่อทัพเดินทางออกไป ชาวบ้านได้เข้ามาจับจองเป็นที่ทำกิน แล้วได้สร้างวัดเมื่อปี พ.ศ. 2373 นิมนต์พระสงฆ์ให้มาจำพรรษา จึงได้ตั้งชื่อว่า "วัดทำนบ" ตามสิ่งที่กองทหารได้สร้างไว้บริเวณหน้าวัด ขณะเดียวกันก็มีผู้เรียกชื่อวัดว่า วัดหัวไผ่ ตามชื่อของชุมชนที่อาศัยอยู่ติดกับวัดด้านทิศใต้ จนในปี พ.ศ. 2508 วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาและได้รับชื่ออย่างเป็นทางการว่า "วัดศรีบุญเรือง"[1]

อาคารเสนาสนะและพระศรีสุโขทัย

[แก้]

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระอุโบสถหลังเก่าที่สร้างด้วยไม้ ต่อมาได้รับการปฏิสังขรณ์เป็นพระอุโบสถปูนเมื่อปี พ.ศ. 2508 หลังคาทรงไทย มีช่อฟ้าใบระกา มุงกระเบื้องเกล็ด หน้าบันถือปูนปั้นลาย

สิ่งสำคัญภายในวัดได้แก่ พระศรีสุโขทัย หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกว่า หลวงปู่สุโขทัย ประดิษฐานอยู่หน้าองค์พระประธานในอุโบสถ[2] เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสัมฤทธิ์ปางมารวิชัย (หรือปางชนะมาร) กรมศิลปากรระบุว่าสร้างในสมัยสุโขทัยยุคต้น ตามตำนานเล่าว่า หลวงปู่ได้ลอยน้ำมาตามคลองแสนแสบและลอยมาอยู่บริเวณหน้าวัดทำนบ แต่ไม่สามารถระบุปีที่แน่นอนได้ โดยมีชาวญวนซึ่งมีอาชีพจับปลาและล่าจระเข้ ได้ลากติดอวน จึงอัญเชิญขึ้นมาไว้บนตลิ่ง ใต้ต้นจิก ต่อมาชาวบ้านได้สร้างเพิงเพื่อบังแดดบังฝนถวาย แล้วจึงได้อัญเชิญหลวงปู่เข้าไปประดิษฐานไว้หน้าองค์พระประธานในอุโบสถ[1]

ศาลาการเปรียญเป็นอาคารทรงไทยประยุกต์ แบบจากกรมศิลปากร เป็นคอนกรีตขนาด 9 ห้อง สูง 3 ชั้น ชั้นล่างเป็นที่ประชุม ชั้นสองเป็นที่ทำบุญตักบาตร ชั้นสามใช้เป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกธรรม แผนกบาลี แผนกสามัญ สร้างเมื่อ พ.ศ 2514 อาคารหอไตร สร้างคอนกรีตพื้นหินอ่อน ลักษณะทรงไทยตรีมุข มีช่อฟ้าใบระกา หลังคามุงกระเบื้องเกล็ด สูง 3 ชั้น กุฏิทรงปั้นหยาสองชั้น ครึ้งตึกครึ้งไม้ อาคารหอปริยัติทรงไทย มุงกระเบื้องเกล็ด หอระฆังทรงไทย สูง 3 ชั้น ศาลาท่าน้ำลักษณะทรงไทยมีช่อฟ้าใบระกา

ลำดับเจ้าอาวาส

[แก้]
  • พระอธิการทรัพย์ พุทธสโร
  • พระปฏิเวทวิศิษฏ์
  • พระครูสุนทรวีรวงศ์ (จันดา รวิวํโส)

งานประเพณี

[แก้]

วัดมีการจัดงานสมโภชถวายหลวงปู่ เริ่มงานตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 4 เป็นต้นไป นานครึ่งเดือน แต่ต่อมาลดเหลือ 9 วัน 9 คืน ต่อมาเหลือ 7 วัน 7 คืน และในระยะหลังนี้ได้ลดการจัดงานลงเป็นการตายตัว เหลือ 5 วัน 5 คืน[1]

อ้างอิง

[แก้]
  1. 1.0 1.1 1.2 "หลวงปู่สุโขทัยวัดศรีบุญเรืองศักดิ์สิทธิ์มากว่า๑๐๐ปี!". คมชัดลึก. 1 กุมภาพันธ์ 2556.
  2. "วัดศรีบุญเรือง". กองการท่องเที่ยวกรุงเทพมหานคร.[ลิงก์เสีย]